<<
ตุลาคม 2554
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
9 ตุลาคม 2554

เสียดายคนจีนไม่ได้อ่าน

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้รับการติดต่อจากสนพ.นานมีบุ๊คส์ว่า
นักเขียนชาวจีนท่านหนึ่งตอบรับคำเชิญในการเดินทางมาร่วมงานมหกรรมหนังสือ
แห่งชาติในเดือนตุลาคมนี้
ผมจะสามารถรับงานล่ามให้กับนักเขียนท่านนี้ได้หรือไม่
ซึ่งจะมีการสัมภาษณ์สื่อสองวัน และกิจกรรมเสวนาในห้องมีทติ้งรูมอีกหนึ่งวัน

      นักเขียนท่านนี้มีชื่อว่า 余华 อี๋ว์ หัว
ซึ่งมีการสะกดคำให้อ่านง่ายขึ้นในภาษาไทยว่า "หยูหัว"
เจ้าของบทประพันธ์เรื่อง "คนตายยาก 活着" "คนขายเลือด 许三观卖血记" และ
"พี่กับน้อง 兄弟" ซึ่งเล่มหลัง (พี่กับน้อง)
เป็นงานที่ผมเคยปฏิเสธทางสนพ.ไป ด้วยเหตุผลหลายประการ





       การเดินทางมาประเทศไทยของคุณหยูหัว
นอกจากเพื่อโปรโมตหนังสือสามเล่มดังกล่าว
ที่ได้รับการตีพิมพ์โดยสนพ.นานมีบุ๊คส์เมื่อสองปีก่อนแล้ว
ยังมาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ของเขาอีกหนึ่งเล่มที่ชื่อ "สิบคำนิยามจีน"
อีกด้วย ผมเคยได้ยินชื่อเสียงของนักเขียนท่านนี้มาก่อน
รวมทั้งจากปากของคุณหมอโหว เหวินหย่ง นักเขียนที่ผมเคารพด้วย
ทำให้ผมไม่ลังเลในการรับปาก และรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่นี้
ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมทุกอย่างแล้ว (งานเริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค.
และสิ้นสุดหน้าที่ของผม ณ วันที่ 6 ต.ค.)
ผมก็ไม่ผิดหวังที่ได้ทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้



      หลังจากจบงาน ผมก็ตั้งใจไว้ว่า จะเขียนบล็อกเก็บเนื้อหาที่ได้จากการทำงานนี้ บันทึกประสบการณ์ที่มีคุณค่าครั้งนี้เอาไว้






*** *** ***



จากหมอฟันสู่นักเขียน



      หยูหัว เป็นนักเขียนวัย 51 ปี เริ่มเขียนนิยายตั้งแต่ปี 1983
(28 ปี แล้ว) เขาเล่าให้เราฟังว่า ก่อนจะเขียนนิยาย เขาเป็นหมอฟันมาก่อน (5
ปี) โดยอาชีพหมอฟันนี้ มิใช่ได้มาจากการร่ำเรียนมาทางสายนี้แต่อย่างใด
แต่ประเทศจีนเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ประชาชนไม่มีอิสระในการเลือกอาชีพ
รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรให้ ซึ่งคุณมีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาทำตามเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาเหมือนๆ กัน บางคนไปเป็นพนักงานประจำร้านค้า
บางคนไปเป็นคนงานก่อสร้าง ขณะที่เขาก็ได้รับคำสั่งให้มาเป็นหมอฟัน


      ส่วนตัวผมคิดว่า คุณพ่อคุณแม่ของคุณหยูหัวก็เป็นหมอผ่าตัด
คุณหยูหัวก็โตมาในโรงพยาบาล
เขาเล่าให้ฟังว่าห้องนอนของเขาอยู่ตรงข้ามห้องผ่าตัดนั่นเอง
ตอนสิบกว่าขวบชอบตามคุณพ่อเข้าไปดูการผ่าตัดในห้องฝั่งตรงข้ามเสมอ
ดังนั้นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น รัฐบาลคอมมิวนิสต์สั่งให้เขาเป็นหมอฟัน
ก็อาจด้วยเห็นแววว่าคงไม่ทำใครตายหรอก... กระมัง


      คุณหยูหัวเล่าต่อไปว่า ใครก็ตามที่ถามว่า
"ทำไมเขาไม่ทำอาชีพหมอฟันต่อ แล้วหันมาเขียนนิยาย"
คนคนนั้นต้องไม่เคยเป็นหมอฟันมาก่อนแน่นอน (อืมมม) อาชีพหมอฟันเป็นงานหนัก
คุณต้องให้ผู้คนมาอ้าปากให้คุณส่องดูทุกวัน
และในวงการหมอฟันเขามีคำพูดคำพูดหนึ่งบอกว่า "ปากที่สุขภาพดี
ไม่มาอ้าให้หมอดู" ดังนั้นวันทั้งวันจึงต้องอยู่กับ "ปากที่สุขภาพไม่ดี"
ตลอดห้าปีที่ผ่านมา เขาต้องทำงานหนักวันละแปดชั่วโมง
ถอนฟันไปแล้วมากกว่าหมื่นซี่ ขณะที่รายได้นะหรือ...
ภายใต้การรัฐบาลคอมมิวนิสต์
เงินเดือนหมอนั้นเท่ากับเงินเดือนของคนงานก่อสร้าง ซึ่งเงินเดือนของเขาคือ
16 หยวนเท่าๆ กับทุกคน (ก็เพียงพอสำหรับใช้จ่ายทั้งเดือนนั่นแหละ)


      ขณะนั้นเขาสังเกตเห็นคนกลุ่มหนึ่ง
คนพวกนี้ได้งานอยู่ในหน่วยงานที่เรียกว่า "หอวัฒนธรรม 文化馆"
เงินเดือนเท่ากันนี่แหละ แต่วันทั้งวันเห็นโต๋เต๋อยู่แต่ริมถนน
ไม่เห็นจะต้องทำงานทำการ ทำไมมันช่างต่างกันอย่างนี้ เขาจึงไปสอบถามว่า
ทำยังไงฉันถึงจะมาทำงานที่นี่ได้บ้าง คำตอบที่ได้คือ
หากต้องการขอย้ายมาประจำอยู่ใน "หอวัฒนธรรม" มีเงื่อนไขว่า
คุณต้องมีทักษะอย่างใดอย่างหนึ่ง ในสามอย่างนี้ ได้แก่ 1.แต่งเพลงเป็น
2.วาดรูปเป็น 3.เขียนหนังสือเป็น


      เมื่อทบทวนดูแล้ว คุณหยูหัวคิดว่าตัวเองน่าจะพอขีดๆ เขียนๆ
ได้บ้าง จึงเริ่มจากเขียนเรื่องสั้น หลังจากทดลองเขียนได้สองสามเรื่อง
ก็ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารทางวรรณกรรมฉบับหนึ่ง
และนั่นทำให้เขามีคุณสมบัติในการขอย้ายไปประจำการยัง "หอวัฒนธรรม"
ได้ตามต้องการ และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของเขา


      คุณหยูหัวเล่าให้ฟังหลายครั้งแบบไม่รู้เบื่อว่า "เข้างานวันแรก
ผมจงใจไปถึงที่ทำงานสายสองชั่วโมง
แต่ปรากฏว่าผมยังคงเป็นคนที่มาทำงานคนแรกอยู่ดี"


      คุณหยูหัวสรุปเส้นทางการเปลี่ยนอาชีพของตัวเองว่า
เขาหันมาจับปากกาด้วยแรงบันดาลใจที่เห็นแก่ตัวมาก ก็คืออยากทำงานสบาย
ไม่อยากถอนฟันใครอีกต่อไปแล้ว ไม่ได้มีอุดมการณ์สูงส่งใดๆ เลย
แต่ภายหลังที่เดินบนเส้นทางนี้มานานถึงยี่สิบกว่าปี
ย้อนกลับไปมองก็รู้สึกอุ่นใจว่าตนเลือกทางถูกแล้ว และเขาก็ค้นพบในภายหลัง
ว่าตนเองเป็นคนที่รักการเขียนคนหนึ่งจริงๆ



*** *** ***


ผลงานนำโชค



      โดยปูมหลังแล้ว
คุณหยูหัวเกิดและโตมาในยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศจีน
เขาเข้าเรียนประถมในปีเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรม
และเรียนจบม.ปลายในปีสุดท้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรมพอดี
เขาได้เล่ารายละเอียดเหล่านี้เอาไว้โดยละเอียดในผลงานเล่มใหม่
"สิบคำนิยามจีน" เขาเป็นผู้เห็นเหตุการณ์
ซ้ำยังเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ นอกจากเป็นสิ่งที่ "คุ้นเคย"
ที่สุด มันยังเป็นความ "แปลก" ที่เขาคิดว่ามันควรถูกบอกเล่า
ดังนั้นนิยายส่วนใหญ่ของเขา จึงมีบรรยากาศและช่วงเวลาของ
"การปฏิวัติวัฒนธรรม" อยู่เสมอ แม้จะต่างมุมมอง ต่างวิธีบอกเล่าก็ตาม


      นักเขียนทุกคน จะมีผลงาน "นำโชค" ประจำตัว สำหรับเขาก็คือ
"คนตายยาก" (活着/To live) เขาเขียนเล่มนี้ขึ้นเมื่อ 19 ปีก่อน
แม้จะผ่านมาแล้ว 19 ปี แต่ทุกวันนี้
ยอดขายทุกปียังมากกว่าหนึ่งแสนเล่มในประเทศจีน นอกจากนี้
ยังเป็นเล่มที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับชื่อดัง จางอี้โหม่ว
ในชื่อ To live แม้ว่าต่อมาจะถูกห้ามฉายในประเทศจีน
แต่ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวทีนานาชาติ
รวมทั้งเคยได้รับรางวัลในเทศกาลหนังเมืองคานน์อีกด้วย


      หยูหัวเล่าเรื่องราวในการร่วมงานกับจางอี้โมวให้ฟังดังนี้
วันหนึ่งจางอี้โหมวมาหาเขา
ถามว่ามีผลงานเรื่องใหม่ให้เขานำไปสร้างหนังได้บ้างไหม ตอนนั้น "คนตายยาก"
เพิ่งส่งเข้าโรงพิมพ์ ทางโรงพิมพ์ส่ง "หนังสือตัวอย่าง" กลับมาให้ดู
หนังสือยังไม่ได้วางจำหน่ายเลย เขายื่น "คนตายยาก"
ฉบับปรู๊ฟให้กับจางอี้โหมว พลางบอกว่า นี่ไง เพิ่งจะเสร็จร้อนๆ
คุณเอาไปดูสิ...


      วันรุ่งขึ้นจางอี้โหมวก็โทร.มาบอกเขาว่า
เขาประทับใจนิยายเรื่องนี้มาก เมื่ออ่านจบเขาถึงกับ "นอนไม่หลับ 失眠"
ไปทั้งคืน ซึ่งจางอี้โหมวก็บอกว่า เล่มนี้แหละ เขาจะขอซื้อไปทำภาพยนตร์


      คุณหยูหัวเล่าติดตลกว่า ในตอนนั้นเขาปลื้มใจมาก
จางอี้โหมวเป็นผู้อ่าน "คนตายยาก" คนแรก
แค่ผู้อ่านคนแรกอ่านจบก็ชื่นชอบจนนอนไม่หลับ มันย่อมเป็นเรื่องดี
แต่ในภายหลังเขาจึงรู้ว่า
จางอี้โหมวเป็นคนบ้างานที่ปกติจะใช้เวลานอนเพียงวันละชั่วโมงสองชั่วโมง
เท่านั้น ดังนั้นการที่วันไหนเขานอนไม่หลับ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลย...


     
หลังจากนั้นพวกเขาก็เข้าสู่กระบวนการการดัดแปลงนิยายไปสู่บทภาพยนตร์
มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลายประการตามความต้องการของจางอี้โหมว
เพื่อให้ตัวหนังสามารถผ่านกองเซนเซอร์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์
แต่แม้จะพยายามดัดแปลงให้ไม่ขัดใจรัฐบาลแล้ว ภาพยนตร์ก็ยังถูกแบนอยู่ดี


      จากการดัดแปลงหลายๆ ด้าน จนกระทั่งวันที่ภาพยนตร์ตัดต่อเสร็จ
คุณหยูหัวดูจบถึงกับร้องว่า "ทำไมหนังไม่เห็นเหมือนนิยายผมเลย"
บอกกับคุณจางว่า "เปลี่ยนชื่อเถอะ อย่าใช้ To live เลย มันไม่เหมือนแล้ว"
แต่จางอี้โหมวก็ยืนกรานขอใช้ชื่อนี้


      หลายปีต่อมา เขาได้รับเชิญไปยังมหา'ลัยต่างๆ ทั่วโลก
เพื่อไปบรรยายเกี่ยวกับ "คนตายยาก" ฉบับภาพยนตร์นี้นี่แหละ
คุณหยูหัวกล่าวอย่างมีอารมณ์ขันว่า "เนื่องจากค่าตัวจางอี้โหมวนั้นแพงมาก
เชิญตัวไม่ไหว ส่วนผมค่าตัวถูก ใครจ้างก็ไปหมด พวกเขาจึงเอาตัวผมไปแทน"
และจากการที่ได้ดู "คนตายยาก" ฉบับภาพยนตร์ติดต่อกันมากกว่า 20 รอบ
ทำให้เขากลับมาคิดว่า "ทำไมนิยายของฉันถึงไมเหมือนหนังนะ"


      "..."


      เรื่องราวครั้งนั้นทำให้เขาได้คิดว่า
ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นเรื่องผิด หรือเป็นเรื่องถูก
จะมีแต่เพียงคุณคุ้นชินกับแบบไหน สิ่งที่คุณคุ้นชินคุณก็คิดว่าถูก
สิ่งที่คุณไม่คุ้น คุณก็คิดว่าผิด ดังนั้น จางอี้โหมวก็มีมุมมองของ
"คนตายยาก" แบบจางอี้โหมว มันไม่ใช่เรื่องผิดหรือเรื่องถูก
มันอยู่ที่มุมมอง เรื่องอื่นๆ ก็เช่นกัน


      และหลังจากนั้น "คนตายยาก"
ได้นำทั้งชื่อเสียงและผลประโยชน์มหาศาลมาให้เขาอย่างคิดไม่ถึง ซึ่งเมื่อ 19
ปีก่อน วันที่เขาจับปากกานั่งเขียนอยู่บนโต๊ะ เขาไม่มีวันล่วงรู้ได้เลย







*** *** ***


สิบคำนิยามจีน



      กล่าวถึงพระเอกของงาน "สิบคำนิยามจีน"
ทางนานมีบุ๊คส์เล่นประเด็นแรงๆ อย่างไม่กลัวกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ตั้งแต่ตั้งธีมของงานไปจนกระทั่งพาดหัวปกหนังสือว่า "เนื้อหาแรง
จนถูกแบนในประเทศจีน" ย่อมกระตุกต่อมอยากรู้ตามธรรมชาติมนุษย์ว่า
มันถูกแบนยังไงเหรอ
คุณหยูหัวได้เล่าความเป็นมาในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นดังต่อไปนี้


      ปี 2009  เป็นปีครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์เทียนอันเหมิน 20 ปีก่อน
ตัวเขาเป็นนักศึกษาคนหนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ
ในเดือนเมษายนปี 2009 อยู่ๆ เขาก็เกิดอยากเขียนบทความหนึ่ง
เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกกับตัวเอง
โดยไม่คิดจะนำไปตีพิมพ์เผยแพร่แต่ประการใด
เพราะเป็นที่รู้กันแบบไม่ต้องประกาศให้เมื่อยปากว่า เหตุการณ์เทียนอันเหมิน
เป็นประเด็นต้องห้ามที่ห้ามพูดถึงไม่ว่าตามสื่อใดๆ ในประเทศจีน
แล้วเขาก็เขียนบทความที่ต่อมาถูกตั้งชื่อว่า "ประชาชน 人民" ขึ้นมา


      เนื่องจากเป็นปีที่ 20 ของเหตุกาณ์เทียนอันเหมิน
สื่อต่างประเทศก็สนใจประเด็นนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ในเดือนพฤษภาคม
หนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทมส์
ของอเมริกาก็โทรศัพท์มาขอให้คุณหยูหัวช่วยเขียนบทความเรื่องเหตุการณ์เทียน
อันเหมิน คุณหยูหัวจึงตอบไปว่า เพิ่งเขียนเสร็จพอดี ทางนิวยอร์คไทมส์
จึงได้ขอบทความไปตีพิมพ์ (มีการตัดทอนเนื้อให้สั้นลงตามขนาดของคอลัมน์)
ต่อมาคุณหยูหัวก็เขียน "นิยามคำที่สอง" ต่อในหัวข้อว่า "ผู้นำสูงสุด 领袖"
ซึ่งก็ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไรกับมัน
ช่วงปลายปีแกก็บินไปหลายประเทศเพื่อโปรโมตหนังสือในเวอร์ชั่นภาษาต่างๆ


      แต่ทีนี้ นักแปลภาษาอังกฤษของคุณหยูหัว
ก็แปลบทความทั้งสองบทเป็นภาษาอังกฤษ
และในแฟรงเฟิร์ตบุ๊คแฟร์ช่วงเดือนตุลาคม แรนดอมเฮาส์
ผู้เป็นตัวแทนลิขสิทธิ์ของคุณหยูหัวก็นำบทความทั้งสองบทนี้ไปขายลิขสิทธิ์
ภาษาต่างประเทศได้ถึงสิบภาษาอย่างรวดเร็ว
เป็นรายได้ค่าลิขสิทธิ์ให้คุณหยูหัวถึงสองแสนยูเอส
ซึ่งคุณหยูหัวเองก็ไม่คาดคิด หลังกลับมาจากต่างประเทศ
จึงลงมือเขียนอีกแปดคำที่เหลือจนจบในเดือนกุมภาพันธ์


      หลักในการ "เฟ้น" คำทั้งสิบ คุณหยูหัวเล่าให้ฟังว่า
เขาเลือกจากคำที่มีการใช้งานสูงสุด มีความนิยมจากอดีตจนปัจจุบัน
แต่ก็มีบางคำเป็น "ศัพท์เกิดใหม่"
และต้องเป็นคำที่สามารถร้อยเรียงอดีตกับปัจจุบันเข้าด้วยกันได้
ดังนั้นหากถอยออกมามองแล้ว จะสังเกตได้ว่า ห้าคำแรกเป็นเรื่องเก่า
และห้าคำหลังเป็นเรื่องใหม่


      แนวคิดในการเขียนหนังสือดังกล่าวคือ
ประเทศจีนปัจจุบันมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และมีความก้าวหน้าในหลายๆ
ด้าน ขณะที่หากมองดีๆ ย้อนกลับไปเมื่อสี่สิบปีก่อน ประเทศจีนยังเป็นศูนย์
อะไรเป็นเหตุที่ทำให้เกิดผล ความก้าวหน้าในวันนี้มาจากพื้นฐานเช่นใด
อย่าว่าแต่ชาวต่างประเทศ แม้แต่ชาวจีนเองโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ๆ
พวกเขาเกิดมาประเทศนี้ก็มีหน้าตาประมาณนี้แล้ว ทุกคนจึง "มีชีวิตอยู่กับผล"
เขาอยากเขียนหนังสือที่เล่า "เหตุ" ให้ทุกคนรู้ เพราะเมื่อรู้เหตุแล้ว
ก็จะอยู่ในผลอย่างเข้าอกเข้าใจ


      วัฒนธรรมการในคำที่เก้า "ซานไจ้ 山寨" ความขี้โกง
ขี้ฉ้อในคำที่สิบ "ฮูโยว 忽悠"
ไปจนถึงสิ่งที่บ้านเราเองก็อยากทำเป็นวาระแห่งชาติอยู่ขณะนี้ในคำที่สาม
"การอ่าน 阅读" ต่างล้วนตอบโจทย์และข้อสงสัยบางประการได้โดยกระจ่าง


      แม้หนังสือเล่มนี้ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม
เศรษฐกิจ การเมือง ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องหนักๆ
แต่เขาได้ใช้กลวิธีการเขียนแบบผสมผสาน ใช้เรื่องเล่าเป็นตัวความคิด
ไม่ใช่หนังสือวิชาการ หรือสารคดีเครียดๆ
เขารับรองว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุกไม่แพ้หนังสือนิยาย
เชื่อได้แค่ไหนก็คงต้องลอง


      กลับมาที่ประเด็นเรื่อง "แบน"
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในภาษาจีนที่ประเทศไต้หวัน
ฉบับภาษาต่างประเทศภาษาแรกคือฝรั่งเศส ถัดมาก็คือประเทศไทย
และเดือนพฤศจิกายน จะวางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษที่ประเทศอเมริกา
ส่วนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ หรือประเทศแม่ของคุณหยูหัว
เนื่องจากเนื้อหาตอนที่หนึ่งก็พาดพิงถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
อันเป็นเรื่องต้องห้ามอยู่แล้ว เขาจึงไม่ส่งให้สนพ.ในประเทศจีนนำไปตีพิมพ์
แต่แล้วก็มีสนพ.ในประเทศจีนมาต่อรองกับเขาว่า หากนำบทที่หนึ่งออก
เขียนเรื่องใหม่ลงไปแทน
หนังสือเล่มนี้ก็สามารถตีพิมพ์จำหน่ายในประเทศจีนแล้ว
แต่คุณหยูหัวยืนยันจะคงความสมบูรณ์ของเนื้อหาเอาไว้
ไม่ขอตัดทอนเพียงเพื่อให้ได้ตีพิมพ์ในวันนี้


      เพราะเขาเชื่อมั่นว่า สักวันหนึ่ง
ในชั่วชีวิตที่เขายังมีลมหายใจอยู่
หนังสือเล่มนี้จะสามารถตีพิมพ์ในประเทศบ้านเกิดของเขาได้อย่างเต็มภาคภูมิ
ซึ่งนั่นหมายถึงสภาพสังคมของประเทศจีน มีอิสระเสรี
และเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เฉกเช่น "ห้าปีทอง" เมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน
หลังการปฏิวัติปี 1911 辛亥革命 และก่อนที่ดร.ซุนยัตเซ็น 孙中山先生
บิดาแห่งชนชาติจีนจะถึงแก่อสัญกรรม





      เมื่อถามถึงประเด็นว่า หนังสือของเขาหลายเล่มก็แรงไม่แพ้กัน
มีการตำหนิพิพาทเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างเปิดเผย ทำไมจึงไม่ถูกแบนล่ะ
สำหรับคำถามนี้ คุณหยูหัวให้คำตอบโดยยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งให้ฟัง


     
ถึงแม้รัฐบาลมีการจับตามองการจับกลุ่มคุยกันเรื่องเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต คีย์เวิร์ดหลายๆ คำจะถูกบล็อกโดยอัตโนมัติ
ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์เทียนอันเหมินนั้นมีชื่อเรียกที่เป็นทางการว่า 6.4
ซึ่งก็คือ เดือน 6 วันที่ 4 เมื่อคำคำนี้ถูกบล็อก
ชาวเน็ตก็ตั้งคำขึ้นใหม่ที่รู้กันว่า "วันที่ 35 พฤษภาคม"


      นั่นคือ วันที่ 31 พฤษภาคม บวกอีก 4 วันนั่นเอง


      นัยหนึ่ง 35 พฤษภา สามารถหลุดการสกัดคำ อีกนัยหนึ่ง 35 พฤษภาคม เป็นวันที่ "อุปโลกน์" แต่ 4 มิถุนายน เป็นเรื่องจริง!


      การเขียนนิยาย ต่อให้อ้างอิงจากเรื่องจริง นิยายก็ยังเป็นนิยาย
ยังมีความหมายเป็นเรื่องแต่ง ยังเป็น 35 พฤษภา แต่การเขียนสารคดี
อย่างเช่น "สิบคำนิยามจีน" มันกล่าวถึง 4 มิถุนาแบบโต้งๆ
นั่นจึงเป็นเหตุให้ทำไมนิยายไม่ถูกแบน แต่ "สิบคำนิยามจีน"
จึงถูกห้ามตีพิมพ์ในประเทศจีน


      กล่าวถึงตรงนี้ คุณหยูหัวเล่าต่ออย่างติดตลกว่า
ชาวเน็ตในประเทศจีนกับรัฐบาลจีน ความสัมพันธ์เหมือนกับแมวกับหนู
วิ่งไล่จับกันไม่รู้จบ และหนูก็หาทางหนีหารูมุดได้ตลอดเวลา



*** *** ***



กล่าวถึงแมวกับหนู



      กลับมาพูดประเด็นเรื่องการ "แบน" ในประเทศจีนอีกครั้ง
เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาลจีนปกครองด้วยระบบรัฐบาลพรรคเดียว
ก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ (มีพรรคเล็กเป็นพิธีอยู่ราวสิบกว่าพรรค
แต่ก็เรียกได้ว่าพรรคหุ่นเชิด
เพราะเป็นพรรคที่เลี้ยงโดยคอมมิวนิสต์เองนั่นแหละ) ดังนั้น "สิ่งต้องห้าม"
จึงมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการวิพากย์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล
ทั้งอดีตจนปัจจุบัน ในรูปแบบต่างๆ
ในนโยบายที่เราอาจจะเรียกกันแบบไม่เกรงใจว่า "ปิดหูปิดตาประชาชน"


      สังคมจีนเคยตกอยู่ในสภาพ "ตื่นกลัว" "เก็บกด"
สุดขีดในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม มันคือยุคที่จับปัญญาชนไปลงนา
ใครก็ตามหากพูดอะไรที่ "ผิดสำแดง" สักเพียงเล็กน้อย
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจถูกจับกุมด้วยข้อห้า
"ต่อต้านการปฏิวัติ" และโดนฟาดจนตายคาถนนได้ทันที คุณหยูหัวเล่าว่า
เขาเคยเห็นกับตามาแล้ว


      หยูหัวยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดๆ ให้ฟังกรณีหนึ่ง
ขณะนั้นมีการเปรียบเหมาเจ๋อตงว่าเป็นพระอาทิตย์
คำต้องห้ามคำหนึ่งที่ห้ามพูดจึงเป็น "พระอาทิตย์ตกดินแล้ว 太阳下山了"
เพราะนั่นเสมือนกับคุณพูดเป็นนัยว่า เหมาเจ๋อตงกำลังจะดับ
ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คุณก็จะโดนทำโทษ


      ผู้คนจึงอยู่ในสภาพที่หวาดกลัว
ทุกวันกลัวว่าตนจะพูดอะไรผิดแล้วถูกจับได้
ดังนั้นสิบปีของการปฏิวัติวัฒนธรรม ช่วงปีต้นๆ เป็นยุคของการใช้กำลัง
ความรุนแรง ช่วงกลางจนถึงท้ายๆ เป็นยุคของความเก็บกด
ทั้งหมดนี้สิ้นสุดลงพร้อมกับการ "ตกดินแล้ว" ของเหมาเจ๋อตง
และเมื่อเติ้งเสี่ยวผิงเข้ามาบริหารประเทศ จึงประกาศนโยบาย
"ปฏิรูปเปิดกว้าง 改革开放" หรือที่บ้านเราเรียกกันติดปากว่า "เปิดม่านไม้ไผ่"
อีกทั้งรัฐบาลเติ้งเสี่ยวผิงได้ออกมา "ปฏิเสธ 否定"
(ก็คือแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วย) กับการ "ปฏิวัติวัฒนธรรม 文化大革命"
ของรัฐบาลที่แล้ว อย่างเป็นทางการ


      ดังนั้น ประเด็นการวิพากย์วิจารณ์เรื่องปฏิวัติวัฒนธรรม
โดยนิตินัยแล้วจึงเป็นประเด็นที่เปิดให้พูดได้ แต่โดยพฤตินัยแล้ว
รัฐบาลก็ไม่อยากให้พูดถึงอยู่ดี
กระบวนการเซนเซอร์เรื่องนี้จึงมีความซับซ้อน ปล่อยบ้างไม่ปล่อยบ้าง
ดังเช่นสิ่งที่คุณหยูหัวประสบกับตัวเองแบบงงๆ : นิยายเรื่อง "คนตายยาก"
อนุญาตให้ขายได้ มียอดขายคงที่ปีละแสนกว่าเล่ม เป็นเวลาต่อเนื่องมาถึง 19
ปี แต่ภาพยนตร์เรื่อง "คนตายยาก" ที่จางอี้โหมวสร้าง ถูกห้ามฉายในประเทศจีน


      เล่าถึงตรงนี้ มีเรื่องเล่าแทรกอยู่เรื่องหนึ่ง
คุณหยูหัวเล่าให้ฟังตอนทำงานกับจางอี้โหมวในการดัดแปลงนิยายเรื่องนี้ให้
เป็นบทภาพยนตร์ ระหว่างการแก้บท
คำคำหนึ่งที่คุณหยูหัวได้ยินจากปากของจางอี้โหมวตลอดก็คือ
"ตรงนี้ต้องเปลี่ยน ไม่งั้นคอมมิวนิสต์ไม่ให้ผ่าน" "ตรงนั้นต้องเปลี่ยน
ไม่งั้นโดนแบนแน่" ตอนนั้นคุณหยูหัวนึกนับถือคุณจางในใจว่า
'จางอี้โหมวนี่เจ๋งจริงอะไรจริง รู้ใจคอมมิวนิสต์ไปหมด'
ทว่าเมื่อภาพยนตร์ตัดต่อเสร็จ ก็ยังโดนแบนอยู่ดี คุณหยูหัวจึงมานึกอีกทีขำๆ
ว่า 'เสียแรงที่นับถือ ที่แท้ก็รู้ใจคอมมิวนิสต์ไม่จริงนี่นา'
เพราะอุตส่าห์แก้เพื่อให้ผ่านแบบเดาใจกองเซนเซอร์แล้วเชียว
จนแล้วจนรอดก็ไม่ผ่านอยู่ดี







      สำหรับคำถามว่า ทำไมหนังโดนแบน หนังสือไม่โดนแบน
คุณหยูหัวยังวิเคราะห์ใหฟังอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ
ระบบสำนักพิมพ์ของประเทศจีนนั้นไม่เหมือนกับประเทศเรา
สนพ.จีนเป็นหน่วยงานที่ขึ้นกับรัฐบาล หากแต่ในภายหลัง
รัฐบาลไม่ส่งเงินสนับสนุนอีกแล้ว สนพนั้น.มีบทบาทเป็นผู้คัดหนังสือ
ซึ่งก็คือเป็นกองเซนเซอร์เองอยู่แล้ว
แต่เมื่อต้องดิ้นรนหางานที่ได้กำไรมาตีพิมพ์เอาเองเพื่อความอยู่รอด
ต่อให้เสี่ยงต่อประเด็นล่อแหลมก็ตาม
บวกกับปริมาณหนังสือออกใหม่ของประเทศจีนมีมากกว่าสามแสนปกต่อปี
และคุณหยูหัวพูดว่า "ข้าราชการทั่วโลกก็คงเหมือนกัน คือไม่ค่อยอ่านหนังสือ"
ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สนใจและสนใจไม่ไหวว่า หนังสือปีละสามแสนปกนี้
มีเรื่องต้องแบนหรือไม่ นั่นเป็นเหตุให้ "หนังสือ"
หลุดการเซนเซอร์ได้มากกว่า


      แต่ภาพยนตร์ไม่ใช่เช่นนั้น
กองเซนเซอร์ภาพยนตร์มีกันต่างหากอีกกอง พวกเขากินเงินเดือนรัฐบาลอยู่แล้ว
ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน บวกกับภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในแต่ละปีมีไม่มาก
สมมติว่าปีละสามร้อยเรื่อง
ต่อให้กองเซนเซอร์สั่งประหารภาพยนตร์ปีละสองร้อยห้าสิบเรื่อง
ก็ไม่กระทบกับชามข้าวของตัวเองแต่ประการใด
ดังนั้นกองเซนเซอร์ภาพยนตร์จึงเข้มงวดมาก


      บนอินเทอร์เน็ต ก็มีฝ่ายจับตามองอยู่ตลอด
โดยเฉพาะใครก็ตามที่มีผู้ติดตามมาก คำพูดมีคนฟังเยอะ
อย่างเช่นตัวคุณหยูหัวเอง ทวิตเตอร์ของเขา (//t.qq.com/yu_hua/
ทวิตเตอร์จีน คุณหยูหัวใช้ค่ายเถิงซวิ่น 腾讯) มีคนติดตามสิบสี่ล้านคน
เขาก็โพสต์ข้อความบ่อยๆ แต่อะไรที่รัฐบาลไม่ชอบใจก็จะลบทิ้งทันที


      ท่าทีของรัฐบาลขณะนี้ก็คือ คุณอยากจะพูดจะคุยจะอะไรกันก็แล้วแต่
จะจับกลุ่มคุยกัน เมาท์มอยในวงเหล้าก็ตามใจ แต่อย่าออกสื่อ
ไม่ว่าจะสื่อใดก็ตาม การเตือนแบบเบาะๆ ก็คือลบทิ้ง
หากหนักข้อนักก็จับเข้าซังเตด้วยข้อหาขบถ แต่ถึงกระนั้น เกม "แมวกับหนู"
ของรัฐบาลกับประชาชนก็ยังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะชาวเน็ต
คุณบล็อกเว็บไซต์ต่างชาติ พวกเขาก็มีโปรแกรมข้ามกำแพง (คุณหยูหัวเล่าว่า
ประเทศจีนน่าจะเป็นประเทศเดียวที่มีโปรแกรมข้ามกำแพงเพื่อเข้าเว็บต่างชาติ
โดยต้องจ่ายเงินเป็นรายเดือน) คุณห้ามพูดเรื่อง 4 เดือน 6 พวกเขาก็มี 35
เดือน 5 (ซึ่งตอนนี้คีย์เวิร์ด 35 เดือน 5 ก็ถูกบล็อกไปแล้วเรียบร้อย) แต่
"หนู" ในภาคประชาชน ก็จะหาทางหนีทีมุดกันต่อไป



*** *** ***


      พักอีกเบรก





Free TextEditor


Create Date : 09 ตุลาคม 2554
Last Update : 9 ตุลาคม 2554 8:33:05 น. 3 comments
Counter : 15296 Pageviews.  

 
เฮ้อ ยังคงเหนื่อยกับการใช้งาน bloggang อยู่ดี


โดย: beer87 วันที่: 9 ตุลาคม 2554 เวลา:8:35:01 น.  

 
ผ่านมาอ่าน
คนไทยอ่านได้เปล่าคะ


โดย: pantawan วันที่: 9 ตุลาคม 2554 เวลา:11:40:44 น.  

 
มาทักทายค่ะ
เมื่อก่อนมาแอบอ่านวานวานในบล็อคนี้บ่อยๆ



โดย: หมูปิ้งไม้ละ 5 บาท วันที่: 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา:0:05:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

beer87
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




บทความแปลล่าสุด

"คุณเล่นบทมนุษย์ต่างดาวเป็นไหม"

ภาพของวานวานได้รับอนุญาต
จากเจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้อง

ปล.
บล้อก ของวานวานภาคไทย


บล้อก ของซานะภาคไทย


งานที่เพิ่งแปลเสร็จ


"สัญญารัก หิมะโปรย"
โดย TOMO














[Add beer87's blog to your web]