<<
เมษายน 2560
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
10 เมษายน 2560

เรือบินไทยบอมบ์เรือรบไทย ในศึกชิงอำนาจ! ฝ่ายแพ้ชนะใจคนดู สนุกยิ่งกว่าดูหนังสงคราม!!



โดย โรม บุนนาค





จอมพล ป. ขณะถูกคุมตัวลงจากเรือขุดแมนฮัตตัน




การทำรัฐประหารจนเกิดการต่อสู้ครั้งรุนแรงที่สุดในเมืองไทย ถึงขั้นจับนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกันไว้ในเรือรบ อีกฝ่ายก็ใช้เครื่องบินขนระเบิดไปบอมบ์ใส่เรือที่คุมตัวนายกฯ ซึ่งฝ่ายก่อการใช้เป็นที่มั่น จนจมลงสู่ก้นแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ ต้องตัดเป็นชิ้นๆขึ้นมา คนดูต่างเชียร์ฝ่ายแพ้อย่างสนุกไปด้วย

เหตุการณ์ครั้งนี้เริ่มขึ้นในพิธีในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนปากน้ำเจ้าพระยาชื่อ “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ซึ่งองค์กรช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้มอบให้ไทย โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบ

ในช่วงระยะเวลานั้น ทหารเรือกลุ่มหนึ่งมีความอึดอัดใจที่เกียรติภูมิของทหารเรือถูกคุกคามหลังการเกิด “กบฏวังหลวง” เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยรัฐบาลและทหารบกของคณะรัฐประหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของกองทัพเรือ จนมีการประชุมออกแถลงการณ์คัดค้านกันมาแล้ว และมีการเตรียมพร้อมคุมเชิงกันตลอดมา

นอกจากนี้ยังไม่พอใจการบริหารบ้านเมืองของคณะรัฐประหาร ที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์กอบโกยความมั่งคั่ง จนมีข่าวเรื่องคอรัปชั่นอื้อฉาวตลอดมา อีกทั้งยังใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือทางการเมืองกดขี่ข่มเหงประชาชน และเข่นฆ่านักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างโหดร้ายทารุณ

น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ซึ่งผู้ถูกวางตัวให้จี้จับนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ตอนหนึ่งว่า

“การที่ต้องมาแกร่วเตรียมพร้อมอยู่วันแล้ววันเล่า พวกเราซึ่งมีนายทหารหนุ่มหลายคนได้มีโอกาสพบปะพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์เหลวแหลกต่างๆของรัฐบาลระยะนั้นอยู่เสมอ ผสมกับความเบื่อหน่ายต่อการคุมเชิงคาราคาซัง อยากให้แตกหักลงไปอย่างเด็ดขาด

เพราะเราเชื่อมั่นในความสามัคคีรักหมู่คณะ ซึ่งได้แสดงให้เห็นมาแล้วในกรณี ๒๖ ก.พ. (กบฏวังหลวง) แต่เราไม่สามารถดำเนินการใดๆได้ในขณะนั้น เพราะเรายังไม่มีการรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน จึงได้แต่เฝ้าดูสภาพการณ์ที่เลวร้ายเรื่อยๆ มา”

นายทหารหนุ่มกลุ่มที่อึดอัดใจจึงเริ่มเคลื่อนไหว โดยมีแกนนำประกอบด้วย

นาวาเอกอานนท์ ปุณฑริกานนท์ ผู้บังคับบัญชาหมู่รบ
นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์
นาวาตรีประกาย พุทธารี แห่งกรมนาวิกโยธิน
นาวาตรีสุภัทร ตันตยาภรณ์ แห่งกรมนาวิกโยธิน

น.อ.อานนท์ และน.ต.มนัสได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษา พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกประจำการ อดีตผู้บัญชาการหน่วยนาวิกโยธิน ซึ่งกำลังถูกการเมืองบีบคั้นอย่างหนัก พล.ร.ต.ทหารมีบารมีอยู่ในกลุ่มเสรีไทยจึงได้รับการสนับสนุนจากเสรีไทยกลุ่มหนึ่งเข้าร่วมอุดมการณ์ด้วย

ส่วน น.ต.ประกาย กับ น.ต.สุภัทร สำเร็จมาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ได้ขยายเครือข่ายไปยังเพื่อนร่วมรุ่นในกองทัพบกและกองทัพอากาศที่ไม่พอใจพฤติการณ์ของคณะรัฐประหารมาร่วมคณะด้วย โดยเรียกกลุ่มของตนเองว่า “คณะกู้ชาติ”

บรรดาแกนนำของคณะกู้ชาติ ได้วางแผนที่จะยึดอำนาจโดยวิธีจู่โจมจับบุคคลสำคัญที่กุมอำนาจในคณะรัฐประหารอย่างเด็ดขาดและรุนแรง โดยไม่คำนึงถึงชีวิตใครทั้งสิ้น แต่สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย และได้สรุปหลักการว่าจะต้องไม่ให้เสียชีวิตและเลือดเนื้อ

การนัดลงมือจู่โจมจับบุคคลสำคัญในครั้งนี้ได้เกิดข้อผิดพลาดล้มเหลวขึ้นถึง ๕ ครั้ง บางครั้งขนอาวุธออกจากกรมกองแล้วต้องแอบเอาเข้าไปเก็บอีก จนข่าวชักรั่วไหล บางกลุ่มขอถอนตัวออกเพราะถูกเพ่งเล็ง แกนนำของคณะกู้ชาติหลายคนก็ถูกตำรวจสันติบาลติดตาม

จนกระทั่งในวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๔๙๔ ซึ่งจะมีพิธีมอบเรือขุดแมนฮัตตันขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ จึงต้องตัดสินใจลงมือก่อนที่ข่าวจะรั่วไหลไปมากกว่านี้

ในตอนเสร็จสิ้นพิธีมอบ จอมพล ป.ได้ขึ้นไปชมเรือโดยมีกัปตันชาวอเมริกันเป็นผู้อธิบาย น.ต.มนัส จารุภา ได้นำทหารเรือจำนวนหนึ่งซึ่งทุกคนมีปืนกลมือแมดเสนเป็นอาวุธ ยืนรักษาการณ์คอยจังหวะอยู่โคนต้นมะขามริมเขื่อน จนเห็นว่าจอมพล ป.ขึ้นไปสักพักแล้ว จึงตัดสินใจออกคำสั่งหน่วยจู่โจม

“หมู่รบ ตามข้าพเจ้า..วิ่ง!”

แล้วนำกองกำลังติดอาวุธวิ่งไปที่สะพานขึ้นเรือขุดแมนฮัตตัน ท่ามกลางการตกตะลึงของแขกในงานทั้งไทยและเทศ

นี่คือนาทีเริ่มต้นของการชิงอำนาจที่มีชื่อว่า “กบฏแมนฮัตตัน”

ในหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” น.ต.มนัส จารุภาเล่าถึงช่วงเวลานี้ไว้ว่า

“ข้าพเจ้าวิ่งขึ้นสะพานที่ทอดลงมาจากเรือแมนฮัตตัน ที่ปลายสะพานด้านล่างข้าพเจ้าได้พบกับท่านพลเรือเอกสินธุ์ กมลนาวิน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ ท่านยืนตะลึงขวางทางขึ้นอยู่ ข้าพเจ้าทำความเคารพท่านและเรียนขอทาง ท่านรับเคารพอย่างงงๆ พร้อมกับหลีกทางให้

เมื่อวิ่งขึ้นไปบนเรือแมนฮัตตันแล้วก็หยุดยืนอยู่ตรงนั้น ข้าพเจ้าหันมองไปรอบๆตัว เพื่อสำรวจดูว่ามีใครถืออาวุธอยู่ใกล้ๆหรือไม่ เมื่อไม่มีอะไรส่อเค้าให้เห็นว่าจะเป็นภัยต่อข้าพเจ้าแล้ว จึงตกลงใจยืนรอจอมพล ป.พิบูลสงคราม ณ จุดนั้น

ในไม่ช้าก็เห็นว่านายกรัฐมนตรีและผู้ติดตามเดินมาจากหัวเรือ มีชายอเมริกันติดตามมาด้วยคนหนึ่ง เมื่อท่านนายกรัฐมนตรีเดินเข้ามาใกล้ ข้าพเจ้าจึงร้องบอกไปว่า

“เราต้องการแต่ตัวท่านจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวถอยออกไป ขอเชิญท่านจอมพลมาทางนี้”

ชาวอเมริกันผู้นั้นเข้ากั้นกลางตัวท่านนายกฯไว้ ข้าพเจ้าเห็นท่าไม่ได้การจึงยกปืนขึ้นประทับและสำทับอีกว่า “อเมริกันถอยไป” เขาเห็นว่าเอาจริงจึงถอยห่างออกไป

ท่านนายกรัฐมนตรีถามว่าจะให้ไปทางไหน ข้าพเจ้าบอกให้เดินลงบันไดไป แล้วข้าพเจ้าก็ตามไป ผู้ติดตามจอมพลนายกรัฐมนตรีสองนาย แต่งกายพลเรือนหนึ่งนาย ทราบชื่อภายหลังว่า พ.ท.สนิท หงส์ประสงค์ และอีกนายหนึ่งเป็นนายตำรวจ แต่งเครื่องแบบสีกากี ทราบภายหลังชื่อ ร.ต.อ.สิงห์โต สังกาส ทั้งสองเดินตามหลังข้าพเจ้ามา

เมื่อเดินมาเกือบถึงโคนท่าราชวรดิฐข้าพเจ้าฉุกคิดขึ้นมาว่า ผู้ติดตามทั้งสองนายอาจมีอาวุธปืนพกติดตัวอยู่ จึงหันกลับไปที่ ร.ต.อ.สิงห์โต เอามือตบที่บริเวณสะโพกทั้งสองข้าง ที่สะโพกขวาข้าพเจ้าพบปืนพกแบบรีวอลเวอร์หนึ่งกระบอก จึงชักออกมาถือที่มือซ้าย ส่วน พ.ท.สนิทไม่มีอะไร”

น.ต.มนัสได้นำจอมพล ป.และผู้ติดตามทั้ง ๖ คน ลงเรือเปิดหัวที่ใช้สำหรับยกพลขึ้นบกไปขึ้น ร.ล.ศรีอยุธยา ซึ่งจอดทอดสมออยู่ที่หน้าวัดราชาธิวาส สามเสน แยกจอมพล ป.ไปพักที่ห้องโถงนายพล จากนั้นก็นำเรือล่องมาตามลำน้ำ โดยมีที่หมายกรมสรรพาวุธทหารเรือบางนา ซึ่งเป็นที่นัดชุมนุมพล และจะใช้ ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นกองบัญชาการ

ขณะนั้นเครื่องจักรใหญ่ด้านซ้ายของ ร.ล.ศรีอยุธยาอยู่ในระหว่างซ่อมใหญ่จึงใช้ไม่ได้ต้องใช้เพียงเครื่องจักรใหญ่ด้านขวาขับเคลื่อนเพียงด้านเดียว ใช้หางเสือขืนทิศทางไว้ แต่ก็ไม่เป็นปัญหามาก เพราะ น.ต.มนัสเคยนำ ร.ล.ศรีอยุธยาในสภาพนี้มาแล้ว

ในระหว่างที่ล่องเรือผ่านเรือรบหลายลำที่ทอดสมออยู่กลางลำน้ำเจ้าพระยา ก็เห็นบางลำเปิดหลังคาผ้าใบที่คลุมฐานปืนออก อยู่ในสภาพเตรียมพร้อม แต่บางลำก็อยู่ในสภาพปกติ สองฟากฝั่งแม่น้ำมีประชาชนเฝ้าดูอยู่โดยตลอด เพราะรู้กันแล้วว่าจอมพล ป.ถูกจับเป็นตัวประกันอยู่ในเรือ

เมื่อล่องเรือมาถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น.ต.มนัสส่องกล้องไปที่เสาธงใหญ่ใกล้ปากอู่หลวง ซึ่งนัดแนะกันไว้ว่า ถ้าสะพานพุทธเปิดจะมีสัญญาณธงชักขึ้นที่ยอดเสา แต่ก็แปลกใจที่ไม่เห็นสัญญาณใดๆ ตามข้อตกลง

น.ต.ประกายจะเป็นคนนำนาวิกโยธินเข้ายึดโรงไฟฟ้าวัดเลียบและเปิดสะพานพุทธฯให้เรือผ่าน มารู้ทีหลังว่า น.ท.สุน มาศยากุล ผบ.นาวิกโยธิน ๕ ไม่ยอมให้กำลัง ซ้ำยังขู่ว่าจะยิงถ้า น.ต.ประกายฝ่าฝืนเข้าไปในกองกำลังนาวิกโยธินที่สวนอนันต์ ธนบุรี

ทั้งนี้เพราะพลเรือโททหาร ขำหิรัญที่ว่าจะมาเจรจาไม่มาตามนัด ร.ล.ศรีอยุธยาเลยผ่านสะพานพุทธฯไปกรมสรรพาวุธไม่ได้ ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อไม่ให้ตกเป็นเป้านิ่ง
     
 

ฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกำลังเข้าตรึงทหารเรือไว้ทุกด้าน ระดมทหารบกเข้าประชิดตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากบริเวณท่าราชวรดิฐและท่าช้างวังหลวงที่ น.อ.อานนท์นำทหารเรือยึดไว้

การต่อสู้ด้วยอาวุธเปิดฉากขึ้นที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ เมื่อทหารเรือเพียง ๑๓ คนยึดโรงไฟฟ้าไว้ ตำรวจได้นำรถยานเกราะ ๓ คันเข้าชิง โดยมีทหารบกยึดโรงเรียนสวนกุหลาบสนับสนุนตำรวจ

เมื่อยานเกราะตำรวจพุ่งเข้าหาโรงไฟฟ้า ทหารเรือก็เปิดฉากระดมยิงทันที โดยมีทหารเรืออีกหมู่หนึ่งที่สะพานพุทธฯช่วยระดมยิงด้วย ทำให้ยานเกราะบุกเข้าไปไม่ได้

ทหารเรือจากท่าราชวรดิฐรู้ว่าพรรคพวกถูกล้อมที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบจึงส่งกำลังไปช่วย และสามารถเอารถฝ่าทะลวงด่านของ ตร.สน.พระราชวังเข้าไปได้โดยบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย

แต่ก็เจอทหารบกปิดถนนอยู่ที่เชิงสะพานพุทธ จึงต้องเลี้ยวหลบเข้าไปในซอยท่ากลาง ปากคลองตลาด เลยถูกล้อมอยู่ในนั้นโดยทหารบกก็บุกเข้าไปไม่ได้ เพราะทหารเรือสู้อย่างจนตรอก

ในที่สุดตำรวจก็โหมกำลังเข้ายึดโรงไฟฟ้าคืนได้ ทหารเรือบางคนตีฝ่าออกไปได้ บางคนก็ได้รับการช่วยเหลือจากพนักงานไฟฟ้าให้เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วเดินสวนตำรวจออกมา ถูกจับไปได้ ๓ คน

ที่กองสัญญาณทหารเรือ ข้างสวนลุมพินี ตำรวจและทหารบกได้นำรถยานเกราะบุกเข้าไป แต่ก็ถูกตอบโต้ด้วยปืนต่อสู้รถถัง ทำเอาทั้งยานเกราะตำรวจและทหารบกหมอบไปหลายคัน ต้องถอยกลับ

ทางฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งนายวรการบัญชา รักษาการนายกรัฐมนตรี พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม่ทัพที่ ๑ เป็นผู้อำนวยการปราบกบฏ เมื่อรู้ว่าทหารเรือที่ปฏิบัติการนั้นเป็นเพียงส่วนน้อย

จึงยื่นคำขาดต่อนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่อย่างไม่มีข้อต่อรอง ให้มอบตัวจอมพล ป.คืนก่อนสว่าง มิฉะนั้นจะเข้าโจมตีทุกแห่งที่มีทหารเรืออยู่ แต่การเจรจาในคืนนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ เช้าตรู่ทหารบกและตำรวจจึงเข้าโจมตีแนวตั้งรับของทหารเรือทุกจุดทันที

มีเรื่องเล่ากันด้วยความประทับใจของเหล่าทหารเรือจากการสู้รบครั้งนี้หลายเรื่อง แม้จะแพ้ตกเป็นผู้แพ้ แต่ก็ชนะใจคนดู ได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนที่เอาใจช่วย อย่างเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นที่สี่แยกศาลาแดง

จ่าจาก ร.ล.สารสินธุ์ ๓ คน มารายงานตัวที่กองสัญญาณทหารเรือในตอนกลางคืน และได้รับแจกอาวุธประจำกายไปคนละกระบอก จ่าคนหนึ่งเห็นปืนต่อสู้รถถังขนาด ๓๗ ม.ม. วางอยู่หลายกระบอก จึงหยิบติดมือไป ๑ กระบอกพร้อมด้วยกระสุน และพากันเดินทะลุสวนลุมพินีไปรักษาการณ์ที่โคนต้นไม้ริมถนนราชดำริข้างโรงพยาบาลจุฬาฯ

รุ่งเช้าประมาณ ๘ นาฬิกา ตำรวจยุคมีรถถัง ก็ส่งรถหุ้มเกราะสแตรคฮาวน์ ๑๐ กว่าคัน แล่นทิ้งระยะกันมาเป็นขบวนตามถนนพระรามสี่จากทางด้านสามย่านเพื่อจะไปโจมตีกองสัญญาณ

พยาบาลคนหนึ่งบนตึกโรงพยาบาลจุฬาฯเห็นรถถังตำรวจก่อน จึงตะโกนบอกคุณจ่าที่รักษาการณ์อยู่ข้างรั้ว ทำให้จ่าคนหนึ่งต้องวางแก้วเหล้ามาจับปืนต่อสู้รถถัง เล็งที่มุมรั้วโรงพยาบาล

เมื่อสแตรคฮาวน์ตำรวจโผล่ออกมาแค่เพียงครึ่งคัน คุณจ่าก็เหนี่ยวไกปล่อยกระสุนไปอย่างแม่นยำ ทำเอาสแตรคฮาวน์ตำรวจหมอบอยู่ตรงนั้นต้องใช้รถเมล์มาลากถอยไป คุณจ่าก็วางปืนไปจิบเหล้าต่อ

เมื่อยานเกราะตำรวจคันที่ ๒ เคลื่อนจะออกไปอีก คุณพยาบาลซึ่งคอยช่วยเป็นยามสังเกตการณ์อยู่บนตึก ก็ตะโกนบอกคุณจ่าอีก คุณจ่าจึงวางแก้วมาจับปืนเล็งไปที่จุดเดิม และก็ไม่พลาดเป้าอีกเช่นกัน

การร่วมมือกันโดยไม่มีการขอร้องหรือนัดหมายนี้ ทำเอายานเกราะตำรวจหมอบที่จุดนี้ถึง ๑๑ คัน จนกระสุนของคุณจ่าหมด จึงถอยกลับเข้าสวนลุมพินีไปโดยไม่ลืมที่จะโบกมือลาคุณพยาบาลบนตึกด้วย

ส่วน ร.ล.ศรีอยุธยาซึ่งจอมพล ป.ถูกควบคุมตัวอยู่ก็ถูกระดมยิงด้วยปืน ค. ตั้งแต่เช้าตรู่ น.ต.มนัสจึงต้องออกเรือเพื่อไม่ให้เป็นเป้านิ่ง และทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือ ก็ได้พบเครื่องบิน เอที. ๖ ฝูงหนึ่ง ๒-๓ ลำพุ่งเข้าจะโจมตี ร.ล.ศรีอยุธยาจึงต้องใช้ปืนกลต่อสู้อากาศยานยิงสกัดไว้ ทำให้เครื่องบินฝูงนั้นผละหนีไป

เมื่อไปถึงปากคลองบางลำพูจึงลอยลำปล่อยให้เรือไหลตามกระแสน้ำลงมา พอถึงท่าช้างวังหน้า น.อ.อานนท์ก็ให้เรือเปิดหัวนำคำสั่งมายัง ร.ล.ศรีอยุธยาให้ไปช่วยกองเรือรบซึ่งกำลังถูกโจมตีหนัก

พอผ่านมาถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นที่ตั้งของกรมการรักษาดินแดน และมีการตกลงกันแล้วว่าจะไม่ยิงต่อสู้กัน สถานีวิทยุของกรมการรักษาดินแดนก็จะไม่ออกกระจายเสียงช่วยรัฐบาล

แต่ น.ต.มนัสเห็นปืนกลหนักเล็งมาที่ ร.ล.ศรีอยุธยา จึงสั่งปืน ๗๕ มม.กราบซ้ายระดมยิงไปที่ห้องส่งกระจายเสียงซึ่งอยู่ที่ปีกขวาของตึกโดม แต่ยิงได้แค่ ๔-๕ นัดก็หมดมุมยิง เพราะมี ร.ล.สัตกูดซึ่งจอดผูกทุ่นบังอยู่

ทหารกรมการรักษาดินแดนได้ใช้ปืนกลหนักยิงตอบโต้ ร.ล.ศรีอยุธยาอย่างหนัก ทหารประจำ ร.ล.สัตกูดจึงได้วิ่งไปที่ปืนใหญ่ขนาด ๗๕ มม. บรรจุกระสุนเข้าลำกล้องแล้วเล็งไปที่ปืนกลหนัก ๒ นัดซ้อน อาวุธของกรมการรักษาดินแดนจึงเงียบสนิท

ร.ล.ศรีอยุธยาซึ่งวิ่งขึ้นล่องไปมาด้วยเครื่องจักรเพียงข้างเดียว การกลับลำก็ลำบากเพราะเกรงจะไปฟาดบ้านเรือนริมแม่น้ำ ต้องใช้เรือเปิดหัวและทิ้งสมอช่วย ประมาณ ๙ นาฬิกา เมื่อมากลับลำอีกครั้งที่หน้าพระราชวังเดิม

พอกลับลำได้เครื่องจักรด้านขวาซึ่งทำงานอยู่เครื่องเดียวก็หยุดอีก ต้นกลรายงานว่าลูกเบี้ยวเครื่องจักรแตก ต้องใช้เวลาซ่อมเป็นวัน ร.ล.ศรีอยุธยาจึงหมดสภาพ ต้องจอดทอดสมอเป็นเป้านิ่งอยู่ตรงนั้น

เครื่องบิน เอที. ๖ ลำหนึ่งบินมาสังเกตการณ์เห็นว่า ร.ล.ศรีอยุธยาเป็นเป้านิ่งแล้ว จึงดิ่งเข้าปลดระเบิดใส่ แต่พลาดเป้าเลยไปตกในสวน จากนั้นทหารบกก็ระดมยิงระเบิดเข้าใส่ ร.ล.ศรีอยุธยา

น.ต.มนัสต้องใช้วิธีหักหางเสือเอากระแสน้ำที่ไหลแรงช่วยส่ายเรือหลบไปมา แต่ก็ไม่พ้นโดนระเบิดไปหลายลูกจนเกิดเพลิงไม้ที่ดาดฟ้า ต้องช่วยกันดับอย่างโกลาหล

น.ต.มนัสพยายามมองหาที่ตั้งยิงระเบิดของทหารบก ก็เห็นกองอิฐใหญ่ที่ปากคลองตลาดมีฝุ่นฟุ้งขึ้นมาทุกทีที่มีการยิง จึงสั่งปืนกราบขวาขนาด ๗๕ มม. เล็งไปที่กองอิฐนั้น ยิงไปได้ ๖ นัดก็ไม่มีระเบิดยิงมาอีกเลย

กระนั้นสถานการณ์ของคณะกู้ชาติก็ทรุดหนัก กองสัญญาณทหารเรือที่ไม่มีปืนต่อสู้อากาศยาน ถูกเครื่องบินถล่มด้วยระเบิดจนแตกไปแล้ว คลังเชื้อเพลิงของกองทัพเรือข้างวัดอรุณราชวรารามก็ระเบิดไฟลุกโชติช่วงด้วยระเบิดจากเครื่องบินเช่นกัน

โรงเก็บรถยนต์ของกองบังคับการเรือรบพังเป็นจุล เอที. ๖ ยังถล่มระเบิดอย่างต่อเนื่อง แต่ ร.ล.ศรีอยุธยาประคองตัวอยู่ได้ด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน

ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทหารบกและตำรวจเสริมกำลังเข้ายึดตลอดแนว จนทหารเรือที่ท่าราชวรดิฐต้านไม่ไหว เพราะบางคนก็ไม่เหลือกระสุนจะยิงแล้ว จึงได้รับคำสั่งให้ถอนตัว

ทหารบางส่วนตัดสินใจว่ายน้ำข้ามฟาก จึงถูกยิงมาจากบนกำแพงพระราชวังอย่างกับเกมกีฬาล่าสัตว์ หลายคนต้องทิ้งชีวิตอยู่กลางน้ำ บางคนก็ถอดเสื้อลัดเลาะเขื่อนไปทางท่าช้าง และได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนรอดชีวิตไปได้

ถึงตอนนี้ฝ่าย “คณะกู้ชาติ” ดูจะสิ้นหนทางชนะแล้ว ร.ท.ชุบ จารุเหตุ สรั่งปืน ร.ล.ศรีอยุธยาจึงเจรจากับ น.อ.อานนท์และ น.ต.มนัส ขอให้นำกลุ่มก่อการถอนตัวออกไปต่างประเทศเสีย และขอตัวจอมพล ป.ไว้เป็นเกราะคุ้มครองให้ทหารผู้น้อยพ้นความผิด

น.อ.อานนท์และ น.ต.มนัสยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ ขอดูสถานการณ์อีกซักระยะ จนกระทั่งอีก ๑ ชั่วโมงต่อมา ร.ท.ชุบก็ขอร้องอีก น.ต.อานนท์ และ น.ต.มนัสเห็นว่าไม่สามารถแก้สถานการณ์ได้แล้ว จึงยอมลงเรือโบ๊ตกรรเชียงเข้าฝั่ง แต่ก็ถูกระดมยิงด้วยปืนเล็กมาจากฝั่งพระนคร จนพลกรรเชียงตายคาที่ ๑ คน ทั้งหมดจึงต้องลงน้ำเอาเรือบังว่ายขึ้นฝั่ง

แม้ฝ่ายกบฏจะสิ้นฤทธิ์หลบหนีไปแล้ว ราว ๑๕ น.ของวันนั้นเครื่องบินของกองทัพอากาศที่มีพลอากาศเอกฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี อดีตนายทหารคนสนิทจอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการ ก็นำระเบิดไปบอมบ์ใส่ ร.ล.ศรีอยุธยา

จนเกิดเพลิงลุกไหม้ลามไปถึงลูกปืนที่กองไว้หน้าห้องพักนายพล เคราะห์ดีที่ทหารเรือกลุ่มหนึ่งได้พาจอมพล ป.หลบลงน้ำได้ทันและใส่ชูชีพว่ายขึ้นฝั่ง โดยมี ร.ท.ชอบ ศิริวัฒน์ ว่ายขนาบข้าง

การปราบปรามกบฏอย่างรุนแรงถึงขั้นทิ้งระเบิดใส่นี้ นอกจากจะทำให้ ร.ล.ศรีอยุธยาซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมเป็นผู้ตั้งงบประมาณซื้อมาเองเมื่อปี ๒๔๘๑

และยังเป็นเรือพระที่นั่ง รับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ กับพระคู่หมั้น จากป้อมพระจุลฯมาสู่ท่าราชวรดิฐในคราวเสด็จกลับพระนครเมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๔๙๓ ก่อนหน้าเหตุการณ์ครั้งนี้เพียงปีเศษ

จมลงแบบไม่สามารถกู้ขึ้นมาได้ ต้องตัดเป็นเศษเหล็กขึ้นมา แล้วยังทำให้เสียชีวิตทหารบก ๑๗ คนทหารเรือ ๔๓ คน ตำรวจ ๙ คน พลเรือน ๑๑๘ คน และบาดเจ็บรวมกว่า ๕๐๐ คน

ลูกหลงทำให้ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวตายมากกว่าคนที่รบกันเหมือนทุกครั้ง

ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้ทหารเรือถูกจับ ๑,๐๐๐ กว่าคน กองทัพเรือถูกลดทอนอำนาจมากมายทั้งด้านกำลังพลและอาวุธ หลายหน่วยงานถูกยึดไปขึ้นกับกองทัพบกและกองทัพอากาศ เช่นกองบินนาวี

แม้สถานที่อย่างกองสัญญาณทหารเรือ ก็ถูกยึดไปเป็นของทหารบก และเป็น ร.ร.เตรียมทหารในเวลาต่อมา เขตอิทธิพลของทหารเรือในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ถูกกองทัพบกเข้าแทนที่ ไล่ทหารเรือให้ปฏิบัติการทางทะเลเท่านั้น

ส่วนกองทัพอากาศได้รับความดีความชอบในฐานะผู้เผด็จศึก เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมือง ได้รับการสนับสนุนให้ตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศขึ้นเองในปี ๒๔๙๖ ไม่ต้องรับบุคลากรจากกองทัพบกอีกต่อไป

ความพ่ายแพ้ของการก่อกบฏในครั้งนี้ เนื่องจากความผิดพลาดในการประเมินสถานการณ์ อ่านการเมืองไม่ทะลุ คิดว่าจอมพล ป.เป็นหัวใจองคณะรัฐประหารที่ครองอำนาจอยู่ เมื่อจับจอมพล ป.ไว้ได้คณะรัฐประหารต้องยอมจำนนแต่โดยดี

แต่ปรากฏว่าคาดผิดถนัด ฝ่ายรัฐประหารไม่มีใครแยแสชีวิตจอมพล ป. แม้รู้ว่าถูกจับขังอยู่ใน ร.ล.ศรีอยุธยา ก็ยังเอาระเบิดไปบอมบ์ใส่จนเรือจม ทั้งนี้ก็เพราะในช่วงเวลานั้น ฐานอำนาจทางทหารของจอมพล ป.เกือบไม่เหลือแล้ว

มีแต่ภาพของความเป็นผู้นำที่ยังไม่มีใครบังอาจทาบรัศมีได้ อำนาจอันแท้จริงกลับอยู่ในมือของเสือ ๒ ตัว คือ พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีตำรวจ ที่จอมพล ป.ยังครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ได้ ก็เพราะการคานอำนาจของเสือ ๒ ตัวนี้

ส่วนดีของ “กบฏแมนฮัตตัน” และการบอมบ์ใส่ ร.ล.ศรียอุธยา ก็คือ ทำให้จอมพล ป. ได้คิดว่า สิ่งที่จะค้ำบัลลังก์ของตัวได้ต่อไปนั้น ไม่ใช่คณะรัฐประหารเสียแล้ว แต่จะต้องเป็น...ประชาชน

การเดินทางในถนนการเมืองสายใหม่ของจอมพล ป.พิบูลสงครามหลัง “กบฏแมนฮัตตัน” จึงมุ่งเข้าหาประชาชน

นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งคนในยุคนี้คงคาดกันไม่ถึงว่า เมื่อ ๖๖ ปีก่อน เขาชิงอำนาจกันดุเด็ดเผ็ดมันถึงเพียงนี้






น.ต.มนัส จารุภา (ซ้ายสุดในภาพ) ถือปืนวิ่งไปที่เรือขุด





ร.ล.ศรีอยุธยาในวันที่ยังประจำการ




ขอบคุณ MGR Online
คุณโรม บุนนาค




 

Create Date : 10 เมษายน 2560
0 comments
Last Update : 10 เมษายน 2560 7:56:31 น.
Counter : 1196 Pageviews.


Letalia
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Letalia's blog to your web]