ดูจิตให้เข้าถึงจิตตามพระโอวาทปาฏิโมกข์
หัวใจพระพุทธศาสนา คือ อะไร ???

เราชาวพุทธทั่วทุกตัวคน ย่อมรู้ดีว่า หัวใจพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง
พวกเราท่องจำกันจนขึ้นใจ แต่กลับนำไปปฏิบัติได้ไม่ครบทั้ง ๓ ข้อ

ส่วนใหญ่แล้วมักจะปฏิบัติกันเพียงข้อ ๑ และข้อ ๒ เท่านั้น
แล้วก็คิดเองเออเองว่าพอเพียงแล้ว แค่นี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดีของสังคมแล้ว
แถมบางคนยังหลงภูมิอกภูมิใจในความดีนั้น
ถึงกับมองคนที่ไม่ได้ทำเหมือนตน ว่ามีภูมิธรรมต่ำกว่าตนเสียอีก

พากันเมินข้อ ๓ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะอะไร?

เพราะเกียจคร้านที่จะลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจังนั่นเอง
จิตจึงไม่มีพลังพอที่จะควบคุมอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นอุปกิเลสที่เข้ามาเป็นแขกจร
ทำให้จิตหลงใหลไปตามอุปกิเลสต่างๆได้ง่าย
หลงใหลได้ปลื้มในภูมิธรรมที่ไม่มีในตน
หลงใหลได้ปลื้มเฉพาะกับธรรมที่ตนรู้ตนเข้าใจเท่านั้น
โดยไม่เคยพิจารณาเปรียบเทียบผลที่ได้กับพระสูตรและพระวินัยเลย ...ฯลฯ...



พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระอรหันต์ที่ทรงผนวชให้ด้วยพระองค์เอง
ที่มาประชุมพร้อมเพียงกันโดยมิได้นัดหมายนั้น จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
ในวันโอวาทปาฏิโมกข์ ดังนี้ คือ

๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง
๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆพระองค์



เมื่อลงมือปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์อย่างจริงจังแล้ว
สำหรับผู้ปฏิบัติ ย่อมพอที่จะแยกออกมาได้ว่า
เป็นเรื่องของ “จิตกับอารมณ์” เท่านั้น
ในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรอื่นนอกเหนือไปจากนี้เลย

ผู้ปฏิบัติจะเห็นได้เองว่า หัวใจพุทธศาสนาในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น
พูดถึงอารมณ์ที่เป็นฝ่ายอกุศล (อกุศลจิต)
และอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล (กุศลจิต) ตามลำดับ

ส่วนในข้อ ๓ นั้นพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า
"จิต" นั้นสามารถชำระให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากกิเลสทั้งหลาย(กุศลและอกุศล)ได้จริง

ปัญหาหลักจึงอยู่ตรงที่ว่า
ทำอย่างไร? จึงจะชำระจิตที่ถูกครอบงำด้วยอวิชชา ที่ทำให้จิตเศร้าหมองได้
เพราะจิตชอบแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์เข้ามาสู่จิตจนเกิดความเศร้าหมองขึ้นที่จิต
การชำระจิตให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองได้มากขึ้นเพียงไร
จิตก็จะมีพลังอำนาจมากขึ้นเพียงนั้น อันนี้คือผลที่จะได้จากการปฏิบัติข้อที่ ๓


มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า เดิมทีนั้น จิตมีสภาพประภัสสรผ่องใส
ที่เศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง

จะทำอย่างไร ให้จิตไม่เศร้าหมองเพราะกิเลสเป็นแขกจร ???



ในปัจจุบันนี้ อาจารย์แต่ละสำนัก อบรมสั่งสอนศิษย์ แตกต่างกันออกไป
จนกระทั่ง เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่ของลูกศิษย์ลูกหาว่า
ของพวกตนที่รู้มาจากท่านอาจารย์ของตนนั้นถูกต้องที่สุด
ของท่านอื่นนั้นถึงไม่ผิดแต่ก็ไม่ถูกต้องนักเพราะทำให้เนิ่นช้า เพ่งเพียร แข็งทื่อฯลฯ
สู้ของพวกตนไม่ได้ทั้งง่ายๆ สบายๆและลัดสั้น ทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียวก็พอแล้ว
ไม่ต้องลำบากลำบนนั่งหลังขดหลังแข็ง เพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อให้เนิ่นช้าไปทำไม

ซึ่งพระพุทธองค์ท่านทรงสั่งไว้ว่า เมื่อพระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว
ให้พระธรรมวินัยนี้ เป็นศาสดาแทนพระองค์ พวกเธอจงจำไว้
มีอะไรสงสัยให้นำมาเทียบเคียงว่าลงกันกับ พระสูตร พระวินัยหรือไม่



การสอนดังกล่าวที่เป็นมีอยู่ในปัจจุบัน
เป็นการสอนแบบข้ามขั้นตอน โดยไม่นำพาสิ่งที่ถูกต้อง
เพียงแค่ต้องการเอาสิ่งที่ตนเองรู้เนื่องจากคิดขึ้นมาเองว่า
สิ่งที่คิดขึ้นมานั้นถูกต้องและง่ายแก่การปฏิบัติตาม ไม่ลำบากลำบนอะไรเลย
ไม่ต้องเพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาใดๆทั้งสิ้นเลย

โดยจะนำเอาคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางส่วน
ที่กล่าวถึงผลของการปฏิบัติที่ผ่านการเพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาได้มาแล้วนั้น
โดยไม่นำพาในส่วนของการเริ่มต้น ที่ต้องปฏิบัติเพ่งบำเพ็ญเพียรภาวนาให้เกิดขึ้นในตนก่อน
อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่ขาดไปเสียไม่ได้เลยในพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นการต่อยอดในการ “ดูจิต” ที่มีคุณภาพโดยไม่ติดความคิด หรือ ไม่ติดดีในดี(หลง)


การปฏิบัติที่มีสืบต่อเนื่องกันมายาวนานโดยมีต้นแบบคือพระบรมครูจอมศาสดา
และบรรดาพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ขานนาคเข้ามาเพื่อสืบต่อพระศาสนา
ตั้งแต่อดีตกาลมากระทั่งปัจจุบัน เดินตามรอยพระพุทธบาท
ยังมีหลงเหลือให้จับเค้าเงื่อนได้ ซึ่งยังไม่ถึงกับหมดไปเลยทีเดียว

ผู้ที่ได้ศึกษาพุทธศาสนามาพอสมควรนั้น ย่อมรู้ดีว่า มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า
ทางอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์(ผู้ติดข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย
ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง
เมื่อมีผู้เดินตามทางนี้อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์


และในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น ที่ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร
ทรงเชิดสัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธานในมรรคทั้งหลาย
และที่เหลือจากนั้นอีก ๗ องค์ ทรงให้สัมมาทิฐิ(รู้เห็นตามความเป็นจริง)เป็นใหญ่เป็นประธาน

นั่นคือ สัมมาทิฐิ รู้เห็นตามความเป็นจริงหรือรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงนั้น
ต้องเกิดจากการปฏิบัติสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ
จึงจักรู้เห็นตามความเป็นจริงได้



จึงเป็นเหตุผลที่ให้เราจับเค้าเงื่อนได้ว่า
เพราะอะไร??? ท่านถึงได้ยกให้สัมมาสมาธิเป็นใหญ่เป็นประธาน
ในการเริ่มต้นขององค์อริยมรรค


เราชาวพุทธฝ่ายสายปฏิบัติ ย่อมรู้ดีกันทั่วทุกตัวคนว่า
องค์แห่งสมาธินั้นประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมลงตัวเป็น สมาธิ ตั้งมั่นโดยลำพังตนเอง
โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น



เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่งองค์สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
เทียบเคียงกับโอวาทปาฏิโมกข์ (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว)
ด้วยความรอบคอบแล้ว จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้

สัมมาวายามะ
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น
ย่อมพยายาม
ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงาม.


เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า
องค์แห่งสัมมาวายามะนั้น เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา
ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว)
และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี)


สัมมาวายามะเป็นสิ่งที่นักปฏิบัติต้องมีเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้จิตเกิดเป็นสมาธิขึ้น
และเพื่อจะได้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ การชำระจิตให้ผ่องแผ้ว
ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีกสองข้อประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ


สัมมาสติ
ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรมหรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔
คือฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง เนืองๆไม่ขาดสาย ในที่สุด.
โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติสมาธิภาวนา อานาปานสติ
พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์
ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า


เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ.ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด



สัมมาสมาธิ การเจริญฌาน ๔
สัมมาสมาธิ เป็นไฉน
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่
เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มี”สติ”อยู่เป็นสุข
เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส
โทมนัสก่อนๆได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ ฯ



มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า
“สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ)
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว(สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง(สัมมาทิฐิ) ดังนี้”


พวกเรานักปฏิบัติ เมื่อได้อ่านพระพุทธพจน์นี้แล้ว พอที่จะทำความเข้าใจได้ว่า
“พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด”
ก็แสดงว่าสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้นั้น เป็นองค์สมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘
ซึ่งมีองค์ประกอบที่ทรงตรัสไว้คือ
สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑ จิตจึงจะรวมลงเป็นสมาธิ

เพียงองค์สัมมาวายามะในองค์อริยมรรคองค์เดียว
ก็เป็นการสังวรอินทรีย์ กาย วาจา ใจ
เพื่อให้จิตเหมาะสมที่จะลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาให้ได้ผลเกิดขึ้นที่จิต

สัมมาวายามะนั้นเป็นการเพียรประคองจิตให้ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ(สัมมาสติ)
จิตจึงจะรวมลงเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น
ผลที่ได้ก็คือจิตสงบรวมตัวลงตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างรวดเร็วขึ้น

ซึ่งต้องเพียรพยายามฝึกฝนอบรมให้จิตคุ้นชินจนเป็นความชำนาญคล่องแคล่ว
เพียงนึกน้อมเท่านั้น(ลืมตา) จิตก็สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว
โดยไม่ต้องตั้งท่า ให้เสียเวลาเลย ใช้งานได้ทันที

ผู้ปฏิบัติต้องจดจำสภาวะในขณะที่จิตสงบตั้งมั่นนั้นไว้อย่างแม่นยำ
เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ขณะที่ต้องทำหน้าที่การงานอยู่

เมื่อกระทบอารมณ์กิเลสต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
จิตใจมักจะหวั่นไหวไปตามอารมณ์กิเลสที่เข้ามากระทบเหล่านั้น

ให้นำผลที่เคยปฏิบัติได้แล้ว ขณะนั่งหลับตาทำสมาธิ
นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ต้องประสบพบเจออยู่ทุกวัน
โดยหัดปล่อยวางอารมณ์กิเลสต่างๆเหล่านั้น
เพื่อทำจิตให้สงบอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้

ใหม่ ๆ นั้นคงทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะมีกำลังของสมาธิยังไม่มากพอ
จึงต้องมีเพียรพยายามเจริญกรรมฐานให้เกิดขึ้นให้ได้...


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:35:54 น.
Counter : 891 Pageviews.

9 comments
:: ชีวิตไม่ง่าย :: กะว่าก๋า
(18 ก.ค. 2567 05:13:27 น.)
การสร้างที่ผิด ปัญญา Dh
(18 ก.ค. 2567 00:15:35 น.)
:: จบตรงจุดที่เริ่มต้น :: กะว่าก๋า
(17 ก.ค. 2567 04:45:52 น.)
ปฏิบัติถูกกฎของธรรมชาติ ศักดิ์ ปัญญา Dh
(25 ก.ค. 2567 03:01:36 น.)
  
เลื่อนตัวองขึ้นแต่อย่าลดคนอื่นลง ความดีเป็นของกลาง ความชั่วเป็นของกลางจะทำอย่างไรมันก็กลับมาหาเราเสมอ
โดย: game IP: 86.155.237.234 วันที่: 1 มีนาคม 2553 เวลา:15:47:52 น.
  
คุณ gameครับ

ใครจะมาเลื่อนให้เราอย่างไร คงทำไม่ได้
เราต้องลงมือปฏิบัติพัฒนาทางจิตเพื่อเลื่อนตนเอง
ส่วนเราจะคิดลดใครอย่างไรนั้น คงทำไม่ได้เช่นกัน

ถ้าเป็นของแท้ของจริง ย่อมเป็นอยู่อย่างนั้น
ไม่สามารถลดลงเพียงลมปากเท่านั้น

ถ้าเป็นของเท็จเทียม ย่อมลดค่าในตัวเองลงอยู่แล้วทุกวัน

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 1 มีนาคม 2553 เวลา:20:28:16 น.
  
ไม่มีอะไรมากเลยค่ะโอวาทปาติโมกข์ ทำดีละชั่วเราๆรู้อยู่ ทำใจให้เบิกบานก็คือทำใจให้มีพรหมวิหารสี่อย่างบริสุทธิ์น่ะค่ะ แค่นั้นจริงๆ
โดย: Chulapinan วันที่: 1 มีนาคม 2553 เวลา:21:37:47 น.
  
คุณChulapinanครับ
การพูดหนะ มันก็ง่ายจริงๆอย่างที่คุณว่า
ส่วนที่ใครจะทำจิตให้มีพรหมวิหารสี่เกิดขึ้นประจำจิตได้นั้น
มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆเพียงแค่คิดๆ นึกๆก็เกิดพรหมวิหารสี่ขึ้นมาได้

ใครที่ยังไม่เคยสัมผัสหรือเข้าถึงปัจจุบันธรรมที่แท้จริง
แล้วบอกว่าจิตมีพรหมวิหารสี่เกิดขึ้นแล้วนั้น
เป็นการหลอกตนเองเท่านั้นว่ามีพรหมวิหารสีอย่างบริสุทธิ์....

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 2 มีนาคม 2553 เวลา:7:59:31 น.
  
อนุโมทนาค่ะ ท่านธรรมภูต

ดูจิตให้เห็นจิตเนืองๆ เพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
กำจัดอวิชชา โทมนัส เสียให้สิ้น
ถ้าดูแล้วยังไม่เห็น ก็เพียรให้มาก ทำให้มาก

ครูบาอาจารย์ท่านสอนเสมอว่า ควรทำตนเป็นคนดี
และต้องอยู่เหนือความดีนั้น คือ ไม่ยึดติดในดีที่ทำค่ะ

แล้วจะเข้ามาอ่านอีกนะคะ
วันนี้เอาบุญมาบอกค่ะ เชิญร่วมบุญสร้างพระพุทธรูปน่ะค่ะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 2 มีนาคม 2553 เวลา:23:06:56 น.
  
สวัสดีวันพระคุ่ะ ท่านธรรมภูติ

มาแจ้งข่าวว่า อัพเรื่อง วิมุตติรัตนมาลีตอนใหม่แล้วค่ะ
ตอน นางพญาปลาดุกค่ะ
ถ้าว่างก็เชิญรับชมได้ที่บล๊อกนะคะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 8 มีนาคม 2553 เวลา:13:24:57 น.
  
สวัสดีค่ะ ท่านธรรมภูต

มาแจ้งข่าวว่าบล๊อกร่วมบุญผ้าป่าจะเปิดร่วมบุญถึงวันที่ 14 มี.ค.53 ค่ะ
เพราะจะต้องรวบรวมให้กับทีมงานไปดำเนินการทอดผ้าป่าในวันที่ 20 มี.ค.53 ค่ะ
มาแจ้งเผื่อว่าท่านธรรมภูตจะได้ทราบกำหนดค่ะ

อนุโมทนานะคะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 10 มีนาคม 2553 เวลา:8:47:50 น.
  
สวัสดีค่ะ ท่านธรรมภูต

มาแจ้งว่าอัพเนื้อหาตอนใหม่ของวิมุตติรัตนมาลี แล้วค่ะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 16 มีนาคม 2553 เวลา:12:31:13 น.
  
หลวงตาที่ผมเคารพท่านบอกกับผมว่าพระสูตรกับพระวินัยอันใดที่เทียบเคียงกันแล้วไม่ไปในทางเดียวกันอันนั้นไม่ใช่ธรรมของพระพุทธเจ้า...จึงต้องลงด้วยพระสูตรกับพระวินัยที่ไปในทางเดียวกันจึงถือว่าเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้

หลวงตาท่านยังบอกอีกว่า
ให้พากันทำความเพียรอย่าพากันทำความเพี้ยนนะ

ปล.ท่านบอกว่าทุกวันนี้คนพากันพูดกันแต่เรื่องนิพพาน เรื่องฌานสมาธิ แต่แค่ศีล 5 ข้อยังรักษากันไม่ได้เลย...อิๆๆ
โดย: การเทียบเคียงพระวินัยกับพระสูตร IP: 223.205.138.192 วันที่: 30 พฤษภาคม 2556 เวลา:10:15:15 น.

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]