ทนายอ้วนชวนเที่ยว - วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม ตอนที่ 3 - วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม
สถานที่ท่องเที่ยว : วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม, นครปฐม Thailand
พิกัด GPS : 13° 49' 11.03" N 100° 3' 36.28" E

 






บล็อก  “ท่องเที่ยวไทย”  ในปีนี้ก็ยังเป็นการนำสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้เคยไปเที่ยวมามาโพสเหมือนปีที่แล้วครับ  เนื่องจากเจ้าของบล็อกกักตัวเองอยู่กับบ้านมาเป็นปีแล้วครับ  ไม่ออกนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น
 




 
ในบล็อก 
 “ท่องเที่ยวไทย”   2 – 3  บล็อก  ต่อไปนี้  เจ้าของบล็อกจะพาทุกท่านไปเที่ยวที่วัดพระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม  ทุกๆท่านคงทราบกันอยู่ดีแล้วองค์พระปฐมเจดีย์มีความเก่าแก่  และมีความเป็นมายาวนาน  ทั้งวัดพระปฐมเจดีย์ก็มีความสำคัญ  มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย  เจ้าของบล็อกจึงอยากแบ่งบล็อกท่องเที่ยววัดพระปฐมเจดีย์เป็นซีรี่ย์ย่อยๆ  3 – 4 ตอน  เพื่อไม่ให้มีเนื้อหาเยิ่นยาวเกินไปครับ
 






 

 
วัดพระปฐมเจดีย์  นครปฐม  ตอนที่ 3 


วัดพระปฐมเจดีย์  นครปฐม

 
 






 
ในบล็อก 
 “ท่องเที่ยวไทย”   2  บล็อกที่แล้วได้พาไปชมพระปฐมเจดีย์  เจดีย์ที่ใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย  ที่ตั้งอยู่เป็นศูนย์กลางของวัดพระปฐมเจดีย์  และ  พระร่วงโรจน์ฤทธิ์  พระพุทธรูปที่สามรถเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครปฐม  มาแล้วนะครับ  ครับ  วัดพระปฐมเจดีย์  ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกมากมาย  ในบล็อกนี้จะพาเที่ยวชมสถานที่สำคัญในวัดพระปฐมเจดีย์ให้ทั่วๆเลยครับ
 




 
ไม่รู้ว่าคนอื่นๆจะเป็นเหมือนเจ้าของบล็อกหรือเปล่า  ที่เวลามาไหว้พระปฐมเจดีย์จะชอบจอดรถที่ลานทางด้านทิศใต้ของวัดพระปฐมเจดีย์ 
 
 





ถ้าจะพูดให้ดูหรูหราซะหน่อยก็จะพูดว่าจะได้ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ๊สำคัญสิ่งหนึ่งของวัดพระปฐมเจดีย์ได้สะดวกๆ  .....  แต่ถ้าพูดความจริงก็คือ  ....  จอดรถทางด้านทิศใต้จะสะดวกมาก  เมื่อไหว้พระเสร็จแล้วก็จะได้ไปเดินตลาดโต้รุ่งหลังองค์พระฯ  หาของอร่อยๆกิน  แล้วเดินกลับมาที่รถที่จอดว้ทางทิศใต้  ไม่ไกลกันเลยครับ  ฮ่าๆๆๆๆๆๆ
 
 




 

วัดพระปฐมเจดีย์  มีผังของวัดค่อนต่างแตกต่างไปจากการวางผังวัดแบบจารีตนะครับ  คือแทนที่จะมี  พระอุโบสถอยู่ด้านหน้าสุด  มีพระเจดีย์อยู่ด้านหลังพระอุโบสถหรือพระวิหาร  เหมือนวัดทั่วๆไป  วัดพระปฐมเจดีย์จะมี  พระปฐมเจดีย์  เป็นศูนย์กลางของวัด  แล้วล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วสูงใหญ่และพระวิหารทิศ  4  หลัง  4  ทิศ  และมีกำแพงและอาคารต่างๆ  สร้างไล่ลงมาเป็นชั้นๆ  เพราะการสร้างพระปฐมเจดีย์ที่เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่มากๆ  จะต้องมีวางรากฐานให้แน่นหนา  โดยการใช้ซุงต้นใหญ่ๆ  เป็นร้อยๆต้น  มัดรวมกันด้วยโซ่เส้นยักษ์  แล้วมีการพูนเนินดินให้สูงขึ้นไปมาก  เพื่อป้องกันมิให้องค์พระปฐมเจดีย์ทลายลงมา  การขึ้นไปนมัสการพระปฐมเจดีย์จึงดูคล้ายการขึ้นภูเขาลูกเตี้ยๆ  มีบันไดเดินขึ้นไปหลายชั้นกว่าจะถึงองค์พระปฐมเจดีย์  อาคารต่างๆทีทมีการใช้งานอยู่ในพื้นที่วัดก็จะสร้างอยู่ตามชั้นต่างๆของกำแพงที่ก่อขึ้นเป็นชั้นๆ  รวมทั้งพระอุโบสถ  ศาลาการเปรียญ  และ  หอระฆัง 
 
 
 
 
 
 
 

วิหารทิศ  สร้างขึ้นพร้อมๆกับการบูรณะปฎิสังขรณ์  พระปฐมเจดีย์  โดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   
 

 
วิหารทิศ  ด้านทิศตะวันออก  คือ  พระวิหารหลวง 
 
 
วิหารทิศด้านทิศใต้  คือ พระวิหารปัญจวัคคีย์ 
 
 
วิหารทิศด้านทิศตะวันตก  คือ  พระวิหารพระพุทธไสยาสน์ 
 
  
และวิหารทิศด้านทิศเหนือ  คือ  วิหารพระประสูติ 
 
 


 
เมื่อครั้งแรกสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  สร้างเป็นพระวิหารปิด  คือ  เหมือนกับวิหารทั่วไป  มีประตูสำหรับ  ปิด – เปิด  มีหน้าต่างเป็นช่องรับแสงกับระบายอากาศ  วิหารทั้ง  4  ทิศ  มีการแบ่งออกเป็น  2  ห้อง  คือห้องด้านนอกและห้องด้านในทุกหลัง
 
 


 
เราจะเริ่มจากพระวิหารทิศทางด้านทิศใต้ก่อนเลยนะครับ 
 
 



 
ที่ลานชั้นพักตรงหน้าพระวิหารทิศมี 
พระพุทธรูปศิลาขาว  ศิลปะทวาราวดี  ปางแสดงธรรม  ประทับห้อยพระบาท  ประดิษฐานอยู่  มีพระนามว่า  พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร  หรือเรียกพระนามสั้นๆ ว่า  พระพุทธนรเชษฐ์ฯ  หรือ  หลวงพ่อขาว  พระพุทธรูปองค์นี้สถาปนา  (บูรณะ)  ขึ้นจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูป  (ที่สัณนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรม  ประทับนั่งห้อยพระบาท)  ที่พบในโบราณสถานวัดพระเมรุ  ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระปฐมเจดีย์มากนัก  องค์พระสูง  1.62  เมตร  หน้าตักกว้างประมาณ  1.20  เมตร  .....  เจ้าของบล็อกขอข้ามเรื่องประวัติโดยละเอียดของพระพุทธรูปศิลาขาวองค์นี้ไปก่อนนะครับ   แล้วจะไปเล่ารวมกับพระพุทธรูปประธานของวัดพระปฐมเจดีย์ในพระอุโบสถ  ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ทำจากหินสีขาวสมัยทวาราวดีที่พบที่โบราณสถานวัดพระเมรุเช่นกันครับ

















 
 
ถัดจากลานชั้นพักขึ้นไปอีกชั้นหนึ่งคือ
  พระวิหารด้านทิศใต้   หรือที่เรียกกันว่า  วิหารปัญจวัคคีย์  วิหารที่หน้าพระวิหารมีเสาหน้าตาแปลกอยู่  1  คู่  เป็นเสาสำหรับ  ตามประทีป  -  จุดไฟให้แสงสว่าง  ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดฯ  ให้สร้างขึ้นเป็นพุทธบูชา
 















 
ภายในพระวิหารแบ่งออกเป็น  2  ห้อง  คือ  ห้องด้านนอก  และห้องด้านใน  ห้องด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปางโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง  5   (ถ้าใครยังจำเนื้อหาในวิชาพระพุทธศาสนาได้  ปัญวัคคีย์ทั้ง  5  คือพระสงฆ์  5  รูป  แรก  ที่บรรลุนิพพาน  หลังจากที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเป็นครั้งแรก  -  โอวาทปาติโมกข์  ที่ป่าอิสิปตนมฤทายวัน  ใกล้กรุงพาราณสี  ปัญญวัคคีย์ทั้ง  5  ได้แก่  อัญญาโกญฑัญญะ  วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสสชิ) 
 




 
ผนังของพระวิหารปัญจวัคคีย์เขียนภาพเหตุการณ์ในการบูรณปฎิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 4  และยังแสดงภาพองค์ประปฐมเจดีย์เดิมที่สัณนิษฐานว่าได้รับการบูณระในสมัยอยุธยา
 
 




ในห้องด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก













 
 
ถ้าเราเดินมาตามเข็มนาฬิกา  สถานที่ต่อไปที่เจ้าของบล็อกจะพามาชมก็คือ 
วิหารทิศด้านทิศตะวันตก  มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  พระวิหารพระพุทธไสยาสน์   เพราะที่ห้องด้านนอกประดิษฐานพระพุทธไสยยาสน์  ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่  4  มีขนาดตั้งแต่พระเกศจนถึงพระบาท  17  เมตร  บรรทมตะแคงขวา  ลืมพระเนตร  พระหัตถ์ขวาตั้รองรับพระเศียร  พระหัตถ์ซ้ายเหยียด  ทอดขนานกับพระวรกายในท่าสีหไสยาสน์  ปลายพระบาทสองข้างไม่เสมอกัน
 


 
ห้องด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพาน  สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4  เช่นกัน  ปัจจุบันปิดไม่ให้เข้าชม














 

วิหารทางด้านทิศเหนือ  ประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์  ที่ได้พาไปชมในบล็อกที่แล้วนะครับ  วิหารทางด้านทิศเหนือเดิมมีอีกชื่อหนึงว่า  วิหารพระประสูติ  เพราะมีพระพุทธรูปปางประสูติ  มีลักษณะเป็นพระกุมารประทับยืนบนดอกบัว  มีปฏิมาสตรี  2  คน  คอยดูแลรับใช้  และเหล่าเทพยดายืนถวายความเคารพและกั้นฉัตร  แต่ได้มีการปรับปรุงตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล่าเจ้าอยู่หัว  ให้ทำพระวิหารที่ห้องด้านนอกเป็นพระวิหารแบบเปิด  คือ  ไม่มีประตูเข้าออก  เปิดโล่งให้เห็นองค์พระร่วงโรจนฤทธิ์  ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประสูติไว้ในห้องด้านใน
 


 
ปัจจุบันถือว่าวิหารพระร่วงโรจนฤทธิ์เป็นด้านหน้าของวัดพระปฐมเจดีย์ครับ  คงเป็นเพราะว่าเป็นด้านที่ตรงกับสถานีรถไฟและมีพระร่วงโรจนฤทธิ์ประดิษฐานอยู่
 
 





 
วิหารทิศหลังสุดท้าย  คือ 
วิหารทิศทางด้านทิศตะวันออก  หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า  พระวิหารหลวง   
 
 



แต่เดิมนั้น  ด้านที่เป็นที่ตั้งของ  พระวิหารหลวง  ถือเป็นด้านหน้าวัดของพระปฐมเจดีย์อย่างที่เล่าให้ฟังในบล็อกท่องเที่ยวไทยบล็อกที่แล้วนะครับ   ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เอาด้านทิศตะวันออกเป็นด้านหน้าของพระปฐมเจดีย์ก็เพราะว่าเป็นด้านที่หันสู่กรุงเทพฯ  โปรดเกล้าฯ  ให้หล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์  จากองค์ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในพระที่นั่งพุทไธสวรรค์  ในพระบวรราชวัง   (วังหน้า – ปัจจุบันคือพระที่นั่งพุทไธสวรรค์  พิพิธภัณฑสถานพระนคร)  แต่ขยายให้ใหญ่กว่าองค์เดิม  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ซุ้มจระนำที่องค์  พระปฐมเจดีย์  ด้านทิศตะวันออกเพื่อเป็นสัญลักษณ์เป็นด้านหน้าของพระปฐมเจดีย์)     
 

 

วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม ตอนที่ 2 – พระร่วงโรจนฤทธิ์

 




 
ที่ชานมุขหน้าพระวิหารหลวง  ประดิษฐาน 
พระพุทธมหาวชิระมารวิชัย    เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยโลหะ ปางมารวิชัย  ประทับนั่งขัดสมาธิเพชร  ศิลปะเชียงแสนประยุกต์  ขนาดหน้าตักกว้าง  0.79  เมตร   วัดจากฐานถึงยอดพระรัศมีสูง  36  นิ้ว  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10  เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ  สยามมกุฏราชกุมาร  ในระหว่างที่ยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ได้เสด็จพระราชดำเนิน  มาถวายสักการะพระปฐมเจดีย์  และได้ทรงเททองหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ไว้  เมื่อวันที่  19  พฤศจิกายน พ.ศ.2521  ทางวัดพระปฐมเจดีย์ได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้  












 
 
ที่ห้องด้านนอกประดิษฐานพระพุทธรูปปางตรัสรู้ ในซุ้มเรือนแก้ว  มีจิตรกรรมฝาผนังทำเป็นรูปร่มโพธิ์ใหญ่  แผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น 












 
 
ส่วนห้องด้านในเป็นห้องโล่งๆ  ไม่มีผนังด้านในสุด  เปิดโล่งให้เห็นองคฺพระปฐมเจดีย์  และ  พระพุทธสิหิงค์จำลองที่ประดิษฐานอยู่ที่ซุ้มจรนำทีองค์ระฆังพระปฐมเจดีย์ 













 
มีโต๊ะหมู่บูชา  ตั้งแต่งเครื่องบูชาพระบรมสารีริกธาตุ  ที่ฝาผนังของห้องด้านในพระวิหารหลวง  มีจิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุม  แต่จิตรกรรมฝาผนังรูปเทพชุมนุมนี้มีความพิเศษคือเป็นเทคนิคการวาดแบบตะวันตก  เสมือนคนจริง  มีกล้ามเนื้อ  สีการใช้แสงและเงา  ใช้เทคนิคในการมองใกล้ – ไกล
 



 
รูปบุคคลทีปรากฏอยู่บนจิตรกรรมฝาผนังรูของห้องด้านในพระวิหารหลวงมีรูป  เทวดา  คนธรรพ์  นักสิทธิ์  ครุฑ  และนาคแปลง  รูปแบบการแต่งกายของบุคลในจิตรกรรมฝาผนังได้รับอิทธิพลจากปูนปั้นศิลปะทวาราวดีและอินเดียใต้  ซี่งเป็นฝีมือของ 
พระยาอนุศาสตร์จิตรกร  (จันทร์ จิตรกร)  จิตรกรเอกชาวในในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
 




















และยังมีรูปวาดพระปฐมเจดีย์องค์ในสมัยอยุยาที่ถูกสร้างครอบทับด้วยปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบันไว้ด้วยครับ







 
 





 
ด้านในของกำแพงแก้วชั้นในมีจารึกติดอยู่ที่ผนัง  มีทั้งสิ้น  120 แผ่น  รอบองค์พระปฐมเจดีย์  โดยเริ่มห้องที่  1  จากวิหารหลวงทางด้านทิศตะวันออกไปทางวิหารด้านทิศใต้  30  ห้อง  จากวิหารใต้ไปทางวิหารตะวันตก  30  ห้อง  จากวิหารตะวันตกถึงวิหารเหนือ  (วิหารพระร่วง)  30  ห้อง  จากวิหารเหนือถึงวิหารตะวันออก  30  ห้อง  รวม  120  ห้อง
 
 

 
จารึกห้องที่  1  เป็นคาถาสรรเสริญพระพุทธคุณ  และเหตุผลที่จารึกคาถาธรรม  รวมถึงคาถาธรรมบทแรก  
 

ห้องที่  2 – 66  เป็นคาถาธรรมบท  
 

ห้องที่  67 - 96  เป็นอัฐวรรคคาถา  ในพระไตรปิฎกเล่ม 25  
 

ห้องที่  97 – 115  เป็นข้อความจากพระไตรปิฎกเล่ม 25  ปารายนวรรค  

 
ห้องที่ 116-120 เป็น ปกิณกคาถา จากพระไตรปิฎกเล่ม 14-15 และ 20
 
 



สันณิษฐานว่าน่าจะจัดสร้างขึ้นพร้อมกับการบูรณะพระปฐมเจดีย์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4   จากข้อความในหนังสือเรื่อง  พระปฐมเจดีย์  จัดทำขึ้นเมื่อ  พ.ศ. 2408  โดย  เจ้าพระยาทิพากรวงศ์  ระบุว่า
 




“ได้ก่อวิหารไว้สี่ทิศ แล้วชักระเบียงกลมล้อมรอบถึงกันทั้งสี่ด้าน จดจารึกกถาธรรมยกไว้ทุกห้อง"




 
และมาสำเร็จใน พ.ศ. 2445  สมัยรัชกาลที่ 5  ดังปรากฏหลักฐานที่พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม มีใบบอกไปยังสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยว่า  การซ่อมตัวอักษรที่พระปฐมเจดีย์ใกล้เสร็จสิ้นแล้ว  แต่ขอให้ท่านผู้รู้ไปตรวจสอบก่อนเพราะเกรงว่าจะผิดเพี้ยนกับแบบเดิมไปบ้าง  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  จึงอาราธนาพระสาสนโสภณ  (อหิงฺสโก อ่อน)  วัดราชประดิษฐ์  ไปตรวจสอบ  และได้พบว่ามีทั้งที่ชำรุด  และที่เกิดจากความผิดพลาดของช่างถึง  958  แห่ง  พระสาสนโสภณได้เขียนข้อความที่ถูกต้องลงในกระดาษ  ทากาวติดไว้เพื่อให้ช่างแก้ไขตามนั้น
 


















 












เมื่อออกมารอบนอกกำแพงแก้วชั้นในสุด  มีพระพุทธรูปปางต่างๆ  เรียงรายอยู่โดยรอบองค์พระปฐมเจดีย์  มีทั้งพระพุทธรูปปางที่เราคุ้นเคยกันดี  มีทั้งปางที่หาชมได้ยาก  และมีทั้งปางที่เราไม่เคยเห้นเลยเพิ่งจะได้เห็นเป็นครั้งแรกครับ










 




 
 
ที่ลานรอบกำแพงแก้วชั้นในสุด  มีหอระฆังรายล้อมกำแพงแก้วชั้นในสุด  นับรวมแล้วมีทั้งสิ้น  28  หอ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา










 
 
 









พระอุโบสถ  ตั้งอยู่ที่ด้านนอกของกำแพงแก้วชั้นในสุดด้านทิศตะวันออก  พระอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  โดยการออกแบบของสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์  โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  มีการประดับตกแต่งน้อยมาก  เพราะว่าในขณะที่สร้างอยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกตกต่ำ  งบประมาณในการก่อสร้างจึงมีจำกัด 
 



พระอุโบสถออกแบบให้มีการผสมผสานศิลปะทวาราวดีแบบประยุกต์  เช่น  ตัวเหงา  ที่อยู่ที่ปลายหน้าจั่วของพระอุโบสถจะมีปลายงอน 
 
 

 
ลวดลายที่หน้าบันพระอุโบสถเป็นลายธรรมจักรเหนือตรีศูล  (ตราประจำราชวงศ)ซึ่งหมายถึงราชวงศ์จักรีค้ำชูพระศาสนา  ใบเสมาปูนปั้นติดอยู่ที่เสารอบพระอุโบสถทำเป็นรูปท้าวจตุโลกบาลทั้ง  4 
 











 
(ไม่ได้ถ่ายรูปพระอุโบสมาเอง  เพราะทางวัดกางเต็นท์บังแดดไว้ตลอดทาง  ไม่สามารถถ่ายรูปได้เลย)
 
 
ขอบพระคุณรูปพระอุโบสถ  วัดพระปฐมเจดีย์
 
 
FB  ศฺรีทฺวารวตีศฺวร ปุณฺย
https://www.facebook.com/SRIDAVARAVATISAVARAPUNYA/posts/1278611599183852?_rdr
 
 
 

 
พระประธานของพระอุโบสถ  วัดพระปฐมเจดีย์  มีพระนามเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งชาวนครปฐมเองและบุคคลทั่วไปว่า 
หลวงพ่อประทานพร   เป็นพระพุทธรูปสลักจากหินสีขาว  ศิลปะทวาราวดี  ปางแสดงปฐมเทศนา  สูง  148  นิ้ว   ประทับนั่งบนบัลลังก์ห้อยพระบาททั้งสอง  (ปรลัมพปาทาสนะ)  ลงบนฐานทำเป็นกลีบบัวบานรองรับ คือวางฝ่าพระบาทบนดอกบัว  ซึ่งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า  “ภัทรอาสน์”  หรือ  “ภัทราสนะ”  พระหัตถ์ซ้ายของพระพุทธรูปวางหงายอยู่เหนือพระเพลา  (ขา, ตัก)  ซ้าย  ส่วนพระหัตถ์ขวายกอยู่ในระดับพระอุระ  (หน้าอก)  หันฝ่าพระหัตถ์ออก  ปลายพระอังคุฐ  (นิ้วหัวแม่มือ)  กับพระดัชนี  (นิ้วชี้)  จีบงอโค้งจรดกันเป็นวงกลม  ส่วนอีกสามนิ้วของพระหัตถ์ขวากางออก  องค์พระพุทธรูปในท่าทางของพระหัตถ์แบบนี้ เรียกว่า  ปางแสดงธรรม 
 
 


 
ด้านหลังพระประธานทาสีดำสนิท  ไม่มีลวดลายใดๆ  เนื่องจากองค์ผู้ออกแบบพระอุโบสถต้องการจะเน้นที่พระประธานครับ














 
เล่ากันว่าเมื่อครั้งที่มีการขนอิฐจากโบราณสถานในบริเวณใกล้เคียงกับวัดพระปฐมเจดีย์  เพื่อนำมาบูรณะพระปฐมเจดีย์  ชาวบ้านได้พบพระพุทธรูปองค์นี้จมอยู่ในจอมปลวก  มีพระเกตุมาลาโผล่พ้นจอมปลวกขึ้นมา  ชาวบ้านจึงรื้อจอมปลวกนั้นแล้วพบพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์  จึงช่วยกันชักลากมายังวัดพระปฐมเจดีย์
 



 

“...ท่านพระปลัดทอง พระอธิการวัดกลางบางแก้ว (วัดคงคา)
ได้มาเห็นวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร ซึ่งเวลานั้นว่างจากเจ้าอาวาส
กุฏิเสนาสนะชำรุดมาก ท่านจึงพร้อมกันกับ “สามเณรบุญ”
(ภายหลังได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระพุทธวิถีนายก
ตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสามัญ เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์
ได้มาช่วยบอกบุญขอแรงพระเณรและชาวบ้าน ต.พระปฐมเจดีย์
ไปช่วยกันขนอิฐจากวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ซึ่งขณะนั้นเป็นวัดร้าง
(ครั้นมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงพระราชทานนามวัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ ใหม่ว่า สวนนันทอุทยาน)
เพื่อนำมาใช้ในการบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
 


ปรากฏว่าพบเห็นจอมปลวกขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณซากโบราณสถานที่นั้น
โดยมีพระเกตุมาลา (ยอดเศียร) ขององค์พระพุทธรูปโผล่พ้นยอดจอมปลวกขึ้นมา
คณะของท่านพระปลัดทองจึงได้ช่วยกันทำลายจอมปลวกนั้นออก
ก็พบพระพุทธรูปศิลาขาวขนาดใหญ่องค์นี้ มีรอยต่อเป็นท่อนๆ
จึงถอดรอยตามรอยต่อนั้นออก แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธาน
ในพระอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔
(ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
ก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
ครองราชสมบัติ ๗ ปี นับถึง พ.ศ. ปัจจุบันได้ ๙๓ ปี...”

 
 


 
จากบันทึกประวัติสังเขปพระพุทธรูปศิลาปางแสดงธรรม  ที่พระธรรมวโรดม (โชติ ธมฺมปชฺโชติโก)  อดีตเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม  ได้จัดทำขึ้นเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายในคราวที่  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เสด็จฯ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน  เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
 
 
 



 
ความจริงแล้วมีพระพุทธรูปที่ทำจากหินสีขาวที่มีพุทธลักษณะเหมือนกันกับ  หลวงพ่อประทานพร  อีก  3  องค์  และมีพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะเหมือนกันกับ  หลวงพ่อประทานพร  แต่ทำด้วยหินสีเขียวอีก  1  องค์  ล้วนแล้วแต่เคยประดิษฐานอยู่ที่โบราณสถานวัดพระเมรูทั้ง  5  องค์  เลยครับ
 
 


 
นายธนิต  อยู่โพธิ์  อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  “พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี”  ว่าพระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว  4  องค์  แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่  ณ  วัดทุ่งพระเมรุ  หรือวัดพระเมรุ  จ.นครปฐม  โดยพบร่องรอยของสถูปโบราณสมัยทวารวดีองค์ใหญ่  มีร่องรอยว่ามีมุขประจำ  4  ทิศ  และในแต่ละมุขทิศเคยมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่นั่งห้อยพระบาทประจำอยู่นั้น  ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  ประมาณในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร  หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่  1  ได้มีการชลอพระพุทธรูปศิลาขาวมาประดิษฐานไว้ในวัดพระยากง  ต.สำเภาล่ม  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา  เกือบครบ  3  องค์  คงทิ้งไว้ที่เดิม  (วัดทุ่งพระเมรุ จ.นครปฐม)  1  องค์  กับชิ้นส่วนขององค์พระบางท่อน  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พบพระพุทธรูปศิลาขาวที่ในจอมปลวกอีกองค์หนึ่งที่  วัดทุ่งพระเมรุ  จ.นครปฐม)  ได้ชลอไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ  วัดพระปฐมเจดีย์  ราชวรมหาวิหา  กับในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือกระจัดกระจายไปจัดตั้งไว้  ณ  พระระเบียงคด  ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์
 



พระพุทธรูปทั้ง  3  องค์  ที่นำไปไว้ที่วัดพระยากง  ต่อมาประมาณกว่า  20  ปีมานี้  ได้มีพุทธบริษัทผู้ศรัทธานำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดพระยากงบางส่วน  มาปฏิสังขรณ์ประกอบเป็นองค์พระ  แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดขุนพรหม  ต.สำเภาล่ม  อ.พระนครศรีอยุธยา  จ.พระนครศรีอยุธยา  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันกับวัดพระยากง  ส่วนที่ยังคงอยู่ที่วัดพระยากง  ก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียรของพระพุทธรูปศิลาขาว  2  พระเศียรให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย  แล้วลักลอบนำมาขายไว้  ณ  ร้านค้าของเก่า  ในเวิ้งนครเกษม  (เวิ้งนาครเขษม)  2  ร้าน  ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ติดตามคืนมาได้จนครบเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๐
 
 



ครั้นเมื่อนายธนิต อยู่โพธิ์  อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น  ไปสำรวจดูที่วัดพระยากง  ก็พบชิ้นส่วนอื่นๆ ของพระพุทธรูปศิลาขาวอีก  จึงลองประกอบกับพระเศียรของพระพุทธรูป  ที่ได้มาจากร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษมแต่ก็ไม่สามารถประกอบกันได้อย่างสนิท  และยังพบว่าพระพุทธรูปศิลาขาวที่วัดขุนพรหม  ซึ่งปฏิสังขรณ์ด้วยการโบกปูนทับให้เรียบเสมอกัน  ก็ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของพระพุทธรูปคนละองค์กัน  จึงได้แยกส่วนต่างๆ  ออกมาประกอบใหม่  แล้วนำชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขาวที่เก็บรักษาไว้  ณ  พระระเบียงคด  ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์  วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร  มาลองประกอบด้วย  ก็พบว่าสามารถประกอบกันได้อย่างสนิท
 



 
นายธนิต  อยู่โพธิ์  และกรมศิลปากรด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น  จึงได้นำพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่อยู่วัดขุนพรหม  กับชิ้นส่วนที่มีอยู่ทั้งหมดที่วัดพระยากง  และชิ้นส่วนขององค์พระที่มีอยู่  ณ  พระระเบียงคด  ด้านนอกองค์พระปฐมเจดีย์  รวมทั้ง  พระเศียรองค์พระ  2  พระเศียร  ที่ติดตามคืนมาได้จากร้านค้าของเก่าดังกล่าว  มาประกอบกันขึ้นเต็มองค์อย่างสมบูรณ์และปฏิสังขรณ์เพิ่มเติมโดยลดส่วนสัด  ได้ทั้งหมด  3  องค์  แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ใน  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร   กรุงเทพมหานคร  หนึ่งองค์  ประดิษฐานไว้ใน  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  เจ้าสามพระยา  จ.พระนครศรีอยุธยา  หนึ่งองค์  และได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นที่บูชาสักการะของพุทธบริษัท  ณ  ลานชั้นลด (กะเปาะ)  ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์  วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร  อีกหนึ่งองค์  เมื่อรวมกับพระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่รัชกาลที่  4  ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็น  พระประธานในพระอุโบสถ  วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร  ด้วยกันก็เป็นอันครบ  4  องค์
 



ทั้งนี้พระพุทธรูปศิลาขาวองค์ที่พบอยู่ในจอมปลวกที่วัดทุ่งพระเมรุ  หรือวัดพระเมรุ  แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ  วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหารนั้น  เป็นองค์ที่สมบูรณ์ที่สุดในกระบวนพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด  4  องค์
 



 
สำหรับพระพุทธรูปที่สลักจากหินแต่เป็นสีเขียว  ประทับนั่งห้อยพระบาท  ปางแสดงปฐมเทศนา  อีกองค์หนึ่งนั้น  มีพระนามว่า  พระคันธารราฐ  ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารสรรเพชญ์  คนทั่วไปเรียกว่า  พระวิหารคันธารราฐ  หรือ  พระวิหารเขียน  หรือ   พระวิหารน้อย  วัดหน้าพระเมรูฯ  จ.อยุธยา  สันณิษฐานว่าเคยประดิษฐานอยู่  ที่วัดมหาธาตุ  ในเกาะเมือง ข้างวัดราชบูรณะ  จ.พระนครศรีอยุธยา  มาก่อน  และสันนิษฐานว่าก่อนที่จะนำมาประดิษฐานไว้  ณ  วัดมหาธาตุ  แต่เดิมเคยประดิษฐานอยู่  ณ  วัดทุ่งพระเมรุ  หรือวัดพระเมรุ  จ.นครปฐม  เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ทางราชการได้ขุดพบศิลาเรือนแก้วชำรุดอันหนึ่ง ที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม เมื่อนำมาเทียบกับ “พระคันธารราฐ” วัดหน้าพระเมรุราชิการาม ก็ปรับเข้ากันได้สนิท  และในการขุดค้นครั้งปี  พ.ศ. 2481 – 2482  ศาสตราจารย์ปิแอร์ ดูปองต์  (Pierre Dupont)  นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส  ได้ขุดพบท่อนพระเพลา  พระกร  และนิ้วพระหัตถ์อีกหลายนิ้ว  ที่วัดทุ่งพระเมรุ หรือวัดพระเมรุ  จ.นครปฐม  ซึ่งมีขนาดเดียวกันกับ  พระคันธารราฐ  จึงเชื่อกันว่า อาจจะมีการอัญเชิญมาจากวัดทุ่งพระเมรุ  หรือวัดพระเมรุ จ.นครปฐม







 







 
พระคันธารราฐ  กล่าวกันว่าเดิมเป็นพระพุทธรูปศิลาสีเขียว  (หินเขียว)  แต่เนื่องจากผ่านกาลเวลามานานจึงทำให้กลายเป็นสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งปัจจุบันดูคล้ายเป็นสีดำ  แต่ถ้ามองดูในระยะใกล้ๆ  แล้วจะเห็นเม็ดเล็กๆ สีเขียวเพราะทำจากหินทรายแกะสลัก
 
 



ที่สำคัญพระพุทธรูปที่สลักขึ้นจากหิน  ประทับนั่งห้อยพระบาท  ในยุคทวาราวดี  ในโลกนี้มีเพียง  6  องค์  เท่านั้น  แต่เป็นที่น่าปลื้นใจมากว่าประดิษฐานอยู่ในเมืองไทยถึง  5  องค์  องค์ที่  6  ประดิษฐานอยู่ที่  พระวิหารเมนดุต  จันทิเมนดุต  (Candi Mendut)  หรือวัดเมนดุต  (Mendut Temple)  พุทธสถานขนาดเล็กที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองยอกยาการ์ตา  (Yogyakarta)  ประเทศอินโดนีเซีย
 
 

 
จริงๆแล้วยังมีสถานที่ที่น่าสนใจ  น่าไปเที่ยวชมในวัดพระปฐมเจดีย์อีกมากนะครับ  ถ้าเจ้าของบล็อกมีโอกาสมาเที่ยวพระปฐมเจดีย์อีกจะพามาเที่ยวชมกันอีกครับ
 
 



ขอขอบพระคุณที่ติดตามบล็อกยาวๆ  แบบรายละเอียดเยอะๆนะครับ  (นี่ก็ตัดออกไปเยอะแล้วนะครับ)  เจ้าของบล็อกตั้งใจจะรวบรวมข้อมูลเผื่อมีใครสนใจจะได้อ่านกันอย่างจุใจครับ  แต่แค่เข้ามาชมภาพเจ้าของบล็อกก็ดีใจมากแล้วครับ
 
 



 
 

ขอบคุณท่านผู้มีรายนามต่อไปนี้  สำหรับข้อมูลที่ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีสาระมากขึ้นครับ
 
 

 
 

ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศคณะสงฆ์ภาค ๑๔ – พิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์

  
องค์พระปฐมเจดีย์เมื่อ'ด้านข้างเป็นด้านหน้า' –  คมชัดลึก – พระเครื่อง

 
องค์พระฯ วันวาน : ก่อนจะเป็นวิหารพระร่วง  -  หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์  สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร

 
พระพุทธมหาวชิรมารวิชัย – Around  องค์พระ.คอม

 
วัดพระปฐมเจดีย์ - dooasia.com

 
แนวคิดการออกแบบจิตรกรรมเทพชุมนุมฝีมือพระยาอนุศาสตร์จิตรกร  (จันทร์ จิตรกร) ในพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร

 
48134.พระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี ปรากฏในโลกเพียง ๖ องค์เท่านั้น - ลานธรรมจักร

 
FB  ห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ - พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ที่ประดิษฐานพระอดีตพุทธะในภัททกัปป์ ประทับห้อยพระบาทแสดงธรรม จากวิหารวัดพระเมรุ จ.นครปฐม


วัดพระปฐมเจดีย์  -  watportal.com

 
พระศิลา…ทวารวดีที่นครปฐม : ตอน ๑ พระประธานในโบสถ์องค์พระ  -  หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์  สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร

 
จารึกที่ระเบียงคดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ห้องที่ 119 (ปกิณกคาถา) – จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร  (องค์กรมหาชน)





















 
134134133



Create Date : 30 พฤษภาคม 2565
Last Update : 30 พฤษภาคม 2565 11:29:18 น.
Counter : 1856 Pageviews.

17 comments
มหาสงกรานต์เมืองไทย “เวิลด์คลาสอีเว้นท์”ระดับท๊อปเทนของโลก travelistaนักเดินทาง
(21 เม.ย. 2567 13:41:14 น.)
ข้าวหมูแดงสุณี ตลาดพลู & ข้าวหมูแดงศิริพร โภชนา เสาชิงช้า & ขนมครกไข่ เจริญกรุง103 peaceplay
(24 เม.ย. 2567 06:22:08 น.)
ตลาดเช้า, สถานีรถไฟพินอูลวิน สายหมอกและก้อนเมฆ
(18 เม.ย. 2567 17:06:42 น.)
สงกรานต์หรรษา จันทราน็อคเทิร์น
(18 เม.ย. 2567 11:24:41 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณปัญญา Dh, คุณฟ้าใสวันใหม่, คุณEmmy Journey พากิน พาเที่ยว, คุณแมวเซาผู้น่าสงสาร, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณtoor36, คุณมาช้ายังดีกว่าไม่มา, คุณชีริว, คุณสองแผ่นดิน, คุณกะว่าก๋า, คุณเริงฤดีนะ, คุณหอมกร, คุณ**mp5**, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณkatoy, คุณnonnoiGiwGiw, คุณJohnV, คุณSweet_pills, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณnewyorknurse

  
สวัสดีครับ
โดย: ปัญญา Dh วันที่: 30 พฤษภาคม 2565 เวลา:12:18:59 น.
  
ตามมาเที่ยวด้วยคนค่ะ
โดย: Emmy Journey พากิน พาเที่ยว วันที่: 30 พฤษภาคม 2565 เวลา:16:07:48 น.
  
ที่นี่ผมก็ไม่ได้ไปนานแล้วเหมือนกัน น่าจะเกือบ 5 ปีแล้วมั้ง ไม่รู้จะเปี่ยนแปลงอะไรไปมากน้อยแค่ไหน

ขอบคุณที่แวะมาโหวตให้กำลังใจที่บล็อกนะครับ
โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 30 พฤษภาคม 2565 เวลา:19:04:50 น.
  
เพิ่งไปมาเมื่อเดืนก่อนครับ แดดแรงม้าก แต่ถ้าไปช่วงนี้สงสัยเจอฝนไล่

เดินวนรอบนึงก็เหนื่อยแล้วนะครับ วัดใหญ่จริงๆ
โดย: ชีริว วันที่: 30 พฤษภาคม 2565 เวลา:21:39:12 น.
  
ตามมาเที่ยวต่อครับ
โซนนี้ผมไม่ได้ไปครับ
โดย: สองแผ่นดิน วันที่: 30 พฤษภาคม 2565 เวลา:23:24:27 น.
  

อรุณสวัสดิ์ครับคุณบอล

เป็นวัดที่ใหญ่โตมาก
มีรายละเอียดให้เดินดูเดินชมเยอะเลยครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:5:38:34 น.
  
มากราบองค์พระปฐมด้วย
มีภาคผนวกต่อด้วย
Food market หน้าองค์พระไหมคะ?
โดย: เริงฤดีนะ วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:7:39:31 น.
  
เห็นแดดแล้วขยาดเลยคุณบอล
ขอเที่ยวผ่านบล้อกแล้วกันนะ

โดย: หอมกร วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:9:30:03 น.
  
แวะมาเยี่ยมและส่งกำลังใจครับ
โดย: **mp5** วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:10:04:35 น.
  
"อย่านอนคอยวาสนา"

ทำให้ผมนึกถึงคำคมนึงที่บอกว่า

"อย่านอนตื่นสาย อย่าอายทำกิน อย่าหมิ่นเงินน้อย อย่าคอยวาสนา"

เป็นคำที่จริงแสนจริงเลยครับ

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:10:45:06 น.
  
ขอบคุณที่แวะไปนะค้าา
โดย: nonnoiGiwGiw วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:14:48:12 น.
  
คุณบอลถ่ายรูปละเอียดมาก น่าสนใจค่ะ
โดย: sawkitty วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:15:06:30 น.
  
สวัสดีค่ะตามมาเที่ยวด้วยค่ะ รีวิวหนังสือเก็บไว่


โดย: กิ่งฟ้า วันที่: 31 พฤษภาคม 2565 เวลา:22:35:46 น.
  
งดงามมากค่ะคุณบอล
ไปคราวหน้าจะเดินชมตามรอยคุณบอลค่ะ
ภาพสวยมากๆ
ขอบคุณคุณบอลที่พาเที่ยวนะคะ

โดย: Sweet_pills วันที่: 1 มิถุนายน 2565 เวลา:0:14:46 น.
  

อรุณสวัสดิ์ครับคุณบอล

โดย: กะว่าก๋า วันที่: 1 มิถุนายน 2565 เวลา:6:01:40 น.
  
ภาพอาคาร วัตถุโบราณใหญ่โต สื่อให้เห็นว่า คนสมัยโบราณมีความ
ตั้งใจ เกิดศรัทธาที่จะให้ ศาสนนาพุทธยืนยงเป็นหลักให้ คนยืดเป็น
หลักปฏิบัติในการดำรงชีพ แบบสงบ สุข
โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 3 มิถุนายน 2565 เวลา:7:57:47 น.
  

มาเที่ยวด้วยค่ะ
โดย: newyorknurse วันที่: 5 มิถุนายน 2565 เวลา:1:52:03 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Chubbylawyer.BlogGang.com

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]

บทความทั้งหมด