ลมหายใจของใบไม้
Group Blog
 
 
มกราคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
31 มกราคม 2554
 
All Blogs
 
ประวัติและกติกากีฬาแฮนด์บอล


แฮนด์บอล (Handball)

เริ่มต้นมาจากประเทศเยอรมัน ในราวปลายศตวรรษที่ 19 โดยครูพลศึกษาคนหนึ่งชื่อ Konrad Koch ได้ริเริ่มและแนะนำกีฬาประเภทนี้ออกมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตาม เกมแฮนด์บอลก็ยังไม่เป็นที่นิยมกว้างขวางเท่าที่ควร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2447 แฮนด์บอลจึงได้มีการพัฒนาอย่างกว้างขวางขึ้นในภาคพื้นยุโรป มีการกำหนดระเบียบและกติกาการเล่นโดยอาศัยกติกาของฟุตบอลเป็นหลัก นักพลศึกษาชาวอเมริกากล่าวว่า กีฬาแฮนด์บอลน่าจะเป็นเกมกีฬาที่เก่าแก่ที่สุด เพราะมนุษย์นิยมใช้มือกับลูกบอลขว้างมาแต่โบราณแล้ว อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถจะเดาได้ว่าเกมนี้ได้วิวัฒนาการมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลในปัจจุบันได้อย่างไร

ประเทศยุโรปในฤดูหนาวไม่สามารถเล่นกีฬากลางแจ้งได้ จึงใช้ห้องพลศึกษาดัดแปลงเล่นกีฬาฟุตบอลด้วยมือ ตอนแรกใช้ผู้เล่น 11 คนเท่ากับฟุตบอล แต่ไม่สะดวก เพราะสถานที่คับแคบ จึงลดจำนวนผู้เล่นเหลือข้างละ 7 คน จึงกลายมาเป็นกีฬาแฮนด์บอลแบบการเล่นในปัจจุบัน ในช่วงนั้นแฮนด์บอลมิได้ถือว่าเป็นกีฬาอย่างหนึ่ง เพราะไม่มีหน่วยงานเป็นของตนเอง แต่คณะกรรมการที่ก่อตั้งและดำเนินการก็มาจากสหพันธ์กีฬาสมัครเล่นระหว่างชาติ (The International Amateur Athletic Federation) มีชื่อย่อๆ ว่า I.A.A.F. คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่จัดดำเนินการต่างๆ ในทวีปยุโรปสมัยนั้น

หลังจากปี พ.ศ. 2447 กีฬาแฮนด์บอลซึ่งอยู่ในความดูแลของ I.A.A.F. ก็มีความมั่นคงขึ้น และหลายๆ ประเทศให้ความสนใจ และมีการจัดบรรจุในรายการกิจกรรมการกีฬาของประเทศนั้นๆ ด้วย ตลอดจนได้มีการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกประเทศมากขึ้น

ในปี พ.ศ. 2469 I.A.A.F. ได้ตั้งคณะกรรมการกีฬาแฮนด์บอลขึ้นโดยเฉพาะ โดยมีคณะกรรมการที่มาจากประเทศต่างๆ ในเครือสมาชิกของกีฬาประเภทนี้มีการประชุมตกลงเรื่องกติกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่กีฬาแฮนด์บอลได้ตั้งเป็นกีฬาประเภทหนึ่งโดยเอกเทศ และมีการริเริ่มตั้งสหพันธ์แฮนด์บอลขึ้นในปี พ.ศ. 2471 ประเทศกลุ่มสมาชิก 11 ประเทศได้เข้าร่วมประชุมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศฮอลแลนด์ The International amateur Handball Federation ก็ได้จัดตั้งขึ้น และบุคคลที่มีความสำคัญของการกีฬาสหพันธ์คือ Every Brundage ประธานของ I.O.C. ได้เป็นสมาชิกขององค์การใหม่นี้ด้วย

ในปี พ.ศ. 2471 กีฬาแฮนด์บอลก็ได้มีการสาธิตขึ้นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮนด์บอลก็ได้บรรจุเข้าเป็นรายการแข่งขันกีฬาระหว่างชาติ โดยการยอมรับของ I.O.C. หลังจากการประชุมที่กรุงอัมสเตอร์ดัม สมาชิกทั้งหมด 11 ประเทศ ก็ได้เพิ่มเป็น 25 ประเทศในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ในปี พ.ศ. 2479 ก็ได้บรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน หรือที่เรียกว่า Nazi Olympic

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สร้างปัญหาต่างๆ ให้กับการกีฬาเป็นอย่างมากแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่งที่โคเปนเฮเกน เพื่อที่จะฟื้นฟูกีฬาแฮนด์บอลขึ้นมาใหม่ แต่ก็ล้มเหลว จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2499 จึงได้มีการแก้ไขกติกาแฮนด์บอลขึ้นใหม่ และยอมรับทักษะการเล่นสมัยก่อน ซึ่งทำให้ลักษณะของการเล่นและกติกาเปลี่ยนแปลงไป โดยอาศัยกติกาของฟุตบอลและบาสเกตบอลมาผสมกัน

สมัยก่อนนิยมการเล่นแบบ 11 คน เช่นเดียวกับฟุตบอล แต่ในยุโรปตอนเหนือได้มีการเล่นแบบ 7 คน และเล่นกันในร่ม ตอนแรกๆ ก็ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่ต่อมาการเล่นแฮนด์บอลแบบ 7 คน ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายในยุโรป ทำให้การเล่นแบบ 11 คนได้หายไป ซึ่งในปัจจุบันทั่วโลกก็ยอมรับการเล่นแบบ 7 คน และจากผลของการวิจัยต่างๆ ปรากฏว่าแฮนด์บอลเป็นกีฬาที่มีความเร็วเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง เหตุที่แฮนด์บอล 7 คนนิยมเล่นในร่มก็อาจเป็นเพราะเนื้อที่สนามน้อย สามารถเล่นในที่แคบๆ ได้ และอีกอย่างก็คือสภาพของดินฟ้าอากาศในฤดูหนาวของทวีปยุโรปนั้นจะปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง ดังนั้นแฮนด์บอลจึงไม่สามารถเล่นในสนามกลางแจ้งได้ ด้วยเหตุผลนี้แฮนด์บอลจึงเป็นที่นิยมเล่นกันในร่มหรือโรงยิมเนเซียมแทน

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นว่ากีฬาแฮนด์บอลเป็นกีฬาของโลกอย่างหนึ่งเพราะการแข่งขันกีฬาสำคัญระหว่างชาติก็มีการแข่งแฮนด์บอลด้วย เช่น กีฬาเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2525 ก็ได้มีการแข่งขันแฮนด์บอล หลังจากที่บรรจุไว้ในกีฬาโอลิมปิก เมื่อปี พ.ศ. 2479 แล้ว และในปี พ.ศ. 2516 ได้บรรจุในโปรแกรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่นครมิวนิค ประเทศเยอรมันตะวันตกด้วย

กติกาการแข่งขัน



สนาม (The Playing Court)
1.1 สนามแข่งขัน (รูปที่ 1) เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดยาว 40 เมตร และกว้าง 20 เมตร ประกอบด้วยเขตประตูสองด้านและเขตสนามแข่งขัน เส้นรอบสนามด้านยาวเรียกว่า “เส้นข้าง” และเส้นสั้นเรียกว่า “เส้นประตู”
ข้อกำหนดของสนามแข่งขัน จะต้องไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบต่อทีมหนึ่งทีมใด
ข้อสังเกต เพื่อความปลอดภัย ควรมีพื้นที่รอบสนามแข่งขันกว้างอย่างน้อย 1 เมตร ตลอดแนวจากด้านข้าง และกว้าง 2 เมตร ตลอดแนวจากหลังเส้นประตู
1.2 ประตู (รูปที่ 2) วางที่จุดกึ่งกลางของเส้นประตู ขอบหลังของเสาประตูแต่ละด้านและต้องวางอยู่บนพื้นอย่างมั่นคง โดยมีความสูงวัดจากภายใน 2 เมตร กว้าง 3 เมตร
เสาประตูทั้งสองต้องเชื่อมต่อด้วยคานประตู ขอบหลังของเสาประตูจะต้องตั้งอยู่ที่ขอบนอกของเส้นประตู เสาประตูและคานประตูจะต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีขนาดพื้นที่หน้าตัดกว้าง 8 เซนติเมตร และทำด้วยวัสดุชนิดเดียวกัน (เช่น ไม้ หรือโลหะชนิด เบาหรือวัสดุสังเคราะห์อื่นๆ) โดยทาสีตัดกันสองสีทุกด้าน และต้องตัดกับสีของผนังด้านหลังประตู
บริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างเสาประตูและคานประตูควรทาสีเป็นสีเดียวกันด้านละ 28 เซนติเมตร และบริเวณที่อื่น ๆ ยาว 20 เซนติเมตร (รูปที่ 2 ) ประตูจะต้องมีตาข่ายขึงติดไว้และมีลักษณะหยุ่นตัว เมื่อลูกบอลถูกขว้างเข้าไปแล้วจะไม่กระดอนกลับมาอย่างรวดเร็ว
1.3 เขตประตู กำหนดโดยเส้นเขตประตู ซึ่งเขียนได้ดังนี้
- ลากเส้นยาว 3 เมตร ให้ขนานและห่างจากเส้นประตู 6 เมตร
- ลากเส้น ? ของวงกลม ใช้รัศมี 6 เมตร โดยใช้จุดศูนย์กลางจากด้านในของเสาประตูแต่ละเสา ลากเส้นจากเส้นประตูไปบรรจบปลายเส้นที่ยาว 3 เมตร (รูปที่ 1 และ 2 )
1.4 เส้นส่งกินเปล่า (เส้น 9 เมตร) เป็นเส้นไข่ปลา (ในแต่ละช่องยาว 15 เซนติเมตร) ลากขนานให้ห่างจากเส้นเขตประตู 3 เมตร
1.5 เส้น 7 เมตร ลากขนานกับเส้นประตู โดยห่างจากขอบนอกของเส้นประตู 7 เมตร
1.6 เส้นเขตผู้รักษาประตู (เส้น 4 เมตร) เป็นเส้นยาว 15 เซนติเมตร ลากขนานกับเส้น ประตู โดยห่างจากขอบนอกของเส้นประตู 4 เมตร (รูปที่ 1)
1.7 เส้นกลางสนามลากต่อจากจุดกึ่งกลางของเส้นข้างทั้งสองด้าน (รูปที่ 1 และ 3)
1.8 เส้นเขตเปลี่ยนตัว 2 ด้าน แต่ละด้านห่างจากเส้นกลางสนาม 4.5 เมตร ลากขนานกับเส้นกลางสนามเข้าไปในสนาม 15 เซนติเมตร
1.9 เส้นทุกเส้นเป็นส่วนหนึ่งของเขตนั้น ๆ และกว้าง 5 เซนติเมตร
1.10 เส้นประตูที่อยู่ระหว่างเสาประตูกว้าง 8 เซนติเมตร และต้องสัมพันธ์กับเสาประตูด้วย

เวลาการเล่น (Playing Time)
2.1 เวลาการเล่นทั้งประเภทชายและหญิงที่มีอายุ 18 ปี หรือมากกว่า แบ่งออกเป็น 2 ครึ่ง ครึ่งละ 30 นาที พักระหว่างครึ่ง 10 นาที
2.2 เวลาการเล่นจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ตัดสินในสนาม (Court Referee) ให้สัญญาณนกหวีดเพื่อส่งเริ่มเล่น และสิ้นสุดเวลาเมื่อผู้จับเวลาให้สัญญาณครั้งสุดท้าย การละเมิดและการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ก่อนที่ผู้จับเวลาจะให้สัญญาณหมดเวลา จะต้องทำโทษการทำผิดนั้นก่อนหลังจากนั้นจึงค่อยให้สัญญาณหมดเวลา ผู้ตัดสินในสนามสามารถหยุดการเล่นเท่าที่จำเป็นภายหลังจากมีการส่งลูกกินเปล่าหรือยิงโทษการละเมิดกติการะหว่างการส่งลูกกินเปล่าจะมีผลให้การส่งลูกกินเปล่านั้นต้องยกเลิก และเปลี่ยนให้ฝ่ายตรงข้ามได้สิทธิ์ทำการส่ง ข้อสังเกต ถ้านาฬิกาอัตโนมัติที่แจ้งสัญญาณการหมดเวลาเกิดขัดข้อง ผู้จับเวลาจะต้องใช้นาฬิกาตั้งโต๊ะหรือนาฬิกาจับเวลาแทนและให้สัญญาณหมดเวลาการแข่งขัน ถ้าใช้นาฬิกาอัตโนมัติ ควรตั้งเวลาตั้งแต่ 0 ถึง 30 นาที
2.3 ทั้งสองทีมจะต้องเปลี่ยนแดนกันในครึ่งเวลาหลัง
2.4 ผู้ตัดสินทั้งสองจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่า จะให้มีการหยุดการเล่นชั่วขณะหนึ่งและจะให้เริ่มเล่นต่อเมื่อใด โดยจะต้องให้สัญญาณกับผู้จับเวลาว่าเมื่อไรจะให้หยุดนาฬิกา (ขอเวลานอก) และจะเริ่มเมื่อไร การหยุดเวลาการเล่น การขอเวลานอกจะต้องแสดงให้ผู้จับเวลาทราบโดยการเป่านกหวีด สั้น ๆ 3 ครั้ง และให้สัญญาณมือรูปตัว T สัญญาณนกหวีดจะต้องเป่าเพื่อแสดงสัญญาณให้เริ่มการเล่นภายหลังจากการขอเวลานอก
2.5 ถ้าสัญญาณหมดเวลาดังขึ้นขณะส่งลูกกินเปล่า หรือยิงลูกโทษที่ 7 เมตร หรือในขณะที่ลูกบอลกำลังอยู่ในอากาศ ให้ทำการส่งใหม่ก่อนที่ผู้ตัดสินจะยุติการแข่งขันการละเมิดกติกาหรือการกระทำที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาระหว่างการส่งลูกกินหรือเปล่า หรือการยิงลูกโทษ จะต้องถูกลงโทษ
2.6 ถ้าผู้ตัดสินพิจารณาเห็นว่า ผู้จับเวลาได้ให้สัญญาณหมดเวลาการแข่งขันก่อนกำหนด จะต้องให้นักกีฬาอยู่ในสนามและเล่นต่อไป ทีมที่ได้ครอบครองลูกบอลขณะที่สัญญาณหมดเวลาก่อนกำหนดดังขึ้น จะเป็นทีมที่ได้ครอบครองลูกบอลต่อ ถ้าเวลาในครึ่งแรกจบช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนด เวลาในครึ่งหลังจะต้องตัดลงให้น้อยกว่ากำหนดตามเวลาที่เกินไปนั้น
2.7 เมื่อหมดเวลาในช่วงปกติแล้ว ผลเสมอกัน ให้เพิ่มเวลาเพิ่มพิเศษหลังจากพัก 5 นาที โดยให้ทำการเสี่ยงเพื่อเลือกส่งหรือเลือกแดน
เวลาเพิ่มพิเศษแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 5 นาที และให้เปลี่ยนแดน เมื่อหมดเวลาช่วงแรก โดยไม่ต้องพัก ถ้าผลการแข่งขันยังคงเสมอกันอีกหลังจากต่อเวลาเพิ่มพิเศษครั้งแรกแล้ว ให้ต่อเวลาเพิ่มพิเศษครั้ง 2 อีกโดยให้พัก 5 นาทีและทำการเสี่ยงเพื่อเลือกส่งหรือเลือกแดน ถ้าผลการแข่งขันยังคงเสมอกันอีก การหาผู้ชนะจะต้องเป็นไปตามระเบียบการแข่งขันเฉพาะครั้งนั้น ๆ

ลูกบอล (The Ball)
3.1 ลูกบอลจะต้องทำด้วยหนังหรือวัสดุสังเคราะห์ และเป็นรูปทรงกลม ผิวของลูกบอลต้องไม่สะท้อนแสงหรือลื่น
3.2 ลูกบอลเมื่อวัดโดยรอบก่อนการแข่งขัน สำหรับผู้ชายมีเส้นรอบวงระหว่าง 58-60 เซนติเมตร หนัก 425-475 กรัม สำหรับผู้หญิง มีเส้นรอบวงระหว่าง 54-56 เซนติเมตร หนัก 325-400 กรัม
3.3 การแข่งขันทุกครั้งจะต้องมีลูกบอลที่ถูกต้องตามกติกาจำนวน 2 ลูก
3.4 เมื่อการแข่งขันได้เริ่มขึ้น จะเปลี่ยนลูกบอลไม่ได้ นอกจากจะมีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น
3.5 ลูกบอลที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์แฮนด์บอลนานาชาติต้องมีเครื่องหมายของสหพันธ์เท่านั้นจึงจะสามารถใช้แข่งขันในระดับนานาชาติได้

ทีม (The Team)
4.1 ทีมหนึ่งประกอบด้วนผู้เล่น 12 คน ผู้เล่นทุกคนจะต้องมีชื่ออยู่ในใบบันทึกและมีผู้รักษาประตู 1 คน ตลอดเวลาการแข่งขันต้องมีผู้เล่นไม่เกิน 7 คน (ผู้เล่นในสนาม 6 คน และ ผู้รักษาประตู 1 คน) อยู่ในสนามแข่งขัน ส่วนผู้เล่นที่เหลือ คือ ผู้เล่นสำรอง
เฉพาะผู้เล่นสำรอง ผู้เล่นที่ถูกสั่งพักและเจ้าหน้าที่ประจำทีม 4 คนเท่านั้นที่อนุญาตให้อยู่ในบริเวณผู้เล่นสำรองได้ เจ้าหน้าที่ประจำทีมทุกคนต้องมีชื่ออยู่ในใบบันทึกและจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ตลอดเวลาการแข่งขัน โดยมีหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบต่อทีมและเฉพาะเจ้าหน้าที่คนนี้เท่านั้นที่สามารถติดต่อกับผู้จับเวลา ผู้บันทึก และผู้ตัดสินได้
4.2 ขณะเริ่มต้นการแข่งขันทีมหนึ่งจะต้องมีผู้เล่นไม่น้อยกว่า 5 คน ที่พร้อมอยู่ในสนามขณะนั้น จำนวนผู้เล่นของทีมสามารถเพิ่มได้จนถึง 12 คน ตลอดเวลาการแข่งขัน รวมทั้งเวลาเพิ่มพิเศษด้วย
การแข่งขันจะดำเนินต่อไปถึงแม้ว่าจะมีผู้เล่นในสนามเหลือน้อยกว่า 5 คน
4.3 ผู้เล่นมีสิทธิ์เข้าเล่นได้ ถ้าเขามาปรากฏตัวในขณะเริ่มการแข่งขันและมีชื่อในใบบันทึก ผู้เล่นที่มีสิทธิ์สามารถเข้าเล่นในสนามได้ทุกเวลาในบริเวณเขตเปลี่ยนเขตเปลี่ยนตัวของทีมตัวเอง ผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ของทีมซึ่งมาหลังจากการแข่งขันได้เริ่มไปแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตให้เข้ามาร่วมการแข่งขันจากผู้จับเวลาหรือผู้บันทึก ผู้เล่นที่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันเข้าไปในสนาม จะถูกตัดสิทธิ์ออกจากการแข่งขัน และฝ่ายตรงกันข้ามจะได้ส่งลูกกินเปล่า
4.4 ผู้เล่นสำรองสามารถเข้าเล่นได้ทุกเวลา และสามารถเปลี่ยนตัวเข้าซ้ำได้อีกโดยไม่ต้องแจ้งต่อผู้บันทึก/ผู้จับเวลา ผู้เล่นในสนามต้องออกจากสนามให้เรียบร้อยก่อน ในกรณีนี้จะใช้รวมถึงการเปลี่ยนตัวผู้รักษาประตูด้วย ผู้เล่นทุกคนจะสามารถเข้าหรือออกจากสนามเฉพาะในส่วนบริเวณเขตเปลี่ยนตัวของฝ่ายตนเองเท่านั้น ในระหว่างการขอเวลานอก อนุญาตให้ผู้เล่นเข้าสนามที่บริเวณเขตเปลี่ยนตัว (ซึ่งจะใช้เมื่อ)
- การเปลี่ยนตัวตามปกติ
- เมื่อได้รับการเรียกให้เข้าสนามจากผู้ตัดสิน (สัญญาณมือที่ 18)
ข้อสังเกต ผู้เล่นคนใดที่ออกหรือเข้าสนามโดยไม่ถูกต้อง จะถูกทำโทษในการเปลี่ยนตัวที่ผิดระเบียบ ยกเว้น ในกรณีที่บางคนออกจากสนามโดยไม่ตั้งใจ
4.5 การเปลี่ยนตัวที่ผิดกติกาจะถูกทำโทษโดยให้ฝ่ายตรงกันข้ามได้ส่งลูกกินหรือเปล่า ณ จุดที่ผู้เล่นได้ผ่านเส้นข้าง และถ้าเป็นการเปลี่ยนตัวไม่ถูกต้องขณะหยุดการแข่งขันผู้เล่นนั้นจะถูกสั่งพัก 2 นาที และจะเริ่มเล่นใหม่ ณ จุดที่การเล่นได้หยุดลงตามความเหมาะสม
4.6 ถ้ามีผู้เล่นเข้าไปในสนามเกินจำนวน โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนตัวหรือเปลี่ยนตัวผิดระเบียบผู้เล่นนั้นจะต้องสั่งพัก 2 นาที และผู้เล่นคนอื่น 1 คน จะต้องออกจากสนามเพื่อให้ทีมนั้นเล่น โดยมีผู้เล่นน้อยลงอีก 2 คน
ถ้าผู้เล่นที่ถูกสั่งพักเข้าไปในสนามในขณะช่วงเวลาสั่งพักเขาจะต้องออกจากสนามและถูกสั่งพักในระหว่างช่วงเวลาการสั่งพักช่วงที่ 1 และ 2 ด้วย
เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของทีมจะต้องเป็นผู้กำหนดว่าผู้เล่นคนใดที่จะออกจากสนาม มิฉะนั้น ผู้ตัดสินจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะต้องออกจากสนาม
ข้อสังเกต ผู้เล่นที่ถูกออกจากสนามจากการสั่งพัก หรือยังคงถูกสั่งพักต่อนั้น จะเข้าเล่นในสนามอีกให้ปฏิบัติเหมือนการเปลี่ยนตัวผู้เล่นสำรอง
เฉพาะผู้เล่นที่ทำความผิดจะถูกสั่งพักเท่านั้นที่จะถูกบันทึกลงในใบบันทึก
4.7 ผู้เล่นแต่ละทีมอยู่ในสนามทุกคนจะต้องสวมเสื้อเป็นสีเดียวกันและทั้งสองทีมต้องสวมเสื้อที่มีแตกต่างจากกันอย่างชัดเจนผู้เล่นที่เป็นผู้รักษาประตูจะต้องสวมเสื้อที่มีสีต่างจากสีเสื้อของ ผู้เล่นในสนามทั้งสองทีม รวมทั้งสีเสื้อของผู้รักษาประตูฝ่ายตรงข้ามด้วย ผู้เล่นจะต้องสวมเสื้อที่มีหมายเลขด้านหลังระหว่าง 1 -20 หมายเลข มีขนาดความสูงอย่างน้อย 20 เซนติเมตร และที่ด้านหน้ามีขนาดความสูงอย่างน้อย 10 เซนติเมตร
สีของหมายเลขจะต้องมีสีที่ตัดกับเสื้ออย่างชัดเจน ผู้เล่นทุกคนจะต้องสวมรองเท้ากีฬา ไม่อนุญาตให้สวมใส่สิ่งใด ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้เล่นอื่น ๆ เช่น เครื่องป้องกันศีรษะหรือหน้า กำไล นาฬิกา แหวน สร้อยคอ สายสร้อย ต่างหู แว่นตาที่ไม่มีกรอบนอก หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้เล่น ผู้เล่นที่ไม่สามารถถอดสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าว จะไม่อนุญาตให้เข้าร่วมการแข่งขัน จนกว่าจะได้ดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน หัวหน้าทีมของแต่ละทีม จะต้องสวมปลอกแขนที่มีขนาดกว้าง 4 เซนติเมตรที่แขนท่อนบน และสีของปลอกแขนจะต้องแตกต่างจากสีเสื้อด้วย

ผู้รักษาประตู (The Goalkeeper)
5.1 ผู้เล่นที่เล่นในตำแหน่งผู้รักษาประตู สามารถเข้าเล่นเป็นผู้เล่นในสนามได้ทุกเวลา ผู้เล่นในสนามสามารถเปลี่ยนเป็นผู้รักษาประตูได้ทุกเวลา แต่ต้องเปลี่ยนเสื้อก่อน
ผู้รักษาประตูสำรองจะต้องอยู่ในบริเวณเขตกาเปลี่ยนตัวตลอดเวลา
อนุญาตให้ผู้รักษาประตูกระทำดังนี้
5.2 ถูกลูกบอลด้วยส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทุกส่วนในขณะที่อยู่ในลักษณะการป้องกันภายในเขตประตู
5.3 เคลื่อนที่ไปพร้อมกับลูกบอลภายในเขตประตูโดยปราศจากข้อจำกัด
5.4 ออกจากเขตประตู โดยมิได้นำเอาลูกบอลออกมา และสามารถเข้าร่วมเล่นในสนามบริเวณเขตสนามเล่นได้ โดยต้องปฏิบัติตามกติกาเช่นเดียวกับผู้เล่นในสนามคนอื่น ๆ
การจะพิจารณาว่าผู้รักษาประตูได้ออกจากเขตประตูเมื่อทันทีที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ถูกพื้นสนามนอกเส้นเขตประตู
5.5 ออกจากเขตประตูและเล่นลูกบอลอีกภายในเขตสนามเล่นโดยมิได้ออกมาโดยการครอบครองลูก (เป็นการป้องกันลูกและไม่สามารถครอบครองลูกได้)
ห้ามผู้รักษาประตูกระทำดังต่อไปนี้
5.6 ทำการป้องกันในลักษณะที่เป็นอันตรายกับคู่ต่อสู้
5.7 เจตนาทำให้ลูกบอลข้ามออกนอกเส้นประตูลักษณะที่ไม่สามารถครอบครองลูกบอลนั้นได้
5.8 ออกจากเขตประตูพร้อมกับลูกบอล
5.9 ถูกลูกบอลนอกเขตประตู ภายหลังจากได้ส่งลูกบอลจากประตูไปแล้ว นอกจากลูกบอลจะได้ถูกผู้เล่นอื่น ๆ ก่อน (กติกาข้อ 13.1 ข)
5.10 นำลูกบอลที่วางหรือกลิ้งอยู่นอกเส้นเขตประตูเข้าไปในขณะที่ตัวอยู่ในเขตประตู
(กติกาข้อ 13.1 ข)
5.11 นำลูกบอลที่วางหรือกลิ้งอยู่นอกเส้นเขตประตูเข้าไปในเขตประตู (กติกาข้อ 13.1 ข)
5.12 กลับเข้าไปในเขตประตูพร้อมกับลูกบอล (กติกาข้อ 13.1 ข)
5.13 ถูกลูกบอลด้วยเท้าหรือขาในขณะที่ลูกบอลกำลังเคลื่อนที่ไปในสนาม หรือในขณะที่ลูกบอลวางอยู่ในเขตประตู (กติกาข้อ 13.1)
5.14 ข้ามเส้นเขตผู้รักษาประตู (เส้น 4 เมตร) ก่อนที่ลูกบอลจะออกจากมือผู้ยิงโทษ ในขณะที่มีการยิงโทษ (กติกาข้อ 14.1)
ข้อสังเกต ในขณะที่ผู้รักษาประตูยืนที่พื้นด้วยเท้าหนึ่งหลังเส้นเขตประตู (เส้น 4 เมตร) เขาสามารถที่จะเคลื่อนเท้าอื่น ๆ หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายล้ำเหนือเส้นได้

เขตประตู (The Goal Area)
6.1 ผู้รักษาประตูเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในอนุญาตได้ (กติกาข้อ 6.3)
6.2 ผู้เล่นในสนามเข้าไปในเขตประตู จะถูกพิจารณาตัดสินดังนี้
ก. ส่งลูกกินเปล่า ถ้าผู้เล่นในสนามเข้าไปในเขตประตูขณะที่กำลังครอบครอง ลูกบอลอยู่ (กติกาข้อ 13.1ค)
ข. ส่งลูกกินเปล่า ถ้าผู้เล่นในสนามที่ไม่ได้ครอบครองลูกบอลเข้าไปในเขตประตูและทำให้เกิดการได้เปรียบ (กติกาข้อ 6.1ค และ 13.1ค)
ค. ยิงลูกโทษ ถ้าผู้เล่นในสนามของฝ่ายป้องกันเข้าไปในเขตประตูและได้เปรียบฝ่ายรุก ทำให้ได้ครอบครองลูกบอล (กติกาข้อ 14.1 ค.)
6.3 ผู้เล่นในสนามที่เข้าไปในเขตประตูจะยังไม่ถูกทำโทษ
ก. ถ้าเข้าไปในเขตประตูภายหลังจากการเล่นลูกบอลและไม่ทำให้คู่ต่อสู้เกิดการเสียเปรียบ
ข. ถ้าเข้าไปในเขตประตูโดยไม่มีลูกบอล และไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบ
ค. ผู้เล่นฝ่ายรับเข้าไปในประตูโดยไม่มีลูกบอล ในระหว่าง หรือภายหลังจากการพยายามป้องกันโดยไม่เกิดการได้เปรียบกับคู่ต่อสู้
6.4 ลูกบอลที่อยู่ในเขตประตูเป็นของผู้รักษาประตู ห้ามผู้เล่นในสนามคนอื่นๆ ถูกลูกบอลในขณะที่ลูกบอลวางหรือกลิ้งอยู่บนพื้นสนามในเขตประตู หรือในขณะที่ผู้รักษาครอบครองลูกบอลอยู่ (กติกาข้อ 13.1 ค.) แต่จะอนุญาตให้เล่นลูกบอลในขณะที่ลูกบอลอยู่ในอากาศเหนือเขตประตูได้
6.5 ลูกบอลที่อยู่ในเขตประตู ผู้รักษาประตูจะต้องส่งกลับออกมาเข้าสู่การเล่น
6.6 การเล่นจะคงดำเนินต่อไป ถ้าเป็นลักษณะการป้องกันของฝ่ายรับ โดยลูกบอลได้ถูกผู้เล่นฝ่ายป้องกันและหลังจากนั้นผู้รักษาประตูได้รับลูกนั้นหรือลูกหยุดในเขตประตู
6.7 ถ้าผู้เล่นเจตนาส่งลูกกลับเข้าไปในเขตประตูของตนเอง ผู้ตัดสินจะพิจารณาตัดสินดังนี้
ก. ได้ประตู ถ้าลูกบอลเข้าประตู
ข. ส่งลูกกินเปล่า ถ้าลูกบอลหยุดนิ่งอยู่ในเขตผู้รักษาประตู หรือถูกผู้รักษาประตู และลูกบอลไม่เข้าประตู
ค. ส่งลูกเข้าเล่น ถ้าลูกบอลออกนอกเส้นประตู
ง. การเล่นจะดำเนินต่อไป ถ้าลูกบอลได้กระดอนกลับออกมาในสนามอีกโดยไม่ได้ถูกผู้รักษาประตู
6.8 ลูกบอลที่กลับออกมาจากเขตประตูเข้าสู่เขตการเล่นจะถือว่าอยู่ในการเล่นต่อไป







Create Date : 31 มกราคม 2554
Last Update : 31 มกราคม 2554 22:01:56 น. 0 comments
Counter : 30250 Pageviews.

Peakroong
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]





"หากต้องตัดสินใครสักคน

เริ่มจาก "ทำไม"คงจะดีกว่า"อย่างไร"

เพราะสิ่งที่มองเห็นไม่แน่ว่ามีอยู่จริง

สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าไม่มี

สิ่งที่คิดว่าใช่อาจไม่ใช่

สิ่งที่ไม่คิดว่าใช่สำหรับคุณ

มันอาจใช่เลยสำหรับใครอีกคน"


"
๐ ให้ลมหายใจของใบไม้เป็นบันทึกคนกล่อง
คำเขียนของคนล้มลุกคลุกคลาน
แต่ยังมีลมหายใจเป็นของตัวเอง
แม้ไม่ใช่ทุกอย่างที่มีหากเป็นทุกอย่างที่เป็น
เก็บความว่างเปล่าไว้เติมเต็ม..

๐ ขอบคุณตัวละครทุกตัว
ทั้งที่มีอยู่จริงและที่ไม่มีตัวตน
ขอบคุณวันเวลา-ครูบา-อาจารย์
ที่สอนให้เก็บเกี่ยว ฝึกให้คิด สอนให้เขียน

๐ ขอบคุณเพื่อนเพื่อนชาวไซเบอร์
ที่กรุยทางให้สร้างสรรรค์บล็อคได้เท่าใจ
ขอบคุณทุกภาพงดงามจากบล็อกน้องญามี่ขอบคุณ https://www.thaipoem.com
ที่ให้เพลงประกอบเป็นอมตะนิรันดร์กาล

๐ ขอบคุณความเป็นเธอ..
ที่ส่งผ่านการ"ให้"มาเสมอฝัน
ขอบคุณความเป็นฉัน..
คนเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างวันมาถักทอ


'ปีฆรุ้ง
27 มกราคม 2553


Friends' blogs
[Add Peakroong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.