เปิดบันทึก ′ดร.ป๋วย′...ใครเห็นแสงสว่างบ้างในอนาคต โปรดบอก ภาค3

@ อธิการบดีและที่ประชุมอธิการบดี


28. เมื่อมีข่าวว่าจอมพลถนอมจะเข้าประเทศไทยนั้น ผู้เขียนได้รับ
บทเรียนจากคราวที่จอมพลประภาสเข้ามาเมืองไทย เดือนสิงหาคม
จึงได้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะต้องได้รับความกระทบกระเทือนแน่

จึงได้เรียกประชุมอธิการบดีทั้งหลายที่ทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ
โดยรัฐมนตรีทบวงเห็นชอบด้วย ที่ประชุมอธิการบดีได้มีมติตอนต้น
เดือนกันยายน ให้เสนอขอให้รัฐบาลพยายามกระทำทุกอย่าง
มิให้จอมพลถนอมเข้ามาในประเทศไทย เพราะจะทำให้เกิดความยุ่งยาก
ในการศึกษา และจะทำให้สูญเสียการเรียน

ในขณะเดียวกันก็มีข้อตกลงกันภายในระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งหลายว่า
ถ้าจอมพลถนอมเข้ามาจริง แต่ละมหาวิทยาลัยก็ต้องใช้ดุลพินิจว่า
มหาวิทยาลัยใดควรปิดมหาวิทยาลัยใดควรเปิดต่อไป ทั้งได้วางมาตรการ
ร่วมกันหลายประการ


29. เมื่อจอมพลถนอมเข้ามาจริงในวันที่ 19 กันยายน ผู้เขียนในฐานะ
ประธานในที่ประชุมอธิการบดีสำหรับ 2519 ได้เรียกประชุมอธิการบดี
อีกทันที ในวันที่ 20 กันยายน โดยมีรัฐมนตรีทบวงร่วมด้วย

ที่ประชุมได้เรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเรื่องจอมพลถนอมโดยด่วน
และขอทราบว่ารัฐบาลจะทำเด็ดขาดอย่างใด เพื่อจะได้ชี้แจงให้นักศึกษา
แต่ละมหาวิทยาลัยทราบเป็นการบรรเทาปัญหาทางด้านนักศึกษา

แต่รัฐบาลหาได้ตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพียงแต่ออกแถลงการณ์
อย่างไม่มีความหมายอะไร

ต่อมาได้มีการประชุมอธิการบดีเรื่องนี้อีก 2 ครั้ง แต่ละครั้งก็ไม่ได้รับ
คำตอบจากรัฐบาลเป็นที่แน่นอนอย่างไร ดร.นิพนธ์ ศศิธร รัฐมนตรีทบวง
ได้ให้ความพยายามอย่างมาก และเห็นใจอธิการบดีทั้งหลายในเรื่องนี้
แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในอันที่จะให้คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
แสดงท่าทีอย่างไร


30. ในคืนวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาและประชาชนหักเข้ามาใน
ธรรมศาสตร์นั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ประกาศปิด
มหาวิทยาลัยตามที่ได้กล่าวมาข้อ 11 ทั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงกันในที่
ประชุมอธิการบดี

ต่อมา ในคืนวันอังคารที่ 5 ตุลาคม ผู้เขียนได้พูดโทรศัพท์กับ ม.ร.ว.
เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ในเวลาประมาณ 23 น. ขอให้ท่านนายก
รัฐมนตรีตั้งใครที่มีอำนาจเจรจากับนักศึกษาไปเจรจาในธรรมศาสตร์
เพราะที่แล้วมารัฐบาลเป็นเพียงฝ่ายรับ คือเมื่อนักศึกษาต้องการพบ
นายกรัฐมนตรี จึงให้พบ

ผู้เขียนเสนอว่าการตั้งผู้แทนนายกรัฐมนตรีไปเจรจากับนักศึกษานั้น
จะช่วยให้การชุมนุมสลายตัวได้ง่ายขึ้น นายกรัฐมนตรีตอบว่าจะต้องนำ
ความหารือในคณะรัฐมนตรีก่อน

หลังจากนั้นผู้เขียนเลยปลดโทรศัพท์ออกกระทั่งรุ่งเช้าเพราะเหตุว่า
ในคืนวันนั้นได้มีผู้โทรศัพท์ไปด่าผู้เขียนอยู่ตลอดคืน พอรุ่งเช้าก็เกิดเรื่อง


31. ก่อนหน้านั้นได้มีการนัดหมายอยู่แล้วว่า จะมีการประชุมสภา
มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 10 น.
ดร.ประกอบ หุตะสิงห์ นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานในที่ประชุม
ท้ายการประชุมนั้น ผู้เขียนได้แถลงลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ้างว่าจะอยู่เป็นอธิการบดีต่อไปไม่ได้
เพราะนักศึกษาและตำรวจได้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตายมากมาย

สภามหาวิทยาลัยก็แสดงความห่วงใยในความปลอดภัยส่วนตัวของ
อธิการบดี


32. ในตอนบ่ายมีเพื่อนฝูง อาจารย์หลายคน แนะให้ผู้เขียนเดินทาง
ออกไปจากประเทศไทยเสีย เพราะยานเกราะก็ดี ใบปลิวก็ดี ได้ยุยง
ให้มีการลงประชาทัณฑ์อธิการบดีธรรมศาสตร์ ในฐานที่เป็นผู้ยุยง
ส่งเสริมนักศึกษา ให้ทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้เขียนเห็นว่าอยู่ไปก็ไม่เป็นประโยชน์ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ระวังกระสุน
จึงตัดสินใจว่าจะไปอยู่กัวลาลัมเปอร์ ดูเหตุการณ์สักพักหนึ่ง
เพราะขณะนั้นยังไม่มีการรัฐประหาร


33. เครื่องบินไปกัวลาลัมเปอร์จะออกเวลา 18.15 น. ผู้เขียนได้ไปที่
ดอนเมืองก่อนเวลาเล็กน้อย ปรากฏว่าเครื่องบินเสียต้องเลื่อนเวลาไป
1 ชั่วโมง จึงนั่งคอยในห้องผู้โดยสารขาออก

ต่อมาปรากฏว่ามีผู้เห็นผู้เขียนและนำความไปบอกยานเกราะ ยานเกราะ
จึงประกาศให้มีการจับกุมผู้เขียน และยุให้ลูกเสือชาวบ้านไปชุมนุมที่
ดอนเมือง ขัดขวางมิให้ผู้เขียนออกเดินทางไป

เวลาประมาณ 18.15 น. ได้มีตำรวจชั้นนายพันโทตรงเข้ามาจับผู้เขียน
โดยที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ ได้ใช้กิริยาหยาบคายตบหูโทรศัพท์ร่วงไป
แล้วบริภาษผู้เขียนต่าง ๆ นานาบอกว่าจะจับไปหาอธิบดีกรมตำรวจ
ผู้เขียนก็ไม่ได้โต้ตอบประการใด เดินตามนายตำรวจนั้นออกมา

บรรดา สห. ทหารอากาศและตำรวจกองตรวจคนเข้าเมืองได้
ออกความเห็นว่า ไม่ควรนำตัวผู้เขียนออกไปทางด้านห้อง
ผู้โดยสารขาออก เพราะมีลูกเสือชาวบ้านอยู่เป็นจำนวนมาก
เกรงว่าจะมีการทำร้ายขึ้น จึงขออนุญาตทางกองทัพอากาศ
จะขอนำออกทางสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ

ระหว่างที่คอยคำสั่งอนุญาตนั้น ตำรวจทั้งหลายได้คุมตัวผู้เขียน
ไปกักอยู่ในห้องกองตรวจคนเข้าเมืองทางด้านผู้โดยสารขาเข้า


34. เมื่อถูกกักตัวอยู่นั้น ตำรวจกองปราบฯ ได้ค้นตัวผู้เขียนก็ไม่เห็น
มีอาวุธแต่อย่างใด มีสมุดพกอยู่เล่มหนึ่ง เขาก็เอาไปตรวจและกำลังอ่าน
หนังสือ Father Brown ของ G.K. Chesterton อยู่เขาก็เอาไปตรวจ
กระเป๋าเดินทางก็ตรวจจนหมดสิ้น


35. นั่งคอยคำสั่งให้เอาตัวไปคุมขัง อยู่ประมาณ 1 ชั่วโมง ระหว่างนั้น
ได้ทราบแล้วว่ามีการปฏิวัติรัฐประหารขึ้น ก็นึกกังวลใจว่าเพื่อนฝูงจะถูก
ใส่ความได้รับอันตรายหลายคน ส่วนตัวของตัวเองนั้นก็ปลงตกว่า
แม้ชีวิตจะรอดไปได้ก็คงต้องเจ็บตัว

ประมาณ 20 น. ตำรวจมาแจ้งว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ปล่อยตัวได้
และให้เจ้าหน้าที่จัดหาเครื่องบินให้ออกเดินทางไปต่างประเทศ

ขณะนั้นเครื่องบินที่จะไปกัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร์ออกไปเสียแล้ว
มีแต่เครื่องบินไปยุโรปหรือญี่ปุ่น จึงตัดสินใจไปยุโรป

นายตำรวจที่เอาสมุดพกไปตรวจนำสมุดพกมาคืนให้ ผู้เขียนก็ขอบใจ
เขาแล้วบอกว่า คุณกำลังจะทำบาปอย่างร้าย เพราะผมบริสุทธิ์จริง ๆ

นายตำรวจผู้นั้นกล่าวว่า นักศึกษาที่เขาจับไปนั้น 3 คนให้การซัดทอดว่า
ผู้เขียนเป็นคนกำกับการแสดงละคอนแขวนคอในวันจันทร์ที่ 4 โดยเจตนา
ทำลายล้างพระมหากษัตริย์ และเติมด้วยว่านักศึกษาที่ให้การซัดทอดนั้น
พวกกระทิงแดงเอาไฟจี้ที่ท้องจึง “สารภาพ” ซัดทอดมาถึงผู้เขียน


36. ระหว่างที่นั่งรอคำสั่งอยู่นั้น มีอาจารย์ผู้หญิงของธรรมศาสตร์ที่เป็น
นวพลเข้ามานั่งอยู่ 2 คน นัยว่าต้องการเข้ามาเยาะเย้ย แต่ผู้เขียนจำเขา
ไม่ได้ เลยไม่ได้ผล และขณะนั้นก็มีคำสั่งให้ปล่อยตัวเดินทางได้แล้ว
เข้าใจว่าอาจารย์ทั้งสองคือ อาจารย์ราตรี และอาจารย์ปนัดดา


ต่อมาอีกสักครู่ นายวัฒนา เขียววิมล ก็เข้ามาในห้องที่ผู้เขียนถูกคุมขังอยู่
เคยรู้จักกันมาก่อน เขาจึงเข้ามาทักผู้เขียนก็ทักตอบ แต่แล้วก็หันไป
จัดการจองเครื่องบินกับเจ้าหน้าที่ นายวัฒนาอยู่สักครู่เล็กๆ ก็ออกไป


@ การปฏิวัติรัฐประหาร

37. คณะที่กระทำการปฏิวัติ เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครอง”
เพื่อมิให้ฟังเหมือนกับการ “ปฏิวัติ” ของจอมพลสฤษดิ์ และจอมพล
ถนอม ที่แล้วมา ซึ่งเป็นที่เบื่อหน่ายของประชาชน

แต่ความจริงก็เป็นการปฏิวัติรัฐประหารนั่นเอง โดยทหารกลุ่มหนึ่ง
โดยมีพลเรือนเป็นใจด้วย เพราะ (1) ได้มีการล้มรัฐธรรมนูญ
(2) ได้มีการล้มรัฐสภา (3) ได้มีการล้มรัฐบาลโดยผิดกฎหมาย
(4) คำสั่งของหัวหน้าคณะ “ปฏิรูป” เป็นกฎหมาย
(5) มีการจับกุมปรปักษ์ทางการเมืองโดยพลการเป็นจำนวนมาก
และยังมีลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ผิดแผกแตกต่างไปจากการปฏิวัติรัฐประหาร
ที่แล้วๆ มา


38. มีพยานหลักฐานแสดงว่า ผู้ที่ต้องการจะทำการรัฐประหารนั้น
มีอยู่อย่างน้อย 2 ฝ่าย ฝ่ายที่กระทำรัฐประหารเมื่อเวลา 18 น.
วันที่ 6 ตุลาคม กระทำเสียก่อน เพื่อต้องการมิให้ฝ่ายอื่นๆ กระทำได้
ข้อนี้อาจจะเป็นจริง เพราะปรากฏว่า พลเอกฉลาด หิรัญศิริ
นักทำรัฐประหารถูกปลด และไปบวชอาศัยกาสาวพัสตร์อยู่ที่วัดบวรนิเวศ
เช่นเดียวกับจอมพลถนอม (วัดบวรนิเวศต่อไปนี้คงจะจำกันไม่ได้ ว่าแต่
ก่อนเป็นวัดอย่างไร) และพลโทวิฑูร ยะสวัสดิ์ ก็รีบรับคำสั่ง
ไปประจำตำแหน่งพลเรือนที่ประเทศญี่ปุ่น

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นปฏิวัติรัฐประหารอยู่วันยังค่ำ


39. ตามประเพณีการรัฐประหารของไทย ในระยะ 20 ปีที่แล้วมา
คณะรัฐประหารจัดให้มีการปกครองออกเป็น 3 ระยะ

(ก) ระยะที่ 1 เพิ่งทำการรัฐประหารใหม่ ๆ มีการล้มรัฐธรรมนูญ
ล้มรัฐสภาจับรัฐมนตรี และศัตรูทางการเมืองประกาศตั้งหัวหน้าและ
คนรองๆ ไป ตั้งที่ปรึกษาฝ่ายต่าง ๆ เช่น การต่างประเทศ เศรษฐกิจ ฯลฯ
ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี ออกประกาศและคำสั่งต่าง ๆ
เป็นต้น ระยะนี้เป็นระยะที่เผด็จการมากที่สุด

(ข) ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีธรรมนูญการปกครอง ตั้งคณะรัฐมนตรี
ตั้งสภา ออกกฎหมายโดยสภา แต่ยังเป็นระยะที่เผด็จการอยู่มาก
เพราะคณะรัฐมนตรีก็ดี รัฐสภาที่แต่งตั้งขึ้นก็ดีหัวหน้าปฏิวัติยังเป็นผู้คุมอยู่

(ค) ระยะที่ 3 เป็นระยะที่รัฐสภาแต่งตั้งนั้น ได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่เสร็จ
แล้ว จะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร แต่หัวหน้าปฏิวัติยังสามารถบันดาลให้
การเลือกตั้งนั้น ลำเอียงเข้าข้างตนเอง

แต่ระยะเวลาจะกินเวลาเท่าใดนั้น แล้วแต่หัวหน้าคณะปฏิวัติ เช่น สมัย
จอมพลสฤษดิ์ ระยะที่ 2 กินเวลากว่า 10 ปี

การจับกุมศัตรูทางการเมือง และใช้อำนาจเผด็จการนั้นกระทำได้ทุกเมื่อ
ทุกระยะ โดยอาศัยกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
และอาศัยธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญ (ปกติ มาตรา 17)
ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรีอย่างเต็มที่


40. ในการรัฐประหารปัจจุบัน ระยะที่ 1 กินเวลาตั้งแต่ 6 ตุลาคม ถึง
22 ตุลาคม นับแต่นั้นมาเราอยู่ในระยะที่ 2 ขณะนี้ แต่นายกรัฐมนตรี
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ยังขยายความต่อไปอีกว่า ระยะที่ 2 จะกินเวลา
4 ปี และระยะที่ 3 จะแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนละ 4 ปี โดยจะกุมอำนาจ
ไว้ต่อไปในระยะที่ 3 ตอนต้น

“เพื่อให้เวลาประชาชนไทยสามารถเรียนรู้การใช้สิทธิตามระบบประชาธิปไตย”

41. การรัฐประหารปัจจุบันมีข้อแตกต่างจากการรัฐประหารที่แล้วมา
อยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ

(1) หัวหน้าปฏิวัติไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง กลับแต่งตั้งพลเรือนเป็น
นายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งล่วงหน้า 14 วัน

(2) ตามธรรมนูญการปกครองที่ประกาศใช้เมื่อ 22 ตุลาคม 2519
(เขาเรียกกันว่ารัฐธรรมนูญ) นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีอิสรภาพ
ในการบริหารน้อยกว่าที่แล้วมา เพราะมีสภาที่ปรึกษา (ทหารล้วน) ค้ำอยู่
และ

(3) มีการเทิดทูนความเท็จในทางปฏิวัติมากกว่าคราวก่อน ๆ



42. ในการรัฐประหารแต่ละครั้งในประเทศไทย หัวหน้าปฏิวัติเป็นนาย
ทหารบก คราวนี้หัวหน้าเป็นนายทหารเรือ และรองก็เป็นนายทหารอากาศ
เป็นที่เข้าใจกันว่า พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นผู้ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมามากกว่า

เพราะนิสัยใจคอและลักษณะการคุมกำลังนั้น คงจะไม่ทำให้คุณสงัด
กระทำรัฐประหารได้เอง การที่รีบตั้งพลเรือนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน
ที่จะเป็นเสียเองก็ทำให้เกิดความฉงนมากขึ้น

ปัญหาที่มีผู้กล่าววิจารณ์กันมากก็คือ ใครเล่าอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร
คราวนี้ ซึ่งรู้สึกว่า กระทำกันแบบรีบด่วน
อาจจะวางแผนไว้ก่อนหน้าแล้ว
แต่รู้สึกว่ารีบจัดทำขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม หลังจากฆาตกรรมในธรรมศาสตร์
นั่นเอง

จะว่าพวกของพลเอกฉลาดก็ไม่ใช่ จะว่าพวกของพลโทวิฑูรก็ไม่ใช่
จอมพลถนอมก็ยังไม่ออกหน้ามา และคงจะไม่แสดงหน้าออกมา
จะเป็นใครเล่า เป็นประเด็นที่นักประวัติศาสตร์คงจะค้นหาความจริงได้


43. รัฐธรรมนูญ 22 ตุลาคม ก็ยังให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีอย่างกว้าง
ขวาง เช่นจะใช้อำนาจตุลาการลงโทษผู้ใดก็ได้ตามอำเภอใจ ตามมาตรา
21 ซึ่งถอดมาจากมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองเดิม แต่คราวนี้มี
สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาค้ำคอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
(มาตรา 18 และมาตรา 21) สภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้แก่

“คณะปฏิรูปการปกครอง” นั่นเอง คือเป็นกลุ่มนายทหารและตำรวจ
(1 คน) ที่ยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลาคม 2519


44. มาตรา 8 ของ “รัฐธรรมนูญ” เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลมีข้อความ
ประโยคเดียว คือ “บุคคลมีสิทธิเสรีภาพภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย”
และเราก็พอจะทราบว่าใครเป็นผู้บัญญัติกฎหมาย


นอกจากนั้น ในทางปฏิบัติเท่าที่เป็นมา ประชาชนจะไม่มีสิทธิ์ทราบความ
จริงอย่างไรเลย นอกจาก “ข้อเท็จจริง” ที่รัฐบาลอนุญาตให้ทราบได้

เพราะ “คณะปฏิรูป” ได้ตั้งกรรมการขึ้น 2 คณะ คณะหนึ่งเป็นผู้วินิจฉัยว่า
จะอนุญาตให้หนังสือพิมพ์ใดบ้างออกตีพิมพ์ได้ และอีกคณะหนึ่งเป็นผู้
เซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ที่ออกได้ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการทั้ง
2 คณะนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการกล่าวเท็จ เขียนเท็จทั้งนั้น

และหนังสือพิมพ์ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจำหน่ายได้ก็มีแต่หนังสือที่
เชี่ยวชาญในความเท็จ ฉะนั้นในระยะนี้และระยะต่อไปนี้ซึ่งยังไม่ทราบว่า
จะหมดสิ้นเมื่อใด หนังสือพิมพ์ของเมืองไทยส่วนใหญ่จะมีแต่ความเท็จ
เป็นเกณฑ์ เชื่อถือไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น ดาวสยาม ลงข่าวว่าตำรวจตามจับนายคำสิงห์ ศรีนอก
แล้ว ทางทหารได้หลักฐานยืนยันว่าคำสิงห์กับป๋วยกับเสน่ห์กับสุลักษณ์
ไปประชุมกันที่โคราชกับ เค จี บี เพื่อทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แล้วลงรูปถ่ายหมู่มีฝรั่งอยู่ด้วย อ้างว่าเป็น เค จี บี (รัสเซีย) ความจริงนั้น
รูปถ่ายหมู่ ถ่ายที่เขื่อนน้ำพรม การประชุมนั้นเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนผามอง
ผู้ร่วมประชุมนอกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย ชาวบ้าน ข้าราชการทั้งส่วนกลาง
และท้องถิ่นแล้ว ยังมีผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตด้วย

และคนที่ดาวสยามอ้างว่าเป็นรัสเซีย เค จี บี นั้น คือ นายสจ๊วต มีแซม
ชาวอเมริกัน ศาสนาคริสเตียน นิกายเควกเก้อ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการ
สัมมนาของเควกเก้ออยู่ที่สิงคโปร์ เวลานี้กลับไปอเมริกาแล้ว

ความเท็จที่หนังสือพิมพ์เหล่านี้ค้าอยู่มีตลอดเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2517

ส่วนวิทยุโทรทัศน์นั้น ก็ยังค้าความเท็จอยู่ตลอดเวลาเช่นเดิม

ในคืนวันที่ 5 ต่อวันที่ 6 ตุลาคม สถานีวิทยุ ท.ท.ท. ได้พยายามเสนอข่าว
เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงอย่างเป็นกลาง แต่สถานีวิทยุยานเกราะไม่พอใจ
เพราะ ท.ท.ท. เสนอความจริง ทำให้การปลุกระดมของยานเกราะเสียหายจึง
ได้ประณาม ท.ท.ท. อยู่ตลอดเวลาด้วย ครั้นมีการรัฐประหารขึ้น ก็ได้มี
การปลดผู้รับผิดชอบทาง ท.ท.ท. ทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ออกโดยไม่มี
เหตุผล


เป็นอันว่าจะหาความจริงจากหนังสือพิมพ์หรือวิทยุโทรทัศน์เมืองไทยมิได้
เลย แม้แต่ข่าวว่าตำรวจหรือทหารได้จับใครต่อใครไปบ้าง หรือใครข้าม
ไปลาว หรือใครทำอะไร อยู่ที่ไหน พูดว่าอย่างไร นอกจาก “ข่าว” ที่
รัฐบาลป้อนให้


@ คณะรัฐมนตรี 22 ตุลาคม 2519

45. นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีเป็นคนสะอาดบริสุทธิ์
เท่าที่เกี่ยวกับการปฏิบัติราชการแผ่นดิน เป็นผู้ที่ได้ออกวิทยุโทรทัศน์
แบบนิยม “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และสอนกับเขียนหนังสือ
เกี่ยวกับการต่อต้านปราบปรามคอมมิวนิสต์มากพอสมควร
จนมีผู้กล่าวกันว่า เป็น “ขวาสุด”

เมื่อยังหนุ่มๆ อยู่ กลับจากศึกษาที่ประเทศอังกฤษใหม่ๆ
นายธานินทร์เป็นผู้ที่รักการเขียนอยู่เป็นนิสัยแล้ว ได้เขียนบทความ
หลาย ๆ เรื่อง โดยอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมของไทย

ครั้งนั้นวงการตุลการมีเสียงกล่าวหาว่านายธานินทร์เป็นคอมมิวนิสต์
จะด้วยเหตุนั้นกระมังที่มีปฏิกิริยาต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างไม่หยุดยั้ง

นายธานินทร์มีความรู้ดี มีสติปัญญาเฉียบแหลม และรู้ตัวว่าฉลาดและ
สามารถ ปัญหามีอยู่ว่าจะทนให้สภาที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีค้ำคออยู่
ได้นานเท่าใด เฉพาะอย่างยิ่งถ้าสภาที่ปรึกษานั้นเข้าข้างคนทุจริต
ในราชการ หรือทำการทุจริตเสียเอง


46. ในคณะรัฐมนตรี ฝ่ายทหารสงวนตำแหน่งไว้ 3 ตำแหน่ง คือ
รองนายกรัฐมนตรี 1 รัฐมนตรีกลาโหม 1 และรัฐมนตรีช่วยกลาโหม 1
ทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ไม่ต้องกล่าวถึง

รัฐมนตรีมหาดไทย ก็เหมาะสมกับฉายาของกระทรวงนี้ที่เราเรียกกันว่า
กระทรวงมาเฟีย

รัฐมนตรีที่เป็นข้าราชการประจำ ไม่ถึงชั้นปลัดกระทรวงได้รับแต่งตั้งเป็น
รัฐมนตรี 8 คน คือ องนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย
รัฐมนตรีต่างประเทศพาณิชย์ยุติธรรม ศึกษาธิการ สาธารณสุข และทบวง
มหาวิทยาลัย

รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 และรัฐมนตรียุติธรรม เป็นเพื่อนส่วนตัวของ
นายกรัฐมนตรี

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเลือกมาจากประธานคณะกรรมการ
ตรวจเงินแผ่นดิน รัฐมนตรีว่าการเกษตรเป็นข้าราชการบำนาญอายุ 77 ปี

รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมเป็นข้าราชการบำนาญทหารอากาศ รัฐมนตรี
ว่าการคมนาคมเป็นเจ้าของรถเมล์ขาวมาแต่เดิม ทั้ง 4 คนนี้ คงจะทำหน้าที่
ได้ตามสมควร ตามความประสงค์ของสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

แต่เท่าที่ได้ทราบมา นายกรัฐมนตรีได้ทาบทามผู้อื่นก่อน และได้รับการ
ปฏิเสธมาหลายราย

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโกหกเก่ง และโกหกจนได้ดี


47. คนอื่นๆ ที่โกหกเก่ง แต่น่าเสียใจที่ยังไม่ได้ดี คือ ศาสตราจารย์ ดร.
อุทิศ นาคสวัสดิ์ อาคม มกรานนท์ ทมยันตี วัฒนา เขียววิมล
อุทาร สนิทวงศ์ ประหยัด ศ.นาคะนาท และเพื่อน ๆ ของเขาอีกหลายคน
ที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ นักพูดวิทยุและโทรทัศน์


@ อะไรจะเกิดขึ้น

48. ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไว้ เมื่อเดือนกันยายน
ซึ่งบางตอนได้นำมาถ่ายทอดใน Far Easten Economic Review ว่า
ถ้าเกิดปฏิวัติรัฐประหารขึ้นในประเทศไทยจะมีนักศึกษา อาจารย์
นักการเมือง กรรมกร ชาวนาชาวไร่ เข้าป่าไปสมทบกับพวกคอมมิวนิสต์
(ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์) อีกเป็นจำนวนมาก

เท่าที่ฟังดูในระยะยี่สิบวันที่แล้วมา ก็รู้สึกเป็นจริงตามนั้น
ยิ่งมีเหตุร้ายแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกระทบกระเทือนทั่วไป
หมด มิใช่แต่นักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้น ยิ่งมีช่องทางเป็นจริงมากขึ้น


49. ข้อที่น่าเสียดายสำหรับคนรุ่นหนุ่มสาวที่ใฝ่ในเสรีภาพก็คือ
เหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่เปิดโอกาสให้เขามีทางเลือกที่ 3
เสียแล้ว ถ้าไม่ทำตัวสงบเสงี่ยมคล้อยตามอำนาจเป็นธรรม
ก็ต้องเข้าป่าไปทำงานร่วมกับคอมมิวนิสต์

ใครที่สนใจในเรื่องสันติวิธี ประชาธิปไตย และเสรีภาพ จะต้อง
เริ่มต้นใหม่ เบิกทางให้แก่หนุ่มสาวรุ่นนี้และรุ่นต่อๆ ไป



50. ได้กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ทหารทั้งหลายยังแตกกัน และยังแย่งทำ
รัฐประหาร สภาพการณ์ก็คงจะเป็นอยู่เช่นนั้น แม้ว่าตัวการคนหนึ่งจะหลบ
ไปบวช และอีกคนหนึ่งไปญี่ปุ่น

จะทำอย่างไรให้เกิด “ความสามัคคี” ในหมู่ทหาร ซึ่งหมายความว่า
เป็น “ความสามัคคีในชาติ” ได้


น่าคิดว่าบทบาทของจอมพลถนอม กิตติขจร น่าจะยังมีอยู่ อาจจะสึก
ออกมารับใช้บ้านเมืองเพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นได้ อย่างที่เคย
มีมาในประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาหลายครั้ง หลายหน เช่น
พระมหาธรรมราชา เป็นต้น แล้วจอมพลประภาส จารุสเถียร เล่า
พันเอกณรงค์ กิตติขจร เล่า


51. เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรทางด้านการเมืองก็ตาม เป็นที่แน่ชัดว่า
โครงการสร้างระบบประชาธิปไตย 3 ระยะ 12 ปี ของคุณธานินทร์
กรัยวิเชียร กับพวก คงจะไม่เป็นไปตามนั้น


“เสี้ยนหนามศัตรู” ของรัฐบาลนี้มีหลายทางหลายฝ่ายนัก อะไรจะเกิดขึ้น
ได้ และสภาวะบ้านเมืองก็คงจะอำนวยให้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง ข้อที่แน่
ชัดก็คือ สิทธิเสรีภาพพื้นฐานจะถูกบั่นทอนลงไป สิทธิของกรรมกร
ชาวไร่ชาวนา จะด้อยถอยลงและผู้ที่จะได้รับความเดือดร้อนมากที่สุด
คือประชาชนพลเมืองธรรมดานั่นเอง


52. เมื่อกรรมกรไม่มีสิทธิโต้แย้งกับนายจ้าง เมื่อการพัฒนาชนบทแต่ละ
ชนิดเป็นการ “ปลุกระดมมวลชน” เมื่อมีการปฏิรูปที่ดินเป็นสังคมนิยม
เมื่อราคาข้าวจะต้องถูกกดต่ำลง เมื่อไม่มีผู้แทนราษฎรเป็นปากเสียงให้
ราษฎร เมื่อผู้ปกครองประเทศเป็นนายทุนและขุนศึก
การพัฒนาประเทศ
และการดำเนินงานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ คงจะเป็นไปอย่าง
เดิม ตามระบบที่เคยเป็นมาก่อน 2516

ฉะนั้นพอจะเดาได้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจของประชาชนจะมีมากขึ้นทุกที
โดยช่องว่างระหว่างคนมีกับคนจนจะกว้างขึ้น ชนบทและแหล่งเสื่อมโทรม
จะถูกทอดทิ้งยิ่งขึ้น ส่วนชาวกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ ที่ร่ำรวยอยู่
แล้วจะรวยยิ่งขึ้น ความฟุ้งเฟ้อจะมากขึ้นตามส่วน


การปฏิรูปการศึกษา การกระจายสาธารณสุขไปสู่ชนบท การกระจายอำนาจ
การปกครองท้องถิ่นอย่างดี ก็จะหยุดชะงัก ปัญหาสังคมของประเทศไทยจะ
มีแต่รุนแรงขึ้น


53. ทางด้านการต่างประเทศ อเมริกาคงจะมีบทบาทมากขึ้นในประเทศ
โดยใช้เป็นหัวหอกต่อสู้กับประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อนบ้านของเรา ประเทศ
ต่างๆ ที่เป็นภาคีในองค์การอาเซียนคงดีใจ เพราะได้สมาชิกใหม่ที่เป็น
เผด็จการด้วยกัน แล้วยังเป็นด่านแรกต่อสู้คอมมิวนิสต์ให้เขาด้วย


ภายในรัฐบาลไทยเอง ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคอมมิวนิสต์
คงจะไม่ราบรื่นนัก จะเห็นได้จากการที่เอาปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
และอธิบดีกรมการเมืองออกจากราชการ นัยว่าพวกทหารไม่ชอบ เพราะไป
ทำญาติดีกับญวน เขมร และลาว โดยสมรู้ร่วมคิดกับรัฐมนตรีต่างประเทศ
คนก่อน

การ “ปราบ” ญวนอพยพคงจะมีต่อไปการวิวาทกับลาวและเขมรเรื่อง
เขตแดนหรอเรื่องอื่นๆ ที่หาได้ง่าย คงจะเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา


ปัญหามีอยู่ว่า จะเป็นเรื่องวิวาทเฉพาะประเทศเล็กๆ ด้วยกันอย่างเดียว
หรือจะชักนำมหาอำนาจให้เข้ามาร่วมทำให้ลุกลามต่อไป


54. ผู้เขียนรู้สึกว่าเท่าที่เขียนมานั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องเศร้าน่าสลด
อนาคตมืดมน


ใครเห็นแสงสว่างบ้างในอนาคต โปรดบอก

28 ตุลาคม 2519


.
.
.

ที่มา: //www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1271927299&grpid=02&catid=no




ยิ่งได้อ่านทบทวนอีกครั้ง รู้สึกเหมือนนาฬิกาหมุนกลับ
วันนี้ฉันยืนอยู่ในปี 2519 หรือนี่

สารพัดฝั่งสารพัดฝ่ายช่วยกันมะรุมมะตุ้ม
สร้างเหตุการณ์ให้เกิดขึ้นแบบหมุนกลับ(โดยไม่ได้นัดหมาย)
แบบที่เห็นแล้วก็รู้ได้เลยว่า ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์มาก่อน
หรือรู้แจ้งเห็นจริง มีส่วนร่วมมาก่อนด้วยซ้ำ "แต่อย่าได้แคร์"



อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หากใครว่างๆ ก็ลองเสิร์ชข้อมูลเพิ่มดู
แล้วคุณจะรู้ว่า วันนี้ไอ้โม่ง(ไม่ว่าฝ่ายไหน)อาจปิดแผ่นฟ้าด้วยฝ่ามือได้
แต่สักวันความจริงจะปรากฏ และ "Action = Reaction"
หัวใจสำคัญของฟิสิกส์ก็ไม่ต่างจากกฎแห่งกรรม

แม้กฎหมายจะเอาผิดไม่ได้ แต่ฟ้ารู้ดินรู้ หนีกฎแห่งกรรมกันไม่พ้นสักราย




 

Create Date : 23 เมษายน 2553
0 comments
Last Update : 23 เมษายน 2553 14:41:31 น.
Counter : 611 Pageviews.


เสียงลมหนาว
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




winter's voice
มุมมองของฤดูหนาวที่ยังคงอยู่
แม้อุณหภูมิจะเปลี่ยนไป

เช่นเดียวกับจิตใจคน
แม้วันเวลาจะเปลี่ยนแปลงไป
แต่แก่นแท้ในจิตใจจะยังเหมือนเดิม???


นี่จึงเป็นเหตุผลที่ฉันเลือกจะอยู่เงียบๆ ตรงนี้
ในบ้านของตัวเอง ไม่ใช่โลกสีฟ้าใบใหญ่อีกต่อไป
หลังจากนี้จะแบ่งปันอะไรคงจะอยู่ในบ้านหลังนี้
ใครอยากจะถามอะไรก็แปะไว้ก็แล้วกันนะ



ป.ล. โปรดทราบทุกอมยิ้มที่แวะเวียนมา
เป็นที่ซาบซึ้งใจยิ่งนัก แม้ไม่ได้เม้นท์ตอบ
แต่ก็แอบอมยิ้มอยู่เงียบๆเสมอ \(^O^)/



ป.ล. 2 ขออภัยที่ไม่เปิดเผยใบหน้า
เพราะอยากให้อ่านกันที่เนื้องาน
มิใช่เปลือกที่อาจจะบังเอิญได้พบเจอ




Update !!!

Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
23 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เสียงลมหนาว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.