bloggang.com mainmenu search
   สวัสดีครับ ถ้าใครสังเกตุ blog นี้จะจั่วหัวว่า "งานสถาปัตย์และตกแต่งภายใน" แล้วนะครับ เพราะงานโครงสร้างบ้านต่างๆก็เสร็จ 99% แล้วครับ ต่อจากนี้จะเป็นงานตกแต่งผนังง พื้น บิ้ลด์อินต่างๆแล้ว เลยขึ้นหัวข้อใหม่แล้วครับ แต่ถ้ามีงานโครงสร้างอะไรเพิ่มเติมก็จะมา Update ให้เป็นระยะนะครับ

    โดยตอนแรกของงานภายในนี้ ผมจะพูดถึงมหากาพย์การเลือกไฟดาวน์ไลท์ บางท่านคงงงก็แค่เลือกไฟมาใส่บ้าน จะเป็นมหากาพย์ยังไง ท่านลองอ่านไปจะทราบครับ เพราะคำว่า“ไฟดาวน์ไลท์” มันมีอะไรมากมายเกินกว่าแค่ “ไฟบ้าน” ครับ คนที่กำลังสร้างหรือมีความคิดที่จะสร้างบ้าน และไม่มีความรู้เรื่องไฟเลย แนะนำให้อ่าน blog นี้เลยครับ

        เกริ่นก่อนเลยว่าผมโง่เรื่องการเลือกไฟเลยครับปกติการเลือกโคมไฟจะทำตอนที่ติดฝ้าภายใน ปูกระเบื้องทำอะไรหมดแล้วแต่ตอนนั้นบ้านผมยังไม่ติดฝ้าเลยมีวันนึงคุณเกรียงก็บอกผมว่าคุณหมอเลือกไฟดาวน์ไลท์เลยนะครับเพราะตรงโถงสูงจะได้ติดตั้งเลย นั่งร้านจะได้ไม่ขูดกระเบื้องแกรนิโต้ เหมือนที่ผมเคยบอกในblog ก่อนๆ ผมก็เงิบเลย เพราะไม่มีความรู้ ตอนนั้นเข้าใจว่าก็แค่ไปพวกโฮมโปร แล้วไปเลือกซื้อเป็นกล่องๆ(พนันเลยว่าตอนหลายๆท่านไปโฮมโปรต้องเดินผ่านดงดาวน์ไลท์แน่นอน แต่ไม่เคยใส่ใจ)ผมก็ไปโฮมโปรครับ ประกฏว่าเงิบบบ เพราะมีให้เลือกเยอะมากๆๆๆๆ งงเลยไม่รู้เลือกแบบไหนเลยถอยมาตั้งหลัก หาข้อมูลในเนตก่อน พอกูเกิ้ลดู การเลือกไฟดาวน์ไลท์ ก็ออกมาเพียบแต่ก็ไล่ๆอ่านใน pantip ดู ก็เริ่มมีความรู้อยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่หมดผมก็หาเพิ่มเติมทางเนต คุยกับสถาปนิกบ้าง เลยรวบรวมข้อมูลมาไว้ที่ blog นี้ครับ เผื่อใครไม่มความรู้แบบผมจะได้อ่านรวบไปเลย...

         โดยผมจะแบ่งหัวข้อง่ายๆเป็นสี่หัวข้อนะครับ 1.ชนิดของหลอดไฟ 2.ขั้วหลอด 3.ชนิดของโคม 4. สี ความสว่างของหลอดไฟ Blogนี้จะเป็นภาคทฤษฎีนะครับส่วนภาคปฏิบัติที่ผมได้ซื้อหาจริงๆ ผมจะยกไปเล่า blog หน้าครับ เพราะมันยาวววว

1.ชนิดของหลอดไฟ

        ชนิดแรก หลอดไส้ (Incandescent Lamp)

หลอดไส้

          มักจะเป็นหลอดไฟที่เรานึกถึงเป็นอันดับแรกผลิตมาตั้งแต่สมัยโทมัสอัลวา เอดิสันโน่นนน หาซื้อง่าย ราคาถูกมาก แต่ข้อเสียคือร้อน อายุการใช้งานสั้น และกินไฟมากกก อุณหภูมิหลัก 100 องศาขึ้นไปครับ

           ต่อมาก็คือ หลอดฟลูออเรสเซนส์หรือหลอดสีขาวๆที่เราเห็นทั่วๆไปครับ 


หลอดฟลูออเรสเซนส์

       ก็มีทั้งแบบยาว และแบบกลมใส่โคมซาลาเปาปัจจุบันก็มีการพัฒนาหลอดผอม และหลอดผ๊อมผอม สั้น ยาว เพื่อใช้งานแบบต่างๆแต่หลอดแบบนี้ต้องมีบัลลาด และสตาร์ตเตอร์ครับ (หรือบางยี่ห้อใส่บัลลาด สตาร์ดเตอร์มาให้เลยที่ขั้วก็มี แต่ทรงยาวๆ) และอายุการใช้งานก็ไม่ยาวเท่าไหร่หลักพัน ชม.   

     จากนั้นก็มีการพัฒนาจับเอาบัลลาดและสตาร์ตเตอร์เข้ามารวมกับหลอด หดจนสั้น จนกลายมาเป็นหลอด คอมแพค ฟลูออเรสเซนส์ หรือที่รู้จักกันในชื่อหลอดตะเกียบ


หลอด Compact Fluorescence 

        หลอดแบบนี้แหล่ะที่เริ่มเอามาใส่ในไฟดาวไลท์ แต่หลอดตะเกียบยุคแรกๆหลอดจะยาวพอเอามาใส่ดาวน์ไลท์(แทนที่หลอดไส้) ทำให้ไส้หลอดยาวออกมาดูไม่สวยเลยมีการทำหลอดแบบขดขึ้นมา หรือที่เรียกว่าหลอดทอร์นาโดนั่นเอง 

       ต่อมาคือ หลอดฮาโลเจน 


หลอดฮาโลเจน

    จริงๆหลอดฮาโลเจนก็มีวิวัฒนาการมาใกล้ๆกับหลอดไส้นะครับและก็ยังนิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ด้วยจุดกำเนิดแสงเล็กและลักษณะของแสงที่จะดูเป็นกระกายหรูหรา หลอดฮาโลเจนจึงนิยมใช้ตามห้าง ร้านค้าแกลอรี่ ตู้โชว์ต่างๆ แต่ข้อเสียคือร้อน และอายุการใช้งานสั้นคล้ายๆหลอดไส้ 

    และปัจจุบันนี้หลอดที่กำลังเป็นที่นิยมกันมาเรื่อยๆคือ หลอด LED นั่นเองครับ


หลอด LED


LED แบบวงกลม เอามาแทนที่หลอดโคมซาลาเปา

       เป็นหลอดที่กำลังมาแรง เนื่องจากขนาดเล็ก กินไฟน้อยมากๆ ไม่ร้อน ไม่มี UV และสามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้หลายแบบตามแต่ต้องการซึ่งผู้หลิตหลอด LED พยายามจะเข้ามาแทนที่หลอดในอดีต มี LED แบบแทนที่หลอดประหยัดแทนที่หลอดฟลูออเรสเซนส์ แม้แต่เอาไปแทนที่โคมซาลาเปา และแทนที่หลอดฮาโลเจนแต่ข้อเสียคือราคาแพง ถึงแพงมาก บางหลอดราคาหลายพันเลยทีเดียว

2.ขั้วหลอด

        บางคนอาจงง ขั้วหลอดสำคัญยังไงตอนแรกผมก็ไม่รู้เรื่องรู้ราวครับ แต่จริงๆแล้วสำคัญมากเลยครับเพราะมันเป็นตัวกำหนด การเลือดชนิดโคม และชนิดหลอดกันเลยทีเดียว ผมจะเล่าแค่ขั้วหลอดที่นิยมใช้กันตามบ้านนะครับพวกโรงงาน โรงพยาบาล หรือขั้วไฟเฉพาะกิจผมไม่ลงลึกละกัน 

       แบบแรกเลยก็เป็นขั้วหลอดที่เราเห็นๆกันบ่อยและคุ้นตากันดี ก็คือ ขั้วเกลียว หรือขั้ว E27


ขั้วเกลียว E27

     ตัว E27 เป็นชื่อเรียกขั้วใส่หลอดมีอีกชื่อคือ tc-tse จะใช้เรียกเกลียวที่หลอดแต่ก็นิยมเรียกกันว่าขั้ว E27 ครับ ซึ่งเจ้าขั้ว E27 นี่ก็ใช้กันเรียกว่าแพร่หลายมากพบในหลอด compact fluorescence ทั่วๆไป และมีตั้งแต่หลอดไส้ ยัน LED หาซื้อง่ายตามร้านไฟฟ้าทั่วไป แม้แต่ 7-11 ก็มีขาย ข้อจำกัดคือขั้วใหญ่ ทำให้หลอดที่ใช้กับขั้วนี้มีขนาดพอสมควร (จริงๆมี E14 ด้วยนะ ขนาดก็เล็กลงมาแต่หาซื้อยากกว่า) ในจุดที่ต้องการให้แสงเล็กๆ ก็ไม่เหมาะและก็มีข้อจำกัดในเรื่องของ watt หรือกำลังไฟที่ให้ได้ไม่สูงมาก สำหรับโถงสูงกว่า4 เมตร กำลังไฟที่ได้อาจไม่พอให้ความสว่างแต่ก็เพียงพอกับการใช้งานทั่วไปครับ 

ขั้วเข็ม MR16


ขั้วเข็ม MR16

        MR16 หรือ GU5.3 เป็นขั้วที่ใช้กันมากในหลอดประเภทฮาโลเจนหลอดที่ใช้ขั้วนี้มีตั้งแต่เล็กๆส่องตู้โชว์ ยันใหญ่ขนาดไฟดาวไลท์ในห้องทั่วไปซึ่งหลอด LED เองก็ผลิตขั้วนี้ขึ้นมาเพื่อเอามาแทนที่ฮาโลเจนเช่นกันแต่ขั้วนี้ ส่วนใหญ่ต้องใช้ตัวแปลงไฟจาก 220vhtmlentities(' >') 12V อีกทีครับ 


หม้อแปลง และขั้วหลอด MR16

      แต่ก็มีบางยี่ห้อที่ผลิตขั้วMR16 แบบต่อไฟตรง 220Vได้ก็มีครับ แต่ราคาจะสูงหน่อย ดังนั้นใครจะซื้อโคมที่ใช้กับขั้วนี้ ตอนซื้อหลอดถ้าเป็นหลอด 12V ต้องซื้อตัวแปลงเพิ่มนะครับราคาก็หลักสิบ ถึงหลักร้อยขึ้นไป ดังนั้นราคาโคมที่เห็นในแคตาลอค ยังไม่รวมตัวแปลงไฟนะ อย่าลืม ซึ่งตอนแรกที่ผมไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็เลือกโคมดาวไลท์จากแคตาลอคเห็นสวยดี พอไปที่ร้าน อ้าว ไอ้ที่เลือกอ่ะมันใส่กะหลอดฮาโลเจนหรือ LED ขั้ว MR16 (จริงๆในแคตาลอคเขาก็บอกแต่โง่เองครับไม่เข้าใจความหมายที่เขาเขียน) เลยต้องถอยมาตั้งหลักอีกต้องยอมรับว่าดวงโคมดาวไลท์ที่ใส่กับขั้วนี้ ส่วนใหญ่มันสวยจริงๆครับ สวย ทันสมัยต่างกะโคมดาวไลท์ที่ใส่กับขั้ว E27 เลย อันนั้นดูธรรมดาๆ(อันสวยก็มีครับแต่ผมไม่รู้เอง)

ขั้ว GU10 หรือขั้วเขี้ยว


ขั้วและเบ้า GU10

      ถ้าใครจำได้ สมัยก่อนจะซื้อหลอดไส้ใส่ห้องน้ำต้องดูว่าเป็นขั้วเกลียว(E27) หรือขั้วเขี้ยว GU10 แต่สมัยนี้หลอดไส้ขั้วเขี้ยวผมไม่ค่อยเห็นแล้วครับขั้วนี้ถ้าเป็นหลอด LED จะทำมาเพื่อไม่ต้องไปหาซื้อตัวแปลงไฟ เพราะมีตัวแปลงมาให้ที่ฐานหลอด(วงกลมในภาพ) ทำให้เอาหลอดขั้ว GU10 มาแทนขั้ว MR16 ได้เลยครับ แต่ยังไงตอนซื้อถามเขาก่อนนะครับว่าเอามาแทนได้ไหม ข้อเสียคือหลอด LED ที่ใส่กับขั้วนี้หายากมีไม่กี่ยี่ห้อ ราคาก็แพงกว่าหลอดขั้ว MR16 พอสมควรก็บวกลบดีๆกับราคาตัวแปลงไฟละกันครับ 



รวมมิตรขั้วหลอดต่างๆ

     ส่วนขั้วอื่นๆอีกมากมายเช่น GU53, B15, และอีกมากมายผมไม่ขอกล่าวถึงละกันครับ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในงานเฉพาะ ไม่ค่อยเอามาใช้กับไฟบ้านเท่าไหร่

3. ชนิดของโคมดาวไลท์ 

      จริงๆคำว่า Downlight มันก็แปลว่า ไฟส่องลงล่าง แค่นั้นเองครับ ก็คือโคมอะไรก็ได้ ที่ส่องไฟลงพื้นก็เรียกดาวไลท์ ซึ่งแน่นอนก็ต้องมีไฟ Uplightส่องขึ้นบน แต่ผมไม่พูดถึงละกันครับตัวโคมดาวไลท์ปัจจุบันมีเยอะมากๆๆๆๆ มีทั้งแบบกลมๆ หลุมๆ ที่เห็นกันทั่วไปแบบเหลี่ยม แบบเหลี่ยมคู่ แบบปรับทิศทางได้ แบบฉาบเรียบไปกับฝ้า มีฝาปิดใส่หลอดแนวนอน แนวตั้ง ใส่หลอดได้หลายขั้ว โอ้ย สุดจะบรรยายลองขอแคตตาลอคตามร้านมาดูได้เลยครับ ขนาดของโคมที่ใช้กันในห้องที่มีความสูง 3-4 เมตรโดยทั่วไปก็กว้างยาวประมาณ 10 – 15 cm.ครับ ใหญ่กว่านี้ก็ใช้กับโถงสูงๆขึ้นไป 



โคมดาวน์ไลท์แบบต่างๆ จากหลายร้อยแบบ

จะเลือกขนาดไหนแบบไหน ก็แล้วแต่คนออกแบบหรือถ้าออกแบบเอง ก็ดูที่ขนาดห้อง ประเภทของห้อง ตำแหน่งการวางซึ่งก็จะสัมพันธ์กับระยะดรอปฝ้าด้วยนะครับ เช่นห้องนี้ฝ้าเตี้ยระยะฝ้ากับพื้นชั้นสองไม่กี่เซน ก็ต้องเลือโคมที่ก้นเตี้ยๆ ใส่หลอดแนวนอนห้องไหนระยะฝ้าสูง ก็ใส่ดาวไลท์ที่ก้นสูงๆได้เลยซึ่งก็จะสัมพันธ์กับการเลือกหลอดอีก เพราะหลอดตะเกียบไปใส่ดาวไลท์ก้นเตี้ยตะเกียบก็โผล่ไม่สวยอีก ก็ต้องเลือกหลอดทอนาโด เป็นต้น

        ผมแนะสักนิดว่าดวงโคมที่ขายกันตามร้านทั่วไป หรือตามร้านชื้อดังที่ว่าราคาถูกบางตัวดูหน้าตาเหมือนกับที่ขายตามร้านแพงๆ เรียกว่ามองแบบผ่านๆ นึกว่าตัวเดียวกันแต่ไหงร้านหรูๆ แพงๆ ขายซะแพงเชียว...แต่ถ้าได้จับดูแล้วจะรู้เลยครับว่าวัสดุเนื้องานมันคนละเรื่องเลยทีเดียว ผมไปดูมาหมดแล้วครับ โฮมโปร บุญถาวร ร้านแสง...ชื่อดังร้านแพงๆย่านทองหล่อ ร้านดังๆ Lamp… ที่พ่วงข้างบุญถาวรบอกได้เลยว่าหน้าตาที่เหมือนกัน แต่เนื้องานไม่เหมือนกันแน่นอน บางชนิดหน้าตาเหมือนกันเลยแต่ร้านนึงขาย 250 แต่อีกร้านขาย 750 โอ้ว แล้วจะเลือกยังไง ผมจะบอกให้ฟังครับ



กรอบบนสีน้ำเงิน เป็นโคมราคาถูกกว่าตามเวบ หรือร้านที่ราคาถูก ส่วนกรอบสีแดงคือร้านที่ขายแพงๆ จะเห็นว่า โคมสองร้าน แทบจะเหมือนกันยังกะแกะ แต่ราคาต่างกัน 2 เท่า

ถ้าต้องการซื้อดาวไลท์แบบไม่คำนึงความสวยงามเท่าไหร่เอาแบบแมสๆ ราคาถูก ก็ร้านแสง..ที่ว่าถูกๆได้เลยครับ ถูกกว่าร้านในห้างจริงๆแต่คุณภาพก็ตามราคา แต่ถ้าท่านจะเอาแบบสวยด้วย ดูดีด้วย วัสดุดูไม่ก๊องแก๊งด้วยก็ร้านชื่อดังแพงๆ ก็ตอบโจทย์ครับ ผมถามร้านแสง...ตรงๆเลยว่า โคมแบบนี้ ที่ร้าน lamp.. เขาขายที่นี่มีไหมครับ ถ้ามีและถูกกว่าผมจะซื้อที่ร้านพี่เลย เขาบอกไม่มีครับโคมแบบนี้มันแพง ร้านเขาไม่รับเข้ามาครับ ไม่คุ้มเพราะถ้ารับมาก็ต้องขายราคาแพงไม่ต่างกับร้าน lamp เท่าไหร่ จะทำให้ขายไม่ออกหรือเอาของมาจมทุน ขายโคมแบบถูกๆดีกว่า ขายง่าย ขายได้เยอะกว่า เออพี่แกก็ตอบได้ตรงดีนะ ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าของถูกไม่ดีนะครับแต่ของแพงมันดีกว่าแค่นั้นเอง

      ดังนั้นท่านจะเลือกซื้อโคมแบบไหนที่ร้านไหน ก็ตามกำลังทรัพย์ ตามสะดวกเลยครับ ผมคงไม่ชี้เป้าแต่แนะนำว่าไปเดินดูด้วยตัวเองเถอะครับ อย่าปล่อยให้ ผรม. หรือช่างไปซื้อมาให้เราท่านอาจได้โคมธรรมดา แต่ราคาแพงก็เป็นได้ ท่านไปเดินดูเองแล้วท่านจะรู้ว่าวัสดุ เนื้องานมันเป็นยังไง ถ้ารับได้ ราคาโอเคก็เอาตามท่านสบายใจเลยครัช ส่วนผมเลือกที่ไหน blog หน้าในภาคปฏิบัติจะมาเล่าให้ฟังครับ

      แนะนำวิธีอ่านแคตตาลอคโคมไฟนะครับ เวลาไปตามร้านโคมไฟ ถ้าขอแคตตาลอคเขามาดูจะมีรายละเอียดต่างๆ แนะนำให้อ่านให้ดีเลยครับ จะได้รู้ว่าที่เราชอบเนี่ย มันเหมาะกับตำแหน่งไหนของบ้าน และต้องใช้หลอดแบบไหน


ตย.1 ตรงที่ขีดเส้น ก็ตรงตัวเลยครับใช้กับหลอด Compact หรือ LED ที่มีขั้ว E27 โดย watt ที่แนะนำให้ใส่สูงสุด 20W (ที่ต้องจำกัดจำนวน watt เพราะความร้อนครับ ถามว่าใส่เกินได้ไหม ก็ได้ครับ แต่วัสดุที่เขาใช้ทำทนความร้อนได้ 20watt ถ้าใส่เกิน take risk กันเองครับ) ต่อตรงกับไฟ 220V ได้เลย เส้นใต้ข้างล่างก็บอกว่าเหมาะกับความสูงไม่เกิน 4 เมตร สูงกว่านี้จะสว่างน้อยลงครับ



ตย.2 โคมนี้ใช้กับหลอด ฮาโลเจน หรือ LED ที่มีขั้ว MR16(GU5.3) กำลังไฟ Max 50watt และใช้กับไฟ 12V แสดงว่าซื้อโคมมาแล้ว ต้องมีตัวแปลงไฟ 12V ด้วยนะครับ ซื้อแต่โคมกับหลอดไม่ได้นะครับ

       จะเห็นว่าถ้าเรามีความรู้ตรงนี้ก่อน เวลาเลือกแคตตาลอคจะได้ไม่งง และจะได้หาหลอดมาใส่ได้ถูกครับ ตรงนี้แหล่ะครับที่ผมพลาด ซื้อมาเพราะสวย พอมาดูอีกที อ้าวต้องใช้ตัวแปลงด้วย ก็ไปหาซื้อตัวแปลง แต่มาศึกษาอีกที อ้าว MR16 มันก็มีหลอดที่แปลงมาแล้วก็มี กลายเป็นซื้อหลายซ้ำหลายซ้อน เสียเงินเปล่าเลย

4.สี และความสว่างของหลอดไฟ

        สีของหลอด(ผมขอพูดถึงแค่สีที่ใช้กันทั่วไปนะครับ พวกไฟที่มีเขียว เหลือง แดง ปรับสีได้ต่างๆไม่พูดถึงนะครับ) ปัจจุบันที่ใช้กันมีสามสีครับ คือสีขาว(Day Light-6500K), สีส้มเหลือง(WarmWhite-3000K) และสีกลางๆระหว่างขาวกับเหลือง(Cool Day light-4000K ส่วนตัวผมว่าค่อนไปทางขาวนะ)  โดยตัวเลขที่ใส่ในวงเล็บคืออุณหภูมิสีครับ ทำไมต้องรู้อุณภูมิสี? เพราะบางทีแคตาลอคไม่ได้บอกว่ามันเป็นสี Warm, Day แต่ใส่เลขอุณหภูมิสีก็มีครับ เราจะได้รู้ว่า อ้อ อุณหภูมิประมาณนี้สีจะออกแนวไหน ขาว หรือเหลืองก็ว่ากันไป  ส่วนที่มาของตัวเลขมาจากไหน ก็หาจากอากู๋เอาละกันครับ 555+


Color Temp Chart ตัวเลขคืออุณหภูมิสี



 โคมไฟร้านนี้ ไม่ได้บอกว่าสีอะไร แต่ใส่ค่าอุณหภูมิสี 3000K ก็คือสีเหลืองนั่นเองครับ

       ส่วนห้องไหนเหมาะกับโทนสีแบบไหน ถ้าสถาปนิกไม่ได้บอกอะไร ก็เอาตามที่เราชอบก็ได้ครับถ้าเอาตามหลักการก็ห้องที่ต้องใช้สายตามากๆ เช่นห้องทำงาน ห้องสมุดก็ใช้สีขาวส่วนห้องที่ต้องการการพักผ่อน สบายๆ เช่นห้องนอน ห้องนั่งเล่น ก็ใช้สีเหลืองครับก็เลือกเอาตามสบาย แนะนำให้ไปลองเดินดูสีของไฟตามร้านที่ขายครับบางครั้งใช้สีเหลืองมากไปก็เหฃืองอ๋อยทั้งบ้านแต่ถ้าขาวโพลนเกินไปก็ดูเหมือนโรงอาหารไปหน่อย ถ้าต้องการสีกลางๆก็ cool day light ครับ แต่หลอดที่ทำสี cool-daylight มีไม่กี่ยี่ห้อครับ แพงด้วยถ้าไม่อยากใช้ของแพง ก็อาจใช้โคมประเภทสองช่อง โดยช่องนึงใส่สีขาวกับอีกดวงใส่สีเหลืองก็ได้ครับ 

        ความสว่างของหลอดไฟก็สำคัญครับบางห้องเราเลือกเอาโคมสวยๆ แต่ตัวโคมจำกัด watt ที่ใส่ ก็อาจทำให้ความสว่างไม่พอได้ บางห้องอาจต้องการความสว่างมากๆ เช่นห้องทำงานห้องสมุด บางห้องก็ไม่ต้องเช่นห้องนอน ก็ต้องเลือกให้เข้ากับห้องครับ ถ้าจะเอาง่ายๆ เวลาเราซื้อหลอด ก็เลือกจาก กำลังไฟ(Watt) ที่ระบุข้างกล่องได้เลยครับ ยิ่ง wattสูง ก็สว่างมากครับ...แล้วเราจะรู้ได้ไงว่าห้องไหนควรสว่างเท่าไหร่ และควรใช้กี่หลอดถึงจะดี ก็ต้องว่าตามทฤษฎีเลยครับ 

       โดยต้องดูตามค่าความส่องสว่าง ซึ่งความสว่างมีหน่วยเป็น Lux ตามสมาคมไฟฟ้าและแสงสว่างแห่งประเทศไทย(ในพระบรมราชูปถัมป์) ผมเพิ่งรู้ว่ามีสมาคมนี้ด้วยแฮะ ได้มีการกำหนดค่าความสว่างที่เหมาะสมของแต่ละห้องในบ้านดังนี้ครับ


      จากค่าในตารางเราก็เอามาใส่สูตรคำนวน watt และ จำนวนหลอด 


ขอบคุณ web Share.psu.ac.th ด้วยครับ


จำนวนหลอดไฟ คือจำนวนหลอดที่จะติดในหนึ่งพื้นที่

ค่าความสว่าง(Lux) ดูได้จากตารางข้างบน

พื้นที่รับแสง ต่อหนึึ่งห้อง หน่วยตารางเมตร

อัตราพลังงานแสงที่ตก (Lumens) ดูได้จากข้างกล่องหลอดไฟเลยครับ

ตัวอย่าง : ต้องการติดโคมไฟในห้องกินข้าวขนาด 4x4 ตร.ม. อยากติดหลอด LED 12 watt ยี่ห้อนึงต้องใช้กี่หลอด มีตัวอย่างหลอดมาให้ดูด้วย


จากภาพกล่องข้างหลอดไฟจะเขียนบอกไว้หมดเลยครับ หลอด LED 12 watt เทียบเท่าหลอดไส้ 60W ค่าแสงตกบนพื้นที่ 806 lm สีของหลอด 2700K

เราก็เอามาแทนค่าในสูตรเลยครับ ห้องกินข้าว ต้องการ 300 lux

= ( 300 x 16 ) / 806 

= 5.9

จากโจทย์ถ้าเราต้องการติดไฟดังกล่าวนี้ก็ใช้ประมาณ 6 ดวงครับ 

จะเห็นว่าสูตรนี้่เอาไปประยุกต์ใช้ได้มากมายเลย รู้จำนวนดวง หา watt อะไรได้อีกเยอะแยะครับ


          แต่ผมว่าถ้าจะต้องมาคำนวนแบบนี้มันจะเหนื่อยไปนะ สถาปนิกผมเลยระบุมาให้คร่าวๆเป็นกำลังไฟ (watt) ไปเลยง่ายกว่าครับ ก็คือ ไฟส่องสว่างในห้อง 4x4 ตาราง ติดโคมสี่ดวงใช้ดวงละ 11-14 watt แต่ถ้าห้องใหญ่กว่านี้ก็เพิ่ม watt ไปอีก step นึงได้ครับ ส่วนห้องโถงในบ้านห้องรับแขก ก็เอาที่ 15-18 watt ครับ...แต่เดี๋ยวก่อน watt ที่บอกนี่คือ watt ของหลอด Compact นะครับ watt ของ LED จะต่ำกว่านี้ครึ่งนึงครับ จำง่ายๆ watt LED = watt CPF/2 = watt หลอดไส้/10 ครับ ผมมีตารางเปรียบเทียบมาให้ดูครับ อย่าซื้อผิดนะครับ เอา watt CPF ไปซื้อหลอด LED นี่สว่างแสบตา แถมแพงอีก


ตารางเปรียบเทียบค่า watt ของหลอดแต่ละชนิด

เห็นไหมครับ แค่การเลือกโคมไฟก็วุ่นวายขนาดนี้แล้ว ผมกว่าจะได้ข้อมูลมาแบบนี้นี่ศึกษาเยอะเลย หลงโง่ซื้อของมาผิดอีกตะหากใครที่กำลังสร้างบ้าน แล้วยังไม่ถึงขั้นตอนเลือกไฟ แนะนำให้อ่านทวนสักสองรอบครับถ้าไม่คิดอะไรมาก ก็ติด ดาวไลท์กลมๆ ธรรมดา ขั้ว E27 ให้หมด ใส่ได้ทั้งหลอดไส้หลอดคอมแพค และหลอด LED ไม่ต้องแปลงขั้วแปลงไฟแต่ถ้าใครอยากได้แสงหลายๆแบบก็คงต้องเหนื่อยกันหน่อยครับ ยกเว้นว่าให้สถาปนิกอินทีเรียจัดการทั้งหมด ก็จบครับ 555 สบาย

รู้สึกว่า blog นี้ยาวมากๆเลยเอาไว้ครั้งหน้าจะมาพูดถึงตอนที่ผมไปเลือกบ้างละกันครับ เป็นการเล่าเรื่องเบาๆไม่หนักแบบ blog นี้ละ ส่วนบ้านผมตอนนี้ถึงขั้นตอนปูพื้นไม้ ทำบันได เตรียมปูกระเบื้อง ปูหินอ่อน แล้วจะมาอัพเดตเพิ่มเติมนะครับ สวัสดีครับ

Create Date :22 กรกฎาคม 2558 Last Update :22 กรกฎาคม 2558 20:30:49 น. Counter : 36949 Pageviews. Comments :13