พระพิฆเนศวร เทพแห่งศิลป์ ปัญญา และความรู้
บทบาทความ สำคัญของพระพิฆเนศ คนไทยคุ้นเคยกับบรรดาเทพเจ้าทั้งหลายมาช้านาน แต่ในบรรดาเทพเจ้าทั้งหมด คนไทยรู้จักพระพิฆเนศวรมากที่สุดเพราะท่านเป็นมหาเทพที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ วิถีชีวิตคนไทยมากที่สุดจนกล่าวได้ว่าคนไทยยอมรับในองค์พระพิฆเนศวรเป็นส่วน สำคัญส่วนหนึ่งในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ เป็นตราประจำกรมกองต่าง ๆ มากมาย
พระพิฆเนศวรเป็นเทพแห่งปราชญ์และความรอบรู้ต่าง ๆ เป็นเทพแห่งการขจัดอุปสรรคความขัดข้อง ดังนั้นหากผู้ใดต้องการเป็นผู้รู้และต้องการประสบความสำเร็จต่อกิจการทั้งปวงมักจะ บูชาพระพิฆเนศวรก่อน
ในอินเดียเองก็มีแนวความเชื่อในเรื่องพระพิฆเนศวรในทุกลัทธิศาสนาไม่ว่า ลัทธิที่ถือองค์พระศิวะเป็นใหญ่ นับถือพระพรหมเป็นใหญ่ หรือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ทุกลัทธิล้วนให้ความสำคัญต่อพระพิฆเนศวรทั้งสิ้น ด้วยทุกตำราได้กล่าวถึงที่มาของพระพิฆเนศวรไว้สูง สำคัญและมีฤทธิ์มาก มีความเฉลียวฉลาด มีคุณธรรม คอยช่วยเหลือปกป้องปราบปรามสิ่งชั่วร้ายและเป็นยอดกตัญญู
แม้พระพิฆเนศวรจะ เป็นเทพที่มีความเก่งกาจสามารถยิ่ง แต่ก็เป็นเทพที่สงบนิ่งไม่เย่อหยิ่งทรนง อันเป็นคุณสมบัติอันประเสริฐอีกประการหนึ่งของผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง จึงกล่าวได้ว่า พระพิฆเนศวรเป็นมหาเทพที่ดีพร้อมครบถ้วนด้วยความดีงามสมควรแก่การยกย่องบูชา เป็นนิจ
แม้แต่องค์พระศิวะมหาเทพผู้สร้างและพระบิดาแห่งองค์พระพิฆเนศวรยังกล่าวว่า "ไม่ว่าจะกระทำการสิ่งใดหรือทำพิธีบูชาใด ให้ทำการบูชาพระพิฆเนศวร ก่อนกระทำการทั้งปวง “ผู้ใด ต้องการความสำเร็จ ให้บูชาพระพิฆเนศวร” “ผู้ใด ต้องการพ้นจากความขัดข้องทั้งปวง ให้บูชาพระพิฆเนศวร”
ฐานะและสถานภาพของพระพิฆเนศ
เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพที่มีสถานภาพแห่งความเป็นสากล ศาสนิกชนและผู้คนทั่ว ๆไปต่างเคารพนับถือพระองค์ว่าเป็นเทพที่สำคัญ อันจะอำนวยพรประสิทธิ์ประสาทผลในด้านต่างๆแทบจะทุกด้าน และผู้เลื่อมใสพระองค์ก็มีตั้งแต่ชนชั้นล่างสุดจนถึงชนชั้นปกครอง ทุกสาขาอาชีพ ไม่มีขีดจำกัดหรือกฎเกณฑ์ ห้ามเหมือนอย่างมหาเทพหรือพระมหาเทวีบางพระองค์ จึงพอจะสรุปถึงฐานะของพระคเณศในด้านต่าง ๆ ได้ดังนี้
๑. พระคเณศในฐานะเทพขจัดอุปสรรค
ในสมัยก่อนพ่อค้าต่าง ๆ เวลามาเพื่อติดต่อค้าขายในแถบคาบสมุทรอินโดจีน มักจะพกพาพระคเณศติดตัวมาบูชาเพื่อคุ้มครองป้องกันภัยและช่วยอำนวยความสำเร็จในการเดินทาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีการนิยมสร้างรูปเคารพพระคเณศขึ้นมาเพื่อประทานความสำเร็จและขจัด อุปสรรคโดยเฉพาะในด้านการค้าและการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในบริษัทใหญ่ ๆ หรือโรงแรมใหญ่ ๆ ในปัจจุบัน
๒. พระคเณศในฐานะเทพบริวาร
ในฐานะที่พระคเณศเป็นพระโอรสของพระศิวะมหาเทพ และพระอุมามหาเทวี ท่านจึงได้ฐานะเป็นเทพบริวารให้กับมหาเทพทั้งสอง ด้วยฐานะดังกล่าวจึงมีการนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ที่กองพลทหารบกที่ ๑ รักษาพระองค์
๓. พระคเณศในฐานะเทพผู้ปกป้องคุ้มครองเด็ก
พระคเณศในฐานะนี้ เราจะพบเห็นได้จากภาพวาดหรือปฏิมากรรมของพระคเณศในวัยที่ยังเป็นเด็ก ขณะเป็นพระโอรสของพระนางอุมามหาเทวี ผู้คนจึงมอบฐานะแห่งเทพผู้คุ้มครองเด็กให้กับพระองค์
๔. พระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการ
ทรงเป็นเทพแห่งฉลาดรอบรู้ และเป็นเทพแห่งศิลปะวิทยาการต่าง ๆ ซึ่งภาพวาดหรือรูปเคารพของพระองค์จะมี ๒ พระกร ถือ คัมภีร์และงาหัก ตามหลักฐานที่ปรากฏจะพบว่า คติการเคารพบูชาพระคเณศในฐานะเทพแห่งศิลปวิทยาการของไทยเรานั้น เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบัน และปรากฏฐานะนี้ที่เด่นชัด ในสมัยรัชการที่ ๖ ที่ทรงกำหนดให้ใช้รูปพระคเณศเป็นตราเครื่องหมายสัญลักษณ์ของวรรณคดีสโมสร ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ก็ได้กำหนดให้ใช้รูปของพระคเณศเป็นตราสัญลักษณ์ของกรมศิลปากร
๕. พระคเณศในฐานะบรมครูช้าง
ในสมัยก่อนนั้นการทำศึกสงคราม ช้างเป็นสัตว์ที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในการทำศึก การทำกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับช้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญถึงขนาดกลายเป็นศาสตร์ที่สำคัญแขนงหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า “คชศาสตร์” ด้วยรูปแบบดังกล่าวของพระคเณศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางคชศาสตร์ ดังนั้นเมื่อมีกิจกรรมเกี่ยวกับทางคชศาสตร์เกิดขึ้น ก็ย่อมจะต้องมีการบูชาพระคเณศด้วย
๖. พระคเณศในฐานะที่เป็นทวารบาล
เป็นคติที่พบได้ทางภาคเหนือของไทยเรา เรามักพบเห็นพระคเณศประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าประตูทางเข้าวัดในพุทธศาสนา ซึ่งคล้ายกับคตินิยมในธิเบตและพม่า ดังตัวอย่างเช่นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดท่าสะต๋อย ที่มีรูปพระคเณศอยู่บริเวณทางเข้าในฐานะพระทวารบาล และคติการสร้างรูปพระคเณศไว้ที่บริเวณทางเข้าวัดทางภาคเหนือนั้น จะเน้นหนักไปในเรื่องที่ยกองค์พระคเณศให้เป็นทวารบาลคอยคุ้มครองสัตบุรุษผู้ ไปทำบุญหรือปฏิบัติศาสนกิจ
๗. พระคเณศในฐานะบรมครู หรือเทพทางศิลปะการแสดง
ปัจจุบันนี้ศิลปการแสดงต่าง ๆ โดยเฉพาะในแวดวงดารา ดาราภาพยนตร์และดาราทีวีจะนับถือพระคเณศว่าเป็นบรมครู ทางการแสดงของพวกเขา ซึ่งจะไปเหมือนกับคตินิยมในการบูชาพระคเณศ ในฐานะบรมครูทางนาฏกรรมของบรรดานาฏศิลป์ทั้งหลาย
๘. พระคเณศในเครื่องรางของขลัง
ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘ ชึ่งเป็นช่วงที่พ่อค้าวานิชและนักบวชในศาสนาฮินดู เดินทางออกจากประเทศอินเดียมาสู่แหลมอินโดจีน และมักจะพกพาเครื่องรางที่เป็นรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ติดตัวมาติดต่อค้าขาย และเผยแผ่ศาสนาในแหลมอินโดจีน ดังหลักฐานที่ปรากฏจากการขุดค้นพบเครื่องรางรูปพระคเณศองค์เล็ก ๆ ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จ .สุราษฏร์ธานี
ความหมายของส่วนต่าง ๆ ของพระพิฆเนศ พระคเณศ ทรงมีรูปร่างเดียวโดยทรงมีพระเศียรเป็นช้าง มีพระกรรณกว้างใหญ่ มีงวงยาว แต่ทรงมีร่างกายเป็นมนุษย์ มี ๔, ๖ หรือ ๘ กรแล้วแต่พระภาคที่จะเสด็จมา รูปร่างของพระองค์แสดงถึงสิ่งเป็นมงคลดีเยี่ยม ซึ่งทรงสั่งสอนถึงความดีและความสำเร็จ พระคเณศทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งความรู้ และปัญญายิ่งใหญ่ แต่ละส่วนของท่านให้ความหมายในเชิงปรัชญาได้ดังนี้
พระเศียร - ทรงใช้เศียรอันใหญ่ที่เต็มด้วยปัญญาความรู้ เป็นที่รวมแห่งปัญญาทั้งหมด
พระกรรณ - ทรงใช้รับฟังคำสวดจากพระคัมภีร์และความรู้ในรูปอย่างอื่น ๆ อันเป็นสิ่งแรกแห่งการศึกษา
งวง – เราได้นำเอาความรู้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเลือกเฟ้นระหว่างทวิลักษณะ ความผิด-ถูก ความดี-ความชั่ว อันมีงวงช้างที่ยาวและใหญ่ใช้ชั่งน้ำหนัก ต่อการกระทำหรือการค้นหาสิ่งที่ดีงามต่างๆ อันปัญญานั้นเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาของชีวิตให้หลุดพ้นจากอุปสรรค และพบกับความสำเร็จสมดั่งความมุ่งหมาย
งา - งาข้างเดียวโดยอีกข้างหักนั้น เพื่อแสดงให้รู้ว่าจะต้องอยู่ในเหตุระหว่างความดี-ความชั่ว ซึ่งต้องทำความเข้าใจให้ดีถึงความแตกต่างกัน ดั่งเช่น ความเย็น-ความร้อน การเคารพ-การดูหมิ่นเหยียดหยาม ความซื่อสัตย์-ความคดโกง
หนู - แสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์
บ่วงบาศก์ - ทรงถือโดยทรงลากจูงคนทั้งหลายให้เดินตามรอยพระบาทของพระองค์
ขวาน - เป็นอาวุธทรงใช้ปกป้องความชั่วร้าย และคอยขับไล่อุปสรรคทั้งหลายที่มาก่อกวนต่อบริวารของพระองค์
ขนมโมทกะ - ข้าวสุกผสมน้ำตาลปั้นเป็นลูก เพื่อประทานให้เราเป็นรางวัลต่อการที่เราปฏิบัติตามรอยพระบาทของพระองค์
ท่าประทานพร - หมายถึงความยิ่งใหญ่แห่งความผาสุกและความสำเร็จให้กับสาวกของพระองค์
...... .... .. .
คาถาบูชา บทสวดมนต์ง่ายๆ สำหรับบูชาพระพิฆเนศ
โอม ศรี คเณศายะ นะมะฮา (บูชาแบบสั้นๆ เมื่อเดินผ่านตามเทวาลัย,วัดต่างๆที่พระพิฆเณศประดิษฐานอยู่)
โอม พระพิฆเณศวร สิทธิประสิทธิเม มหาลาโภ ทุติยัมปิ พระพิฆเณศวร สิทธิประสิทธิเม มหาลาโภ ตะติยัมปิ พระพิฆเณศวร สิทธิประสิทธิเม มหาลาโภ
(บทสวดของไทย สวดทุกวันเพื่อเป็นสิริมงคล)
ขอบคุณที่มาและอ่านประวัติเพิ่มเติมที่
//www.siamganesh.com/
Create Date : 05 มกราคม 2552 |
|
1 comments |
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2553 12:36:54 น. |
Counter : 4681 Pageviews. |
|
|
|
เราเองมีรูปหล่อพระพิฆเนศวรองค์เล็กอยู่องค์หนึ่ง
ไ้ด้มาตอนไหว้ครูช่างที่คณะ แต่เก็บไว้เฉยๆ
ไม่ได้บูชาอะไรเป็นพิเศษ
อ่านเจอบล็อกนี้ เลยว่าจะหาข้อมูลเพิ่ม
บูชาให้เป็นเรื่องเป็นราวไป