พระพุทธศาสนาสอนเรื่องจิตกับอารมณ์เท่านั้น
รูป จิต เจตสิก นิพพพานเป็นไฉน???

รูป

มหาภูตรูป ๔ เป็นปัจจัยแห่งรูป (พระพุทธพจน์) นั่นคือ รูป เกิดจากมหาภูตรูป ๔ แบ่งเป็น ๒ พวกใหญ่ๆ คือ

๑.รูปที่เกิดจากมหาภูตรูป ๔ ที่ไม่มีจิตครอง เรียกว่า อนุปาทินกสังขาร
เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย ต้นไม้ ใบหญ้า ฯลฯ

๒.รูปที่เกิดจากมหาภูตรูป ๔ ที่มีจิตเข้าไปยึดครอง เรียกว่า อุปาทินกสังขาร
ได้แก่ มนุษย์และสัตว์(ผู้ข้องในอารมณ์)ทั้งหลาย ฯลฯ

รูปทั้งหลายดังกล่าวเหล่านี้ ล้วนเป็นอารมณ์ของจิต แต่จะเป็นอารมณ์ที่จิตของตนได้นั้น ก็ต่อเมื่อจิตของตนได้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง ด้วยมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำจิตดวงนั้นอยู่ก่อนหน้า

ถ้าจิตของตนหมดความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว รูปนั้นๆย่อมไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนั้น(ของตน) อีกต่อไป อารมณ์(รูป) ก็ยังเป็นอารมณ์(รูป) แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิตดวงนั้น(ของตน) ที่ไม่ได้เข้าไป ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้น เพราะอวิชชา ตัณหา อุปาทานดับไปจากจิตของตน

เมื่อจิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป(อารมณ์) ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ที่เรียกว่าอุปาทานขันธ์ตามมา ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถือ ก็ไม่เกิดอุปาทานขันธ์ตามมา (คือจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์ คือความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ได้)


อารมณ์(รูป) ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์ จัดแบ่งเป็น ๒ ชั้นคือ
รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส จัดเป็นอารมณ์ชั้นนอก
ธัมมารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ จัดเป็นอารมณ์ชั้นใน



จิตอาศัยอยู่ในรูปร่างกายมนุษย์ หรือที่เรียกว่า รูปขันธ์

รูปขันธ์มีทวาร ๕ ตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับให้จิตใช้รับอารมณ์ชั้นนอก รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส (ตา+รูป หู+เสียง จมูก+กลิ่น ลิ้น+รส กาย+กายสัมผัส) ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ตามมา คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

และเกิดอารมณ์ชั้นใน (ธัมมารมณ์) จากอดีตอารมณ์ คือ สัญญา ความจำได้หมายรู้ ซึ่งก็ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เช่นกัน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเกิดขึ้นที่จิตตลอดเวลาทีละอารมณ์ ตลอดชีวิต

เราเรียกอารมณ์เหล่านั้นว่าอุปาทานขันธ์ ล้วนเป็นทุกข์ ดังมีพระบาลีกล่าวไว้ดังนี้ “ปจฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกขา แปลว่า การยึดมั่นถือมั่นอุปาทานขันธ์ ๕ ล้วนเป็นทุกข์”

"อุปาทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปทานาขันธ์คือวิญญาณ" (พระสูตร)

สรุป

ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ ๑ (รูป) และนามขันธ์ ๔ (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือก็คือ อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ เกิดขึ้นที่จิตและดับไปจากจิต ตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน หรือก็คือ อาการของจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปนั่นเอง หาใช่จิตเกิดดับไม่


จิต

นิยามของจิตจากพระบาลีในจิตฺตวคฺค แห่งพระธรรมบทมีดังนี้
"วิสงฺขารคตํ จิตตํ ตณฺหานํ ขยมชฺคา แปลว่า จิตของเราสิ้นการปรุงแต่งบรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว" (พระพุทธอุทาน)


จิต คือ ผู้รู้อารมณ์ คือ ธาตุรู้ คือ วิญญาณธาตุ (ไม่ใช่วิญญาณขันธ์)
อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เกิดจากธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ)

จิตในพระพุทธพจน์แบ่งไว้ดังนี้ โลกียจิต ๑ โลกุตตรจิต ๑

โลกียจิตนั้น เป็นจิตที่ติดข้องในโลกคืออารมณ์(รูป) เพราะมีอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงำจิต ล้วนเป็นจิตที่ยังยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆบรรดามีในโลก(อารมณ์) มาเป็นของๆตน ย่อมเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในสังสารวัฏฏ์ตลอดกาลนาน เพราะไม่รู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงยังไม่หลุดพ้นไปได้ แบ่งออกเป็นชั้นๆ เช่น พรหม เทวดา คน สัตว์ทั้งหลาย ฯลฯ

ส่วนโลกุตตรจิตนั้น เป็นจิตของพระอริยเจ้าชั้นต่างๆ แบ่งเป็นมรรค ๔ ผล ๔ เป็นการแบ่งตามภูมิธรรมของโลกุตตรจิตในแต่ละชั้น ตามกำลังการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ออกไปจากจิตได้ หรือจิตที่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงนั่นเอง

เป็นจิตที่สามารถปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัณหามานะและทิฏฐิในอุปาทานขันธ์ทั้งหลาย หลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานได้เป็นชั้นๆตามกำลังของจิตในแต่ละชั้น

ส่วนโลกุตตรจิตชั้นพระอรหันต์นั้น เป็นชั้นจิตที่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายได้อย่างหมดจดหมดสิ้น หรือที่เรียกว่า สิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้ว บรรลุพระนิพพาน ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ ตามที่ได้ยกมาข้างต้นว่า "จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง(วิสังขาร) บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว"


"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล ภิกษุละอวิชชาได้แล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ใน กาลนั้น ภิกษุนั้นก็ไม่ทำกรรมเป็นบุญ ไม่ทำกรรมเป็นบาป ไม่ทำกรรมเป็นอเนญชา เพราะสำรอกอวิชชาเสีย เพราะมีวิชชาเกิดขึ้น เมื่อไม่ทำเมื่อไม่คิด ก็ไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ถือมั่นก็ไม่สะดุ้งกลัว เมื่อไม่สะดุ้งกลัว “ก็ปรินิพพานเฉพาะตน” ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี" (พระพุทธพจน์)

จากพระสูตรก็ชี้ชัดให้เห็นแล้วว่า เมื่อละอวิชชาได้ย่อมต้องละตัณหา ละอุปาทานได้ด้วยเช่นกัน การสำรอกอวิชชา(เจตสิก) ออกไปจากจิตได้ จิตย่อมอิสระ และสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหาแล้ว เช่นกันในขณะนั้น


พระนิพพาน ไม่ใช่จิต แต่เป็นคุณลักษณะของจิตที่พ้นวิเศษแล้ว จึงเนื่องด้วยจิตเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้เราต้องมาพิจารณาคำว่า "เจตสิก" คืออะไร?



เจตสิก
1. ลักษณะของเจตสิกคือ มีการอาศัยจิตเกิดขึ้น
2. กิจการงานของเจตสิกคือ เกิดร่วมกับจิต
3. ผลงานของเจตสิกคือ รับอารมณ์อย่างเดียวกับจิต
4. เหตุที่ทำให้เจตสิกเกิดขึ้นได้ คือ การเกิดขึ้นของจิต

จากนิยามของเจตสิก ทำให้เรารู้ว่า เจตสิกเป็นสิ่งที่มาปรุงแต่งจิต เกิดขึ้นมาในภายหลังจิต เมื่อไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้เช่นกัน แสดงว่า เจตสิกนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ต้องอาศัยจิตเกิด ทำงานร่วมกับจิต รับอารมณ์เช่นเดียวกับจิต เกิดขึ้นได้เพราะมีจิต เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้จิตเสียคุณภาพไป

ส่วนโลกุตตรจิตชั้นพระอรหันต์นั้น เป็นจิตที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพ เป็นจิตที่ได้รับความบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยดีแล้วจากเครื่องเศร้าหมองหรือสิ่งแปลกปลอมทั้งหลาย ย่อมบรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา เมื่อเป็นแบบนี้แล้วยังจะให้โลกุตตรจิตชั้นพระอรหันต์มีเจตสิกเป็นเครื่องประกอบอีกจิตหรือ?

เมื่อพิจารณาให้ดีแล้ว "เจตสิกธรรม" น่าจะเป็นตัวอวิชชาที่มาเกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง เพราะคุณสมบัติของอวิชชา ซึ่งตรงกับนิยามของคำว่าเจตสิกที่ยกมา อวิชชาต้องอาศัยจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่เองลอยๆไม่ได้ จิตที่มีอวิชชาครอบงำย่อมมีการงานและรับรู้อารมณ์ร่วมกับจิต ถ้าไม่มีจิตย่อมต้องไม่มีอวิชชาเช่นกัน

เมื่อจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นด้วยดีแล้วจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานแล้ว ย่อมกลายเป็น ธรรมธาตุ หรือที่เรียกว่า อมตะธาตุ อมตะธรรม ที่ได้รับความบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรมาเจือปนได้อีกต่อไปแล้ว ย่อมไม่เวียนว่ายตายเกิดหรือดับตายหายสูญไปไหน เพียงแต่คงสภาพบริสุทธิ์ที่สูญสิ้นไปจาก แม้กามสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะเท่านั้นเอง ดังพระพุทธพจน์ที่มีมาดังนี้

“เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไป เพื่ออาสวักขยญาณฯลฯ

เมื่อเรานั้น รู้เห็นอย่างนั้น จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่า พ้นแล้ว ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้วกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.”
(พระพุทธพจน์)


เมื่อพูดถึงความบริสุทธิ์ เราทุกคนย่อมรู้กันดีอยู่แล้วว่า สิ่งนั้นๆต้องเป็นเอกเทศได้รับความบริสุทธิ์หมดจด ไม่มีสิ่งแปลกปลอมอื่นแม้แต่เพียงเล็กน้อย เข้ามาเจือปน ให้เสียคุณภาพของความบริสุทธิ์ไป เราจึงเรียกได้ว่า "บริสุทธิ์" ถ้ายังมีสิ่งอื่นแปลกปลอมเข้ามาเจือปนแม้เพียงเล็กน้อย เราก็ไม่อาจเรียกสิ่งนั้นๆ ว่า "บริสุทธิ์"

พระบาลีในพระพุทธพจน์ก็ชี้ชัดไว้ว่า "เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส" เมื่อจิตที่เป็นธาตุรู้ ทรงไว้ซึ่งความรู้เป็นสมาธิได้รับความบริสุทธิ์ ย่อมเป็นการชี้ชัดว่า จิตที่เป็นธาตุรู้นั้น รู้สักแต่ว่ารู้ บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งอื่นเจือปน คือไม่มีอารมณ์กิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายเข้ามาเจือปน ให้จิตเสียคุณภาพไป คือ รู้สักแต่ว่ารู้ จิตเป็นวิสังขาร สิ้นการปรุงแต่ง ไม่ผสมปนเปกับอารมณ์กิเลสหรืออุปกิเลสแม้เพียงเล็กน้อย


สรุป
พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสั่งสอนแต่เรื่อง "จิตกับอารมณ์" เท่านั้น เป็นปรมัติ สูงสุดแล้วในพระพุทธศาสนา ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจาก "จิตกับอารมณ์" นี้อีกเลย

และทรงสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ โดยการปฏิบัติสัมมาสมาธิ ตามหลักอริยมรรค ๘ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นหลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ เพื่อถึงที่สุดทุกข์ หรือ "พระนิพพาน" นั่นเอง



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 07 มีนาคม 2554
Last Update : 19 มกราคม 2558 15:03:44 น.
Counter : 800 Pageviews.

2 comments
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่คนมักชอบอะไรที่มันง่ายๆ 121 235 เขาถาม - ตอบกัน 450 > คำถาม : ทำอย่างไ สมาชิกหมายเลข 7881572
(16 เม.ย. 2567 09:58:49 น.)
: รูปแบบของการตระหนักในการรับรู้ : กะว่าก๋า
(15 เม.ย. 2567 05:37:45 น.)
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
  
อนุโมทนาสาธุ ท่านในฝันครับ
โดย: shadee829 วันที่: 7 มีนาคม 2554 เวลา:14:01:47 น.
  

อนุโมทนาค่ะ
โดย: พ่อระนาด IP: 183.89.250.193 วันที่: 16 พฤษภาคม 2554 เวลา:21:16:26 น.

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]