** เคล็ด 7 ประการในการเสริมสร้างพลังชีวิต **
บล็อกนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ดร.บุญชัย โกศลธนากุล ได้ทำการสรุปไว้ในเว็บของอาจารย์นะคะ
ผู้เขียนได้ไปอ่านเจอก็เลยเอามาแบ่งกันอ่านให้เกิดประโยชน์กับหลาย ๆ ท่านด้วยค่ะ

ลามูเต้









เคล็ด 7 ประการในการเสริมสร้างพลังชีวิต

บทความนี้สรุปประเด็นจากหนังสือเรื่อง
The Seven Spiritual Laws of Success แต่งโดย Deepak Chopra
ผู้แต่งเป็นนายแพทย์ชาวอินเดียที่อาศัยในประเทศสหรัฐอเมริกา
มีชื่อเสียงโด่งดังจนได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในร้อยบุคคล
ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในโลกยุคปัจจุบัน

ผู้แต่งเชื่อว่า
คำว่า “ความสำเร็จ ไม่ได้วัดกันที่จำนวนทรัพย์สินเงินทองหรือฐานะทางสังคม ”
แต่กลับหมายถึงการมีสุขภาพที่ดี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง
มีอิสระภาพทางด้านจิตใจ มีอารมณ์ที่มั่นคงไม่แปรปรวน มีจิตใจที่สงบและเป็นสุข
และรู้สึกว่าตนเองมีค่าที่ได้ทำประโยชน์เพื่อคนรอบข้างและสังคม

“ ความสำเร็จ ” ในมุมมองของผู้แต่งนั้น
ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ตอนที่เราทำงานสัมฤทธิ์ผลเท่านั้น
แต่เป็นทุกย่างก้าวที่เรากำลังเดินไปบนเส้นทางชีวิตต่างหาก
ความสำเร็จดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการทำงานหนัก การวางแผนที่รัดกุม
หรือความทะเยอทะยานจนสัมฤทธิ์ผล แต่เกิดจากการเข้าใจกฎธรรมชาติ
และการมีพลังแห่งความรู้สึกเป็นเข็มทิศนำทางชีวิต
ผู้แต่งได้เสนอหลักเจ็ดประการในการสร้างพลังชีวิตดังกล่าว
เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณสูงสุด


มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้

1. กฎแห่งการมีความรู้เนื้อรู้ตัวพรั่งพร้อม
การฝึกสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมเป็นวิธีการสร้างพลังแห่งความรู้สึก ซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข ความสงบ ความเข้มแข็งทางจิตใจ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความผ่องใสเบิกบาน การจะเข้าถึงพลังจิตนี้ได้ต้องเริ่มที่ความสงบในจิตใจก่อน วิธีการทำจิตให้สงบเช่น
(1) หยุดสร้างอกุศลจิตในจิตใจได้แก่ ความอาฆาตพยาบาท ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่าน ความเบื่อหน่าย และความอยากได้อยากมีอยากเป็นในเวลาที่ไม่เหมาะสม หยุดวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิหรือทับถมผู้อื่น
(2) ฝึกทำสมาธิ หรือ
(3) ไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ดูสุมทุมพุ่มไม้ เที่ยวป่าเขาลำเนาไพรชื่นชมธรรมชาติก็ช่วยให้จิตใจสงบได้เช่นเดียวกัน

2. กฎแห่งการให้
ยิ่งเราให้ไปเท่าไรก็จะยิ่งได้รับกลับมาเท่านั้นเพราะมันธรรมชาติแห่งการเติมเต็มซึ่งกันและกัน “การให้”ทำได้หลายแบบเช่น ให้วัตถุ ให้รอยยิ้ม ให้คำชม ให้ความสนใจ ให้เกียรติ ให้ความรัก ให้ความเอาใจใส่ ให้ความรู้ และให้อภัย เป็นต้น

3. กฎแห่งกรรม
ทำกรรมใดไว้ย่อมได้รับสิ่งนั้นตอบแทน กรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้กระทำมีเจตนา มีการลงมือกระทำ และเกิดผลตามเจตนานั้น ฉะนั้น ถ้าเราอยากให้สิ่งดี ๆ บังเกิดแก่ตัวเรา เราก็ต้องหมั่นพูดดี ทำดี คิดดีมีคุณธรรม รักษาศีล ๕ให้ได้เสียก่อน เมื่อปรารถนาสิ่งใดให้สร้างเหตุและปัจจัยเช่น ถ้าเราอยากให้ผู้อื่นพูดจาดีกับเรา เราก็ต้องพูดจาดีกับเขาก่อน หรือถ้าเราอยากได้คะแนนดีก็ต้องขยันและตั้งใจเรียน เป็นต้น

4. กฎแห่งการทำอะไรโดยไม่ฝืน
ผู้แต่งกล่าวว่าเราควรทำในสิ่งที่เรารักและมีความสุข เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดแรงเสียดทานในจิตใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต แสดงว่าเรากำลังบังคับโลกหรือกำลังฝืนธรรมชาติอยู่เช่น เรารู้สึกไม่พอใจกับพฤติกรรมของคนรอบข้างแสดงว่าเราเริ่มที่จะบังคับคน ๆ นั้นให้เป็นไปตามที่ใจต้องการ

อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้หมายความว่าให้เรานิ่งดูดายอะไรจะเกิดก็เกิดไป แต่อยากให้ทำใจยอมรับให้รับรู้ก่อน ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งใดก็ต้องสร้างเหตุและปัจจัยให้ผลลัพธ์นั้นเปลี่ยนแปลง ผู้แต่งเชื่อว่าทำการใดต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่าสิ่งใดสำคัญหรือไม่สำคัญสิ่งใดควรทำก่อนหรือหลัง เราไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างหรือทำงานมากชิ้น เราควรทำน้อยชิ้นแต่เกิดประโยชน์มหาศาล

อย่างไรก็ตามการจะเลือกทำสิ่งใด สิ่งนั้นจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่นด้วย เมื่อใดที่เจอปัญหาหรืออุปสรรคให้ยอมรับกับสิ่งที่เราประสบ ไม่ต้องตีโพยตีพาย ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วยังจะเป็นการเสียเวลาและเสียสุขภาพจิต ถ้าเราเผลอทำผิดก็ต้องยอมรับและรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่กล่าวโทษหรือตำหนิผู้อื่นว่าเป็นสาเหตุเพราะถ้าพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนด้วยใจเป็นกลางแล้วจะพบว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้นด้วยเช่น เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความประมาทขาดสติ เป็นต้น

5. กฎแห่งความตั้งใจและใส่ใจ
สิ่งต่าง ๆ ที่เราตั้งเป้าหมายไว้ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความตั้งใจและความใส่ใจ ฉะนั้น เราต้องตั้งจิตก่อนว่า เราอยากจะทำอะไรจริง ๆ ในชีวิต ส่วนความใส่ใจคือการจดจ่ออยู่กับสิ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ตัดขาดออกจากความคิดเดิม ๆ ในอดีตและความคิดกังวลในเรื่องอนาคต

6. กฎแห่งการปล่อยวาง
ตั้งใจลงมือทำเหตุในปัจจุบันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยจิตใจที่สบาย และให้หมั่นถามตนเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลอะไรตามมาโดยไม่ต้องกังวลว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

7. กฎแห่งจุดประสงค์แห่งชีวิต
ผู้แต่งเชื่อว่าทุกคนมีพรสวรรค์ด้วยกันทุกคนเพียงแต่จะหาเจอแล้วหรือยัง ฉะนั้น เราจะต้องเริ่มค้นหาตนเองว่าเรามีพรสวรรค์อะไรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเสียตั้งแต่วันนี้ เมื่อค้นพบแล้วให้ถามตนเองว่าเราจะใช้สิ่งนั้นเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมและเพื่อนร่วมโลกได้อย่างไร นั่นเองคือจุดประสงค์ที่เราเกิดมาบนโลกใบนี้






Create Date : 20 มีนาคม 2554
Last Update : 20 มีนาคม 2554 0:33:29 น.
Counter : 1429 Pageviews.

1 comments
  
ขอบคุณมากๆเลยครับ เป็นประโยชน์สำหรับตัวผมอย่างมากเลย
โดย: Doi IP: 202.28.45.14 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:12:28:22 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลามูเต้
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]



ไทป์ 5....การง่วนอยู่กับรูปแบบที่คุ้นเคยจนสามารถมองเห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เคยเห็นมาก่อนได้
All Blog