Chess สำหรับผู้เริ่มต้น Chess หรือ หมากรุกฝรั่ง เล่นบนกระดาน 8 x 8 เหมือนหมากรุกไทย ตัวกระดานต่างกันที่ช่องหมากบนกระดานของหมากรุกไทย เราไม่จำเป็นต้องระบายสี แต่กระดานหมากรุกฝรั่งระบายสีขาว-ดำสลับกัน มีประโยชน์ช่วยให้มองตาเดินของบิชอบซึ่งเดินในแนวทแยงได้สะดวก จำนวนหมากที่ใช้เล่นก็มีจำนวนเท่ากับหมากรุกไทย การจัดเรียงตำแหน่งเริ่มต้นต่างกันเล็กน้อย คือ วางเบี้ยไว้แถวที่สอง ในขณะที่หมากรุกไทยวางเบี้ยแถวที่สาม และตำแหน่งของคิงทั้งสองฝ่ายอยู่ตรงกัน (หมากรุกไทยคิงหรือขุน จะอยู่ทางซ้ายมือ) จุดประสงค์ของเกมหมากรุกทุกชนิดเหมือนกันหมด นั่นคือ สังหาร (checkmate) คิงศัตรู ![]() ตัวหมากรุกฝรั่งมีเพียง 6 ตัว แบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายสีขาว กับ ฝ่ายสีดำ ถ้าคุณรู้จักวิธีการเดินแต่ละตัวและกติกาที่สำคัญอีกไม่กี่ข้อ คุณก็พร้อมที่จะเล่น chess แล้วละครับ ข้อควรรู้เริ่มต้นคือกระดานหมากรุกฝรั่งจะวางให้ช่องสีดำอยู่เป็นมุมล่างซ้าย ถ้าคุณก้มลงมองกระดานแล้วพบว่ามุมล่างซ้ายเป็นสีขาว ก็อย่าลืมจับมันหมุน 90 องศาก่อนจัดเรียงตัวหมากนะครับ และฝ่ายที่เล่นเป็นสีขาวเป็นผู้ได้เดินก่อน 1. คิง (King, ![]() คิงเป็นตัวที่มีค่าสูงสุด ตำแหน่งเริ่มต้นของคิงสำหรับหมากสีขาวอยู่บนช่องสีดำ ตำแหน่งคิงดำเริ่มต้นอยู่บนช่องขาว คิงเดินได้หนึ่งช่องทุกทิศรอบตัวที่เดินไปแล้วไม่ถูกฆ่าตาย (ดังรูป) แต่จะมีการเดินกรณีพิเศษที่เดินได้ไกลกว่าหนึ่งช่อง ซึ่งผมจะกลับมาเล่ากติกาตรงจุดนี้ให้ฟังอีกทีเมื่อแนะนำหมากครบทั้งหกตัวครับ ![]() 2. ควีน (Queen, ![]() เวลาสังเกตสัญลักษณ์เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างคิงกับควีน ให้ดูไม้กางเขนกับมงกุฏ คิงจะมีไม้กางเขน ส่วนควีนมีมงกุฏ ควีนเป็นตัวหมากที่มีพลังอำนาจสูงสุด ตำแหน่งเริ่มต้นวางอยู่ติดกับคิง ควีนขาวอยู่บนช่องสีขาว ควีนดำอยู่บนช่องสีดำ ควีนทั้งสองฝั่งเผชิญหน้ากัน ควีนสามารถเดินได้ยาวในแนวนอน แนวตั้ง และแนวเส้นทแยงมุม ![]() ตัวหมากรุกทุกตัวยกเว้นม้า (อัศวิน) ไม่สามารถเดินข้ามหมากตัวอื่นได้ และการกิน (capture) คือ การที่หมากฝ่ายหนึ่งเดินไปยังตำแหน่งที่หมากของฝ่ายคู่ต่อสู้อยู่ เวลาเรากินหมากของคู่ต่อสู้ เราก็ยกหมากของคู่ต่อสู้ออกจากกระดานแล้ววางหมากของเราลงไปแทนที่ ตัวหมากรุกทุกตัวยกเว้นเบี้ย (pawn) จะกินกันได้ในทางที่เดินเท่านั้น สองรูปข้างล่างนี้แสดงให้เห็นว่าควีนเดินข้ามหมากตัวอื่นไม่ได้ (ซ้าย) ตำแหน่งที่ควีนสามารถเดินไปได้ระบายด้วยสีเขียว และ แสดงหมากที่ควีนขาวสามารถเลือกกินได้ (ขวา) ![]() ![]() 3. บิชอบ (Bishop, ![]() แต่ละฝ่ายมี 2 ตัวยืนขนาบข้างคิงกับควีน ดังนั้นจึงยืนอยู่บนคนละช่องสี บิชอบเดินได้เฉพาะในแนวทแยงมุม ยาวเท่าไรก็ได้ตราบเท่าที่ยังไม่กระโดดข้ามตัวหมาก รูปซ้ายแสดงทิศการเดิน รูปขวาแสดงตัวอย่างบิชอบขาวกินเรือดำ ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของบิชอบคือ มันเดินไปยังช่องสีที่มันไม่ยืนอยู่ไม่ได้ พูดง่าย ๆ ว่ากระดาน 64 ช่อง บิชอบแต่ละตัวครอบครองพื้นที่ที่สามารถเดินได้เพียง 32 ช่อง ถึงแม้ว่ามันจะเป็นตัวหมากที่เดินได้ยาว แต่ด้วยข้อจำกัดนี้เองทำให้ค่าของมันน้อยเมื่อเทียบกับเรือ ![]() ![]() 4. ม้าหรืออัศวิน (Knight, ![]() เดินเหมือนม้าหมากรุกไทยทุกประการ ไม่มีข้อจำกัดยกเว้นใด ๆ เหมือนหมากรุกจีนหรือญี่ปุ่น รูปซ้าย ช่องสีแดง คือช่องที่ม้า e4 สามารถเดินได้ และรูปขวาแสดงให้เห็นว่าม้า e4 สามารถกระโดนข้ามหมากไปยังช่องที่ระบายด้วยสีเขียวได้ โดยทั่วไปเซียนหมากรุกสากลมักจะให้ค่าของม้ากับบิชอบเท่า ๆ กัน แต่ค่าที่แท้จริงของมันขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มันยึดครองอยู่บนกระดาน ![]() ![]() 5. เรือหรือป้อมปราการ (Rook, ![]() เดินเหมือนเรือหมากรุกทุกชนิด คือ เดินยาวได้แนวตั้งและแนวนอน (ดูรูปซ้าย) เรือเป็นตัวหมากที่มีพลานุภาพรองลงมาจากควีน โดยตัวไปการกำหนดค่าของตัวหมากรุกจะถือค่าดังนี้ คิงมีค่าสูงสุด, ควีน = 9, บิชอบ = ม้า = 3, เรือ = 5 และเบี้ย = 1 มีข้อควรรู้เกี่ยวกับการเดินคิงและเรือพร้อมกันที่น่าสนใจแบบหนึ่ง เราเรียกว่าการ "เข้าป้อม" หรือ "Castling" บรรดาเซียนหมากรุกนิยมแนะนำให้เข้าป้อมให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเข้าป้อมคือการเดินคิงไปทางซ้ายหรือขวา 2 ช่อง แล้วนำเรือมาวางไว้อีกด้านหนึ่งของคิง การเข้าป้อมเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะคือการเข้าป้อมฝั่งควีน (Queen's side) และการเข้าป้อมฝั่งคิง (King's side) ดูรูปขวาแสดงการแบ่งฝั่ง ![]() ![]() เงื่อนไขสำคัญสำหรับการเข้าป้อมคือ 1.คิงยังไม่เคยเดินมาก่อน 2.เรือฝั่งที่จะเข้าป้อมก็ยังไม่เคยเดินมาก่อน และ 3.ไม่มีตัวหมากรุกอื่นคั่นกลางระหว่างคิงกับเรือ ตัวอย่างรูปด้านล่างแสดงตรงตามเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ พร้อมที่จะเข้าป้อมได้ ![]() คราวนี้ลองมาดูรูปหน้าตาหลังจากเข้าป้อมกันบ้าง รูปด้านซ้ายแสดงการเข้าป้อมฝั่งคิง รูปด้านขวาแสดงการเข้าป้อมฝั่งควีน ![]() ![]() มีข้อห้ามสำคัญ 3 ข้อสำหรับการเข้าป้อม คือ ห้ามเข้าป้อมถ้าหากคิงกำลังถูกรุก ดูรูปตัวอย่างด้านล่าง คิงขาวไม่สามารถหนีการรุกด้วยการเข้าป้อมได้ เพราะปราสาทดำกำลังรุกคิงขาว (การรุก หรือ check คือการเดินตัวหมากเพื่อจะสังหารคิงของฝ่ายตรงข้ามในตาถัดไป ดังนั้นฝ่ายที่ถูกรุกต้องปกป้องคิง โดยวิธีการใดวิธีการหนึ่งอาทิ หนี, หาตัวหมากมาป้องกันการรุก หรือ ฆ่าตัวที่มารุก) ![]() ห้ามเข้าป้อมแล้วตาย ดูตัวอย่างดังรูปซ้าย ถ้าคิงเข้าป้อมฝั่งคิงจะทำให้คิงไปยืนที่ g1 ซึ่งเป็นที่ที่บิชอบดำ d4 สามารถกินคิงได้ ดังนั้นห้ามเข้าป้อมแล้วตายนะครับ และถึงแม้ว่าเข้าป้อมแล้วไม่ได้ แต่ในการเข้าป้อมนั้นเดินผ่านช่องที่ทำให้ตาย ก็ไม่มีสิทธิเดินผ่านเช่นกัน ดูรูปตัวอย่างขวา ถ้าคิงเข้าป้อมฝั่งควีนจะไปยืนที่ c1 ซึ่งเป็นที่ที่ปลอดภัย แต่การเดินไป c1 คิงต้องผ่าน d1 ซึ่งเป็นที่ที่ควีนดำ d4 สามารถกินคิงได้ กรณีนี้คิงก็ไม่มีสิทธิเข้าป้อมฝั่งควีนเช่นกัน ![]() ![]() พูดถึงตรงนี้ขอเสริมกติกาที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ในการแข่งขันแล้วสำคัญมากข้อหนึ่งคือ touch-move rule หมายถึง จับหมากตัวใดต้องเดินตัวนั้น แต่ถ้าเจตนาของเราในการจับหมากเพื่อจัดให้มันเป็นระเบียบ จะต้องบอกให้ชัดเจนก่อนจับว่าต้องการแค่เพียงจัด จะพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสเท่ ๆ ว่า "j'adoube" (I adjust) ก็ได้ครับ ตรงนี้สำคัญเวลาเข้าป้อม เพราะเวลาเข้าป้อมเราจะต้องเดินหมากสองตัว ให้จำไว้ว่าเดินคิงก่อน (จับคิงก่อน) จะมาเดินเรือก่อนไม่ได้ ถ้าเผลอไปจับเรือแล้ว ก็อดเข้าป้อมครับ 6. เบี้ย (Pawn, ![]() ในภาษาเยอรมันเรียก pawn ว่า Bauer หมายถึง ชาวนา แต่อย่าดูถูกชาวนาไป เพราะกติกา chess ข้อหนึ่งยินยอมให้ชาวนาสามารถผลิกผันชีวิตตัวเองเป็นอะไรก็ได้ ยกเว้นคิง เมื่อชาวนาตัวนั้นเดินไปจนสุดปลายกระดาน เราเรียกว่าการเลื่อนตำแหน่ง (Promotion) ใน chess ชาวนา สามารถเป็นพระราชินี เป็นพระสังฆราช เป็นอัศวิน หรือเป็นป้อมปราการได้ แต่สำหรับชาวนาในหมากรุกไทย การเลื่อนตำแหน่งสูงสุดที่เป็นไปได้คือเม็ด อันหมายถึง นายทหารชั้นผู้น้อยเท่านั้นเอง เบี้ยนั้นเดินได้ตรงหน้าเพียงอย่างเดียว และเดินได้ทีละ 1 ช่อง จะเดินข้าง ถอยหลัง เฉียงซ้ายขวาไม่ได้ เดินหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงแถวที่ 8 จึงเลื่อนตำแหน่งพ้นจากวิถีชีวิตชาวนา แต่การเดินเบี้ยซึ่งปกติจะเดินได้ทีละช่องนั้นมีข้อยกเว้นอยู่ว่า ในการเดินครั้งแรกของเบี้ยแต่ละตัว สามารถเดินทีเดียว 2 ช่องได้ สังเกตเบี้ยตำแหน่ง a2 สามารถเดินไปตำแหน่ง a4 ได้ (รูปซ้าย) แต่เวลากิน กินเฉียง (จำง่าย ๆ ว่า เดินตรงกินเฉียง) ดูรูปขวา ![]() ![]() มีกติกาเกี่ยวกับการเดินเบี้ยที่สำคัญมากข้อหนึ่งเรียกว่า En Passant เป็นภาษาฝรั่งเศส หมายถึง in passing ในภาษาอังกฤษ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วกิ๊กของเพื่อนซึ่งเป็นชาวเยอรมัน มาแวะเยี่ยมที่ร้านเหล้า น้องสาวเชียร์แขกในร้านคนหนึ่ง (กำลังจะไปเรียนต่อเอกที่เวียนนาเดือนกันยายนนี้ - หมายเหตุ ตอนเขียนแนะนำเรื่องเชสผมเขียนตอนปี 2549) ก็ชวนกิ๊กของเพื่อนเล่นเชส ตามประสาคนมุงทั่วไปก็อดเสือกไม่ได้ เมื่อเห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่รู้กติกาข้อ en passant และบ่อยครั้งที่เล่นหมากรุกในร้านเหล้าแล้วหลายคนงงเมื่อผมใช้กฏข้อนี้กินเบี้ยของเขา เรามาดูตัวอย่างกันครับ เริ่มจากสถานการณ์ตามรูปซ้าย สมมติว่าต่อไปเป็นทีฝ่ายดำเดิน ฝ่ายดำอาจคิดว่า จะเดินโดยใช้กติกาที่อนุญาตให้เดินได้ 2 ช่องในการเดินทีแรก เพื่อให้ได้ผลตามรูปขวาก็น่าจะปลอดภัย ไม่ถูกเบี้ยขาวกิน เพราะถ้าเดินขึ้น 1 ช่องตรง ๆ ในตาต่อไปเบี้ยขาวสามารถจับกินได้ ![]() ![]() กติกาข้อ En Passant ระบุว่า ถ้าเบี้ยเดิน 2 ช่องซึ่งผ่านช่องที่เบี้ยอีกฝ่ายหนึ่งสามารถสังหารได้ เบี้ยอีกฝ่ายสามารถจับสังหารได้ตามปกติในตาถัดไป ดังรูปตามลำดับ ![]() ![]() เพราะฉะนั้นการเดินเบี้ยขึ้นมา 2 ช่องต้องคำนึงถึงจุดนี้ให้ดี แต่ถ้าในตาถัดไป เบี้ยฝ่ายขาวไม่จับเบี้ยดำกิน (เพราะดำผ่านช่องกินของขาว) เดินตัวอื่นแทน ฝ่ายขาวจะจับกินเบี้ยดำย้อนหลังไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นถ้าเบี้ยขาวจะจับดำกินด้วยกติกา en passant ต้องจับกินทันทีในตาถัดไป |
บทความทั้งหมด
|