สายน้ำเปลี่ยน...ชีวิตเปลี่ยน
สิ่งที่ชาวบ้านย่านนี้ต้องประสบชะตากรรมเหมือนๆ กันหมดก็คือการทนรับกับสภาวะน้ำป่าไหลหลากในช่วงเดือนตุลาคม ถึงธันวาคมของทุกๆปี เหตุผลเพราะว่าพวกเขาอาศัยอยู่ริมคลองปากพยิงซึ่งเป็นคลองที่เชื่อมต่อกับ"คลองอ้ายเขียว"ที่คอยรับน้ำที่ล้นมาจากเทือกเขาหลวงในเขตอำเภอพรหมคีรีจังหวัดนครศรีธรรมราช คลองปากพยิงทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำไหลออกสู่ทะเลอ่าวไทยบริเวณปากน้ำซึ่งเป็นจุดเชื่อมแดนระหว่างอำเภอท่าศาลาและอำเภอเมืองนครศรีฯ ปีไหนฝนน้อยตกแต่พอดีน้ำก็ไหลผ่านสบายๆ แต่หากปีไหนฝนตกหนักลองที่ว่าก็จะเอ่อท่วมท้นไปทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวปากโพซึ่งอยู่ปลายลำน้ำดูเหมือนจะรับเคราะห์กรรมเรื่องนี้หนักกว่าใคร เนื่องจากพื้นที่ป็นที่ลุ่ม

น้ำจากเทือกเขาหลวงนอกจากจะระบายไปยังคลองปากโพแล้วยังระบายออกไปทางคลองอื่นๆ ในเขตอำเภอท่าศาลาด้วย เช่นคลองวัดโหนด โดยน้ำที่มาจากคลองด้านนี้จะไหลออกทะเลทางปากน้ำอำเภอท่าศาลาส่วนเมืองนครศรีธรรมราชนอกจากจะมีคลองปากพยิงแล้วยังมีคลองท่าแพน้ำจะไหลออกทางปากน้ำท่าแพ และอีกหลาย ๆ แห่งในตัวเมืองนครศรีธรรมราชแต่สุดท้ายจะไปรวมกันที่ปากน้ำปากนครซึ่งถือเป็นจุดใหญ่ที่สุด

พ.ศ.2518จังหวัดนครศรีธรรมราช เคยเกิดอุทุกภัยครั้งใหญ่มาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนั้นชาวบ้านปากโพ ต.ปากพูน อ.เมืองจ.นครศรีธรรมราช ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบหนักกว่าใคร น้ำจากเขาหลวงพัดผ่านท่วมบ้านเรือนถึงหลังคาข้าวกล้าและพืชผลการเกษตรได้รับความเสียหายหมด ถนนราชดำเนินซึ่งเชื่อมต่อระหว่างตัวอำเภอท่าศาลาและเมืองนครศรีธรรมราช ถูกกระแสน้ำพัดขาดบริเวณสะพานปากพยิง

ช่างน่าแปลกใจที่ในช่วงนั้น น้ำจากเทือกเขาหลวงมักเอ่อล้นมาทางฝั่งตะวันออกบริเวณอ่าวไทยเท่านั้น ส่วนอีกฝั่งคืออำเภอลานสกา อำเภอฉวาง กิ่งอำเภอพิปูนซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของเทือกเขาหลวงกลับไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

พ.ศ.2531ชาวฝั่งตะวันตกของเทือกเขาหลวงหรือที่คนฝั่งตะวันออกเรียกกันว่า"ชาวหลังเขา" เป็นเขตปลอดน้ำท่วมมานาน ต้องกลับมาได้รับผลกระทบขนาดหนัก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ธรณีอุทกภัย(โคลนถล่ม)ขึ้นที่ ต.กะทูน อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้หมู่บ้าน 4 หมู่บ้านถูกถมด้วยโคลนและท่อนซุงขนาดใหญ่ ราษฎรที่อาศัยอยู่ในย่านนี้ถูกฝังอยู่ใต้โคลนนับพันชีวิต ทางการให้บทสรุปว่าสาเหตุการเกิดโคลนถล่มครั้งนั้นเนื่องจากการบุกรุกเข้าไปสร้างที่ทำกินในบริเวณเชิงเขา เมื่อดินบริเวณยอดเขาอุ้มน้ำมานานเนื่องจากฝนตกหนักพังทลายลงมาก็ไม่มีสิ่งกีดขวางใดๆ มากั้น

อย่างไรก็ตาม ราษฎรที่ยังรอดชีวิตอยู่ทุกคนต่างอพยพหนีไปอยู่ที่อื่นกันหมด ทำให้บ้านกะทูนกลายเป็นสุสานขนาดใหญ่กินพื้นที่ถึง 70 ตารางกิโลเมตร หลังจากนั้นในทุกฤดูฝน น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหลวงผ่านคลองปากโพก็ดูเหมือนจะมีน้อยลง เมื่อเข้าไปดูในหมู่บ้านคีรีวงในเขตอำเภอพรหรมคีรีก็ทราบว่าสายน้ำที่ไหลที่ไหลมาจากเขาหลวงเกิดเปลี่ยนทางหลังเกิดอุทุกภัยในครั้งนั้น ต่อมาสุสาน 4หมู่บ้านของบ้านกะทูนก็ถูกสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำตามโครงการในพระราชดำริชื่อว่าอ่างเก็บน้ำกะทูน

ปัจจุบันนี้น้ำป่าธรรมชาติที่จะไหลบ่ามาท่วมบ้านเรือนราษฎรในเขตนครศรีธรรมราชมีโอกาสน้อยลง ยกเว้นในเขตชุมชนหรือตัวเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังเมื่อเกิดฝนตกหนัก ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำก็มั่นใจได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมอีกต่อไป โดยเฉพาะชาวบ้านปากโพ ของตำบลปากพูน

น้าเลี่ยมชายวัยเจ็ดสิบซึ่งอาศัยอยู่ริมคลองปากโพ บอกกับเราว่า ปัจจุบันแม้ว่าฝนตกหนักแต่น้ำก็ไม่ท่วม อาจจะมีบ้างที่น้ำปริ่มตลิ่งและเชี่ยวกราก แต่ในหน้าแล้งนั้นลำคลองเส้นนี้แทบจะไม่มีน้ำเลยสักหยด ยกเว้นในช่วงน้ำทะเลหนุนน้ำจะไหลเข้าลำคลองและกลายเป็นน้ำเค็ม

“เมื่อก่อนมันมีน้ำตลอดปีนะ ปลาปูก็อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านย่านนี้ก็ทำประมงนี่แหละหาปูหาปลาไปขาย”น้าเลี่ยมบอก

“ทำนาก็ทำได้นะ ที่ดินข้างหลังเป็นที่นา เป็นสวนมะพร้าว บางคนก็ทำน้ำตาลมะพร้าว ฉันก็เคยทำ” น้าเลี่ยมพูดต่อด้วยสำเนียงทองแดง แววตาเป็นประกายวาววามอยู่บนร่องหน้าที่ยับย่นเมื่อหวนคำนึงถึงภาพในอดีต

“แต่มันก็ไม่ใช่ว่าจะดีนักนะทำแค่กันตาย มันจะให้ดีเด่มันเป็นไปไม่ได้เพราะพอน้ำท่วมทุกอย่างก็ไปหมด น้ำลดก็มาว่ากันใหม่”

น้าเลี่ยมบอกว่าทุกวันนี้ไม่ได้ทำน้ำตาลมะพร้าวแล้ว ไม่ใช่เพราะอายุมากขึ้นหากแต่ต้นมะพร้าวมันก็หมดเวลาไปตามอายุไข ทำนาไม่ได้เพราะดินเริ่มเค็ม คนมีเงินเหลือก็ขุดบ่อเลี้ยงกุ้งใครไม่มีก็ขายที่ดินให้นายทุนไปทำนากุ้งจนหมด

“จากนาข้าวเปลี่ยนเป็นนากุ้ง”น้าเลี่ยมหัวเราะเหมือนขำเสียเต็มประดา ใช่...ขำเพราะวันนี้สภาพนากุ้งก็ไม่เหลือแล้วเช่นกัน เนื่องจากนากุ้งมันมีอายุขัยของมัน เลี้ยงทุกปี ๆสภาพดินและน้ำก็ชุ่มไปด้วยสารเคมี ปรับสภาพเท่าไหร่กุ้งยังตายไม่เหลือคนเลี้ยงก็ขาดทุน บางรายรวยเพราะนากุ้งแล้วก็เจ๊งเพราะนากุ้งอีกนั่นแหละ

ดินที่ถูกขุดทำนากุ้งถูกนำไปขายให้กับโรงเผาอิฐ ตอนนี้ชาวบ้านที่นี่เริ่มรู้จักอาชีพใหม่ หันมาขุดดินในบ้านตัวเองออกขาย แต่ดินมันงอกใหม่ไม่ได้ แถมขายได้ไม่กี่บาท ดินที่พวกเขาขุดจึงถูกเปลี่ยนสภาพมาเป็นเครื่องปั้นดินเผา

การทำเครื่องปั้นดินเผาของชาวปากโพได้รับอิทธิพลมาจากหมู่บ้าน“ทุ่งน้ำเค็ม”ในเขตตำบลโมคลาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช สองชุมชนนี้อยู่ใกล้กันโดยมีสายน้ำคลองปากโพเป็นตัวเชื่อม แต่เดิมพวกเขาปั้นมาขายในเขตชุมชนใกล้เคียงเท่านั้น เช่นบริเวณตลาดสี่แยกวัดโหนด ต.หัวตะพานอ.ท่าศาลา (ปัจจุบันอยู่ในเขต อบต.โพธิ์ทอง) แต่เมื่อการคมนาคมเจริญรุดหน้าขึ้น สินค้าของพวกเขาก็มีโอกาสเดินทางไปโชว์ตัวเองอยู่บริเวณริมถนนราชดำเนินย่านบ้านศาลาบางปู ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน

ถนนราชดำเนินทอดยาวมาจากเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีผ่านอำเภอขนอม อำเภอสิชล อำเภอท่าศาลา ผ่านบ้านในถุ้ง ผ่านสระบัวซึ่งเป็นหาดทรายสถานที่ท่องเที่ยวของชาวนครศรีตัดผ่านบ้านหน้าทัพ บ้านปากพยิง บ้านศาลาบางปู ก่อนถึงทางแยกเข้าสนามบินนครศรีฯมันเลยไปถึงค่ายวชิราวุธแล้วอ้อมค่ายทหารทะลุไปถึงตัวเมืองนครศรีธรรมราช

ถนนที่ทอดยาวผ่านบ้านบ้านปากพยิงถึงบ้านศาลาบางปูนี่แหละ เป็นสถานที่โชว์สินค้าประเภทเครื่องปั้นดินเผาที่เกิดมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของพี่น้องที่เคยทุกข์ลำบากอยู่ในลุ่มน้ำที่ชื่อทุ่งน้ำเค็มและบ้านปากโพ ทั้งกระถางต้นไม้หลากหลายรูปแบบ หม้อนึ่งข้าวเหนียว(ปักษ์ใต้เรียกสวด)หม้อต้มยาสมุนไพร รวมทั้งเครื่องประดับตกแต่งสวนหย่อมหลากหลายชนิดถูกโชว์เรียงรายอยู่สองข้างทาง รอให้คนที่เดินทางผ่านไปมาได้จับจ่ายซื้อหา

ตุ่น ลูกสาวของน้าเลี่ยม บทบาทของเธอต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ให้กับลูกสาวอีกคน เนื่องจากสามีเสียชีวิต บอกว่า อาชีพการทำเครื่องปั้นดินเผาของเธอมันทำให้ความเป็นอยุ่ดีขึ้น และสิ่งที่ทำให้เธอพอใจมากที่สุดก็คือการได้อยู่กับบ้านโดยไม่ต้องออกเดินทางไกล

“ได้เลี้ยงลูกได้ดูแลพ่อแม่ในยามชรา แค่นี้ก็ดีแล้ว”

“ของที่เราทำ เราไม่ต้องออกไปขายเอง ทำเสร็จมีคนมาซื้อหมด”เธอบอกกับเรา ซึ่งหมายถึงกลุ่มพ่อค้า แม่ค้าริมถนนย่านศาลาบางปูนั่นเอง

“เมื่อก่อนมันลำบากนะคนที่นี่ ไปตลาดทีก็ลำบาก น้ำก็ท่วมทุกปีทำนาก็แค่พอกินจะหาเงินหาทองด้วยวิธีไหนยังนึกไม่ออก”

“แล้วทำไมไม่ทำตั้งแต่ตอนนั้น”เราสงสัย

“มันทำไม่ได้ น้ำท่วมดินมันเหลวมีแต่ขี้โคลน เอามาทำกระถางแบบนี้ไม่ได้หรอก”

จากต้นน้ำของคลองปากพยิงที่เชื่อมต่อมามาจากคลองอ้ายเขียวอ.พรหมคีรี เรื่อยมาถึงปลายลำน้ำคลองปากพยิง ต.ปากพูน อ.เมืองนครศรีธรรมราชไม่น่าเชื่อว่า ปัจจุบันนี้ลำน้ำแห้งขอด หากยืนบนสะพานข้ามคลองปากโพแล้วมองไปทางบ้านทุ่งน้ำเค็ม แทบไม่มีน้ำให้เห็น เราสามารถเดินข้ามไปมาทั้งสองฝั่งได้อย่างสบายถ้าหากไม่ติดอยู่ที่ขี้โคลนที่อาจดูดเราลงไปให้จมได้ถึงครึ่งเอว มันไม่ใช่เฉพาะที่นี่หรอก ที่เป็นแบบนี้ แม้กระทั่งช่วงที่ลำน้ำนี้ไหลผ่านบ้านอู่ตะเภาของอำเภอท่าศาลา สภาพของลำคลองก็แห้งขอดจนมองเห็นแต่ขี้โคลนเช่นเดียวกัน

แน่นอนว่าสาเหตุที่เป็นแบบนี้เกิดจากธรณีอุทกภัยครั้งใหญ่ที่บ้านกะทูนเขตอำเภอพิปูนนั่นเอง ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้กระแสน้ำจากหุบเขาเปลี่ยนทิศทาง เมื่อสายน้ำเกิดเปลี่ยนทิศ วิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ริมน้ำก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา

น้าเลี่ยม,ตุ่น และใครอีกหลายๆ คนในย่านนี้ลืมวิถีชีวิตการหากินกับการประมงในลำน้ำลงไปแล้ว แต่พวกเขาก็ได้วิถีชีวิตที่ดีกว่า อีกทั้งยังไม่ต้องผจญกับปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากจนเกินความจำเป็นมันจึงเป็นสิ่งที่น่าจะพอใจมากกว่า

ใครคือผู้หาญกล้าที่สามารถกำหนดทิศทางของกระแสน้ำได้ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านกะทูนในพระราชดำริอย่างนั้นหรือ คงไม่ใช่กระมัง อ่างเก็บน้ำบ้านกะทูนคงไม่เกิดขึ้น ถ้าหากโคลนไม่ถล่มจนบ้านเรือนและผู้คนนับพันต้องถูกฝังทั้งเป็นมาก่อน แล้วถ้าถามว่า ทำไมโคลนถึงถล่มล่ะ....หนึ่งในสามข้อจากคำตอบของกรมชลประทานชัดเจนอยู่ในเหตุผลของมันอยู่แล้ว

กรมชลประทานบอกว่า....เพราะพื้นที่ลาดเขามีความชันมาก ประกอบมีการตัดไม้ทำลายป่าธรรมชาติอย่างกว้างขวางในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำจึงมีการพังทลายของภูเขาเนื่องจากดินไม่สามารถต้านแรงกัดเซาะของน้ำฝนที่ตกปริมาณมากได้ ตะกอนทราย ทรายกรวด ก้อนหิน และไม้ต่าง ๆ ได้ไหลเทรวมมากับน้ำและตกตะกอนทับถม ณพื้นที่เชิงเขาตอนล่างเป็นบริเวณกว้างอย่างรวดเร็ว


มาถึงตรงนี้จึงทำให้เกิดคำถามว่า...แล้วใครละเป็นคนตัดไม้ทำลายป่าเหล่านั้น  ถ้าไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง  มาถึงวันนี้ธรรมชาติได้โต้ตอบการกระทำของมนุษย์แล้วใช่หรือไม่  และธรรมชาติก็จะโต้ตอบเชนนี้เรื่อยไปตราบใดที่มนุษย์ยังไม่หยุดทำลายธรรมชาติ.




Create Date : 20 ตุลาคม 2556
Last Update : 20 ตุลาคม 2556 2:12:08 น.
Counter : 1116 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เดียวดาย ตะวันออก
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ชัยยุทธ์ ภาระเพิง

Create Your Badge
ตุลาคม 2556

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
12
13
14
15
16
17
18
19
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31