Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
เพลงเพื่อชีวิตยุคหลัง 6 ตุลา 19 (พ.ศ.2520-2524) ตอนที่2

และแน่นอน ในขบวนการแถวดังกล่าวมีการเกิดขึ้นของวงดนตรีเพื่อชีวิตทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย วงที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ วงแฮมเมอร์ และวงฟ้าสาง
ซึ่งลักษณะของวงดนตรีเป็นวงโฟล์คที่เน้นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทสาย แนวดนตรีและเนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่เน้นหนักในการสะท้อนภาพสังคมและชีวิตทั่วๆ ไป โดยเฉพาะภาพความอดอยากยากจนในชนบทภาคอีสาน ซึ่งอาจถือว่าเป็นเนื้อหาหลักที่
วงฟ้าสาง นำเสนอ เช่น เพลงลำเพลินเบิ่งอีสาน อีสานคืนถิ่น อีสานคนยาก เซิ้งสามัคคีอีสาน และนี่แหละชีวิต

อย่างไรก็ดีวงฟ้าสางเองก็ยังคงเป็นวงดนตรีที่แสดงจำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงมหาวิทยาลัยตามงานอภิปรายหรือนิทรรศการต่างๆ เช่น งานนิทรรศการบ้านเรา งานรับเพื่อนใหม่ โดยแสดงประกอบงานนั้นๆ นอกจากนี้ ก็ยังมีวงดนตรีที่เล่นเพลงแนวเพื่อชีวิตหลายวงได้แก่ วงชีวี ซึ่งแนวดนตรีคล้ายๆ กับวงฟ้าสาง แต่จุดที่ชีวีเน้นกลับไม่ใช่ความยากจนในชนบท หากเป็นการตอกย้ำอุดมการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา เป็นการใช้สื่อเสียงเพลงปลุกสำนึกเน้นย้ำอุดมการณ์ จุดประสงค์ของชีวีซึ่งอยู่ที่การได้เปิดเผยความจริง และได้ระบายความรู้สึกที่บีบคั้นอย่างเศร้าหมองมาโดยตลอด ความคิดที่รุนแรงและอารมณ์ความรู้สึกที่เจ็บปวดร้าวได้สะท้อนออกมาดังบทเพลง “เรามิใช่หนุ่มสาวแสวงหาอีกต่อไปแล้ว” ที่ว่า

“ความตายเพื่อนเราเป็นบทเรียน
เราไม่เยาว์ เราไม่เขลา และไม่ทึ่ง
เราจึงต่อสู้เชือดเฉือน
แม้ความยุติธรรมนั้นรางเลือน
แต่เรายังมีเพื่อนร่วมเดินทาง
ที่นี่ ที่ไหน ล้วนสาวหนุ่ม
ร้อนรุ่มรวมพลังสรรค์สร้าง
ดวงดาวแห่งศรัทธาส่องนำทาง
แม้ร่างสูญลับกับแผ่นดิน”


นอกจากเพลงนี้ยังมีเพลง ‘เสรีภาพไม่เคยได้มาด้วยการร้องขอ, ขอเพื่อนจงยืนหยัด, มาร่วมกันพลิกฟ้า, ฝ่าพายุ, บทเรียนแห่งความตาย’ ซึ่งเพลงเหล่านี้ล้วนเป็นผลแห่งความรุนแรงทางการเมืองในยุค 6 ตุลาทมิฬ ทั้งสิ้น นอกจากวงชีวีแล้ว ก็ยังมีวงสตริง อมธ. ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเล่นเพลงในแนวสตริงเร่าร้อนและนำเอาเพลงจากยุค 14 ตุลา มาเล่นบ้างเพลงใหม่บ้าง นอกจากนั้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงยังมีวงเกี่ยวดาว, ดาวเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มี วงนฤคหิต และที่มหาวิทยาลัยมหิดลมีวงประกายดาว

อีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงคือ วงกอไผ่ ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตหนุ่มสาวของ มศว.บางแสน ที่รวมตัวกันเล่นดนตรี บทเพลงของพวกเขาสะท้อนออกซึ่งอุดมการณ์แห่งชีวิต เช่น เพลงกอไผ่ ที่พูดถึงความสามัคคีนำมาซึ่งเป้าหมายแห่งอุดมคติได้บรรลุชัย เพลงครู ที่พูดถึงความเสียสละท่ามกลางความยากจนข้นแค้น อย่างไรก็ดีวงกอไผ่นั้นมิได้เน้นย้ำอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นวงดนตรีเพื่อชีวิตอื่นในมหาวิทยาลัย
นอกจากวงดนตรีเหล่านี้แล้ว ก็มี วงลูกทุ่งเปลวเทียน, พลังเพลง, น้ำค้าง,พรีเชียสลอร์ด (เป็นวงชนะเลิศการประกวดเพลงโฟล์คซอง) , ทะเลชีวิต เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับเพลงเพื่อชีวิต ในช่วงนี้ ก็เป็นแนวคิดที่สืบเนื่องมาจากแนวคิดในยุค 14 ตุลา นั่นเอง

“ยุคสมัยได้ย้อนรอยกลับไปสู่ยุคแสวงหาอันสับสนของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง เรามองเห็นสำนึกบางอย่างที่มีอยู่ แน่นอนมันเป็นสำนึกในทางที่ดีงาม มีความหวัง และในความหมายถึงวันข้างหน้าว่า สำนึกเช่นนี้จะก้าวไปหาชีวิตที่ดีกว่า…”
ดังนั้นบทเพลงในช่วงนี้จึง

มุ่งสะท้อนปัญหาผู้ยากไร้
มุ่งสะท้อนเรื่องราวของคนหนุ่มสาว
มุ่งสะท้อนเรื่องราวของ เหตุการณ์ 6 ตุลา



อ่านต่อ>>>เพลงป่า-เพลงปฏิวัติ (พ.ศ.2520-2524)


Create Date : 24 ตุลาคม 2548
Last Update : 24 ตุลาคม 2548 3:21:36 น. 0 comments
Counter : 2572 Pageviews.

LONESOME COWBOY
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add LONESOME COWBOY's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.