หมวดธงประจำพระองค์
๔. ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ตั้งพระราชบัญญัติแบบอย่างธงขึ้นใหม่ สำหรับใช้ในราชการ และแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ ดังจะกล่าวต่อไปตามลำดับหมวดของธง คือ

หมวดธงประจำพระองค์

ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร สำหรับประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน พื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ กลางมีโล่ห์ตราแผ่นดินภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ และมีเครื่องสูง ๒ ชั้นสองข้าง (อย่างธงพระมหามงกุฎประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔ ) ในโล่ห์ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนรูปช้างไอยราพตสามเศียรพื้นเหลืองบอกนามสยามเหนือใต้ สยามกลาง ช่องล่างขวานั้นเป็นรูปช้างเผือกพื้นชมภู เป็นนามสัญญาแห่งประเทศลาว ช่องล่างข้างซ้ายนั้นเป็นรูปกฤชคดและตรง ๒ อันไขว้กันพื้นตรง บอกสัญญานามมลายูประเทศ และมีแท่นรองโล่ห์และเครื่องสูง ๗ ชั้นพื้นเหลืองรวมสัญญานามที่หมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึงเป็นบรมราชธวัชมหาสยามินทรสำหรับใช้ในเรือพระที่นั่ง และชักขึ้นบนเสาในพระบรมมหาราชวัง


ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์
(ธงมหาราช รัชกาลที่ ๕)


ถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "ธงมหาราช" ได้ใช้ต่อมาจน ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้าง

ธงมหาราชใหญ่ พื้นสีเหลือง กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับใช้ประจำพระองค์ เมื่อนายทหารคลี่เชิญไปในกระบวนใด เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนนั้น หรือชักขึ้นในที่แห่งใด ก็เป็นที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ณ ที่นั้น ถ้าประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำใดลำหนึ่ง ให้ชักธงมหาราชใหญ่ขึ้นไว้ที่ยอดเสาเป็นเครื่องหมาย


ธงมหาราชใหญ่


ในคราวเดียวกันนี้ได้ทรงสร้างธงประจำพระองค์ขึ้นอีก ๒ อย่าง อย่าง ๑ เรียกว่า

ธงมหาราชน้อย เป็นคู่กับธงมหาราชใหญ่ ตอนต้นมีลักษณะและสัญฐานเหมือนกับธงมหาราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร และมีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียง ๒ ส่วนแห่งความยาว สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด เช่นธงมหาราชใหญ่ แต่ถ้าเวลาใดโปรดเกล้าฯให้ชักธงมหาราชน้อยแทนธงมหาราชใหญ่แล้ว ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ


ธงมหาราชน้อย


อีกอย่าง ๑ เรียกว่า "ธงกระบี่ธุชและธงพระครุฑพาหะน้อย"

ธงกระบี่ธุชนั้น มีรูปวานรทรงเครื่องบนพื้นผ้าแดง และธงครุฑพาหะน้อย มีรูปครุฑแดงบนพื้นผ้าเหลือง โปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อง พ.ศ. ๒๔๕๓ คราวเสด็จไปสมโภชพระปฐมเจดย์ และพระราชมณเฑียร ณ พระที่นั่งสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ราษฎรขุดได้แผ่นสัมฤทธิ์รูปกระบี่ ๑ รูปครุฑ ๑ คู่กัน เป็นของประจำธงชัยสำหรับกษัตริย์แต่โบราณ เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร (ชม สุนทราชุน) เมื่อยังเป็นพระยาสุนทรบุรี สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี นำขึ้นทูลเกล้าถวาย จึงโปรดฯให้ประกอบเป็นธงกระบี่ธุช และธงพระครุฑพาหะน้อย สำหรับนายทหารเชิญนำเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนราบ ธงกระบี่ธุชไปข้างขวา ธงพระครุฑพาหะน้อยไปข้างซ้าย หรือเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนรถพระที่นั่ง มีนายทหารเชิญขึ้นม้านำข้าหน้าข้างขวาและข้างซ้ายอย่างกระบวนราบ




ธงชัยราชกระบี่ยุทธ ธงชัยพระครุฑพ่าห์


ธงราชินี พื้นนอกสีแดงกว้าง ๑๐ ส่วน ยาว ๑๕ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๔ แห่งด้านยาว พื้นในถัดมุมแฉกเข้ามาส่วนหนึ่งสีขาบกว้าง ๖ ส่วน ยาว ๘ ส่วน รูปเครื่องหมายที่ในพื้นที่ขาบเหมือนกับธงมหาราช (รัชกาลที่ ๕) เป็นเครื่องหมายในองค์พระอัครมเหสี สำหรับชักขึ้นบนเสาธงใหญ่ในเรือพระที่นั่ง ซึ่งสมเด็จพระอัครมเหสีได้เสด็จโดยพระราชอิสริยยศเป็นที่หมายให้ปรากฏว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น


ธงราชินี รัชกาลที่ ๕



ธงราชินีใหญ่


ธงราชินีน้อย ขนาดและส่วนเหมือนกับธงมหาราชน้อย ต่างกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้แทนธงราชินีใหญ่สำหรับประจำพระองค์สมเด็จพระบรมราชินี ในขณะที่โปรดฯให้ใช้ธงราชินีน้อยนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้ายิงสลุตถวายคำนับ


ธงราชินีน้อย


ธงเยาวราชธวัช สำหรับราชตระกูลนั้นเหมือนอย่างธงบรมราชธวัช พื้นแดง กลางมีโล่ห์ตราแผ่นดอนและจักรี ยกแต่มหาพิชัยมงกุฎ เครื่องสูงแท่นและพื้นน้ำเงินเท่านั้น สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบและเรือพระที่นั่ง ซึ่งราชตระกูลพระองค์นั้นได้เสด็จไปโดยอิสริยยศทางราชการ เป็นที่หมายว่าราชตระกูลนั้นอยู่เรือรบหรือเรือพระที่นั่งลำนั้น ธงเยาวราชนั้นเฉพาะใช้ได้แต่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศ์กรมสมเด็จ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น และพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวังเป็นต้น ซึ่งมีอิสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเพลาและยิงสลุต ๒๑ นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธุชธิปตัย ธงชัยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายคำนับเป็นเกียรตยศ ราชตระกูลนอกนั้นถ้ามีราชการต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อนจึงจะใช้ได้


ธงเยาวราชธวัช พ.ศ. ๒๔๓๔


ธงนี้ได้ใช้ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ โปรดฯให้เลิก และทรงสถาปนาธงเยาวราชขึ้นใหม่ พื้นสีขาบ กล้าว ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน เครื่องหมายกลางธงเหมือนอย่างธงมหาราช เว้นแต่เครื่องสูง ๒ ข้างโล่ห์เป็น ๕ ชั้น ใช้เป็นธงเครื่องหมายเฉพาะพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมาร สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่ง หรือเรือรบลำใดลำหนึ่ง ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชรามมกุฎราชกุมาร เสด็จโดยพระราชอิสริยยศเป็นที่หมายให้ปรากฏว่าเสด็จอยู่ในเรือลำนั้น


ธงเยาวราช ๒๔๔๐


ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯให้เปลี่ยนธงเยาวราชเป็นธงเยาวราชใหญ่ สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช พื้นนอกสีขาบกว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน พื้นในสีเหลือง กว้างยาวกึ่งส่วนของพื้นนอก ที่ศูนย์กลางพื้นในมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง สำหรับชักขึ้นบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ซึ่งสมเด็จพระเยาวราชเสด็จโดยอิสริยยศ เป็นที่หมายให้ปรากฏว่าได้เสด็จอยู่ในเรือลำนั้น และทรงสร้าง

ธงเยาวราชน้อย เพิ่มขึ้นสำหรับเป็นเครื่องหมายในพระองค์สมเด็จพระเยาวราช คือ ตอนต้นมีลักษณะสัณฐานเหมือนธงเยาวราชใหญ่ กว้างไม่เกินกว่า ๖๐ เซนติเมตร มีชายต่อสีขาว แปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้ายยาว สำหรับใช้แทนธงเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวายคำนับ


ธงเยาวราชใหญ่ ฝ่ายหน้า



ธงเยาวราชน้อย ฝ่ายหน้า


ธงพระวรราชชายาแห่งพระเยาวราช พื้นสีขาบ มีรูปเครื่องหมายเหมือนกับธงเยาราช แต่ตัดชายเป็นรูปอย่างหางนกนกแซงแซว สำหรับพระองค์วรชายาแห่งมกุฎราชกุมาร


ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราช พ.ศ. ๒๔๔๐


ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ทรงสร้าง

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ เหมือนกับธงเยาวราชใหญ่ แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปอย่างหางนกแซงแซว สำหรับประจำพระองค์พระวรชายาแห่งพระเยาวราช และได้ทรงสร้าง

ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย เหมือนกับธงเยาวราชน้อย ผิดกันแต่ชายเป็นสีแดง สำหรับใช้แทนธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ ในขณะที่ใช้ธงนี้ ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวาย


ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชใหญ่ (ธงเยาวราชใหญ่ ฝ่ายใน)



ธงพระวรชายาแห่งพระเยาวราชน้อย (ธงเยาวราชน้อย ฝ่ายใน)


ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กลางมีโล่ห์ตราแผ่นดิน เบื้องบนแห่งโล่ห์มีรูปจักรีไขว้กัน และมีมหามงกุฎสวมบนจักรี กว้าง ๕ ส่วน ยาว ๖ ส่วน สำหรับชักบนเสาใหญ่ในเรือพระที่นั่งหรือเรือลำหนึ่งลำใด ซึ่งพระราชวงศ์องค์ใดองค์หนึ่งเสด็จโดยอิสริยยศทางราชการ พระราชวงศ์ผู้ซึ่งจะให้ธงนี้ได้เฉพาะแต่พระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ซึ่งมีอิสริยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ๒๑ นัด ในเรือรบมีทหารยืนเพลาใบ และทหารบกยืนแถวคลี่ธงชัย แตรทำเพลงสรรเสริญพระบารมี ถวายคำนับเป็นเกียรติยศ พระราชวงศ์อันมีอิสริยยศต่ำกว่านั้น นับว่าเป็นพระราชวงศ์ผู้น้อย ถ้ามีราชการไปต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษก่อนจึงจะใช้ธงนี้ได้


ธงราชวงศ์ ฝ่ายหน้า พ.ศ. ๒๔๔๐


ถึงรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดฯให้สร้าง

ธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า พื้นสีขาบ กว้าง ๑ ส่วน ยาว ๑ ส่วน ที่ศูนย์กลางมีวงกลมสีเหลือง เส้นตัดศูนย์กลางวงกลมมีขนาดเท่ากึ่งส่วนกว้างของธง ภายในวงกลมมีรูปครุฑพ่าห์สีแดง ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่ารัชกาลใดๆเสด็จในเรือนั้นโดยอิสริยยศ และทรงสร้าง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ตอนต้นมีลักษณะและสัณฐานเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า กว้างไม่เกิน ๖๐ เซนติเมตร มีชายธงสีขาวแปลงเป็นรูปธงยาวเรียวปลาย รวมทั้งธงมีขนาดกว้างข้างต้น ๑ ส่วน ข้างปลายกึ่งส่วน ยาว ๑๔ ส่วน ชายตัดเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ลึกเพียงส่วนที่ ๒ แห่งด้านยาว ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า ในขณะใช้ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ยิงสลุตถวาย


ธงราชวงศ์ใหญ่ ฝ่ายหน้า



ธงราชวงศ์น้อย ฝ่ายหน้า


ธงราชวงศ์ฝ่ายใน พื้นสีขาบ รูปเครื่องหมายในธงเหมือนกับธงราชวงศ์ฝ่ายหน้า แต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว โปรดฯให้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ สำหรับราชวงศ์ฝ่ายใน


ธงราชวงศ์ ฝ่ายใน พ.ศ. ๒๔๔๐


ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้เปลี่ยนเครื่องหมายภายในธงราชวงศ์ฝ่ายใน เป็นรูปครุฑพ่าห์สีแดงเหมือนกับธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ตัดชายเป็นแฉกรูปหางนกแซงแซว ใช้เป็นเครื่องหมายสำหรับพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลใดๆ เสด็จในเรือนั้นโดยพระอิสริยยศ และทรงสร้าง

ธงราชวงศ์น้อยฝ่ายใน เหมือนกับธงราชวงศ์น้อยฝ่ายหน้า ผิดกันแต่ชายธงเป็นสีแดง ใช้สำหรับแทนธงราชวงศ์ใหญ่ฝ่ายใน ในเวลาที่ใช้ห้ามมิให้มีการยิงสลุตถวายคำนับ


ธงราชวงศ์ใหญ่ ฝ่ายใน



ธงราชวงศ์น้อย ฝ่ายใน



....................................................................................................................................................



Create Date : 03 เมษายน 2550
Last Update : 3 เมษายน 2550 15:58:31 น.
Counter : 6723 Pageviews.

2 comments
๏ ... รามคำแหง แรงคำหาม ... ๏ นกโก๊ก
(2 ม.ค. 2567 14:22:51 น.)
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
No. 1259 สาระเกือบมี (ตอนทำงานที่ใหม่ ถูกลองดี) ไวน์กับสายน้ำ
(1 ม.ค. 2567 05:58:05 น.)
  
พี่กัมม์ หนูอยากทราบเรื่องธงเหล่านี้มาตั้งนานแล้ว ขอบพระคุณคุณพี่มากนะคะที่กรุณานำมาให้ชมเป็นวิทยาทานค่ะ
โดย: biebie999 วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:8:53:56 น.
  
สวัสดีครับ คุณ biebie999
เนื้อเรื่องจากพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
และรูปประกอบทั้งหมดจากความเอื้อเฟื้อของคุณ เซียงยอด ครับ
คุณ เซียงยอด สนใจเรื่องธงเป็นพิเศษลองแวะเข้าไปเยี่ยม Blog ดูนะครับ
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทย

พี่นิคหายไปไหนหลายวันแล้ว ได้ข่าวบางหรือเปล่าครับ คุณบี
โดย: กัมม์ วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:14:42:14 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Rattanakosin225.BlogGang.com

กัมม์
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]