Xiangqi สำหรับผู้เริ่มต้น
Xiangqi หรือ หมากรุกจีน เป็นหมากกระดานอีกเกมหนึ่งที่น่าเล่นครับ เซี่ยงฉี แปลตรงตัวว่า "หมากช้าง" เซี่ยง แปลว่า ช้าง ซึ่งเป็นหมากตัวหนึ่งที่อยู่บนกระดาน กระดานของหมากรุกจีนกับกระดานหมากรุกเกาหลี (Jangki) เหมือนกัน เป็นกระดานขนาด 9 x 10 เส้น ดังรูป ซึ่งตัวหมากแต่ละตัวจะวางและเดินบนจุดตัดของเส้น ผิดจากหมากรุกไทย/ญี่ปุ่น/ฝรั่งที่ตัวหมากแต่ละตัววางและเดินในช่อง



แนวยาวที่พาดผ่านกลางกระดานตามแนวนอนแบ่งดินแดนออกเป็นสองฝั่งคือแม่น้ำ (ถ้าคุณซื้อกระดานหมากรุกจีนมาอาจจะเห็นตัวอักษรเขียนไว้สองคำ "ฉ่อฮ้อ หรือ ฉู่เหอ" และ "ฮั่งก่าย หรือ ฮั่นเจี้ย" แปลว่า แม่น้ำฉ่อหรือฉู่และเขตแดนฮั่น) แม่น้ำนอกจะเป็นเขตแดนระหว่างสองแผ่นดินแล้วยังเป็นเครื่องกีดขวางการเดินทางของหมากบางตัว กล่าวคือ มีเพียงหมากบางตัวเท่านั้นที่สามารถข้ามแม่น้ำได้ และมีหมากบางตัวที่เดินข้ามแม่น้ำแล้วมีลักษณะการเดินเปลี่ยนไป รายละเอียดผมจะเล่าตอนที่เราพูดถึงหมากตัวนั้นกันนะครับ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการที่ผมอยากจะเกริ่นเอาไว้ก่อนเกี่ยวกับจุดเหมือนและจุดต่างกับหมากรุกชนิดอื่น หมากรุกจีนเหมือนกับหมากรุกญี่ปุ่นตรงที่ทั้งคู่ไม่ชอบให้รุกล้อ การรุกล้อคือฝ่ายหนึ่งรุกอีกฝ่ายอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดการเดินกลับไปกลับมาจนกระทั่งฝ่ายที่ถูกรุกไม่เป็นอันทำมาหากินอะไร นอกจากเดินหนีอย่างเดียว แบบนี้ถ้าซ้ำตำแหน่ง 4 ครั้งหมากรุกญี่ปุ่นปรับคนรุกเป็นผู้แพ้ หมากรุกจีนก็ปรับแพ้เช่นกัน แม้ว่าจะไม่เกิดการซ้ำตำแหน่งและใช้หมากหลายตัวช่วย ๆ กันรุก ถ้าเป็นการรุกต่อเนื่องตลอดกาลก็ปรับผู้รุกให้แพ้ ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือภาวะ "อับ" หรือ "stalemate" ในหมากรุกไทย/ฝรั่ง อับคือเสมอ ในหมากรุกญี่ปุ่นไม่มีอับ เพราะตัวหมากเป็นอมตะ ส่วนหมากรุกจีน อับ คือ "แพ้" ฝ่ายไหนอับฝ่ายนั้นแพ้นะครับ ตัวสุดท้ายที่จะขอเกริ่นถึงคือ "ม้า" ซึ่งเป็นหมากอีกตัวที่มีในหมากรุกทุกชนิด และแทบทุกชนิด ม้าจะมีอภิสิทธ์กระโดดข้ามหัวชาวบ้านได้ แต่สำหรับหมากรุกจีน มีกรณีที่ม้ากระโดดข้ามไม่ได้ เราเรียกว่าม้าถูกขัดขา รายละเอียดจะได้เล่าอีกทีเมื่อพูดถึงม้า

สี่เหลี่ยมตรงกลางที่อยู่บนเส้น 4-5-6 และมีเส้นกากบาทเหมือนตัวอักษร X คือเขต "วัง" กติกาหมากรุกจีนกำหนดไว้ว่าตัวหมากที่เกิดในวังจะเดินออกนอกวังไม่ได้ หมากที่เริ่มต้นอยู่ในวังมี 3 ตัว ได้แก่ ขุน (ซื่อ หรือ ส้วย, เจี่ยง หรือ เจียง ที่คนไทยนิยมเรียก อั้งตี่, โอวตี่) 1 ตัว กับ สือ (เสนา) 2 ตัว

ตัวหมากรุกจีนแบ่งออกเป็นสองสี สีแดง กับ สีดำ หมากบางตัวเป็นหมากตัวเดียวกันแต่คนละสีกันก็เขียนด้วยอักษรคนละอักษรกัน เรียกชื่อไม่เหมือนกัน สำหรับคนที่ไม่รู้ภาษาจีนหัดเล่นใหม่ ๆ ก็มึนดีครับ ตัวหมาก Xiangqi มีทั้งหมด 7 ตัว ได้แก่

1. ขุน หรือ จอมพล, นายพล (สีแดงเรียก "ซือ หรือ ส้วย" สีดำเรียก "เจี่ยง หรือ เจียง")



ขุนเดินได้ตามแนวนอนและแนวตั้งภายในวัง เดินออกนอกวังไม่ได้นะครับ เดินทแยงก็ไม่ได้เช่นกัน กติกาที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับขุนมีข้อเดียว คือ ขุนทั้งสองฝ่ายจะเผชิญหน้ากันโดยไม่มีหมากตัวใดคั่นไม่ได้ ฝ่ายที่เดินขุนแล้วทำให้ขุนเผชิญหน้ากันตรง ๆ ฝ่ายนั้นแพ้

2. เสนา (ทั้งสีแดงและสีดำแม้เขียนต่างกันแต่ก็อ่านเหมือนกันว่า "สือ หรือ ซื่อ")



สือ หรือ ซื่อ คือ เสนา เป็นตัวหมากที่ทำหน้าที่พิทักษ์ขุน แต่ละฝ่ายมี 2 ตัว เดินแนวทแยงภายในวังเท่านั้น ดังรูป



3. ช้าง (สีแดงเรียก "เสี่ยง หรือ เซียง" สีดำเรียก "เฉีย หรือ เซี่ยง")



ช้าง เดินในแนวทแยงมุมทีละสองช่อง ข้ามแม่น้ำไม่ได้ ดังนั้นตำแหน่งที่ช้างสามารถยืนบนกระดานหมารุกจีนมีเพียง 7 ตำแหน่งเท่านั้น ช้างเดินได้ทีละสองช่องก็จริง แต่มันไม่สามารถเดินข้ามหมากที่ขวางได้ ดูรูปซ้ายแสดงทั้ง 7 ตำแหน่งที่ช้างสามารถยืนได้และแนวการเดิน ส่วนรูปขวาเซี่ยงไม่สามารถเดินไปไหนได้เลย เพราะมีเบี้ย 4 ตัวขวางทุกทิศทาง



4. ม้า (ทั้งสองสีเขียนเหมือนกันด้วยตัวอักษร "เบ้ หรือ หม่า")



ม้ามีลักษณะการเดินแบบตัว L เหมือนหมากรุกทุกชนิด (ดูรูป ให้สังเกตการข้ามแม่น้ำ เพราะ แม่น้ำก็นับว่าเป็นช่องหนึ่งช่องเช่นกัน) ม้าจีนแตกต่างจากม้าหมากรุกไทย/ฝรั่งตรงที่หากมีหมากตัวใดมาขวางในแนวด้านยาว มันจะข้ามหมากตัวนั้นไม่ได้ (เหมือนช้าง) รูปด้านขวา ม้าถูกขวางด้วยเบี้ยไม่สามารถเดินไปยังตำแหน่งรถศึกหรือปืนใหญ่ได้ แต่สามารถเดินไปยังเส้นที่ 6 ได้



5. รถศึก หรือ เรือ (ทั้งสองสีเขียนเหมือนกันเรียกว่า "กือ หรือ เชอ")



เดินเหมือนเรือหมากรุกไทย/ฝรั่ง/ญี่ปุ่น คือ เดินยาวตามแนวตั้งและแนวนอน รถศึกเป็นตัวหมากที่มีอำนาจสูงสุดในหมากรุกจีน

6. ปืนใหญ่ (สีแดงเรียก "เผ่า หรือ ผาว" สีดำเรียก "เผ่า หรือ พ่าว")



หมากตัวนี้เดินเหมือนรถศึก แต่เวลากินหมากอื่นจะต้องมีตัวหมากอีกตัวมาคั่นระหว่างมันกับตัวที่มันจะกินหนึ่งตัวเสมอ ตัวที่มาคั่นจะเป็นหมากของฝ่ายใดก็ได้ไม่สำคัญ ฉะนั้นหมากตัวนี้มีพฤติกรรมการกินแปลกที่สุด เพราะหมากตัวอื่นเดินทิศทางไหน ก็กินทิศทางนั้น การกินก็คือการเดินไปแทนที่ตัวหมากของคู่ต่อสู้โดยยกตัวหมากของคู่ต่อสู้ออกจากกระดาน รูปด้านล่างนี้ปืนใหญ่สามารถกินเรือและช้างฝ่ายตรงข้ามได้ (เลือกเอาหนึ่งตัว) เพราะมีช้างและเบี้ยเป็นตัวคั่นกลางอย่างละหนึ่งตัวตามลำดับ ตำแหน่งตั้งต้นของเผ่าจะอยู่บนแถวที่ 3 เส้น 8 และ 2



7. เบี้ย หรือ ทหาร(สีแดงเรียก "เปีย หรือ ปิง" สีดำเรียก "จุก หรือ จู๋")



แต่ละฝ่ายมีเบี้ย 5 ตัววางอยู่บนแถวที่ 4 บนเส้น 9, 7, 5, 3, และ 1 เบี้ยเป็นหมากที่เดินหน้าได้อย่างเดียว ถอยหลังไม่ได้ แต่เมื่อข้ามแม่น้ำแล้วเบี้ยสามารถเดินด้านข้างซ้าย-ขวาได้ด้วย (ยังไงก็ถอยหลังไม่ได้นะครับ) ถ้าเดินเบี้ยไปจนสุดกระดาน เบี้ยก็เดินได้เฉพาะซ้าย-ขวา เท่านั้น

กติกาที่สำคัญอีกข้อซึ่งคล้ายกับหมากรุกไทยคือการขอนับศักดิ์ของฝ่ายที่เสียเปรียบ กำหนดนับไม่เกิน 20 ตา หากไม่สามารถรุกจนได้ก็ถือว่าเสมอกัน การวางหมากตั้งต้นแสดงดังรูป



ขอพูดถึงการเขียนสัญลักษณ์บันทึกเกมเป็นเรื่องปิดท้ายนะครับ เพราะรูปแบบการอ้างอิงตำแหน่งบนกระดานแตกต่างจากกระดานหมากรุกไทย/ฝรั่ง การอ่านบันทึกเกมโดยไม่รู้คำสั่งในการเดินหมากรุกจีนอาจก่อให้เกิดความสับสนพอสมควร ทั้ง ๆ ที่ระบบคำสั่งก็เรียบง่ายครับ มีเพียง 3 คำสั่ง เดินไปข้างหน้า ( จิ่ง หรือ จิ้น, +), เดินถอยหลัง ( ถ่อ หรือ ทุ่ย, -) และ เดินตามแนวนอน ( เพ้ง หรือ ผิง, .) สัญลักษณะแสดงการเดินแต่ละทีประกอบด้วย (1) ชื่อตัวหมาก (2) แถวเริ่มต้น ให้ดูตัวเลขที่อยู่ด้านของเรานะครับ (3) คำสั่ง และ (4) จุดหมายปลายทาง (สำหรับม้า ช้าง และเสนา กรณีเดินหน้าหรือถอยหลัง และสำหรับหมากทุกตัวกรณีเดินด้านข้าง) หรือระยะทาง (สำหรับตัวที่เหลือ) ถ้าหมากชื่อเดียวกันอยู่บนแถว (เส้น) เดียวกัน ก็ให้เปลี่ยนข้อ (2) จากแถวเริ่มต้น เป็น ตัวหน้า ( เฉียน, +) หรือ หลัง ( โฮ่ว, -) ขอยกตัวอย่างพอเป็นแนวทางนะครับ

ม้า 7 (บุก) 6 หรือ H7+6 (แปลว่า ม้าบนเส้น 7 เดินหน้าไปยังเส้น 6)
ปืนใหญ่ 2 (บุก) 5 หรือ C2+5 (แปลว่า ปืนใหญ่บนเส้น 2 เดินหน้าไปอีก 5 ช่อง)
รถศึก 2 (เดินตามแนวนอน 3) หรือ R2.3 (แปลว่า เรือบนเส้น 2 เดินด้านข้างไปยังเส้น) 3
รถศึกหลัง (ถอย) 3 หรือ R-3 (แปลว่า รถศึกบนตัวที่อยู่หลัง ถอยหลังลงมา 3 ช่อง)

หมายเหตุ รูปภาพนำมาจากเว็บไซต์ An Introduction to Chinese Chess โดย Peter Donnelly กับหนังสือเกมส์กลหมากรุกจีนของกิมเล้งไต้ซือ ฉบับถอดความโดยอั้งตี่ และขอขอบคุณพี่แพนด้ามหาภัยอย่างยิ่งสำหรับความช่วยเหลือเรื่องการออกเสียงตัวหมากแบบจีนกลางครับ



Create Date : 03 ธันวาคม 2551
Last Update : 27 กันยายน 2552 18:28:43 น.
Counter : 4483 Pageviews.

1 comments
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
*-*
โดย: The Learner วันที่: 14 สิงหาคม 2552 เวลา:21:08:18 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Zol.BlogGang.com

ศล
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 85 คน [?]

บทความทั้งหมด