พฤษภาคม 2558

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
25
26
27
28
29
30
31
 
 
ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ




ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ

พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๗ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม

ขนาดหนังสือ ๑๘ x ๒๕.๕ ซม. หนา ๓๑๐ หน้า
ปกอ่อน มีใบหุ้มปก สองภาษา ไทย-อังกฤษ
ราคา ๓๖๕ บาท














ภาพเก่าๆที่เราได้เห็น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยือนต่างประเทศคือ ภาพของกษัตริย์หนุ่มผู้สง่างามและชาญฉลาด กับพระราชินีสาวผู้ทรงพระศิริโฉม ทั้งสองพระองค์ปฏิบัติภารกิจในฐานะตัวแทนของชาติไทยอย่างสมบูรณ์แบบ สมกับคำว่า "ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น"

นั่นคือภาพเบื้องหน้าที่เราเห็น แต่หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเบื้องหลัง ซึ่งจะทำให้เราตระหนักว่า ภายใต้ภาพอันสวยงามนั้น ทั้งสองพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยขนาดไหน ที่สำคัญคือ เรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้มาจากพระโอษฐ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ โดยตรง เมื่อได้อ่านแล้วก็ทำให้ตระหนักว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงงานหนักมากจริงๆ ทั้งสองพระองค์ทรงงานทั้งวันแทบทุกวัน ต้องเสด็จจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง จากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งตลอดระยะเวลาหลายเดือน บ่อยครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้บรรทมไม่กี่ชั่วโมงเพราะต้องเตรียมพระราชดำรัสสำหรับวันรุ่งขึ้น ซึ่งบางครั้งพระราชดำรัสที่เตรียมไว้ก็ไม่ได้ใช้เพราะต้องมีพระราชดำรัสตอบสดๆก็มี บางครั้งพระองค์ต้องเสด็จร่วมงานเลี้ยงจนถึงรุ่งสางและไม่ได้บรรทมก็มี

การทรงงานอย่างหนักและต่อเนื่องส่งผลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงถึงกับประชวร โดยสมเด็จฯ ทรงเล่าถึงเมื่อครั้งเสด็จเยือนประเทศเบลเยียม เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ว่า "เผอิญพระเจ้าอยู่หัวเริ่มประชวรหวัดตอนเสด็จถึงเบลเยี่ยม ถ้าได้บรรทมพักผ่อนเสียสักวันหรือ ๒ วัน พระอาการก็คงจะไม่กำเริบ นี่ต้องเสด็จออกงานตั้งแต่เช้าจดค่ำไม่เว้นว่าง เสด็จเดินทางไปตามเมืองต่างๆ อากาศก็ค่อนข้างเย็น ฝนตกทุกวันทำให้ทรงโดนละอองฝนที่หนาวเย็นอยู่ตลอดเวลา พอวันที่ ๒ ก็เลยประชวรไข้ หมอประจำพระองค์จึงถวายยาทุก ๔ ชั่วโมง เลยทำให้ทรงง่วง ซึม แต่พระอาการไข้ก็ไม่ลด แต่กระนั้นก็ทรงฝืนพระทัยทำกะปรี้กะเปร่าเสด็จออกงานทุกงานไม่เว้นว่าง ไม่มีใครนอกจากพวกเราที่ทราบว่าท่านประชวรเพียงไร ทรงคุยภาษาฝรั่งเศสที อังกฤษที ในวันหนึ่งๆ ต้องประทานพระหัตถ์ให้คนจับเห็นจะร่วมพันคน ข้าพเจ้าสงสารเห็นพระทัยท่านยิ่งนัก ถ้าข้าพเจ้าเจ็บถึงขนาดนั้นก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะทนสู้ไหวหรือไม่ ยิ่งเห็นพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัวซีดเซียว พระเนตรปรือเพราะพิษไข้ ข้าพเจ้าก็ยิ่งกลุ้มใจ แต่ก็สุดปัญญามิรู้ที่จะแก้ไขอย่างไร ข้าพเจ้าทราบดีว่าท่านจะทรงอดทนจนถึงที่สุดทีเดียว ไม่มีวันที่จะทรงยอมแพ้เป็นอันขาด"



พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์ที่สหรัฐอเมริกา


สำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถนั้น พระองค์เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้หญิงไทยทุกคน เรียกว่า "เป็นหน้าเป็นตา" ของสตรีไทยก็คงไม่ผิด เพราะฉะนั้นพระองค์จึงใส่พระทัยอย่างมากเรื่องเครื่องแต่งกาย พระองค์เตรียมทั้งเครื่องแต่งกายแบบสากลตามขนบธรรมเนียมของแต่ละประเทศ และชุดไทยซึ่งแสดงถึงเอกลักษณ์อันงดงามของบ้านเมืองเรา แม้พระองค์ทรงระวังอย่างมากแต่ก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้นบ้างจนถูกสื่อนำไปตีข่าวก็มี  



สมเด็จพระราชินีนาถเอลิสะเบธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร ประทับบนรถม้าคู่กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จากสถานีรถไฟวิคตอเรียไปสู่พระราชวังบักกิ้งแฮม



ในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ประสบพบเจอการต้อนรับที่น่าประทับใจมากมาย เช่น เมื่อเสด็จฯ เยือนประเทศอังกฤษในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๓ สมเด็จฯ ทรงเล่าว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าอดที่จะนำมาเล่าสู่กันไม่ได้ ก็คือพระราชินีนาถเอลิสะเบธได้โปรดให้จัดของไทยๆ เช่น ขันน้ำกับพานรองลงยาราชาวดี หีบทองลงยา ตลับยานัตถุ์ทองลงยา ซองบุหรี่ทองลงยา ดาบฝักทองคำจำหลัก ที่ชาถมตะทอง เป็นต้น มาประดับประดาตกแต่งห้องนั่งเล่นของเราภายในพระราชวังบัคกิงฮัม เพื่อเราทั้งสองจะได้รู้สึก "เหมือนบ้าน" ของเหล่านั้นเป็นของขวัญที่รัชกาลที่ ๔ ส่งไปพระราชทานควีนวิกตอเรีย โดยโปรดเกล้าฯ ให้ราชทูตไทย มีพระยามนตรีสุริวงษ์และคณะ คือหม่อมราโชทัย เป็นต้น นำไปถวายเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๐ หรือ ค.ศ.๑๘๕๗ ตามธรรมดาได้ยินว่าของเหล่านี้เก็บอยู่ในพระราชวังวินเซอร์"



เสด็จฯ เยี่ยมศาลาว่าการเทศบาลกรุงบอนน์ นายกเทศมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายช่อดอกไม้


สำหรับการเสด็จเยือนประเทศเยอรมนีนั้น ประชาชนชาวเยอรมันมาต้อนรับเป็นหมื่นเป็นแสน สมเด็จฯ ทรงประทับใจมากจนถึงกับตรัสว่า "ประชาชนชาวเยอรมันคงจะไม่มีวันทราบว่า เราทั้ง ๒ จะไม่ลืมการต้อนรับที่อบอุ่น แสดงน้ำใจอันน่ารัก ซึ่งเขาทั้งหลายแสดงต่อเราทุกหนทุกแห่ง ตลอดเวลาที่เราเดินทางท่องเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ ในประเทศของเขาถึง ๙ วันเป็นอันขาด ช่างสมกับคำว่า State Visit เสียจริงๆ เพราะคนทั้งชาติร่วมกับรัฐบาลของเขาในการสร้างความรู้สึกที่เป็นไมตรีอันดียิ่งแก่ผู้แทนของชาติที่ไปเยี่ยม ขนาดจะจำไว้จนตลอดชีวิตเลยทีเดียว"

"ข้าพเจ้านึกไม่ถึงจริงๆ ที่ชาวเยอรมันจะสนใจต่อเราถึงขนาดไม่นึกถึงความสบายส่วนตัว ยอมอดหลับอดนอนทรมานร่างกายยืนรอเราอยู่เป็นชั่วโมงๆ เพื่อจะได้เห็นเราเพียงครู่เดียว เป็นเหตุการณ์ที่น่าจับใจที่สุดซึ่งพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าจะลืมเสียมิได้ นึกถึงครั้งใดจะต้องปลาบปลื้มและอบอุ่นอยู่ในใจเสมอมา"

การต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของชาวเยอรมันนั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้าย โดยสมเด็จฯ ทรงเล่าว่า "เมื่อครบกำหนด ๙ วัน รัฐบาลเยอรมันก็จัดรถไฟขบวนเดิมไปส่งเรากลับประเทศสวิส เมื่อรถไฟพระที่นั่งหยุดที่สถานีสุดท้าย ซึ่งเป็นเขตแดนเยอรมันติดต่อกับสวิส เพื่อให้เจ้าหน้าที่เยอรมันบางคนที่มาประจำเราทั้ง ๒ ลากลับนั้น ที่สถานีเต็มไปด้วยผู้คน รถไฟก็จอดอยู่อีก ๒ ขบวนทั้งทางรางข้างซ้ายและขวาของขบวนรถเรา ผู้โดยสารต่างยื่นหน้าอันยิ้มแย้มแจ่มใสออกมาโบกมือกับเราทั้ง ๒ ครั้นเมื่อรถไฟพระที่นั่งเตรียมจะเคลื่อนขบวนไปเข้าเขตแดนสวิส ผู้คนทั้งหมดที่สถานี รวมทั้งเจ้าพนักงานรถไฟ เจ้าหน้าที่เยอรมันบางคนที่ประจำเราอยู่ตลอด ๙ วัน ผู้โดยสารในรถไฟทุกคัน รวมทั้งประชาชนที่เผอิญอยู่ที่สถานีตอนนั้น ต่างร่วมกันร้องเพลง "Auf Wiedersehen" (ภาษาอังกฤษแปลว่า Till we meet again) ร่ำลาเราทั้ง ๒ ด้วยความอาลัย ไม่ได้มีการนัดแนะกันมาก่อนเลย อยู่ๆพอรถไฟจะออกก็มีใครผู้หนึ่งเป็นต้นเสียงร้องขึ้น แล้วทุกๆคนในที่นั้นก็ร้องตาม ขบวนรถไฟพระที่นั่งแล่นช้าๆออกจากเขตแดนเยอรมันด้วยเสียงเพลงลาอันไพเราะเพราะพริ้งที่ประชาชนพร้อมใจกันร้องร่ำลาเรา ทำให้เราทั้ง ๒ เกิดความซาบซึ้งปนกับความเศร้าและอาลัยที่จะต้องจากประชาชนเยอรมันที่น่ารักไป ความตื้นตันทำให้คนไทยที่ตามเสด็จมาในขบวนน้ำตาไหลไปหลายราย"





สมเด็จฯ ทรงเล่าว่า ทุกครั้งก่อนที่จะออกเดินทางไปต่างประเทศ พระเจ้าอยู่หัวจะมีรับสั่งให้ทุกคนที่จะตามไปในขบวนเสด็จมาเฝ้า แล้วทรงเตือนว่า "การไปครั้งนี้ของพวกเรา ทุกคนเปรียบเสมือนผู้แทนคนไทยทั้งชาติ ใครมีเรื่องราวทุกข์ร้อนหนักหนาอย่างไร ก็ให้หนักเอาเบาสู้ อย่านึกวาดภาพว่าจะได้ไปเที่ยวสนุกสนาน จะได้ไม่ผิดหวัง"

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เข้าใจกระจ่างเลยว่าทำไมพระองค์ทรงตรัสเช่นนั้น เพราะการเสด็จเยือนต่างประเทศไม่ใช่เป็นการไปเที่ยวเล่นหาความสุขใส่ตนเอง แต่เป็นการไปเชื่อมสัมพันธไมตรีและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสายตาของต่างชาติ เป็นการไปดูงานเพื่อนำกลับมาพัฒนาบ้านเมือง เป็นการไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างแท้จริง








Create Date : 24 พฤษภาคม 2558
Last Update : 24 พฤษภาคม 2558 22:37:28 น.
Counter : 6249 Pageviews.

1 comments
  
หนังสือทรงคุณค่า ควรแก่การเป็นเจ้าของยิ่งนัก
โดย: นัทธ์ วันที่: 25 พฤษภาคม 2558 เวลา:15:04:26 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นักแปลเท้าปุย
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]