Leh Ladakh ... ตอนที่ 1/2 Leh city, Khardung La Pass, Nubra Valley




เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นทริป Leh Ladakh เดือนเมษา


เดือนที่คนยังไม่นิยมมาเที่ยว แต่พี่ไทยไป เดือนที่อากาศยังหนาวเหน็บ แต่พี่ไทยไปชอบ ถนนท่องเที่ยวบางสายยังต้องลุ้นว่าจะเปิดไหมเนื่องจากปัญหาหิมะ แต่พี่ไทยชอบลุ้น อ๊อกซิเจนในอากาศที่มีน้อยกว่าฤดูร้อน เพราะสีเขียวของต้นไม้ที่แทบไม่มีให้เห็น เหตุผลหลักที่พี่ไทยไปเยอะกว่าชาติใดในเดือนเมษาเพราะพวกเรามีวันหยุดยาวไง ลาคร่อมหัวท้ายตรุษสงกรานต์แล้วเดินทางไปโลด ต่อข้อถามว่าแล้ว high season ของที่นี่คือเดือนอะไร คำตอบคือ May June July แล้วพวกเรามาทำไรเดือนเมษา มาก่อน high จะเจออะไรและไม่เจออะไรบ้างรีวิวนี้มีคำตอบ พร้อมแผนที่การเดินทางเก็บข้อมูลจากจีพีเอสจัดเต็มเช่นเคย

ภาพด้านบนนอกหน้าต่างเครื่องบินขณะลดเพดานบินเตรียมแลนดิ้งที่สนามบินเลห์
ภาพล่างแสดง high season ของเลห์ และภูมิภาคลาดักห์




และนี่ คือไฮไลท์สุดของทริป Pangong lake ในเดือนเมษา เดือนที่แผ่นน้ำแข็งยังเต็มเลสาบ ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,350 เมตร และกลางคืนติดลบหลายสิบองศานอนค้างไม่ไหว




ใช้งบไปทั้งหมดคนละไม่เกินสามหมื่นบาท สมาชิก 5 คน ราคานี้รวมค่าเครื่องบินไปกลับ 4 ไฟล์ท ที่พัก 5 คืน ค่าอาหาร ค่ารถพร้อมคนขับตะลอน 5 วันรวมค่าน้ำมัน บนระยะทางกว่า 1,400 กิโลเมตร


นี่คือเส้นทางทริปทั้งหมด



-เวลาที่อินเดียวช้ากว่าไทย 1 ชั่วโมงครึ่ง
-อัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 บาทไทย = ประมาณ 1.90 รูปี จำง่ายๆ คูณสอง
-เลห์อยู่อินเดีย รัฐ Jammu & Kashmir มาอินเดียต้องมีวีซ่า
-เที่ยวบินจากไทยตรงสู่เลห์ไม่มี ต้องไปต่อเครื่องที่เดลลีเมืองหลวงของอินเดีย
-เกสเฮ๊าส์ในเลห์เยอะมาก และส่วนใหญ่มีบริการที่พักพร้อมรถพาเที่ยว
-คนเลห์เป็นคนใจดี มีน้ำใจ ซื่อสัตย์สุจริต ตรงไปตรงมา ลืมภาพคนอินเดียจอมเจ้าเล่เพทุบายที่คุณรู้จักมาให้หมด คนอินเดียที่เลห์คือส่งที่อยู่ตรงกันข้าม
-ระบบไฟฟ้า อินเดียใช้ 230 โวลล์ ปลั๊กไฟที่เลห์จะเป็นแบบ 3 Pins Type D ล้วนๆ
-ร้านอาหารไทยในเลห์มี แต่น้อย เป็นแบบเมนูอาหารไทยในร้านคนเลห์ รสชาติก็พอแล่กล่าย ส่วนนอกเลห์ไม่ต้องพูดถึง
-ร้านชำในเลห์มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อไทย แต่ก็ปรับรสชาติไปเยอะ
-ค่าเหมารถที่นี่เป็นราคามาตรฐาน ไม่ต้องเช็ค เรทราคาตามระยะทางเท่ากันทุกร้าน
-internet เมืองเลห์ ห่วยแตกมาก กากสุดขีด ทำใจเข้าสู่โลกออฟไลน์กันจะได้ไม่หงุดหงิด

พร้อมยัง! อ่ะ เดินทาง go

เราใช้บริการ Jet air จองล่วงหน้ากว่าครึ่งปี ราคาขึ้นมาเรื่อยๆ จนมาสุดที่ หมื่นแปด round trip



อันเนื่องมาจากไฟล์ทบินจากเดลลีไปเลห์ มีแค่วันละไฟล์ทและเช้า เราจึงบินออกจากสุวรรณภูมิเที่ยวดึก เอาเวลารอต่อไฟล์ท 6 ชั่วโมงเศษนอนหลับพักผ่อนในสนามบินเดลลี วิธีนี้จะทำให้ช่วงเวลารอต่อเครื่องสั้นที่สุด เหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการเสียเวลาแวะเที่ยวเดลลี

ขึ้นเครื่องกันเลยจ้า


เหนือฟ้ารัฐ Jammu & Kashmir กลางเมษา ดวงอาทิตย์โผล่พ้นฟ้ามาตั้งแต่ยังไม่ทันจะหกโมง สิ่งที่ตื่นเต้นเฝ้ารอใจจดใจจ่อคือภาพหิมาลัยนอกหน้าต่างเครื่องบิน เพราะเส้นทางจากเดลลีสู่เลห์ เมืองกลางหุบเขาสูงเสียดฟ้า เราจะต้องบินตัดเทือกเขาหิมาลัย, เทือกเขา Zanskar ไปตามลำดับ ก่อนลดระดับลงสู่เมืองเลห์ที่ซุกตัวอยู่ในซอกเทือก Ladakh Range ถ้าบินเลยจากนี้ไปก็เทือก Karakoram แล้วก็เข้าทิเบตละ ภาพเทือกเขาที่ยิ่งใหญ่ที่เฝ้าจะได้เห็นปรากฏนอกหน้าต่าง แต่เจ้ากรรมไม่ได้ที่นั่งริมหน้าต่าง



แต่แล้ว ความประทับใจแรกก็เกิดขึ้น ทาชิ หนุ่มชาวเลห์เจ้าของที่นั่งริมหน้าต่าง เห็นอาการเราแล้วเดารู้ ก็เลยเสนอให้เราสลับเก้าอี้ ผมเกรงใจ แต่ทาชิกระตือรือร้นมาก เค้าบอกเห็นจนเบื่อแล้วแต่มันจะต้องเป็นวิวที่น่าตื่นตาสำหรับคุณ นี่คือสัมผัสแรกกับความมีเอื้อเฟื้อใจดีของชาวเลห์ และทาชิก็ทำให้ผมได้นั่งมองภาพหิมาลัยหลังคาของโลกอันยิ่งใหญ่ และถ่ายภาพมาเป็นภาพเปิดรีวิวนี้



เครื่องบินแลนดิ้งเร็วกว่าเวลาบนตั๋วไปสิบห้านาที ฟ้าเมืองเลห์วันแรกเล่นเราซะแล้ว ขาววอกขมุกขมัว แต่ภาพที่เห็นด้านล่างนี่คือเลห์วันกลับ! พิสูจน์ได้ว่าไม่ว่าจะไปเที่ยวไหน ในเมืองไทยหรือดั้นด้นไปเมืองนอก ฟ้าจะสวยที่สุดคือวันปิดทริปเสมอ เหอะๆ

ผมไม่มีภาพสนามบินนี้ในวันแรก เนื่องจากพอยกกล้องขึ้นมาก็เจอทหารร้องห้าม เตือนไม่ให้ถ่ายรูป แต่ก็ไม่ถึงกับเดินมาขอดูว่าเราแอบถ่ายอะไรไปบ้างนะ




Leh airport
elevation: 3,315 m.

และทันทีที่ก้าวเข้าสู่อาคารผู้โดยสารที่เล็กกะทัดรัด เสียงประกาศก็ดังขึ้น welcome to Leh the land of high passes ขณะนี้ท่านได้เข้าสู่ดินแดนที่สูงแล้ว ที่ซึ่งอ๊อกซิเจนในอากาศเบาบาง ท่านอาจรู้สึกปวดหัว เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หาวถี่ๆ เหมือนคนจะง่วง เบื่ออาหาร อยากอาเจียร วิงเวียน มึนงง วูบๆ คล้ายจะ
เป็นลม นั่นคืออาการของ altitude sickness ระดับแรก ams และถ้าท่านเดินทางไปท่องเที่ยวบนพื้นที่สูงกว่านี้ ท่านอาจเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรงขึ้น ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากเกิดอาการดังกล่าวให้ลงจากที่สูงให้เร็วที่สุด และพบแพทย์ทันที … เป็นการกล่าวต้อนรับที่น่าตื่นเต้นชะมัด แต่ ณ เวลานี้บอกเลย พวกเราเฉยมาก 555 ชิลๆ และผมก็หวังว่าถึงตอนนี้ใครที่เดินทางมานี่คงต้องกินยาปรับหัวใจ Diamox มาล่วงหน้าตั้งแต่อยู่สุวรรณภูมิแล้วนะ ส่วนตัวผมเหรอ เหอะๆ ลองของครับ ไม่ได้กิน






ที่ลานจอดด้านหน้าหนามบิน รถจากเกสเฮ๊าส์ถูกส่งมารอรับพวกเราแล้ว และเพียงสองสามกิโลจากสนามบินเราก็มาวิ่งอยู่ใจกลางเมืองเลห์น้อยๆ ละ และเพียง 4 โลเศษเราก็มาถึง Ree Yul Guesthouse มองเห็น Leh Palace อยู่ไม่ไกล


แผนที่เส้นทางจากหนามบินเข้าเมือง จะเห็นได้ว่าภูมิประเทศของเมืองเลห์นั้นซุกตัวอยู่ในซอกแคบๆ ของเทือกเขา




เส้นทางจากสนามบินมุ่งหน้าเข้าเมือง





นี่ครับ บรรยากาศมาคุมาก เมฆฝนดำมาเลย กับบรรยากาศเช้าๆ ในเมืองเลห์ ผู้คนยังไม่จอแจ เมืองเล็กๆ ที่มองไปทางไหนก็โอบล้อมไปด้วยเทือกเขาสูงปี๊ดที่ขาวโพลนไปด้วยหิมะปกคลุมยอด และเลห์เดือนเมษายังเป็นเดือนที่แทบไม่มีความสดใสสีเขียว





ถึงแล้วที่พัก
Ree Yul Guesthouse
พิกัดเกสเฮ๊าส์ N34.16515° E77.58294°
elevation: 3,327 m.

facebook https://www.facebook.com/reeyulguesthouse.leh

เกสเฮ๊าส์นี้คุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างดี วันที่เรามามีคนไทยอีกสองสามกรุ๊ปเข้าพัก และตลอดเวลาที่เราพักก็แทบไม่เห็นนักท่องเที่ยวชาติอื่น ก็คงเพราะนี่คือเลห์เดือนเมษา เดือนที่ยังไม่ค่อยมีใครนิยมมากันนอกจากพี่ไทย

เจ้าของเกสเฮ๊าส์นายรียุลพาไปห้องพัก บางคนได้ชั้นบนสุด บางคนได้ชั้นสาม ส่วนผมได้ชั้นสอง การลากกระเป๋าขึ้นบันไดไปชั้นสองในวันแรกนี้ รู้สึกทันทีว่าแต่ละก้าวนั้นเหนื่อยแฮะ เริ่มรู้สึกว่าต้องทำอะไรช้าๆ ลง

เวลาขณะนี้ก็เจ็ดโมงครึ่งพอดี เย็นมาก อุณภูมิน่าจะแถวๆ 0 องศา หรือลบนิดหน่อย

วางกระเป๋าแล้วเราก็พร้อมจะออกเที่ยวในเมือง แพลนวันแรกของเราคือพักปรับตัวในเมือง แต่เจ้าของเกสเฮ๊าส์บอกกับพวกเราว่า การปรับตัวคือนอน พักผ่อนอย่างน้อยที่สุดครึ่งวัน จริงๆ เค้าอยากให้พักเต็มวัน ยังไม่ต้องไปไหน ค่อยเริ่มเที่ยววันพรุ่งนี้ แม้แต่คนที่เติบโตที่นี่ถ้าเดินทางไปที่อื่น กลับมาก็ต้องพักเต็มที่ในวันแรกเช่นกัน





อ่ะ พักก็พัก แล้วเราก็แยกย้ายกันเข้านอน หลับไปหกชั่วโมง หลับต่อไม่ไหวก็ขึ้นมาสำรวจบนดาดฟ้า
และนี่คือวิวที่เห็น






เรารบเร้านายรียุลใหม่ บอกว่าวีโอเคน้า นอนนานแล้ว เบื่อ อยากออกเที่ยวแล้ว แพลนเราไม่มีไรมาก ขอแค่ Leh Palace กับอะไรที่ตั้งอยู่เหนือ Palace ขึ้นไปอีกหน่อยนั่น สองที่พอแล้ว แล้วก็สมใจ รถพาเราออกจากเกสเฮ๊าส์ ขับไปตามเส้นสีฟ้า 2.3 กิโลเราก็ไต่ภูเขาขึ้นไปถึงสุดทาง ณ​ ลานจอด เดินอีกร้อยเมตรถึงกำแพงวัง เที่ยววังแล้วก็ลงจากวังขับอ้อมเมืองไปไต่เขาอีกที 3.4 กิโลไปยังที่ๆ ถ้าในกูเกิ้ลแม็ปจะเรียกว่า Namgyal Tsemo Gompa 




ทริป Day 1 จึงเริ่มขึ้น
Leh Palace, Namgyal Tsemo Gompa






วิวเมืองเลห์ ระหว่างทางขึ้น Leh Palace อึ่ม! แล้งเหลือล้น






Leh palace

elevation: 3,580 m.
gps: 34.165982, 77.586564
google maps: https://goo.gl/10FV4n

และในที่สุดเราก็พาร่างมายืนสูงขึ้นมาอีกสองร้อยกว่าเมตรจากระดับน้ำทะเล นี่เป็นพระราชวังเก่า
ถอดแบบมาจากพระราชวังโปตาลา เมืองลาซา ทิเบต สูง 9 ชั้น สภาพปัจจุบันทรุดโทรมมาก ข้างในก็ว่างเปล่าแทบไม่มีอะไร แต่ก็ถือว่าใครที่มาเยือนเมืองเลห์แล้วต้องมาทุกคนไม่งั้นเหมือนมาไม่ถึง 






ภาพวิวเมืองเลห์ มองจากบนพระราชวัง Leh palace เลห์ในเดือนเมษาแทบไม่เห็นความขวีของต้นไม้
และดูแห้งแล้ง มองผ่านซากปรักในวันฟ้าหม่นแบบนี้ ดูเหงาหงอยพิกล นี่คือของวังที่เคยรุ่งเรืองเมื่อศตวรรษที่ 17





สมัยก่อนดินแดนแถบนี้อยู่ใต้ปกครองของกษัตรย์แห่งลาดักห์ก่อนถูกรุกรานและย้ายวังไปอยู่ฟากตรงข้าม มองเห็นเขาไกลๆ ทางเบื้องทิศใต้ ชื่อว่า Stok palace






ชมวิวเมืองกว้างๆ อีกหน่อยก่อนไปต่อ สู่จุดหมายที่อยู่เหนือขึ้นไปจากวัง แต่อยู่บนเขาลูกเดียวกันนี่แหละ








ไต่ระดับขึ้นสู่ความสูงสามพันเจ็ดร้อยเมตร

Namgyal Tsemo Gompa

gps: 34.167191, 77.590194
elevation: 3,670 m.
google maps: https://goo.gl/dvri0q

เหนื่อยมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับตอนนี้ เดินได้อยู่แค่แถวๆ Gompa ด้านล่างสุดนี่ล่ะครับ หาวแล้วหาวอีกเห็นบันไดแล้วใจมันท้อแท้ ขี้เกียจเดินสูงขึ้นไปอีกเดี๋ยววูบ






Namgyal Tsemo Gompa นี่จะแบ่งเป็น 3 อาคาร ไล่ตั้งแต่อาคารที่อยู่ล่างสุดหน้าสุดสีขาวแดงที่เห็นในภาพนี่ ก็คือวัด Tsemo Gompa, the red Maitreya temple. ถัดขึ้นด้านหลัง gompa นี้มีอีกอาคารนึงสีแดงชาดมองไม่เห็นในรูป และสูงขึ้นไปหลังบนสุดเป็นอาคารขาวๆ เป็นป้อมปราการ เรียกว่า Tsemo Fort สมญาป้อมปราการแห่งชัยชนะ




มายืนจุ๊ยตรงนี้ได้ก็หอบแฮกละ ตามความคิดของผม บนนี้สถานที่สวยและวิวดีกว่าเลห์ พาเลส






ที่คุ้มค่าที่สุดเห็นจะเป็นวิวบนนี้ สุดติ่งกว่าตรงวังเยอะเลย โคตรสวย






มองไกลไปอีกฟากของเมืองเลห์ แลเห็นเจดีย์องค์ขาวๆ เค้าว่าสร้างโดยญี่ปุ่น เจดีย์ชื่อ Shanti Stupa





Shanti Stupa อยู่ทิศตต.เฉียงเหนือของเลห์ หันหลังพิงภูเขาหันหน้าเข้าหาเมืองเลห์ เป็นจุดชมวิวเมืองเลห์และชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดจุดนึงเลย แต่ทริปนี้เราไม่ได้ไป





วิวเมืองเลห์อีกรูป ลองจินตนาการดู ในหน้า high season ต้นไม้เหล่านี้จะให้พากันเขียวจนเมืองเลห์สวยขนาดไหน





วิวเทือกเขาสูงปี๊ดหิมะปกอีกรูปก่อนกลับลงจาก Namgyal Tsemo Gompa






สภาพหลังจากไปแรดบนที่สูงมา 4 ชั่วโมง ขึ้นไปบนที่สูงเกือบ 3700 เมตร กลับลงมาตัวเมืองอีกครั้งตาปิดไปข้างแล้วครับ ฮ่าฮ่า ส่วนน้องร่วมทริปเมารถ ไม่รู้ว่าเพราะ ams เล่นงานด้วยป่าวเลยทำให้เมารถ



เรานั่งกินข้าวเย็นก่อนกลับเข้าเกสเฮ๊าส์ ตรงนี้มีร้านอาหารเยอะ ประตูเขียวๆ นี่คือร้านติดกันนะ ถัดประตูเขียวนี่มาถึงจะเป็นร้านที่เรานั่งซึ่งพอจะมีเมนู Thai food บ้าง หน้าตาก็อย่างที่เห็น ส่วนรสชาติเหรอ ตอนที่กินลิ้นผมรับรสเพี้ยนหมดแล้ว ร้านอาหารที่เรานั่งกินอยู่หัวมุมถนน Ford ตัดกับ Zangsti อ่ะ ให้พิกัดร้านไว้ 34.16391 77.58264 google maps: https://goo.gl/M5Mms6





มุมมอง Leh palace, Tsemo Gompa และ Fort มองจากบนดาดฟ้าเกสเฮ๊าส์





ทไวไลค์แรกของทริป ณ Leh Ladakh ฟ้าใสเมื่อสิ้นวัน …. จบทริป Day 1/7






DAY 2
GO LAMAYURU







จุดแวะชมแม่น้ำสองสี 
Zangkar river ไหลมาบรรจบแม่น้ำสินธุหรือ Indus river
34.166781, 77.335080 elevation: 3,200 m.
google maps: https://goo.gl/UmgzHz

แม่น้ำสินธุเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 21 ของโลก มีความยาวกว่า 3,180 กิโลเมตร ไหลมาจากที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่าน Leh ไหลไปเข้าประเทศปากีสถาน และไปออกทะเลอาหรับ และเป็นแม่น้ำที่ยาวและสำคัญที่สุดของปากีสถาน สวยมากๆ จุดนี้





Lamayuru Gompa
gps: 34.283205, 76.773853
elevation: 3,510 m.
google maps: https://goo.gl/ojSZCa

ร้อยกว่ากิโลเมตรจากเลห์ เส้นทางเลาะเรียบไปตามหุบแม่น้ำสินธุเป็นส่วนใหญ่ บนไฮเวย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของหนึ่งว่าเป็น Ladakh Lifeline ถนนสายที่สวยมาก Srinagar – Leh HWY. ถนนสายที่ใช้เดินทางทางบกมาสู่เลห์ได้จากเมืองศรีนาการ์ ถนนสายนี้มีความยาว 434 กิโลเมตร และจะปิดทุกปีในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน ไปจนกระทั่งกลางพฤษภาคม ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับปริมาณหิมะ ถ้าหมดเร็วก็เปิดเร็ว อย่างปีนี้ 2016 หิมะตกน้อยกว่าทุกปีทำให้กลายเป็นโชคดีของคนมาเลห์เดือนเมษาที่ปกติจะหมดสิทธิ์ลุ้นมาชื่นชมวิวบนเส้นทางสายนี้






แต่!! เป็นความโชคดีของเพื่อนร่วมทริป 4 คน ยกเว้นผม! ผมคนเดียวที่อดมาชื่นชม ภาพข้างบนเป็นของเพื่อนที่ไปถ่ายกลับมาอวด ส่วนผมเหรอ AMS รับประทานเรียบร้อย อาการนอนไม่หลับทั้งคืน หอบๆ อยากน้ำ หนาว ตื่นมาตอนเช้าหัวหนักมาก อยากจะทรุดนอนอย่างเดียว กะจิตกะใจจะเที่ยวไม่เหลือหลอ จริงจะตามเพื่อนๆ ออกทริป แต่ไม่อยากหิ้วกล้องเลย อยากไปตัวเปล่า ชะโงกทัวร์ก็ยังดี แต่นายรียุลเจ้าของเกสเฮ๊าส์แนะนำว่าควรไปหาหมอดีกว่า เค้าอาสาขับรถพาไปรพ.เอง สุดท้ายก็เลยสละทริป day 2 ไปโดยปริยาย #สมน้ำหน้าได้แต่อย่าแรง




ก็ฉีดอะไรเข้าเส้นไม่รู้ แล้วตามด้วยอ๊อกซิเจน 3 ถังเต็มๆ 555 สาเหตุก็เพราะว่า diamox ก็ไม่กิน หยิ่ง ก็ได้ยาไออะม่อกซ์กลับไปกินเล่นสองวัน บุหรี่เขาห้ามก็สูบไปหลายตัว คือใครสูบบุหรี่จะรู้ว่ายิ่งเจออากาศเย็นๆ ยิ่งอยากสูบ วันแรกที่มาถึงไม่พักผ่อนให้เต็มที่อย่างที่ได้รับคำเตือน สุดท้ายตอนลงมาจาก fort วันแรก หลังมื้อค่ำยังให้คนขับรถไปหิ้วเบียร์มาอีกสองขวด คืออยากลองเบียร์เมืองเลห์ว่าจะอร่อยสักแค่ไหน สุดท้ายเบียร์นั่นจิบได้ยุบไม่พ้นคอขวดเลยครับก็รู้สึกว่าไม่อร่อยแล้ว คืออากาศบนเลห์ และที่สูงกว่าเลห์เนี่ยปกติก็อ๊อกซิเจนเบาบางอยู่แล้ว ยิ่งเป็นหน้าหนาวแบบนี้ ต่อให้เป็นช่วง spring แบบเมษา แต่สีเขียวของต้นไม้ก็ยังมีน้อยมาก ยังไม่พอผลิตอ๊อกซิเจน ทำให้การปฏิบัติตัวในการมาถึงวันแรกนั้นสำคัญมาก ควรต้องกินยา diamox ก่อนออกเดินทางจากไทยคือตั้งแต่อยู่สุวรรณภูมิเลย แล้วกินต่อเนื่องไปอีกสักวันสองวันเมื่อมาถึง

หลังจากนอนให้อ๊อกซิเจน 3 ถัง หลับสบายไปสามชั่วโมงกว่า ผมก็กลายเป็นมนุษย์อ๊อกซิเจน ร่างกายกลับมาแข็งแรงสุดชื่นเดินตัวปลิวกลับเกสเฮ๊าส์ ระยะทางเดินทาง 2 กิโลเมตร ชมเมืองเลห์เป็นรางวัลปลอบใจที่ชวดทริป day 2 ไป



อ่านเรื่องราวของโรคบนที่สูงเพิ่มเติมได้จากเวปหาหมอ https://goo.gl/6dmQM9



ได้หมดถ้าสดชื่นครับ พอฟื้นก็หิวทันที ระหว่างเดินเกือบถึงที่พักก็ผ่านร้านอาหารมีคำว่า Thai food แวะซะเลย ชื่อร้าน Happy World restaurant อยู่ใกล้ๆ ร้านแรกที่แนะนำไปล่ะครับ สี่แยกเดียวกันเพียงแต่แยกไปบนถนน zangsti อาหารไทยมีอะไรจำไม่ได้แล้ว แต่ว่าผมสั่งผัดไทยมากิน รสชาติก็พอกินได้ มีความอร่อยปนอยู่บ้าง ส่วนน้ำอัดลมก็ยี่ห้อนี้ครับ นิ้วโป้ง เหมือนเป๊บซี่บ้านเรา



จบ Day2/7 ไปอย่างผิดความคาดหมาย นอนมองทไวไลค์เหนือฟ้าเมืองเลห์ไปอีกหนึ่งคืน




DAY3
LEH – TURTUK แล้วย้อนกลับไปนอน HUNDER


เอาล่ะครับ นี่คือเช้าตรู่วันที่สาม ตอนนี้ผมก็เป็น X-Men มนุษย์อ๊อกซิเจนละ ผมพร้อมแล้ว ว่าแล้วก็อัดไดอะม่อกซ์ต่ออีกเม็ด อิอิ ปะปะ ไปกัน วันนี้เส้นทางน่าตื่นเต้นมากที่สุดของทริปเลย เพราะเราจะข้ามเทือก Ladakh Range ที่ขวางอยู่เหนือหุบเมืองเลห์ ใช้ถนนเส้นที่ได้สมญาว่า World Higest Motorable สูงที่สุดในโลก บนเส้นทางข้ามเขาที่ชื่อ Khardungla rd. หรือ Khardung La Pass ตัดข้ามไปลงหุบเขาที่ชื่อ Nubra Valley หุบเขาที่มีแม่น้ำสองสาย Nubra river กับ Shyok river อันเป็นสายน้ำที่ละลายมาจากธารน้ำแข็งบนเทือก Karakoram ไหลมาบรรจบกันเป็นหุบเขารูปตัว V เส้นทางตามแผนที่ข้างล่างนี่เลย โดยเราจะไปสุดชายแดนอินเดีย ปากีสถานที่หมู่บ้าน Turtuk แล้วขับย้อนกลับมานอนที่ทะเลทราย Hunder ระยะทางทั้งสิ้น 290 กิโลเมตร





เริ่มไต่ขึ้นมาจากเมืองเลห์ นายทาชิ (ทาชิอีกแล้ว) คนขับรถของเรา และจะเป็นทั้งคนขับและไกด์ของเราตลอดทริปนี้ พาพวกเราตัดออกจากเกสเฮ๊าส์เลาะซอยเล็กซอยน้อยแล้วตัดไหล่เขาไต่ขึ้นไปเกาะบน Khadung La rd กันเลย เท่ากับว่าไม่ต้องเสียเวลาไปเริ่มต้นที่ต้นถนน ประหยัดไปสามโล จริงๆ ทางหลักก็คือทางเดียวกับที่ขึ้น Tsemo Fort แต่พอถึงแยก Fort เราก็ไม่แยก ตรงไปเลย





ขณะนี้เราขับออกมาได้ 14 กิโล อยู่บนความสูง 4,230 เมตร มองกลับลงไปเมืองเลห์ในโอบกอดของเทือกเขาสูงเสียดฟ้าหิมะปก สวยงามมาก จากตรงนี้ยังมองเห็น Shanti Stupa เจดีย์ขาวที่ว่าชาวญี่ปุ่นสร้าง ดูสิครับ เจดีย์ที่อยู่ระดับ 3,610 m. ดูเตี้ยไปเลย ส่วนปราการภูเขาหิมะทมึนโพลนอยู่ด้านหลังนั่นคือส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย Hemis Natonal Park แนวเทือกเขาทั้งหมดตรงนั้นคือแนวของเทือก Stok Range ส่วนยอด peak นั่นคือ Stock Kangri สูง 6,153 m. สุดยอด peak ของนักเทรคกิ้งพีคแห่งหนึ่งเลย น่าตื่นตามาก เกิดมาเพิ่งเคยเห็นยอดหกพัน






ผ่านด่านทำใบ PERMIT ที่
SOUTH PULLA
POLICE CHECK POST

ELEVATION: 4,670 M.

หลังจากชมวิวเมืองก็ไต่สับฟันปลาขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก 9 กิโล เส้นทางตอนนี้เรียกว่าไต่อย่างเดียวจริงๆ ไต่ต่อเนื่อง จนมาถึง South Pullu เป็นด่านที่นักท่องเที่ยวทุกคนจะต้องทำใบเพอร์มิท เอกสารเราเตรียมมาพร้อมหมดแล้ว และมีหลายชุดด้วย เพราะตลอดทริปต้องมีผ่านจุดแบบนี้อีกหลายครั้ง ปล่อยนายทาชิไปจัดการธุระให้ ใช้เวลาแป๊บเดียว ก็เดินทางต่อ




ที่ South Pullu นี้ ถ้าหันหลังกลับไปยังเมืองเลห์จะมองเห็นยอด stock Kangri  6,153 เด่นตระหง่านสูงกว่าระดับสายตาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สวยงามยังกับฉากเปิดของพาราเมาท์ฟิล์ม





Khardung La Pass มีความยาวทั้งหมด 92 กิโลเมตร ข้ามเทือกเขาลาดักห์ จุดสูงสุดอยู่ที่ Khardung La Top ห่างจากเลห์ประมาณ 30 กว่ากิโล โดยเส้นทางจะผ่าน South Pullu > Khardung La Top > North Pullu ความชันเป็นยังไงดูจากกราฟใต้แผนที่ได้เลยครับ ผมเก็บข้อมูลมาจากจีพีเอส






พอผ่าน South Pullu มาเส้นทางก็ยังไต่ขึ้นต่อเนื่อง จะกว่าจะไปถึงจุดสูงสุดถึงจะลง สภาพเส้นทางตอนนี้ก็จะขาวโพลนไปด้วยหิมะแล้วครับ สวยมาก


มองย้อนกลับไปดูเส้นทางที่สักฟันปลาแบบรอบใหญ่ๆ ขึ้นมากันครับ ขณะนี้อยู่เหนือ 5,300 เมตรละ อีกโลเดียวแตะยอด




Khardung La Top

elevation: 5,374 m.
ถึงละครับ จุดสูงสุด ใช้เวลาชั่วโมงเต็มๆ ในการเดินทาง





ทาชิให้เวลาเราลงจากรถได้ไม่เกินสิบห้านาที เราขอเหตุผล เพราะเราอยากอยู่นานๆ กว่านั้น ตื่นเต้นกับหิมะ ทาชิให้เหตุผลว่าอ๊อกน้อย และปลายทางเรายังอยู่อีกไกล ขอถ่ายภาพกับป้ายก่อนเลยครับ นี่คือป้ายบอกว่าคุณกำลังยืนอยู่บนจุดสูงสุดของถนนที่สูงที่สุดในโลก โดยทางอินเดียเคลมความสูงไว้ที่ 18,380 feet แปลงเป็นเมตรก็เท่ากับ 5,602 เมตร! ซึ่งตัวเลขนี้มีดราม่ากันอย่างกว้างขวาง โดยนักท่องเที่ยวมากมายทั่วโลกที่เดินทางมาและได้บันทึกความสูงด้วยจีพีเอสไว้ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าความสูงที่แท้จริงต่ำกว่านี้ และอันที่จริงบนโลกนี้ยังมีถนนที่สูงกว่าเส้นนี้อีก สำหรับความสูงที่ผมวัดได้จากจีพีเอสของผมคือ 5,374 เมตร วางบนพื้นถนน แต่สุดท้ายป้ายนี้ก็ปักอยู่อย่างนี้นะครับ คงเพราะเจ้าของบ้านยังต้องการให้มันได้รับสมญาแบบเดิม //เหมือนๆ เจ้าภาพกีฬาที่พยายามใช้เทคนิคแย่งเหรียญทองมาครอบครองเลย อีกอย่างคือแผ่นพับ โบรชัวร์ นิตยสารท่องเที่ยวสารพัดก็เคลมเอาตัวเลข 18,380 feet นี้ไปใช้กันอย่างกว้างขวางไปแล้ว

สรุปคือในที่สุดผมก็ได้มายืนบนถนนที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดเส้นหนึ่งของโลกใบนี้แล้วล่ะครับ เย้ ดีใจไม่ใช่น้อย และนี่คือจุดที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลมากที่สุดของทริปนี้ด้วย ซึ่งเหนือจากระดับ 5,000 เมตรขึ้นมาก็ต้องเรียกว่าขึ้นมาสู่โซน Extream High Altitude แล้ว ซึ่งอ๊อกซิเจนจะเบาบางมาก






มองย้อนกลับไปทางที่ขึ้นมา เป็นทางโค้งขึ้นมา จุดที่เป็น Top นี้ยาวเพียงร้อยเมตร เขาที่เห็นทะมึนอยู่นั่นมีเหวลึกขวางระหว่างเขากับถนนนี้นะครับ และถ้าขึ้นไปยืนบนยอดเขานั้นได้และมีตลับเมตรโดเรม่อนวัดระยะทางตรงลงไปหาเมืองเลห์ จะได้ระยะเท่ากับเพียงสิบโลกว่าๆ เท่านั้นเอง





เอาล่ะครับ สิบนาทีกว่าๆ กับการจุดสูงสุด ทาชิก็เร่งให้เดินทางต่อละ เบื้องหน้ายังโอบไปด้วยยอดเขาสูงๆ แต่บนเทือกลาดักห์ละแวกนี้ยอดสูงๆ ก็อยู่ในระดับห้าพักกว่าไม่เกินหกพันครับ อาร์ มองไปที่ไหนก็มีแต่หิมะ สุดยอดจริงๆ






ปล่อยภาพบรรยากาศบนยอด Khardung La Pass ไปเรื่อยๆ




บนนี้ถ้าหิมะตกหนักๆ หิมะจะถมทับจนวิ่งไม่ได้ บางทีเกลี่ยถนนแล้วเจอหิมะถล่มลงมาปิดทางซ้ำอีก บางคนขึ้นมารถติดอยู่บนนี้หลายๆ ชั่วโมง บางครั้งต้องกลับลงเลห์เพราะอ๊อกซิเจนน้อยไป แต่เห็นบางคนก็เล่าว่าผ่านไปได้ไม่มีปัญหาอ๊อกนะครับ ผมเองยืนอยู่สิบกว่านาทีก็ไม่ได้รับรู้ว่ามันหายใจยากยังไง


จากยอดสูงสุดทางจะลดระดับลงอย่างต่อเนื่องยาวๆ สับฟันปลาใหญ่ๆ ลงไปสี่ขยักก็จะถึงจุดแวะถัดไปนั่นคือ…






NORTH PULLU

elevation: 4,666 m.
North Pullu อยู่ห่างจุด Top มาเพียงสิบห้ากิโลแต่ใช้เวลาค่อยๆ คลานมากว่าสี่สิบนาที ตรงนี้เป็นจุดพักรถ มีร้านอาหารเครื่องดื่มและบริการที่พัก ห้องน้ำห้องท่าด้วย






วิวรอบๆ บริเวณ North Pullu สวยกว่าทาง South Pullu มาก ส่วนระดับความสูงก็พอๆ กัน



คนเดินทางต่างแวะพักรถพักคนกันที่นี่ ถ้าไม่ได้รีบร้อนเดินทางก็อาจจะใช้เวลาอยู่ที่นี่กันให้นานสะใจไปเลย โดยเฉพาะถ่ายภาพกับหิมะครับ เพราะลงจากนี่ไปจะไม่เจอกองหิมะใกล้ๆ แบบนี้แล้ว




North Pullu ก็เป็นอีกจุดที่เป็นด่านตรวจเหมือนกัน จำไม่ได้แล้วว่าทาชิหอบเอกสารไปทำใบ permit ที่นี่อีกหรือเปล่า



บรรยากาศหน้าร้าน เรียกว่าโรงเตี๊ยมดีกว่า แวะดื่มน้ำชาร้อนๆ กัน




รถคนอื่นครับ สีแดงตัดกับวิวดี ของเราสีบรอนซ์ ไม่สวยอ่า รู้งี้เช่ารถสีแดงดีก่า



ขอยืนเท่กลางหิมะหน่อยก่อนเดินทางต่อมุ่งหน้าลงจากเทือกลาดักห์สู่หุบเขา Nubra




กว่ากิโลจาก North Pullu เราก็ลงพ้นเทือกลาดักห์สิ้นสุดถนนสาย Khardung La Pass ทางเป็นสามแยกซ้ายขวา ทาชิพาเราเลี้ยวซ้ายลงสู่หุบเขานูบร้า มุ่งหน้าปลายทางหมู่บ้าน Turtuk แต่จุดแวะถัดไปตอนนี้จะอยู่ที่กินมื้อเที่ยงกันที่ Khalsar และตอนนี้ขอต้อนรับท่านสู่เทือกคาราโครัมอันเลื่องชื่อครับ ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าเราแ่งใหญ่มาก เบื้องหลังยอดสูงมากในภาพนี้แถวๆ ที่ผมกำกับตัวเลข 6,403 เมตรกับยอด 5,923 เมตรนั้นเบื้องหลังนั้นยังมียอดระดับเจ็ดพันกว่าซ่อนอยู่อีกอย่างน้อย 2 ยอด นั่นคือ Saser Muztagh Peak และที่ยอดสูงสุดคือ Saser Kangri Peak ที่สูงถึง 7,672 m.  ซึ่งมุมมองตรงนี้เรามองไม่เห็น ถ้าย้อนทางกลับขึ้นไปใหม่แล้วมองลงมาอีกน่าจะเห็นชัด

ขณะนี้เทือกเขาอันยิ่งใหญ่นาม Karakoram Range ปรากฏอยู่เบื้องหน้าแล้ว กราบ






แวะกินเที่ยงที่
KHALSAR VILLAGE


elevation: 3,230 m. ต่ำกว่าเมืองเลห์ร้อยเมตร

ทาชิพาพวกเราแวะกินมื้อเที่ยงกันที่นี่ แลเห็นแม่น้ำสีเขียวแกมฟ้าไหลอยู่ไกลๆ ท่ามกลางภูมิประเทศกรวดหิน ภูเขาแล้งๆ โอ คนมาใช้ชีวิตอยู่แถวนี้ได้ไง! คนทำอาชีพเลี้ยงสัตว์ด้วย เห็นตัว Yaks รวมฝูงกันอยู่ตรงนั้น มีหมาเฝ้าฝูงอยู่



แล้วนี่ตัวอะไร ไม่ล่อก็ลา


ร้านที่เราแวะกิน อยู่ในตึกแถวสี่ห้องนี่ ก็โดดเด่นริมถนนอยู่ตึกเดียวล่ะครับท่ามกลางความเวิ้งว้าง ถือเป็นหมู่บ้านระหว่างทางที่เล็กๆ



ร้านชื่อ New Punjabi restaurant อาหารที่สั่ง เหมือนเดิมนูลเดิ้ล 555 อาหารอินเดียยังหาอร่อยๆ ถูกปากไม่เจอสักมื้อ ก็กินกันหิวไป




เด็กๆ Khalsar 




พ่อแม่เด็กๆ สองสามีภรรยาเจ้าของร้าน



และนี่ โฉมหน้าทาชิ คนซ้าย ไกด์และคนขับรถของเรา กับเพื่อนของเค้าที่ทำอาชีพเดียวกัน พานักท่องเที่ยวกรุ๊ปเค้ามาแวะแถวนี้เช่นกัน




อิ่มแล้วผมก็เดินเล่น ยืดเส้นยืดสาย และแวะมาจ้องตากับเจ้าตัว Yak






เดินทางกันต่อ ขับออกมาอีกยี่สิบกว่าโลก็มาเจออีกหมู่บ้านนึง 
Diskit Village
ก็ไม่ได้แวะนะครับ เลยไปเลย แต่ก่อนจะเลยเจอมุมสวยก็บอกทาชิให้จอดหน่อย อย่าได้เกรงใจคนขับครับ ไม่งั้นไม่ได้ภาพ





วิวตรงนี้ก็คือก่อนจะแยะเข้าหมู่บ้านแค่ครึ่งโล ขอเรียกว่า Diskit Viewpoint ละกันนะครับ






ซูมเข้าไปดูบริเวณที่ตั้งบ้านเรือน Diskit Village เดือนเมษาแบบนี้ก็ต้องถือว่าอยู่ในฤดูใบไมิ ในหมู่บ้านเห็นต้นซากุระบานเต็มไปหมด



หมู่บ้าน Diskit ก็เช่นเดียวกับ Khalsar คือตั้งอยู่ในลุ่มน้ำ Shyok ในภาพมองเห็นสายน้ำเป็นแนวอยู่ไกลๆ




ภาพนี้มองย้อนกลับไปทางที่ผ่านมา คือมองย้อนไป Khalsar ขวามือเทือกเข้มๆ นี่คือ Ladakh Range ที่เราข้ามมา Khalsar แอบอยู่หลักเทือกเตี้ยๆ ราบๆ ที่ดูเหมือนดอนทราย ส่วนนอกนั้นก็คือเทือก Karakoram อันยิ่งใหญ่



ภาพนี้มองขึ้นหน้าไปทางซ้าย ตรงข้ามหมู่บ้าน Diskit ยอดเขาหิมะยอดหนึ่งของเทือกลาดักห์



ปล่อยภาพวิวไปเรื่อยๆ นะครับ ไม่ต้องก้าวขาไปไหน หมุนรอบตัวกดชัตเตอร์เอาทั้งนั้น






บรรยากาศในเดือนเมษายังดูแล้งๆ ไปนิด ถ้าเป็นพค. มิย. ผมว่าสีสันของต้นไม้ใบไม้น่าจะสวยกว่านี้มาก






แล้วเราก็เดินทางกันต่อ ขับผ่านหมู่บ้านสำคัญไป นั่นคือ Hunder village ซึ่งประเดี๋ยวคืนนี้เราจะย้อนกลับมานอน ตอนนี้ขอผ่านไปก่อน ต้องเลยไปไกลถึง Turtuk สุดชายแดน

เห็นหลักกิโลมันอดไม่ได้ครับ บอกทาชิ เฮ้ย จอดๆ แวะอีกแล้ว ขอถ่ายหลักกิโลโหน่ย ทาชิบอกตรูปวดหัว เมื่อไหร่จะถึง จากตัวเลขบนหลักก็จะเห็นว่าเราผ่าน Hunder มาได้ 5 กิโลและออกจาก Leh มาได้ 130 กิโล ใช้เวลามาห้าชั่วโมงกว่าแล้ว ช้ามาก เมื่อเทียบระยะทางที่ทำได้ ยังเหลือระยะทางอีกกว่า 80 โลจะถึง Turtuk






เส้นทางนับตั้งแต่เราลงจาก Khardung La ก็ยืดเส้นทางสายDiskit – Turtuk Highway เลียบแม่น้ำ Shyok มาตลอด วิ่งตัดข้ามแม่น้ำเป็นระยะ เดี๋ยวก็เลาะไปทางซ้ายของแม่น้ำ ประเดี๋ยวก็ย้ายไปเลาะขวา ภาพนี้ช่วงข้ามสะพาน สีแม่น้ำสวยมาก ท่าทางจะเย็นเจี๊ยบ



บางช่วงบางตอนของถนนก็ดูแล้ง แปลกๆ ห่อเหี่ยววังเวงชอบกล เหมือนวิ่งอยู่ในดินแดนอันไกลโพ้นหรือถนนต่างดาว




อีกหนึ่ง Police Check Post ที่ต้องลงไปทำใบ permit สมัยก่อนเส้นทางสายนี้ทางการเค้าไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้ามาลึกถึงขนาดนี้นะครับ ใหม่ๆ ก็แค่ Diskit, แล้วค่อยๆ ขยายต่อมาจนในที่สุดก็อนุญาตให้เดินทางไปถึงสุดชายแดนที่ Turtuk คือต้องบอกว่าพื้นที่ในรัฐ Jammu & Kashmir ที่เรามาเที่ยวในครั้งนี้เนี่ยตามชายแดนถือเป็นเขตที่มีปัญหาชายแดนกับเพื่อนบ้านมาก ทั้งจีนและโดยเฉพาะปากีสถาน โดยเฉพาะแถวแคชเมียร์เนี่ยกระทบกระทั่งกันหนักมาก แต่ทางด้านลาดักห์นี้ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่ตลอดพื้นที่แถบนี้ก็จะเต็มไปด้วยทหารครับ ผ่านทางมาก็เจอหลายค่าย ก็เลยเป็นที่มาว่าทำไมทาชิต้องแวะทุกด่าน ก็เพราะต้องไปทำใบผ่านทางให้พวกเรานั่นเอง ในใบขอ permit เรากรอกมาหลายชุดล่วงหน้าแล้ว ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ รูปถ่าย ครบ



ข้างบนนั่นป้อมตำรวจตรวจด่าน ส่วนภาพล่างนี่ห้องส้วมครับ ถือเป็นสุขาที่ไม่สวยแต่ทำเลอลังการเว่อวังดาวล้านดวงมาก 555




Shyok River สายน้ำจากธารน้ำแข็ง
แม่น้ำ Shyok นี่มีความยาวราว 550 กิโลเมตร ละลายมาจากธารน้ำแข็ง Rimo Glacier ไหลมาในแนวตอ.เฉียงใต้ก่อนจะหักลำกลับไหลขึ้นแนว ตต.เฉียงเหนือ ผ่าน Diskit, Hunder, Chalunka, Turtuk แล้วตัดเข้าไปในปากีสถานเป็นบรรจบเข้ากับแม่น้ำสินธุหรือ Indus river แม่น้ำสายสำคัญที่สุดที่หล่อเลี้ยงปากีสถาน โอยๆ ใจจะละลายยไปกับวิวตรงหน้า



ภาพนี้ถ่ายหลังจากผ่านด่าน permit มานิดเดียว




บนเส้นทางสายเปลี่ยวนานน้านก็จะมีรถแล่นสวนมาสักคัน แต่ทาชิพี่แกเป็นนักขับที่ขยันกดแตรมาก ทุกเลี้ยวทุกโค้งแกกดแล่น นั่งมาค่อนวันผมนี้ปวดหูเลย ปรี๊นปรี๊นๆ แน่ะ!



เราผ่านหมู่บ้าน Bogdang ที่ดูจอแจเป็นพิเศษ จริงแล้วที่จอแจเพราะเป็นหมู่บ้านแรกที่ถนนผ่าใจกลางไปเลย หมู่บ้านนี้เขียวชะอุ่มกว่าทุกแห่งที่ผ่านมาแถมมีการทำนาอยู่ด้วยหลายไร่ ทำเลหมู่บ้านอยู่ติดแม่น้ำ เลยได้น้ำท่าสมบูรณ์จาก Shyok นั่นเอง




ตัดข้าม Shyok อีกครั้งช่วงสุดท้าย เพราะ Turtuk อยู่ฟากโน้น ถัดจากนี้ไปก็อีกเพียงสิบกว่าโลจะถึงแล้ว เวลาตอนนี้ก็บ่ายสองแล้ว





ถึงซะที 7 ชั่วโมงกว่าในการเดินทาง นี่ยังไม่นับว่าเดี๋ยวต้องย้อนกลับไป Hunder ซึ่งเราจะนอนกันที่นั่น

TURTUK VILLAGE
elevation: 2,8xx m.

Turtuk เป็นหมู่บ้านประวัติศาสตร์ ครั้งหนึ่งตรงนี้เคยเป็นของปากีสถาน สถานการณ์สู้รบกันกับอินเดียที่ลงเอยด้วยอินเดียมีชัย หมู่บ้านนี้จึงอยู่ใต้การดูแลของอินเดียมานับตั้งแต่ปี 1971 คนที่นี่ส่วนใหญ่ญาติพี่น้องของเค้าก็อยู่ปากีฯ ถ้าเดินทางต่อจากหมู่บ้านนี้ไปอีกเพียงสิบกว่ากิโลก็จะถึงพรมแดนปากีสถาน หมู่บ้านนี้ยังนับเป็นจุดที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลต่ำสุดในทุกที่ทั้งหมดของทริปนี้
ดูเหมือนจะสวยที่สุดด้วยตั้งแต่เดินทางออกมาจากเลห์เมื่อเช้านี้ ต้นไม้เขียวมีให้เห็นเยอะที่สุด มีต้นซากุระที่กำลังออกดอกบานไปทั่วด้วย





ทาชิจอดรถไว้ใต้สะพานแล้วบอกให้พวกเราเดินเที่ยวกันเอง อ่ะเห็นใจ ขับรถมาไกลคงเหนื่อย สะพานนี้ลอยข้ามมาจากเนินเขาฟากโน้น ผ่านลำธารเล็กๆ และลอยข้ามถนนทอดข้ามมาเนินเขาฟากนี้



ทาชิแนะนำให้ข้ามสะพานนี้ไป หมู่บ้านอยู่บนเนิน




ปากทางหมู่บ้านมีซากุระหลายต้น ก็เลยสาละวนกันการถ่ายดอกไม้



เด็กๆ ชาว Turtuk




ดอกซากุระสีขาว สวยมาก






พอขึ้นมาบนเนินก็มองออกไป มุมสูง สวยดี เขียวไปทั่ว นี่เป็นที่แรกในทริปนี้ที่พวกเราพบความเขียวชะอุ่มสดชื่น อย่างนี้ค่อยเหมือนฤดู spring หน่อย






ชาวบ้านกำลังง่วนกับแปลงเกษตรของเค้า ปลูกอะไรผมดูไม่ออก



ถ่ายชาวบ้านเสร็จเงยหน้าขึ้นมองบน เจอสิ่งนี้ ดีต่อใจ




กลับออกจาก Turtuk มุ่งหน้าย้อนทางเก่าสู่ Hunder
เราอยู่ Turtuk ชั่วโมงเดียวก็ต้องเผ่น ไม่มีเวลาเดินเล่นลึกเข้าไปดูหมู่บ้าน ไม่อยากค่ำกลางทาง ต้องย้อนกลับ Hunder อีก 80 โล ขามานี่ 80 โลวิ่งไปสองชั่วโมง ตอนนี้ดูเวลาแล้วน่าจะไปถึง Hunder เกือบๆ หกโมงเย็น ดูตาราง Sunset ในจีพีเอสแล้วน่าจะทันแสงเย็น Golden Hour

ขากลับวิ่งตามแสง หันหลังใต้ตะวัน วิวเลยสวยแจ่มขึ้นสองเท่า





ภาพนี้ตอนขับเฉียดใกล้แม่น้ำมาก กรีดร้องอีกครั้งบอกทาชิจอดดดด ทาชิเริ่มชาชินไปนานแล้ว วิ่งลงไปถ่ายแม่น้ำกัน มือลองแตะน้ำดู เย็นเจี๊ยบ






ถึงแล้ว Hunder ดินแดนแห่งทะเลทรายสีเงิน และขี่อูฐ

HUNDER VILLAGE
elevation: 3,090 m.

11 ชั่วโมงเต็มๆ หากคุณแพลนเดินทางมาบนเส้นทางสายนูบร้าวัลเล่ย์นี้ก็ดูเหมือนที่ฮุนเดอร์นี่แหละที่เหมาะกับการนอนค้างที่สุด ที่อื่นๆ ที่ผ่านมาแทบไม่เห็นมีข้อมูลที่พักนะ แม้แต่ที่เทอร์ทุค นั่นเป็นอีกเหตุผลว่าถ้าจะเที่ยว Turtuk ให้อิ่มกว่านี้ต้องออกจากเลห์แต่เช้า และอย่าเสียเวลาแวะที่ไหนนาน

ภาพภูเขาทรายแอบแสงสีทองของตะวันยามเย็น






สรุปแผนที่และทริป Day3 ให้ดูอีกที เริ่มจากมุมล่างขวาลงมาจาก Khardung La Pass เลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลียบแม่น้ำ Shyok แวะกินข้าวเที่ยงที่ Khalsar แวะถ่ายภาพเล่นริมทางแถว Diskit ขับผ่าน Hunder ไปก่อน ตรงไปปลายทาง Turtuk เที่ยวชั่วโมงนึงแล้วย้อนกลับมานอนเกสเฮ๊าส์ที่ Hunder รวมระยะทางทั้งหมดที่ใช้ไปวันนี้ Leh – Turtuk – Hunder 290 กิโลเมตร






นายทาชิพามาจอดรถตรงนี้ บริเวณที่มีป้ายปักบอกว่าเป็น

Silver Colour Sand Dune

เป็นพื้นที่ที่ทางรัฐ J&K ตั้งใจพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ Eco Friendly Tour บริเวณนี้กิจกรรมยอดนิยมอันดับหนึ่งของนักท่องเที่ยวคือขี่อูฐ

ภูเขายอมหิมะยามนี้ต้องแสงทองสวยจริงๆ อยู่ในโซนหุบเขาเสียดฟ้าแบบนี้ลืมไปได้เลยเรื่องถ่ายพระอาทิตย์แตะขอบฟ้า มีอูฐสองตัวคนขี่มาลิบๆ






ว่าจะลองเช่าอูฐขี่ดูมั่ง แต่ว่าเย็นมากละ เปลี่ยนใจ ดูฝูงอูฐสิยังไม่ตอกบัตรเลิกงานเลย นักท่องเที่ยวในเดือนเมษาจัดว่าเข้าขั้นเบาบางมาก






แสงทองสุดท้ายสาดใส่เทือก Karakoram Range






ต้องขอบอกว่าวิวรอบตัวรวมทั้งบรรยากาศตอนนี้มันช่างดินแดนในฝันจริงๆ แต่ให้มาอยู่ไม่เอานะ ไม่ไหวจะเคลียร์ ถ้าให้มาเที่ยวบ่อยๆ เอา ชอบชอบอาทิตย์ลับฟ้าไปแล้วอากาศเย็นวูบสะท้านทรวงเลย






ไปละครับ หนาว เดินทางต่อเข้าที่พัก อีตาทาชิบอกเกสเฮ๊าส์อยู่ข้างหน้านี้เอง โลกว่าๆ






ถึงแล้ว ที่พักคืนนี้ของเรา ส่วนเกสเฮ๊าส์ในเลห์เราไม่ได้คืนห้องนะครับ เปิดทิ้งไว้แบบนั้นแหละแต่ลดจำนวนห้องลง
Habib Guesthouse
Huder Village, Nubra Valley




สิ้นสุดการเดินทางของวันที่ 3/7 ลงแต่เพียงเท่านี้ พรุ่งนี้ค่อยตื่นแต่เช้ามาสำรวจวิว และโปรแกรมใหญ่ไฮไลค์รอเราอยู่ในวันพรุ่งเช่นกัน นั่นคือ Pangong Lake รอติดตามชมตอนหน้าครับ



… จบตอน 1/2 ...



Create Date : 25 มกราคม 2560
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2560 20:26:00 น.
Counter : 8049 Pageviews.

10 comments
ทริปอเมริกา #2 - ต่อเครื่องที่มะนิลา+ผ่านตม.แบบ fast trackที่นิวยอร์ค ฟ้าใสทะเลคราม
(18 เม.ย. 2567 18:15:13 น.)
สงกรานต์หรรษา จันทราน็อคเทิร์น
(18 เม.ย. 2567 11:24:41 น.)
กงสุลใหญ่สมใจ ตะเภาพงษ์“ร่วมฉลองสงกรานต์ปีใหม่ไทยในไทม์สแควร์” newyorknurse
(17 เม.ย. 2567 02:18:24 น.)
ต้นไม้ใบหญ้าเริ่มฟื้นคืนชีพ สวยสุดซอย
(12 เม.ย. 2567 14:13:40 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณกะว่าก๋า, คุณหอมกร, คุณชีริว, คุณschnuggy, คุณtoor36, คุณกาบริเอล

  
โอ้โห..ขอมาเจิมก่อนนะคะ รูปสวยมากๆ เยอะด้วย ขอค่อยๆ ดูอย่างสดชื่น+หนาวๆ
โดย: kae+aoe วันที่: 26 มกราคม 2560 เวลา:12:50:59 น.
  
ประทับใจตั้งแต่บนเตรื่องเลยนะคะ ดีจังเลย

การกล่าวต้อนรับที่น่ากลัวมากกว่าน่าตื่นเต้นนะคะ 555 ลานจอดเครื่องบินสวยจังวิวภูเขาเลย

วันแรกก็อุส่าห์นอนพักแล้วได้ไปเที่ยว วันที่ 2 สงสารพี่หยีมากเลย ทั้งเบียร์และบุหรี่นะคะ

ไปคราวหน้า อย่าลืมเช่ารถสีแดงนะคะ

ภูเขา แม่น้ำ ต้นไม้ สวยมากๆ ซากุระก็มีให้ดู เป็นการเดินทางที่น่าตื่นตาตื่นใจมากๆ ค่ะ สนุกและประทับใจไปด้วยจริงๆ ดีใจแทนพี่หยีกับเพื่อนๆ ที่ได้ไปยืนอยู่จุดนั้นนะคะ ได้ถ่ายรูปที่นั่นคงมีความสุขมากๆ เลย ขอให้ได้ไปเที่ยวสนุกๆ แบบนี้อีกเยอะๆ นะคะ รอติดตามค่ะ
โดย: kae+aoe วันที่: 26 มกราคม 2560 เวลา:13:27:10 น.
  
ประทับใจตั้งแต่ทาชิแล้วล่ะครับพี่หยี
สุดยอดมากๆ

อยากไปยืนอยู่ตรงนั้นด้วย
แต่คงยากสำหรับผม
มาดามไม่ไปแน่เมืองนี้ 555


ภาพสวยจริงๆครับพี่
ถ้ามีคำไหนที่ดีกว่า "ยอดเยี่ยม" ก็จะใช้คำนั้น

ขนาดพี่หยีเตรียมตัวดี มีข้อมูลแน่นปึ๊ก
ยังป่วย
ผมว่าผมไปคงร่อแร่แน่ๆครับ 555
แค่เดินกิ่วแม่ปานตอนนี้หัวใจยังเต้นตุ๊บๆๆๆๆ

โหวต Travel Blog ครับพี่


ปล. ผมกลัวผีมาก่อนเช่นกัน
แล้วช่วงนึงในชีวิตผมนั่งดูคลิปอุบัติเหตุ ฆาตกรรม
ดูภาพคนตายที่ว่าสยดสยอง นั่งดูเป็นเดือนๆเลยครับพี่
เพื่อพิจารณาว่าสุดท้ายคนเราตาบไปก็เป็นแบบนี้ทุกคน
สวยหล่อแค่ไหนก็ตาย ความกลัวผีก็หายไปได้เยอะจริงๆครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 26 มกราคม 2560 เวลา:13:29:13 น.
  
สวยวัวตายควายล้ม ภาพเปิดอลังการดาวล้านดวงมากมาย หันกล้องไปทางไหนก็สวย รออ่านตอน2 นะค้าาาา
โดย: Lingnoi ^^" IP: 188.165.240.145 วันที่: 26 มกราคม 2560 เวลา:16:44:37 น.
  

อรุณสวัสดิ์ครับพี่หยี

ภาพชุดนี้
ยิ่งดู ยิ่งสวยจริงๆครับ


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 27 มกราคม 2560 เวลา:6:18:25 น.
  
ขอบคุณที่แบ่งปัน
โดย: Kavanich96 วันที่: 28 มกราคม 2560 เวลา:3:30:15 น.
  
น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา Travel Blog ดู Blog
ข้อมูลเยอะมาก ภาพสวยมากคุณหยี

โดย: หอมกร วันที่: 28 มกราคม 2560 เวลา:22:05:54 น.
  
ที่นี่อีกไม่นานน่าจะบูมนะครับ พี่หยีมาบุกเบิกก่อน
แต่ทำไมบะหมี่ไทยต้องเอาไปปรับรสชาติฟะ? คิดว่าเรากินรสคล้ายๆอินเดียซะอีก
แคชเมียร์ดูจากแผนที่แล้วมันไกลจากส่วนอื่นของอินเดียแบบสุดๆไปเลยนะเนี่ย มันน่าจะรวมกับทิเบตตั้งประเทศใหม่ไปเลย
altitude sickness ถ้าเป็นหนัก ให้รีบลงจากที่สูง มาถึงหลังคาโลกแบบนี้จะลงยังไงฟะ? กระโดดเหว?
มุมที่ถ่ายในแท็กซี่ก็ช่างเหมาะเจาะ ทั้งที่ห้อยหน้ารถ มุมโค้ง เจดีย์ องค์ประกอบภาพเป๊ะแบบไม่ได้จัดฉาก จังหวะเยี่ยมมาก
อืม....นี่คือความสามารถมองภาพในอนาคตล่วงหน้า 2 วินาที อันเป็นความสามารถของช่างกล้องระดับเทพเพียงไม่กี่คนในโลกสินะ!

หมดช่วงเวลาโฆษณา....อ่านต่อๆ

บ้านเมืองเขาดูสะอาดกว่าอินเดียปกติหรือเปล่าครับ? อย่างน้อยก็ไม่ต้องหลบขี้คนกลางถนนเนอะ
ชอบพระราชวังเลห์ วังร้างๆแบบนี้แหละคลาสสิคดี ของไทยวังร้างๆก็เหลือแต่ฐานซะงั้น
วิวเมืองจากมุมสูงก็สวยงามเงียบสงบ วิวเมืองที่ยังไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเข้าไปก็แจ่มแบบนี้เอง
ภาพพี่หยียืนหน้าประตูก็โคตรมุมเท่เลยอะ ส่วนนายแบบเหมือนโจรมุมตึกไปนิด //โดนขากล้องตบ
ตาปิดไปข้างนึงนี่ไม่ใช่โพสต์ประจำตัวของลูกสาวพี่ซังใช่ป่ะครับ
และขอยืนยันอีกครั้งว่าไข่ดาวนั้นน่ากิน ♥

วันที่สองถึงขั้นต้องนอนให้อ๊อก ยังดีที่ถึงมือหมอนะครับ แต่ชาวไซย่าตอนฟื้นจากการบาดเจ็บจะแข็งแกร่งขึ้นไปอีกแน่นอน
ส่วนผัดไทยไม่ได้น่ากินเลย สงสัยร้านนี้อาหารเจ
ความสูง 5300 เมตร แค่นึกก็มึนหัวแล้วครับ โลกนี้ก็ช่างมีที่ๆอยู่ได้สูงแบบนั้น แล้วคนก็ยังจะดันขึ้นไปอยู่
พี่หยีถ่ายลาเห็นขนละเอียดเลย มันคงยืนนิ่งมาก และโชคดีที่มันไม่กินกล้องเข้าไป
วัวแถวอินเดียเขาไม่เหลาเขาเนอะ ยิ่งยาวยิ่งสวย ไม่รู้ไปทิ่มใครตายมั่งป่าว

หมู่บ้าน Turtuk เห็นคำว่าประวัติศาสตร์แล้วผมตาเบิกโพลงเลย ....แต่พอเป็นประวัติศาสตร์การสู้รบยุคใหม่แล้วผมเฉยๆ โด่ว แต่ชอบภาพเด็กจูงมือกันนะ เดี๋ยวก็มีคนก้อปไปแปะข้อความตามเว็บคำคม
Silver Colour Sand Dune สวยระดับเดอะเบสต์! (เอ๊ะ ในกระทู้พันทิปมีอันนี้หรือยังนะ?) อย่างกับโปสเตอร์หนังเลยครับ

ตอนหนึ่งสามวันยังจัดเต็มขนาดนี้ ตอนสองสี่วันจะขนาดไหน!
โดย: ชีริว วันที่: 29 มกราคม 2560 เวลา:21:42:56 น.
  
เที่ยวทั้งทีก็ต้องอยากเจออากาศเย็น เอาให้มันแตกต่างกับบ้านเราหน่อย เหนือระดับน้ำทะเล 4,350 เมตร แบบนี้อากาศเบาบางมากนะครับ เดินหน่อยๆ ก็หอบได้ง่ายๆ แล้ว

รถที่นั่งมีพระของเค้าวางอยู่หน้ารถด้วย เจ้าของก็แนะนำได้ดีให้พักก่อนเพื่อปรับร่างกาย ตอนผมไปอยู่จีนมีแค่คำแนะนำว่าอยู่สูงจากระดับน้ำทะเล ที่นั่นแค่ เกือบ 2,000 เมตรเท่านั้น แต่จำได้ว่าวันแรกทั้งๆ ที่เดินไม่เยอะ แต่

เหนื่อยมาก และง่วงมากด้วย

บ้านเมืองดูแล้ง สีกลมกลืนกันไปหมด ยิ่งฟ้าปิดยิ่งดูแล้งเข้าไปอีก ภาพเจดีย์ ถ้าไม่บอกว่ามีเจดีย์ อาจมองไม่เห็นครับ ไม่ได้สังเกต

อาหารถ้าร้อนหน่อยก็พอทานได้แหละครับ

แม่น้ำสองสีจริงๆ ถือเป็นความสวยงามของธรรมชาติเลย ถึงขนาดต้องหาหมอเลยทีเดียว ตอนแรกผมนึกว่าเฮียจะไหว แต่ไม่ไหวก็คือไม่ไหวล่ะนะ

ความสูงค่อยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย แต่ดีแล้วที่ฟ้าเปิด ถึงจะแดดแรงก็ตาม นั่นป้อมตำรวจรึนั่นดูเรียบง่ายเกินไปแล้ว ห้องน้ำด้วย

พี่หยีไปหาหมอค่าใช้จ่ายเยอะมั้ยครับ ตอนไปเที่ยวผมไม่เคยป่วยเลยน่ะ พวกต่างประเทศหลายๆ ที่ไปหาหมอค่าหมอที่พูดภาษาอังกฤษได้นี่แพงมากเลย
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 31 มกราคม 2560 เวลา:20:41:43 น.
  
ข้อมูลดีมากๆเลยคะ
ละเอียด ครบถ้วน
เมษานี้จะตามรอยนะคะ ^^
โดย: LifeBrary IP: 115.87.59.204 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:16:44:28 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Hyee.BlogGang.com

น้ำ-ฟ้า-ป่า-เขา
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 186 คน [?]

บทความทั้งหมด