Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
24 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
ปฐมบทเพลงเพื่อชีวิต ช่วงก่อน14 ตุลา 2516

เผยตำนาน “แสงนภา บุญราศรี” ราชาเพลงชีวิตผู้ถูกลืม

แสงนภา บุญราศรี อดีตราชาละครร้องยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 บุกเบิกแต่งเพลงไทยสากลที่สะท้อนชีวิตชนชั้นล่างของสังคมเป็นครั้งแรกช่วงทศวรรษ 2480 เรียกกันว่า “เพลงชีวิต” เพลงเอกของเขานำวงเวลาที่
“เพลงเพื่อชีวิต” ของ หงา คาราวาน, แอ๊ด คาราบาว, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ฯลฯ ได้รับความนิยมถึงขีดสุด ก็อาจกล่าวได้ว่า แสงนภา บุญราศรี รังสรรค์ผลงานในแนวนี้มาก่อนถึงราวครึ่งศตวรรษ และหากจะนับระยะห่างจากห้วงเวลาที่เพลงลูกทุ่งอย่างเพลง “น้ำท่วม” ของ ศรคีรี ศรีประจวบ, “อีสานแล้ง” ของ แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ โด่งดังเป็นที่รู้จัก แสงนภาก็ได้นำเสนอเนื้อหาเพลงเกี่ยวกับชนบทไว้ในเพลง “คนปาดตาล” และอีกหลายเพลงมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่เพลงลูกทุ่งในระยะหลัง
พัฒนารูปแบบและเนื้อหาไปหลากหลายมากกว่าเพลงชีวิตของแสงนภา หากจะกล่าวว่า “มนต์การเมือง” ที่ครูสุเทพ โชคสกุล แต่งให้ คำรณ สัมบุณณานนท์ ขับร้อง (ในราวปี 2495) และแอ๊ด คาราบาว นำมาขับร้องใหม่ (ในปี 2532) เป็นเพลงเสียดสีนักการเมืองไทยอย่างตรงไปตรงมาเป็นเพลงแรก
ทว่า…เนื้อหาเกี่ยวกับการซื้อเสียงของ ส.ส. และการคอร์รัปชั่นโกงกินกระทั่งจอบและเสียมของเสนาบดีผู้ฉ้อฉล
ปรากฏอยู่ในเนื้อหาเพลง “แป๊ะเจี๊ยะ” และเพลง “พรานกระแช่” ของแสงนภามาก่อนหน้าปี 2490 แล้ว
แสงนภา บุญราศรี ไม่เพียงร้องและแต่งเพลงเอง แต่เขายังใช้ประสบการณ์จากการที่เคยเป็นดาราละครร้องมาบุกเบิกการแสดงรีวิวประกอบเพลง เช่น เมื่อร้องเพลง “คนปาดตาล” ก็แต่งชุดคนปาดตาล สมจริงสมจัง เมื่อร้องเพลง “คนลากรถขยะ” ก็นำรถขยะขึ้นเวทีประกอบบทเพลงด้วย เป็นต้นแบบให้ศิลปินรุ่นหลังอย่างเสน่ห์ โกมารชุน และคำรณ สัมบุณณานนท์

การบันทึกแผ่นเสียงเพื่อการเผยแพร่ผลงานเพลงในยุคนั้น ต้องบันทึกลงแผ่นเสียงแบบ 78 รอบต่อ 1 นาที หรือ “แผ่นครั่ง” ซึ่งความยาวไม่เกิน 3.15 นาที แต่เพลงของแสงนภาทุกเพลงยาวกว่า 4 นาทีขึ้นไป เขายืนหยัดที่จะแต่งเพลงยาวเช่นนี้ โดยไม่คำนึงถึงการบันทึกแผ่นเสียง แล้วเผยแพร่ผลงานของตนเองด้วยการตระเวนร้องเพลงตามสถานีวิทยุและตามงานต่างๆ พร้อมกับจัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานเพลงออกจำหน่าย ได้รับความนิยมจนต้องพิมพ์ซ้ำ

หลังปี 2492 แสงนภาเข้าไปมีบทบาทในสมาคมกรรมกรไทย ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 36 ปี อันเป็นช่วงเวลาที่คำรณ สัมบุณณานนท์ นักร้องที่เดินตามแนวแสงนภากำลังโด่งดังถึงขีดสุด ชื่อของแสงนภาจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน เลือนหายไปพร้อมๆ กับบทเพลงของเขา ซึ่งไม่สามารถฟังได้ด้วยเทคโนโลยีการบันทึกเสียงใดๆ กล่าวได้ว่าปัจจุบันเราจะฟังเพลงของแสงนภาได้จากผู้อาวุโสอายุ 60 ปีขึ้นไป บางท่านที่ยังพอจะจดจำ “เพลงชีวิต” ของนักเพลงผู้ทระนง ท่านนี้เท่านั้น…

นักเพลงรุ่นราวคราวเดียวกับแสงนภาอีกท่านที่กล่าวได้ว่า “ถูกลืม” คือ เสน่ห์ โกมารชุน คนส่วนใหญ่รู้จักเขาในฐานะนักสร้างหนังผู้โด่งดังจาก “แม่นาคพระโขนง” ทว่าก่อนหน้านั้นเขาเคยแต่งเพลงแนวชีวิตตามหลังแสงนภามาติดๆ

จากแสงนภา ถึง เสน่ห์ โกมารชุน นักเพลงยั่วล้อสังคม

ในยุคสมัยไล่เลี่ยกับความโด่งดังของแสงนภา ยังมีนักร้องนักแต่งเพลงแนวชีวิตอีกท่านหนึ่งคือ เสน่ห์ โกมารชุน ศิลปินเพลงประจำวงดุริยางค์ทหารเรือ เขามีผลงานเพลงหลายแนว
ทั้งเพลงหวานซึ้งกินใจ อย่างเพลง “งามชายหาด” และ “วอลท์ซนาวี” แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากคือแนวเพลงชีวิตในรูปแบบ “เพลงยั่วล้อสังคม” มองโลกมองชีวิตมองการเมืองด้วยอารมณ์ตลก ขบขัน ประชดประเทียดเสียดสี เช่นเพลง “สุภาพบุรุษปากคลองสาน” หรือที่รู้จักกันในชื่อเพลง “บ้าห้าร้อยจำพวก” เสียดสีคนที่ยึดติด งมงายกับสิ่งต่างๆ ด้วยลีลาตลกขบขัน หรือเพลง “โปลิศถือกระบอง” ยั่วล้อตำรวจที่เริ่มใช้กระบองปราบผู้ร้าย

นอกจากการเป็นนักร้องนักแต่งเพลงแล้ว เสน่ห์ โกมารชุน ยังมีความสามารถรอบด้าน เป็นทั้งนักพากษ์หนัง ดาราลิเก ดาราละครวิทยุ มีชื่อเสียงต่อเนื่องจากทศวรรษ 2480 ถึงต้นทศวรรษ 2490 ก็มีเหตุการณ์ที่เป็นจุดหักเหและพลิกผันของชีวิต
เมื่อเขาแต่งเพลงเสียดสีนักการเมือง ชื่อ “ผู้แทนควาย”
และเป็นปากเป็นเสียงให้กรรมกรสามล้อถีบ ซึ่งกำลังจะถูกรัฐบาล
จอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งห้ามวิ่งในเขต พระนคร-ธนบุรี ด้วยการแต่งเพลง “สามล้อแค้น” ในเชิงประท้วงรัฐบาล จนเสน่ห์กลายเป็นขวัญใจของชาวสามล้อในปี 2492

ผลก็คือเพลง “สามล้อ”, “ผู้แทนควาย” กลายเป็นเพลงต้องห้าม ไม่ให้เผยแพร่ทางสถานีวิทยุ และเมื่อวันหนึ่งเมื่อเสน่ห์ขับร้องเพลงนี้ที่เวทีเฉลิมนคร เขาก็ถูกเชิญตัวไปพบอธิบดีกรมตำรวจ อัศวินเผ่า ศรียานนท์ เจ้าของคำขวัญ “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ตำรวจไทยจะทำไม่ได้…” และยังมีฉายาว่า “ใครค้านท่านฆ่า” อีกด้วย
เสน่ห์ถูกเชิญตัวไปสอบสวน และให้เลือกทางที่ “อยู่” หรือ “ตาย” เท่านั้น ทำให้ในที่สุดเขาจำใจต้องเลิกแต่งและร้องเพลงแนวชีวิตยั่วล้อเสียดสีสังคม หันไปสร้างภาพยนตร์ “แม่นาคพระโขนง” ที่ส่งให้นางเอกดาวยั่ว
ปรียา รุ่งเรือง โด่งดังเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์

ทั้งนี้ในช่วงต้นทศวรรษ 2495 ในขณะที่เสน่ห์ต้องหยุดงานเพลงชีวิต และแสงนภา บุญราศรี ลดบทบาทนักร้องนักแต่งเพลง หันไปทำอาชีพค้าขาย พร้อมๆ กับมีบทบาทในสมาคมกรรมกรไทย ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นช่วงที่ดาวรุ่งพุ่งแรงในวงการเพลงชีวิตคนใหม่ คือ คำรณ สัมบุณณานนท์กำลังเปล่งรัศมีขึ้นมาแทนที่จนครองใจแฟนเพลงสูงสุดในปี 2493 เมื่อไปเป็นพระเอกหนังเรื่อง “รอยไถ” ในขณะที่มีครูเพลงฝีมือเยี่ยม อย่างครูไพบูลย์ บุตรขัน ครู ป. ชื่นประโยชน์ และครูสุเทพ โชคสกุล ป้อนเพลงในแนวชีวิตและเพลงในแนวลูกทุ่งให้อย่างไม่ขาดสาย

แต่ภาพลักษณ์ช่วงแรกๆ ของพระเอกนักร้องคนนี้ในสายตาแฟนเพลง ก็คือผู้สืบทอดและสานต่อแนวเพลงชีวิตของแสงนภา บุญราศรี อย่างเด่นชัดที่สุด เพลงชีวิตที่สร้างชื่อเสียง เช่น
ตาสีกำสรวล, มนต์การเมือง, กรรมกรรถราง, พ่อค้าหาบเร่, ชายสามโบสถ์ ฯลฯ ล้วนเป็นผลงานที่ครูเพลงป้อนให้ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ผลงานเพลงชีวิตของครูไพบูลย์ บุตรขัน อีก 2 เพลง ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ช่วงทศวรรษ 2490 คือ เพลง “กลิ่นโคลนสาบควาย” และ “ค่าน้ำนม” ที่ขับร้องโดยชาญ เย็นแข โดยเพลงแรกถูกรัฐบาลสั่งห้ามออกอากาศทางสถานีวิทยุ แต่ทำสถิติยอดจำหน่ายแผ่นเสียงแบบถล่มทลาย ส่วนเพลงที่สองได้กลายเป็นเพลงอภิมหาอมตะแห่งความผูกพันระหว่างแม่และลูกมาตราบจนปัจจุบัน

ทศวรรษที่ 2480 เพลงชีวิตยุคบุกเบิก

ทศวรรษ 2480 คือจุดกำเนิดเพลงไทยสากลในแนว “เพลงชีวิต” และเพลงเสียดสียั่วล้อสังคม อันนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ “ศิลปิน” มีบทบาทสะท้อนภาพความทุกข์ยากของผู้คน การโกงกินของผู้แทน, นักการเมือง ออกมาในบทเพลงของเขา โดยมีสภาพสังคมระหว่างสงครามและหลังสงครามเป็นปัจจัยเกื้อหนุน

แสงนภา บุญราศรี คือ หัวหอก ผู้บุกเบิกและผู้จุดประกายไฟให้เกิดศิลปินในแนวนี้ตามมาอีกหลายคน โดยเฉพาะคำรณ สัมบุณณานนท์ ซึ่งจะแสดงบทบาทสำคัญในแนวเพลงชีวิตในทศวรรษต่อมา คือตั้งแต่ราวปี 2490 เป็นต้นไป อันถือเป็นยุคปลายของชีวิตนักร้องผู้แทนคนยากอย่าง แสงนภา บุญราศรี ก่อนที่เขาจะถึงแก่กรรมด้วยวัยเพียง 36 ปี

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า แนวเพลงชีวิตที่ถือกำเนิดขึ้นอย่างสง่างามในทศวรรษที่ 2480 คือ รากฐานของแนวเพลง “ลูกทุ่ง” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการช่วงหลังปี
2500 อันเป็นแนวเพลงที่มุ่งเน้นสะท้อนสภาพสังคมด้วยภาษาลีลาที่เรียบง่าย กินใจ ไม่ต่างจากแนวเพลงชีวิตที่ แสงนภา บุญราศรี บุกเบิกไว้ เพียงแต่ต่อมาเพลงลูกทุ่งได้พัฒนาแนวเนื้อหาไปอย่างหลากหลาย
หากแต่รากฐานเดิมนั้นเล่า คือการสะท้อนภาพสังคมของชนชั้นล่างโดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ในชนบท
อย่างจริงใจ ตรงไปตรงมา ไม่แตกต่างจากแนวเพลงชีวิตเลย

ทศวรรษที่ 2490 ขุมทองของเพลงชีวิต

ความตื่นตัวในวงการเพลงที่มีสถานีวิทยุและธุรกิจแผ่นเสียงเป็นแรงกระตุ้นสำคัญทำให้รูปแบบและเนื้อหาเพลงชีวิตในทศวรรษ 2590 พัฒนาไปในทิศทางที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แพร่กระจายไปสู่ความรับรู้ของมวลชนระดับกว้างขวางยิ่งขึ้น
พร้อมๆ กับการที่แนวเพลงรักหวานชื่นของวงดนตรีสุนทราภรณ์กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ แนวเพลงชีวิตก็มี คำรณ สัมบุณณานนท์ เป็นตัวแทนภาพลักษณ์ที่เด่นชัด โดยมีนักประพันธ์เพลงคนสำคัญคือ ไพบูลย์ บุตรขัน ป้อนเพลงให้จนคำรณพุ่งขึ้นสู่ความรุ่งโรจน์ถึงขีดสุดในยุคนี้เช่นกัน โดยมีนักร้องร่วมสมัยอย่างชาญ เย็นแข, ชลอ ไตรตรองสอน และปรีชา บุญเกียรติ เติมสีสันให้วงการเพลงชีวิตมีความคึกคักมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน การปิดกั้นเพลงชีวิตบางเพลงด้วยการไม่อนุญาตให้ออกอากาศทางสถานีวิทยุ โดยรัฐบาลจอมพล ป. ในยุคนั้น ไม่แตกต่างไปจากการที่คณะกรรมการบริการวิทยุและโทรทัศน์
(กบว.) สั่ง “แบน”
เพลงบางเพลงในยุคนี้ คือยิ่งห้าม เทปและแผ่นเสียงก็ยิ่งขายดี

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ภาวะที่โรงละครหลายแห่งปิดเวทีแล้วหันไปฉายภาพยนตร์แทน ในปลายทศวรรษนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อนักร้องเพลงชีวิตอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะนักร้องแนวนี้ส่วนใหญ่เป็น “นักร้องสลับฉาก” ตามเวทีละคร
เมื่อละครปิดฉากลง พวกเขาหลายคนต้องดิ้นรนออกไปเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดกับวงดนตรีของคนอื่นๆ หรือวงดนตรีที่ตนเองตั้งขึ้น และได้กลายเป็นที่มาของวงดนตรีลูกทุ่งที่เฟื่องฟูมากในทศวรรษต่อมา อันเป็นทศวรรษที่มีการแบ่งแยกเพลงออกเป็น “ลูกกรุง” “ลูกทุ่ง” เป็นครั้งแรกของวงการเพลงเมืองไทย และเป็นยุคที่สังคมไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ตลอดทั้งทศวรรษ 2500

ซึ่งนับเป็นทศวรรษที่เพลงชีวิตซบเซาถึงขีดสุด ในขณะที่เพลงลูกทุ่งเริ่มฟูเฟื่องพร้อมๆ กับได้เกิดเพลงชีวิตอีกแนวหนึ่งโดยนักเขียนนาม “จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้นภายในกำแพงคุก ในช่วงที่เขาถูกจองจำในฐานะ “นักโทษการเมือง” และเพลงของจิตรนี้เองที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่การเป็นต้นแบบของ “เพลงเพื่อชีวิต” ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยนิสิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย

จนกระทั่ง “เพลงเพื่อชีวิต” กลายเป็นแขนงหนึ่งของเพลงไทยที่สังคมให้การยอมรับตราบจนปัจจุบัน อันนับเป็นระยะเวลาที่ห่างจากเพลงยุคบุกเบิก “เพลงชีวิต”
โดยแสงนภา บุญราศรี ราวกึ่งศตวรรษหรือ 50 ปีพอดี

จิตร ภูมิศักดิ์ ต้นธารเพลงเพื่อชีวิต

เสียงเพลงเสียงดนตรีเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการสร้างความบันเทิงเริงรมย์แก่ชีวิต เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น บางครั้งเสียงเพลงถูกนำมาใช้เพื่อจุดมุ่งหมายอื่นอีก เช่น ปลุกใจให้รักพวกพ้อง รักชาติ ฯลฯ แน่นอนเสียงเพลงยังเป็นเพื่อนคลายเหงาบรรเทาความร้าวรานของผู้ทุกข์ยากและผู้ถูกกดขี่ด้วย

ยุคเผด็จการครองเมืองก่อน 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นยุคทองของเพลงรัก เพลงสายลมแสงแดด และเพลงเต้นรำ ท่ามกลางความมืดมิดในห้วงเวลานั้นมีปัญญาชนผู้หนึ่ง “จิตร ภูมิศักดิ์” ได้เขียนบทความเสนอแนวคิดเรื่อง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นมา แนวคิดเพื่อชีวิตและการต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่าของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นพลังบันดาลใจให้เกิดแนวเพลงใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา คือ “เพลงเพื่อชีวิต” กล่าวได้อย่างภาคภูมิว่า เพลงเพื่อชีวิตคือ เพชรเม็ดงามทางด้านวัฒนธรรม อันเกิดจากเหตุการณ์ 14 ตุลา


อ่านต่อ>>> เพลงเพื่อชีวิต ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (2516-2519)


Create Date : 24 ตุลาคม 2548
Last Update : 13 สิงหาคม 2549 13:53:03 น. 0 comments
Counter : 5150 Pageviews.

LONESOME COWBOY
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add LONESOME COWBOY's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.