ใช้ชีวิตให้สนุก มีความสุขกับชีวิตกันเถอะ
<<
สิงหาคม 2550
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
12 สิงหาคม 2550

เข็มนาฬิกาหยุดเดินที่เกาหลีเหนือ ตอนที่ 3 (จบแล้วค่ะ)

ฉันคิดว่าตัวเองไม่มีทางเป็นนักเขียนนิยาย หรือเรื่องสั้นได้ในชีวิตนี้ เพราะเวลาอยากเขียนอะไรขึ้นมาสักเรื่องก็มักจะเริ่มต้นอย่างกระตือรือร้น แต่สุดท้ายก็ปล่อยค้างๆ ไปเขียนเรื่องอื่น กลายเป็นเรื่องราวที่ไม่มีตอนจบซะเป็นส่วนใหญ่

ทริปเกาหลีเหนือของฉันนี่ก็เหมือนกันเขียนไปฝากให้คนอื่นๆ เขาลองอ่านดูที่ห้อง BP มาสองตอนแล้ว แต่ก็หยุดเขียนไปเฉยๆ ...ฉันอยากให้การเดินทางมาถึงตอนจบสักทีค่ะ และนี่ก็คือความขยันส่งท้ายที่พอจะเหลืออยู่ของฉัน เชิญติดตามได้เลย...

ฤดูกาลเกาหลีเหนือในช่วงที่ฉันเดินทางไปปลายๆ สิงหาคมเป็นช่วงที่อากาศดีทีเดียวค่ะ เย็นสบาย และมีฝนบางๆ โปรยปรายลงมาบ้าง ถ้าถามว่าฉันประทับใจอะไรมากที่สุดในดินแดนที่มหาอำนาจอเมริกาไม่เคยวางใจ และคอยตามติดเหมือนผู้ใหญ่ตามดูพฤติกรรมเด็ก อย่างแรกคงเป็นภูมิประเทศของที่นี่ค่ะ ในเวลาสั้น ๆ ณ ดินแดนเกาหลีเหนือ ฉันได้เดินทางไปเพียงไม่กี่เมืองเท่านั้น หลักๆ ก็วนเวียนอยู่ในกรุงเปียงยาง และชายแดนเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ แต่ที่เห็นและสัมผัสได้คือสภาพภูมิประเทศที่ให้ความรู้สึกของชนบทมากกว่าในเมืองชวนให้จินตนาการถึงความโรแมนติค

กรุงเปียงยาง ของเกาหลีเหนือในเวลากลางวันเงียบสงบ มีรถรางที่เก่ามากแล่นผ่านไป-มานานๆ ครั้ง เวลากลางคืนดับไฟมืดทั้งเมืองค่ะ เหลือไว้เฉพาะในบริเวณโรงแรมที่พักของนักท่องเที่ยว ร้านอาหารที่ถือว่ารัฐเป็นเจ้าของ และตามสถานที่ราชการเท่านั้น ตามท้องถนนเปียงยางจึงปกคลุมไปด้วยความมืด ถ้านั่งรถผ่านในย่านกลางเมืองจะเห็นวัยรุ่นคนหนุ่มสาวนั่งเรียงแถวอบรมวิชาการการเมือง และทำกิจกรรมต่างๆ ท่ามกลางความมึดที่ดูทะมึนไปด้วยกลุ่มคนจำนวนมาก แต่ถ้าโอกาสดีๆ เราอาจจะได้แอบเห็นหนุ่มสาวเกาหลีเหนือปั่นจักรยานกระหนุงกระหนิงในถนนที่มืดมิดนั้นด้วย

คณะของเรามีเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือทำหน้าที่ประสานงาน 2 คนค่ะ คนหนึ่งเป็นผู้ใหญ่หน่อยชื่อ คุณคิม ไม่พูดภาษาอังกฤษเลย พูดเกาหลีใส่เราตลอด (เราก็ฟังไม่ออกอ่ะสิคะ ปกติภาษาอังกฤษก็แย่อยู่แล้ว มาเจอเกาหลีเข้าอีก มึนไปเหมือนกันค่ะ) อีกคนยังหนุ่มอยู่มากชื่อ คุณลี เป็นคนเกาหลีเหนือที่พูดภาษาอังกฤษดีมาก และสื่อสารได้ดีด้วย เมื่อถูกถามว่าเขาจบมาจากประเทศอะไร คุณลีฉุนกึกนิดหน่อย และยืดอกตอบอย่างภูมิใจกับคนในคณะว่า เขาจบจากมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก “มหาวิทยาลัยคิมอิลซุง” ที่กรุงเปียงยางนี่เอง เอากับเขาสิ แล้วเมล็ดพันธุ์แบบนี้หรือที่จะถูกมหาอำนาจอเมริกาครอบงำ

เด็กและเยาวชนในเกาหลีเหนือ ถูกหล่อหลอมแบบโลกคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง เวลาของพวกเขาถูกจัดสรรโดยรัฐ นอกจากการเรียนที่เข้มและการฝึกอบรมความรู้เรื่องการเมือง อุดมการณ์รักชาติ และรวมชาติแล้ว เด็กๆ ที่เกาหลีเหนือจะมีกิจกรรมที่แยกหน้าที่กันไป สองข้างทางของท้องถนนในเปียงยางเราจึงได้เห็นภาพเด็กๆ ซ้อมดนตรี เป็นวงเล็กๆ 4-5 คน แต่ละกลุ่มก็มีเครื่องดนตรีต่างประเภทกันไป ที่ฉันเห็นและรู้สึกได้คือพวกเขาก็เหมือนเด็กธรรมดาๆ ทั่วไป มีใบหน้าและดวงตาที่สดใส ไม่ได้ดูเหมือนถูกตีกรอบใดๆ แม้แต่น้อย ตรงกันข้ามดูจะมีความสุขดีซะด้วยซ้ำ ฉันเคยดูหนังเกี่ยวกับเกาหลีเหนือที่สร้างโดยเกาหลีใต้มักจะมีมุขล้อเลียนถึงความหลังเขาของประชากรเกาหลีเหนือเสมอๆ เช่น เด็กๆ ที่นี่ไม่รู้จักตุ๊กตาบาร์บี้ ไม่รู้จักเป็บซี่ ไม่รู้ว่าแมคโดนัลคืออะไร ฉันคิดว่าคงจริง แต่สิ่งเหล่านั้นมันสำคัญกับชีวิตพวกเขาหรือ….ฉันว่าไม่

ไปเกาหลีเหนือครั้งนั้นเป็นช่วงครบรอบวันสำคัญเกี่ยวกับการสถาปนาชาติเกาหลีเหนือพอดี เลยมีโอกาสได้ร่วมคณะผู้ใหญ่เข้าชมการแสดงที่ยิ่งใหญ่มาก คือ “อารีรัง” ฉันอยากจะเชื่อว่าเป็นการแสดงที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติเลยทีเดียว การแสดงที่เกิดขึ้นใช้คนแสดงจำนวนมากเลยค่ะมาจากทุกเพศ ทุกวัย เล่นดนตรีสด และขับร้องเพลงด้วยเสียงจริง อย่าคิดนะคะว่าประเทศที่ถูกล้อเลียนว่าอยู่หลังเขาจะมีการแสดงที่เชยๆ เพราะไม่ใช่สำหรับอารีรังแน่ ฉันไม่สามารถอธิบายได้เลยว่าการแสดงนี้ยิ่งใหญ่แค่ไหน

ตั๋วชมการแสดงอารีรัง...




ที่เด่นๆ คือทักษะของนักแสดง รูปแบบสีสันที่กลมกลืนและเป็นเอกลักษณ์ ทุกช่วงของการแสดงจะเน้นระลึกถึงความยิ่งใหญ่ของผู้นำคิมอิลซุง ความรักชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของดินแดนเกาหลี ที่สำคัญคือการรวมชาติ ลึกลงไปความหมายของอารีรังก็คือตัวตนของชนชาติเกาหลี ซึ่งหมายรวมถึงเกาหลีใต้ด้วย

นอกจากอารีรังแล้วฉันมีโอกาสได้ชมการแสดงกายกรรมเปียงยางค่ะ แต่กายกรรมเปียงยางก็นับเป็นมหรสพอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่ได้พิเศษเท่าอารีรัง เป็นกิจกรรมผ่อนคลายของคนเกาหลีเหนือคงคล้ายๆ ไปดูหนัง ดูละคร ฉันคิดว่ากายกรรมเปียงยางออกจะน่าเบื่อนิดหน่อย ผู้แสดงกระโดดข้ามไปข้ามมา แทรกด้วยการแสดงตลกที่เราไม่เข้าใจมุข…ฝืดค่ะ แถมสถานที่จัดแสดงก็เก่ามากและเหม็นอับ ปนกลิ่นคาว เพราะใต้เวทีเป็นบ่อน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงระบำใต้น้ำ ดีว่าพกยาดมไปด้วยในทริปนี้เลยช่วยให้หายใจออกบ้างค่ะ

การเดินทางไปเกาหลีเหนือครั้งนั้นอาจจะเริ่มต้นแบบไม่ประทับใจฉันเท่าไหร่ แต่ก็มีเรื่องไม่คาดคิดเกิดขึ้นในตอนจบค่ะ เข็มกลัดคิมอิลซุงที่คนเกาหลีเหนือต้องติดทั้งเมือง และฉันก็อยากได้เป็นที่ระลึก ลองถามๆ เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือก็หวงซะยิ่งกว่าทอง … แต่ใครจะเชื่อว่าฉันเป็นคนเดียวในคณะที่ได้เข็มกลัดนี้ คนที่ให้ฉันคือคุณคิม แกทำมึนไม่เข้าใจภาษาอังกฤษอยู่เรื่อยๆ (หรือแกอาจจะไม่เข้าใจจริงๆ ก็ได้) ตอนที่ฉันเข้าไปคุยและขอเข็มกลัดนี้ จนจะกลับแล้วนั่นแหละแกถึงยอมใจอ่อน ก่อนจะให้เข็มกลัดอันจิ๋ว แต่มากด้วยคุณค่า คุณคิมถามฉันผ่านคุณลีที่ภาษาเปรี๊ยะสุดๆ ว่า คิดอย่างไรกับผู้นำคิมอิลซุงผู้ล่วงลับ ฉันงงๆ แต่ก็ตอบไปว่า เขาคือผู้นำตลอดกาล (เลียนแบบคำพูดของคนเกาหลีเหนือนั่นแหละ) เขายิ้มและถามอีกว่า ถ้าให้เข็มกลัดนี้ไปจะเก็บไว้ที่ไหน เออ..เอาละสิจะตอบยังไงดีหว่า ฉันก็เลยตอบไปว่าจะไว้ในที่ที่ดีที่สุด…สำเร็จค่ะ คุณคิมยิ้มและให้เข็มกลัดท่านคิมอิลซุงมา

จริงๆ การเดินทางช่วงท้ายๆ คุณคิมซึ่งวัยน่าจะเป็นคุณอาฉันได้ แกก็เริ่มจะลดความขึงขังลง แถมคอยถามหาตลอดถ้าไม่เห็นฉันขึ้นรถ พี่ในคณะบอกว่าดู สิคุณคิมเป็นห่วงเรามากนะ แกคงเห็นฉันเหมือนเด็ก เพราะตัวเล็กๆเดินทางร่วมคณะมา...

ก่อนจะอำลาเกาหลีเหนือด้วยความรู้สึกอ่อนเพลียอย่างที่สุด เสียงบ่นของคนในคณะไม่จางหายไปจนตลอดทริป หลายคนสาปส่งว่าพอกันทีสำหรับประเทศนี้ คุณคิมและคุณลี เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือทั้งสองคนมาส่งเรา และมีของที่ระลึกมาให้เราซะด้วยค่ะ โอ..ไม่ธรรมดานะเนี่ย

ฉันได้ของที่ระลึกมาอีกชิ้นที่ชอบมาก เป็นวีซีดี.บันทึกการแสดงสด"อารีรัง" หน้าปกสภาพเก่ามาก ราคา 100 บาท ที่ดีใจมากกว่านั้นคือได้มีโอกาสสนับสนุนคนเกาหลีเหนือด้วย..

แต่ที่ฉันออกจะเสียใจหน่อยๆ ในวันเดินทางกลับก็คือ ...ฉันยังไม่ทันจะได้กล่าวขอบคุณการอำนวยความสะดวกต่างๆ ของจากเจ้าหน้าที่เกาหลีทั้งสองคนอย่างจริงๆ จังๆ ทั้งที่คุณคิมกระตือรือร้นดูแลและช่วยจัดการเรื่องโหลดสัมภาระของคณะเป็นอย่างดีเลยล่ะค่ะ คงเพราะเหนื่อยแบบสุดๆ และกังวลกับการติดตามคณะ

...รู้สึกเสียใจที่ฉันเดินหันหลังออกจากเกาหลีเหนือไปยังลานจอดเครื่องบินที่สนามบินเปียงยางโดยไม่ได้โบกมือให้พวกเขาด้วยซ้ำ เพราะความเหนื่อยอ่อน ปนกับความระอาที่เข้ามาใช้ชีวิตช่วงเวลาสั้นๆ ที่นี่

ภายในสนามบินวันนั้นหมอกลงจัด จนมองเห็นภาพประธานาธิบดีคิมอิลซุงส่งยิ้มได้แค่ลางๆ ต่างจากขามาโดยสิ้นเชิง ฉันก้าวขึ้นบันไดเครื่องบินแทบไม่หันหลัง นึกถึงความเชื่อของคนไทยที่ว่าถ้าได้พ้นโทษออกจากคุกแล้วห้ามหันกลับไปมองเบื้องหลัง ไม่เช่นนั้นจะได้กลับเข้าคุกอีก…ฉันคิดแบบนั้นจริงๆ ในวันที่อำลาจากประเทศคอมมิวนิสต์สุดขั้ว “เกาหลีเหนือ”

แต่ทำไมนะถึงตอนนี้ฉันกลับรู้สึกคิดถึงดินแดนที่เวลาหยุดนิ่งแห่งนั้น และยังไม่คิดเบื่อที่จะเดินทางไปประเทศระบอบสังคมนิยม หรือ คอมมิวนิสต์ ทั้งหลาย บางทีฉันอาจจะถูกโฉลกกับประเทศเหล่านี้ และเผลอหลงรักไปโดยไม่รู้ตัว แต่หากเป็นความรักต่อดินแดนเกาหลีเหนือ ฉันคิดว่า อาจจะคล้ายๆ ละครแนวตบจูบ บ้านเราก็ได้นะ ^__^


หนูน้อยเกาหลีเหนือ



(ทริปเกาหลีเหนือ 2 ตอนก่อนหน้านี้ไล่อ่านดูได้เลยค่ะ สำหรับท่านที่สนใจ....)


Create Date : 12 สิงหาคม 2550
Last Update : 2 มกราคม 2555 11:59:49 น. 17 comments
Counter : 2926 Pageviews.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลเกาหลีเหนือแบบสบายๆครับ

ผมอยากไปที่นั่นทีเดียว แต่ไม่รู้จะหาโอกาสได้รึเปล่า


โดย: เอกซ์ซัวส์ (เอกซ์ซัวส์ ) วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:4:29:44 น.  

 


โดย: naragorn วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:15:35:05 น.  

 
เข้ามาอ่านครับ

เคยอ่านหนังสือหลายๆเล่มเจอ ว่าเกาหลีเหนือค่อนข้างเข้มเรื่องให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ

แต่อ่านแล้วไม่น่าจะเขร่งเท่าไหร่อะม้างเนีย


โดย: I.Brother วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:16:38:15 น.  

 
^^เข้มสิคะ เข้มมากๆ ค่ะ คุณ I.Brother เข้าไปอ่านสองตอนแรกมาหรือยังคะ พอดีตอนจบของเรื่องแล้ว เลยอยากให้เห็นแง่มุมดีๆ ของประเทศนี้บ้างค่ะ


โดย: เสี่ยวลี่ วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:17:59:33 น.  

 
ยังไม่ได้อ่านสองอันก่อนหน้านี้เลยครับ

เด๋วจะพาคุณแม่ไปทานข้าวก่อน แล้วจะกลับมาอ่าน

สุขสันต์วันแม่นะครับ


โดย: I.Brother วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:18:10:38 น.  

 
มาแอบอ่าน...
อยากรุพี่ลี่ทำงานอะไรเนี่ย ถึงเข้าเกาหลีเหนือได้ (ประเทศนี้เข้ายากไม่ช่ายเหรอจ๊ะ)


โดย: ยามะ (yamara-tee ) วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:18:34:22 น.  

 
^^ พี่ไปมา2-3 ปีแล้วค่ะ มาเขียนเก็บไว้กันลืมอ่ะ เพราะไม่ค่อยชอบจดบันทึกอะไรไง ขี้เกียจ 555


โดย: เสี่ยวลี่ วันที่: 12 สิงหาคม 2550 เวลา:18:40:04 น.  

 
คุณเสี่ยวลี่ครับ

ขออนุญาตลิ้งค์นะครับ จะได้ตามอ่านไม่ลำบาก

ขอบคุณครับ


โดย: เอกซ์ซัวส์ วันที่: 13 สิงหาคม 2550 เวลา:3:49:00 น.  

 
มาแย้วๆ ช่วงนี้ชีวิตมันบัดซบอ่ะทิพ เหนื๊อยเหนื่อยยยย หาเงินไม่พอใช้ หนี้บานตะไท กลุ้มๆ เหอเหอ

หยุด 3 วันมะได้พักเร้ยยย สองวันไปดูบ้านที่ตกแต่งอยู่ เดินเลือกกระเบื้องแต่งครัว หาซื้ออุปกรณ์ตู้ต่างๆ เลือกดูเตาอบ โอ๊ยยย สารพัดสิ่งที่ต้องใช้เงิน วันนี้ดีหน่อยได้ตื่นสาย แต่ก็เก็บเสื้อผ้าซัก นั่ง modified รูปทริปภูเก็ต เตรียมจะโพสต์ ไว้รออ่านนะ อิอิ

อ้อ.... คิดถึงนะยะ


โดย: ammie IP: 58.9.41.218 วันที่: 13 สิงหาคม 2550 เวลา:17:53:52 น.  

 
^^^ ไปก่อกวนที่บล๊อคมาได้ผลแฮะ..มะมี่มาแล้วววว555


โดย: เสี่ยวลี่ วันที่: 13 สิงหาคม 2550 เวลา:20:04:08 น.  

 
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวดีๆ ค่ะ


โดย: myvip_diary วันที่: 13 สิงหาคม 2550 เวลา:23:31:31 น.  

 
ขอบคุณที่เล่าเรื่องราวดีๆค่ะ ไม่ค่อยได้ยินใครพูดถึงเกาหลีเหนือเท่าไหร่เลย
น่าสนใจมากทีเดียว

แวะมาชวนไปชมสวนรูปปั้นคอมมิวนิสต์ด้วยกัน ที่นี่ ค่ะ


โดย: Charlotte Russe วันที่: 20 สิงหาคม 2550 เวลา:10:02:47 น.  

 
ขอบคุณสำหรับเรื่องราวสนุกๆที่นำมาเล่าให้ฟังค่ะ

เราตามอ่านมาตลอด จากให้ห้อง BP

เราชอบการเล่าเรื่องของคุณมากๆค่ะ


โดย: napatson IP: 124.120.83.90 วันที่: 20 สิงหาคม 2550 เวลา:16:49:26 น.  

 
ไปชมสวนคอมมิวนิสต์มาแล้วค่ะ ชอบจังเลยค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาชมนะคะ อยากหาเรื่องมาเล่าอีกค่ะ


โดย: เสี่ยวลี่ วันที่: 22 สิงหาคม 2550 เวลา:22:27:26 น.  

 
พี่เสี่ยวลี่ ขอเบอร์โทรศัพท์ ติดต่อไม่ก็อีเมล์ได้ไหมครับ
ผมสนใจเรื่อง เกาหลีเหนือ อยากรู้ว่าพี่ไปได้ไงครับ
รบกวนด้วนนน่ะครับ big_bigsnoopy@hotmail.com
ขอช่องทางการติดต่อพี่ได้ไหมครับ


โดย: ๊ธีรภัทร IP: 124.121.27.242 วันที่: 1 ธันวาคม 2553 เวลา:21:38:38 น.  

 
ขอบคุณมากๆค่ะ...คุณเสี่ยวลี่


โดย: ดอกโสนบานเช้า IP: 117.47.134.190 วันที่: 28 ธันวาคม 2553 เวลา:11:44:59 น.  

 
สนุกมากคะ อ่านทั้ง 3 ตอนเลย สนุกมาก (^O^)


โดย: ออม IP: 124.121.248.148 วันที่: 14 มีนาคม 2555 เวลา:19:12:32 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เสี่ยวลี่
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Blog ของคนชอบเล่า...
[Add เสี่ยวลี่'s blog to your web]