The Imam and the Pastor หนังสมานฉันท์

The Imam and the Pastor
หนังสมานฉันท์
พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 3 มิถุนายน 2550
นี่คือหนังที่ได้ฉายรอบปฐมทัศน์ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ(ยูเอ็น) มหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2006 โดยมีนักการทูตกว่า 170 คน เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และแขกพิเศษอื่นๆ ร่วมรับชม
หนังฉายรอบปฐมทัศน์ที่ยูเอ็น...เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นปกติ ดังนั้น ตัวหนังต้องมีวาระสำคัญอยู่พอสมควร และแน่นอนว่าไม่ได้เป็นหนังดังจากค่ายใหญ่ หรือหนังดีจากค่ายดัง หากเป็นหนังเล็กๆ ที่มีคุณค่าต่อสังคมส่วนรวม แต่อยู่นอกเหนือการรับรู้ของคนทั่วไป
The Imam and the Pastor เป็นหนังสารคดีความยาว 40 นาที ว่าด้วยมิตรภาพของนักบวชต่างศาสนา 2 คน ที่ได้ร่วมมือกันสร้างหนทางแห่งสันติสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนชาวมุสลิมและชาวคริสต์ทางภาคเหนือของไนจีเรีย หลังจากชีวิตนับพันต้องถูกเซ่นสังเวยให้แก่วิกฤตความขัดแย้งห้ำหั่นตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษ
ประเทศไนจีเรียมีจำนวนผู้นับถือศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ไม่ต่างกันมากนัก และด้วยยอดประชากรกว่า 130 ล้านคน กอปรกับความเคร่งครัดศรัทธาในศาสนาของผู้คนที่นี่ ทำให้มีผู้เปรียบไนจีเรียเป็นเสมือนซาอุดีอาระเบียและวาติกันรวมอยู่ในที่เดียวกัน
หลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1960 ไนจีเรียถูกปกครองโดยมุสลิมทางภาคเหนือที่เดินหน้ากระบวนการทำประเทศให้เป็นรัฐอิสลาม ถึงกระนั้น ชน 2 ศาสนาก็อยู่ร่วมเรียงเคียงกันได้อย่างไร้ปัญหา มุสลิมส่วนใหญ่จะอยู่ตอนเหนือ ส่วนชาวคริสต์อยู่ทางตอนใต้ กระทั่งเกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียวที่เมืองคาฟันจัน รัฐคาดูนา ทางเหนือของไนจีเรีย ในปี 1978
นับแต่นั้น รอยปริแยกระหว่างศาสนาได้มุ่งสู่ความรุนแรงหลายครั้งหลายครา เช่น การปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตร่วม 3,000 ราย หลังจากเริ่มใช้กฎหมายอิสลามหรือชารีอะห์ในรัฐคาดูนาช่วงปี 2000-2001
และเหตุการณ์นองเลือดที่ชาวคริสต์สังหารชาวมุสลิมหลายร้อยคน ก่อนจะถูกชาวมุสลิมตอบโต้แบบเดียวกัน เรียกขานต่อมาว่า การสังหารหมู่ที่เยลวา-เชนดัม ในปี 2004

หนัง The Imam and the Pastor สะท้อนความขัดแย้งดังกล่าว และพลิกให้เห็นด้านสวยงามของมิตรภาพระหว่างนักบวชต่างศาสนา 2 คน ว่าพวกเขาทำอย่างไรและต้องพบความยากลำบากแค่ไหนกว่าที่ความบาดหมางถึงเลือดถึงเนื้อในวันวานจะบรรเทาเบาบางลงในวันนี้
ที่น่าสนใจคือมิตรต่างศาสนาทั้งสองมิได้หอบหิ้วแนวทางสันติกระโจนลงบนเปลวไฟแต่แรกเริ่ม หากแต่ต่างเคยเป็นแกนนำจับอาวุธห้ำหั่นมุ่งหมายเอาชีวิตกันมาก่อน
ย้อนไปตั้งแต่ปลายทศวรรษ 80 มูฮัมหมัด อัสฮาฟา อิหม่ามของศาสนาอิสลาม และ เจมส์ โมเวล วูเย พระของศาสนาคริสต์กลุ่มเพ็นเตคอสตัล ถือเป็นหนึ่งในผู้นำกองกำลังติดอาวุธของแต่ละฝ่ายในรัฐคาดูนา พวกเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน รบพุ่งทำลายล้างโดยไม่มีท่าทีผ่อนปรน ชื่อของคนหนึ่งจะอยู่ในบัญชีเลือดของอีกคน อัสฮาฟาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการที่สนับสนุนให้บังคับใช้กฎหมายอิสลามทางภาคเหนือ ส่วนวูเยมีหน้าที่ล้างสมองเยาวชนคริสเตียนให้ใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมโดยอ้างคำในไบเบิล(ในทางที่ผิด)
กระทั่งถึงจุดเปลี่ยนเมื่อวูเยเสียมือข้างขวาระหว่างการต่อสู้ครั้งหนึ่ง ส่วนอัสฮาฟาสูญเสียญาติและคนสนิท 3 คน ไม่นานจากนั้น พวกเขาก็มองเห็นแสงสว่าง ต่างให้อภัยซึ่งกัน และเปิดทางให้มิตรภาพเข้ามาแทนที่ความอาฆาตมาดร้าย
ปี 1995 ทั้งสองร่วมกันก่อตั้งและอำนวยการองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประนีประนอมระหว่างชาวคริสต์และมุสลิม จับผู้นำชุมชน 2 ศาสนาทั่วประเทศมาทำสัญญายุติความรุนแรงทุกรูปแบบ แม้จะยังดับเชื้อได้ไม่สนิท แต่ก็มีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น
พวกเขารณรงค์ให้เกิดสันติภาพไม่ใช่เฉพาะในคาดูนาหรือไนจีเรียเท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกพรมแดนแห่งความขัดแย้ง สร้างเครือข่ายพระและอิหม่ามให้เข้าถึงจุดที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดความรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว
ตลอดระยะเวลาหลายปี อัสฮาฟาและวูเยเดินทางด้วยกัน กินด้วยกัน พักในห้องเดียวกัน และต่างหลับสนิทด้วยความสบายใจ เพราะศัตรูที่จ้องเอาชีวิตเมื่อไม่กี่ปีก่อนได้อันตรธานจากไปแล้ว
เบื้องหลัง-เบื้องหน้าของมิตรภาพและสันติสุขทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดลงในหนังสารคดีเรื่อง The Imam and the Pastor มีทั้งภาพเหตุการณ์การสู้รบและความสูญเสีย ภาพชีวิตชาวมุสลิมและชาวคริสต์ในรัฐคาดูนา บทสัมภาษณ์นักบวชทั้งสอง และกระบวนการทำงานเพื่อความสมานฉันท์
หนังสร้างโดยบริษัทแอลเอฟที ฟิล์ม ฝีมือกำกับของ อลัน แชนเนอร์ โดยมี ฟิลิป คาร์ กำกับในส่วนของเมืองเยลวา-เชนดัม ให้เสียงบรรยายโดย ราเกห์ โอมาร์ อดีตผู้สื่อข่าวมือรางวัลของบีบีซี และ เดวิด แชนเนอร์ พ่อของอลันเป็นหนึ่งในตากล้อง
กล่าวสำหรับเดวิด แชนเนอร์ เขาคือช่างภาพและนักทำหนังสารคดีที่มุ่งมั่นถ่ายทอดเรื่องราวความสมานฉันท์และการให้อภัยท่ามกลางความแตกต่างขัดแย้งของผู้คนมาโดยตลอด หนังเรื่องแรกของเขาชื่อ For the Love of Tomorrow (1986) ซึ่งว่าด้วยสตรีชาวฝรั่งเศสที่เคยทุกข์ทรมานเพราะเยอรมันเมื่อครั้งสงครามโลก แต่ภายหลังมาทำงานเพื่อความปรองดองของคนสองชาติ ประสบความสำเร็จโดยแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 17 ภาษา กระทั่งเป็นที่มาของชื่อบริษัทสร้างหนังของเขา(LFT- For the Love of Tomorrow Films)
น่าเศร้าที่เดวิดไม่ทันได้เห็น The Imam and the Pastor เสร็จสมบูรณ์ เขาทรุดด้วยโรคมะเร็งไม่นานหลังจากไปถ่ายทำที่ไนจีเรียเป็นครั้งที่สอง กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2006 หรือก่อนฉายรอบปฐมทัศน์ที่ยูเอ็นเพียง 2 เดือน
หลังจากรอบปฐมทัศน์แล้ว หนังมีโปรแกรมไปฉายยังสถาบันสันติภาพ มหาวิทยาลัยอเมริกัน และมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในวอชิงตัน ดี.ซี ต่อด้วยธนาคารโลก รวมทั้งรัฐสภาอังกฤษ นอกเหนือจากการตระเวนฉายในไนจีเรีย และอีกหลายเมืองในแอฟริกา
ทั้งนี้ก็เพื่อสันติสุขที่รออยู่ในวันข้างหน้า...
I'm writting this down as one of my 'must see' list
Thanks for the article
wouldn't have known about the existence of this documentary.. without you ;)