อาการโรคหัวใจ
ความเป็นจริงแล้วคำว่า โรคหัวใจ มีความหมายกว้างมาก อาการที่เกิดจากโรคหัวใจ หรือสัมพันธ์กับหัวใจนั้น มีไม่มากนัก ดังอาการข้างล่างนี้ แต่อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าว ก็มิได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจเท่านั้น ยังมีโรคอื่นๆ ที่ให้อาการคล้ายกัน ดังนั้น การที่แพทย์จะพิจารณาให้การวินิจฉัยนั้น จำเป็นต้องอาศัยประวัติอาการโดยละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย บางครั้งต้องอาศัยการตรวจพิเศษต่างๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ เป็นต้น เพื่อแยกโรคต่างๆ ที่มีอาการคล้ายกัน

เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ใจสั่น ขาบวม เป็นลม วูบ

มาดูอาการแรกอากราเจ็บหน้าอก

อวัยวะที่อยู่ในทรวงอก นอกจากหัวใจแล้ว ยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เต้านม กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก เมื่อมีการอักเสบ หรือพยาธิสภาพของอวัยวะเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกได้ทั้งสิ้น แต่ลักษณะอาการอาจแตกต่างกัน


อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด


1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอก อาจจะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไป ที่แขนซ้าย หรือ ทั้งสองข้าง หรือ จุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
2. อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห อาการดังกล่าวจะดีขึ้น เมื่อหยุดออกกำลัง
3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร
4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เหงื่อออกมาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริ ฉีก)

อาการต่อไปนี้ไม่เหมือนอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด

1. เจ็บแหลมๆ คล้ายเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก
2. อาการเจ็บเกิดขึ้นในขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน
3. อาการมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า หรือ ขยับตัว หรือ หายใจเข้าลึกๆ
4. อาการเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า

อาการตามข้อ 1,2 และ 3 อาจเกิดจากกระดูก กล้ามเนื้อหน้าอก เยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด นอกจากอาการเจ็บหน้าอกแล้ว ต้องอาศัยประวัติอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนั้น ในผู้ป่วยบางรายที่อาการไม่เหมือนนัก แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ ก็ควรได้รับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมด้วย

หอบ เหนื่อยง่าย

อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง (ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) แม้แต่ความวิตกกังวล หรือ โรคแพนิค ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือ นั่งหลับ

คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วย อาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ

อาการเหนื่อยแบบหมดแรง มือเท้าเย็นชา พูดก็เหนื่อย (โดยอัตราการหายใจปกติ) เหล่านี้มักจะไม่ใช่อาการเหนื่อยจากโรคหัวใจ

ใจสั่น

ใจสั่นในความหมายแพทย์ หมายถึง การที่หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผิดจังหวะ หรือ เต้นไม่สม่ำเสมอ เต้นๆ หยุดๆ อาการดังกล่าวอาจพบได้ในคนปกติ โรคหัวใจ และโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อหัวใจ เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคปอด แพทย์จะซักประวัติละเอียด ถึงลักษณะของ อาการใจสั่น เพื่อให้แน่ใจว่า เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยรู้สึก ใจสั่น โดยหัวใจเต้นปกติ

การตรวจวินิจฉัยกลุ่มอาการใจสั่น เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการชั่วขณะ เมื่อมาพบแพทย์อาการดังกล่าว ก็หายไปแล้ว แพทย์จึงไม่สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่า เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ ดังนั้น ท่านควรศึกษาวิธีจับชีพจรตัวเอง เมื่อเกิดอาการ ว่าหัวใจเต้นกี่ครั้งในเวลา 1 นาที และสม่ำเสมอหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยให้แพทย์ให้การวินิจฉัยได้รวดเร็วขึ้น

ขาบวม

อาการขาบวม เกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือ (โซเดียม) และน้ำคั่งอยู่ในร่างกาย โดยอาจเกิดจากโรคไต (ขับเกลือไม่ได้) โรคหลอดเลือดดำอุดตัน (การไหลเวียนไม่สะดวก) ขาดอาหาร โปรตีนในเลือดต่ำ โรคตับ ยาและฮอร์โมนบางชนิด โรคหัวใจ หรือ ในบางราย ไม่พบสาเหตุ (idiopathic edema) การบวมในผู้ป่วยโรคหัวใจ เกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง เลือดจากขาไม่สามารถ ไหลเทเข้าหัวใจด้านขวาได้โดยสะดวก จึงมีเลือดค้างอยู่ที่ขามากขึ้น โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง ก็ให้อาการเช่นนี้ได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีอาการขาบวม แพทย์จำเป็นต้องตรวจหลายระบบ เพื่อหาสาเหตุ จึงให้การรักษาได้ถูกต้อง

เป็นลม วูบ

คำว่า "วูบ" นี้ เป็นปัญหาในการซักประวัติอย่างมาก เนื่องจากในภาษาไทยคำนี้มีความหมายต่างๆ กัน แต่ในความหมายของแพทย์แล้ว จะตรงกับภาษาอังกฤษว่า syncope หมายถึง การหมดสติ หรือ เกือบหมดสติ ชั่วขณะ โดยอาจรู้สึกหน้ามืด จะเป็นลม ตาลาย มองไม่เห็นภาพชัดเจน โดยอาการเป็นอยู่ชั่วขณะ ไม่รวมถึงอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน โคลงเครง วูบวาบตามตัว หายใจไม่ออก อาการดังกล่าวอาจเกิดจาก ความผิดปกติของสมอง เช่น ลมชัก (แม้จะไม่ชักให้เห็น) เลือดออกในสมอง ความผิดปกติของหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรง หรือหยุดเต้นชั่วขณะ หรือ ความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมหัวใจ นอกจากนั้นแล้ว "วูบ" ยังอาจพบได้ในคนปกติที่ขาดน้ำ เสียเลือด ท้องเสีย ไม่สบาย ขาดการออกกำลังกาย ยาลดความดันโลหิต อีกด้วย

ขจัดสี่วายร้ายให้ไกลตัว

"สี่วายร้าย" ที่กล่าวถึงนี้ คือ ภาวะหรือโรคที่ชอบร่วมก๊วนกันเป็นประจำ ได้แก่ ความอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ ทั้งสี่เป็นภาวะหรือโรคที่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของคนเราได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง

โรคหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี่ เป็นภัยอันดับหนึ่งจากสี่วายร้ายนี้ และกำลังคุกคามคนไทยมากขึ้น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคไต เป็นภัยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปจากโรคหัวใจ ที่น่าวิตกกังวลคือ ภัยเหล่านี้เป็นภัยเงียบ อยู่ในร่างกายของผู้มีสี่วายร้ายอย่างสงบ แต่ทำลายอย่างเลือดเย็น เมื่อเวลาพอเหมาะก็ออกฤทธิ์สำแดงอาการ จนบางครั้งตั้งตัวตั้งใจรับไม่ทัน ทำให้เสียชีวิต ผู้ที่รอดมาได้ก็ต้องเยียวยารักษากันตลอดไป

จริงหรือไม่ที่คนไทยผจญกับ "สี่วายร้าย" เพิ่มขึ้น ข้อมูลที่มีบ่งชี้ว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อาศัยอยู่ในเมือง พบว่าคนอ้วนมีมากขึ้น โรคความดันโลหิตสูง

โรคเบาหวาน และไขมัน ในเลือดผิดปกติก็เพิ่มขึ้น ต้นเหตุของการเพิ่มขึ้นเชื่อว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมือง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินและทำงานออกแรงน้อยลง







ทำไม "สี่วายร้าย" (ความอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ) จึงชอบร่วมก๊วนกัน? จากการศึกษาพบว่า ภาวะทั้งสี่ที่กล่าวถึงนี้ มีสาเหตุทำให้เกิดได้หลายอย่างเหมือนๆ กัน ทั้งพันธุกรรมและปัจจัยภายนอก รายละเอียดของความสัมพันธ์แสดงให้เห็นในแผนภูมิข้างล่าง จะเห็นได้ว่ากลไกร่วมที่สำคัญที่มีผลต่อการเกิดภาวะทั้งสี่คือ "การดื้ออินสุลิน"

ความอ้วนซึ่งที่จริงแล้วควรเรียกว่า "โรคอ้วน" เป็นหมายเลขหนึ่งของสี่วายร้ายนี้ นั่นคือปัจจัยสำคัญที่เชื่อมโยงไปถึงเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ จนในที่สุดเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงอุดตัน ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าสี่วายร้ายนี้ ถ้ามีอยู่หนึ่งก็อาจเพิ่มเป็นสอง สาม และสี่ได้ และไม่จำเป็นต้องอยู่พร้อมกันจึงจะเกิดปัญหา เพียงหนึ่งเดียวหรือหนึ่งปัจจัยก็ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงอุดตันได้ แต่ถ้าเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากหนึ่งเป็นสอง เป็นสาม และเป็นสี่ปัจจัยจะทำให้เกิดโรครวดเร็วขึ้น และรุนแรงได้มากเป็นลำดับ ดังนั้นหากมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งในสี่อย่างนี้ ก็ควรดูแลรักษาและควบคุมให้ได้ อย่างไรก็ตาม ความอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ อาจเกิดขึ้นเดี่ยวๆ จากสาเหตุอื่นได้โดยไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน

ถ้าเรากินอาหารมากเกินไป จนร่างกายใช้พลังงานไม่หมด ร่างกายจะเปลี่ยน "พลังงานที่เหลือใช้" เป็น "พลังงานสะสม" ในรูปของไขมัน เก็บไว้ในเซลล์ไขมัน ตามที่ต่างๆ ดังนั้นเมื่อกินอาหารมากๆ แม้จะไม่กินไขมัน เราจึงมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีไขมันเก็บสะสมในผิวหนังและในร่างกายมากขึ้น ทำให้รูปร่างขยายออกตามแนวนอนกลายเป็นคนอ้วน หรือเรียกว่ามี "โรคอ้วน"

"โรคอ้วน" นอกจากทำให้เกิดเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติแล้ว ยังมีผลร้ายอื่นๆ ต่อสุขภาพด้วย เช่นปวดหลัง ข้อเสื่อม บางคนเป็นโรคเก๊าท์ เนื่องจากมีกรดยูริคสูง คือคนมีนิ่วในถุงน้ำดี คนที่อ้วนมากๆ จะมีปัญหาการหายใจ นอกจากนี้ยังบั่นทอนสุขภาพจิต หรือทำให้เกิดปมด้อย

ดังกล่าวข้างต้น โรคอ้วนเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ มีสาเหตุร่วมที่ทำให้เกิดคือ "ภาวะดื้ออินสุลิน" คนอ้วนมีภาวะดื้ออินสุลินเกิดขึ้นเนื่องจากตันรับอินสุลินบนไขมันมีจำนวนน้อยลง หรือการทำงานของอินสุลินด้อยประสิทธิภาพ สำหรับคนอ้วนที่มีภาวะดื้ออินสุลินจะเป็นอ้วนแบบลงพุง คือมีไขมันสะสมมากภายในช่องท้องและหน้าท้อง โดยสามารถใช้อัตราส่วนของรอบเอวและรอบสะโพก เป็นดัชนีบ่งชี้อ้วนแบบลงพุง โดยในผู้ชายอัตราส่วนของรอบเอวและรอบสะโพกมากกว่า 1.0 และในผุ้หญิงอัตราส่วนของรอบเอวและสะโพกมากกว่า 0.8 บ่งชี้ว่าอ้วนแบบลงพุง ซึ่งคนอ้วนแบบลงพุงจะพบสัมพันธ์กับการมีสหายร่วมก๊วน คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติได้บ่อย คนอ้วนที่มีไขมันมากที่ตะโพกและต้นขา (Gynoid Type of Obesity) จะไม่ค่อยพบความผิดปกติทั้งสามร่วมด้วย

"อินสุลิน" เป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นโดยเบต้าเซลล์ของตับอ่อน นอกจากมีหน้าที่นำน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานแล้ว ยังช่วยในขบวนการควบคุมและเผาผลาญไขมัน รวมทั้งควบคุมการสลายตัวของโปรตีนในร่างกายด้วย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ "การดื้ออินสุลิน" ในคนอ้วนทำให้เกิดสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดผิดปกติ

การเกิดโรคเบาหวานภาวะดื้ออินสุลิน
การเกิดโรคเบาหวานในคนอ้วนมักเกิดขึ้นช้าๆ ในระยะต้น เมื่อเกิดภาวะดื้ออินสุลิน ตับอ่อนจะสังเคราะห์และหลั่งอินสุลินมากขึ้น ถ้าปริมาณอินสุลินที่สูงขึ้นสามารถทำให้การออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อ ที่เซลล์ไขมัน และที่ตับเป้นปกติได้ บุคคลนั้นก็จะมีการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และการครองธาตุอื่นๆ เป็นปกติ ไม่เกิดโรค คือเป็นคนอ้วนที่มีระดับอินสุลินในเลือดสูงเท่านั้น ถ้าปริมาณอินสุลินที่หลั่งมากขึ้น สามารถทำให้การออกฤทธิ์ดีขึ้นเพียงบางส่วน บุคคลนั้นก็จะเป็นคนที่มีการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลน้อยลง เริ่มมีภาวะน้ำตาลในเลือดผิดปกติเล็กน้อย แต่ถ้าอินสุลินที่หลั่งมากขึ้นไม่เพียงพอที่จะออกฤทธิ์ควบคุมระดับน้ำตาลได้ จะเกิดโรคเบาหวาน เมื่อมีการดื้ออินสุลินอยู่นานเข้า ตับอ่อนจะเสื่อมสมรรถภาพไม่สามารถหลั่งอินสุลินชดเชยได้ จึงเกิดโรคเบาหวานที่รุนแรง

การเกิดโรคความดันโลหิตสูงในภาวะดื้ออินสุลิน

ระดับอินสุลินที่สูงกระตุ้นให้มีการดูดกลับของโซเดียมโดยไตมากขึ้น นอกจากนี้ภาวะดื้ออินสุลินยังทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติไวต่อการกระตุ้น และทำให้การหมุนเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงฝอยที่กล้ามเนื้อลดลง ทำให้มีความต้านทานปลายทางเพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือความดันโลหิตสูง

การเกิดไขมันในเลือดผิดปกติในภาวะดื้ออินสุลิน

ความผิดปกติของไขมันที่พบบ่อยในคนอ้วน คือ ระดับไตรกรีเซอไรด์ และ/หรือ ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แต่ระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL-C) ต่ำลง เนื่องจากตับนำกรดไขมันเพิ่มขึ้น และปล่อยเข้ากระแสเลือด นอกจากนี้พบว่าในภาวะดื้ออินสุลินทำให้เอ็นซายม์ ซึ่งย่อยสลายไขมันทำงานลดลงด้วย ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูง และ/หรือ ระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล (HDL-C) ต่ำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงอุดตัน

การป้องกันโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดผิดปกติ

เป็นที่น่ายินดีว่าเราสามารถป้องกัน "สี่สหาย" ก๊วนนี้ได้โดยการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง และปริมาณพอเหมาะกับร่างกายร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติขั้นแรก หรือ ขั้นพื้นฐานของการป้องกัน การศึกษาในคนแถบตะวันตกและประเทศจีน ยืนยันว่า การควบคุมอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอป้องกันโรคเบาหวานได้จริง

เนื่องจากมีพันธุกรรมเป็นปัจจัยพื้นฐานในผู้ป่วยบางราย การป้องกันไม่ให้อ้วนหรือการรักษาโรคอ้วน และการป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสุง และไขมันในเลือดผิดปกติ จึงทำได้ยากและไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี หากเกิดโรคแล้ว การรักษาต้องอาศัยการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายเป็นหลักเช่นกัน เมื่อไม่สามารถควบคุมได้ดีจึงจำเป็นต้องใช้ยา

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก

นพ.ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา
อายุรแพทย์โรคหัวใจ



Create Date : 14 กรกฎาคม 2553
Last Update : 17 กรกฎาคม 2553 12:51:40 น.
Counter : 644 Pageviews.

2 comments
  
ทักทายยามเช้าจ้า อิอิ :)
โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:04:47 น.
  
ดูดี...มีสาระ ( ̄▽ ̄)
โดย: ลูกชิ้น IP: 58.9.189.42 วันที่: 15 กรกฎาคม 2553 เวลา:19:37:06 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

oishi_hub
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




กรกฏาคม 2553

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
15
16
17
18
20
21
22
23
24
25
26
27
29
30
31
 
14 กรกฏาคม 2553
MY VIP Friend