พระภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ VS การตักบาตรด้วยข้าวสาร ในวันเทโวโรหณะ พระภิกษุเว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ VS การตักบาตรในวันเทโวโรหณะ (เพื่อความเข้าใจในพระวินัยของพระสงฆ์) เนื่องจากมีบางท่านตั้งข้อสังเกต รวมถึงบอกกล่าวว่า การตักบาตรอาหารแห้ง ในวันเทโวโรหณะนั้น พระรับข้าวสารไม่ได้ เป็นการผิดจากข้อจุลศีล แล้วก็อ้างศีลข้อหนึ่ง ในจุลศีล ที่ว่า "อามกธญฺญมปฏิคฺคหณา ปฏิวิรโต โหติ -พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ" แล้วก็เอาจุลศีลข้อนี้แหละมาอ้างว่า พระภิกษุที่รับบิณฑบาตอาหารแห้ง เช่นข้าวสาร ในวันเทโวโรหณะนั้น ผิดหลักจุลศีล ผิดพระธรรมวินัย การกล่าวอ้างเช่นนี้ เข้าใจว่า เริ่มต้นขึ้นจากสำนักสงฆ์สามแยก ของพระเกษม และหลายๆท่านที่ได้รับทราบมา ก็เอามาบอกกล่าว จนอาจเป็นเหตุให้เข้าใจผิดได้ เพื่อความเข้าใจในจุลศีลข้อนี้ ขอบอกให้ทราบโดยทั่วกันว่า..... "คำว่า ธัญญาหารดิบ ไม่ได้หมายถึง ข้าวสาร" สาเหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า คำว่า ธัญญาหารดิบนั้น หมายถึง ธัญญชาติ ๗ ชนิด ที่พระภิกษุไม่พึงรับ ซึ่งในอรรถกถาสุมังคลวิลาสินี ตอนอธิบายจุลศีล ท่านให้คำอธิบายของคำว่า "รับธัญญาหารดิบ" เอาไว้ดังนี้ ว่า ------------------------ อามกธญฺญมปฏิคฺคหณาติ สาลิวีหิยวโคธุมกงฺคุวรกกุทฺรูสกสงฺขาตสฺส สตฺตวิธญฺญสฺสาปิ อามกธญฺญสฺส ปฏิคฺคหณา ฯ น เกวลญฺจ เอเตสํ ปฏิคฺคหณเมว อามสนมฺปิ ภิกฺขูนํ น วฎฺฏติเยว ฯ (แปล) บทว่า อามกธญฺญมปฏิคฺคหาณา ความว่า จากการรับธัญชาติดิบทั้ง ๗ อย่าง กล่าวคือ ๑.ข้าวสาลี ๒.ข้าวเปลือก ๓.ข้าวเหนียว(ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเหนียว) ๔.ข้าวละมาน ๕. ข้าวฟ่าง ๖.ลูกเดือย ๗.หญ้ากับแก้. อนึ่ง มิใช่แต่การรับธัญชาติดิบเหล่านี้ อย่างเดียวเท่านั้น แม้การจับต้องก็ไม่ควรแก่ภิกษุทั้งหลายเหมือนกัน. ------------------------ ดังที่อรรถกถาท่านได้ให้ความหมายของคำว่า "ธัญญาหารดิบ" นี้ ก็ชัดแล้วว่า หมายถึงข้าวสาลี ข้าวเปลือก ฯลฯ ซึ่งธัญญาหารดิบเหล่านี้ ไม่มีคำว่า "ข้าวสาร" ซึ่งภาษาบาลีเรียกว่า " ตัณฑุละ " ดังนั้น การที่พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธา จะถวายอาหารแห้ง ที่มีข้าวสารเป็นต้นนั้น พระภิกษุสงฆ์ก็สามารถรับได้ เพราะไม่อยู่ในเกณฑ์ธัญญาหารดิบ โดยสรุปก็คือ คำว่าธัญญาหารดิบ ในที่นี้ หมายเอา ธัญญชาติข้าว ที่ยังไม่ได้มีการขัดสี ยังเป็นข้าวเปลือกอยู่ เท่านั้น ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ข้อที่ ๘๕ ได้ระบุถึงการขออนุญาตของเมณฑกเศรษฐี ที่ขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ที่จะเดินทางไกล สามารถขอเสบียงได้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตตามที่ขอนั้น ดังพุทธดำรัสที่ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ปาเถยฺยํ ปริเยสิตุ ตณฺฑุโล ตณฺฑุลตฺถิเกน มุคฺโค มุคฺคตฺถิเกน มาโส มาสตฺถิเกน โลณํ โลณตฺถิเกน คุโฬ คุฬตฺถิเกน เตลํ เตลตฺถิเกน สปฺปิ สปฺปิตฺถิเกน มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย หนทางกันดารอัตคัดน้ำ อัตคัตอาหาร ภิกษุไม่มีเสบียงจะเดินทางไป ทำไม่ได้ง่าย เราอนุญาตให้แสวงหาเสบียงได้ คือ ภิกษุต้องการข้าวสาร พึงแสวงหาข้าวสาร ต้องการถั่วเขียว พึงแสวงหาถั่วเขียว ต้องการถั่วราชมาส พึงแสวงหาถั่วราชมาส ต้องการเกลือ พึงแสวงหาเกลือ ต้องการน้ำอ้อย พึงแสวงหาน้ำอ้อย ต้องการน้ำมัน พึงแสวงหาน้ำมัน ต้องการเนยใส ก็พึงแสวงหาเนยใส. จากพุทธานุญาตนี้บอกไว้ชัดว่า พระภิกษุสามารถรับข้าวสารได้ แต่ท่านผู้จะแย้งค้านไม่พึงเข้าใจว่า นี่เป็นพุทธานุญาตพิเศษเฉพาะในเวลาจะเดินทางไกล ในเวลาปกติรับไม่ได้ เพราะในจุลศีลระบุไว้ชัดว่า พระภิกษุ"เว้นขาด" ในเมื่อตรัสไว้ชัดว่า เว้นขาด ก็หมายความว่า ไม่สามารถรับได้ในทุกกรณี ดังนั้น โดยปกติพระภิกษุสามารถรับประเคนข้าวสารได้อยู่แล้ว แต่ไม่สามารถหุงต้มฉันเองได้
|
บทความทั้งหมด
|