หมวดธงประจำตำแหน่ง (ตอนที่ 1) ธงราชทูต ![]() รูปที่ ๗๑ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น (ธงราชทูต) บัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรกโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. ๑๑๐ (พ.ศ. ๒๔๓๔) มีลักษณะคือ พื้นธงสีแดง กลางเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา ที่มุมธงข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน และมีรูปจักรมงกุฎอยู่ข้างบน ใช้สำหรับราชทูตไทยประจำต่างประเทศ ข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่ได้รับราชการไปนั้นอยู่ในสถานตำแหน่งผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินหรือผู้แทนรัฐบาลจึงจะใช้ได้ เป็นที่หมายของยศผู้ที่รับราชการนั้นชักขึ้นที่เสาหน้าเรือ สมัยนี้เรียกชื่อว่า “ธงช้างเผือกยืนแท่น” (รูปที่ ๗๑) ![]() รูปที่ ๗๒ ธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๕๕ ธงราชทูตนี้แม้จะมีพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ออกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีก ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติธง ร.ศ. ๑๑๖ และ ร.ศ. ๑๑๘ แต่ลักษณะที่ปรากฏก็ไม่เปลี่ยนแปลง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนรูปโล่ตราแผ่นดิน จักรี และพระมหามงกุฎข้างบน เป็นรูปวงกลมสีน้ำเงินแก่ ภายในเป็นรูปครุฑกางกรและมหามงกุฎ (รูปที่ ๗๒) พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากที่ได้เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์แล้ว ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ กำหนดลักษณะธงหมายตำแหน่งราชทูตและกงสุลใหม่ คือเป็นธงไตรรงค์มีรูปช้างเผือกอยู่ตรงกลาง ![]() รูปที่ ๗๓ ธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๖๐ ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงทหารเรืออีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ เปลี่ยนแปลงลักษณะธงหมายตำแหน่งราชทูต คือเรียกว่า “ธงสถานทูต” ลักษณะพื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ มีวงกลมสีขาบขอบจดขอบสีแดงของพื้นธงอยู่กลาง ภายในวงกลมนั้นมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา สำหรับชักที่สถานทูต (รูปที่ ๗๓) พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มี พระราชบัญญัติธง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ลงวันที่ ๙ ออกบังคับใช้ โดยให้ยกเลิกมาตรา ๖ แห่ง พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๖๐ และแก้ไขใหม่สำหรับธงสถานทูตนั้นให้คงเดิม ![]() รูปที่ ๗๔ ธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา พ.ศ. ๒๔๗๙ มี พระราชบัญญัติธง ออกประกาศใช้อีกฉบับหนึ่ง เรียกว่า พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ธงที่เกี่ยวกับทูตในที่นี้เรียกว่า “ธงอัครราชทูต” มีลักษณะและสัณฐานเหมือนธงชาติ ที่กึ่งกลางพื้นธงมีวงกลมสีขาบ เส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับ ๔/๖ ของความกว้างของธง คือขอบวงกลมจะจดของสีแดงของพื้นธงพอดี ภายในมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา ลักษณะทั้งหมดนี้เหมือนเดิม (รูปที่ ๗๔) ธงกงสุล ![]() รูปที่ ๗๕ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น (ธงกงสุล) บัญญัติใช้เป็นครั้งแรกพร้อมกับธงราชทูต พ.ศ. ๒๔๓๔ เรียกชื่อว่า “ ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น” ลักษณะเป็นธงพื้นแดง กลางมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา ที่มุมธงข้างบนมีรูปโล่ตราแผ่นดิน ใช้สำหรับกงสุลประจำราชการต่างประเทศ (รูปที่ ๗๕) ![]() รูปที่ ๗๖ ธงกงสุล พ.ศ. ๒๔๕๔ พ.ศ. ๒๔๕๔ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนธงราชทูตนั้น ธงกงสุลก็เปลี่ยนด้วยเช่นกัน คือใช้ธงรูปกลมสีน้ำเงินแก่ ภายในมีรูปครุฑกางกรแทนรูปโล่ตราแผ่นดินที่มุมธงด้านบนหน้าช้าง (รูปที่ ๗๖) ![]() รูปที่ ๗๗ ธงกงสุล พ.ศ. ๒๔๖๐ พ.ศ. ๒๔๖๐ หลังจากการเปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเป็นธงไตรรงค์ ได้มีการเปลี่ยนธงกงสุลด้วยคือ ให้พื้นธงเหมือนธงไตรรงค์ ตรงกลางธงมีรูปช้างเผือก (รูปที่ ๗๗) ตามประกาศกระทรวงทหารเรือ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ![]() รูปที่ ๗๘ ธงกงสุล พ.ศ. ๒๔๗๐ เป็นต้นมา ภายหลังได้มีประกาศเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ให้พื้นธงเป็นธงไตรรงค์ กลางธงมีวงกลมสีขาบ ขอบวงจดขอบสีแดงของธง ภายในวงกลมมีรูปช้างเผือกไม่ทรงเครื่องยืนหันหน้าเข้าเสา (รูปที่ ๗๘) เป็นธงที่ใช้ชักที่สถานกงสุลไทย ถึง พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้มี พระราชบัญญัติธง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ซึ่งว่าด้วยแบบอย่างของธงราชการออกบังคับใช้ ส่วนธงกงสุลนั้นยังคงมีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง และถึงแม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติธงฉบับใหม่ออกประกาศใช้ในพ.ศ. ๒๔๗๙ ลักษณะธงกงสุลก็ยังคงเดิมและใช้ต่อมา ธงผู้ว่าราชการเมือง ![]() รูปที่ ๗๙ ธงผู้ว่าราชการเมือง (ธงผู้ว่าราชการเมืองอยุธยา) - ผู้ว่าราชการเมืองอยุธยา เครื่องหมายเป็นรูปปราสาท ภายในมีพานแว่นฟ้ารองสังข์ทักษิณาวัตร หลังปราสาทมีรูปต้นหมัน (รูปที่ ๗๙) - ผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง เครื่องหมายเป็นรูปอ่างทอง - ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี มีเครื่องหมายแบ่งเป็น ๒ ช่อง ช่องบนเป็นรูปสิงห์หมอบบนแท่น ช่องล่างข้างขวาเป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ ข้างซ้ายเป็นรูปพระพรหมถือสมุดกับศร - ผู้ว่าราชการเมืองลพบุรี เครื่องหมายรูปศร ๓ เล่ม - ผู้ว่าราชการอำเภอพระราชวัง เมืองพระนครศรีอยุธยา เครื่องหมายเป็นรูปอสุนีบาตตกถูกพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ - ผู้ว่าราชการอำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี เครื่องหมายเป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์ - ผู้ว่าราชการอำเภอพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เครื่องหมายเป็นรูปพระพรหมถือสมุดและศร - ผู้ว่าราชการอำเภอสิงห์บุรี เมืองสิงห์บุรี เครื่องหมายเป็นรูปสิงห์หมอบบนแท่น - ผู้ว่าราชการอำเภอพระพุทธบาท เมืองสระบุรี เครื่องหมายเป็นรูปมณฑปพระพุทธบาท - ธงประจำตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง หรือข้าราชการฝ่ายปกครองอื่น ๆ นี้ ต่อมาได้ยกเลิกไม่มีการใช้อีก ธงเสนาบดี ![]() รูปที่ ๘๐ ธงเสนาบดี ธงนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นในพ.ศ. ๒๔๔๐ มีลักษณะเป็นธงพื้นสีขาบ กลางธงมีรูปสมอไขว้กับจักรสีเหลือง ข้างบนมีมหามงกุฎใช้สำหรับตัวเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อชักธงขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือลำใด ให้พึงเข้าใจว่าเสนาบดีหรือรองเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระอัครมเหสี หรือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มกุฎราชกุมารก็ดี ได้ประทับอยู่ในเรือหลวงลำใดลำหนึ่งอันได้ชักธงมหาราช ธงราชินี หรือธงเยาวราชขึ้นไว้บนเสา และได้ชักธงเสนาบดีไว้บนเสาหน้าด้วยแล้ว ก็ให้เจ้าหน้าที่ในเรือรบและป้อมทั้งปวงยิงสลุตตามประเพณี ถ้ามีแต่ธงมหาราชหรือธงราชินี หรือธงเยาวราชชักขึ้นบนเสาใหญ่ ไม่มีธงเสนาบดีบนเสาหน้า ให้งดการยิงสลุต ถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงเป็นเครื่องหมายสำหรับตัวเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ สำหรับชักขึ้นไว้ ณ ที่ทำการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ และใช้ชักขึ้นที่ยอดเสาใหญ่ในเรือเป็นเครื่องหมายว่าเสนาบดีกระทรวงทหารเรือได้อยู่ในเรือลำนั้น อนึ่งในเวลาที่ชักธงมหาราชใหญ่หรือราชินีใหญ่ขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือลำใด ให้ชักธงเสนาบดีขึ้นที่เสาหน้าเรือลำนั้นด้วยเสมอไป ธงเสนาบดีนี้ใช้ต่อมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๖ (รูปที่ ๘๐) ธงจอมทัพบก ![]() รูปที่ ๘๑ ธงจอมทัพบก มีรูปพระคทาและพระแสงกระบี่ไขว้กัน มีจักรและมหาพิไชยมงกุฎสีขาวบนพื้นแดง สร้างขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ สำหรับตำแหน่งจอมทัพบก (รูปที่ ๘๑) ธงผู้บัญชาการทหารเรือ ![]() รูปที่ ๘๒ ธงผู้บัญชาการทหารเรือ ใช้สำหรับผู้บัญชาการทหารเรือ ธงเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ตามความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ มาตรา ๙ พ.ศ. ๒๔๘๓ ได้มี พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ ออกบังคับใช้ โดยให้ยกเลิกความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๙ และใช้ข้อความที่เปลี่ยนแปลงใหม่ แต่ในส่วนที่ว่าด้วยลักษณะธงผู้บัญชาการทหารเรือนั้น ยังคงมีลักษณะเหมือนเดิม (รูปที่ ๘๒) ![]() รูปที่ ๘๓ ธงผู้บัญชาการกองเรือรบ มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ คือ มีพื้นสีขาบ กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ ผิดกันที่ธงผู้บัญชาการกองเรือรบนี้ปลายตัดเป็นแฉกอย่างรูปหางนกแซงแซว ลึก ๑ ใน ๓ ของส่วนยาว ธงนี้สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๙ และใช้ตลอดมา แม้ใน พ.ศ. ๒๔๔๓ จะมี พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ แก้ไขเพิ่มเติมความใน พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๙ แต่ลักษณะธงผู้บังคับการกองเรือรบก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง (รูปที่ ๘๓) ธงผู้บังคับการเรือ ![]() รูปที่ ๘๔ ธงผู้บังคับการกองเรือ บัญญัติขึ้นใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๔๓ ตามความในมาตรา ๙ แห่ง พระราชบัญญัติธง (ฉบับที่ ๓) พุทธศักราช ๒๔๘๓ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็นธงที่มีลักษณะและสัณฐานอย่างเดียวกับธงผู้บัญชาการทหารเรือ คือ เป็นธงสี่เหลี่ยม กว้าง ๒ ส่วน ยาว ๓ ส่วน พื้นสีขาบ ตรงกลางมีรูปสมอไขว้กับจักรภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง แต่ปลายธงตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซวลึก ๑ ใน ๓ ของความยาวนั้นเป็นสีขาว (รูปที่ ๘๔) โดย: เธเธฒเธฃเธเธฑเธเธเธณเนเธเธเธเธเธดเธเธฑเธเธดเธฃเธฒเธเธเธฒเธฃเธเธทเธญ... IP: 125.26.108.164 วันที่: 29 มีนาคม 2565 เวลา:11:26:39 น.
กฎหมายเป็นที่ตั้งระหวางกาง..แกนกิโลด้วยกร้าวด้วยกะหมอ่มขอเดชะ.ทรงพระเจริญ..ในรัชการที่๑๐
โดย: ราชีในรัชการที่๑๐ IP: 27.55.69.55 วันที่: 5 มิถุนายน 2567 เวลา:16:30:02 น.
|
บทความทั้งหมด
|