poivang
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




Cursors scrollbar background bullet สีfont สีlink webpage ลบกรอบ ภาพcomment
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
7 กรกฏาคม 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add poivang's blog to your web]
Links
 

 

เหตุที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องเวียนว่ายตายเกิด





กิเลสเป็นตัวเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิด ตราบใดที่มนุษย์เรายังมีกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะอยู่ในจิตใจ ทุกข์ก็ต้องมีอยู่และทำให้เราต้องทำบาปอกุศลอยู่ร่ำไป เมื่อทำบาปอกุศลแล้วก็ต้องรับวิบากกรรมนั้น

ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย เวียนว่ายอยู่อย่างนี้เป็นวัฏฏทุกข์อันหาที่สุดมิได้ ต้องเจ็บปวด ต้องสูญเสีย ต้องพลัดพราก สับสน คับแค้นและสิ้นหวัง ไม่ว่าจะเกิดมาเป็นอะไรก็ตาม ทั้งอบายสัตว์ สามัญสัตว์ทั้งหลายล้วนต้องสูญเสีย แก่ เจ็บ ตายไปในที่สุด และหมุนเวียนเช่นนี้ต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

เรามาพิจารณาดูว่าในวันหนึ่งๆ เราทำกรรมอะไรบ้างยกเว้นขณะหลับสนิท เพราะเวลาที่หลับสนิทนั้นไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน จิตจะเป็นภวังค์

ถามว่าจิตที่เป็นภวังค์นี้มีอารมณ์หรือไม่? จิตที่เป็นภวังค์ทุกดวงทุกขณะต้องมีอารมณ์ทั้งนั้น จิตจะไม่ว่างจากอารมณ์เลย เพราะจิตจะเกิดได้ต้องอาศัยอารมณ์ มีอารมณ์เป็นปัจจัย แต่ภวังคจิตมีอารมณ์เป็นอดีตภพ

คนเราที่นอนหลับนั้นคือจิตตกลงสู่ภวังค์ จึงไม่รับรู้อารมณ์ปัจจุบันเลยอยู่ในภาวะที่ไม่รู้สึกตัว ไม่มีความยึดถือใดๆทั้งสิ้นแม้แต่ตัวของตัวเอง

ในขณะที่นอนหลับจึงรู้สึกว่าเป็นสุขไปชั่วขณะหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะจิตของเราในขณะที่หลับนั้นไม่รับอารมณ์ปัจจุบันจากทวารทั้งหกนั่นเอง

คือไม่รับอารมณ์จากทางตา หู จมูก ลิ้น กายจากการสัมผัส และทางใจคือการนึกคิด ความเศร้าหมองต่างๆก็ไม่เกิด กิเลสจึงไม่เกิดในขณะนอนหลับ แต่จิตก็ยังทำงานอยู่ คือ เกิด- ดับ ฯ อยู่ตลอดเวลา และมีอารมณ์ที่เป็นอดีตภพ

ในชีวิตประจำวันเราต้องแสวงหาอารมณ์ต่างๆทางทวารทั้ง ๖ อยู่ตลอดเวลา เช่นต้องการเห็นสิ่งดีๆสวยๆงามๆ ไม่อยากเห็นสิ่งที่น่าเกลียดน่าขยะแขยง ต้องการได้ยินเสียงดีๆที่ไพเราะอ่อนหวาน

ไม่ต้องการได้ยินเสียงรบกวนหนวกหู เสียงบ่นเสียงด่าว่าร้าย ต้องการได้กลิ่นหอมๆ ไม่ต้องการกลิ่นเหม็น ต้องการลิ้มรสของที่อร่อย ต้องการอยู่ในอิริยาบถที่สบาย เป็นต้น

ความต้องที่ว่ามานี้เมื่อได้มาแล้วก็หาได้หยุดอยู่แค่นั้นไม่ ต้องการที่จะเพิ่มมากขึ้นอีกไปเรื่อยๆ เมื่อได้สิ่งที่ต้องการสมปรารถนาแล้วก็ยังต้องการสิ่งอื่นๆต่อไปอีก โดยไม่มีความเพียงพอหรือไม่จบไม่สิ้นความต้องการเลยตลอดเวลาที่เรายังมีชีวิตอยู่

ถ้าเราได้สิ่งที่ดีๆก็พอใจในสิ่งนั้นเสมอ เมื่อได้อารมณ์อันเป็นที่พอใจแล้ว ก็ติดใจในอารมณ์นั้นๆอย่างมั่นคง แล้วจะพยายามให้ได้อารมณ์นั้นๆเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ความพอใจติดใจในอารมณ์ต่างๆเหล่านี้จะฝังแน่นอยู่ในจิตใจอย่างไม่รู้ลืม (เพราะจิตมีอำนาจในการเก็บสะสมกรรมต่างๆ ที่ได้ทำเอาไว้แล้ว และรักษาเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปไหน) ซึ่งเราเรียกความพอใจติดใจในอารมณ์เหล่านี้ว่าโลภะกิเลส หรือโลภะตัณหา

ความอยากได้ ความพอใจ ความติดใจ ยินดีในอารมณ์ต่างๆเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้ทุกๆวัน แต่ละวันมีไม่น้อยที่จิตได้สั่งสมเอาไว้ดังนั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายไปจะมีมากสักเพียงใด ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกรรมที่มีกำลัง มีพลังมีอำนาจมากที่ทุกคนคิดไม่ถึง

แม้แต่ทำบุญกุศล ต่างก็ตั้งความปรารถนาหรืออธิษฐานไปถึงชาติหน้าอีกด้วย เช่นอธิษฐานเกิดชาติหน้าให้ร่ำรวย ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง อย่ามีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ขอให้มีหน้าตาสวยงามไม่พิกลพิการ เป็นต้น

ความปรารถนาหรือคำอธิษฐานนี้มีพลัง มีกำลังมาก ถึงแม้เราจะมองไม่เห็นตัวความปรารถนาตรงนี้ หรือจะสัมผัสมันไม่ได้ก็ตาม เพราะเป็นพลังให้เราต้องทำกรรมตามที่ตั้งความปรารถนาเอาไว้เป็นการทำบุญด้วยกิเลสที่จะให้เวียนว่ายตายเกิดต่อไปอีกนั่นเอง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กิเลสนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ กิเลสเกิดทุกข์ก็เกิด มนุษย์เราตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ กิเลสตัวนี้แหละไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ หรือความหลงเกิดขึ้นกับผู้ใดทำให้ผู้นั้นต้องทำกรรมอีก

แม้จะเป็นกุศลกรรมให้ผลเป็นความสุขก็จริง แต่ก็มีความทุกข์แอบแฝงอยู่ด้วย เพราะกุศลกรรมที่มีตัณหาอุปาทานเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอยู่นั้น ทำให้เกิดภพใหม่ชาติใหม่

เมื่อมีชาติหมายถึงการมีเกิดคือ รูปนามขันธ์๕เกิด ก็มีความแก่ชรา มรณะความตาย ความโศกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก หวังสิ่งใดแล้วไม่ได้สมหวัง ตามมาอีกเป็นขบวนทีเดียว

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ทั้งหมดเพราะความยึดมั่นถือมั่นในชีวิตในกายและใจ ที่เรียกว่ารูปนามขันธ์ ๕ (อุปทานขันธ์) เพราะมีกายและใจ(รูปนามขันธ์๕) เกิดขึ้นมาแล้ว ความทุกข์ดังกล่าวทั้งปวงก็เกิดขึ้นตามมา

เมื่อทำกรรมอีก ผลของกรรมที่ทำนั่นแหละก็นำเกิดอีกในภพภูมิใหม่ คือรูปนามหรือขันธ์๕ มาเกิดอีก มีความแก่ชรา มรณะ ตามมาอีก จะเวียนวนอย่างนี้ไม่มีที่สุด ที่เรียกว่าวัฏสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด และตัวที่ทำให้มีการเวียนว่ายตายเกิดก็คือตัวกิเลสนั่นเอง

แต่ถ้าได้ศึกษามีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มีบารมีในทางธรรมจนเกิดมีปัญญาเห็นรูปนามขันธ์๕ หรือกายกับใจตามความเป็นจริง เห็นความเกิดเป็นทุกข์ เห็นสมุทัยคือตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

เห็นทางดับทุกข์ และปฏิบัติให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ก็สามารถชำระจิตใจให้สะอาดหมดจด ปราศจากกิเลส จึงละกิเลสได้ พอสิ้นกิเลสกรรมก็หมด เมื่อกรรมหมดวิบากก็หมด ทุกข์ก็หมด วัฏฏะก็สิ้นสุดลง นั่นแหละจึงพ้นจากสังสารวัฏนี้ได้

บทธรรมะนี้มาจากหนังสือที่เผยแผ่เป็นธรรมทาน ซึ่ง พ.ต.อ. ประยูร ดิษฐานพงศ์ เป็นผู้รวบรวมเรียบเรียง










 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2550
0 comments
Last Update : 5 สิงหาคม 2550 18:40:02 น.
Counter : 646 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.