เพลงชาติไทย
เพลงชาติไทย


ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร), พ.ศ. 2475
คำร้อง: หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์), พ.ศ. 2482

ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ:
พ.ศ. 2477 (ทำนองและคำร้องเดิม)
พ.ศ. 2482 (ทำนองและบทร้องปัจจุบัน)




ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัยชโย


ประวัติสังเขป

ในปี พ.ศ. 2474 พระเจนดุริยางค์ (ปีเตอร์ ไฟท์ หรือ ปิติ วาทยะกร) ซึ่งขณะนั้นรับราชการในกระทรวงวัง ได้รับการร้องขอจากเพื่อนนายทหารเรือผู้หนึ่ง คือ หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา สมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน) ให้ช่วยแต่งเพลงชาติสำหรับประชาชนขึ้นเพลงหนึ่ง โดยขอให้มีลีลาอย่างเพลงลามาร์แซแยส (La Marseillaise) ซึ่งเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส แต่พระเจนดุริยางค์ได้ตอบปฏิเสธคำขอร้องดังกล่าวโดยเห็นว่าเพลงประจำชาติสยามในเวลานั้นมีอยู่แล้วคือ เพลงสรรเสริญพระบารมี และการจะแต่งเพลงสำหรับชาติขึ้นมาโดยไม่มีคำสั่งจากทางราชการนั้นท่านทำไม่ได้ แม้ภายหลังหลวงนิเทศกลกิจจะพยายามทาบทามอีกหลายครั้ง แต่พระเจนดุริยางค์ก็บอกปัดตลอด เพราะท่านรู้สึกไม่ชอบมาพากลว่า การขอร้องครั้งนี้น่าจะมีการเมืองมายุ่งด้วยแน่ๆ เนื่องด้วยเวลานั้นกระแสข่าวการปฏิวัติก็กำลังแพร่สะพัดอยู่ทั่วไป

หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผ่านไปได้ประมาณ 5 วัน หลวงนิเทศกลกิจได้มาหาพระเจนดุริยางค์เพื่อขอร้องให้ช่วยแต่เพลงสำหรับชาติขึ้นอีกครั้ง โดยอ้างเหตุว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปในเวลานั้น ทำให้พระเจนดุริยางค์เห็นว่าหมดทางจะเลี่ยงจากเรื่องนี้ได้ ท่านจึงขอเวลาในการแต่งเพลงนี้เป็นเวลา 7 วัน การแต่งเพลงได้สำเร็จลงเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ต่อมาเมื่อทางต้นสังกัดคือกระทรวงได้ทราบเรื่องราวที่พระเจนดุริยางค์แต่ทำนองเพลงชาติ ทำให้พระเจนดุริยางค์ได้รับคำตำหนิจากเสนาบดีกระทวงวังอย่างรุนแรง แม้ภายหลังรัฐบาลพระยามโนปกรณ์จะได้ช่วยชี้แจงภายหลังว่าเป็นความประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้มีเพลงชาติ แต่ว่าในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากทางราชการให้รับเบี้ยบำนาญ ฐานรับราชการครบ 30 ปี และหักเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นบำนาญ อีกครึ่งที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยให้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้ แม้ว่าขณะนั้นพระเจนดุริยางค์จะมีอายุเพียง 49 ปี เท่านั้น

ส่วนบทร้องนั้นปรากฎว่ามีการประพันธ์ขึ้นเป็น 3 สำนวน

สำนวนแรก ประพันธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) โดยคณะราษฎรได้ทาบทามให้เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภายหลังจากที่ได้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์แล้ว บทร้องนั้นมีความยาว 2 บท (ในที่นี้นับจากการบรรเลงเพลงจบ 1 รอบ จึงนับเป็น 1 บท แต่ฉันทลักษณ์ในเพลงนี้ใช้กลอนสุภาพอย่างไทย ถ้านับอย่างนี้จะได้ 4 บท รวม 16 วรรค) บทร้องดังกล่าวนี้ขึ้นต้นด้วยวรรค "แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง..." เป็นบทร้องที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายแต่ยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการในเวลานั้น ต่อมาเมื่อมีการประกวดเพลงชาติฉบับราชการในปี พ.ศ. 2476 ขุนวิจิตรมาตราได้ส่งบทร้องนี้เข้าร่วมประกวด โดยมีการแก้ไขเนื้อร้องบางส่วนเพราะมีเสียงครหาว่าขุนวิจิตรมาตราต้องการใส่ ชื่อตัวเองในบทร้องเพลงชาติด้วย ซึ่งเมื่อมีการประกาศรับรองเพลงชาติฉบับราชการในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ปรากฏว่าผลงานของท่านได้รับการรับรองให้ใช้เป็นบทร้องตอนต้นของเพลงชาติสยาม

สำนวนที่ 2 เป็นผลงานการประพันธ์ของนายฉันท์ ขำวิไล นักประพันธ์ชื่อดังในยุคนั้น โดยประพันธ์ขึ้นเพื่อเข้าร่วมการประกวดเพลงชาติฉบับราชการในปี พ.ศ. 2476 และเมื่อมีการประกาศรับรองเพลงชาติฉบับราชการในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ปรากฏว่าผลงานของท่านได้รับการรับรองให้ใช้เป็นบทร้องตอนปลายของเพลงชาติ สยาม บทร้องซึ่งเป็นผลงานของท่านผู้นี้ขึ้นต้นวรรคแรกว่า "เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต..." มีความยาวเท่ากันกับสำนวนบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา

สำนวนที่ 3 อันเป็นสำนวนบทร้องเพลงชาติที่ใช้อยู่ในเวลานี้ เป็นผลงานการประพันธ์ของ พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) เหตุที่จะได้เกิดบทร้องสำนวนปัจจุบันนี้มีขึ้นเมื่อรัฐบาลสยามสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ออกรัฐนิยมเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศจาก "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" ในปี พ.ศ. 2482 ทำให้ต้องมีการประกวดบทร้องเพลงชาติขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนามประเทศ ที่ได้เปลี่ยนแปลง โดยการประกวดครั้งนี้กำหนดเงื่อนไขให้ใช้ทำนองเพลงของพระเจนดุริยางค์อยู่ เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น (ความยาวเพียงครึ่งหนึ่งของ 2 สำนวนแรก) และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลง หลวงสารานุประพันธ์ได้ประพันธ์บทร้องฉบับนี้ขึ้นและส่งประกวดในนามกองทัพบก ผลปรากฏว่าบทร้องดังกล่าวชนะเลิศการประกวด และได้รับการรับรองโดยการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ 6 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482





เพลงชาติสยามฉบับราชการ (พ.ศ. 2477 - 2482)
บทร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์)




เพลงชาติสยามฉบับราชการ (พ.ศ. 2477 - 2482)
บทร้องนายฉันท์ ขำวิไล




(* วีดีทัศน์ทั้งสองไฟล์บันทึกโดย อ.พฤฒิพล ประชุมผล แห่งพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงไทย)



ที่มา: เรียบเรียงจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
"เพลงชาติไทย." วิกิพีเดีย, สารานุกรมเสรี. 1 ก.พ. 2010, 11:40 UTC. 2 ก.พ. 2010, 05:10 <//th.wikipedia.org/w/index.php?title=%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2&oldid=2314957>.




เอกสารอ่านเพิ่มเติม

  • เจนดุริยางค์, พระ. บันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) ชิวประวัติของข้าพเจ้า. พระนคร: สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน, 251-.
  • สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547
  • สุกรี เจริญสุข. เพลงชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: เรือนแก้วการพิมพ์, 2532.




หน้านี้เขียนครั้งแรกเมื่อ 1 มิ.ย. 2552
เพิ่มเติมเนื้อหา 2 ก.พ. 2553




Create Date : 01 มิถุนายน 2552
Last Update : 3 กุมภาพันธ์ 2553 18:34:13 น.
Counter : 1026 Pageviews.

1 comments
บัตรทอง -รายชื่อหน่วยบริการเอกชนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ newyorknurse
(16 เม.ย. 2567 04:04:52 น.)
เมนูที่เต็มไปด้วยคุณค่าอาหาร ข้าวยำ สมาชิกหมายเลข 4313444
(4 เม.ย. 2567 00:28:04 น.)
ถนนสายนี้ ... ... มีตะพาบ หลักกิโลเมตรที่ 348 "ฉุกละหุก" toor36
(24 มี.ค. 2567 10:27:24 น.)
เรื่อง ที่เตือนมาจากทนายความ ควรหลีกหนี 20 เรื่องเหล่านี้เพราะ..... newyorknurse
(28 มี.ค. 2567 02:09:48 น.)
  
ขอบคุณครับ
เพลงชาติไทย
โดย: สมาชิกหมายเลข 1404403 วันที่: 4 มีนาคม 2559 เวลา:1:42:40 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Xiengyod.BlogGang.com

เซียงยอด
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]