ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคไตรมาสที่ 2 และแนวโนมไตรมาสที่ 3 และตลอดป 2550
ภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มไตรมาสที่ 3 และตลอดปี 2550

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับสำนักการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง

สถานการณ์เศรษฐกิจภูมิภาคไตรมาสที่ 2 ปี 2550
สถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ของปี 2550 ยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาด้านการเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ รวมทั้งการขาดความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามเมื่อทำการพิจารณาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อแยกภูมิภาคเป็นดังนี้

ภาคเหนือ
ภาวะเศรษฐกิจชองภาคเหนือ มีอัตราการชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาค รวมทั้งการบริโภคในภูมิภาคที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ทางด้านของรายได้ภาคเกษตรกรรมของภาคเหนือยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลมาจากระดับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับที่สูง นอกจากนี้การเบิกจ่าย งบประมาณของภาครัฐที่เร่งตัวขึ้น

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยเป็นผลมาจาก ผลผลิตเกษตร ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดลดลง ถึงแม้ว่าระดับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่จะทรงตัวสูงก็ตาม รวมทั้งอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลง นอกจากนั้นยังคงมีการชะลอตัวลงของการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ผ่านมานั้น นักลงทุนบางรายให้ความสนใจกับการผลิตพลังงานทดแทน ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวช่วยให้การลงทุนเพิ่มขึ้นได้

ภาคกลาง
ภาวะเศรษฐกิจของภาคกลาง ยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัจจัยสำคัญ คือ อัตราค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ระดับราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวสูงยังคงเป็นปัญหาทางด้านต้นทุนของผู้ประกอบการ ส่วนทางด้านภาคเกษตรกรรมชะลอตัวลงเช่นกัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากระดับผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง ถึงแม้ระดับราคาจะทรงตัวสูงก็ตาม ส่วนทางด้านการบริโภคและการลงทุนก็ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน ตามสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ

ภาคใต้
ภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้ในไตรมาสที่ 2 ยังคงมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่มูลค่าผลผลิตทางด้านภาคการเกษตรโดยเฉพาะยางพารามีแนวโน้มของการปรับตัวลดลง ตามระดับราคายางพาราที่ลดลง ส่งผลให้ระดับรายได้ของเกษตรกรภาคใต้ปรับตัวลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวของภูมิภาคยังคงชะลอตัว เนื่องจากเป็นนอกฤดูกาลท่องเที่ยว นอกจากนี้สถานการณ์ทางด้านอุปสงค์ของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของการบริโภคของภาคเอกชน การลงทุน ที่ยังคงมีแนวโน้มของการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

กรุงเทพและปริมณฑล
ภาวะเศรษฐกิจของกรุงเทพและปริมณฑล ไตรมาสที่ 2 ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากการชะลอตัวลงในภาคบริการและการท่องเที่ยว รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคการบริโภคและการลงทุน โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของเขตกรุงเทพและปริมณฑลชะลอตัวลงได้แก่ สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง ระดับราคาน้ำมันที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น

ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2
จากการสอบถามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค จากสำนักงานคลังจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานในการรวบรวมและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด เป็นดังนี้
ปัจจัยบวก ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค

1. อัตราเงินเฟ้อในแต่ละภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
2. อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวลดลงอีกประมาณร้อยละ 0.5-0.75
3. ระดับราคาผลผลิตสินค้าเกษตรยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลให้มูลค่าและระดับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
4. การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณโดยเฉพาะงบทางด้านการลงทุน
ส่วนปัจจัยบวกด้านต่างในแต่ละภูมิภาค

ปัจจัยลบที่โดดเด่นในทุกภูมิภาคไตรมาสที่ 2 ได้แก่
1. สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ หรือไม่มีความแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันจะดำเนินการให้มีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้หลายฝ่ายมีการจับตาว่าจะมีการเลือกตั้งดังกล่าวหรือไม่
2. ระดับราคาน้ำมันทรงตัว และมีเสถียรภาพ ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 60-65 เหรียญต่อบาร์เรล
3. ระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกประสบกับปัญหาในด้านของกำไร ที่ได้รับ
4. สถานการณ์ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคในภูมิภาคยังคงมีสัญญาณของการชะลอตัวลง ตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงชะลอตัวลง

ผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจภูมิภาค
จากการสอบถามคลังจังหวัดซึ่งเป็นผู้เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัด 75 จังหวัด ทั่วประเทศ ถึงการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจในด้านของการบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายของภาครัฐ และการจ้างงานเป็นดังนี้

1. การบริโภค
จากการสอบถามจังหวัดทุกจังหวัด โดยทำการพิจารณาแยกเป็นภูมิภาคนั้น จะพบว่า กรุงเทพและปริมณฑลเห็นว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ประกอบกับประชาชนยังคงขาดความเชื่อมั่น ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ เชื่อว่าการบริโภคน่าจะเริ่มฟื้นในไตรมาสที่ 4 ทั้งนี้เนื่องจากการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลเป็นสำคัญ ส่วนภาคใต้นั้น สถานการณ์การบริโภคนั้น เริ่มมีการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 (ตารางที่ 2)

2. การลงทุน
จากการสอบถามจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการลงทุนของภาคเอกชน โดยทำการพิจารณาแยกเป็นภูมิภาคนั้น จะพบว่า สถนการณ์ทางด้านการลงทุนนั้น ในทุกภูมิภาคเห็นว่าในปี 2550 นั้น ยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ความไม่ชัดเจนทางด้านการเมือง เป็นสำคัญ

3. การลงทุนของภาครัฐบาล
จากการสอบถามจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับการลงทุนของภาครัฐบาล โดยทำการพิจารณาแยกเป็นภูมิภาคนั้น จะพบว่า การลงทุนของภาครัฐบาลยังคงมีแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3/50 โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่รัฐบาลให้นโยบายในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบกับงบประมาณต่อเนื่องที่ผูกพัน ทำให้การลงทุนของภาครัฐใน 3 ภูมิภาคดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่สูง ส่วนกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้ง ภาคกลางนั้นมีแนวโน้มชะลอตัวและทรงตัวอยู่ในระดับเดิม ทั้งนี้เนื่องจากเป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนงบประมาณประจำปี

4. การใช้จ่ายภาครัฐ
การใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าการใช้จ่ายของภาครัฐ เมื่อทำการแยกพิจารณาตามภูมิภาค แล้วพบว่า การใช้จ่ายนั้นยังคงมีอัตราการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐต้องการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อที่จะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าจะเป็นการเปลี่ยนถ่ายช่วงปีงบประมาณก็ตาม

5. การจ้างงาน
การจ้างงาน คาดว่าการจ้างงาน เมื่อทำการแยกพิจารณาตามภูมิภาค แล้วพบว่า ส่วนใหญ่ยังคงเชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 50 นั้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ส่วนภูมิภาคอื่นๆ นั้นยังคงมีการจ้างงานในระดับเดิมค่อนข้างสูง และน้อยลงในหลายๆ ภูมิภาค ดังนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การจ้างงานจึงยังคงไม่มีปัญหา ณ ขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามภูมิภาคที่มีแนวโน้มของการลดการจ้างงานลงได้แก่ภาคกลาง ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ของความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆ เริ่มที่จะชะลอตัวลง ตามสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจ และความมั่นใจของนักลงทุนที่จะทำการลงทุน และขยายการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ทัศนะต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค ในทัศนะของคลังจังหวัด ผู้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจังหวัด พบว่า
- กรุงเทพและปริมณฑล นั้น เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคน่าจะมีการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2551 ภายหลังจากการที่การเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจน
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นั้น คาดว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นกลับมาในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 50
- ภาคกลาง นั้น คาดว่าภาวะเศรษฐกิจนั้นน่าจะฟื้นไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2551 แต่ก็มีบางส่วนที่เชื่อว่าการฟื้นภาวะเศรษฐกิจนั้นน่าจะฟื้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2550
- ภาคเหนือ ส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจน่าจะฟื้นกลับมาในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2551 ภายหลังจากที่มีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจน เช่นเดียวกับ กรุงเทพและปริมณฑล
- ภาคใต้ ส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2550

สรุปแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคปี 2550
จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและปัจจัยเฉพาะแต่ละภูมิภาคในปี 2550 อาทิเช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและเศรษฐกิจชะลอตัวลง ส่งผลให้สินค้าส่งออกของแต่ละภูมิภาคชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในแต่ละภูมิภาค ชะลอตัวลงส่งผลให้กำลังซื้อในแต่ละภูมิภาคชะลอตัวลง การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในแต่ละภูมิภาคชะลอตัวลง ทำให้เศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคในปี 2550 ชะลอลงตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทย
จากการที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ปรับเพิ่มประมาณการทางเศรษฐกิจสูงขึ้นจากระดับ 3.8% (หรือขยายตัวอยู่ในช่วง 3.5-4.0%) มาอยู่ที่ระดับ 4.1% (หรือขยายตัวอยู่ในช่วง 3.8-4.3%) ส่งผลให้ศูนย์พยากรณ์ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้มีการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละภูมิภาคใหม่ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

แนวโน้มเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.4-3.9% โดยจะขยายตัวประมาณ 3.7% ทั้งนี้ ภาคการเกษตรยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากราคาสินค้าการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี เศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวประมาณ 3.46% ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวประมาณ 3.63%
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคเหนือ

 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.7-4.2% โดยจะขยายตัวประมาณ 3.9% ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ ภาคการเกษตรยังคงเป็นภาคเศรษฐกิจหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาคเหนือ เนื่องจากราคาสินค้าการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นเศรษฐกิจหลักของภาคเหนือ ยังขยายตัวในระดับที่ดีในปีนี้ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของภาคเหนือในช่วงไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวประมาณ 3.84% ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ที่ขยายตัวประมาณ 3.57%
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้

 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 2.9-3.4% โดยจะขยายตัวประมาณ 3.3% ซึ่งถือว่าภูมิภาคที่มีอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดของประเทศ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับผลผลิตทางเกษตรมีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง เนื่องจากกำลังซื้อภายในภูมิภาคลดลง อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวของภาคใต้ตอนบนและแหล่งท่องเที่ยวฝั่งอันดามัน ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณตลอดจนการใช้จ่ายเงินของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงมากนัก

 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยงในภาคใต้ตอนล่างชะลอตัวลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจเนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงชะลอการลงทุน
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคกลาง

 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจภาคกลางในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 4.8-5.3% โดยจะขยายตัวประมาณ 5.0% เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในภาคกลางจะได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันดีเซลที่ไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากนัก อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ภาคการเกษตรของภาคกลางจะได้รับผลประโยชน์จากการที่ราคาสินค้าการเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี
แนวโน้มเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพและปริมณฑล

 แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจกรุงเทพและปริมณฑลในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 3.8-4.3% โดยจะขยายตัวประมาณ 4.0% ซึ่งเป็นการขยายตัวในระดับเดียวกันกับเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพและปริมณฑลจะได้รับผลประโยชน์จากราคาน้ำมันดีเซลที่ไม่มีการปรับตัวสูงขึ้นมากนัก อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ในระดับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากการที่สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพมากนักและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังคงทรงตัวในระดับต่ำ จะส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอย การลงทุน และการท่องเที่ยวของกรุงเทพและปริมณฑลชะลอตัวลง ทำให้ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง



Create Date : 08 ตุลาคม 2550
Last Update : 8 ตุลาคม 2550 15:37:35 น.
Counter : 345 Pageviews.

2 comments
  



สุขสันต์วันเกิดครับ มีความสุขมากๆครับ



โดย: พฤกษาริมน้ำ วันที่: 31 มีนาคม 2551 เวลา:6:45:59 น.
  
โดย: เพราะฉันห่างไกล วันที่: 1 เมษายน 2551 เวลา:0:01:58 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Dflymag.BlogGang.com

dFLY
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]