ทักษภณ
 
พฤษภาคม 2563
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
30 พฤษภาคม 2563

ชั้นตรี ธรรมวิภาค ติกะ หมวด ๓



ติกะ คือ หมวด ๓
รัตนะ ๓ อย่าง
๑. พระพุทธ ๒. พระธรรม ๓. พระสงฆ์
๑. ท่านผู้สอนให้ประชุมชน ประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ ตามพระธรรมวินัย ที่พระท่านเรียกว่าพระพุทธศาสนา ชื่อว่า พระพุทธเจ้า
๒. พระธรรมวินัยที่เป็นคำสั่งสอนของท่านชื่อว่า พระธรรม
๓. หมู่ชนที่ฟังคำสั่งสอนของท่านแล้ว ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัยชื่อว่า พระสงฆ์
           พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ เรียกว่า ”รัตนะ” เพราะเป็นแก้วอันประเสริฐหาค่ามิได้ ทำให้ชนผู้เลื่อมใส เกิดความยินดีมีความสงบ ไม่เบียดเบียนกันและกัน จะหาทรัพย์อื่นเสมอเหมือนไม่มี ประเสริฐกว่า แก้วแหวนเงินทองเพชรนิลจินดาทั้งปวง จึงรวมเรียกว่า “พระรัตนตรัย“

คุณของรัตนะ ๓ อย่าง
- พระพุทธเจ้ารู้ดีรู้ชอบ ด้วยพระองค์เองก่อนแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย
- พระธรรมย่อมรักษา ผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว
- พระสงฆ์ปฏิบัติชอบ ตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตามด้วย

อาการที่พระพุทธเจ้าเจ้าทรงสั่งสอน ๓ อย่าง
๑. ทรงสั่งสอน เพื่อจะให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริง ในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น
๒. ทรงสั่งสอนมีเหตุที่ผู้ฟัง อาจตรองตามให้เห็นจริงได้
๓. ทรงสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ คือผู้ปฏิบัติตามย่อมได้ประโยชน์ โดยสมควรแก่ความปฏิบัติ

โอวาทของพระพุทธเจ้า ๓ อย่าง
๑. เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่ว ด้วยกาย วาจา ใจ.
๒. ประกอบสุจริต คือ ประพฤติชอบ ด้วยกาย วาจา ใจ.
๓. ทำใจของตนให้หมดจด จากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น

ทุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชั่วด้วยกาย เรียกกายทุจริต
๒. ประพฤติชั่วด้วยวาจา เรียกวจีทุจริต
๓. ประพฤติชั่วด้วย ใจ เรียกมโนทุจริต

กายทุจริต ๓ อย่าง
๑. ฆ่าสัตว์ ๒. ลักฉ้อ ๓. ประพฤติผิดในกาม
วจีทุจริต ๔ อย่าง
๑. พูดเท็จ ๒. พูดส่อเสียด ๓. พูดคำหยาบ ๔. พูดเพ้อเจ้อ
มโนทุจริต ๓ อย่าง
๑.โลภอยากได้ของเขา ๒. พยาบาทปองร้ายเขา ๓. เห็นผิดจากคลองธรรม
ทุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจไม่ควรทำ ควรละเสีย

สุจริต ๓ อย่าง
๑. ประพฤติชอบด้วยกาย เรียกกายสุจริต
๒. ประพฤติชอบด้วยวาจา เรียกวจีสุจริต
๓. ประพฤติชอบด้วยใจ เรียกมโนสุจริต

กายสุจริต ๓ อย่าง
๑. เว้นจากฆ่าสัตว์ ๒.เว้นจากลักฉ้อ ๓. เว้นจากประพฤติผิดในกาม
วจีสุจริต ๔ อย่าง
๑. เว้นจากพูดเท็จ ๒. เว้นจากพูดส่อเสียด ๓. เว้นจากพูดคำหยาบ ๔. เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ
มโนสุจริต ๓ อย่าง
๑. ไม่โลภอยากได้ของเขา ๒. ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ๓. เห็นชอบตามคลองธรรม
สุจริต ๓ อย่างนี้ เป็นกิจควรทำ ควรประพฤติ.

อกุศลมูล ๓ อย่าง
รากเหง้าของอกุศล เรียกอกุศลมูล มี ๓ อย่าง
๑. โลภะ อยากได้ ๒. โทสะ คิดประทุษร้ายเขา ๓. โมหะ หลงไม่รู้จริง

เมื่ออกุศลมูลเหล่านี้ คือ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ดี มีอยู่ แล้ว อกุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรละเสีย
เมื่อความโลภเกิดขึ้นแก่ผู้ใดก็จะทำให้ผู้นั้นทำทุจริตต่าง ๆ ได้ เช่น ฉกชิงวิ่งราว หรือปล้นสะดมเป็นต้น
เมื่อมีโทสะก็จะทำให้ผู้นั้นเป็นคนดุร้ายขาดเมตตา ไม่พอใจต่อผู้ใด ก็มุ่งแต่จะล้างผลาญเขาจึงเป็นเหตุให้ก่อเวรแก่กันและกัน
เมื่อมีโมหะก็จะทำให้ผู้นั้นมืดมนไม่รู้จักสิ่งที่ควรไม่ควรสิ่งที่ผิด หรือชอบ
เมื่อจะทำกิจการใด ๆ ก็จะทำไปตามความพอใจของตน อาจจะเป็นเหตุให้มีโทษมาถึงตัวก็ได้เพราะความโง่เขลาของกตัญญุตา นั่นเอง ฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า โลภะ โทสะ โมหะเหล่านี้เป็นรากเง่าของอกุศล

กุศลมูล ๓ อย่าง
รากเหง้าของกุศล เรียก กุศลมูล มี ๓ อย่าง คือ
๑. อโลภะ ไม่อยากได้ ๒. อโทสะ ไม่คิดประทุษร้ายเขา ๓. อโมหะ ไม่หลง
ถ้ากุศลมูลเหล่านี้ คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ก็ดี มีอยู่แล้ว กุศลอื่นที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็เจริญมากขึ้น เหตุนั้นควรให้เกิดมีในสันดาน

สัปปุริสบัญญัติ คือ ข้อที่ท่านสัตบุรุษตั้งไว้ ๓ อย่าง
๑. ทาน สละสิ่งของ ๆ ตน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น
๒. ปัพพัชชา ถือบวช เป็นอุบายเว้นจาก การเบียดเบียนกันและกัน
๓. มาตาปิตุอุปัฏฐาน ปฏิบัติมารดาบิดาของตนให้เป็นสุข
         ทานคือ การให้สิ่งของต่าง ๆ ของตนเองแก่ผู้อื่นด้วยความพอใจ ที่จะให้ จึงเรียกว่า ทานท่านจำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้น และธรรมทานคือการบอกกล่าว สั่งสอนชี้แจงให้คนอื่นรู้บาปบุญคุณโทษ จนถึงประโยชน์สูงสุด คือพระนิพพาน
         ปัพพัชชา คือ การงดเว้น หมายถึงการงดเว้น จากการเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน การปฏิบัติมารดาบิดา คือ การบำรุงท่านให้ได้รับความสุข เลี้ยงดูเอาใจใส่ท่านเมื่อคราวเจ็บไข้ ให้ของใช้สอยต่าง ๆ และประพฤติตามคำสอนของท่าน ให้สมกับที่ท่านเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็ก

อปัณณกปฏิปทา คือปฏิบัติไม่ผิด ๓ อย่าง
๑. อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
๒. โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกินอาหาร แต่พอสมควร ไม่มากไม่น้อย.
๓. ชาคริยานุโยค ประกอบความเพียร เพื่อจะชำระใจให้หมดจด ไม่เห็นแก่นอนมากนัก

          สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย กับอารมณ์ที่มากระทบเข้า คือเมื่อตาเห็นรูปสวยน่าพอใจ ก็ระวังใจไม่ให้เกิดความยินดี หรือเห็นรูปที่ไม่พอใจ ก็ระวังไม่ให้เกิดความยินร้ายขึ้น เป็นต้น
          รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารนั้น คือไม่บริโภคสนองความอยาก ต้องบริโภคแต่พอประมาณ ไม่มาก หรือน้อยจนเกินไป และให้มีสติอยู่เสมอว่า เราบริโภคเพื่อให้อัตภาพเป็นไปได้วัน ๆ หนึ่งเท่านั้น เว้นของบูดเน่าเสีย พร้อมทั้งบริโภคให้ถูกต้องตามกาลเวลา
ประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่นั้นคือ ผู้ที่จะชำระจิตใจของตน ให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง ต้องเป็นผู้ที่ไม่เห็นแก่นอนเมื่อนอน ก็ตั้งใจไว้เสมอว่า จะลุกขึ้นทำความเพียรต่อ


บุญกิริยาวัตถุ ๓ อย่าง
สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งการบำเพ็ญบุญ เรียกบุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง
๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน
๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการเจริญภาวนา
 
         คำว่าบุญคือ ความดีที่ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ บุคคลจะสามารถเจริญบุญนี้ได้ ๓ ทางด้วยกันคือ ด้วยการบริจาคทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
          การรักษาศีลคือ ระเบียบข้อฝึกหัด กาย วาจา ให้เรียบร้อยจำแนกออกเป็น ๓ อย่าง คือ
           ศีล ๕ สำหรับคฤหัสถ์ทั่วไป เรียกว่าจุลศีล ศีล ๘ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา และศีล ๑๐ สำหรับสามเณรเรียกว่า มัชฌิมศีล ศีล ๒๒๗ สำหรับพระภิกษุ เรียกว่ามหาศีล
            ภาวนา คือการทำใจยังกุศลให้เกิดขึ้น ที่มีอยู่แล้วก็เจริญให้มากขึ้น ภาวนามีอยู่ ๒ อย่าง คือ สมถภาวนา อุบายทำจิตให้สงบจากนิวรณ์ทั้ง ๕ เป็นต้น และวิปัสสนาภาวนา การเจริญปัญญาให้เห็นแจ้งซึ่งไตรลักษณ์คือ ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา.


สามัญลักษณะ ๓ อย่าง
         ลักษณะที่เสมอกันแก่สังขารทั้งปวง เรียกสามัญลักษณะ ไตรลักษณะก็เรียก แจกเป็น ๓ อย่าง
๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง
๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์ ( ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ )
๓. อนัตตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน

         สามัญลักษณะทั้ง ๓ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรลักษณ์ ที่ได้ชื่อว่าสามัญลักษณะ ก็เพราะสังขารทั้งปวง จะต้องเป็นไป ในลักษณะเดียวกันหมด ไม่ล่วงพ้นจากลักษณะทั้ง ๓ อย่างนี้ไปได้สังขารในที่นี้ ท่านหมายเอาทั้งสิ่งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต
เพราะความไม่เที่ยงนั้น ทุกสิ่งมีความเกิดขึ้นแล้ว ก็เปลี่ยนแปลงไป ตามสภาวะในที่สุดก็แตกดับสลายไป หาความเที่ยงแท้ถาวรมิได้เลย
        ที่ชื่อว่าความเป็นทุกข์ ก็เพราะจะต้องบำรุงรักษาอยู่ตลอดไป เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยเป็นต้น รวมไปถึงความเศร้าโศกเสียใจ ความร่ำไร รำพันต่าง ๆ
         ที่ชื่อว่า ไม่ใช่ตนก็เพราะว่า สภาวะของสังขารทุกอย่าง ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในสภาวะเดิมได้ เป็นนิรันดร จะต้องแตกสลายสูญหาย ไปตามกาลเวลา.




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2563
0 comments
Last Update : 25 สิงหาคม 2563 6:19:53 น.
Counter : 863 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


thampitak 33
Location :
สุรินทร์ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




New Comments
[Add thampitak 33's blog to your web]