Group Blog
 
 
สิงหาคม 2556
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
มาถึงวัย 2 ขวบสยองขัวญเเล้วค้าบ

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวเองไว้ก่อนนะคะว่าไม่ได้เก่งมาจากไหนเพียงเเค่ต้องการทราบพฤติกรรมของลูกวัยนี้เเละต้องการเเก้รับมือกับเด็กวัยนี้ได้อย่างถูกวิธี สาเหตุที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมา เขียนเเละนำเสนอ เนื่องจากว่า มีลูกชายวัย 2.4 ขวบ ซึ่งเป็นวัยสยองขัวญจริงๆๆ เเละบอมบ์เองอยากให้พ่อเเม่ทุกคนได้เข้าใจเเละรับมือกับพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยได้ถูกวิธี ซึ่งบอมบ์ได้อ่านเจอมาเลยต้องการเอามาเเชร์ให้พ่อเเม่หลายๆคนได้ทำความเข้าใจเเละรับทราบขู้มูลว่าทำไมลูกเราต้องเป็นเเบบนี้ เอาเเต่ใจ อารมณ์เปลี่ยนเเปลงอย่างรวเร็ว 

บอมบ์หาข้อมูลมาได้ประมาณหนึ่งเเละตอนนี้พยายามปฏิบัติกับเจ้าลูกชายของตัวเองอยู่ เเต่ผลที่ได้ก้ยังไม่ค่อยได้ดีเท่าไหร่เนื่องจากเวาลาส่วนมากบอมไม่ได้อยู่กับเขาซึ่งส่วนใหญ่ จะเป้นคุณย่าเเละคุณป้า เป้นคนเลี้ยง ซึ่งพวกท่านเลี้ยงน้องได้ดีมากๆเลยทีเดียว ซึ่งพอมาถึงช่วงวัยสยองนี่เเหละ ทำให้ลูกนิสัยเปลี่ยนไป จากเด็กดีมากๆๆ กลายเป้นเจ้าอารมณ์ เลยทำให้บอมบ์เริ่มหาขู้อมูลของเด็กวัยนี้เป็นยังไง เลยมาเจอ คำว่า 
"" วัย 2 ขวบสยองขัวญ หรือ Terrible twos " นี่เเหละคะเลยได้เข้าใจสิ่งที่ลูกเราเป็น


ข้อมูลที่บอมบ์ได้อ่านหลายๆคุณเเม่ที่ต้องรับมือกับเด็กวัยนี้ บอมบ์เห้นว่าเป็นประโยชน์ เลยเอามารวมไว้ในบันทึกของตัวเอง เผื่อมีประโยชน์ต่อคุณแม่หลายๆท่านที่ตอนนี้กำลังเจอปัญหาเช่นเดียวกับบอมบ์อยู่ 

ผิดตกขออภัย มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ 


พ่อแม่ที่มีลูกผ่านพ้นวัยประมาณ 2 ขวบมาแล้ว คงจะผ่านภาวะ Terrible twos ของลูกกันมาแล้ว ส่วนพ่อแม่ที่ลูกกำลังเข้าสู่วัยดังกล่าวก็เตรียมรับมือกับภาวะ Terrible twos ของลูกกันได้เลย
       อะไรคือ ภาวะ Terrible twos ?
       ลองนึกถึงภาพที่เจ้าตัวเล็กอารมณ์ดีๆ อยู่ แล้วก็สามารถร้องกรี๊ดลั่นบ้าน หรือหงุดหงิดร้องไห้ลั่นบ้านโดยไม่รู้สาเหตุ ทำเอาคนเป็นพ่อแม่งงงันตามๆ กัน พานนึกว่าลูกเจ็บป่วยหรือโดนมดแมลงกัดหรือไม่ แต่แท้จริงแล้ว ลูกของคุณอาจกำลังเข้าข่ายที่ว่านี้ก็ได้

    เด็กที่เข้าสู่วัย 2 ขวบ มักมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็วมาก ภาวะอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้เรียกว่า terrible twos เป็นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อของเด็ก จากเด็กที่หัวเราะร่าถูกใจไม่นาน หนูน้อยน่ารักคนเดียวกันนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นอาละวาดร้องกรี๊ดลั่นบ้าน เรียกว่า อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตลอด เพราะลูกกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนจาก เด็กน้อยเตาะแตะ เป็นเด็กที่เดินเหินได้คล่อง ทำให้หนูน้อยสับสนว่าจะออกไปสำรวจโลกให้เต็มที่อย่างใจต้องการหรือจะอยู่กับแม่ดี ทำให้อารมณ์หนูน้อยไม่ดี
       แต่อาการแบบนี้จะอยู่สักพัก แล้วก็จะค่อยๆ ลดลง

       ก่อนหน้านี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกว่ามีผลต่อภาวะ terrible twos ในเด็กหรือไม่ โดยเริ่มเฝ้าสังเกตการณ์บ้านที่มีลูกวัยเตาะแตะทั้งหมด 60 ครอบครัว ในครอบครัวที่มีลูกวัย 2 ขวบ 6 เดือน จะใช้เวลา 50 นาที และวัย 3 ขวบใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในการเฝ้าสังเกตว่า เมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้นระหว่างแม่กับเจ้าตัวเล็ก บรรดาพ่อแม่ จะมีวิธีจัดการกับลูกอย่างไร

       งานวิจัยดังกล่าว พบว่า ครอบครัวที่เด็กควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ค่อยได้ เมื่อเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ในที่สุดแล้วแม่จะบังคับข่มขู่ หรือดุลูกให้ทำตามคำสั่งโดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ ซึ่งมักจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม
       ในขณะที่ครอบครัว ซึ่งแม่ลูกมีระดับความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้น แม่กับลูกจะมีการปรับตัวเข้าหากันโดยอัตโนมัติ มีการสลายข้อขัดแย้งและยอมความกันโดยใช้เหตุผล เพื่อพยายามดูแลรักษาความสัมพันธ์นี้ให้มั่นคง จะสามารถมีการประนีประนอมกันได้

       นั่นหมายความว่า เด็กในกลุ่มนี้จะมีภาวะ terrible twos ที่ไม่รุนแรงนัก และเด็กๆ มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี สามารถควบคุมตนเองได้ในระดับหนึ่ง
       งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าภาวะ terrible twos สามารถจัดการได้ง่าย หากเด็กใกล้ชิดกับครอบครัว และพ่อแม่ตอบสนองลูกด้วยเหตุผล ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกมั่นคงและไว้ใจพ่อแม่นั่นเอง

       ขณะเดียวกัน ถ้าพ่อแม่เข้าใจถึงพัฒนาการตามวัยของลูกน้อยอย่างเหมาะสมอยู่แล้ว ก็จะทำให้สามารถรับมือกับเจ้าตัวน้อยได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะนั่นหมายถึงในช่วงที่เด็กเข้าสู่วัย terrible twos แต่พ่อแม่เตรียมรับมือ พยายามสรรหากิจกรรมให้ลูกได้สนุกสนานกับกิจกรรมของครอบครัว ก็จะช่วยผ่อนคลายกับความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ได้

       ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้
       ช่วงวัยเตาะแตะไปสู่วัยที่สามารถเดิน วิ่งเองได้แล้ว จะชอบเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะกำลังเปลี่ยนผ่านสามารถเคลื่อนไหวร่างกายด้วยตัวเองได้ ก็มักจะชอบปีนป่าย ลูกจะสนุกกับการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ในการเดิน วิ่ง กระโดด หรือปีนป่าย เพราะเขาหรือเธอตัวน้อยสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองอีกต่อไป ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้โลกของเขาก็จะกว้างมากขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจถ้าเด็กวัยนี้จะไม่ชอบอยู่นิ่ง จนบางทีถึงขั้นทำให้คนเป็นพ่อแม่เข้าใจผิดคิดเอาเองว่า ลูกเป็นสมาธิสั้นไปซะอีก

       กิจกรรมอีกอย่างที่เด็กวัยนี้ชอบมาก คือ การเล่นบทบาทสมมติ เป็นการเล่นที่ทำให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สะกิดต่อมจินตนาการได้อย่างมากมาย หรือบางครั้งอาจจะเล่นเลียนแบบ เช่น เครื่องครัวเด็กเล่น บ้านตุ๊กตา ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาเห็นในชีวิตประจำวันและต้องการเลียนแบบ และอาจจะมีการรื้อข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านบ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดา

       ยิ่งถ้าเขาสามารถจับดินสอหรือดินสอสีได้แล้วล่ะก็ เขาจะสนุกสนานกับการขีดๆ เขียนๆ ได้ไม่รู้เบื่อจริงๆ ก็ควรปล่อยให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการอันบรรเจิดได้อย่างเต็มที่ หรือไม่ก็หาตัวต่อ หรือบล็อกให้ลูกได้นำมาเล่นฝึกกล้ามเนื้อมือได้อีกต่างหาก

       เรื่องพัฒนาการของลูกน้อยเป็นเรื่องไม่ยากที่พ่อแม่จะแสวงหาข้อมูล แต่อยู่ที่พ่อแม่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับวัยและพัฒนาการของลูกน้อยได้หรือไม่ เพราะหากเราเข้าใจพัฒนาการตามวัยของลูก ก็สามารถตอบสนองและรับมือได้อย่างทันท่วงที

       ดิฉันไม่แปลกใจที่มักจะได้ยินเพื่อนๆ ที่มีลูกอยู่ในวัยเปลี่ยนผ่านดังกล่าว มักจะบอกว่าลูกซน ลูกไม่อยู่นิ่ง ลูกเล่นทั้งวัน บางคนลูกมีภาวะ terrible twos แต่ไม่รู้ ก็เข้าใจว่าลูกดื้อ ลูกซน หรือลูกอารมณ์ร้ายอีกต่างหาก แท้จริงแล้ว พัฒนาการของมนุษย์ในแต่ละช่วง ล้วนมีความสำคัญ และมีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็วจะเกิดเฉพาะช่วงวัยรุ่นเท่านั้น ช่วงวัยทารกก็มีช่วงเปลี่ยนผ่านเหมือนกัน และในขณะเดียวกันในวัยผู้ใหญ่ ก็มีช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยทอง หรือวัยชรา ก็มีช่วงที่อารมณ์เปราะบางได้ง่ายเช่นกัน

       เรียกว่าช่วงชีวิตของมนุษย์ มีอารมณ์เป็นตัวแปรในช่วงเปลี่ยนผ่านในแต่ละวัยทั้งสิ้น ฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจ และเตรียมรับมือกับช่วงวัยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ก็จะไม่น่ากลัวอย่างที่คิด


cr. //www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9510000047132



==========================================================

      ก่อนอื่นอยากอธิบายให้เข้าใจว่า เมื่อเด็กอายุสองขวบสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์กับความรู้สึกจะเติบโตเร็วกว่าส่วนที่ควบคุมเรื่องเหตุและผลและจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆจนกระทั่งเด็กอายุสี่ขวบส่วนที่ควบคุมเรื่องเหตุและผลถึงจะตามทัน 

      เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กวัยสองถึงสี่ขวบจะดื้อ ซน พูดไม่รู้เรื่อง (ทฤษฎีบางอันถึงขนาดใช้คำว่าเด็กช่วงนี้มีกระบวนการคิดใกล้เคียงกับสัตว์มากกว่ามนุษย์) 

      ตรรกะของเด็กวัยนี้ถ้าให้อธิบายก็คงได้ประมาณว่า 

      ถ้าฉันชอบอะไร มันก็ต้องเป็นของฉัน* 

      อะไรที่อยู่ในมือฉันก็แปลว่าฉันเป็นเจ้าของ**

      อะไรก็ตามที่ฉันคิดว่าฉันเป็นเจ้าของ ก็แปลว่าฉันเป็นเจ้าของ***

      ตอนฉันเล็กกว่านี้ฉันร้องไห้ ฉันดิ้นไปดิ้นมา เพราะอยากดูดนม อยากให้เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ แม่ก็รีบมาโอ๋มาทำให้ 

      แล้วตอนนี้ฉันอยากได้อะไรแล้วฉันก็ใช้วิธีการแบบเดิม แต่ทำไมกลับมาดุมาตีฉันละ 

      ฉันทำผิดอะไร ฉันไม่เห็นจะเข้าใจ ฉันดื้อฉันงอแงตรงไหนแล้วดื้อกับงอแงหน้าตามันเป็นยังไงแล้วมันกินได้หรือเปล่า

      (*,**,*** อ้างอิง Toddler Laws of Ownership)

      การสอนเด็กในวัยนี้บอกเลยว่าต้องใช้แนวทางการสอนที่แตกต่างจากเด็กช่วงวัยอื่น 

      สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากให้เข้าใจคือ เด็กก็คือเด็ก เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวน้อยๆและไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน

      ส่วนตัวขอแนะนำบางสิ่งเล็กๆน้อยๆจากประสบการณ์ของตัวเอง และเจนเข้าใจดีว่าวิธีที่ใช้ได้ผลกับเด็กคนหนึ่งไม่ได้ผูกพันธ์อันใดเลยที่จะใช้ได้ผลกับเด็กคนอื่นๆเสมอไป


      ==น้ำเสียง คำพูด และโค้ดลับ==

      ปกติเวลาพูดกับลูกเจนจะใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน แต่เมื่อไหร่ที่ต้องดุหรือต้องปรามเจนจะเปลี่ยนมาใช้น้ำเสียงที่แข็ง แข็งพอที่จะทำให้ลูกรู้สึกได้ถึงความไม่พอใจ(แต่ไม่ถึงขั้นต้องตวาด) 

      เด็กวัยสองถึงสี่ขวบนั้นแยกแยะคำพูด คำชม คำตำหนิไม่ได้มากสักเท่าไหร่ แต่เด็กจะไวต่อระดับของน้ำเสียงที่แตกต่างออกไปมากกว่า  

      ถ้าคุณต้องการดุลูกคุณต้องใช้น้ำเสียงที่แข็งพอให้ลูกรู้สึกได้ ถ้าคุณใช้ระดับน้ำเสียงเดียวกับที่พูดทั่วไป โอกาสที่เด็กจะเข้าใจยิ่งน้อยลงไปอีก

      อีกอันนึงที่เจนใช้กับน้องอิ๊กคือโค้ดลับ ปกติเวลาเรียกลูก เจนก็จะเรียกลูกบ้าง อิ๊กบ้าง น้องอิ๊กบ้าง แต่เมื่อไหร่ที่เจนเริ่มไม่พอใจหรือคิดว่าลูกทำตัวไม่น่ารัก เช่น เล่นเสียงดัง โวยวาย บอกให้อาบน้ำแล้วไม่ไป  เจนก็จะเรียกชื่อจริงเขา เจนใช้วิธีนี้ตั้งแต่ลูกสองขวบจนขึ้นมัธยม แล้วลูกก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ถ้าเมื่อไหร่แม่เรียกชื่อจริงแปลว่า แม่เริ่มใช้ความอดทนแล้วนะ แม่เริ่มไม่พอใจแล้วนะ 

      ข้อดีอีกอย่างของวิธีนี้ที่เจนคิดคือสามารถนำไปใช้นอกบ้านหรือเวลาที่มีคนอื่นอยู่ด้วยได้ โดยที่ไม่ทำให้ลูกเสียหน้าแต่ประการใด

      ==ไม่ได้ของเล่นแล้วลงไปร้องไห้ ทำยังไงดี==

      ลูกร้องไห้อยากได้ของเล่นในห้างแล้วลงไปโชว์สเต็บกับพื้น จะทำยังไง บางคนก็ตี บางคนก็เดินหนี 

      การตีนั้นอาจหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กได้ก็จริงแต่จะเป็นการปลูกฝังความก้าวร้าวในจิตใจ และที่สำคัญต้องบอกว่าเด็กวัยนี้ตีให้ตายเด็กก็ไม่เข้าใจว่าตัวเองทำอะไรผิด

      ส่วนการเดินหนี เจนคิดว่าเป็นวิธีที่ยอมรับได้วิธีหนึ่ง แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าอาจจะสร้างปมในใจให้เด็กกลัวการถูกทอดทิ้งหรือเปล่า

      เพราะฉะนั้นอยากให้ลองอีกวิธี   วิธีนี้คือเมื่อไหร่ที่ลูกอยากได้ของเล่นแล้วร้องไห้ โวยวาย  บอกดีๆ พูดดีๆก็ไม่สนใจ เจนจะอุ้มลูกไปที่นอกห้างหรือลานจอดรถแล้วบอกลูกว่าจะพากลับเข้าไปก็ต่อเมื่อลูกหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น  แต่ถ้าพากลับเข้าไปแล้วยังเป็นอีกก็จะพาออกมาใหม่ ทำแบบนี้แค่สองสามครั้ง ลูกจะรู้ทันทีว่าถ้าร้องไห้โวยวาย ของเล่นจะไม่มีทางได้ แล้วยังต้องไปร้อน ไปอบอ้าวนอกห้างอีกต่างหาก

      ปกติเจนไม่ใช่คนใจแข็งโดยเฉพาะกับเด็ก แต่สำหรับเรื่องนี้บอกเลยว่าต้องใจแข็งเพราะถ้าคุณยอมครั้งแรกแล้วเด็กจำได้ ครั้งต่อไปมีตามมาไม่สิ้นสุดแน่ๆ หรือถ้าคุณสงสารจนคิดว่าจะซื้อให้ ถ้าเป็นแบบนั้นก็ต้องให้เด็กหยุดร้องไห้หรือโวยวายก่อนถึงจะซื้อให้ อย่าซื้อให้ในขณะที่เด็กร้องไห้หรือโวยวายโดยเด็ดขาด

      ==เบี่ยงเบนความสนใจ สอนว่าอันไหนทำได้ทำไม่ได้  ง่ายกว่าสอนให้เข้าใจเรื่องเหตุและผล==

      ส่วนตัวเท่าที่รู้สึก เวลาเด็กช่วงวัยนี้งอแง วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุดคือเบี่ยงเบนความสนใจ เช่นลูกอยากได้ของเล่นราคาแพง คุณก็ลองทำเสียงเหมือนคุณเจออะไรที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจแล้วเรียกให้ลูกมาดูสิ่งนั้นแทน เช่น "ลูกมาดูลูกบอลยางลูกนี้เร็วสีสวยๆแม่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน" หรือไปเดินในสวนสนุก ลูกอยากกินขนมที่ไม่มีประโยชน์ ก็ลองเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น "หนูเห็นช้างตรงนั้นไหม ตัวเบ้อเร้อเลย เรารีบไปดูกันก่อนดีกว่า ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ทันนะ"

      การอธิบายเรื่องเหตุและผลให้เด็กช่วงสองถึงสี่ขวบเข้าใจนั้น ไม่ว่าคุณจะอธิบายได้ดีเพียงใด หรือเด็กพยักหน้าว่าเข้าใจ ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเข้าใจจริงๆและจะจดจำได้ทุกครั้ง เพราะความเข้าใจของเด็กช่วงวัยนี้นั้นจริงๆอยู่ในขั้นแค่ รับรู้ ว่าสิ่งไหนทำได้สิ่งไหนทำแล้วจะถูกดุ ถูกห้าม ถูกทำโทษ มากกว่าจะเข้าใจในเรื่องของเหตุและผลจริงๆ

      ถ้าเปรียบเป็นผู้ใหญ่ก็เหมือนพูดเรื่องแรงม้า เจนเชื่อว่าแทบทุกคนเคยได้ยินคำๆนี้ แต่ส่วนใหญ่ก็รู้แค่ว่าเป็นหน่วยวัดกำลังของรถ ยิ่งมีมากก็ยิ่งทำให้รถเร่งแซงได้ไว แต่ถ้าถามว่าคำนวนยังไง ใครเป็นคนบัญญัติ หนึ่งแรงม้าเท่ากับกิโลวัตต์ สัมพันธ์อย่างไรกับแรงบิด ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจหรือเรียนด้านนี้มาเจนว่าน้อยคนนักที่จะตอบได้

      เด็กก็เหมือนกันเขาไม่เข้าใจในเหตุผลหรอกว่าทำไมเอามือแหย่ปลั้กไฟไม่ได้ ไฟดูดคืออะไร ตายคืออะไรเด็กไม่รู้ เด็กรู้แค่ว่าถ้าฉันทำแบบนี้แล้วแม่จะไม่พอใจ จะมาดึงมือออก จะโดนดุ  หรือจะอะไรก็ว่าไป

      ถ้าถามว่าจะสอนเรื่องเหตุและผลได้ไหม บอกเลยว่าสอนได้ถ้าคุณมีเวลาพอ แต่ถ้าเวลามีจำกัดหรือจำเป็นต้องทำให้เด็กเข้าใจในระยะเวลาอันสั้น แนะนำให้สอนว่าอันไหนทำได้ทำไม่ได้ และถ้าทำอย่างนี้แล้วจะได้อะไรก่อนดีกว่า

      cr. หนึ่งกระทู้ของครูเจน ในพันทิพย์ 


=========================================================


Terrible Two" แม่แอนขอแปลเป็นไทยว่า "วัยสองขวบมหาประลัย" คือช่วงอายุประมาณสองขวบเป็นต้นไปที่เด็กเริ่มเข้าสู่วัยอยากเป็นตัวของตัวเอง อยากทำโน่น อยากทำนี่ด้วยตัวเอง เริ่มเถียง เริ่มปฏิเสธ แต่ยังไม่มีเหตุผลและยังขาดการควบคุมตัวเองอยู่มาก เลยเป็นที่มาของความ terrible นี่ล่ะค่ะ  ช่วงนี้เด็กจะแสดงอภินิหารให้พ่อแม่และสาธารณชนได้เห็นบ่อยๆค่ะ  หลาย ๆ คนคงเคยเห็นภาพเด็กวัยนี้ล้มลงไปนอนกรี๊ดๆ ดิ้นพราดๆ บนพื้นเวลาที่ถูกขัดใจใช่ไหมค่ะ  นี่ล่ะค่ะเป็นอาการแสดงหนึ่งของวัยสองขวบที่ว่านี้ ทำเอาพ่อแม่หลายคนกุมขมับปวดหัวเหมือนกันค่ะ บางคนแทบจะไม่อยากพาลูกวัยนี้ออกนอกบ้านเลยเพราะมัน "ยุ่ง" อย่างพาไปเดินห้างก็อยากจะวิ่งขึ้นบันไดเลื่อนเอง ขึ้นถูกด้านจะไม่ว่าเลยนี่บางทีดันอยากจะขึ้นทางที่เขาให้ลง เวลาไปกินข้าวที่ร้านอาหารอย่างเบาะๆ ก็จะเล่นเครื่องปรุง พริกป่น น้ำปลา ที่เขาวางไว้บนโต๊ะ บางทีก็จะกินน้ำเองและจบลงด้วยการเทน้ำราดตัวเองหรือโยนแก้วลงพื้นเสียดื้อๆ หรือไม่ก็วิ่งพล่านไปทั่วร้าน  บอกไม่ฟัง ขัดใจเป็นกรี๊ด  หรือไปซุปเปอร์มาเก็ตแม่ซื้อของยังไม่เสร็จก็ร้องกระจองอแงอยากกลับบ้าน ซื้อขนมให้กินกะว่าจะช่วยให้เงียบลงได้ แต่ก็ดันรีบกินเสียจนอ้วกออกมาเลอะเทอะร้านเขาหมด เหล่านี้ล่ะค่ะ "สองขวบมหาประลัย" ทั้งนั้น  พ่อแม่บางคนถึงกับนึกตำหนิตัวเองไปว่าเราเลี้ยงลูกไม่ดีหรือเปล่า ทำไมลูกเราเอาแต่ใจไม่มีเหตุผลพูดไม่ฟังแบบนี้

ก่อนที่เราจะคุยกันไปมากกว่านี้  แม่แอนขอทำความเข้าใจกับคุณพ่อคุณแม่ก่อนนะคะว่าจริง ๆ แล้วพฤติกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งปกติธรรมดาตามพัฒนาการสำหรับเด็กวัยนี้ค่ะ ไม่ใช่ความผิดปกติ  ไม่ใช่ปัญหาที่เราต้องกังวลใจ  หากแต่สิ่งที่เราควรใส่ใจคือ  ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจและเข้าหาลูกวัยนี้ได้อย่างเหมาะสมค่ะ   

อย่างสมัยพี่วินอยู่ในวัยนี้ก็มีบ้างเหมือนกัน ถึงจะไม่บ่อย แต่ก็พอให้พ่อกับแม่ได้มีโอกาสฝึกปรือฝีมือการกำราบลูกอยู่บ้างเหมือนกันค่ะ 

วิธีจัดการเวลาลูกวัยนี้เอาแต่ใจลงไปนอนร้องไห้กรี้ด ๆ ที่ครอบครัวเราใช้แล้วได้ผลทุกครั้ง คือ การเบี่ยงเบนความสนใจ (distraction) และการสร้างวินัยเชิงบวก (creative/positive discipline) ค่ะ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจ ก่อนว่าลูกทำพฤติกรรมแบบนั้นทำไม  เด็กวัยนี้เป็นวัยที่กำลังค้นหาขอบเขตของตัวเองค่ะ  แน่นอนล่ะว่าเขาอยากเป็นตัวของตัวเอง อยากทำอะไรเอง เพราะเขาเพิ่งค้นพบว่าจริง ๆ แล้วฉันก็เป็นคนคนหนึ่งนะ ไม่ใช่ส่วนผูกติดของพ่อแม่ (เด็กทารกเล็กๆ จะรู้สึกผูกพันกับพ่อแม่จนนึกว่าตัวเองกับพ่อแม่ผูกพันติดกันค่ะ แต่เด็กวัยนี้เริ่มรู้จักตัวเองมาขึ้นแล้วค่ะ)  เขาเริ่มอยากรู้ว่าในการเป็นคนคนหนึ่งนี่เขาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นเวลาเขาอยากได้อะไรเขาก็จะลองทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา ทั้งขอ ทั้งอ้อนวอน ทั้งแย่ง ไปจนถึงล้มลงนอนดิ้นพราด ๆ อย่างที่เราเห็นนั่นล่ะค่ะ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่แสดงว่าเด็กคนนี้เอาแต่ใจหรือผิดปกติ แต่มันแสดงว่าลูกเรากำลังทำการทดลองบทบาทและความสามารถทางสังคมของเขาอยู่ ค่ะ  เป็นหน้าที่ของเราที่เป็นพ่อแม่ที่จะต้องช่วยเขาสร้างกรอบขึ้นมาว่า ทำแบบนี้ได้ ทำแบบนี้ไม่ได้ คำว่าเด็กเอาแต่ใจจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ล่ะค่ะ หากว่าเราไม่ช่วยสร้างกรอบให้ลูก  ปล่อยให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการทุกครั้ง  พ่อแม่บางคนไม่ได้ตั้งใจจะตามใจลูกแต่ก็ยอมอย่างเสียมิได้ อาจเพราะสงสารที่ลูกร้องไห้จนเสียงแหบ หรืออาจเพราะรำคาญ (ยอมๆไปเหอะ เสียเวลา) หรืออาจเพราะอาย (เวลาลูกนอนกรี้ด ๆ ร้องจะเอานู่นจะเอานี่ ในที่สาธารณะ) 

อันนี้แม่แอนเข้าใจค่ะ แม่แอนเคยพาพี่วิน (ตอนสองขวบ)ไปเดินห้างแล้วลูกลงไปนอนกลิ้งร้องไห้บนพื้นเพราะอยากได้ของเล่น (และเป็นของเล่นจำพวกที่เราไม่อนุญาต เช่น ปืน  ดาบเลเซอร์ ฯลฯ)  ก็ต้องเบนความสนใจเขาไปหาสิ่งอื่นค่ะ เช่น  พาไปขึ้นลิฟต์ ไปดูบันไดเลื่อนอะไรก็ว่าไปให้เขาลืมไปก่อน  หรือถ้าไม่ลืมก็ให้ใจเย็นลงก่อน ให้เขารู้ว่าโวยวายก็ไม่ได้อะไร  แม่ไม่ดุหรอกแต่แม่ไม่ให้!  

บางบ้านอาจจะไม่ได้ใช้วิธีนี้  เคยเห็นบางครอบครัวปล่อยให้ลูกร้องไห้  ใช้ความใจแข็งเข้าว่า  ร้องได้ร้องไป พ่อแม่ไม่ยอมเสียอย่าง  วิธีนี้ก็ใช้ฝึกวินัยได้ค่ะ  แต่แม่แอนไม่เห็นดีด้วยเพราะเด็กวัยนี้ยังเล็กนักจึงยังขาดการควบคุมตัวเองทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์อยู่มาก  การปล่อยให้เด็กร้องไห้จนกว่าเด็กจะยอมทำตาม (ซึ่งก็ไม่รู้ว่ายอมทำตามเพราะเข้าใจหรือเพราะร้องจนหมดแรงกันแน่)  จึงถือเป็นการปล่อยให้เด็กซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะใด ๆ จัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้เพียงลำพัง  ซึ่งถือว่าเป็นงานที่หนักหนาเหลือเกินสำหรับเด็กที่เพิ่งเกิดมาได้แค่สองปี  (ขนาดผู้ใหญ่เราโตจนตีนกาขึ้นแล้วเวลาโกรธเวลาถูกขัดใจยังวีนแตกกันเสียยกใหญ่ ไม่เห็นว่าจะจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีสักแค่ไหนเลย)  

บางบ้านอาจจะใช้วิธีอธิบายเหตุผล ชักแม่น้ำทั้งห้า  ร่ายยาวกันมากเลย  อันนี้ดีตรงที่ไม่ทำร้ายจิตใจลูกเหมือนวิธีปล่อยให้ร้องไห้  แต่แม่แอนก็ขอแสดงความเสียใจที่จะแจ้งให้ท่านทราบว่าวิธีนี้จะไม่ได้ผลหรอกค่ะ  เพราะเด็กวัย 2-3 ขวบ สมองส่วนที่ทำงานด้านตรรกะจะยังไม่พัฒนา  นั่นก็แปลว่าลูกยังไม่สามารถเข้าใจเหตุผลร้อยแปดประการที่เรายกมาให้ฟัง  หากคุณพ่อคุณแม่จะต้องอธิบายเหตุผลให้เด็กเล็กฟัง  ควรอธิบายให้สั้น กระชับและตรงประเด็นที่สุดค่ะ (กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่าเด็กจะเข้าใจหรือเปล่า)  ตัวอย่างนะคะ “ลูกจ๋า  ไม่เอาไม่ปีนเก้าอี้นะคะ  นั่งลงค่ะ  แม่บอกไม่ให้ปีนไงคะเดี๋ยวตกลงมาขาหักนะคะ  เดี๋ยวหนูจะเจ็บนะคะ  โอ้ย อย่าปีนค่ะ  เดี๋ยวเท้าโดนคุณป้าโต๊ะข้าง ๆ นะคะ มันไม่สุภาพ  ทำไมซนแบบนี้คะ  เห็นไหมน้องโต๊ะนู้นไม่เห็นซนเหมือนหนูเลย  นั่งลงค่ะ ไม่ดีนะคะ...”  บ่นไปเถอะค่ะลูกเลิกฟังไปตั้งแต่ประโยคแรกแล้ว  (ลูกจับจากน้ำเสียงได้ด้วยนะคะว่าเราไม่จริงจัง)  สั้น ๆ นะคะ “ปีนเก้าอี้ไม่ได้ค่ะ  แม่ไม่ให้ปีนนะคะ” แล้วก็มองลูกด้วยสีหน้าที่จริงจังให้เขารู้ว่าเราเอาจริง พร้อมทั้งอุ้มลงมานั่งดี ๆ   ถ้าลูกจะปีนอีกก็บอกแบบเดิมและอุ้มลงมาค่ะ  ถ้ายังไม่เวิ้คก็คงต้องเบี่ยงเบนความสนใจไปยังสิ่งอื่นค่ะ  แล้วจะเบนไปไหน  คำตอบคือ  อะไรก็ได้ที่สนุกและน่าสนใจค่ะ  เด็ก ๆ วัยนี้ชอบอยู่สองอย่างคือ ได้เล่นสนุกและได้กินขนมอร่อย  กินขนมนี่ก็ไม่ดีเท่าไหร่ ดังนั้นเราก็ต้องหาอะไรที่มันสนุกมาเบนความสนใจเขาค่ะ  คิดว่าคงไม่ยากเกินความสามารถคุณพ่อคุณแม่หรอกนะคะ

อีกอย่างที่พี่วินชอบทำสมัยเด็กคือ กรี๊ดค่ะ  เวลาไม่ได้ดั่งใจจะกรี๊ด  โวยวาย  ต้องขอบอกว่าการดุหรือตะโกนตอบลูกในเวลาที่ลูกโวยวายไม่ช่วยอะไรเลยค่ะ  มีแต่จะช่วยเติมเชื้อไฟให้ลูกโมโหมากขึ้น  และหากเราโวยวายตอบ ลูกก็จะเรียนรู้จากการกระทำของเราว่า การโวยวายเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำเมื่อเราไม่พอใจ (ก็ขนาดแม่ก็ยังทำเลยนี่นา)  ดังนั้น เราอยากให้ลูกจัดการกับปัญหาที่เขาเผชิญอย่างไร  เราก็ต้องทำให้เขาดูเป็นตัวอย่างค่ะ  เวลาที่ลูกโวยวาย วิธีที่ช่วยได้มาก (วิธีนี้คุณครูของลูกแนะนำมา)  คือ การพูดกับเขาให้เบาลงและสงบค่ะ  เวลาลูกกรี๊ด ไม่พอใจ  เราอาจจะเดินไปใกล้ ๆ เขาแล้วกระซิบที่ข้างหูเขาก็ได้ค่ะว่าให้พูดเบา ๆ และกอดเขาไว้ (ถ้าเขายอมให้กอด) จะช่วยให้เขาเย็นลงได้นะคะ  และลูกก็จะได้เรียนรู้จากเราว่าเวลาไม่พอใจไม่จำเป็นต้องตะโกนโวยวายก็ได้

 หากคุณพ่อคุณแม่ทำตามนี้ไปสักพัก  ไม่นานลูกก็จะเรียนรู้ ค่ะว่าถ้าพ่อแม่บอกว่าไม่ได้ก็คือไม่ได้ การร้องไห้ตีโพยตีพายก็จะไม่ช่วยให้เขาได้ในสิ่งที่เขาต้องการอยู่ดี  เด็กเล็ก ๆ เรียนรู้เร็วกว่าที่เราคิดนะคะ พอเขารู้ว่าวิธีไหนใช้ไม่ได้ผลเขาก็เลิกใช้ค่ะ แต่เขาอาจจะคิดพลิกแพลงหาวิธีใหม่ ๆ มาทดสอบเราอีกอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ อย่างพี่วินนี่พอรู้ว่าการลงไปนอนร้องไห้เรียกความสนใจจากแม่ไม่ได้แล้ว  คราวนี้มามุกใหม่ เวลาแม่เอาจริงก็จะร้องไห้แล้วบอกว่า "ปวดฉี่ ๆๆ" หรือ "ปวดอึ ๆๆ" เพราะเขารู้ไงคะว่าถึงแม่จะเมินเฉยแค่ไหนเวลาเขาอยากเข้าห้องน้ำเราก็ต้องมา สนใจช่วยเขาอยู่ดี (เป็นไงล่ะ ภูมิปัญญาเด็กสองขวบ) ตอนแรกแม่แอนก็ตกหลุมพรางค่ะ รีบโผเข้ามาช่วยพาไปเข้าห้องน้ำ พอเขาเห็นว่าได้ผล แม่ให้ความสนใจแฮะ ทีนี้ล่ะใช้บ่อยเลย เราเลยชักเอะใจ หลัง ๆ เลยไม่ สนแล้วค่ะ บอกเขาว่าหนูถอดกางเกงเองได้แล้วก็ไปเข้าห้องน้ำเองสิครับ ตอนนี้เขาเลิกใช้มุกนี้ไปแล้วค่ะ  แต่แป๊บ ๆ ก็มีไม้เด็ดไม้ใหม่มาทดสอบพ่อกับแม่อีกเรื่อย ๆ

อย่างที่บอกล่ะค่ะว่า เขากำลังทดลองเพื่อหาขอบเขตในความเป็นตัวของตัวเอง  หน้าที่ของเราคือต้องคอยช่วยให้เขาค้นพบตัวเองในขอบเขตที่เหมาะสมค่ะ


cr.//mother2son.exteen.com/20120506/terrible-two





Create Date : 06 สิงหาคม 2556
Last Update : 20 สิงหาคม 2556 15:25:06 น. 1 comments
Counter : 7920 Pageviews.

 

เหมือนลูกเราเลย แล้วยังอิจฉาน้องอีก


โดย: แนนนี่ IP: 49.231.15.104 วันที่: 21 ธันวาคม 2560 เวลา:15:07:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

iambombie
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add iambombie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.