ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2550
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2550

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ในเดือนสิงหาคม 2550 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันยังคงปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการว่างงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงและราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศยังคงทรงตัวในระดับสูง และความกังวลเกี่ยวกับปัญหาซับไพร์มของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากผลการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังไม่ดีนัก แม้ว่าปัจจัยบวกทางการเมืองที่เริ่มเกิดขึ้น แต่ยังไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจได้มากนักในระยะนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนสิงหาคมนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติที่ 100 ทุกรายการแสดงว่าในภาพรวมผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นและยังคงขาดความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 69.5 70.5 และ 87.1 ตามลำดับ เทียบกับดัชนีในเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับ 70.0 70.8 และ 86.6 ตามลำดับ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงจาก 75.8 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 75.7 ในเดือนสิงหาคม สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2550 มีดังนี้

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 69.5 เป็นการปรับตัวต่ำกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 40 โดยดัชนีมีค่าอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นมา (โดยในเดือนมกราคม 2545 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 66.4) ดัชนีในเดือนนี้ปรับตัวลดลงเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 70.0 การที่ดัชนียังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ในภาพรวมผู้บริโภคยังคงขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบันปรับตัวลดลงสู่ระดับ 73.8 เป็นการปรับตัวต่ำกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 42 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 61 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2545 (โดยในเดือนกรกฎาคม 2545 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 70.4) เทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ดัชนีอยู่ในระดับประมาณ 73.8 การที่ดัชนีมีค่าอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 อย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่าโดยภาพรวมแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความรู้สึกว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงชะลอตัวลง ซึ่งจะทำให้การบริโภคของประชาชนในช่วงนี้จะขยายตัวไม่มากนัก
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือนสิงหาคมปรับตัวดีขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาสู่ระดับ 66.6 (เป็นการปรับตัวต่ำกว่าระดับ 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 39) เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 66.1 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเริ่มปรับตัวดีขึ้นแสดงว่าผู้บริโภคมีความหวังว่า เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น ภายหลังการเลือกตั้ง
จะได้ว่าเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรายไตรมาสของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจทุกรายการ มีสัญญาณปรับตัวลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 โดยมีค่าเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากปี 2549 อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมใน 2 ช่วงเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ ยังมีค่าต่ำสุดในรอบ 23 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2545 (โดยไตรมาสที่ 4 ของปี 2544 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 63.4) สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจยังปรับตัวในทิศทางขาลง และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 อย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 43 โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 70.5 (เป็นค่าต่ำสุดในรอบ 63 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2545 โดยในเดือนพฤษภาคม 2545 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 69.0) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 70.8 การที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 อย่างต่อเนื่องแสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข่าวการปิดกิจการของสถานประกอบการในระยะหลัง ทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการว่างงานมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำในปัจจุบันของเดือนสิงหาคมอยู่ที่ระดับประมาณ 71.5 (เป็นค่าต่ำสุดในรอบ 52 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2546 โดยในเดือนเมษายน 2546 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 70.1) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่ดัชนีอยู่ในระดับประมาณ 72.4 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำในปัจจุบันเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคเห็นว่าโอกาสในการหางานทำในปัจจุบันยังไม่ดีเท่าที่ควร
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำในอนาคต (ใน 6 เดือนข้างหน้า) ของเดือนสิงหาคมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 40 โดยอยู่ในระดับ 69.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 69.2 การที่ดัชนีทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจ ที่ยังมีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคคาดว่าสถานการณ์การจ้างงานในอนาคตน่าจะเริ่มดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ
จะสังเกตได้ว่าเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรายไตรมาสของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ทุกรายการมีสัญญาณ ปรับตัวลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 โดยมีค่าเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากปี 2549 อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มีค่าต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งของปี 2546 (โดยไตรมาสที่ 2ของปี 2545 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.2) สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำยังปรับตัวในทิศทางขาลงเช่นเดียวกับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับประมาณ 87.1 (อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 19) ปรับดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่อยู่ในระดับประมาณ 86.6 การที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 75.9 ยังคงเห็นว่ารายได้ของตนในอนาคตจะไม่ลดลง แสดงว่า ผู้บริโภคยังมีความมั่นใจในรายได้ในอนาคตของตนในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเริ่มปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของดัชนี ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับสถานการณ์ ในอนาคตทุกรายการแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเมื่อทราบกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน ซึ่งอาจทำให้การจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ หากราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับนี้อย่างต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยในเชิงลบโดยเฉพาะปัจจัยทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น และการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐบาลเห็นผลเป็นรูปธรรม

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2550
จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2550 เมื่อนำดัชนีประเภทต่างๆ มาคำนวณโดยแบ่งตามระยะเวลาของการวิเคราะห์ ผลปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 73.1 ในเดือนกรกฎาคม เป็นระดับ 71.9 ในเดือนสิงหาคม (อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 44 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 57 เดือนนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2545 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2545 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 70.5) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 74.0 ในเดือนกรกฎาคม เป็นระดับ 74.4 ในเดือนสิงหาคม (อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 37) ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 75.8 เป็น 75.7 ในเดือนสิงหาคม (อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 38 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 67 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 โดยในเดือนมกราคม 2545 ดัชนีมีค่าเท่ากับ 72.7)
จะสังเกตได้ว่าเมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรายไตรมาสของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการมีสัญญาณปรับตัวลดลงในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2550 โดยมีค่าเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากปีที่แล้ว นอกจากนี้ค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้มีค่าต่ำสุดในรอบ 21 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2545 (โดยไตรมาสแรกของปี 2545 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 75.9) สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังปรับตัวลดลงอยู่
สำหรับความมั่นใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากระดับ 73.1 ในเดือนกรกฎาคม มาสู่ระดับ 71.9 ในเดือนสิงหาคม แสดงว่าผู้บริโภคยังเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดี ขณะเดียวกันการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ในอนาคตกลับปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งเนื่องจาก การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการลงประชามติแล้วทำให้ผู้บริโภคเริ่มกลับมา มีความหวังในสถานการณ์ที่จะดีขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต (ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 74.0 ในเดือนกรกฎาคม สู่ระดับ 74.4 ในเดือนสิงหาคม
เมื่อพิจารณาจากผู้ตอบแบบสอบถามในเดือนนี้ปัจจัยด้านการเมืองยังมีผลกกระทบต่อความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคในเชิงลบน้อยลงมาก เนื่องจากทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 60.1% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตอบว่าปัจจัยทางการเมืองมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเชิงลบลดลงในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าความกังวลทางการเมืองคลี่คลายลง แต่ผู้บริโภคมีความคิดเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความน่ากังวลอยู่
ขณะเดียวกัน ระดับราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงในระยะนี้ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอันดับสูงสุด อย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของผู้บริโภค โดยผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 87.7% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดตอบว่าปัจจัยด้านราคาน้ำมันมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในเชิงลบ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดทิศทางการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่น ของผู้บริโภคในระยะนี้
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ยังคงคาดการณ์ว่าการบริโภคจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในไตรมาสสามของปี 2550 เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการยังคงทรงตัวต่ำกว่าระดับปกติ (ที่ระดับ 100) ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจคาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการจับจ่ายใช้สอยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และอาจเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาสที่สี่ของปีนี้ หากสถานการณ์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น


ผลการสำรวจภาวะการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2550
จากผลของการสำรวจความเหมาะสมของผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเหมาะสมของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับเดือนที่มา ดัชนีทุกรายการยังคงมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนนี้ที่ยังมีทิศทางปรับตัวลดลง และยังคงมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 สำหรับรายละเอียดของการปรับตัวของดัชนีต่างๆ ในเดือนสิงหาคม 2550 มีดังนี้

1. ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบันอยู่ในระดับ 55.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 56.1 การที่ค่าดัชนียังคงมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าผู้บริโภคยังคงมีความเห็นว่าในเดือนสิงหาคมยังเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่

2. ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา โดยมีค่าประมาณ 68.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 69.2 การที่ค่าดัชนียังคงมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าในเดือนสิงหาคมยังคงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่

3. ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในปัจจุบันปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยมีค่าประมาณ 60.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 60.9 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าในเดือนสิงหาคมยังคงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว

4. ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs)
ในเดือนสิงหาคม 2550 ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจในปัจจุบันปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมาโดยมีค่าประมาณ 73.2 เทียบกับเดือนกรกฎาคมที่อยู่ในระดับประมาณ 74.1 การที่ค่าดัชนีมีค่าต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคมีความเห็นว่าในเดือนสิงหาคมยังคงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ



Create Date : 08 ตุลาคม 2550
Last Update : 8 ตุลาคม 2550 15:35:25 น.
Counter : 357 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Dflymag.BlogGang.com

dFLY
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]