ดูทีวีออนไลน์ ดูทีวีย้อนหลัง ละครย้อนหลัง ช่อง 3 5 7 9 True AF8
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
26 ตุลาคม 2554
 
All Blogs
 
การดูแลรักษาพื้นหญ้าแต่ละชนิด สำหรับการจัดสวน

การดูแลรักษาพื้นที่โดยการปลูกหญ้า

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน ยิ่งในพื้นที่โล่งแจ้ง ปราศจากต้นไม้ใบหญ้าแล้ว อุณหภูมิจะสูงและมีฝุ่นละอองเป็นจำนวนมาก สร้างมลภาวะให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในพื้นที่ของหน่วยทหาร ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่โล่ง ที่ว่างเปล่ามาก ซึ่งอาจจะใช้เป็นพื้นที่ฝึกบ้าง เป็นเขตปลอดภัยทางทหารบ้าง เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์บ้าง ถ้าปราศจากการดูแลแล้ว ก็จะมีฝุ่นละออง อากาศโดยรอบอาคารที่ทำการและที่พักอาศัย จะร้อนมาก การแก้ปัญหาทางหนึ่ง คือการดูแลรักษาพื้นที่ว่างเหล่านั้น โดยการปลูกหญ้า ซึ่งหญ้าที่จะใช้ปลูกนั้น ก็มีอยู่หลายชนิด ซึ่งสามารถเลือกใช้ให้ถูกกับความต้องการของสนามว่า มีวัตถุประสงค์ หรือใช้เพื่อประโยชน์อะไร
หญ้าเป็นพืชอยู่ในตระกูล RAMINEAE เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยทั่ว ๆ ไป คือ ประกอบด้วยราก ลำต้น ใบ ช่อดอก และเมล็ด ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ ทั้งลำต้น ใบหญ้าแต่ละพันธุ์ ก็จะมีความยาว ความกว้าง สี และรูปทรง ตลอดจนการทำมุมของใบกับลำต้นที่แตกต่างกันออกไป สำหรับหญ้าที่ใช้ปลูกในบ้านเรา มีอยู่หลายชนิด ได้แก่ หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย หญ้าญี่ปุ่น หญ้าเบอร์มิวด้า หญ้านวลจันทร์ หญ้าแพรก หญ้าเซนต์ออกัสดีน หญ้ากำมะหยี่ ในบทความนี้ จะพูดเฉพาะหญ้าที่นิยมปลูกกันมาก เช่น

หญ้านวลน้อย (MANILA GRASS)
เป็นหญ้าพื้นเมืองของไทย ซึ่งความจริงน่าจะเรียกว่า BANGKOK GRASS แต่เนื่องจาก DR.C.V.PIPER ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสนามหญ้าของสหรัฐอเมริกา ได้นำพันธุ์หญ้าไปจากกรุงมะนิลาเมืองหลวงของประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ ก็เลยเรียกชื่อเป็น MANILA GRASS ไป หญ้านวลน้อยเป็นหญ้าที่นิยมปลูกมากที่สุดในประเทศไทย ชอบขึ้นในที่กลางแจ้ง ดูแลรักษาได้ง่ายสามารถขึ้นในดินเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว หรือดินร่วนปนทราย ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ง่าย นอกจากนี้ยังทนต่อที่ร้อนและแห้งแล้ง หรือที่น้ำท่วม ขัง แฉะได้เป็นครั้งคราว เป็นหญ้าที่ทนต่อการเหยียบย่ำ ทั้งยังต้านทานต่อโรคแมลงได้ดี นิยมใช้ทำสนามหญ้าทั่วไป เช่น สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ฯลฯ

หญ้ามาเลเซีย (CARPET GRASS)
เป็นหญ้าที่ขึ้นอยู่ในแถบอเมริกากลาง อเมริกาตอนใต้ แถวเม็กซิโก บราซิล และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก แล้วจึงนำมาปลูกในเขตร้อนสามารถปรับตัวได้ดีในที่แห้งแล้ง ที่นิยมปลูกกันมากชนิดหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งปลูกกันมานานแล้วในสวนยางพาราทางภาคใต้ ติดกับประเทศมาเลเซียก็เลยเรียกว่าหญ้ามาเลเซีย เป็นหญ้าที่ขึ้นได้ดีในที่ที่มีแสงแดดน้อย หรือร่มรำไร เช่นบริเวณชายคาบ้าน ฯลฯ ไม่ต้องการเอาใจใส่ดูแลมากนักและไม่ต้องตัดบ่อย ๆ เหมือนหญ้าอื่น ๆ แต่ต้องการน้ำมาก เนื่องจากมีใบใหญ่ จึงมีการคายน้ำมาก นิยมปลูกทำสนามหญ้าและสวนหย่อม โดยเฉพาะในที่ร่มรำไร การปลูกหญ้ามาเลเซียด้วยเมล็ด จะป้องกันการพังทลายของดิน ในที่มีความลาดชันสูงได้ดีเช่นกัน

หญ้าญี่ปุ่น (JAPANESE LAWN GRASS)
มีถิ่นกำเนิดในแถบแมนจูเรีย เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ไม่ชอบที่ชื้นและที่แฉะ มีการเจริญเติบโตช้าทนต่อการเหยียบย่ำพอสมควร ทนต่อโรคและแมลงต่าง ๆ ได้มากกว่าหญ้าชนิดอื่น ๆ เป็นหญ้าที่มีใบเล็ก มองดูแล้วสวยงามดี นิยมปลูกเป็นสวนญี่ปุ่น และในบริเวณที่เป็นทางเดินเท้า เพราะขึ้นคลุมดินแล้ว จะขึ้นหนาแน่นมาก จนวัชพืชอื่น ๆ ไม่สามารถขึ้นมาแซงได้

หญ้าเบอร์มิวด้า (BERMUA GRASS)
มีถิ่นกำเนิดอยู่รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เป็นการผสมกันระหว่างหญ้าแพรกธรรมชาติกับหญ้าฟลอริด้า เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เป็นหญ้าที่มีใบละเอียด ข้อปล้องสั้น ไม่มีดอก ทนต่อการเหยียบย่ำและฟื้นตัวได้เร็ว ใช้นิยมปลูกเป็นสนามหญ้าได้อีกประเภทหนึ่ง แต่จะเหมาะที่สุดสำหรับการทำกรีนสนามกอล์ฟ และทำสีสนามกอล์ฟ เป็นหญ้าที่ต้องการดูแลให้ถูกวิธี และเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษามาก จึงจะทำให้หญ้ามีคามสวยงาม

หญ้านวลจันทร์ (POLYTRIAS GRASS)
หรือหญ้าแพรกแดง บางทีก็เรียกหญ้าใบไผ่เป็นหญ้าพื้นเมืองของไทย มีการเจริญเติบโตเร็วมาก การดูแลรักษาต่ำ ใบมีลักษณะคล้ายใบไผ่ ที่ย่อให้เล็กลงมา มีสีเขียวอ่อน ชอบแสงแดดเต็มที่ ผู้ปลูกหญ้าโดยทั่วไปมักไม่ค่อยนิยมปลูกหญ้าชนิดนี้เพราะมีดอกและช่อดอกมีสีน้ำตาลเข้ม มองดูไม่สวยงาม และมีการเจริญเติบโตเร็ว จึงกลายเป็นวัชพืชได้ง่าย แต่จากการเป็นหญ้าที่ไม่ต้องดูแลรักษามาก ทนแล้งได้ดี ทนการเหยียบย่ำได้สูง จึงเหมาะสำหรับปลูกในสนามที่ไม่ต้องการดูแลรักษามาก เช่น สนามฝึก สนามฟุตบอล หรือพื้นที่ว่างที่กว้าง ๆ และมาก ๆ เช่น พวกพื้นที่ตามหน่วยทหาร เป็นต้น
การปลูกหญ้ามีหลายวิธี ซึ่งก็แล้วแต่ความสะดวก ความพอใจ ความต้องการของผู้ที่จะปลูกตลอดจนเงินทุนในการเตรียมดิน ค่าพันธุ์หญ้า และอื่น ๆ การปลูกหญ้าโดยทั่วไปมี ๕ วิธี ดังนี้

การปลูกโดยใช้เมล็ด
ทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าวิธีอื่น ๆ แต่ต้องทำการปราบวัชพืชในดินก่อน มิฉะนั้นแล้วหญ้าที่ปลูกด้วยเมล็ด จะขึ้นสู้วัชพืชไม่ได้ ในประเทศไทยเรายังไม่นิยม เพราะไม่มีเมล็ดหญ้าจำหน่าย ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมักจะเสื่อมเร็ว เพราะเมล็ดหญ้ามีอายุและความงอกสั้น

การปลูกหญ้าเป็นแผ่น ๆ หรือแบบปูพรม
เป็นที่นิยมที่สุดในบ้านเรา กระทำได้รวดเร็วแต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะต้องใช้พันธุ์หญ้าเป็นจำนวนมาก มีขายอยู่ทั่วไป โดยขายเป็นตารางเมตร ๆ ละ ๔ แผ่น เช่น หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย หญ้าญี่ปุ่น

การปลูกหญ้าแบบตัดเป็นแผ่นเล็ก ๆ
เหมาะสำหรับสนามใหญ่ ๆ เพราะถ้าปูเป็นพรม จะลงทุนสุงมาก และควรใช้กับหญ้าที่มีการเจริญเติบโนในแนวนอน และมีการเจริญเติบโตเร็ว เช่น หญ้านวลน้อย หญ้ามาเลเซีย หญ้าเบอร์มิวด้า โดยใช้หญ้าแผ่นมาตัดเป็นแผ่นเล็ก ๆ กว้างยาวประมาณ ๒ - ๓ นิ้ว กดลงในเลนที่เตรียม ให้มีระยะห่างต่อแผ่นประมาณ ๓ - ๔ นิ้ว ราดน้ำให้ชุ่มมิฉะนั้นรากหญ้าจะแห้ง หญ้าแผ่นที่ซื้อมา ๑ ตารางเมตร จะปลูกได้ ๔ ตารางเมตร วิธีนี้ลงทุนน้อยแต่ใช้เวลาปลูกนานหน่อย

การปลูกหญ้าแบบปักดำ
ใช้ส่วนของลำต้น ที่เรียกว่าไหลปลูก วิธีนี้สิ้นเปลืองน้อย ในกรณีที่ได้พันธุ์หญ้ามาจำกัด แต่จะเสียเวลานานกว่าจะปลูกหญ้าขึ้นเต็มสนาม เหมาะสำหรับปลูกในสนามหญ้าใหญ่ ๆ

การปลูกแบบหว่าน
ใช้ไหลของลำต้น ที่หญ้ายาวแล้วตัดส่วนยอดที่มีข้อมาแช่น้ำแยกเป็นต้น ๆ หว่านลงไปในเลน ซึ่งละเลงอยู่บนสนามที่เตรียมไว้แล้ว ใช้ไม้ยาว ๆ กดต้นให้ติดกับดินเลน วิธีนี้จะสิ้นเปลืองน้อย แต่ใช้เวลานาน และต้องคอยรดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ

เมื่อทราบถึงรายละเอียดของหญ้าและวิธีการปลูกแล้ว ก็ควรจะรู้วิธีดูแลรักษาด้วย เพราะถ้าหากละเลยหรือปล่อยทิ้งแล้ว ก็จะทำให้สนามหญ้านั้น ๆ รกรุงรัง มีสภาพทรุดโทรม ไม่สวยงามเหมือนเมื่อปลูกเสร็จใหม่ ๆ และหญ้าในสนามก็อาจจะตายได้โดยเฉพาะการให้น้ำ เพราะหญ้าเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากพอสมควร ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้แห้งและอย่าให้มากเกินไปจนน้ำแฉะ เพราะหญ้าบางชนิดอาจตายได้ และหญ้าก็เหมือนพืชชนิดต่าง ๆ ที่ต้องการธาตุอาหารอื่น ๆ เช่น คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน ออกซิเจน โปแตสเซียม แมงกานิส เหล็ก ฯลฯ เพราะแร่ธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องเพิ่มอีก ก็คือใส่ปุ๋ยต่าง ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม และเมื่อหญ้าเจริญเติบโตงอกงามดีแล้ว ก็ต้องมีการตัดแต่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้สนามหญ้าที่เรียบสม่ำเสมอ แลดูสวยงาม มีคุณภาพดี ทำให้หญ้าขึ้นแน่นไม่เห็นผิวดิน และยังเป็นการกำจัดโรคแมลงที่อาศัยในสนามหญ้า และเป็นการกำจัดวัชพืชอีกด้วย โดยช่วงเวลาของการตัดขึ้นอยู่ชนิดของพันธุ์หญ้า ชนิดของการใช้งานและเป็นไปตามฤดูกาล เช่น ในฤดูร้อน หญ้าจะเจริญเติบโตช้า ก็เว้นช่วงนานหน่วย แต่ในฤดูฝน หญ้าจะเจริญเติบโตเร็ว ก็ต้องตัดให้ถี่ขึ้น
ประโยชน์ของสนามหญ้า ประการสำคัญคือรักษาสภาพแวดล้อม กล่าวคือ ดินถ้าปราศจากสิ่งปกคลุมแล้ว เมื่อถูกลมพัด ทำให้ผิวหน้าของดินถูกชะล้างออกจนเหลือแต่ทราย ฝุ่นละอองของทรายจะถูกพัดพาไปกับสายลม เมื่อไปโดนอาคารสิ่งปลูกสร้าง ก็จะไปขัดสีผิวของอาคารทำให้สีที่ปกคลุมอาคารสึกกร่อน ฝนซึมเข้าผนังได้ง่าย ก่อให้เกิดความชื้นขึ้นภายในอาคาร สร้างความเสียหายให้แก่สิ่งปลูกสร้างในเวลาก่อนที่ควรจะเป็น ถ้ามีการปลูกหญ้าเป็นพืชคลุมดินแล้ว รากของหญ้าซึ่งเป็นรากฝอย ก็จะไปยึดดินไม่ให้ถูกชะล้าง เป็นการรักษาหน้าดิน และลดฝุ่นละอองไปในตัวด้วย ประโยชน์ที่สำคัญอีกประการของการปลูกหญ้า คือ ช่วยลดอุณหภูมิของพื้นที่โดยรอบอาคารด้วย กล่าวคือ เมื่อแสงแดดที่ร้อนจัด ส่องลงมากระทบกับหญ้า ใบของหญ้าก็จะดึงความร้อนจากแสงแดดมาเผาผลาญอาหาร แล้วปล่อยไอน้ำออกมา ก่อให้เกิดความชุ่มชื้นเหนือใบหญ้า เมื่อมีลมพัดผ่าน ความร้อนที่มากับลม ก็จะลดลงเรื่อย ๆ ทำให้บริเวณที่ปลูกหญ้ามีอุณหภูมิต่ำตามลงไปด้วย เมื่อมีอุณหภูมิต่ำ การใช้เครื่องปรับอากาศในอาคารในบริเวณที่กว้างขวางมากขึ้นเท่าไร อุณหภูมิจะเย็น การใช้พลังงานก็จะลดลง เป็นเงาตามตัวเท่านั้น นอกจากนั้นการปลูกหญ้า ยังมีประโยชน์อีกหลายประการ เช่น
· ทำให้เกิดความสง่างาม เป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สถานที่นั้น ๆ
· เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ การทอดสายตาผ่านความเขียวขจีของสนามหญ้าจะเป็นการผ่อนคลายเป็นอย่างมาก
· ช่วยลดอุณหภูมิที่เป็นพิษ จากควันเสียของโรงงาน จากท่อไอเสียรถยนต์ และอื่น ๆ
· การปลูกหญ้าในสนามกีฬาต่าง ๆ จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุเพราะหญ้าจะป้องกันมิให้ร่างกายสัมผัสพื้นดินโดยตรงทำให้เกิดการยืดหยุ่น นอกจากนั้นยังทำให้เกิดความสวยงาม และเรียบร้อยดี
การปลูกหญ้าให้ประโยชน์หลายอย่างตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นถ้าท่านมีพื้นที่ว่างเปล่าที่บ้านหรือหน่วยทหารต่าง ๆ ที่ยังมีพื้นที่โล่งแจ้ง ที่ยังปล่อยเป็นดินทรายเปล่า ๆ ก็ขอให้รีบดำเนินการหาหญ้ามาปลูกโดยด่วน ให้เลือกชนิดและวิธีปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ ประโยชน์ใช้สอย และงบประมาณของท่าน โดยเฉพาะหน่วยทหารต่าง ๆ ของกองทัพบก ท่านสามารถขอรับการสนับสนุนจากกรมยุทธโยธาทหารบกได้ ในเรื่องของรถตัดหญ้า ขอให้ท่านไปสำรวจดูว่า หน่วยของท่านมีอัตราของรถตัดหญ้าหรือไม่ ถ้ามีเป็นรถตัดหญ้าประเภทใด เครื่องตัดหญ้าสนาม รถตัดหญ้านั่งขับ หรือรถตัดหญ้าขนาดใหญ่ ขอให้รีบวางใบเบิกมา ทางกรมยุทธโยธาทหารบก ยินดีให้การสนับสนุน เพื่อจะได้เป็นส่วนช่วยให้หน่วยของท่าน มีสนามหญ้าที่เรียบร้อยสวยงาม และดูเด่นเป็นสง่า นอกจากนั้นยังเป็นส่วนช่วยรักษาสภาพแวดล้อมเป็นส่วนรวมอีกด้วย




Create Date : 26 ตุลาคม 2554
Last Update : 26 ตุลาคม 2554 22:02:23 น. 0 comments
Counter : 1156 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ตุ้งแง่ว
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ตุ้งแง่ว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.