ทักษภณ
 
พฤษภาคม 2563
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
31 พฤษภาคม 2563

ชั้นตรี ธรรมวิภาค จตุกกะ หมวด ๔

 
 

จตุกกะ คือ หมวด ๔

วุฒิ คือ ธรรมเป็นเครื่องเจริญ ๔ อย่าง
๑. สัปปุริสสังเสวะ คบท่านผู้ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจที่เรียกว่า สัตบุรุษ.
๒. สัทธัมมัสสวนะ ฟังคำสอนของท่านโดยเคารพ.
๓. โยนิโสมนสิการ ตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีหรือชั่วโดยอุบายที่ชอบ.
๔. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ซึ่งได้ตรองเห็นแล้ว

จักร ๔
๑. ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
๒. สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
๓. อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
๔. ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดี ไว้ในปางก่อน
          ประเทศอันสมควรนั้นคือ ประเทศที่มีสัตบุรุษอาศัยอยู่มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาอยู่ มีการบริจาคทาน หรือคำสอนของพระพุทธเจ้ายังรุ่งเรืองอยู่
           การคบหาสัตบุรุษนั้น คือการคบหาท่านผู้เป็นสัมมาทิฏฐิ ประพฤติชอบด้วยกายวาจาใจ และสามารถแนะนำผู้อื่น ให้ตั้งอยู่ในความดีได้เช่น พระพุทธเจ้าเป็นต้น
          การตั้งตนไว้ชอบนั้นคือ บุคคลผู้ไม่มีศีลก็ทำตนให้ตั้งอยู่ในศีล ไม่มีศรัทธาก็ทำตนให้มีศรัทธา ผู้มีความตระหนี่ ก็ทำตนให้เป็นคนถึงพร้อมด้วยการบริจาค
          ความเป็นผู้ได้ทำบุญไว้ในปางก่อน คือ ผู้ที่ได้สั่งสมกุศลกรรมไว้มากในปางก่อน โดยทำปรารภถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ จึงเป็นเหตุให้นำตนมาเกิด ในที่อันสมควรได้คบหากับสัตบุรุษ และได้ตั้งตนไว้ชอบเพราะกุศลที่ได้สร้างไว้ในกาลก่อนนี้
ธรรม ๔ อย่างนี้ ดุจล้อรถนำไปสู่ความเจริญ.

อคติ ๔
๑. ลำเอียงเพราะรักใคร่กัน เรียกฉันทาคติ
๒. ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน เรียกโทสาคติ
๓. ลำเอียงเพราะเขลา เรียกโมหาคติ
๔. ลำเอียงเพราะกลัว เรียกภยาคติ
อคติ ๔ ประการนี้ ไม่ควรประพฤติ

อันตรายของภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ ๔ อย่าง
๑. อดทนต่อคำสอนไม่ได้ คือเบื่อต่อคำสั่งสอนขี้เกียจทำตาม
๒. เป็นคนเห็นแก่ปากแก่ท้อง ทนความอดอยากไม่ได้
๓.เพลิดเพลินในกามคุณ ทะยานอยากได้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป
๔. รักผู้หญิง
ภิกษุสามเณรผู้หวังความเจริญแก่ตน ควรระวังอย่าให้อันตราย ๔ อย่างนี้ย่ำยีได้

ปธาน คือความเพียร ๔ อย่าง
๑. สังวรปธาน เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
๒. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม
ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบควรประกอบให้มีในตน
          สังวรปธาน ได้แก่เพียรระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้น ในเมื่อตาเห็นรูปเป็นต้น เพราะเมื่อไม่ระวังแล้วจะเป็นเหตุ ให้อกุศลเกิดขึ้นครอบงำใจได้
         ปหานปธาน ได้แก่เพียรละความชั่วคือ กามวิตก พยาบาทวิตก และวิหิงสาวิตกที่เกิดขึ้นกับใจเสีย
         ภาวนาปธาน ได้แก่เพียรทำกุศลให้เกิดขึ้น ด้วยการเจริญภาวนาด้วยความมีสติมีความเพียรเป็นต้น
         อนุรักขปธาน ได้แก่เพียรรักษาสมาธิ หรือกุศลอันตนเจริญให้เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป
 
อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกษาแก่ความสงบ
          ธรรมชาติที่รู้จริง รู้ชัด ทราบเหตุผลความดี ความชั่วอย่างถี่ถ้วนชื่อว่า ปัญญา แบ่งออกเป็น ๒ คือโลกิยปัญญา ปัญญาของโลกิยชน และโลกกุตตรปัญญา ปัญญาของพระอริยบุคคล ความจริง ความสัตย์ที่บุคคลตั้งไว้ จะทำสิ่งใด ก็ตั้งใจทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ไม่ท้อถอย ต่ออุปสรรคใดๆทั้งทางโลกและทางธรรมชื่อว่าสัจจะ.
         สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อความจริงใจนั้น กล่าวโดยทั่ว ๆ ไปได้แก่ อุปสรรคความขัดข้อง อันเป็นเหตุขัดขวาง แก่การทำความจริง เช่นความเกียจคร้าน หรือเจ็บไข้เป็นต้น แต่ในที่นี้ท่านหมายเอากิเลสบางจำพวก ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองกระวนกระวายไม่สงบเช่น โลภะ โทสะ โมหะ หรือนิวรณ์ ๕ เป็นต้นการละอุปสรรคเหล่านี้เสียได้ชื่อว่า จาคะ
         การละโมหะ และกิเลสอันเป็นฝ่ายต่ำ ซึ่งเป็นข้าศึกแก่ความจริง หรือระงับใจจากอารมณ์ที่มากระทบเข้าจัดเป็นอุปสมะ.

อิทธิบาท คือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง
๑. ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
๒. วิริยะ เพียรประกอบสิ่งนั้น
๓. จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
๔. วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น
       ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น คือ การที่บุคคลจะประกอบการงาน อย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ต้องมีความพอใจในการงานสิ่งนั้นเสียก่อน ต่อไปจึงมีความเพียรพยายาม ทำการงานอันนั้น อยู่เสมอเพื่อให้สำเร็จตามความต้องการ ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก คอยเอาใจใส่ดูแลขวนขวายในการงานนั้น และใช้ปัญญาพิจารณาซ้ำอีกว่า การงานนั้นมีผลดีผลร้ายอย่างไร เมื่อบุคคลมีคุณธรรม ๔  อย่างนี้สมบูรณ์แล้ว ก็จะให้สำเร็จการงานที่ตนประสงค์ไม่ยากนัก.
คุณ ๔ อย่างนี้ มีบริบูรณ์แล้ว อาจชักนำบุคคลให้ถึงสิ่งที่ต้องประสงค์ซึ่งไม่เหลือวิสัย

ควรทำความไม่ประมาทในที่ ๔ สถาน
๑. ในการละกายทุจริต ประพฤติกายสุจริต
๒. ในการละวจีทุจริต ประพฤติวจีสุจริต
๓. ในการละมโนทุจริต ประพฤติมโนสุจริต
๔. ในการละความเห็นผิด ทำความเห็นให้ถูก

อีกอย่างหนึ่ง
๑. ระวังใจไม่ให้กำหนัดในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
๒. ระวังใจไม่ให้ข้องเกี่ยวในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความหลง
๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอามรณ์ เป็นที่ตั้งแห่งการมัวเมา
ธรรม ๒ หมวดนี้ มีใจความชัดเจน อยู่ในตัวเองเพียงพอแล้ว

ปาริสุทธิศีล ๔
พรหมจรรย์สะอาดหมดจด บำเพ็ญศีลพรตเคร่งครัด ไม่เป็นที่รังเกียจ และติเตียน บางที่เรียกว่า ศีล เพราะศีล ๔ นี้ เหมือนแก่นแห่งธรรมวินัย อันสมบูรณ์สำหรับสมณเพศ
๑. ปาติโมกขสังวรศีล ประพฤติสำรวมตามสิกขาบทวินัย และสังฆกรรม ไม่ละเมิดข้อห้ามของภิกขุ
๒. อินทรีย์สังวรศีล สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ.
๓. อาชีวปาริสุทธิศีล เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบไม่หลอกลวงเขาเลี้ยงชีวิต
๔. ปัจจยปัจจเวกขณะ พิจารณาเสียก่อนจึงปริโภคปัจจัย ๔ คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และเภสัชยาคือรักษาโรค ไม่บริโภคด้วยตัณหาด้วยความมัวเมา
          การไม่ประพฤติล่วงพระวินัยบัญญัติ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ตั้งแต่ปาราชิกถึงเสขิยวัตร และไม่ประพฤติล่วงขนบธรรมเนียมธรรม
คือความประพฤติของภิกษุ ซึ่งเรียกว่าอภิสมาจาร จัดเป็น ปาฏิโมกขสังวร
         การคอยสำรวมระวัง ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในเมื่อ รูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ และธรรมมารมณ์ มากระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จัดเป็น อินทรีย์สังวร
         การเลี้ยงชีพชอบนี้ หมายเอาการงานที่ทำโดยสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำให้เขาเดือดร้อน หรือหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพอันผิดต่อธรรมวินัย การงดเว้นจากกรรมทุจริตเช่นนี้จัดเป็นอาชีวปาริสุทธิศีล
          การบริโภคปัจจัย ๔ คือ เสื้อผ้า(จีวร) อาหารที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคพึงนึกพิจารณาก่อนว่า เราบริโภคปัจจัย ๔ เพียงเพื่อบำบัด อันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นเช่น หนาว ร้อน แดดฝนเป็นต้น จัดเป็นปัจจัยปัจจเวกขณะ
ที่จัดธรรม ๔ อย่างนี้เป็นอาชีวปาริสุทธิศีล เพราะถ้าบุคคลประพฤติตามธรรมหมวดนี้แล้ว ก็เป็นเครื่องทำศีลให้บริสุทธิ์
อารักขกัมมัฏฐาน ๔
๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าที่มีในพระองค์ และทรงเกื้อกูลผู้อื่น
๒. เมตตา แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า.
๓. อสุภะ พิจารณาร่างกายตน และผู้อื่นให้เห็นเป็นไม่งาม เป็นสิ่งสกปรกของส่วนประกอบต่างๆในร่างกาย
๔. มรณัสสติ นึกถึงความตายอันจะมีแก่ตน
         การระลึกถึงพระคุณ ๓ อย่าง ของพระพุทธเจ้าคือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงมีเมตตาเกื้อกูล ต่อโลกเรียกว่าพุทธานุสสติ
         การแผ่เมตตาจิต ที่ไม่มีเวรไม่มีพยาบาท ปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุขทั่วหน้ากัน โดยปราศจากราคะไปในสัตว์ทั้งปวง เรียกว่าเมตตา การแผ่เมตตานี้มี ๒ อย่าง คือ แผ่ไปโดยเจาะจง และแผ่ไปโดยไม่เจาะจง
          การพิจารณาร่างกายโดยละเอียด แยกออกเป็นส่วนต่าง ๆ เช่น ผม ขนเล็บ ฟัน เป็นต้น ให้เห็นว่าเป็นของไม่สวยงาม ไม่สะอาด น่ารังเกียจ เป็นของปฏิกูลมีกลิ่นเหม็นเป็นต้นเรียกว่า อสุภะ
           การระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ๆ ว่า เราจะต้องตายแน่ ๆ ไม่วันใดก็วันหนึ่งดังนี้ อันเป็นเหตุให้เป็นผู้ไม่ประมาท ให้ได้รีบทำกุศลไว้ก่อนตาย เรียกว่า มรณัสสติ
กัมมัฏฐาน ๔ อย่างนี้ ควรเจริญเป็นนิตย์

พรหมวิหาร ๔
๑. เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาสันติสุขแก่ทุกชีวิต ประสานโลกให้อบอุ่นร่มเย็น ให้เป็นสุข
๒. กรุณา ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยยินดี เมื่อผู้อื่นได้ดี
๔. อุเบกขา ความวางใจเป็นกลาง ปลงใจวางเฉย เห็นเป็นธรรมดาของโลก
          ความคิดเอ็นดู สงสารปรารถนา เพื่อให้ผู้อื่นเป็นสุขโดยเว้นจากราคะ ความหวังดีแก่ผู้อื่นเรียกว่า เมตตาควรเจริญในเวลาปกติหรือทั่ว ๆ ไป ผู้เจริญย่อมกำจัดพยาบาทเสียได้
           ความสงสารคิดจะช่วย ผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ภัยต่าง ๆ ที่เขากำลังประสพอยู่ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ไม่คิดหนีเอาตัวรอดแต่ผู้เดียว เรียกว่ากรุณา ควรเจริญในเวลาที่เขาได้รับทุกข์ร้อน ผู้เจริญย่อมกำจัดวิหิงสาเสียได้
          การแสดงความยินดีด้วยกับผู้อื่น เมื่อท่านได้ดี เช่น ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งเป็นต้น ไม่คิดริษยาคนอื่น  เมื่อเขาได้ดีเรียกว่า มุทิตา ควรเจริญในเวลาที่เขาได้ดีผู้เจริญย่อมกำจัดอคติ และอิจฉาริษยาเสียได้
          การวางเฉยเสียในเวลาที่จะใช้เมตตา และกรุณาไม่เหมาะคือ สุดวิสัยที่จะช่วยเหลือได้ เช่นเห็นงูเห่ากำลังกินกบ เราจะช่วยกบก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นอันตรายแก่เราฉะนั้น จึงควรวางเฉยเสียเรียกว่า อุเบกขา ควรเจริญในเวลาที่เขาถึงความวิบัติ ผู้ที่เจริญย่อมกำจัดธรรมคือปฏิฆะ เสียได้
          พรหมวิหารธรรมนี้ ได้แก่ ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่พรหมนี้ ท่านจำแนกออกเป็น ๒ คือ พรหมโดยอุบัติ ได้แก่ท่านที่บรรลุฌานสมาบัติแล้วไปเกิดเป็นพรหมและพรหมโดยสมมติ ได้แก่ ท่านผู้ใหญ่ เช่น มารดาบิดาผู้มีเมตตากรุณาต่อบุตร.

สติปัฏฐาน ๔
๑. กายานุปัสสนา     ๒. เวทนานุปัสสนา     
๓. จิตตานุปัสสนา             ๔. ธัมมานุปัสสนา
       สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้ก็สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียก “กายานุปัสสนา”
       สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่ทุกข์ ไม่สุขเป็นอารมณ์ว่า เวทนานี้ก็สักว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียกเวทนานุปัสสนา
       สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียกจิตตานุปัสสนา
       สติกำหนดพิจารณาธรรม ที่เป็นกุศลหรืออกุศล ที่บังเกิดกับใจเป็นอารมณ์ว่า ธรรมนี้ก็สักว่าธรรมไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เรียกธัมมานุปัสสนา

ธาตุกัมมัฏฐาน ๔
ธาตุ ๔ คือ มวลสสาร เนื้อแท้ วัตถุธรรมชาติดั้งเดิม ได้แก่
๑. ธาตุดิน เรียกปฐวีธาตุ มีลักษณะเข้มแข็ง เห็นเป็นรูป สัมผัสได้ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า.
๒. ธาตุน้ำ เรียกอาโปธาตุ มีลักษณะเหลว ไหลถ่ายเท ทำให้อ่อนนุ่ม ผสมผสานกัน คือ ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร
๓. ธาตุไฟ เรียกเตโชธาตุ มีลักษณะร้อน ยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟยังกายให้กระวนกระวาย ไฟที่เผาอาหารให้ย่อย
๔. ธาตุลม เรียกวาโยธาตุ มีลักษณะที่พัดไปมา พัดไปทั่วร่างกาย ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดไปตามตัว ลมหายใจ
        ควรกำหนดพิจารณากายนี้ให้เห็นว่าเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประ ชุมกันอยู่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เรียกว่า ธาตุกัมมัฏฐาน.

อริยสัจ ๔
๑. ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ
๒. สมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิด
๓. นิโรธ คือความดับทุกข์
๔. มรรค คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์
         ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ได้ชื่อว่าทุกข์ เพราะเป็นของทนได้ยาก.
         ตัณหาคือความทะยานอยาก ได้ชื่อว่าสมุทัย เพราะเป็นเหตุให้ทุกข์เกิด
         ตัณหานั้น มีประเภทเป็น ๓ คือตัณหาความอยากในอารมณ์ที่น่ารักใคร่ เรียกว่ากามตัณหา ตัณหาความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่าภวตัณหา ตัณหาความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ เรียกว่าวิภาวตัณหา
         ความดับตัณหาได้สิ้นเชิง ทุกข์ดับไปหมดได้ชื่อว่านิโรธ เพราะเป็นความดับทุกข์
         ปัญญาอันเห็นชอบว่าสิ่งนี้ทุกข์ สิ่งนี้ทางให้ถึงความดับทุกข์ ได้ชื่อมรรค เพราะเป็นข้อปฏิบัติติให้ถึงความดับทุกข์

มรรคนั้นมีองค์ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
๖. สัมมาวายามะ ทำความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ตั้งสติชอบ
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ



 




 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2563
0 comments
Last Update : 25 สิงหาคม 2563 7:13:59 น.
Counter : 800 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


thampitak 33
Location :
สุรินทร์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
[Add thampitak 33's blog to your web]