<<
พฤษภาคม 2560
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
22 พฤษภาคม 2560

จากเจ้าเมืองมอญมาเป็นเจ้าพระยาไทย! ที่มาของมอญปั้นหม้อและอาหารตำรับชาววังที่เกาะเกร็ด!!



 โดย โรม บุนนาค


จากเจ้าเมืองมอญมาเป็นเจ้าพระยาไทย! ที่มาของมอญปั้นหม้อและอาหารตำรับชาววังที่เกาะเกร็ด!!
เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง)


มอญกับไทยนั้น ถือได้ว่ามีสายสัมพันธ์ที่แนบชิดสนิทยิ่ง รวมกันได้เป็นเนื้อเดียว เนื่องจากมีวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม เกี่ยวเนื่องด้วยพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

       แต่โบราณกาล มีชาวมอญเข้ามารับราชการไทยตลอดทุกยุคสมัย ฝังรกรากจนเป็นต้นตระกูลใหญ่ของไทยหลายตระกูล อย่างเช่น คชเสนี รามัญวงศ์ ที่มีเชื้อสายอยู่ในราชนิกุลก็มี อย่าง กฤดากร

       พงศาวดารบันทึกความเกี่ยวพันระหว่างมอญกับไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยมอญน้อยนาม มะกะโท เข้ามารับราชการกับพ่อขุนรามคำแหง แล้วพาพระราชธิดาหนีไปตั้งตัวเป็นกษัตริย์ในเมืองเมาะตะมะ ซึ่งต่อมาพ่อขุนรามคำแหงได้พระราชทานนามให้ว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว

       พระราชธิดาองค์หนึ่งในสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็ได้สมรสกับพระยาราม ขุนนางเชื้อสายมอญที่อพยพเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร มีธิดาที่ปรากฏชื่อเป็นที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์ก็คือ “หม่อมบัว” ซึ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระองค์เจ้ากรมพระเทพามาตย์ และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังออกบวชที่วัดดุสิตจึงเรียกกันว่า “เจ้าแม่วัดดุสิต”

       กรมพระเทพามาตย์สมรสกับหม่อมเจ้าเจิดอำไพ มีบุตรธิดา ๓ คนคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) แม่ทัพเอกของสมเด็จพระนารายณ์ คนที่สองคือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ราชทูตที่สมเด็จพระนารายณ์ส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส

ซึ่งโกษาปานได้สืบเชื้อสายต่อมาจนเกี่ยวพันมาถึงราชวงศ์จักรี ส่วนธิดาคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมของสมเด็จพระนารายณ์

คราวที่มีชาวมอญอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในเมืองไทยมาก ก็คือครั้งที่ พระยาเจ่ง เจ้าเมืองเตริน นำเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี

       เมื่อพม่าเข้าครอบครองเมืองมอญ พระยาเจ่งจำใจต้องเป็นขุนนางพม่า ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๕ สมัยกรุงธนบุรี พม่ายกทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง พระยาเจ่งถูกเกณฑ์ให้นำทหารมอญสมทบไปกับพม่า เมื่อได้รับชัยชนะพม่าจึงให้เป็นเจ้าเมืองเชียงแสน

       อยู่เชียงแสนได้ ๑ ปีก็ถูกย้ายมาเป็นเจ้าเมืองเตริน ซึ่งอยู่ระหว่างเมืองเมาะตะมะกับด่านเจดีย์สามองค์ ครั้นเมื่อพระเจ้าอังวะมังระจะเข้าตีกรุงธนบุรี ได้จัดกองทัพหนึ่งมาทางด่านเจดีย์สามองค์

ปะกันหวุ่น แม่ทัพซึ่งตั้งหลักอยู่ที่เมาะตะมะมอบให้ แพกิจา นำทหารพม่า ๕๐๐ คนกับทหารมอญ ๓,๐๐๐ คน ทำทางเข้ามาตั้งยุ้งฉางเตรียมไว้ที่ตำบลสามสบและท่าดินแดงในเขตไทย มีพระยามอญ ๔ คนคุมฝ่ายมอญมา คือพระยาเจ่ง พระยาอู่ ตละเชียง และตละเกล็บ

       ขณะที่มอญกำลังทำงานกันอยู่ในเขตไทยนี้ ปะกันหวุ่นก็ให้เกณฑ์มอญขึ้นอีก ๑ กองที่เมืองเตริน แต่พวกมอญไม่เต็มใจจะร่วมกับพม่าพากันหนีทัพ พม่าจึงจับครอบครัวมอญเป็นตัวประกัน ทำให้ญาติพี่น้องของพวกมอญที่กำลังทำงานอยู่ในเขตไทยถูกจับไปด้วย

เมื่อมีผู้แอบนำข่าวนี้มาบอกที่ท่าดินแดง พวกมอญพากันโกรธแค้นและคบคิดกันจับแพกิจากับทหารพม่าฆ่าทั้งหมด จากนั้นก็รวมกำลังกันกลับเข้าตีเมืองเมาะตะมะ โดยให้พระยาเจ่งเป็นหัวหน้า

       กองทัพมอญลอบเข้าตีเมืองเมาะตะมะในเวลากลางคืน พากันโห่ร้องให้เหมือนทหารไทย พม่านึกว่าถูกกองทัพไทยเข้าตีโดยไม่ทันตั้งตัว จึงตกใจพากันหนีไม่คิดสู้ พระยาเจ่งยึดเมืองเมาะตะมะได้ แล้วรุกตีเมืองสะโตงกับหงสาวดีได้อีก ๒ เมือง

       ในขณะที่เข้าตีย่างกุ้งหวังจะกอบกู้อิสรภาพตั้งประเทศมอญขึ้นใหม่ พระเจ้าอังวะก็ส่งอะแซหวุ่นกี้นำทัพใหญ่มาปราบ พระยาเจ่งสู้ทัพใหญ่ของพม่าไม่ได้จึงพามอญราว ๑๐,๐๐๐ คนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระเจ้ากรุงธนบุรีใน พ.ศ. ๒๓๑๘

พระเจ้าตากสินโปรดให้กองทัพไทยออกไปรับครัวมอญถึงชายแดน มิให้พม่าตามเข้ามาตีได้ พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงเมืองนนทบุรี ตั้งแต่ปากเกร็ดไปจนถึงสามโคก

ทรงตั้งข้าราชมอญเก่าคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นหลวงบำเรอภักดีในสมัยกรุงศรีอยุธยา ให้เป็นพระยารามัญวงศ์ ควบคุมดูแลมอญที่เข้ามาใหม่นี้

ตั้งแต่นั้นมา เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทำสงครามกับพม่าครั้งใด ก็จะมีทหารมอญในความควบคุมของพระยารามัญวงศ์ สมทบไปกับกองทัพไทยด้วยทุกครั้ง และมีความดีความชอบมาก ในคราวที่พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จไปทำศึกกับอะแซหวุ่นกี้ที่เมืองเหนือ

ทรงทราบว่าอะแซหวุ่นกี้ให้ทหารพม่ากองหนึ่งแยกจากเมืองสุโขทัยมาเมืองกำแพงเพชร เพื่อจะตีตัดทางลำเลียงยุทธภัณฑ์และเสบียงที่จะส่งกองทัพหลวง จึงให้พระยาเจ่งคุมกองมอญสมทบกับชาวเมืองชัยนาท ยกไปซุ่มสกัดทหารพม่ากองนั้นที่เมืองกำแพงเพชร และเข้าโจมตีโดยพม่าไม่รู้ตัว จนต้องแตกพ่ายหนีไป

ในพิธีสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้น พระยาเจ่งรามัญได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น พระยามหาโยธา ว่ากองมอญทั้งสิ้น และต่อมามีความดีความชอบในสงคราม ๙ ทัพ กับตามเสด็จไปตีเมืองทวาย จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็น เจ้าพระยามหาโยธา

       เมื่อพระยาเจ่งอยู่เมืองไทยมาได้ ๒๒ ปี มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยาแล้ว ก็มีเรื่องตลกเกิดขึ้น คือในปี พ.ศ.๒๓๔๐ เจ้าเมืองเมาะตะมะได้มีหนังสือมาถึงไทย โดยใช้วิธีปักไว้ตามชายแดนทั่วไป ให้ไทยส่งตัวพระเจ่ง พระยาทะวาย พระยาเชียงใหม่กลับไป โดยอ้างว่าคนเหล่านี้เป็นข้าเก่าของพม่า มิฉะนั้นอังกฤษจะเข้าตีไทยโดยรบถวายพระเจ้าปะดุง

       กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงวินิจฉัยหนังสือฉบับนี้ของพม่าว่า เนื่องจากขณะนั้นกองมอญของเจ้าพระยามหาโยธา รับหน้าที่เป็นกรมอาทมาต สำหรับสืบข่าวในพม่า ทั้งเจ้าพระยามหาโยธาและพรรคพวกต่างก็ยังมีญาติพี่น้องอยู่ในเมืองมอญฝ่ายใต้มาก

ฉะนั้นไม่ว่าพม่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรฝ่ายไทยรู้หมด พม่าจึงอึดอัดเรื่องนี้มาก ประกอบกับขณะนั้นมีกบฏยะไข่หนีพม่าเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองจิตตะกองอันเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในอินเดีย พม่ายกทัพตามเข้าไปยื่นคำขาดให้อังกฤษส่งตัว ๓ กบฏยะไข่ให้

ขณะนั้นอังกฤษมีทหารรักษาเมืองอยู่เพียงหมวดเดียว เห็นว่าสู้พม่าไม่ได้แน่ จึงยอมส่งตัวกบฏยะไข่ให้ ทำให้พม่าได้ใจคิดว่าไทยจะกลัวแบบอังกฤษ แต่ปรากฏว่าฝ่ายไทยไม่แยแสหนังสือของพม่า

       ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๕๗ สมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองพระประแดง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านมาตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจ พระราชทานนามว่า นครเขื่อนขันธ์

เพื่อให้เป็นเมืองหน้าด่านทางทะเล โปรดให้แบ่งชายฉกรรจ์พรรคพวกพระยาเจ่ง ๓๐๐ คน ยกครอบครัวมาอยู่ที่เมืองใหม่ ตั้ง สมิงทอมา บุตรพระยาเจ่งเป็น พระยาเขื่อนขันธ์ ไปรักษาเมือง

เจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) มีบุตร ๕ คน ธิดา ๑ คน

       คนที่ ๑ เป็นชาย ชื่อ ตะโดด (พ่อน้อย) เกิดที่เมืองมอญ ตามบิดาเข้ามาอยู่เมืองไทย ได้เป็น พระยาเกียรติ

       คนที่ ๒ ชื่อ เจ้าชมภู เกิดที่เมืองเชียงแสน จากมารดาที่เป็นเจ้าหญิงลำปาง สืบตระกูลคชเสนีฝ่ายมณฑลพายัพสืบมา

       คนที่ ๓ ชื่อ ทอเรียะ (ทองชื่น) เกิดในเมืองมอญ ได้สืบบรรดาศักดิ์เจ้าพระยามหาโยธาแทนบิดา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ มาจนรัชกาลที่ ๔ เป็นผู้ที่รัชกาลที่ ๓ โปรดให้เป็นแม่ทัพยกไปช่วยอังกฤษตีพม่าด้านเมืองมอญ

ตอนนั้นอังกฤษคิดจะรวมเมืองมอญขึ้นเป็นประเทศรามัญ แต่ไม่ต้องการปกครอง ขอเพียงผูกขาดการค้าเท่านั้น แต่หาตัวผู้ครองเมืองไม่ได้ เพราะเชื้อสายของพระเจ้าหงสาวดีหมดรุ่นแล้ว อังกฤษให้สืบหาตัวผู้ที่คนมอญรักนับถือที่สุด

ปรากฏว่าคนในเมืองมอญนิยมเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) มากกว่าใคร จึงทาบทามให้ไปปกครองเมืองมอญที่อังกฤษจะตั้งขึ้น แต่เจ้าพระยาทอเรียะปฎิเสธว่าเป็นคนไทยแล้ว ต้องการจะอยู่เมืองไทยมากกว่า

       บุตรของพระยาเจ่งคนที่ ๔ ชื่อ ทอมา (ทองมา) เกิดที่เมืองธนบุรี ได้เป็นพระยานครเขื่อนขันธ์ในรัชกาลที่ ๒

       บุตรคนที่ ๕ ชื่อ วัน เกิดที่กรุงธนบุรี ได้เป็นพระยาราม นายกองมอญในรัชกาลที่ ๓
       คนที่ ๖ เป็นธิดา ชื่อ ทับทิม

       เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) เป็นที่โปรดปรานสนิทสนมของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ อยู่ไม่น้อย เพราะเคยกรำศึกด้วยกันมาก่อนจะขึ้นครองราชย์ ครั้งหนึ่งตรัสประภาษหยอกเจ้าพระยาผู้กำเนิดมาแต่เมืองมอญว่า

       “คำที่เขาพูดกันว่า ช่างอยู่กับจีน ศีลอยู่กับไทย จังไรอยู่กับมอญ นั้นจริงหรืออย่างไร”

       เจ้าพระยามหาโยธาก็กราบทูลสนองในทันทีว่า

       “คำที่ว่านั้นไม่ถูกพ่ะย่ะค่ะ คำที่ถูกนั้นคือ ช่างอยู่กับจีน ศีลอยู่กับไทย จังไรอยู่กับพม่า ปัญญาอยู่กับมอญ ดังนี้”

       พระเจ้าอยู่หัวและข้าราชบริพารที่ฟังอยู่ต่างก็ชมว่า ปัญญาอยู่กับมอญอย่างเจ้าพระยามหาโยธาจริงๆ

       บุตรของเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) คนหนึ่งเป็นชาย ชื่อ จุ้ย ได้เป็น พระยาดำรงราชพลขันธ์ และเป็นบิดาของ เจ้าจอมซ่อนกลิ่น ซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเศวรฤทธิ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔ ต้นตระกูล กฤดากร และเป็นพระอนุชาที่เป็นกำลังสำคัญในรัชกาลที่ ๕

       เมื่อกรมพระนเรศวรฤทธิ์ประสูติในปี พ.ศ.๒๓๙๘ เจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) ผู้เกิดในเมืองมอญ ชื่นชมโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ที่มามีเหลนเป็นพระราชโอรส ถึงกับทำหนังสือมอบบ้านเรือนที่อยู่ของตน ถวายเป็นของขวัญสมโภชกรมพระนเรศฯ ตั้งแต่ประสูติ

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ได้โปรดให้สร้างวังหลังใหม่ถวายกรมพระนเรศฯในที่ดินนี้ ซึ่งก็คือ “บ้านมะลิวัลย์” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถนนพระอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่ทำการขององค์การ เอฟเอโอ. แห่งสหประชาชาติในปัจจุบัน

       เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินามสกุลในรัชกาลที่ ๖ พระยาพิพิธมนตรี (ปุย) ผู้สืบสกุลมาจากพระยาเจ่ง ได้ขอพระราชทานนามสกุล ทรงพระราชทานนามสกุลให้ทายาทเจ้าพระยามหาโยธา (เจย หรือ เจ่ง ซึ่งแปลว่าช้าง) ว่า “คชเสนี”

       มอญเป็นชาติที่เคยมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดชาติหนึ่งในเอเชียอาคเนย์ แต่มีวิถีชีวิตที่รักสงบ จึงถูกพม่ารุกรานจนยึดประเทศไปหมด เมื่ออพยพมาอยู่เมืองไทย คนมอญก็ได้นำศิลปวัฒนธรรมองตนมาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมไทย

สิ่งหนึ่งที่คนมอญมีฝีมือมาแต่โบราณกาลก็คือเครื่องปั้นดินเผา จึงได้นำมาทำเป็นอาชีพ ย่านเกาะเกร็ดและสามโคกจึงเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียง ได้รับความนิยมว่าคุณภาพดีและงดงาม

แม้ทุกวันนี้จะมีสินค้าอุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่ การผลิตโอ่งไห อ่างดิน ต้องเลิกราไป แต่เครื่องปั้นดินเผาประเภทสวยงามที่สลักลวดลายวิจิตร ยังได้รับความนิยมนำไปใช้เป็นเครื่องประดับทั้งบนบ้านและในสวน ส่วนโอ่งไหดินในสมัยเก่าที่ยังหลงเหลืออยู่ กลับเป็นของมีค่ามีราคาขึ้นมาอีกในฐานะเป็นของเก่า

       ปัจจุบันที่เกาะเกร็ดซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม ได้มีการอนุรักษ์งานศิลปะเครื่องปั้นดินเผานี้ไว้ และพัฒนารูปแบบให้เข้ายุคสมัยยิ่งขึ้น

       มีสิ่งที่น่าแปลกใจอีกอย่างของเกาะเกร็ดก็คือ เรื่องอาหาร ซึ่งนอกจากจะมีอาหารตามตำรับดั้งเดิมของมอญ อย่างแกงกล้วยดิบ แกงส้มมะตาด แกงเขียวหวานคอมะพร้าว ทอดมันหน่อกะลา แกงลูกโยนผักบุ้งใบมะขามอ่อน และข้าวแช่แล้ว ยังปรากฏว่าที่นี่มีฝีมือในเรื่องอาหารคาวหวานตำรับชาววังมาก

       เมื่อย้อนรอยอดีตไปจึงรู้ว่า เกาะเกร็ดเป็นจุดแวะพักของเจ้านายสมัยก่อนที่เสด็จไปพระราชวังบางปะอิน จะแวะทำอาหารระหว่างทางที่เกาะเกร็ด อีกทั้งใน พ.ศ. ๒๔๑๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดกฐิน ณ วัดปรมัยยิกาวาส

ซึ่งตอนนั้นยังมีชื่อว่า วัดปากอ่าว ทรงเห็นว่าพระอารามนี้ซึ่งเป็นวัดรามัญมาแต่โบราณมีสภาพทรุดโทรม จึงทรงมีพระราชศรัทธาบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อสนองคุณ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ผู้ทรงอภิบาลเลี้ยงดูพระราชมารดาและพระองค์เองมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์

โปรดให้รื้อพระอุโบสถที่ทรุดโทรมออกทั้งหมดแล้วสร้างใหม่ สร้างกุฏิสงฆ์ หอฉัน หอไตร ปฏิสังขรณ์วิหารพุทธไสยาสน์ พระบุษบก ซึ่งทำให้พระบุษบกของวัดนี้ดูแปลกตา เพราะเป็นศิลปะมอญผสมศิลปะไทย

และทูลให้พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรสละพระราชทรัพย์เพื่อสร้างพระไตรปิฎกอักษรรามัญ พระไตรปิฎกของวัดปรมัยฯ จึงเป็นพระไตรปิฎกอักษรรามัญฉบับหลวงฉบับเดียวในประเทศไทย และเป็นฉบับที่สมบูรณ์ครบถ้วนที่สุดด้วย

       การบูรณปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าวใช้เวลาถึง ๑๐ ปีจึงลุล่วงตามพระราชประสงค์ ระหว่างนั้นสมเด็จพระปิยมหาราชซึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พระราชวังบางปะอินเป็นประจำ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลหลายครั้ง

มีการทำอาหารเลี้ยงพระและผู้ร่วมงาน โดยมีชาวเกาะเกร็ดมาช่วยเป็นลูกมือแม่ครัวชาววัง ฝีมือทำอาหารคาวหวานตำรับชาววังจึงได้ถ่ายทอดจากแม่ครัวชาววังไปสู่ชาวเกาะเกร็ดที่มาช่วยงาน บ่อยครั้งก็เกิดความชำนาญ และถ่ายทอดต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้

เช่นเดียวกับที่ชาวเพชรบุรีก็มีฝีมือในเรื่องอาหารคาวหวานตำรับชาววังเช่นกัน เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับเป็นประจำที่พระนครคีรี บนเขาวัง ซึ่งเป็นพระราชวังตากอากาศแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์

       เมื่อการปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าวสำเร็จลุล่วง จึงเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชกุศล และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า วัดปรมัยยิกาวาส ซึ่งมาจาก บรม + อัยยิกา + อาวาส แปลว่า วัดของยาย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร

       การย้อนรอยอดีต ศึกษาเรื่องราวในสมัยเก่า จะทำให้เราเข้าใจปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น




จากเจ้าเมืองมอญมาเป็นเจ้าพระยาไทย! ที่มาของมอญปั้นหม้อและอาหารตำรับชาววังที่เกาะเกร็ด!!
พระเจดีย์เอียงหัวเกาะ ของวัดปรมัยยิกาวาส


จากเจ้าเมืองมอญมาเป็นเจ้าพระยาไทย! ที่มาของมอญปั้นหม้อและอาหารตำรับชาววังที่เกาะเกร็ด!!
ส่วนนึ่งของเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด


ขอบคุณ MGR Online - คุณโรม บุนนาค




Create Date : 22 พฤษภาคม 2560
Last Update : 22 พฤษภาคม 2560 11:19:03 น. 0 comments
Counter : 2102 Pageviews.  

Letalia
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




[Add Letalia's blog to your web]