ทนายอ้วนชวนเที่ยวอยุธยา - ชวนไปชมนิทรรศการ "มัดหมี่ สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย" SACICT บางไทร - ตอนจบ









อาทิตย์ที่ผ่านมาแทบจะไม่ได้พูดคุยกับผู้คน วันจันทร์เย็นพาน้ำปิงไปเรียนว่ายน้ำ เสร็จแล้วจะพาไปกิน MK ปรากฎว่าไปอ๊วกซะขนานใหญ่ก่อนกิน เลยพาไปหาหมอ ไปถึง รพ ก็อ๊วกอีก 3-4 ครั้ง เลยได้นอน รพ 2 คืน 3 วัน เดินทางไป ๆ มาๆ บ้านกับ รพ ทุกวันๆ พอออกจาก รพ หมอสั่งให้กินอาหารอ่อนๆก่อน กินน้อยๆ แต่บ่อยๆ เลยให้หยุดอยู่บ้านดีกว่าเพราะคุมเรื่องอาหารได้ คืนวันพฤหัสฝนตกหนักมากกกกกกกกกก ตื่นขึ้นมากลางดึกเห็นน้ำเข้ามาในครัวมิดฝ่าเท้า เลยปล่อยเลยตามเลย นอนเอาแรงก่อน เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าค่อยคิดว่าจะทำยังไง คิดได้แค่นั้นไฟก็ดับ เซ็งมากกกกก ..... แต่ง่วงมากๆเลยหลับไป วันศุกร์ตื่นขึ้นมาวิดน้ำ เช็ดบ้านแต่เช้า คุณชายโดดงานครึ่งวันมาช่วยทำความสะอาดบ้าน บ้านสะอาด ครัวสะอาดได้ภายใน 1 วันเพราะคุณชายแท้ๆเชียว แต่ยังไม่ได้เก็บรายละเอียดก็หมดวันซะก่อน วันเสาร์คุณนายแม่อยากไปนวดที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง วิเศษชัยชาญ อ่างทอง จริงๆไม่อยากไปนะ เหนื่อย และเหมือนจะเป็นไข้ แต่คุณชายบอกให้ไปแม่จะได้ดีขึ้นก็เลยไปแบบมึนๆ กลับมาถึงบ้านบ่ายๆก็มาเริ่มทำความสะอาดครัว รื้อของในตู้เย็นออกมาหมดเพราะถอดปลั๊กตู้เย็นออกก่อนตั้งแต่คืนวันพฤหัส เช็ดตู้เย็น รื้่อชั้นวางเครื่องปรุงทั้งหมด เอาเครื่องปรุงขวดที่จมน้ำ (ยังไม่ได้ใช้) ไปล้างให้สะอาด ตากแห้ง เอาจานที่สะสมออกมาล้างทั้งหมดเพราะวางอยู่ชั้นล่างน้ำท่วมมิดเรย ล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่เสี่ยงว่าจะสกปรก เช้าวันอาทิตย์คุณชายชวนเปลี่ยนชั้นวางเครื่องปรุง (เก่ามากกกกกกก ใช้มาตั้งแต่เกิด) เป็นชั้นใหม่พาไปซื้อของที่โฮมโปร เลยลามปามซืั้อนั้นโน่นนี้มาอีกหลายสิ่ง กลับถึงบ้านคุณชายทำความสะอาดตู้ที่ใส่อุปกรณ์เบเกอรี่และตู้เหล็กบานเลื่อนที่เก็บของแห้งทั้งหมด (ทิ้งหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง น้ำตาล เกลือ มาม่า และจิปาถะ) แล้วก็เก็บของที่แห้งแล้วเข้าที่ แล้วเลยชวนไปเดินกินแถวๆแพร่งภูธร - เสาชิงช้าเมื่อวานนี้ ................ จนถึงตอนนี้ก็ยังเห็บขยะไม่เสร็จนะครับ แต่ค่อยๆทำไปทีละนิดๆ คุณนายแม่เดินเข้ามากอดแล้วถามว่าเหนื่อยมั๊ย .... ตอบคุณนายแม่ไปว่า ... ไม่เหนื่อยนะ แต่ห้ามซุก ห้ามสะสมอีกนะ ไม่งั้นคราวหน้าจะตอบว่าเหนื่อย ...... วันนี้เหตุการณ์กลับมาเป็นปกติเล็กๆแล้ว ก็เลยเอาบล็อกเก่ามาโพสครับ



--------------------------------------------------------------------------------




Entry  นี้เป็นตอนสุดท้ายของ นิทรรศการ “มัดหมี่ สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย” ที่จัดขึ้นที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ บางไทร ความจริงนิทรรศการนี้จัดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนาแล้วครับ หมดในวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่เจ้าของบล็อกเพิ่งได้ทราบข่าวจากรายการ “เปิดตำนานกับเผ่าทอง” เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมนี่เอง ดีที่ตัดสินใจไปชมงานตั้งแต่วันแรกที่ได้ข่าวไม่รีๆรอๆ  ถ้าพลาดแล้วคงเสียดายน่าดู


แล้วเจ้าของบล็อกต้องขอโทษผู้ชมบล็อกด้วยนะครับที่เขียนบล็อกช้ามากๆเพราะนิทรรศการนี้มีเนื้อหาค่อนข้างเยอะ ต้องสรุปย่อลักษณะของผ้าต่างๆ ตามแผ่นข้อมูลที่ถ่ายรูปมากจากนิทรรศการแล้วพิมพ์ลงใน word แล้วจึงเอามาโพสครับ


ตอนที่ 3 นี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับผ้ามัดหมี่ในประเทศไทยครับ เราเริ่มกันเลยนะครับ



ผ้าล่องจวนตานี จังหวัดปัตตานี ประเทศไทย


ผ้าจวนตานี หรือ ผ้าล่องจวน หรือ ผ้าล่องจวนตานี เป็นผ้าทอโบราณของคนที่อาศัยอยู่บริเวณ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ซึ่งเดิมมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดปัตตานี มีการกล่าวถึงผ้าชนิดนี้ไว้ในพระราชนิพนธ์ดาหลัง ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โดยผ้าล่องจวนตานีโบราณจะมีสองส่วน คือ ส่วนที่เป็นผ้ามัดหมี่ และส่วนที่เป็นผ้ายกทอสอดดิ้นเป็นลวดลาย





คำว่า “จวน” เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “จูวา” แปลว่า พบกัน หรือ เจอกัน หมายถึงลักษณะของผ้าทีมีลักษณะของกรรมวิธีการทอ 2 แบบนั่นเอง


ผ้าล่องจวนตานีถือเป็นผ้าที่พิเศษ ราคาสูงมากๆ จึงจะนำมานุ่งห่มในโอกาสที่สำคัญมากๆ ผู้หญิงจะใช้เป็นผ้าคล้องคอ ผ้าพาดไหล่ เฉวียงบ่า ผ้าสไบ หรือนุ่งแบบกระโจมอก ผู้ชายจะนุ่งทับกางเกงอีกชั้นหนึ่งหรือที่เรียกว่า “สลินตัง” หรือใช้เป็นผ้าคลุมศพในชาวมุสลิมที่มีฐานะดี


ผ้าล่องจวนตานีใช้กรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่งทั้งผืน โดยจะมีแถบริ้วของลายแทรกอยู่ในเนื้อผ้า เอกลักษณ์ของผ้าล่องจวนตานีอยู่ที่เชิงผ้าจะมีสีแดง หรือน้ำตาลแกมแดงเป็นส่วนใหญ่ ลวดลายที่เชิงผ้ามีความโดดเด่นกว่าท้องผ้า





ผ้าโฮล (ผ้าซิ่นมัดหมี่อีสานใต้) ประเทศไทย




ผ้าโฮล หมายถึงผ้ามัดหมี่ของคนไทยเชื้อสายเขมรที่อยู่ทางจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ เป็นผ้าทอโดยกรรมวิธีมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดเป็นสีสันและลวดลายต่างๆเสียก่อน แล้วจึงจะทำไปทอเป็นผืน




ผ้าโฮลในอดีตข้าวบ้านธรรมดาไม่สามารถสวมใส่ได้ถูกสงวนไว้สำหรับบุรุษที่รับราชการในราชสำนักเท่านั้นเพราะโครงสร้างของผ้ามีกรอบ มีเชิง คล้ายกับผ้าสมปักปูมที่ใช้นุ่งเป็นเครื่องยศ เรียกว่า “โฮลเปราะฮ์” ผู้ทอจึงใช้วิธีดึงลายให้ยืดขยาย หรือเลื่อนลายออกจากตำแหน่งเดิมให้ต่างไปจากผ้าโฮลเปราะฮ์ เป็นการทอแปลง คลีคลายลาย เรียกว่า “โฮลแสร็ย” เพื่อใช้เป็นผ้านุ่งของสตรีและไม่ผิดกฎราชสำนัก ดังนั้นจึงมีลวยลายเฉพาะตัวคล้ายมัดหมี่ริ้วตั้ง หรือทอแบบโครงสร้างลายหมี่คั่น ปัจจุบันผ้าโฮลเปราะห์หาผู้ทอไม่ได้แล้ว





ผ้าซิ่นหมี่ลายโคม ลายกง ลายหมากจับ ลายหน่วย ลายขนมเปียกปูน ประเทศไทย


เป็นลวดลายการมัดหมี่ที่เรียกได้ว่าเป็นลายมาตรฐานได้รับอิทธิพลโดยตรงมาจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบมากทางภาคเหนือขอลาวแถวๆแขวงเชียงขวางและซำเหนือ เป็นลวดลายที่ตกทอดกับมานับร้อยปีผ่านการผสมผสานทางวัฒนธรรมทำให้ลายเหล่านี้เป็นลวดลายพื้นฐานของทุกพื้นที่ทางภาคอีสานของไทยแต่อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่








การคาดก่าน


การคาดก่านในภาษาเหนือหมายถึงการมัดหมี่เส้นยืน อาจจะพบไม่มากนักในวัฒนธรรมของทางภาคเหนือส่วนมากจะเป็นกรรมวิธีการ จก หรือ ขิด มากกว่า และจะพบในผ้าของชาวไทยภูเขา เช่น กระเหรี่ยง ลื้อ ลั๊วะ จะทอด้วยกี่เอวซึ่งผ้าที่ได้จากการทอจะเป็นผ้าหน้าแคบ นิยมลวดลายที่ไม่ซับซ้อน เช่น ลายขอ ลายโคม ลายสายน้ำ และลวดลายมัดหมี่จะปรากฏเป็นริ้วขวางลำตัวของผู้สวมใส่






ผ้าซิ่นก่าน ประเทศไทย


ผ้าซิ่นก่านเป็นผ้าทอด้วยวิธีการมัดหมี่จากอำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้รับอิทธิพลจากไทยลื้อ เมื่อเย็บเป็นผ้านุ่งจะมี 2 ตะเข็บ ลวดลายที่เกืดจากการมัดหมี่ของผ้าจะเป็นริ้วขวางกับลำตัว สีที่นิยมคือสีม่วง ชมพู บานเย็น





ผ้าซิ่นกะเหรี่ยง (โปว์)


เป็นผ้าหน้าแคบที่ได้จากการทอด้วยกี่เอว เพราะฉะนั้นจะมีความกว้างไม่มากไปกว่าความกว้างของตัวผู้ทอ การนำมานุ่งห่มจึงจะต้องนำผ้าที่ทอได้ 2 ผืนมาเย็บต่อกัน นิยมทอด้วยเส้นฝ้ายมีสีสันสีสดใน สวยงาม ถือเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอกระเหรี่ยง กรรมวิธีที่ใช้ในการทอมีทั้งมัดหมี่ จก ขิด เฉพาะการมัดหมี่ส่วนมากจะเป็นการมัดหมี่ที่เส้นยืน ซึ่งต่างจากกลุ่มคนไทยอีสานที่จะมัดหมี่ที่เส้นพุ่ง ลวดลายส่วนใหญ่เกิดจากจินตนาการของผู้ทอและการเลียนแบบสิ่งของและธรรมชาติรอบๆตัว





ผ้าซิ่นลั๊วะ ประเทศไทย


เป็นผ้าที่ทอด้วยกี่เอว มีหน้าแคบ ประมาณ 30-40 เซนติเมตร ถ้าจะทำเป็นผ้านุ่งจะต้องนำผ้า 2 ผืนมาเย็บเพลาะเข้าด้วยกัน สมัยโบราณผ้าซิ่นลั๊วะจะเป็นผ้าที่มีหน้าแคบมากๆ ขนาดแค่พอดีกับตัวผู้สวมใส่ การสวมใส่จะไม่มีการขมวดหัวซิ่นเข้ากับเองแต่จะใช้ความแคบของผ้าที่พอดีกับสะโพกช่วยพยุงทรงผ้านุ่งเอาไว้ ลักษณะพิเศษของผ้าซิ่นลั๊วะจะมีสีเข้ม ส่วนมากจะเป็นสีดำ หรือน้ำเงิน ตกแต่งลวดลายบนผ้าด้วยกรรมวิธีมัดหมี่เส้นยืนให้เกิดลวดลายเป็นริ้วๆในแนวนอนขนาดและสีต่างๆกันส่วนตอนบนและตอนล่างของผ้าจะเป็นแถบวสีแดงขนาดใหญ่เสมอซึ่งเป็นจารีตของชาวไทยลื้อ





ผ้าซิ่นไทยลื้อ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


เมืองนาแล แขวงหลวงน้ำทา เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในหารทอผ้าซิ่นไทยลื้อมากที่สุด ผ้าซิ่นไทยลื้อนาแกใช้กรรมวิธีในการทอหลายวิธี มัดหมี่ ขิด จก อาจจะแบ่งโครงสร้างของผ้าซิ่นได้ดังนี้


1. หัวซิ่นนิยมต่อด้วยผ้าฝ้ายสีขาวหรือสีแดงแคบๆ ซิ่นบางผืนอาจจะไม่มีการต่อหัวซิ่นก็ได้

2. เอวซิ่นจะเป็นลายสีแดงสลับดำ เรียกว่าลายเลือดหมาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของซิ่นชาติพันธุ์ไทยลื้อ อาจจะเป็นเพราะความเชื่อที่สืบต่อกันมาว่าชาวไทยลื้อมีบรรพบุรุษเป็นสุนัขป่า

3. ตัวซิ่น (ตรงกลางผืน) เป็นลายหลักของซิ่น จะมีความสวยงามที่สุดมักจะทำลายมัดหมี่หนึ่งแถวแบบไม่ซับซ้อนมากนักนิยมมัดเป็นลายสามเหลี่ยม ลายตาข่าย ลายหมี่ข้อ ลายสานน้ำ เป็นต้น แล้วต่อด้วยกรรมวิธีการจกด้วยไหมหลากสีจนเต็มผืน

4. ตีนซิ่น ต่อด้วยผ้าฝ้ายเส้นโตปั่นด้วยมือ (ผ้าฝ้ายฮีก) ย้อมด้วยคราม

ผ้าซิ่นไทยลื้อนาแลมีความเกี่ยวโยงกับผ้าซิ่นไทยลื้อแถบจังหวัดน่านเนื่องจากมีการส่งผ่านภูมิปัญญาโดยการอพยพของผู้คนไปมา





ผ้าซิ่นลาวครั่ง ประเทศไทย (จังหวัดสุพรรณบุรีและชัยนาท)


เป็นผ้าซิ่นต่อเชิงด้วยผ้าทออีกผืนด้วยกรรมวิธีจก เรียกชื่อตามลักษณะโครงสร้างของตัวซิ่น เช่น ซิ่นหมี่โลด ซิ่นหมี่ตา ซิ่นหมี่น้อย เป็นต้น

ซิ่นหมี่โลด โครงสร้างผ้าประกอบด้วยตัวซิ่นที่ตกแต่งด้วยการมัดหมี่เป็นลาย “หมี่โลด” หรือ “ลวด” เป็นการมัดหมี่เป็นลวดลายขนาดใหญ่และมีการ “แจะ” (การแต้มสีย้อมเฉพาะจุด) การ “ต่ำพื้น” (การทอแทรกเส้นพุ่งสีพื้นลงไปในลวดลายเป็นช่วงๆเพื่อเป็นการขยายลายมัดหมี่ให้กว้างขึ้น บางครั้งเรียกว่า “ผ่าหมี่” หรือ “เบี่ยง”) ตีนซิ่นตอนบนทำให้เกิดลวดลายด้วยกรรมวิธีจก ตีนซิ่นตอนล่างปล่อยเว้นไว้เป็นผ้าสีแดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของลาวครั่ง


ซิ่นหมี่ตา โครงสร้างหลักของซิ่นหมี่ตาประกอบด้วยตัวซิ่นซึ่งตกแต่งด้วยกรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่งเป็นชุดลวดลายสลับกับการทอขิดในแนวริ้วตั้งซึ่งก็คือโครงสร้างของหมี่คั่น นิยมลายเครือนาค นาคเกี้ยว ลายขอนาค ลายเครือ ลายขอต่างๆ นิยมมัดหมี่ 1-2 ชุดบนพื้นสีแดง สีแดงกับสีครามเข้ม หรือสีดำ


ซิ่นหมี่น้อย เป็นรูปแบบของซิ่นหมี่คั่นอย่างหนึ่งใช้ลายมัดหมี่ขนาดเล็ก เช่น ลายหมี่ข้อ ลายโคม ลายขอน้อย ทอสลับริ้วสีพื้นและด้าย “มับไม” (การปั่นด้าย 2 สี เข้าด้วยกันเป็นเส้นเดียว) ไปตลบอดผืน มักต่อตีนซิ่นสีดำและจกลายขนาดเล็กใช้เป็นผ้านุ่งของสตรีลาวครั่งที่สูงอายุ








ซิ่นมัดหมี่ในวัฒนธรรมกูย


ชาวกูยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมผสมระหว่างเขมรและลาว มีถิ่นที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองกำปงธม ประเทศกัมพูชา ต่อมาได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยอยุธยาโดยมาถิ่นฐานอยู่ในอีสานใต้ บริเวณจังหวัด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี บุรุษชางกูยนิยมนุ่งผ้าโจงกระเบนยาวครึ่งแข้งในพิธีกรรมหรือโอกาสสำคัญ ส่วนสตรีจะนิยมนุ่งซิ่นมัดหมี่ตลอดเวลา ผ้าของชาวกุยจะใช้กรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่ง


โครงสร้างของผ้าจะนิยมต่อหัวซิ่นด้วยแถบผ้าไหมสีแดงที่ตกแต่งด้วยลายขิดเป็นช่วงๆ ส่วนผ้าซิ่นบางผืนที่ไม่มีการต่อหัวซิ่นจะเว้นพื้นที่ว่างสีแดงไว้ตอนบนของผ้าซิ่นประมาณ 10-20 เซนติเมตร แล้วจึงทำลวดลายด้วยการมัดหมี่ ผ้ามัดหมี่บางกลุ่มจะนิยมทำลวดลายด้วยการมัดหมี่เส้นพุ่งให้มีลักษณะเป็นหมี่ข้อ หรือหมี่คั่น โดยมีลักษณะแนวตั้งขนาดเล็กติดต่อกันจนเต็มผืน


ส่วนผ้าโจงกระเบนของบุรุษในวัฒนธรรมชาวกูยเป็นผ้ามัดหมี่ที่ใช้กรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่ง โครงสร้างของผ้าจะคล้ายคลึงกับผ้าปูมในประเทศกัมพูชา ปลายผ้าทั้งสองด้านเป็นผ้าไหมพื้นย้อมสีแดงจากครั่งตกแต่งด้วยลายมัดหมี่ขนาดแคบ 1-3 แถบ ส่วนท้องผ้าจะเป็นการมัดหมี่ที่เป็นลายเล็ก ละเอียด และซ้ำๆกันเต้มตลอดทั้งผืน นิยมลายตุ้ม ลายโคม และลายกง เป็นต้น โดยมีกรอบผ้าเป็นแถบมัดหมี่ขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร ล้อมรอบส่วนท้องผ้าทั้งสี่ด้าน และที่ขอบและขอบล่างที่กระหนาบส่วนท้องผ้าเป็นลวดลายมัดหมี่เป็นขอบหนากว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร





ซิ่นหมี่กระดาน


พบในแถบจังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ นิยมในหมู่สตรีที่แต่งงานแล้วเพราะจะแสดงถึงความเป็นแม่บ้านแม่เรือน แต่นักวิชาการบางท่านเห็นว่าเป็นการทดลองลายมัดหมี่ก่อนที่จะนำไปขยายประดับผืนผ้าต่อไป


ผ้าซิ่นหมี่กระดานใช้กรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่ง ส่วนหัวซิ่นจะเป็นผ้าไหมพื้นสีเรียบไม่มีลวดลาย ตัวซิ่นตกแต่งด้วยลายมัดหมี่ เชิงซิ่นหรือตีนซิ่นจะเป็นผ้าสีเรียบ ซิ่นหมี่จะไม่นิมต่อหัวซิ่นกับตีนซิ่น


เอกลักษณ์ที่เห็นเด่นชัดเคือจะนิยมมัดลวดลายมัดหมี่ออกเป็น 2-4 ช่วง โดยแต่ละช่วงนั้นจะมีลายไม่ซ้ำกัน ทอเรียงต่อกันโดยมีแถบบลายเล็กๆคั่น และลวดลายหลักเหล่านั้นจะปรากฎเป็นแถบกว้างขวางลำตัวคล้ายแผ่นกดระดานปูพื้นเรือน ลายเล็กๆที่คั่นก็เหมือนร่องกระดาน จึงได้ชื่อว่าหมี่กระดาน





ผ้าซิ่นอัมปรม


เป็นผ้าทอพื้นเมืองของคนเชื้อสายเขมร พบมากแถบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ นิยมใช้เป็นผ้าซิ่นในสุภาพสตรีเท่านั้น คำว่า “อัมปรม” เป็นชื่อลายมัดหมี่โบราณของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่สืบทอดกันมากว่า 2000 ปี โดยใช้กรรมวิธีมัดหมี่สองทางทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน โดยจะมีลักษณะพิเศษคือจะปรากฎลวดลายที่ทอเป็นลายตารางจตุรัสสี่เหลี่ยมเล็กๆประมาณหัวเข็มหมุด และมีการมัดย้อมเส้นไหมทั้งเล้นพุ่งและเส้นยืนให้มีลักษณะเป็นขีดเล็กๆ สั้นๆ สีขาว เมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้าแล้วลายขีดสีขาวนี้จะลอยเด่นขึ้นมาจากสีพื้นเป็นรูปเครื่องหมายกากบาทหรือเครื่องหมายบวกในช่องตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆนั้นเต็มทั้งผืนผ้า (ลายกาประ) ไม่นิยมทำลวดลายอย่างอื่นมาประกอบด้วย หากผ้าอัมปรมมีพื้นสีแดงเข้มที่ย้อมจากครั่งจะเรียกว่า “ผ้าซิ่นลายอัมปรมครั่ง” หากผ้าซิ่นนั้นนมีพื้นสีม่วงคราม (เกิดจากการย้อมสีครั่งและชุบย้อมอย่างเร็วด้วยสีน้ำเงินเข้มหรือครามจากห้อม) เรียกว่า “ผ้าซิ่นอัมปรมปกามะ” และถ้าหากผ้าซิ่นผืนนั้นมีสีเหลืองอมทองซึ่งเกิดจากการย้อมด้วยแก่นเข เรียกว่า “ผ้าซิ่นอัมปรมเข”






ผ้าไหมมัดหมี่ประยุกต์


เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 20-25 ปีที่แล้ว โดยการผสมผสานกรรมวิธีที่หลากหลายลงในผ้าผืนเดียว ทั้งมัดหมี่ แต้มหมี่หรือแต้มสี การมัดย้อม หรือการทอแบบหางกระรอก





ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายดอกแก้ว


เป็นลายโบราณที่ได้รับความนิยมมากในการนำมาตกแต่งลวดลายผ้ามัดหมี่ทั้งในประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชีย จัดอยู่ในประเภทแม่ลายหรือลายพื้นฐานในการฝึกหัดทำมัดหมี่เพราะเรียนรู้ง่าย ลวดลายไม่ซับซ้อน และสามารถนำไปประกอบกับลวดลายอื่นๆได้ เช่น ลายขอ ลายนาคเกี้ยว ลายตะข่าย ลายตาราง ลายโคม ลายเอี้ย นิยมทำลวดลายดอกแก้วนี้บนผ้าซิ่นของสตรีเท่านั้น ลักษณะของลายดอกแก้วจะมีเส้นกลางดอกเป็นขีดหนาๆ ยาวๆ แทนก้านดอก กลีบดอก และเกสร จะมีกลีบดอกปรากฏอยู่ทั้งสองด้านของเส้นขีดหนาๆ อาจจะมีลายดอกแก้วได้หลายรูปแบบแต่จะอยู่บนพื้นฐานความสมดุลเสมอ คติความเชื่อในการนำลายดอกแก้วมาตกแต่งผ้าซิ่นมัดหมี่สื่อถึงความดีงาม ความสุข ความสดชื่นผ่องใส ความสะอาดบริสุทธิ์ของจิตใจเพราะดอกแก้วเป็นดอกไม้มีสีขาว กลิ่นหอมเย็น





ผ้าซิ่นหมี่ส่วง


พบได้ทั่วไปในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนใหญ่ใช้เป็นผ้านุ่งสตรี เกิดจากการนำเส้นไหมที่ผ่านการมัดหมี่เรียบร้อยแล้วที่เหลือจากการทอแล้วเก็บไหมที่เหลือไว้จนพอที่จะทอผ้าอีกหนึ่งผืน ดังนั้นผ้าทีทอมักจะมีลวดลายตั้งแต่ 2 ลายขึ้นไปปรากฏบนผืนผ้า บางครั้งมีลวดลายถึง 50 ลาย





ผ้าซิ่นตีนแดง


ผ้าซิ่นตีนแดง หรือ ผ้ามัดหมี่ตีนแดง หรือเรียกตามภาษาท้องถิ่นชาวอำเภอพุทไธสงและอำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ว่า “ซิ่นหัวแดงตีนแดง” ทอขึ้นครั้งแรกโดยช่างทอผ้าในคุ้มของพระยาเสนาสงคราม เจ้าเมืองคนแรกของอำเภอพุทไธสง เมื่อประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว ในอดีตนิยมทอให้เด็กหรือคนวัยหนุ่มสาวนุ่งสำหรับงานบุญประเพณีเพราะมีสีสันสดใส


ในสมัยที่ฟืมสำหรับทอผ้ายังมีหน้าแคบ โครงสร้างของผ้าซิ่นตีนแดงประกอบด้วยหัวซิ่นและตีนซิ่นจะทอเป็นผ้าไหมสีแดงสด แล้วจึงจะเอามาต่อกับตัวซิ่นซึ่งตกแต่งด้วยลายมัดหมี่แบบจารีตโบราณเต็มผืน เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถทรงพัฒนาฟืมให้มีความยาวมากขึ้นถึง 100-110 เซนติเมตร ผ้าซิ่นตีนแดงก็ไม่ต้องต่อหัวซิ่นและตีนซิ่นอีกต่อไป





ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายสัตว์


นอกจากลวดลายต่างจะแสดงถึงความมีฝีมือของช่างทอที่สามารถผูกลายเป็นลายสัตว์ต่างๆได้แล้วยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพัน ความเชื่อของชาวบ้านที่มีต่อสัตว์ต่างๆได้อีก โดยอาจจะแบ่งออกเป็นสัตว์ตามความเชื่อ เช่น ครุฑ นาค และสัตว์สวยงาม เช่น นกยูง ผีเสื้อ






ผ้าซิ่นหมี่คั่น หรือ หมี่ข้อ


หมี่คั่น เป็นการสร้างลวดลายมัดหมี่บนเส้นพุ่งเป็นแถบลายริ้ว ยาว แคบ ความกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร เกือบตลอดผืนผ้า มีการเว้นช่องไฟอย่างเป็นระเบียบ ในขณะที่ทอลายจะค่อยๆปรากฏเป็นแนวนอน เมื่อทอเสร็จและนำไปเย็นเพลาะชายผ้าทั้ง 2 ด้านแล้วจะได้ผ้านุ่งที่มีลายทางตรง ขนานกับลำตัวผู้สวมใส่ ลายหมี่คั่นเป็นที่นิยมมากในแถบภาคอีสาน


ในริ้วเล็กๆ แคบๆ จะปรากฏลายมัดหมี่ลายต่างๆแต่เป็นแม่ลายแบบเรียบง่าย เช่น ลายหมากจับ ลายโคม ลายขอ ลายนาค และในระหว่างแถบลายแต่ละแถบจะพุ่งเส้นพุ่งเป็นริ้วแคบๆ ความกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร คั่นแถบลายที่บรรจุลายมัดหมี่เอาไว้ เส้นพุ่งเหล่านี้อาจจะมีสีเดียวกับสีพื้นหรือทอต่างสีกันก็ได้


หมี่ข้อ จะมีโครงสร้างลายที่คล้ายกับหมี่คั่น แตกต่างกันที่ริ้วเส้นพุ่งที่แทรกอยู่ระหว่างลายมัดหมี่จะมีการมัดหมี่เป็นเส้นขีดสั้นๆ ประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร ตลอดหน้าผ้า






ผ้าซิ่นมัดหมี่ภูไท จังหวัดกาฬสินธุ์


พบกระจายอยู่ทั่วไปของภาคอีสานตอนบนกับตอนกลางที่ติดกับแม่น้ำโขง นิยมทอเป็นผ้านุ่งของสตรีทั้งใช้ในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ โดยจะมัดหมี่ที่เส้นพุ่ง ลวดลายก็ยังยึดถือลวดลายโบราณ เช่น ลายขันหมากเบง ลายเปีย ลายโคม ลายขอ ลายกระจัง รวมทั้งลวดลายที่ใช้ในการทอผ้าแพรวา เช่น ลายใบบุ่น ลายก้านก๋อง ลายกระบวน ลายดอกแก้ว ลายมหาพัน เป็นต้น นิยมต่อหัวซิ่นด้วยแถบผ้าสีแดง และต่อตีนซิ่นด้วยถ้าแถบแคบๆ 2-3 เซนติเมตร ด้วยกรรมวิธีขิด





ผ้าซิ่นลายเครือ ลายบายศรี


ลายเครือ เป็นลายที่วิวฒนาการมาจากลายมัดหมี่โบราณของอินเดียที่เป็นชนชาติที่ริเริ่มวัฒนธรรมการมัดหมี่ และขยายอิทธิพลมาสู่ประเทศไทยโดยผ่านกัมพูชา ลาว ลายเครือมองเผินๆแล้วจะมีลักษณะคล้ายอักษร E ในภาษาอังกฤษแต่เป็นตัวอักษร E ที่มีขีดหลายๆอัน ประมาณ 4-7 ขีด หรือเรียกว่า “ลายฟันหวี”


ส่วนลายบายศรี เป็นวิวัฒนาการขั้นสูงสุดของลายเครือ เอาลายเครือมาหงายขึ้นแล้วหักปลายทั้ง 2 ข้างลงมา จะได้ลายที่มีลักษณะ ^ และมีเส้นฟันหวีพุ่งขึ้นจำนวนหลายๆเส้น








ผ้าซิ่นหมี่ร่าย


พบมากในภาคอีสานตอนกลางและตอนใต้ ใช้เป็นผ้าซิ่นของสตรี ลวดลายจะปรากฏเป็นลายที่เป็นแถวในแนวทแยง หรือแนวเฉียงอย่างเป็นระเบียบ วิธีการทำลวดลายซับซ้อนและลำบาก เริ่มจากการขึ้งเส้นพุ่งลงบนหลักค้นหมี่ ใช้การมัดหมี่แบบไขว้และจะต้องเป็นลำคู่เสมอ และจะต้องมีเส้นด้ายที่เท่ากันทุกลำ ในการกรอด้วยเข้ากระสวยจะต้องกรอมัดหมี่ลำที่ 1 ก่อน แล้วจึงไปกรอลำสุดท้าย สลับกันไปมา ในการทอก็จะต้องเลือกทอจากกระสวยที่เป็นหมายเลขคู่หรือหมายเลขคี่ก่อน


ลวดลายมัดหมี่ในหมี่ร่ายเป็นแม่ลายโบราณ กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจึงนำไปประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเอง






ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายราชวัตร


นอกจากจะเป็นลายที่สำคัญเป็นที่นิยมแล้ว ยังเป็นลายที่เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อของอำนาจเหนือธรรมชาติศาสนาฮินดู และพุทธศาสนา ผ้ามัดหมี่ลายราชวัตรในประเทศไทยจะใช้กรรมวิธีมัดหมี่ที่เส้นพุ่งอย่างเดียว ต่างกับผ้ามัดหมี่ลายราชวัตรในอินเดียจะใช้ทั้งกรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่งอย่างเดียวและการมัดหมี่ทั้งสองทาง


โครงสร้างของลายมีทั้งที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมมองดูคล้ายเครื่องหมายกากบาทหรือเครื่องหมายบวก มีให้เห็นทั้งที่เป็นลายขนาดใหญ่ และลายขนาดเล็ก ละเอียดแตกต่างกันตามพื่นที่ที่พบ ตรงกลางลายราชวัตรมักจะใส่ลวดลายมัดหมี่อื่นๆลงไปทำให้มองเผินๆคล้ายผ้ายันต์ซึ่งพบทั้งในพุทธศาสนา ศาสนาฮินดู และศาสนาอิสลาม แต่เดิมนั้นผ้ามัดหมี่ลายราชวัตรจะใช้นุ่งในพิธีกรรมต่างๆ โดยเชื่อจะเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่







ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายใบโพธิ์ ลายประแจจีน และลายฉัตร


พบมากในจังหวัดที่อยู่ภาคอีสานตอนบนและตอนกลาง ใช้เป็นผ้านุ่งสำหรับสตรี ทอด้วยกรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่ง นิยมทอด้วยการทอ 2 ตะกรอ ทั้งสามลายนี้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของช่างทอผ้าที่นำเอาสิ่งต่างๆรอบตัวมาผูกเป็นลาย


ลายใบโพธิ์ จะลวดลายคล้ายใบโพธิ์ เมื่อได้รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาจึงเรียกลายนี้ว่าลายหัวใจ เป็นลายโบราณประมาณรัชกาลที่ 5-6 สันนิษฐานว่าโครงสร้างของมีอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย





ลายประแจจีน (ประแจ = กุญแจ) ถือว่าเป็นลายแม่บท เป็นลายชั้นครู จากการค้นคว้าพบว่าลายผระแจจีนเก่าแก่นับย้อนไปถึงสมัยอียิปต์เรืองอำนาจโดยพบภาพเขียนลายประแจจีนในสุสานฟาโรห์ที่เมืองลักซอร์ ประเทศอียิปต์ และมีหลักฐานว่าพบลายประแจจีนนี้ในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ส่าง ราชวงศ์จิ้น ซึ่งมีอายุประมาณ 3000 ปี





ลายฉัตร พบมากในบริเวณภาคอีสานตอนใต้ที่มีอาณาเขตติดต่อกับกระเทศกัมพูชา เป็นลายที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุซึ่งเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาและเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อในระบอบกษัตริย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยนำมีที่มาของลายจากผ้าปิดานที่ประดับอยู่บนเพดานโบสถ์





ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายขอ


พบในทุกจังหวัดในภาคอีสาน ถือเป็นลายชั้นครูที่เป็นที่เก่าแก่และเป็นที่นิยมอยู่จนถึงทุกวันนี้ มักจะนำลายขอมาผสมผสานกับลายอื่นๆ เป็นลายที่ใส่ได้ทั้งบุรุษและสตรี โครงสร้างของลวดลายจะเป็นเส้นตรงๆแล้วมีการหักมุมมองดูคล้ายตะขอ บางครั้งจะมีการหักมุมมากกว่า 1 ครั้ง ทำให้มองคล้ายก้นหอย สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นลวดลายที่ผู้ทอคิดค้นขึ้นจากธรรมชาติรอบๆตัว เช่น งู พญานาค หรือเถาวัลย์


ลวดลายในกลุ่มขายขอที่พบในผ้ามัดหมี่ของอีสาน เช่น ลายขอหลวง ลายขอกูด ลายขอขวิด ลายขอนาคน้อย ลายขอเครือ เป็นต้น





ผ้าซิ่นลายนาค ลายขอนาค ลายนาคเกี้ยว และลายหงอนนาค


ผ้าซิ่นลายนาค ลายขอนาค ลายนาคเกี้ยว และลายหงอนนาค นิยมสวมใส่กันในชาติพันธุ์ลาว เขมร และไทยลาว ด้วยอิทธิพลความเชื่อของศาสนาฮินดูที่เชื่อกันว่านาคหรือพญานาคเป็นเทวพาหนะของพระวิษณุ จะเห็นได้ว่าในแถบภาคอีสานมีนิยายเกี่ยวกับพญานาคมากมาย ลายนาค ลายขอนาค ลายนาคเกี้ยว และลายหงอนนาค จึงเป็นสิ่งสะท้อนความเชื่อโบราณและถ่ายทอดลงบนทั้งผ้ามัดหมี่ ขิด และจก





ผ้าซิ่นไหมหางกระรอกประกอบแถบลายมัดหมี่


ผ้าซิ่นไหมหางกระรอกเป็นผ้าซิ่นโบราณเกิดขึ้นมาไม่น้อยกว่าสมัยอยุธยา พบมากในกลุ่มจังหวัดอีสานทางตอนใต้ ใช้สำหรับเป็นผ้านุ่งของบุรุษและโดยเฉพาะ จังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชาคือ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และสุรินทร์ จะใช้เป็นผ้าซิ่นของสตรีเท่านั้น


วัฒนธรรมการทอผ้าไหมหางกระรอกได้รับอิทธิพลมาจาก “ชาวกูย” นิยมือแถบลายมัดหมี่แคบๆกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตรตามแนวเส้นพุ่งที่ปลายชายผ้านุ่งโจงกระเบนทั้งสองข้างเป็นเคล็ดว่าผ้านี้ไม่สมบูรณ์ป้องกันภูติผีปีศาจให้แก่ผู้ที่สวมใส่






ผ้าซิ่นมัดหมี่ลายขาเปีย ลายปีกกา ลายตาข่าย ลายแห ลายฟองน้ำ


พบมากในภาคอีสานตอนบนและตอนกลางและพบในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวเท่านั้น ลวดลายเหล่านี้ได้ถูกคิดค้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้นจะไม่พบลายเหล่านี้ในผ้าของกลุ่มไทยลาวที่อาศัยอยู่ในประเทศลาวที่มีอายุมากกว่า 120 ปีเลย


ลายขาเปีย ลายปีกกา ลายตาข่าย ลายแห ลายฟองน้ำ เป็นลายที่ผู้ทอได้คิดค้นขึ้นด้วยภูมิปัญญาจากสิ่งของใกล้ตัว แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพในงานศิลปะของผู้ทอ







และนี่คือทั้งหมดจากนิทรรศการ “มัดหมี่ สายสัมพันธ์แห่งเอเชีย” ครับ ขอโทษด้วยที่ทราบข่าวงานนิทรรศการช้าไป กว่าจะได้ไปชม กว่าจะกลับมาเขียนบล็อกเสร็จงานนิทรรศการก็หมดไปแล้วครับ แต่ก็อดเอาของสวยๆ งามๆ ที่เต็มไปด้วยอัจฉริยภาพของชาวบ้านที่ทอผ้ามาอวดไม่ได้ครับ ผ้าทุกผืนรับชมผ่านกระทู้ว่าสวยแล้วไปดูของจริงสวยกว่าไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า ตัวเจ้าของบล็อกเองไปเดินชมอยู่นานจนเลยเที่ยงเลยออกไปหาข้าวทานแล้วยังกลับมาเดินชมต่อตอนบ่ายจนเกือบหมดเวลาเปิดให้เข้าชมครับ



ขอขอบคุณที่อุตส่าห์ติดตามชม  ตามอ่าน  จนจบครับ




Chubby Lawyer Tour ..................... เที่ยวไป ..... ตามใจฉัน



SmileySmileySmiley




Create Date : 29 สิงหาคม 2559
Last Update : 29 สิงหาคม 2559 16:11:49 น.
Counter : 14065 Pageviews.

5 comments
ตลาดเช้า, สถานีรถไฟพินอูลวิน สายหมอกและก้อนเมฆ
(18 เม.ย. 2567 17:06:42 น.)
봄 처녀(Virgin spring) by 홍난파(NanPa Hong) ปรศุราม
(17 เม.ย. 2567 10:09:12 น.)
The Proud Exclusive Hotel นครปฐม ที่พักทันสมัยใจกลางเมือง แมวเซาผู้น่าสงสาร
(17 เม.ย. 2567 09:22:45 น.)
Mahar Shwe Thein Taw Pagoda, Royal Jasmine Hotel - Pyin Oo Lwin สายหมอกและก้อนเมฆ
(11 เม.ย. 2567 16:06:34 น.)
  
ผ้าแต่ละลาย สวยมากครับ
เสาร์ที่ผ่านมาก็ไปธุระกทม.ครับ ขากลับก็ผ่านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร
(เลี้ยวซ้าย 10 ก.ม.)แต่ไม่ได้ไปครับ
แวะเข้าไปไหว้พระวัดที่ตั้งใจไว้แล้ว(ตั้งใจไว้นานมาก) วัดแม่นางปลื้ม

ที่บ้านก็น้ำท่วมถนนในซอยครับ เกิดจาก น้ำรอการระบายครับ

ขอให้น้องน้ำปิงหายไวๆนะครับ

ทนายอ้วน Travel Blog ดู Blog
โดย: เศษเสี้ยว วันที่: 29 สิงหาคม 2559 เวลา:15:39:39 น.
  
thx u crab
โดย: Kavanich96 วันที่: 30 สิงหาคม 2559 เวลา:3:37:34 น.
  
ผ้าสวยค่ะ แต่สัญญาณเน็ทอ่อนภาพเลยขึ้นไม่หมดค่ะ
ไว้มาชมอีกรอบค่ะ
โดย: เนินน้ำ วันที่: 30 สิงหาคม 2559 เวลา:17:45:30 น.
  
ผ้าสวยมากค่ะ ชอบดูจังเลย
โดย: sawkitty วันที่: 31 สิงหาคม 2559 เวลา:18:56:45 น.
  
ฝีมือประณีตสวยงามมากครับ
โดย: แมวเซาผู้น่าสงสาร วันที่: 31 สิงหาคม 2559 เวลา:21:12:35 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Chubbylawyer.BlogGang.com

ทนายอ้วน
Location :
นนทบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 156 คน [?]

บทความทั้งหมด