๗.ดราม่าเรื่อง หัวใจโดนรัด


ดราม่าเรื่อง หัวใจโดนรัด

คราวก่อนพูดถึงเรื่อง PCI หรือหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารี่ผ่านสายสวนเวลาที่เราไปประเมินหน่วยบริการเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่มีคุณภาพสามารถให้บริการคนไข้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง๓๐ บาท ทุกครั้งผู้เชี่ยวชาญจะต้องถามหาชุดอุปกรณ์เจาะระบายช่องเยื้อหุ้มหัวใจหรือที่เรียกว่าpericardiocentesis เพราะในการทำ PCI อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนทำให้หลอดเลือดโคโรนารี่ทะลุมีเลือดออกมาอยู่ในช่องเยื่อหุ้มหัวใจต้องรักษาด้วยการอุดรอยทะลุนั้นและระบายเลือดที่อยู่ในช่องเยื่อหุ้มหัวใจให้เร็วที่สุด

อวัยวะของคนเราที่อยู่ในช่องภายในได้แก่ สมองหัวใจ ปอด อวัยวะภายในช่องท้อง จะถูกห่อหุ้มด้วยเยื่อบุบางๆเยื่อบุนี้จะมีคุณสมบัติยืดหยุ่นได้ และภายในช่องไม่ว่าช่องเยื้อหุ้มสมองช่องเยื่อหุ้มหัวใจ ช่องเยื่อหุ้มปอด ช่องท้องจะมีน้ำหล่อลื่นอยู่เล็กน้อย ในคนปกติช่องเยื่อหุ้มหัวใจจะมีน้ำประมาณ๒๐ ซี.ซี.

คราวนี้มาดูการทำงานของหัวใจคนเราจะมีเลือดแดงกับเลือดดำเลือดแดงคือเลือดที่ผ่านการแลกเปลี่ยนออกซิเจนที่ปอดทำให้เม็ดเลือดแดงเต็มไปด้วยออกซิเจนไหลจากปอดกลับเข้าสู่หัวใจทางหัวใจห้องซ้ายบนแล้วไหลลงสู่หัวใจห้องล่างซ้าย หัวใจจะทำหน้าที่บีบตัวเพื่อให้เลือดแดงในหัวใจห้องล่างซ้ายไหลไปตามหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายเม็ดเลือดแดงจะปล่อยออกซิเจนให้อวัยวะต่างๆจนตัวเองมีปริมาณออกซิเจนต่ำเรียกว่าเลือดดำเลือดดำจะไหลไปตามหลอดเลือดดำเพื่อกลับเข้าสู่หัวใจห้องขวาบนแล้วไหลลงสู่หัวใจห้องขวาล่างเมื่อหัวใจบีบตัวเลือดดำในหัวใจห้องขวาล่างจะไหลไปยังปอดเพื่อทำการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกลับมาเป็นเลือดแดง

แต่การทำงานของหัวใจมันจะบีบตัวพร้อมกันทั้งด้านซ้ายและขวาดังนั้นเมื่อหัวใจบีบตัว ๑ ครั้ง ห้องขวาล่างก็จะส่งเลือดดำไปปอดห้องซ้ายล่างจะส่งเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกาย พอหัวใจคลายตัวเลือดดำจากร่างกายจะไหลเข้าหัวใจห้องขวาบนแล้วลงห้องขวาล่างในขณะเดียวกันเลือดแดงจากปอดจะไหลเข้าหัวใจห้องซ้ายบนแล้วลงห้องซ้ายล่างพอบีบตัวห้องขวาล่างก็จะส่งเลือดดำไปปอด ห้องซ้ายล่างก็ส่งเลือดแดงไปเลี้ยงร่างกายหมุนเวียนเป็นวัฏจักรอัตโนมัติแบบนี้ไปตลอดเวลา

ปริมาณเลือดที่หัวใจบีบออกไปจะประมาณ ๕ ลิตรต่อ๑ นาที เราเรียกค่านี้ว่า cardiac output ปกติระบบไหลเวียนเลือดเป็นระบบปิดดังนั้นเลือดที่บีบออกจากหัวใจ ๕ ลิตรต่อนาทีก็จะไหลกลับเข้าหัวใจในอัตรา ๕ลิตรต่อนาทีเช่นกัน

ในภาวะผิดปกติบางอย่างส่งผลให้ cardiac outputต่ำกว่าปกติ เลือดที่หัวใจบีบออกมาน้อยกว่า ๕ลิตรต่อนาทีส่งผลให้คนไข้เกิดภาวะช็อค ภาวะผิดปกติที่ส่งผลให้ cardiacoutput ต่ำเช่นเสียเลือดหรือมีอะไรบีบรัดหัวใจทำให้เลือดไหลกลับเข้าหัวใจได้น้อย

ภาวะที่หัวใจถูกบีบรัดก็มีได้จากหลายสาเหตุเช่นมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ หรือมีการอักเสบจนเกิดพังผืดของเยื่อหุ้มหัวใจที่พบบ่อยก็คือมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ

น้ำที่พบในช่องเยื่อหุ้มหัวใจอาจจะเป็นเลือดหรือเป็นน้ำขึ้นกับสาเหตุเช่นถ้าเป็นจากการฉีกขาดของหลอดเลือดก็จะเป็นเลือดสดๆถ้ามีสาเหตุจากการติดเชื้อก็จะเป็นน้ำขุ่นหรือหรืออาจจะเป็นหนองถ้ามีสาเหตุจากการลุกลามของมะเร็งก็มักจะเป็นน้ำใสๆหรือน้ำปนเลือดเก่าๆ

ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไรคนที่ไม่ใช่หมอพยาบาลจึงจะมองภาพออกว่าภาวะหัวใจถูกรัดเป็นอย่างไร ลองจินตนาการตามนี้นะครับสมมุติว่าเรามีขวด ๑ ใบ เราเอาลูกโป่งใส่ในขวดแล้วเป่าลูกโป่งให้โป่งเต็มขวดนั่นคือสภาพของหัวใจปกติในช่องเยื่อหุ้มหัวใจคราวนี้ลองเอาลมออกจากลูกโป่งทำให้ลูกโป่งแฟบ เอาน้ำเติมลงในขวดสัก ๑ ใน ๓แล้วลองเป่าลูกโป่งจะเห็นว่าเราจะได้ลูกโป่งเล็กลงเพราะแรงดันของน้ำในขวดดันให้ลูกโป่งพองได้ไม่มากเท่าเดิม ลูกโป่งนี้เปรียบเสมือนหัวใจที่ถูกรัดและปริมาตรลมในหัวใจคือ cardiac output นั่นเองครับ

แต่ในบางกรณีเช่นมะเร็งลุกลามไปเยื่อหุ้มหัวใจเยื่อหุ้มหัวใจจะมีการสร้างน้ำเพิ่มขึ้นมากขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเยื่อหุ้มหัวใจซึ่งมีความยืดหยุ่นก็ค่อยๆขยายตามปริมาณน้ำคนไข้จึงไม่เกิดภาวะ cardiacoutput ต่ำ จนกว่าปริมาณน้ำมีมากขึ้นอาจะถึง ๑.๕-๒ ลิตรคนไข้จึงจะมีอาการ

กรณีนี้ลองจินตนาการว่าเราเอาลูกโป่งลูกหนึ่งยัดไว้ในลูกโป่งอีกลูกหนึ่งเป็นลูกโป่ง๒ ลูกซ้อนกัน เวลาเราเป่าลูกโป่งลูกในให้พอง ลูกโป่งลูกนอกก็จะพองตามไปด้วยถ้าเราเอาน้ำใส่ในลูกโป่งลูกนอกแล้วเป่าลูกโป่งลูกในให้พองลูกโป่งลูกนอกก็ยังคงพองตามไปด้วยทั้งๆที่มีน้ำจนเมื่อเราเติมน้ำเข้าไปมากขนาดหนึ่งลูกโป่งลูกนอกจะขยายตามปริมาณน้ำเราเป่าลูกโป่งลูกในไม่ได้เพราะมีแรงน้ำกดไว้นั่นแหละครับคือภาวะหัวใจถูกรัดแบบเรื้อรัง

การรักษาภาวะหัวใจถูกรัดมีอย่างเดียวคือการระบายสิ่งที่รัดอยู่ออกมาเพื่อไม่ให้คนไข้เกิดภาวะช็อคหรือเสียชีวิตจากการที่ cardiac output ต่ำกว่าปกติ ซึ่งวิธีการมีตั้งแต่การใช้เข็มเจาะดูดออกมาที่เรียกว่า pericardiocentesis หรือการผ่าตัดให้เป็นรูใหญ่เพื่อระบายน้ำออกมาได้เร็วเรียกว่าpericardiotomy

พูดแล้วจะหาว่าคุยไอ้การเจาะ pericardiocentesisหรือการผ่า pericardiotomy นี่หมอศัลยกรรมทรวงอกแบบพวกผมหลับตาทำได้เลยครับ(หลับตาข้างเดียวนะ ฮิๆๆ)




Create Date : 12 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2560 14:28:40 น.
Counter : 388 Pageviews.

0 comments
อุ้มสีมาทำบุญ ๙ วัด ในวันขึ้นปีใหม่ที่จ.อุบลราชธานี อุ้มสี
(3 ม.ค. 2567 19:10:02 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Panthep.BlogGang.com

เด็กหัวตลาด
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]