bloggang.com mainmenu search
  วันที่อัพบล๊อกนี้ เสาเข็มทั้ง 54 ต้นของบ้านผมก็ตอกเสร็จพอดีครับ ผมจะเล่าย้อนให้ฟัง เพราะเสาเข็มมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย...จริงๆ ผรม.เตรียมตอกเข็มตั้งแต่ปลายเดือน มค.แล้ว ตอนแรกที่สถาปนิกและวิศวะออกแบบมา เขาคำนวนเข็มจากดินใน กทม.ครับ จะได้เป็นเข็ม I 26x26 cm.ยาว 21 m. บ้านผมใช้เข็มทั้งหมด 54 ต้น เยอะมากกก คำนวนค่าเสาและค่าตอกออกมาได้ราวๆ 5 แสนกว่าๆครับ 


ผังเสาเข็ม


    แต่พอลงหน้างานจริง จะสั่งเขาเข็ม ผรม.เสาเข็มแถวศรีราชาบอกว่าเข็ม I ตอกดินแถวนี้ไม่ได้ครับ เพราะดินดาน ฐานภูเขา แข็งมาก ต้องใช้เสาเหลี่ยม เลยต้องให้วิศวะกรคำนวนเสาให้ใหม่ ก็ได้เสาเหลี่ยมขนาด 22x22 ความยาวให้คำนวน blow count เอา ทาง ผรม.เลยให้คนวิ่งรถไปถามที่ โยธา อบต.ว่าดินแถวนี้ตอกกันเท่าไหร่ ก็ได้ว่ายาวสุดประมาณ 7 เมตร ผมเองก็ถามบ้านรุ่นพี่ที่ทำงาน ที่มีบ้านในหมู่บ้านนี้ ก็ได้ความว่าตอกลงประมาณ 7 เมตรเท่านั้น ก็เลยสรุปความยาวที่ 7 เมตร ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเสาเข็มลดลงอีกประมาณ 2 แสนบาทเลยครับ ดีจริงๆ เอาไปโปะตรงอื่นได้สบายๆเลย อิอิ

    ทีนี้พอไปหาเสาเหลี่ยม 22x22 7 เมตร แถวนี้ก็ไม่มี มอก.เลยสักเจ้า ขนาดหา 4 เจ้าแล้วนะ My god แล้วที่สร้างๆกันอยู่คืออะไร..จริงๆเสาเข็มที่ไม่มี มอก.ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ไม่ได้นะครับ เขาก็หล่อเสาเข็มตามปกติอ่ะแหล่ะ แต่ถ้าจะเอาเครื่องหมาย ต้องติดต่อกรมโรงงานมารับรอง มีวิศวะเซ็นต์กำกับ ก็ต้องมีรายจ่ายส่วนนี้ ผรม.บางเจ้า หรือ จขบ.บางคนอาจขี้เกียจรอ แต่ผมไม่เอาด้วยครับ ขอมาตรฐานไว้ก่อน ก็เลยต้องรอหล่อเข็มใหม่ 2 สัปดาห์ รอนาน อุ่นใจดีกว่าครับ

  ผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ ผรม.ก็โทรมาบอกว่าเข็มมาแล้วครับ เย้ ดีใจมาก จะได้ Go on ซะทีครับ


กำลังเอาลงอย่างขมักขะเม่น


มอก.ชัดเจน เชื่อถือได้แน่นอน

จากนั้นก็ลงมือตอกเลยครับ บ้านผมใช้รถตอกนะครับ ผมก็ถามว่าทำไมไม่ตั้งปั้นจั่น เขาบอกว่าทำบ้าน พื้นที่เล็ก เสาถี่ ใช้ปั้นจั่นกว่าจะเคลื่นย้ายที่ลำบากมาก เกะกะด้วย ส่วนใหญ่ปั้นจั่นจะใช้กับการสร้างโรงงาน หรือตึกใหญ่ๆ เสาก็ไม่ยาวมาก ใช้รถคล่องตัวกว่าครับ


รถตอกปั้นจั่น

  ผรม.ผมเลือกเจ้าปั้นจั่นที่ต้องมีวิศวกรคุม และต้องเซ็นต์ Blow Count ด้วยครับ(เป็นวิศวกรของปั้นจั่นเองนะครับ มีอะไรเจ้าปั้นจั่นรับผิดชอบ) เพื่อให้แน่ใจว่าได้เสามาตรฐาน และตอกลงตำแหน่งที่มั่นคงจริงๆ แบบนี้ดีครับ ไม่มีการลักไก่ตอกแน่นอน มีลายเซ็นต์เป็นหลักฐาน...สองวันผ่านไป ผรม.ไลน์มาบอกว่าเสร็จแล้ว ห๊ะ อะไรนะ สองวัน 54 ต้น เสร็จแล้วรึเร็วมาก ผมเลยวิ่งรถจากที่ทำงานไปดูเองเลยครับ ตามภาพ


ป่าเสาเข็ม

ไปเห็นถึงกับอึ้ง!! นี่เสาเข็ม หรือเสาบ้าน!! ปรากฏว่า เข็ม 7 เมตรนั้นตอกลงได้แค่ 2 - 3 เมตรเองครับ ดินแข็งสุดยอด ผมก็ถามว่านี่จมแล้วหรือ ผรม.บอกว่า ทดสอบ blow count แล้ว ได้ตามกำหนดทุกต้น แต่ดินแข็งมาก ลงได้เท่านี้เอง แต่เดินๆดูไป ต้นที่ตอกจมลึกสุด ก็มิดดินเหมือนกันนะครับ


ต้นนี้มิดเลยครับ

อย่างต้นในรูป ตอกระดับผิวดินพอดีเลย ดีแล้วครับที่สั่ง 7 เมตร ถ้าสั่งสั้นกว่านี้ มีหวังต้องสั่งใหม่อีกต้นเดียว รอไปอีกสองสัปดาห์เซ็งเลย สรุปแล้ว 54 ต้น มีจมต้นเดียว ที่เหลือจมได้ 2 - 5 เมตร เรียกว่าตัดหัวเสาเอาไปสร้างอีกหลังได้เลยครับเหอๆ ตอนนี้ก็ตอกเสาเสร็จหมดแล้ว จะเริ่มทำงานจริงๆจังแล้วโดยขุดดิน เทลีน ทำฟุตติ้งล่ะครับ ตื่นเต้นๆ 


มุมไกลๆจากประตูทางเข้าบ้าน

อ้อ ลืมบอก วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้จะมีประชุมไซต์งานครั้งแรก มีผม ผรม. Project manager สถาปนิก consultant ครับ เพื่อแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ และเคลียแบบให้ชัดก่อนสร้างครับ แล้วผมจะมารายงานนะครับว่าประชุมอะไรกันบ้าง

Blow Count คืออะไร

ผมยกมาอธิบายตอนท้ายเลยครับ ไปหาความรู้มาประดับ blog หน่อย อิอิ

Blow Count ก็คือ จำนวนครั้งในการตอกเสาเข็ม ที่ทำให้เสาเข็มจมลงไปในดิน 1 ฟุต ยิ่งดินแข็ง ค่า BC ยิ่งสูง โดยจะทราบว่าตอกเท่าไหร่ถึงจะพอ ก็จะคำนวนจาก 10 last blow count ครับ โดยเมื่อทำการตอกจนรู้สึกว่าเข็มตอกไม่ค่อยลงแล้วให้ใช้ไม้ 1 ฟุต(30 ซม.) ขีดมาร์คไว้จากผิวดิน แล้วทำการตอก 10 เข็ม (ความสูงของตุ้มและนน.ตุ้ม ต้องนำไปคิดในสูตรด้วยนะครับ เมื่อตอก 10 ครั้ง เช็คดูว่าเข็มจงลงไปลึกเท่าไหร่ ถ้าค่าที่ได้ไม่เกินค่าที่คำนวณได้ เป็นอันว่าผ่าน เสาเข็มสามารถรับแรงได้ตามที่ออกแบบ ที่ถ้าเสาเข็มจนเกินกว่าค่าที่คำนวณได้ ก็ตอกต่อครับ จนเริ่มตอกไม่ลงก็ให้ทำซ้ำกับที่กล่าวมาข้างต้น

สูตรคำนวน เอามาแปะไว้ครับ เผื่อใครอยากทราบ(ไปทำไม..)
DANISH FORMULA
Qult = eWH/(S+C) 
C = (eWHL/2AE)^0.5

Pile Section (หน้าตัดเสาเข็ม) 
Fc' (กำลังอัดของคอนกรีตที่อายุ 28 วัน) 
Safe Load ( น้ำหนักปลอดภัย) 
Weight of Hammer (น้ำหนักของตุ้ม) 
Height of Drop (ระยะยกของตุ้มเหนือเสาเข็ม) 

เช่น Last 10 Blows = 8.4 cm หมายความว่า การตอกเสาเข็ม 10 ครั้งสุดท้าย เสาเข็มต้องจมไม่เกิน 8.4 ซม. จึงจะสามารถรับน้ำหนักปลอดภัยได้ตามกำหนดนั่นเอง

ของผมจะมีวิศวะคำนวน Blow count แต่ละต้น และจำทำเป็นรายงาน เซ็นต์ชื่อส่งมาให้ ผรม.และให้ผมด้วยครับ มาตรฐานมากๆ

ที่มา : //www.civilclub.net/webboard/index.php?topic=11786.10
         //apiwatpunjun.igetweb.com/?mo=3&art=417895
Create Date :06 กุมภาพันธ์ 2557 Last Update :25 พฤษภาคม 2557 0:28:07 น. Counter : 16553 Pageviews. Comments :17