ห้องสมุด Xiengyod
ว่าด้วยเรื่องธงต่างๆ ในเมืองไทยและนานาสาระ

เซียงยอด
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เซียงยอด's blog to your web]
Links
 

 

พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110

(คัดจากราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 12 ตอนที่ 18 หน้า 139 ลงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2438 และตันฉบับ พรบ. ธง ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) พิมพ์ที่โรงพิมพ์ตีฟ เมืองไลป์ซิก ประเทศเยอรมนี สามารถดูต้นฉบับได้ที่ //www.t-h-a-i-l-a-n-d.org/siamflag/rule.html)

พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม



มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า แต่ก่อนมาธงที่ใช้ในราชการต่างๆ ยังหาเปนแบบอย่างแน่นอนไม่ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งกองข้าหลวงให้ตรวจแบบอย่างที่สมควรแล้ว จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติไว้เปนแบบแผนสืบไป ให้ผู้มีน่าที่ต่างๆ ที่ต้องใช้ธงนั้นๆ ทำให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ทุกประการ



ข้อ 1 ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์



ข้อ 1 ธงบรมราชธวัชมหาสยามินทร์นั้น พื้นนอกสีแดงพื้นในสีขาบ เปนรูปโล่ตราแผ่นดิน มีจักรกรีไขว้กันอยู่บนโล่ มหาพิชัยมงกุฎสรวมบนจักรกรี มีเครื่องสูง 7 ชั้นสองข้าง ในโล่ตราแผ่นดินนั้น ช่องบนเปนรูปช้างไอยราพตสามเศียรพื้นเหลือง บอกนามสยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง ช่องล่างข้างขวานั้นเปนรูปช้างเผือกพื้นชมภู เปนนามสัญญาแห่งมลาวประเทศ ช่องล่างข้างซ้ายนั้นเปนรูปกฤชคดแลตรงสองอันไขว้กันพื้นแดง บอกสัญญานามมลายูประเทศ แลมีแท่นรองโล่แลเครื่องสูง 7 ชั้น พื้นสีเหลือง รวมสัญญานามที่หมายเหล่านี้ทั้งสิ้น จึ่งเปน บรมราชธวัชมหาสยามินทร์ สำหรับพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสยามินทร์แต่พระองค์เดียว ธงนี้ชักขึ้นที่แห่งใด เปนที่หมายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่นั้น ชักขึ้นในเรือพระที่นั่งฤๅเรือรบแล้ว ต้องชักขึ้นที่เสาใหญ่อยู่เปนนิตย์



ข้อ 2 ธงจุฑาธิปไตย



ข้อ 2 ธงจุฑาธิปไตย คือราชธวัชสำหรับแผ่นดินกรุงสยาม เปนรูปช้างไอยราพต สามเศียรทรงเครื่องยืนแท่น มีบุษบกแลเครื่องสูง 7 ชั้นสี่องค์ ในกลางบุษบกมีอักษร จ.ป.ร. จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช เปนพระนามาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัตยุบัน แลมีจุลมงกุฎ ไนยหนึ่งว่าพระเกี้ยวยอด อยู่บนอักษรพระนามนั้น (ที่หมายพระนามาภิไธยในบุษบกนั้นเปลี่ยนตามรัชกาล) ราชธวัชสำหรับใช้ชักขึ้นในพระมหานคร เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวัง แลใช้เปนราชธวัชสำหรับพลหลวงที่เรียกว่าทหารกรมต่างๆ ถ้าทหารกรมหนึ่งกรมใดจะไปราชการสงคราม แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิได้เสด็จพระราชดำเนินในกองนั้น ต้องใช้ธงนี้เปนที่หมายสำคัญแทนพระองค์ ฤๅเวลาที่ออกยืนแถวรับเสด็จ ฤๅเจ้านายต่างประเทศ ให้เปนเกียรติยศเท่านั้น



ข้อ 3 ธงเยาวราชธวัช



ข้อ 3 ธงเยาวราชธวัช สำหรับราชตระกูลนั้น เหมือนอย่างธงบรมราชธวัช คือมีโล่ตราแผ่นดินแลจักรกรี ยกแต่มหาพิไชยมงกุฎ เครื่องสูง แท่น แลพื้นน้ำเงินเท่านั้น สำหรับชักขึ้นที่เสาใหญ่ในเรือรบแลเรือพระที่นั่งลำหนึ่งลำใด ซึ่งราชตระกูลนั้นอยู่บนเรือรบฤๅเรือพระที่นั่งลำนั้น ธงเยาวราชธวัชนี้ จำเพาะใช้ได้แต่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี พระราชโอรส พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน แลพระบรมวงษ กรมสมเด็จ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น แลพระองค์เจ้าในพระบรมมหาราชวังเปนต้น ซึ่งมีราชอิสริยยศสมควรที่จะรับสลุตอย่างหลวง ในเรือรบทหารยืนเวลาแลยิงสลุต 21 นัด ทหารบกยืนแถวคลี่ธงจุฑาธิปไตย ธงไชยเฉลิมพล แตรเป่าเพลงสรรเสริญบารมี ถวายคำนับเปนเกียรติยศเท่านั้น ราชตระกูลนอกนั้น ถ้ามีราชการไปต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเปนการพิเศษก่อนจึ่งใช้ธงเยาวราชธวัชสำหรับพระองค์ได้



ข้อ 4 ธงไชยเฉลิมพล



ข้อ 4 ธงไชยเฉลิมพล พื้นธงเปนสีต่างๆ ตามแต่ทหารจะเหนสมควร แต่ที่มุมข้างบนมีแพรแดง เปนรูปธงโตหนึ่งในหกส่วนของธงใหญ่ มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่พื้นธงนอกจากธงช้าง ที่มุมมีตราสำหรับกองทหารนั้น เปนธงสำหรับใช้เมื่อมีการรับเสด็จในเวลาพระราชพิธีใหญ่ แลสำหรับเกียรติยศตามซึ่งจะโปรดเกล้าฯ ให้รับ แลเมื่อกองทหารจะไปปราบสัตรูก็ใช้ธงนี้ไปในกองทัพด้วย



ข้อ 5 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น



ข้อ 5 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมข้างบนมีโล่ตราแผ่นดินแลมีจักรกรีมุงกุฎข้างบนนั้น สำหรับราชทูตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลข้าหลวงใหญ่ไปราชการพิเศษ ซึ่งผู้ที่ไปรับราชการนั้น อยู่ในสถานตำแหน่ง ผู้ที่แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน ฤๅผู้แทนคอเวอนเมนต์ จึ่งจะใช้ได้ เปนที่หมายยศของผู้ที่รับราชการนั้น ชักขึ้นที่เสาน่า



ข้อ 6 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น



ข้อ 6 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมข้างบนมีโล่ตราแผ่นดิน สำหรับกงสุลประจำราชการต่างประเทศ



ข้อ 7 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น



ข้อ 7 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนมีวงขาวกลมโตหนึ่งในสี่ส่วนของกว้างแห่งธงนั้น ในกลางธงมีตราตำแหน่งของผู้ซึ่งไปราชการนั้น ถ้าเปนผู้ว่าราชการเมืองก็ให้ใช้ตรานามเมืองในวงนั้น



ข้อ 8 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น




ข้อ 8 ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงข้างบนมีจักร สำหรับชักท้ายเรือพระที่นั่ง แลเรือรบหลวง



ข้อ 9 ธงเกตุ



ข้อ 9 ธงเกตุ เปนรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น พื้นธงนั้นสีขาบ สำหรับชักขึ้นที่น่าเรือรบ แลเปนธงสำหรับหมายยศแม่ทัพเรือ ตำแหน่งที่นายพลเรือเอกชักขึ้นที่เสาใหญ่ ตำแหน่งที่นายพลเรือโทชักขึ้นที่เสาน่า ตำแหน่งที่นายพลเรือตรีชักขึ้นที่เสาท้าย



ข้อ 10 ธงหางแซงแซว



ข้อ 10 ธงหางแซงแซว ข้างต้นพื้นแดงกลางเปนวงจักรสีขาว 4 ดวง ข้างปลายหางแซงแซวนั้นสีขาบ สำหรับหมายดำแหน่งยศนายพลเรือเอก ชักขึ้นที่เสาใหญ่มีจักร 4 ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือโทมีจักร 3 ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือตรีมีจักร 2 ดวง ตำแหน่งยศนายพลเรือจัตวามีจักร 1 ดวง



ข้อ 11 ธงหางจรเข้



ข้อ 11 ธงหางจรเข้ ข้างต้นพื้นแดง กลางเปนวงจักรสีขาว 4 ดวง ข้างปลายสีขาบ ยาว 30 ฟิต กว้าง 6 นิ้ว สำหรับใช้ในเรือรบทั้งหลาย เปนที่หมายยศตำแหน่งผู้บังคับการดังนี้ ตำแหน่งที่นายเรือเอกมีจักร 4 ดวง ตำแหน่งที่นายเรือโทมีจักร 3 ดวง ตำแหน่งที่นายเรือตรีมีจักร 2 ดวง ตำแหน่งที่นายเรือจัตวามีจักร 1 ดวง



ข้อ 12 ธงนำร่อง



ข้อ 12 ธงนำร่องเปนรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ขอบนอกขาวทั้ง 4 ด้าน สำหรับชักบอกเปนที่หมาย ชักขึ้นที่ใดนำร่องอยู่ที่นั่น



ข้อ 13 ธงชาติสยาม



ข้อ 13 ธงชาติสยาม เปนรูปช้างเผือกเปล่าพื้นแดง ใช้ในเรือกำปั่นแลเรือทั้งหลายของพ่อค้าเรือกำปั่นแลเรือต่างๆ ของไปรเวตทั่วไปในชาวสยาม



ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ลงวันที่ 25 มีนาคม รัตนโกสินทรศก(24) 110 วันที่ 8536 ในรัชการปัตยุบันนี้ ๚๛




 

Create Date : 08 เมษายน 2550    
Last Update : 16 สิงหาคม 2552 13:47:09 น.
Counter : 3879 Pageviews.  

1  2  3  
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.