สิงหาคม 2556

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
17
18
19
20
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
16 สิงหาคม 2556
ที่สุดของหัวใจ



ที่สุดของหัวใจ

บริษัท กันตนา พับลิชชิ่ง จำกัด

พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๕

ขนาดหนังสือ ๑๘.๕ x ๑๘.๕ ซม. หนา ๙๖ หน้า
ปกอ่อน กระดาษอาร์ต

ราคา ๑๙๙ บาท



รวมเรื่องราวน่ารักๆ และซาบซึ้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับปวงชนชาวไทย
หลายเรื่องราวผ่านหูผ่านตามาแล้ว แต่ได้อ่านเมื่อไหร่ก็ยังรู้สึกซึ้งใจทุกครั้ง


เสียงปริศนา

...ในวันเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ขณะที่ประทับรถพระที่นั่งไปสู่สนามบินดอนเมือง ทรงได้ยินเสียงตะโกนดังๆ ว่า

"ในหลวง อย่าทิ้งประชาชนนะ"

ทำให้ทรงนึกตอบบุคคลผู้นั้นในพระราชหฤทัยว่า
"ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนอย่างไรได้"

เป็นที่น่าประหลาดว่า ต่อมาอีกประมาณ ๒๐ ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพบชายที่ร้องตะโกนทูลพระองค์ไม่ให้ทิ้งประชาชนนั้นเป็นพลทหาร และในปัจจุบันเขาออกไปทำนาอยู่ในต่างจังหวัด เขากราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ไม่ทรงทิ้งราษฎร เขาทูลว่าตอนที่เขาร้องไปนั้น เขารู้สึกว้าเหว่และใจหาย ที่เห็นพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปจากเมืองไทย กลัวจะไม่เสด็จกลับมาอีก เพราะคงจะทรงเข็ดเมืองไทย เห็นเป็นเมืองที่น่ากลัวน่าสยดสยอง เขาดีใจมากที่ได้เฝ้าฯ อีก กราบบังคมทูลถามว่า

"ท่านคงจำผมไม่ได้ ผมเป็นคนร้องไม่ให้ท่านทิ้งประชาชน"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า "เราน่ะรึที่ร้อง?"
"ใช่ครับ ตอนนั้นเห็นหน้าท่านเศร้ามาก กลัวจะไม่กลับมา จึงร้องไปเหมือนคนบ้า"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตอบ
"นั่นแหละ ทำให้เรานึกถึงหน้าที่ จึงต้องกลับมา"

(ที่มา: สมุดภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ จัดทำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ในวโรกาส เฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑)








ไล่ออกก็ยอม

นางสาว ชูทิศ แสงชัย
(ขณะนั้นอายุ ๒๕ ปี)

...ภูมิพโลภิกษุทรงลาสิกขาในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ รวมเวลาที่ทรงพระผนวชเป็นเวลา ๑๕ วัน

ทันทีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกจากพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในฉลองพระองค์ชุดเศวตพัสตร์ แต่ไม่ทรงฉลองพระมาลา ประชาชนสตรีจำนวนมากก็เฮโลล้อมหน้าล้อมหลัง เมื่อเสด็จผ่านหญิงสาวผู้หนึ่งที่นั่งพับเพียบราบอยู่ใกล้พระบาท ได้นำดอกไม้มาถวาย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับดอกไม้ แต่เหตุการณ์ที่ไม่มีผู้ใดคิดว่าจะอุบัติก็อุบัติขึ้น สตรีผู้นั้นได้ฉวยโอกาสขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับดอกไม้ คว้าพระหัตถ์มาจูบเสียฟอดใหญ่แล้วก้มกราบ ซึ่งพระบาทสเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผ่อนตามด้วยสีพระพักตร์ที่ยิ้มแย้ม แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไป

"ตั้งแต่พระองค์ท่านทรงพระผนวช หนูไม่ได้มีโอกาสมาเฝ้าเลย จะลางานเขาก็ไม่ให้ลา วันนี้เลยหนีงานมา จะขอเฝ้าและจูบพระหัตถ์พระองค์ท่านให้ได้ ถึงจะตายก็ไม่ว่า และแม้ว่าบริษัทจะไล่ออกก็ยอม หนูเลยจูบพระองค์ท่านเสียฟอดใหญ่ แหม...พระหัตถ์ท่านหอมและเย็นดีจังค่ะ..."

(ที่มา: หนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๙)





ตื่นเต้น

หม่อมราชวงศ์บุตรี วีระไวทยะ
ผู้อำนวยการกองในพระองค์ สำนักราชเลขาธิการ

…ถ้าเผื่อใครมีโอกาสไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พอมองพระเนตรสักพักหนึ่งจะมองไม่ได้ ไม่ใช่ว่าท่านดุหรืออะไรเลย แต่ว่าพระบารมีท่านมากเหลือเกิน เราจะมองสบพระเนตรท่านไม่ได้เลย บางครั้งอย่างเช่นพวกราชองครักษ์ ครั้งแรกที่ไปรับราชการไปถวายตัว จะต้องมีการเข้าเฝ้าฯ หรือแม้เมื่อกระทั่งเสด็จเข้าในพระตำหนัก จะต้องมีการรายงานตัว บางคนเริ่มต้นเสียงดัง ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าพลตรี.............จำชื่อตัวเองไม่ได้  มีเป็นประจำ... แค่ชื่อตัวเองยังจำไม่ได้เลย...

(ที่มา : การอภิปราย "พระเจ้าอยู่หัวของเรา" จัดโดย สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย สำนักงาน กพ. วันเสาร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๓๐)






ยังเอียงนะ

ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
ปฏิมากร


…พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับโทรศัพท์จากหัวหน้ากองมหาดเล็ก นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ตำแหน่งสมัยนั้น ได้แจ้งกับผมว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ผมเข้าเฝ้าฯ เพื่อช่วยแก้ไขหุ่นขี้ผึ้งพระพุทธรูปปางประทานพร ตามแบบเดิมที่ช่างปั้นได้ทำการหล่อเป็นโลหะไปแล้ว ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์...

…ตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เข้ามาทอดพระเนตรการปฏิบัติงานภาคปกติของผม ด้วยความละเอียดถี่ถ้วนที่แน่นอนแม่นยำของพระองค์ท่าน ได้รับสั่งกับผมว่า พระเศียรเอียงไปนิดหน่อย

ผมได้กราบบังคมทูลว่า "ก่อนหน้าที่พระองค์ท่านเสด็จฯ เข้ามา ข้าพระพุทธเจ้าตรวจทิ้งดิ่งแล้วพระพุทธเจ้าข้า ไม่เอียง" ท่านก็ไม่ว่าอะไร พอจะเสด็จฯ ออกจากห้อง ทรงรับสั่งอีกครั้งหนึ่งว่า "ยังเอียงนะ" แล้วเสด็จฯไป

ผมอยู่ทางนี้ก็นึกเอะใจ จึงมีการตรวจด้วยดิ่งอีก คราวนี้ผมตกใจที่สุด  รีบแก้ไขและตกแต่งใหม่จนเรียบร้อย และนั่งคิดอยู่ว่าเป็นความผิดอย่างยิ่งของผม ถ้าเป็นสมัยโบราณ ถ้าไม่ได้รับพระเมตตา พระราชอาญาคงไม่พ้นเกล้าฯ แน่ๆ

วันรุ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เข้ามาในห้องอีก ผมรีบเข้าไปกราบแทบพระบาทของพระองค์ท่าน และกราบบังคมทูลรับสารภาพผิดว่า "เมื่อวานนี้ข้าพระพุทธเจ้าอาจมีการแต่งเติมเพียงนิดหน่อย หนักมือไปเลยเอียง ขณะนี้ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้วพระพุทธเจ้าข้า" พระองค์ท่านทอดพระเนตรตรวจอีกครั้งหนึ่ง รับสั่งว่า "ดีแล้ว" ด้วยพระอาการพระเมตตา ซึ่งทำให้ผมต้องจดจำไปตลอดชีวิต

(ที่มา: บทความ "พระอัจฉริยภาพทางด้านปฏิมากรรม" โดย ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ หนังสือ “ราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี พ.ศ.๒๕๓๙)







ตายด้วยกัน

ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

...ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่บนพลับพลา ณ สนามโรงพิธีช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา และกำลังพระราชทานรางวัลแก่โต๊ะครู การพระราชทานต้องหยุดชะงักลงทันที เพราะมีเสียงระเบิดเกิดขึ้น ๒ ครั้งในหมู่ราษฎรที่นั่งรอเฝ้าฯ...

…ราษฎรที่นั่งรอเฝ้าอย่างมีระเบียบต่างก็ลุกขึ้นเป็นอลหม่าน บ้างก็นอนคว่ำอยู่กับพื้น บ้างก็ออกวิ่งให้ห่างจากจุดที่มีเสียงระเบิด พากันวิ่งตัดสนามผ่านหน้าพลับพลา ถ้ามีใครหกล้มกับพื้นข้าพเจ้าคิดว่าคงมีการเหยียบกันตายให้เห็นต่อหน้าเป็นแน่...ทุกคนที่อยู่บนพลับพลาต่างก็ได้เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น เห็นราษฎรที่ต่างก็วิ่งรุดไปข้างหน้าจนไกลด้วยความตกใจสุดขีด และสักครู่เขาก็วิ่งกลับมาที่เดิมใหม่

เมื่อไม่มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นอีก เหตุการณ์สงบ สักครู่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานรางวัลแก่โต๊ะครูจนเสร็จพิธี ต่อจากนั้นทั้งสองพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่กลับมารอเฝ้าฯ ด้วยพระอิริยาบถและพระราชจริยวัตรเป็นปกติ...

…มีเด็กสาววิ่งเข้ามาเขย่าพระกรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ร้องไห้พลางปากก็ร้องว่า "เขาจะฆ่าท่านทำไม ท่านก็รักราษฎร แล้วท่านก็ดีกับพวกหนู"

ผู้หญิงแก่คนหนึ่งก็เข้ามากราบบังคมทูลว่า "ท่านอย่าโกรธฉันนะจ๊ะ เสียงมันดังปังขึ้นมา ฉันก็ตกใจวิ่งหนี แต่พอวิ่งไปแล้วนึกขึ้นได้ว่าท่านยังอยู่ที่นั่น ก็เลยต้องวิ่งกลับมาหา คิดว่าถ้าเป็นอะไรขึ้นมาก็มาตายด้วยกัน"

(ที่มา: “ทำเป็นธรรม” โดย ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา มูลนิธิกตเวทิน จัดพิมพ์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒)




 




Create Date : 16 สิงหาคม 2556
Last Update : 27 มีนาคม 2558 2:24:59 น.
Counter : 1747 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นักแปลเท้าปุย
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]