ผมทำมันขึ้นมาเพื่อหวังว่า เมื่อคุณอ่าน blog ของผมแล้ว อาจมีเงินเพิ่มขึ้น หรือสามารถรักษาเงินไว้ ไม่สลายหายไปแบบ ถูกกฎหมาย
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
18 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
กฎของพาร์กินสัน (Parkinson ‘ Law)

กฎของพาร์กินสัน

(Parkinson ‘ Law)

เรียบเรียงโดย

นายพงษ์ศักดิ์ แก้วแสนเมือง

บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น



1. บทนำ

หนังสือ “กฎของพาร์กินสัน” ของ ซีริล นอร์ทโคท พาร์กินสัน เป็นเรื่องราวที่มีแง่คิดเกี่ยวกับการบริหารงาน ซึ่งผู้เขียนได้สร้างกฎเกณฑ์ที่น่าสนใจหลายประการโดยใช้สำนวนโวหารของการเขียนแสดงความเย้ยหยันการบริการงานที่ไม่ถูกต้อง แต่ได้แฝงความตลกขบขันไว้ด้วย ทำให้หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียงดีเด่น และ “กฎของพาร์กินสัน” ก็ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการ ดังจะเห็นได้จากการอ้างอิงกฎนี้อยู่เสมอในตำราทางวิชาการด้านบริหาร



2. ประวัติและประสบการณ์ ผลงาน

2.1 ประวัติ ประสบการณ์




ซีริล นอร์ทโคท พาร์กินสัน (Cyril Northcote Parkinson) บุตรชายคนสุดท้องของ William Edward Parkinson เกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ.1909 (พ.ศ. 2452) ที่เมืองดรูแฮม นอร์ทคาโรไรน่า สหรัฐอเมริกา และเสียชีวิตลงในวันที่ 9 มีนาคม 1993 (พ.ศ. 2536) ที่เมืองเคนท์ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอังกฤษ รวมอายุ 84 ปี พาร์กินสันเป็นนักประวัติศาสตร์ ทหารเรือ นักประพันธ์ โดยหนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา และมียอดขายสูงสุด คือ กฎของพาร์กินสัน (Parkinson's Law) จากผลงานนี้เองทำให้เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รอบรู้แห่งศาสตร์การบริหารธุรกิจ

พาร์กินสัน เข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะทางตะวันออกเฉียงเหนือ ในปี 1913 และในปี 1929 เขาเข้าเรียนที่ St. Peter's School และสอบเข้าศึกษาอนุปริญญาทางประวัติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสำเร็จการศึกษาในปี 1932 จากนั้นพาร์กินสันหันมาสนใจทางด้านประวัติศาสตร์แห่งราชนาวี และในปี 1934 พาร์กินสันเขียนหนังสือเล่มแรกของเขา คือ Edward Pellew, Viscount Exmouth และเขาก็ลงทะเบียนเข้าศึกษาต่อที่ King's College London โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง War in the Eastern Seas (1793-1815) ซึ่งได้รับรางวัล Julian Corbett Prize in Naval History ประจำปี 1935

หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี 1934 พาร์กินสันเข้ารับราชการที่กองทหารที่ 22 กรมทหารกรุงลอนดอน ในระหว่างปี 1938 – 1945 พาร์กินสันได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ต่างๆ คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ประจำ Blundell's School (1938) เป็นผู้สอนวิชานาวี ณ Royal Naval College, Dartmouth (1939) ในปี 1940 พาร์กินสันได้รับแต่งตั้งให้เป็นกัปตันในกองทหารแห่งราชวงศ์ และก้าวสู่ตำแหน่งนายทหารผู้สอน ในปี 1943 พาร์กินสันสมรสกับ Ethelwyn Edith Graves นางพยาบาลประจำโรงพยาบาล Middlesex มีบุตรด้วยกัน 2 คน

ในปี 1945 พาร์กินสันถูกปล่อยตัวจากการรับราชการทหาร จากนั้นเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยลิเวอร์พลู ในระหว่างปี 1946 – 1949 ในปี 1950 พาร์กินสันได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศสิงคโปร์



2.2 ผลงาน

ผลงานของซีริล นอร์ทโคท พาร์กินสัน มีจำนวนมาก ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาต่างๆ ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เค้ามากที่สุด คือ กฎของพาร์กินสัน



· The Devil to Pay (1973)

· The Fireship (1975)

· Touch and Go (1977)

· Dead Reckoning (1978)

· So Near, So Far (1981)

· The Guernseyman (1982)

· Edward Pellew, Viscount Exmouth (1934)

· The Trade Winds, Trade in the French Wars 1793-1815 (1948)

· Samuel Walters, Lieut. RN (1949)

· Trade in the Eastern Seas (1955)

· British Intervention in Malaya, 1867-1877 (1960)

· East and West (1963)

· Britannia Rules (1977)

· A Short History of the British Navy, 1776-1816

· Portsmouth Point, The Navy in Fiction, 1793-1815 (1948)

· Parkinson's Law (1957)

· The Evolution of Political Thought (1958)

· The Law and the Profits (1960)

· In-Laws and Outlaws (1962)

· Parkinsanities (1965)

· Left Luggage (1967)

· Mrs. Parkinson's Law (1968)

· The Law of Delay (1970)

· The fur-lined mousetrap (1972)

· The Defenders, Script for a "Son et Lumiere" in Guernsey (1975)

· Gunpowder, Treason and Plot (1978)

ฯลฯ



ผลงานของซีริล นอร์ทโคท พาร์กินสัน ยังถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทย อีกจำนวนหลายเล่ม เช่น

· อ่านงบดุลให้เป็น

· ควบคุมต้นทุนเพื่อสร้างกำไร

· เลี้ยงลูกให้ถูกวิธี = Children: How to manage them now that you’re got then

· เลี้ยงลูกให้เป็นคนดี

· บริหารงานต้องบริหารคน

· ควบคุมต้นทุน เพื่อสร้างกําไร

· การบริหารงานยุคใหม่

· 222 ข้อควรจำสำหรับนักบริหาร:Business is People

· การบริหารงานในดง เสือ สิงห์ กระทิงแรด

ฯลฯ

3. กฎของพาร์กินสัน

3.1 การปรากฏของปีรามิด (Parkinson's Law, or The Rising Pyramid)

เพื่อให้งานเสร็จสิ้น งานจะขยายออกไปจนเต็มเวลาที่มีอยู่ ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับ ดังปรากฏในสุภาษิตว่า “คนที่ยุ่งที่สุดคือคนที่มีเวลาเหลือ” ดังนั้น หญิงชราที่มีเวลาว่างอาจจะใช้เวลาทั้งวันในการเขียนจดหมายถึงหลานสาว เธออาจจะใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงค้นหาไปรษณียบัตร หนึ่งชั่วโมงค้นหาแว่นตา ครึ่งชั่วโมงค้นหาที่อยู่ อีกหนึ่งชั่วโมงสิบห้านาทีเป็นเวลาเขียนข้อความ และใช้เวลาอีกยี่สิบนาทีตกลงใจว่าเมื่อออกจากบ้านไปทิ้งจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์ที่ถนนถัดไป จะนำร่มไปด้วยหรือไม่ ในความพยายามทั้งหมดนี้ ถ้าเป็นคนที่มีภาระมากเขาอาจจะใช้เวลาเพียง 3 นาทีเท่านั้น

เมื่อยอมรับได้ว่างานยืดหยุ่นตามเวลาที่ต้องการก็เป็นที่ประจักษ์ว่ามีความจำเป็นน้อยหรือไม่มีความสัมพันธ์กันเลย ระหว่างงานที่ต้องทำกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่อาจได้รับมอบหมายให้ทำงานนั้น

เราอาจจะแยกแรงจูงใจออกได้ 2 ประการ

1) ข้าราชการต้องการเพิ่มจำนวนผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ไม่ต้องการผู้เป็นศัตรู

2) ข้าราชการทำงานให้ซึ่งกันและกัน



เพื่อขยายความตามข้อ 1 เราต้องกำหนดข้าราชการคนหนึ่งให้ชื่อว่า A ซึ่งพบว่าตนเองทำงานมากเกินไป ไม่ว่างานที่ทำมากเกินไปนี้จะเป็นจริงหรือเป็นความคิดก็ตาม แต่จากสิ่งที่ผ่านไปแล้วเราควรสังเกตเหตุการณ์ว่าจากความรู้สึกของ A อาจจะทำให้เขาตัดสินใจ 3 ทาง คือ เขาอาจจะลาออก เขาอาจจะแบ่งงานครึ่งหนึ่งให้เพื่อน (B) ช่วยทำ เขาอาจจะเรียกร้องให้มีผู้ใต้บังคับบัญชา 2 คน (C และ D) ซึ่งแน่นอนว่า A จะเลือกวิธีที่ 3 แน่นอน เพราะการลาออกจะทำให้เขาเสียสิทธิ์หลายประการ การแต่งตั้ง B ช่วยงานในระดับเดียวกัน ย่อมจะทำให้เขาเกิดมีคู่แข่งที่จะเลื่อนไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นการดีที่งานของ A จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนระหว่าง C และ D ทำให้เกิดประโยชน์สำหรับเขา ที่จะเป็นคนเพียงคนเดียวที่เข้าใจงานทั้ง 2 งาน การจะแต่งตั้ง C หรือ D ขึ้นเป็นตำแหน่งบริหารที่สูงขึ้น ก็ไม่สามารถจะทำได้เนื่องจากมีความรู้เพียงด้านเดียว ทำให้ C และ D ก็ต้องพยายามหาผู้ใต้บังคับบัญชามาช่วยงานอีก 2 คน (E , F , G , H) เพื่อให้ตนเองมีโอกาสเลื่อนขึ้นไปแทนที่ A เมื่อ A ได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น

ขณะนี้มีข้าราชการ จำนวน 7 คน ปฏิบัติงานที่เดิมมีเพียงคนๆ เดียวที่ปฏิบัติมาก่อน ซึ่งคนทั้ง 7 คน ยังทำงานหนักเหมือนเดิม เมื่อเอกสารผ่านข้าราชการระดับล่าง ขึ้นมายัง C หรือ D เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง จากนั้นจึงให้ A ลงนาม ซึ่ง A ก็อาจจะลงนามโดยไม่อ่านข้อความเลย เพราะจะอ้างว่างานส่วนอื่นเยอะ



3.2 ความตั้งใจของประชาชนหรือการประชุมทั่วไปประจำปี (The Will of the People, or Annual General Meeting)

เราทั้งหมดคุ้นเคยกับความแตกต่างพื้นฐานระหว่างสถาบันรัฐสภาของอังกฤษ และฝรั่งเศส ซึ่งต่างลอกแบบมาจากการประชุมสมัชชาอื่น เราทั้งหลายทราบดีว่าความแตกต่างในหลักใหญ่ มิได้อยู่ที่อารมณ์ของชาติ แต่อยู่ที่แผนผังที่นั่งในสภา เนื่องจากคนอังกฤษถูกเลี้ยงให้เติบโตขึ้นมาแบบเล่นกันเป็นทีม เมื่อเข้าสู่สภาสามัญจึงสวมวิญญาณของผู้ที่อยากกระทำการอย่างอื่นอีก ถ้าเขาไม่ได้เล่นกอล์ฟหรือเทนนิส อย่างน้อยเขาก็แกล้งให้เห็นว่า การเมืองเป็นเกมที่มีกฎคล้ายคลึงกัน ด้วยวิธีการนี้ ถึงแม้การกระทำของสภาจะเป็นที่สนใจน้อย แต่ก็ช่อยปลุกให้เกิดความสนใจ ดังนั้น สัญชาติญาณของคนอังกฤษคือ สร้างกลุ่มตรงข้ามกัน 2 กลุ่ม ให้ถกเถียงกันจนเหนื่อยอ่อน โดยมีผู้ตัดสินและผู้กำกับเส้นจัดระเบียบของสภาสามัญ บังคับให้สมาชิกสภาแต่ละคนจะต้องเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ก่อนที่ตนจะทราบว่ามีข้อถกเถียงอะไร หรือแม้ในบางกรณี ก่อนที่ตนจะทราบเรื่องที่ถกเถียงกันด้วยซ้ำ การอบรมมาตั้งแต่เกิด ทำให้ต้องเล่นข้างของตน ซึ่งทำให้ไม่ต้องใช้สมองมากเกินควร เมื่อนั่งลงหลังจากอภิปรายแล้ว เขาทราบแน่นอนว่าจะติดตามข้อถกเถียงจากประเด็นที่กล่าวถึงอย่างไร ถ้าประธานสภาอยู่ข้างเดียวกับตนในสภา เขาจะพูดว่า “ได้ยินแล้ว ได้ยื่นแล้ว” ถ้าประธานสภาอยู่ฝ่ายตรงข้าม เขาจะพูดว่า “ไม่ได้สติ” หรือพูดแต่เพียงว่า “โอ้” ในบางระยะต่อไป เขาอาจมีเวลาถามเพื่อนสมาชิกว่า กำลังอภิปรายเรื่องอะไรกัน อย่างไรก็ตาม กล่าวอย่างเคร่งครัดแล้ว ไม่จำเป็นเลยที่เขาจะถามเช่นนั้นเขาทราบดีว่า จะไม่เตะลูกเข้าประตูของตนเอง สมาชิกที่นั่งตรงข้ามทำอะไรผิดทั้งหมดและข้อถกเถียงของพวกเขาก็เหลวไหล ตรงกันข้าม สมาชิกฝ่ายข้างของตนเป็นเสมือนรัฐบุรุษ การอภิปรายแฝงด้วยความเฉลียวกลาด คล่องแคล่วและเดินสายกลาง ย่อมมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย ไม่ว่าเขาจะเรียนการเมืองมาจากแฮโรว์ หรือศึกษาต่อที่แอสตันวิลล่า ไม่ว่าโรงเรียนใดเขาจะเรียนรู้ว่า เมื่อใดจึงจะสนับสนุน เมื่อใดจึงจะครวญคราง แต่ระบบของอังกฤษขึ้นอยู่กับแผนผังที่นั่งในสภา ถ้าที่นั่งไม่ได้เป็นแบบนั่งเผชิญหน้ากันแล้ว ก็คงไม่มีใครนำความเท็จมาพูดเป็นความจริง นำความโง่มาพูดอย่างฉลาด เว้นแต่จะนั่งฟังเท่านั้น แต่การนั่งฟังอย่างเดียวดูจะเป็นเรื่องน่าหัวเราะ เพราะครึ่งหนึ่งของการอภิปรายล้วนแล้วแต่ไร้สาระทั้งนั้น

ในฝรั่งเศส ข้อผิดพลาดแรกเกิดจากที่นั่งของสมาชิกสภาที่เป็นครึ่งวงกลมโดยทุกคนนั่งหน้าตรงกับเก้าอี้ ถ้าคนไม่ทำชื่อโด่งดัง ก็ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ฝ่ายตรงข้ามจริง ๆ รวมตัวกันไม่ได้ และไม่มีใครบอกได้ (ถ้าไม่ฟัง) ว่าข้อถกเถียงใดน่าเชื่อมากที่สุด นอกจากนั้นยังมีอุปสรรคต่อไปในเรื่องของพิธีการทั้งหมดของฝรั่งเศส ซึ่งอเมริกาไม่นำไปได้ เป็นตัวอย่าง แต่ระบบของฝรั่งเศสยังไม่เลวถึงขนาด เพราะไม่มีความยุ่งยากในทางภาษา แทนที่จะมีฝ่ายถูกและฝ่ายผิดเพียง 2 ฝ่าย และเพื่อให้ประเด็นชัดเจนเสียเลยแต่เริ่มแรก ฝรั่งเศสกลับสร้างแบบที่มีหลายกลุ่ม ซึ่งหันหน้าไปทุกทิศทุกทาง เนื่องจากเกิดความสับสนในสนามกีฬา จึงไม่อาจเริ่มต้นเล่นได้ ตามพื้นฐานแล้ว สมาชิกสภาเป็นฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้ายตามที่ที่ตนนั่ง ซึ่งถือเป็นแบบแผนที่ดี ฝรั่งเศสมิได้ไปไกลถึงขนาดจัดให้สมาชิกนั่งเรียงตามตัวอักษร แต่ที่ประชุมที่จัดเป็นรูปครึ่งวงกลม เปิดช่องให้มีการแบ่งแยกระดับต่าง ๆ ของพวกฝ่ายขวาและพวกฝ่ายซ้าย แต่ไม่ได้แบ่งเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจนเหมือนอังกฤษ ในแง่การเมืองสมาชิกคนหนึ่งนั่งทางซ้ายของนาย Untel และนั่งทางขวามือของนาย Quelquechose กรณีเช่นนี้มีความหมายกับใครหรือเปล่า ? หรือแม้แต่กับคนอังกฤษ ? หรือมีความหมายอะไรกับตัวเขาเอง ? คำตอบก็คือไม่มีความหมายเลย

สิ่งนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไป แต่สิ่งที่รับรู้กันทั่วไปคือ ความสำคัญอย่างยิ่งของแผนผังที่นั่ง ที่ใช้กับการประชุมสมัชชาอื่น การประชุมระหว่างประเทศ ในประเทศและการประชุมท้องถิ่น นอกจากนั้นยังใช้ได้กับการประชุมโต๊ะกลมด้วย ถ้าครุ่นคิดสักครู่หนึ่งแล้ว จะทำให้เราเชื่อว่าการประชุมกันที่โต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะมีผลแตกต่างกันการประชุมที่ใช้โต๊ะยาว ความแตกต่างเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นอยู่ที่การเจรจาอันยาวนาน และความเผ็ดร้อนเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่ที่เรื่องของการตัดสินใจด้วย (ถ้ามี) ดังที่เราทราบมีการลงคะแนนเสียงน้อยครั้งที่ให้ประโยชน์กับกรณีที่เกิดขึ้น การตัดสินใจขั้นสุดท้ายมักจะได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งมีหลายกรณีเกี่ยวข้องกับเราขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เราควรสังเกตว่าในที่สุดคะแนนเสียงจากกลุ่มกลาง (Central bloc) จะเป็นผู้ตัดสินจริงๆ ในประเด็น แต่ในการประชุมอื่นๆ นั้น กลุ่มกลางมีความสำคัญ กลุ่มนี้ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้

ก. คนไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับบันทึกใดๆ ที่ส่งให้ล่วงหน้า

ข. คนโง่ เกินไปที่จะทราบวิธีการประชุม คนเหล่านี้แยกออกได้ เพราะมีแนวโน้มที่จะบ่นพึมพำกับคนอื่นว่า “หมอนั่นพูดอะไรกันนะ”

ค. คนหูหนวก เขานั่งอยู่โดยใช้มือปิดหู พลางคำรามว่า “ผมหวังที่จะให้คนพูดออกมา”

ง. คนเมาและเข้าประชุม ในขณะที่ยังปวดศีรษะอยู่ แล้วตัดสินว่าแบบไหนก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จ. คนแก่หง่อม ซึ่งภูมิใจในความกระฉับกระเฉงของตน เขากระซิบว่า “ ผมเดินมาประชุม ดูซิคนอายุ 82 ปียังไหว”

ฉ. คนปัญญาอ่อน ซึ่งสัปดาห์ที่แล้วสัญญาว่าจะสนับสนุนทั้ง 2 ฝ่ายแต่แล้วกลับไม่ทราบว่าจะทำประการใด พวกนี้มี 2 ใจๆ หนึ่งอยากงดออกเสียง อีกใจหนึ่งแกล้งทำเป็นป่วย



ในการคุมคะแนนเสียงกลุ่มกลางนั้น ขั้นแรกต้องทราบและนับจำนวนสมาชิกซึ่งทำได้โดยดูที่นั่งของสมาชิก เทคนิคที่ดีที่สุดคือ ก่อนเริ่มการประชุมต้องสนทนาเพื่อหารายละเอียดของผู้สนับสนุนที่รู้จักและผู้สนับสนุนอย่างจริงจังที่จะเป็นกลุ่มกลาง ในการสนทนานี้ผู้สนับสนุนอย่างจริงจังจะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงประเด็นที่จะถกเถียงกัน เขาได้รับการฝึกให้เปิดเกมตามรายการตั้งแต่ ก. ถึง ฉ ลักษณะของกลุ่มกลางคือ

ก. ผมบอกได้ว่า เสียเวลา ถ้าจะอ้างเอกสารทั้งหมดเหล่านั้น ผมโยนเอกสารเกือบทั้งหมดของผมทั้งหมดเลย

ข. ผมหวังว่าไม่ช้าคำพูดที่คล่องแคล่วทำให้เรางงไปหมด ผมอยากให้คนพูดน้อยแต่ตรงประเด็น ถ้าคุณถามผม ผมบอกได้ว่า พวกนี้ฉลาดเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ค. ห้องนี้เก็บเสียงไม่ดีเลย คุณควรคิดว่าพวกวิศวกรรมควรต้องแก้ไขระบบเสียง เพราะตั้งครึ่งเวลาที่ผมไม่ได้ยินว่าเขาพูดอะไรกัน คุณล่ะได้ยินไหม ?

ง. สถานที่ประชุมนี้เลวมาก ผมคิดว่ามันเกี่ยวกับการระบายอากาศ ทำให้ผมรู้สึกไม่สบาย คุณล่ะเป็นอย่างไร

จ. คุณพระช่วย ผมไม่ทราบว่าคุณทำได้อย่างไร บอกความลับผมหน่อยซิคุณทานอาหารเช้ามาแล้วใช่ไหมล่ะ ?

ฉ. มีเรื่องต้องพูดกันมากทั้ง 2 ฝ่าย จนทำให้ผมไม่ทราบว่าจะสนับสนุนใครดี คุณรู้สึกอย่างไรล่ะ ?





3.3 การเงินระดับสูงหรือจุดที่ความสนใจหายไป (High Finance, or The Point of Vanishing Interest)

คนที่เข้าใจในการเงินระดับสูงมีอยู่ 2 ประเภท คือ คนที่มีทรัพย์ของตนเองมหาศาล กับคนที่ไม่มีอะไรเลย สำหรับมหาเศรษฐี จำนวนเงินหนึ่งล้านเหรียญ เป็นของจริงและพอเข้าใจได้ แต่สำหรับนักคณิตศาสตร์และผู้บรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ (สมมุติว่าทั้งสองคนหิวโหย) เงินหนึ่งล้านเหรียญอย่างน้อยก็เป็นความจริง เหมือนเงินจำนวนพัน เพราะเขาทั้งสองไม่เคยมีเงินจำนวนทั้งสองนี้เลย โลกเต็มไปด้วยคนสองประเภทนี้ คือ ไม่รู้เกี่ยวกับเงินล้าน แต่คุ้นเคยอย่างดีกับความคิดในเงินจำนวนพัน ลักษณะเหล่านี้ เป็นส่วนประกอบอยู่มากในคณะกรรมการการเงิน ปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นเสมอ แต่ยังไม่เคยมีการสอบสวน อาจเรียกว่าเป็น “กฎของความไร้สาระ” หมายความว่าเวลาที่เสียไปแต่ละรายการในวาระการประชุมจะกลับกันกับอัตราส่วนของเงินที่เกี่ยวข้อง

เขาสันนิษฐานว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดควรอยู่ที่คำสั่งที่ปรากฏอยู่ในระเบียบวาระการประชุม สันนิษฐานต่อไปว่า เวลาที่ใช้ทั้งหมดนั้นอยู่ที่ระเบียบวาระที่ 1 ถึง 7 ส่วนวาระสุดท้ายถือว่าผ่านไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งย่อมทราบผลเป็นอย่างดีอาจคิดว่าการเยาะเย้ยคำบรรยายของ Guggenheim แต่จากการถกเถียงต่อมาในเรื่องนี้ มีแนวโน้มที่แสดงให้เห็นว่าการวิพากษ์วิจารณ์ของเขานั้นถูกต้อง มีการวิจัยเป็นปีๆ ที่นับว่าสูญเปล่า เพราะกำหนดข้อสันนิษฐานขั้นมูลฐานผิด ขณะนี้เราตระหนักว่า วาระการประชุมมีความสำคัญน้อย โดยเฉพาะในปัญหานี้

ถ้าเราจะทำให้การสอบสวนก้าวหน้าต่อไป เราต้องละทิ้งสิ่งที่ได้กระทำไปแล้วเราต้องเริ่มต้นและต้องเข้าใจว่า คณะกรรมการการเงินทำหน้าที่จริงๆ ในเรื่องอะไร เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านทั่วไป



3.4 ผู้อำนวยการและคณะรัฐมนตรี หรือสัมประสิทธิ์ของการไร้ประสิทธิภาพ (Directors and Councils, or Coefficient of Inefficiency)

วงจรชีวิตของคณะกรรมการ เป็นพื้นฐานแห่งความรู้ในกิจการประจำวันของเรามาก แต่เป็นที่ประหลาดใจว่าไม่มีความสนใจกันมากนักในศาสตร์ของมิตรภาพ หลักเบื้องต้นที่สุดและเป็นประการแรกของศาสตร์นี้ คือ โดยลักษณะแล้ว คณะกรรมการเป็นสิ่งมีชีวิตมากกว่าเป็นเครื่องจักร มันไม่ใช่โครงสร้าง แต่เป็นพืชมักออกรากและเจริญเติบโต ออกดอกเหี่ยวแห้งและตาย นอกจากนั้นยังแพร่เมล็ดทำให้คณะกรรมการอื่นๆ กลับผลิตออกมาอีกเฉพาะผู้สนับสนุนหลักนี้เท่านั้น จะเข้าใจโครงสร้างและประวัติของรัฐบาลสมัยใหม่

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่า คณะกรรมการแยกได้กว้างๆ เป็น 2 ประเภท คือ

1. มีกรรมการแต่ละคนได้ประโยชน์บางอย่าง และ

2. กรรมการแต่ละคนสนับสนุนช่วยเหลือแต่เพียงบางประการ

อย่างไรก็ตามตัวอย่างของกลุ่ม 2 นั้น ไม่สำคัญต่อความมุ่งหมายของเรามากนัก บางคนสงสัยว่าคนพวกนี้เป็นกรรมการหรือไม่ แต่จากกลุ่ม 1 อันเข้มแข็งมากนี้เอง ที่เราสามารถเรียนรู้หลักการที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาๆ ของบุคคลทั่วไป ในกลุ่ม 1 คณะกรรมการที่ลงรากลึกและหรูหราที่สุด ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับอำนาจมาก และมีชื่อเสียงในส่วนใหญ่ของโลก คณะกรรมการนี้เรียกว่า “คณะรัฐมนตรี” บทนี้มีพื้นฐานการศึกษาอย่างกว้างขวางถึงจำนวนและเวลาของคณะรัฐมนตรี

ข้อบกพร่องที่เห็นชัดเจนก็คือ ความยากที่จะรวมคนให้อยู่ ณ สถานที่วันและเวลาเดียวกัน รัฐมนตรีคนหนึ่งจะไปที่อื่นในวันที่ 18 ขณะที่อีกคนหนึ่งไม่กลับมาจนวันที่ 21 คนที่ 3 ไม่เคยว่างในวันอังคาร และคนที่ 4 ไม่ว่างก่อน 5 โมงเย็น แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นของปัญหา เพราะเมื่อรวบรวมรัฐมนตรีส่วนใหญ่ได้ ก็ยังมีโอกาสอีกมากที่จะเห็นบางคนชราภาพ ระโหยโรยแรง ไม่มีเสียงและหูหนวก น้อยคนที่จะมีความคิด ความอ่านที่เป็นประโยชน์ บางทีส่วนใหญ่ของผู้ที่ได้เป็นรัฐมนตรีนั้นก็ เพื่อเป็นการเอาใจกลุ่มภายนอกบางกลุ่ม ฉะนั้นความโน้มเอียงของรัฐมนตรีพวกนี้คือ รายงานสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับกลุ่มที่ตนเป็นตัวแทน ความลับทั้งหลายไม่เป็นความลับที่ร้ายกว่านั้นก็คือ รัฐมนตรีจะเตรียมการอภิปรายของตน เขากล่าวในที่ประชุมและภายหลังจะเล่าให้เพื่อนของตนฟังในเรื่องที่ตนได้อภิปราย ถ้ายิ่งแสดงการเป็นตัวแทนของพวกตนมากเท่าใด กลุ่มภายนอกก็จะยิ่งให้ร้องดังขึ้นเท่านั้น กลุ่มภายในพรรคการเมืองจะรวมตัวกันและหาทางเสริมพลังโดยคัดเลือกพวกของตนมากขึ้น จำนวนรัฐมนตรี 20 คน คนมีอยู่เต็มและ เลยจำนวนนี้ไปแล้ว คณะรัฐมนตรีดำเนินไปสู่ขั้นที่ 4 และขั้นสุดท้ายในประวัติศาสตร์

จากการศึกษาตัวอย่างของอังกฤษ ทำให้มีข้อเสนอแนะว่าจุดที่คณะรัฐมนตรีทำงานไม่ได้ผล คือ จุดที่จำนวนรัฐมนตรี เกินกว่า 20 คน สภาองคมนตรีนั้น เมื่อมีสมาชิกเกิน 26 คนในแต่ละสภาแล้ว จะเริ่มตกต่ำ คณะรัฐมนตรีของอังกฤษในขณะนี้มีจำนวนรัฐมนตรีน้อยกว่าจำนวนดังกล่าวเล็กน้อย หลังจากที่เกือบตกเหวไปแล้ว เราอาจพยายามสรุปจากกรณีนี้ได้ว่าคณะรัฐมนตรีหรือคณะกรรมการอื่นๆ นั้น ถ้ามีจำนวนสมาชิกเกินกว่า 21 คน ย่อมจะสูญเสียอำนาจที่แท้จริง และคณะกรรมการใดที่มีสมาชิกจำนวนมากถือว่าได้สูญเสียอำนาจไปแล้ว อย่างไรก็ตามไม่มีทฤษฏีใดสามารถใช้ได้ ถ้าไม่มีการพิสูจน์ด้วยสถิติ

ขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า สัมประสิทธิ์ของการไร้ประสิทธิภาพนั้นอยู่ในระหว่างจำนวนสมาชิก 19 และ 22 คน



3.5 รายชื่อสั้น หรือหลักการคัดเลือก (The Short List, or Principles of Selection)

ก่อนการบริหารงานสมัยใหม่ ปัญหาที่มีอยู่เป็นประจำในงานของรัฐบาลและธุรกิจ คือ ปัญหาการคัดเลือกบุคคล งานที่ปราศจากเมตตาของกฎปาร์คินชั่นให้ความมั่นใจว่าในการแต่งตั้งบุคคลเข้าทำงานนั้น ได้มีการคัดเลือกบุคคลจากผู้สมัครทั้งหมดอย่างถูกวิธี เพื่อสืบสวนหลักการที่ถูกต้องสำหรับใช้คัดเลือกบุคคล เราอาจแยกหัวข้อพิจารณาถึงวิธีการที่ใช้ในอดีต และที่ใช้ในปัจจุบัน

วิธีการในอดีตที่ไม่ใช้กันแล้วแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ ลักษณะของอังกฤษ และของจีน วิธีของอังกฤษ (แบบเก่า) อาศัยการสัมภาษณ์ ซึ่งผู้สมัครจะต้องพิสูจน์ตัวเอง เขาจะต้องเผชิญหน้ากับสุภาพบุรุษวัยชราที่นั่งอยู่ที่โต๊ะกลม และถามชื่อของเขา ขอให้เราสมมุติว่าผู้สมัครตอบว่า “John Seymour” แล้วสุภาพบุรุษอีกคนหนึ่งจะถามว่า “เป็นญาติอะไรกับ Duke of Somerser หรือเปล่า ผู้สมัครจะตอบในทำนองนี้ว่า “เปล่าครับ” สุภาพบุรุษอีกคนหนึ่งจะถามต่อว่า “ถ้าอย่างนั้นก็คงเป็นญาติกับสังฆราช Wat minister ซินะ” ถ้าเขาตอบว่า “ไม่ใช่ครับ” อีกคนที่สามจะถามอย่างหมดหวังว่า “ถ้ายังงั้นเป็นญาติกับใครเล่า?” เมื่อผู้สมัครตอบว่า “พ่อของผมเป็นคนขายปลาอยู่ที่ Cheapside” การสัมภาษณ์ก็เป็นอันยุติลง กรรมการจะชำเลืองตากัน คนหนึ่งจะกดกระดิ่ง อีกคนหนึ่งจะพูดกับเสมียนว่า “นำคนนี้ออกไปได้” จะมีการขีดฆ่าชื่อผู้นั้นจากบัญชีรายชื่อโดยไม่มีการพูดอะไรกันต่อไปอีก สมมุติว่าผู้สมัครคนต่อไปชื่อ Henry Molyneux และเป็นหลานของ Earl of Sefton โอกาสของเขาจะมีมากขึ้น ขณะที่ George Howard มาถึงที่ประชุม และพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นหลานของ Duke of Norfolk คณะกรรมการการไม่ประสบความยุ่งยากนัก จนกระทั่งเมื่อต้องเปรียบเทียบข้ออ้างที่ว่าเป็นบุตรคนที่สาม หรือคนที่สองของ Baron แต่เป็นบุตรนอกกฎหมายของ Viscount ยิ่งกว่านั้น พวกกรรมการยังอ้างถึงวงศาคณาญาติที่ตีพิมพ์ในหนังสือยศถาบรรดาศักดิ์ด้วย ในที่สุดพวกกรรมการก็คัดเลือก ซึ่งมักจะบังเกิดผลดีเสมอ

เมื่อจะต้องเลือกคนใดคนหนึ่งจากผู้สมัครสองคนที่มีความเท่าเทียมกันโดยการเกิด กรรมการคนหนึ่งจะถามอย่างทันควันกว่า “แท็กซี่ที่คุณนั่งมามีหมายเลขทะเบียนอะไร?” ผู้สมัครที่ตอบว่า “ผมมารถเมล์” จะถูกคัดชื่อออก ผู้สมัครที่ตอบตามตรงว่า “ผมไม่ทราบ” จะถูกคัดชื่อออก เหมือนกัน แต่ผู้สมัครที่ตอบว่า “หมายเลข 2351” (โกหก) ได้รับคัดเลือกในฐานที่เป็นเด็กมีความคิดริเริ่ม วิธีการนี้มักก่อให้เกิดผลดีเลิศ

สำหรับวิธีการของจีน (แบบเก่า) นั้น ในสมัยหนึ่งมีประเทศต่างๆ นำไปใช้อย่างกว้างขวาง แต่มีน้อยคนทราบว่าจีนได้ริเริ่มมาก่อนนั่นคือ วิธีการสอบแข่งขันโดยใช้ข้อเขียน ในสมัยราชวงศ์หมิง นักเรียนที่มีความสามารถจะเข้าสอบที่มณฑล ซึ่งมีการสอบทุกสามปี การสอบครั้งหนึ่งๆ ใช้เวลา 3 วัน โดยสอบ 3 ข้อสอบ วันแรกผู้สมัครต้องเขียนเรียงความ 3 เรื่องและประพันธ์กาพย์กลอน 8 บท วันที่สองต้องเขียนเรียงความ 5 เรื่อง ซึ่งมีแนวด้านคลาสสิค วันที่สามต้องเขียนเรียงความ 5 เรื่อง เกี่ยวกับศิลปะของการปกครอง ผู้สมัครที่สอบผ่าน (ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์) จะเข้าสอบไล่ที่เมืองหลวง การสอบครั้งนี้มีเพียงข้อสอบเดียว ผู้สมัครต้องเขียนเรียงความเรื่องปัญหาการเมืองปัจจุบัน ในบรรดาผู้ที่สอบไล่ได้ ส่วนใหญ่เข้าเป็นข้าราชการ ผู้ที่มีความสามารถสูงสุดมีโอกาสได้รับการบรรจุในสำนักงานระดับสูง ระบบนี้ใช้ได้ผลดี



3.6 แผนการและเพาะ หรือแบบอาคารบริหาร (Plans and Plants, or The Administration Block)

นักศึกษาทางด้านสถาบันมนุษย์ทุกคนคงจะคุ้นเคยกับการพิสูจน์ขั้นมาตรฐาน ซึ่งอาจประเมินความสำคัญของบุคคลได้ จากจำนวนประตูที่ต้องเดินผ่าน จำนวนผู้ช่วยส่วนตัวของเขา จำนวนครั้งที่เขารับโทรศัพท์ จำนวนทั้งสามเหล่านี้ รวมทั้งความหนาของพรมเป็นเซนติเมตร ได้ให้สูตรง่าย ๆ กับเรา ซึ่งใช้ได้กับทุกส่วนของโลก

ยกตัวอย่างในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง อย่างที่เราทราบมักจะมีแนวโน้มสูงมาก ที่สำนักพิมพ์ทำนองนี้มีสภาพที่มอซอ เมื่อผู้ไปติดต่อเดินเข้าประตูที่เห็นชัดว่าเป็นประตูเข้า กลับเป็นประตูที่เปิดไปสู่ภายนอก เลี้ยวไปอีกหนึ่งเขตถนนลงไปตามทางเดินแล้วขึ้นบันไดอีกสามขั้น ตามระเบียบมีหน่วยวิจัยอยู่ที่ห้องใต้ดิน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านส่วนตัว มีทางเดินไปสู่กระท่อมทำด้วยเหล็กลูกฟูก ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นสวน ยิ่งกว่านั้น เราไม่คุ้นเคยกับแผนผังของสนามบินนานาชาติเลยหรือ ? ขณะที่เราลงจากเครื่องบิน เราเห็นอาคารสง่าที่ห่อหุ้มด้วยนั่งร้านเหล็กสำหรับก่อสร้าง แล้วพนักงานต้อนรับสาวจะนำเราไปที่กระท่อม ซึ่งมีหลังคาทำด้วยแอสเบสตอส หรือเราลองคิดสักครู่ว่า จะเป็นอย่างอื่นหรือเปล่า เมื่อสร้างอาคารถาวรเสร็จเรียบร้อยแล้ว สนามบินก็จะย้ายไปยังอีกฝั่งหนึ่ง

สถาบันที่กล่าวแล้ว (มีชีวิตชีวาและอาจจะมีผลงานดี) เฟื่องฟูอยู่ภายใต้สภาวะที่ซอมซ่อ ขาดการทะนุบำรุง และผันแปรสิ่งที่อยู่โดยรอบ ทำให้เราอาจต้องช่วยเปลี่ยนแปลงเสื้อผ้าของสถาบันเสียแต่เริ่มแรก ด้วยความรู้สึกสะดวกสบายและภูมิฐาน จักให้ประตูนอกที่ทำด้วยทองเหลืองและกระจก เลื่อนไถลเรื่อยๆ ไปบนพื้นยาวที่ขัดมัน สู่ลิฟต์ที่ขัดมันและเงียบสนิท พนักงานต้อนรับอาศัยริมฝีปากสีแดงสด พึมพำที่โทรศัพท์ เธอจะชี้ให้ท่านนั่งที่เก้าอี้แขนทำด้วยโครเมี่ยม ถึงแม้จะช้าไปหน่อยแต่เธอก็ปลอบใจท่านด้วยการโปรยยิ้มเล็กน้อย เมื่อเงยหน้าจากวารสารที่แวววับท่านจะสังเกตเห็นทางเดินกว้างไปสู่แผนก เอ. บี. และซี เบื้องหลังประตูที่เปิดอยู่ จะมีการสั่งงานด้วยเสียงค่อย ๆ อีกไม่กี่นาทีต่อมา ท่านค่อย ๆ ย่างก้าวไปบนพรมหนาครึ่งหน้าแข้ง สู่โต๊ะอันเรียบร้อยของผู้อำนวยการ การจ้องแบบสะกดจิตอย่างไม่ไหวติงของหัวหน้า ประกอบกับรูปภาพน่ากลัวที่แขวนข้างกำแพง ทำให้ท่านรู้สึกว่าในที่สุดท่านก็ได้พบประสิทธิภาพที่แท้จริงแล้ว

ขณะนี้ทราบกันว่า ความดีเลิศของแผนผังจะเป็นผลได้ก็ต่อเมื่อสถาบันอยู่ในจุดที่จะล้มครึนลงมาแล้ว การสรุปสิ่งที่ขัดกันนี้มีรากฐานมาจากการวิจัยทางโบราณคดีและทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้อง เพราะมีรายละเอียดอยู่มาก อย่างไรก็ตาม ในหลักทั่วไปแล้ว มีวิธีการเลือกและดูอายุของอาคารซึ่งแสดงให้เห็นการออกแบบที่ดี เพื่อจุดมุ่งหมายของมัน การศึกษาและเปรียบเทียบสิ่งเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า การวางแผนที่ดีเลิศเป็นเหตุของความทรุดโทรม ในระยะที่ตื่นเต้นกับการค้นพบ หรือความก้าวหน้า ไม่มีเวลาที่จะคิดวางแผนสำนักงานใหญ่ให้สมบูรณ์ เวลานั้นจะตามมาภายหลัง เมื่อได้มีการทำงานสำคัญทั้งหมดแล้ว เราทราบว่า ในที่สุดก็เกิดความดีเลิศและในที่สุดก็คือความตาย

ดังนั้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่สู้จริงจังนัก เมื่อตกประหม่าอยู่หน้าโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ กรุงโรม หน้า Basilica และวาติกัน จะมีความรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมช่างเหมาะสำหรับราชวงศ์โป๊ป อันทำให้เกิดเกียรติยศและอำนาจอันสูงส่ง สะท้อนให้เห็นว่าที่นี่พระเจ้า Innocent ที่ 3 กล่าวประณามผู้ที่พระองค์เกลียดชัง ที่นี่พระเจ้า Gregory ที่ 3 ตราพระราชบัญญัติ แต่เมื่อดูจากหนังสือนำเที่ยวจะพบการเขียนเล่าให้นักท่องเที่ยวทราบว่า โป๊ปที่มีอำนาจจริง ๆ นั้นปกครองก่อนที่จะสร้างโดม และก็ไม่ได้ปกครองกันที่แห่งอื่น ยิ่งกว่านั้นโป๊ปองค์ต่อมาสูญเสียอำนาจไปครึ่งหนึ่ง ขณะที่กำลังก่อสร้างโดม พระเจ้า Inluis ที่ 2 ซึ่งตกลงใจให้ก่อสร้างและพระเจ้า Leo ที่ 10 ซึ่งอนุมัติแบบของ Raphael สิ้นพระชนม์เป็นเวลานามก่อนที่จะมีการสร้างออกเป็นรูปทรงปัจจุบัน สำหรับพระราชวงศ์แวร์ซาย สมัยพระเจ้าหลุยที่ 14 ได้มีการก่อสร้างเป็นรูปร่างแล้ว แต่ก็อีกนั่นแหละ ข้อเท็จจริงเข้ากันไม่ได้กับทฤษฏีถ้ายอมรับว่าแวรซายร์อาจเป็นชัยชนะของยุคนั้น แต่พระราชวังส่วนใหญ่สร้างเสร็จในปลายรัชสมัย และบางส่วนเสร็จในราชวงศ์ต่อมา อาคารที่แวรซายร์ก่อสร้างระหว่าง ค.ศ. 1667 – ค.ศ. 1685 กษัตริย์ไม่ได้ย้ายเข้า จน ค.ศ. 1682 ซึ่งคณะนั้นก็กำลังก่อสร้างอยู่ ห้องบรรทมที่มีชื่อเสียงไม่ได้ใช้จน ค.ศ. 1701 และวิหารก็ไม่เสร็จ จนกระทั่ง 9 ปีต่อมา

ไม่มีตัวอย่างใดของอังกฤษที่จะเทียบได้กับเรื่องของการสร้างเมืองนิวเดลี ไม่มีที่ใดอีกแล้วที่สถาปนิกชาวอังกฤษวางผังเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของรัฐบาล และมีประชากรจำนวนมาก ได้มีประกาศความตั้งใจสร้างเมืองนิวเดลีที่ Imperial Durbar ใน ค.ศ. 1911 โดยพระเจ้ายอร์จที่ 5 มี Sir Edwin Lutyens เป็นผู้วางผังสร้างแวรซายร์ของอังกฤษนี้ แต่ระยะของความก้าวหน้าในการก่อสร้างสัมพันธ์กับขั้นตอนของความทรุดโทรมของการเมืองอยู่มาก พรบ. รัฐบาลอินเดีย ค. ศ. 1909 โหมโรงเรื่องที่ตรามาภายหลังคือ ความพยายามปลิดชีวิตไวสลอยใน ค.ศ. 1912 การประกาศอิสรภาพใน ค.ศ. 1920 Loard Irwin ย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชวังใหม่เมื่อ ค.ศ. 1927 อันเป็นปีที่สภาคองเกรสินเดียเรียกร้องอิสรภาพ เป็นปีที่เปิดการประชุมโต๊ะกลม เป็นปีก่อนที่จะเริ่มมีการรนณรงค์ การไม่เชื่อฟังของประชาชน ยังเป็นไปได้ที่จะสืบหาเรื่องราวต่าง ๆ จนในที่สุดถึงวันที่อังกฤษถอนตัว โดยแสดงให้เห็นทุกขั้นตอนที่มีการถอนตัวอยู่นั้น สิ่งที่ขนานคู่กันไปคือชัยชนะของการออกแบบ สิ่งที่ประสบผลสำเร็จในขั้นสุดท้ายไม่มากและไม่น้อยเกินไปกว่าฮวงซุ้ยอันหนึ่ง

เป็นที่แน่นอนว่า อิทธิพลที่ให้กับผู้อ่านในบทนี้สามารถยืดอายุของสถาบันที่กำลังจะตายลงได้ โดยตัดความกระฉับกระเฉงของสำนักงานใหญ่เสีย สิ่งที่เราทำอย่างมั่นใจคือป้องกันไม่ให้องค์การใดๆ ถูกรัดคอตั้งแต่เริ่มเกิด ตัวอย่างของสถาบันที่เกิดใหม่โดยมีเจ้าหน้าที่ครบบริบูรณ์ทั้งผู้ช่วยผู้อำนวยการ ที่ปรึกษาและผู้บริหาร ทั้งหมดนี้เข้ามาอยู่ในอาคารเดียวกัน ซึ่งสร้างเพื่อความมุ่งหมายนั้นโดยเฉพาะ จากประสบการณ์พิสูจน์ให้เห็นว่า สถาบันทำนองนี้จะต้องตาย เพราะเต็มไปด้วยความสมบูรณ์ถูกต้อง มันไม่สามารถแตกรากได้เพราะไม่มีดิน มันไม่สามารถเติบโตตามธรรมชาติเพราะมันเติบโตเสียแล้วผลก็ไม่มีตามธรรมชาติ แม้แต่ดอกก็ไม่มี เมื่อเราเห็นตัวอย่างของการวางแผนทำนองนี้ (เมื่อเราเห็นตัวอย่างของการออกแบบสร้างองค์การสหประชาชาติ) แล้ว ผู้เชี่ยวชาญระหว่างพวกเราจะสั่นศีรษะด้วยความเศร้า ดึงผ้าขึ้นคลุมศพ และย่องเบา ๆ ออกไปสู่กลางแจ้ง



3.7 ภาพของบุคลิกภาพ หรือ สูตรของค๊อกเทล (Personality Screen, or The Cocktail Formula)

งานเลี้ยงค๊อกเทลเป็นสิ่งสำคัญต่อเทคนิคการดำรงชีวิตสมัยใหม่ สถาบันนี้ให้สิ่งที่เป็นนานาชาติ ผู้คงแก่เรียนและสภาอุตสาหกรรม ถ้าปราศจากงานเลี้ยงค๊อกเทลอย่างน้อยครั้งหนึ่งแล้ว การมารวมตัวของคนเหล่านี้ไม่อาจเป็นไปได้ แต่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับหน้าที่และการใช้ประโยชน์กระทำกันน้อยมาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคิดถึงเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง ในการวางแผนการจัดงานเลี้ยงค๊อกเทล เราหวังความสำเร็จอะไรกันแน่

คำถามนี้อาจตอบได้หลายทาง และไม่ช้าก็จะพบว่าในงานเดียวกันนั้น อาจเกิดวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน ขอให้เราเลือกวัตถุประสงค์ที่เป็นไปได้สักหนึ่งวัตถุประสงค์และดูว่าโดยการ วิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะสามารถทำให้ได้ผลสมบูรณ์และรวดเร็วได้อย่างไร เช่น ปัญหาการค้นหาความสำคัญของบุคคลที่อยู่ในงานเลี้ยง เราอาจสันนิษฐานว่า ได้ทราบสถานภาพทางราชการและความอาวุโสแล้ว แต่ความสำคัญอันแท้จริงเกี่ยวกับงานที่ทำเป็นอย่างไร มักจะปรากฏเสมอว่าบุรุษและสตรีที่เป็นคนสำคัญมิได้มีตำแหน่งราชการสูงเลย และปรากฏว่าหลายคนเหล่านี้จะมีอิทธิพลก็ต่อเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว จะมีประโยชน์มากเท่าไหร่ถ้าเราสามารถประเมินความสำคัญของเขาเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มแรก การทำการประเมิน ณ งานเลี้ยงค๊อกเทลซึ่งจัดในวันที่สอง อาจช่วยได้มาก

เพื่อจุดมุ่งหมายของการสอบสวน จะสันนิษฐานว่า สถานที่ที่จัดงานเลี้ยงนั้นอยู่ในชั้นเดียวกัน และมีประตูเข้าเพียงประตูเดียว ได้สันนิษฐานต่อไปด้วยว่า ตามบัตรเชิญงานเลี้ยงใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริงนั้นใช้เวลา 2 ชั่วโมง 20 นาที ประการสุดท้ายจะสันนิษฐานว่ามีเครื่องดื่มอยู่ทั่วไป ตลอดทั้งงานเพราะบาร์เหล้าอาจเปลี่ยนแปลงลักษณะของปัญหาได้ จากสมมุติฐานเหล่านี้ เราจะประเมินความจริงซึ่งตรงข้ามกันทฤษฏีที่ว่าด้วยความสำคัญของแขกที่อยู่ในงานเลี้ยงอย่างไร ประการแรกซึ่งเราสามารถใช้เป็นสาเหตุของทฤษฏีของเราคือ แนวทางที่มนุษย์เคลื่อนตัว เราทราบว่าแขกที่มาถึงจะเดินไปทางซ้ายมือของห้องรับรองอย่างอัตโนมัติ การที่เดินไปซ้ายนี้มีสิ่งน่าสนใจ และส่วนหนึ่งอาจอธิบายทางชีววิทยาได้ หัวใจตั้งอยู่ทางซ้ายของร่างกาย เป็นของธรรมดาและถูกต้องที่จะเดินด้านซ้าย ซึ่งกลับปฏิบัติตรงข้าม และขัดกับสัญชาติญาณทางประวัติศาสตร์ที่ฝังราก การเดินทางซ้ายเพื่อให้ปลอดจากยวดยานจึงเป็นกฎธรรมดาของมนุษย์

ประการที่สอง คนชอบยืนข้างห้องมากกว่ากลางห้องจะเห็นได้แจ้งชัดในภัตตาคาร โต๊ะที่ตั้งชิดผนังห้องด้านซ้ายจะเต็มก่อน แล้วก็เป็นโต๊ะปลายสุด จากนั้นโต๊ะตั้งทางผนังห้องด้านขวาถึงเต็ม และในที่สุด จึงถึงโต๊ะตั้งกลาง ลักษณะของมนุษย์ที่รักเกียจพื้นที่ตรงกลางนี้ทำให้ฝ่ายจัดการรู้สึกหมดหวังที่จะให้คนนั่งให้เต็ม และทำให้เกิดลักษณะเหมือนกับฟลอเต้นรำ การไม่เต็มใจนั่งตรงกลางห้องเกิดมาจากสัญชาติญาณต่อประวัติศาสตร์ของมนุษย์

ถ้าเรารวมข้อเท็จจริงทั้งสองที่ทราบนี้ มนุษย์จะเคลื่อนไหวตามเข็มนาฬิกา แต่ก็อาจมีการทวนเข็มได้ เช่น สตรีจะเอี้ยวตัวหลบคนที่เธอเกลียดชัง หรือวิ่งพลางร้อง “ที่รัก” ไปยังบุคคลที่เธอเกลียดชักมากที่สุดเราอาจสันนิษฐานได้ว่า คนที่ได้เรื่องได้ราวจะมาถึงงานในเวลาที่เราเห็นว่าพอดี เขาไม่อยู่ในกลุ่มบุคคลซึ่งคาดคะเนระยะเวลา เดินทางนานเกินไปจนมาถึงที่งาน 10 นาทีก่อนเวลางานเริ่มต้น เขาไม่อยู่ในกลุ่มบุคคลซึ่งนาฬิกาหยุดเดิน จนต้องรีบและหอบฮัก ๆ เข้าในงานที่เกือบเลิกแล้ว ไม่ใช่ คนที่เราต้องการศึกษาจะเลือกโอกาสของตน

การสังเกตการณ์ในสังคมนี้ ทำให้เชื่อได้ว่า อาจใช้ได้กับสังคมอื่นๆ ด้วยและสูตรนั้นก็ง่ายที่จะนำไปใช้ ในการค้นหาบุคคลที่ได้เรื่องได้ราวนี้ ต้องแบ่งพื้นที่ห้องออกเป็นตารางสี่เหลี่ยม ในเป็นตัวอักษร A B C D E และ F จากด้านซ้ายไปด้านขวาและให้เป็นเลข 1 ถึง 8 จากต้นทางเข้าในถึงจุดห้อง เวลาที่เริ่มงานเลี้ยงใช้อักษร H เวลาที่แขกคนสุดท้ายออกจากงาน เป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 20 นาที นับตั้งแต่แขกคนแรกมาถึงงาน เราจะเรียกว่า H+140 การค้นหาคนที่ได้เรื่องได้ราวจริงๆ นั้นง่ายมากแล้ว เขาจะเป็นคนที่อยู่ตารางสี่เหลี่ยม E/7 ระหว่าง H+75 และ H+90 คนที่สำคัญที่สุดจะอยู่ตรงกลางของกลุ่มนี้

นักศึกษาจะต้องตระหนักว่า ความถูกต้องของกฎนี้ ขึ้นอยู่ที่การไม่เปิดเผยกฎนี้ให้รู้กันทั่วไป ฉะนั้นเนื้อหาของบทนี้ควรรักษาเป็นความลับและเก็บใส่กุญแจตู้ไว้ นักศึกษาทางสังคมศาสตร์ต้องเก็บข่าวสารนี้ไว้กับตนเองอย่าให้สมาชิกทั่วไปอ่านข้อความนี้เป็นอันขาด



3.8 โรค Injelititis หรือ อัมพาตทำให้สิ้นกำลัง (Injelititis, or Palsied Paralysis)

ในองค์การของราชการ ธุรกิจ การศึกษาเราพบว่าเจ้าหน้าที่ชั้นสูงค่อยๆ ทำงานและทึมทื่อ คนที่อาวุโสน้อยหน่อยจะสนใจอยู่แต่เพียงการใช้เล่ห์กับผู้อื่น และคนระดับล่างจะหมดหวังและไม่จริงจัง มีความพยายามน้อย สำเร็จผลน้อย เมื่อไตร่ตรองดูภาพสลดใจนี้แล้ว เราลงความเห็นว่า คนที่ควบคุมพยายามทำดีที่สุด ได้ต่อสู้กับความยากลำบาก แต่ในที่สุดก็ยอมรับว่าพ่ายแพ้ปรากฏจากผลของการตรวจสอบเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องสันนิษฐานในความล้มเหลวอีกแล้ว หลังจากใช้ความพยายามอยู่นาน ก็พบสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้มีการยอมรับว่ามีโรคอยู่ แต่เป็นไรที่มีการชักนำเข้ามาเอง จากอาการเริ่มแรกนั้น เชื้อโรคที่เรียกว่า Injelititis แพร่หลายรวดเร็ว เป็นโรคธรรมดาเกินกว่าที่คิด และการวินิจฉัยโรคง่ายกว่าการรักษา

การศึกษาโรคอัมพาตขององค์การนี้ เริ่มขึ้นด้วยการระบุวิถีทางของโรคตั้งแต่มีอาการครั้งแรกจนถึงขั้นไม่รู้สึกตัว ขั้นที่สองของเราเกี่ยวกับการศึกษาอาการและวินิจฉัย ขั้นที่สามคือ การรวบรวมวิธีการรักษา แต่ยังทราบกันน้อยมากและก็คงไม่อาจค้นพบวิธีรักษาในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะตามประเพณีของการวิจัยทางการแพทย์ของอังกฤษนั้น จะไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับความสำคัญใด ๆ ในเรื่องเหล่านี้ ปกติผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ของอังกฤษจะค้นหาอาการและวินิจฉัยสาเหตุด้วยความมักน้อย ตรงข้ามกับชาวฝรั่งเศส จะเริ่มรักษาก่อนแล้ววินิจฉัยโรคภายหลังแต่เรารู้สึกว่ายังนิยมชมชอบกับวิธีการของอังกฤษซึ่งแม้จะไปช่วยคนไข้แต่ก็ยังเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าอย่างไม่มีข้อสงสัย การเดินทางอย่างมีความหวังยังดีกว่าการไปถึงจุดหมายปลายทาง

อันตรายที่เห็นประการแรก คือลักษณะของสายการบังคับบัญชาของแต่ละบุคคลซึ่งทำให้การใช้ความสามารถและการอิจฉาริษยามารวมตัวกันหนาแน่นสิ่งเหล่านี้ไม่มีความสำคัญในตัวของมันเอง แต่ก็ปรากฏว่ามีอยู่ในตัวบุคคลมากน้อยตามส่วน แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่มากจนถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ธาตุทั้งสองผสมกันเกิดเป็นสารใหม่ที่เราเรียกว่า “injelitance” การปรากฏของสารนี้ทำให้ลงความเห็นได้อย่างปลอดภัยว่าการกระทำของคนหนึ่งคนใดในหน่วยงานของตนจะปะสบความล้มเหลวซึ่งพยายามยุ่งเกี่ยวกับหน่วยงานอื่น และสามารถควบคุมการบริหารงานส่วนกลางได้ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งสังเกตเห็นการผสมผสานกันระหว่างความล้มเหลวและความทะเยอทะยาน จะสั่นศีรษะอย่างทันทีทันใด พร้อมกับพึมพำว่า “โรค Injelititis เพิ่งเริ่มเป็นหรือรักษาไม่หายเสียแล้ว”

เชื้อโรคจะเจริญเติบโตถึงขั้นต่อไปหรือถึงขั้นที่สอง เมื่อคนเป็นโรคที่สามารถควบคุมองค์การส่วนกลางได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ในหลาย ๆ กรณีโรคถึงขั้นนี้ได้โดยไม่ต้องติดเชื้อมาจากขั้นแรกก่อนเพราะคนอาจเข้ามาทำงานในระดับนี้เลยในขั้นนี้เราอาจสังเกตเห็นคนเป็นโรคนี้โดยง่ายจากอาการดื้อรั้นดิ้นรนเพื่อขับไล่คนที่สามารถกว่าตน นอกจากนั้นยังขัดขวางการแต่งตั้งเพื่อเลื่อนตำแหน่งของบุคคลใดที่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถกว่าตนในโอกาสต่อไป เขาไม่กล้าพอที่จะพูดว่า “นาย Asterisk นี่เก่งเกินไป” เขาจะพูดว่า “นาย Asterisk น่ะหรือ ? อาจฉลาด แต่จะดีหรือ ? ผมชอบนาย Cypher มากกว่า” เขาไม่กล้าพูดว่า “ผมรู้สึกว่านาย Asterisk ไม่ได้ความ” ฉะนั้นเขาจึงพูดว่า “ผมรู้สึกว่านาย Cypher มีการตัดสินใจดี” การตัดสินใจเป็นคำที่น่าสนใจและในท้องเรื่องนี้ตรงข้ามกับความเฉลียวฉลาดในข้อเท็จจริงนั้น หมายความว่าทำในสิ่งที่เคยทำมาแล้วคราวก่อน นาย Cypher จึงได้รับการเลื่อนตำแหน่งและนาย Asterisk ถูกย้ายไปที่อื่น

โรคจะถึงขั้นต่อไปเมื่อไม่มีความเฉลียวฉลาดเหลืออยู่เลย ทั้งองค์การตั้งแต่เบื้องบนถึงเบื้องล่าง ที่เป็นขั้นขาดสติ ซึ่งเรากล่าวมาแล้วในวรรคแรก เมื่อถึงขั้นนี้สถาบันก็จะสิ้นชีพ มันอาจจะอยู่ในขั้นสิ้นสติ 20 ปี อาจจะสลายตัว หรือในที่สุดอาจฟื้นคืนชีพอาการของโรคระยะที่สองคือ ความใจแคบจุดมุ่งหมายกำหนดไว้ต่ำ ฉะนั้นจึงมีความสำเร็จมาก เหมือนกับการตั้งเป้าห่างจากที่ยิงเพียง 10 หลา จึงทำคะแนนได้สูง

โรคระยะสุดท้าย คือ ความเฉื่อยชาซึ่งเข้ามาแทนที่ความใจแคบ ผู้บริหารจะไม่โอ้อวดประสิทธิภาพของตนเพื่อเปรียบเทียบกับสถาบันอื่น เขาลืมไปว่ายังมีสถาบันอื่น ๆ อยู่อีก เขาไม่รับประทานในโรงอาหารอีกแล้ว แต่จะทำแซนวิชมารับประทาน พร้อมทั้งทิ้งเศษขนมปังเกลื่อนกราดบนโต๊ะ ที่แผ่นป้ายมีประกาศการเล่นดนตรี



3.9 จากหลังคามุงจากถึงรถยนต์แฟ็คการ์ด หรือสูตรเพื่อความสำเร็จ (Palm Thatch to Packard, or A Formula for Success)

จากการไปที่สิงค์โปร์ ของนาย Hu Got Dow ที่ตามองครักษ์ผู้พาชมหยกของเศรษฐี ดร. Middleton อุทานว่า “นี่นะหรือที่คนเขาพูดกันว่า เขาเริ่มชีวิตจากการเป็นกลี” ซึ่งชาวจีนตอบว่า “กุลีเท่านั้นที่จะกลายเป็นเศรษฐี กุลีเท่านั้นที่มองดูเหมือนกุลี คนรวยเท่านั้นที่สามารถเหมือนคนรวย” จากถ้อยคำ 2 – 3 ประโยคที่ลึกลับนี้เอง ที่เป็นพื้นฐานให้เราวางโครงการวิจัย รายละเอียดของผลการวิจัยปรากฏอยู่ในรายงาน Middleton Snooper age (1956) แล้ว จึงไม่มีเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่ย่อผลงานนั้นให้ผู้อ่านทั่วไปได้ทราบ สิ่งที่จะปรากฏต่อไปนี้เป็นเพียงแนวทางซึ่งจะไม่กล่าว

เราพบว่าจนถึงจุดหนึ่ง ปัญหาของ กุลี – เศรษฐีจะเป็นข้อที่ยุ่งยากที่แท้จริง กุลีชาวจีนอาศัยอยู่ที่กระท่อมหลังคาจากกับชามข้าว เมื่อเขามีอาชีพสูงขึ้น เช่น จากคนลากรถมาเป็นคนขายถั่ว เขาก็คงอาศัยอยู่ที่กระท่อมหลังคาจาก เมื่อเขามีอาชีพสูงขึ้นไปอีก ผลก็คือเขามีเงินที่จะไปลงทุน

เมื่อชาวอเมริกันที่อยู่บ้านทำด้วยซุง จะเป็นเศรษฐีต่อไปในอนาคต เขาต้องผูกเนคไท เขาอธิบายว่า ไม่สามารถทำอย่างอื่นให้เกิดความมั่นใจได้ เขาต้องหาที่อยู่ที่ดีกว่าเก่า เพื่อสร้างชื่อเสียง ความจริงนั้น การผูกเนคไทก็เพื่อให้ภรรยาพอใจ และการมีที่อยู่ดีก็เพื่อให้ลูกสาวพอใจ ชาวจีนสามารถควบคุมภรรยาของตนได้พออยู่ในกำมือได้ ดังนั้นกุลีที่ร่ำรวยยังคงอยู่ที่กระท่อมและกินข้าว นี่เป็นความจริงซึ่งมีคำอธิบายได้สองประการ ประการแรก บ้านของเขา (ถึงแม้จะมีข้อเสีย) นำโชคมาให้ประการที่สอง บ้านดีย่อมดึงดูดความสนใจจากพนักงานเก็บภาษี เขาจึงฉลาดพอที่จะอยู่ ณ ที่ๆ เขาเคยอยู่เขาจะเก็บกระท่อมเดิมของเขาไว้ตลอดชีวิต เขาย้ายจากกระท่อมนั้นอย่างไม่เต็มใจนักและการตัดสินใจย้ายเป็นเพราะแสดงถึงวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในอาชีพของตน

การย้ายบ้านของเขาก็เพื่อที่จะหลบหนีจากพวกสมาคมลับ พวกขู่เข็ญจะเผยความลับและพวกแก๊งโจรทั้งหลาย การซ่อนความร่ำรวยจากพวกเก็บภาษีนั้นทำได้โดยง่าย ๆ แต่การซ่อนเร้น พวกสมาคมธุรกิจนั้นทำไม่ได้ง่าย เมื่อมีข่าวกระจายไปทั่วว่าเขากำลังร่ำรวย ก็จะมีการเดาอย่างถูกต้องว่า จำนวนวงเงินสักเท่าใดที่จะสามารถดึงออกจากเขาได้ในข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ 4 วงเงิน คือวงเงินสำหรับจ่ายเป็นค่าไถ่ในการลักพาตัว วงเงินที่จ่ายในหนังสือพิมพ์จีนเพื่อไม่ให้ลงข้อความหมิ่นประมาทเขา และวงเงินที่จ่ายให้สาธารณะกุศลแทนการเสียหน้า ขณะที่ชาวจีนที่ร่ำรวยย้ายบ้าน เขาจะต้องหารถยนต์ เชฟโลเร็ต หรือ แฟคการ์ดนั่งด้วย



3.10 จุดบำนาญหรืออายุที่เกษียณ (Pension Point, or The Age of Retirement)

ในบรรดาปัญหาจำนวนมากที่พิจารณาและแก้ไขนั้น เป็นการเหมาะสมที่จะรอการพิจารณาปัญหาการเกษียณอายุเป็นอันดับสุดท้าย อายุที่บังคับให้เกษียณกำหนดไว้ต่างกันจาก 55 ถึง 75 ปี ซึ่งกำหนดกันตามอำเภอใจและขาดหลักทางวิทยาศาสตร์ การกำหนดอายุที่เกษียณไม่ว่าโดยบังเอิญและโดยจารีตประเพณีก็ตาม ย่อมมีเหตุผลอ้างได้ทั้งนั้น ขณะที่อายุที่เกษียณ – 3 (R -3) ไม่เป็นประโยชน์กับเราโดยตรง แต่ก็อาจแนะได้ว่าการสอบสวนนี้ทำผิดทาง จากการสอบสวนพบว่าคนมีความแตกต่างกัน อาจเป็นความจริงว่าบางคนดูชราเมื่อมีอายุ 50 ปี บางคนยังแข็งแรงเมื่ออายุ 80 หรือ 90 ปี เราจะกำหนดขั้นตอนต่อไปนี้ให้เห็นความสำเร็จในอาชีพการงานเขา

1. อายุที่มีคุณสมบัติ = Q

2. อายุที่สุขุมรอบคอบ D = (Q +3)

3. อายุที่เลื่อนตำแหน่ง P = (D+7)

4. อายุที่มีความรับผิดชอบ R = (P+5)

5. อายุที่มีอำนาจบังคับบัญชา A = (R+3)

6. อายุที่ประสบความสำเร็จ AA = (A+7)

7. อายุที่มีความเด่น DD = (AA+9)

8. อายุที่มีเกียรติยศ DDD = (DD+6)

9. อายุที่มีความฉลาด W = (DDD+3)

10. อายุที่มีอุปสรรค OO = (W+7)



สัดส่วนข้างบนนี้มี Q ที่มีค่าเป็นตัวเลขครอบคลุมอยู่ แต่มิได้หมายความว่า คนที่ Q ทราบกิจการทุกอย่างที่ต้องดำเนินการ Q หมายถึงอายุเริ่มต้นของพวกวิชาชีพ ซึ่งปกติเกิดหลังจากที่มีการฝึกอบรมอย่างกว้างขวาง ผู้จ่ายเงินจัดอบรมเท่านั้นเป็นผู้ได้ประโยชน์ จะเห็นได้ว่าถ้าQ = 22 X จะไม่ถึง OO จนกระทั่งเขามีอายุ 72 ปี เนื่องจากเขายังมีประสิทธิภาพอยู่ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะเปลี่ยนคนจนกว่าเขาจะอายุ 71 ปี แต่ปัญหาของเรานั้นมิได้มุ่งไปที่ตัวเขา แต่มุ่งไปที่คนที่จะแทน (Y) จะเปรียบเทียบอายุของ X และ Y กันอย่างไรเล่า ช่องว่างของอายุระหว่าง X และ Y คือ 15 ปีพอดี จากากรเฉลี่ยอายุ 15 ปี และสันนิษฐานว่า Q = 22 เราพบว่า Y จะถึง AA เมื่ออายุ 47 ปี ขณะที่ X มีอายุเพียง 62 ปี ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่าวิกฤตการณ์จะเกิดขึ้นที่ไหน สำหรับ Y ถ้าทำลายความทะเยอทะยานของตน

ขณะที่ X ยังคงมีอำนาจอยู่ จะทำให้เกิดระยะต่างๆ ในอาชีพของตน ระยะเหล่านี้เป็นดังนี้

1. อายุของความสิ้นหวัง (F) = A + 7

2. อายุของความริษยา (J) = F + 9

3. อายุของการลาออก (R ) = J + 4

4. อายุของการถูกลืม (O) = R + 5

ฉะนั้น เมื่อ X อายุ 72 ปี และ Y ซึ่งอายุ 57 ปี จะอยู่ในเกณฑ์อายุของการลาออก อายุของความสิ้นหวังจะไม่เท่ากันเสมอไป ขึ้นอยู่กับการกระทำต่อปัจจัย Q อายุของความริษยาแสดงในตัวของมันเองว่าย้ำในความมีอาวุโสจากสมุหฐาน ปรากฏว่าขณะที่คนมีอายุ 47 ปี (หรือเทียบเท่า) และยังดำรงตำแหน่งระดับรองอยู่จะไม่เหมาะกับตำแหน่งอื่นใดเลย

ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดว่า ปัญหาอยู่ที่การให้ X เกษียณเมื่อมีอายุ 60 ปี ขณะที่ยังมีความสามารถทำงานได้ดีกว่าคนอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด อาจทำให้สถานการณ์เลวลงไปอีก แต่ทางเลือกคือ ไม่มีผู้สืบตำแหน่งแทนเมื่อ X ออกไปแล้ว และเมื่อ X พิสูจน์ความสามารถของตนมากขึ้นเท่านั้น ตลอดจนอยู่ในตำแหน่งเดิมนานเท่าใด ก็หมดหวังที่จะหาคนแทนเขามากขึ้นเท่านั้น






Create Date : 18 มิถุนายน 2551
Last Update : 18 มิถุนายน 2551 15:26:01 น. 1 comments
Counter : 15589 Pageviews.

 
4. บทวิจารณ์ของบุคคลอื่น

หนังสือกฎของพาร์กินสัน (Parkinson’s Law) เขียนโดย ซี นอร์ทโคท พาร์กินสัน (C Northcoth Parkinson’s) เป็นเรื่องราวที่มีแง่คิดเกี่ยวกับการบริหาร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนปัจจุบัน

รศ.ดร.กิติมา ปรีดีดิลก รองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

“ข้อคิดของกฎของพาร์กินสันช่วยเตือนผู้บริหารว่าไม่ควรขยายงานเกินความจำเป็น ควรจะได้ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้ดีขึ้น โดยจัดระบบการประสานงานที่ดี มีเอกภาพการบังคับบัยชา การหมุนเวียนงาน และการพัฒนาเจ้าหน้าที่ ถ้าปฏิบัติได้จะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณและความสิ้นเปลืองต่างๆ ลงได้”



รศ.บุญวัฒน์ วีสกุล อดีตอาจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“หนังสือกฎของปาร์คินสัน เป็นเรื่องราวที่มีแง่คิดเกี่ยวกับการบริหารงาน ซึ่งพาร์กินสัน พยายามสร้างกฏเกณฑ์ที่น่าสนใจหลายประการโดยใช้สำนวนโวหารของการเขียนแสดงความเย้ยหยันการบริหารงานที่ไม่ถูกต้อง แต่ได้แฝงความตลกขบขันไว้ด้วย ทำให้หนังสือเล่มนี้มีชื่อเสียงดีเด่น และกฎของปาร์คินสัน ก็ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการ ดังจะเห็นได้จากการอ้างอิงกฎนี้อยู่เสมอในตำราทางวิชาการด้านบริหาร”

ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“บุคคลท่านนี้ได้นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ไว้หลายอย่างเหมือนกัน ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ Parkinson’s Law หรือกฎของ Parkinson ที่กล่าวไว้ว่า "งานที่มีอยู่จะขยายจนกระทั่งเต็มเวลาที่มี" ซึ่งคิดๆ ไปก็จริงนะครับ ถ้าเรามีเวลาอยู่หนึ่งชั่วโมง เราก็สามารถทำงานดังกล่าวได้เสร็จภายในหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเรามีอยู่ครึ่งวัน เราก็สามารถใช้เวลาครึ่งวันในการทำงานชิ้นเดียวกันให้เสร็จได้เหมือนกัน”

กลุ่มพี่เลี้ยงภาษาอังกฤษ fun-english

“ในทางด้าน Information Technology กฏของ Parkinson ก็นำไปใช้ได้เหมือนกัน มีคนตั้ง Parkinson's Law of data ว่า “ข้อมูลที่มีเก็บอยู่จะขยายตัวตามขนาดของเนื้อที่หน่วยความจำ” ถ้าเรามีเนื้อที่หน่วยความจำในเครื่องคอมพิวเตอร์เรามาก เราก็จะโหลดจนเต็มพื้นที่ที่เรามีนั่นเอง และนอกจากนั้นยังมีกฏที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ทด้วย นั่นคือ Parkinson's Law of Bandwidth Absorption ซึ่งกล่าวว่า "ถ้าเรามี bandwidth ขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพมาก การแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือ traffic ก็จะมีเพิ่มขึ้นตามขนาดของ bandwidth”



5. สรุปข้อคิดเห็นของนักศึกษา

จากกฎของพาร์กินสันข้างต้น เป็นกฎที่มีวิธีการเขียนในแบบประชดประชัน สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี

กฎการขยายงานยังเป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้จนปัจจุบัน การจะพิจารณาเพิ่มบุคลากรยังสามารถพิจารณาจากกฎของพาร์กินสันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงกฎของการจัดห้องประชุม การจัดวาระการประชุมเพื่อสอดคล้องกับกฎของพาร์กินสัน ว่าด้วยจุดที่ความสนใจหายไป หากเรื่องสำคัญๆ ถูกจัดไว้ในวาระสุดท้ายก็จะไม่เกิดประโยชน์ แต่กระนั้นก็ขาดเสียไม่ได้ที่จะคำนึงถึงจำนวนในการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องหนึ่งเรื่องใด เพราะหากต้องการให้การดำเนินงานของคณะกรรมการนั้น เกิดประสิทธิภาพสูงสุด คงต้องคำนึงถึงกฎของพาร์กินสันอย่างแน่นอน

อีกประการของพาร์กินสัน คือ หลักในการพิจารณาบุคคลเข้าทำงานซึ่งยังใช้ได้จนถึงปัจจุบัน คือ การสอบสัมภาษณ์ โดยพิจารณาความเฉลียวมากกว่าความฉลาด การแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่ไหนระหว่างแผนการ หรือแบบอาคาร แต่กฎประการหนึ่งที่ยังไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายเนื่องจากเป็นกฎที่ต้องเป็นความลับ เกี่ยวกับการค้นหาคนสำคัญ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่จะทำให้เราสามารถทราบถึงคนที่สำคัญได้ง่ายที่สุด







บรรณานุกรม

บุญวัฒน์ วีสกุล. กฎของปาร์คินซัน. กรุงเทพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519

พสุ เดชะรินทร์. มุมมองใหม่ในการเปลี่ยนแปลง. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 มิถุนายน 2547

//en.wikipedia.org/wiki/C._Northcote_Perkinson




โดย: Pu121 วันที่: 18 มิถุนายน 2551 เวลา:15:26:31 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Pu121
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add Pu121's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.