::พลังขจัดสิ่งอัปมงคล::
Group Blog
 
All blogs
 

สัญลักษณ์ต่างๆ ของพระพิฆเนศวร์

แปลจาก //www.shreeganesh.com/loving_ganesh/books/lg/lg_ch-06.html


สัญลักษณ์ต่างๆ ของพระพิฆเนศวร์

วิตรรกมุทรา (Vitarka mudra) หรือท่าของการแสดงธรรม รวมทั้งดอกไม้สีแดงและเหลือง มีความเกี่ยวข้องกับพระพิฆเนศวร์
ช้างเป็นสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความฉลาด และความสง่างาม ในอดีตช้างเป็นสัตว์ที่ใช้เลือกผู้สืบราชบัลลังก์ ช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ (ช้างไม่ว่าตัวเล็กหรือใหญ่ ต่างก็กินแต่พืช) เมื่อมีช้างเกิดใหม่ย่อมหมายถึงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของประเทศ

พระกร (แขน) ทั้ง 4 หมายถึงพลังอำนาจที่จะช่วยเหลือมนุษย์
บ่วงบาศก์และขอสับช้างที่ทรงถือ หมายถึงการแพร่หลายกระจายออกไป และความสง่างาม

งาข้างที่หักที่ทรงถือไว้ในพระหัตถ์ขวา หมายความว่าพระองค์ทรงเป็นผู้คุ้มครองจากภัยอันตรายต่างๆ

พระนาภี (ท้อง) ที่พลุ้ยใหญ่ หมายถึงความอดทน และยังแสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลต่างมีอยู่ในพระองค์

พระบาท (เท้า) หมายถึงสิทธิและพุทธิ หรือการบรรลุในสิ่งที่ปรารถนาและความรู้

ขนมโมทกะ (Modaka) เป็นสัญลักษณ์แทนชญาณ (jnana) หมายถึงความปิติสุข
พาหนะของพระองค์แทนความปรารถนาทางโลกที่จะต้องเอาชนะให้ได้

สังข์ (Shankha)
พระองค์ทรงฟังเสียงสังข์ที่เป่าบูชา ทำให้ทรงนึกถึงเสียงช้างที่ร้องอย่างมีความสุขในป่า จึงทรงกล่าวว่า “มาเถิด พวกเจ้าจงมาหาข้าเพื่อบูชาข้า” หมายถึง การอำนวยอวยชัยให้มีชื่อเสียง,เกียรติยศ

อังกุษ (Ankusha) – ขอสับช้าง
หมายถึง อำนวยอวยชัยทางด้านอายุ

Parashu – ขวาน
พระองค์ทรงรู้ว่าสาวกบางคนอาจต้องพบเจอกับอุปสรรคในอนาคต จึงใช้ขวานนี้ปกป้องสาวกของพระองค์อย่างนุ่มนวลจากเหล่าปีศาจที่เข้ามา หมายถึงการกำจัดอุปสรรค์นานาประการ

Pasha – บ่วงบาศก์
จิตใจที่กรุณาของพระองค์เปรียบเหมือนบ่วงบาศก์ที่ดึงเอาเหล่าสาวกผู้บูชาพระองค์ที่เดินสะเปะสะปะไร้จุดหมายเข้ามาใกล้ๆ และคอยปกป้องเขาเหล่านั้น หมายถึง ใช้สำหรับมัดคนที่ประพฤติผิดศีลธรรมให้กลับกลายเป็นคนดี

วัชระตรีศูล (Vajratrishula) - สายฟ้า
เช่นเดียวกับพี่ของพระองค์ (Murugan- ไม่แน่ใจว่าคือพระขันธกุมารหรือเปล่า) พระพิฆเนศวร์ทรงมีสายฟ้าเป็นอาวุธ หมายถึงจิตวิญญาณที่อยู่เหนือจิตใจ, จิตใจอยู่เหนือวัตถุ ควบคุมจักระ (Chakra) ทั้งสูงและต่ำ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ใน 3 โลก อำนวยอวยชัยทางด้านอำนาจ บารมี

จักร - (Chakra)
เป็นสัญลักษณ์แทนดวงอาทิตย์ (แทนใจ) และดวงจันทร์ (แทนความรู้สึก) ซึ่งหมายถึง สติปัญญาของพระผู้เป็นเจ้า ใช้ป้องกันภัยอันตราย ความชั่วร้าย และสิ่งอัปมงคลต่างๆ

โมทกะภัทร (Modakapatra) – ถ้วยขนมโมทกะ
พระพิฆเนศวร์ทรงมีฟันผุ แต่ขนมโมทกะคือสัญลักษณ์ของความหลุดพ้น – โมกษ (Moksha) ซึ่งเป็นสิ่งที่พระองค์รักที่สุด

คฑา (Gada) – ภาษาอังกฤษใช้ว่า Mace จะแปลว่ากระบองก็ได้
คฑาแทนการตัดสินใจเด็ดขาดและความเป็นผู้นำของพระพิฆเนศวร์ ทรงสอนสาวกให้อย่ายอมพ่ายแพ้หรือล้มเลิกกลางคันจนกว่าจะทำงานแล้วเสร็จ

กริช - (Chhuri)
บางครั้งพระองค์ทรงถือกริชซึ่งมีความคมเหมือนใบมีดโกน หมายถึงความยากลำบาก ความขัดข้องต่างๆ ที่เหล่าสาวกจะต้องเผชิญในบางครั้ง อุปสรรคที่ต้องฟันฝ่า

สร้อยปะคำ - (Rudraksha Mala)
พระพิฆเนศวร์ทรงนั่งอยู่ที่เบื้องบาทพระศิวะพร้อมกับถือ Japa Mala (ลูกปะคำ) ไว้ในมือ คอยรอคำสั่ง/โองการจากองค์พระบิดาที่เป็นจอมเทพเหนือเทพทั้งปวง ใช้สำหรับสวดอ้อนวอนต่อพระผู้เป็นเจ้า และเจริญสมาธิ

บุปผศร (Pushpashara) – ศรดอกไม้
พระองค์ทรงยิงศรที่หุ้มด้วยมวลดอกไม้จากคันธนูที่ทำจากอ้อย เพื่อนำทางเหล่าสาวกของพระองค์ไม่ให้เดินห่างไปจากเส้นทางธรรมของความอิ่มเองใจที่แท้จริง ศรนี้ใช้บอกทางเดินที่ถูกต้อง และอำนวยอวยชัยให้สมปรารถนาในความรัก เป็นธนูแห่งรัก พระกามเทพทรงถวายมี 3 ดอก คือ รัก เสน่หา และลุ่มหลงคลั่งไคล้

อมฤตกุมภ์ (Amritakumbha) – หม้อน้ำทิพย์
พระองค์ได้รับการชำระล้าง (อาบน้ำ) ทุกครั้งเมื่อเหล่าผู้บูชาไขว้แขนเคาะวิหารของพระองค์ น้ำอมฤต (Amrita) จะไหลจากสหัสราระจักรา (sahasrara) ไปยังมูลธารจักรา (muladhara)
ใช้ชะล้างสิ่งอัปมงคล ชั่วร้าย

ปัทม (Padma) – ดอกบัว
พระองค์ต้องการให้เหล่าสาวกมีความมั่นใจ/เชื่อมั่นในตัวเอง โดยเรียนรู้จากดอกบัวที่เติบโตขึ้นอยู่กลางโคลนตมแต่ก็สามารถชูช่อดอกบานสูงพ้นน้ำได้ ความหมายทางนัย คล้ายกับดอกบัว 4 เหล่าของศาสนาพุทธ


# มีต่อนะครับ




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2551    
Last Update : 18 สิงหาคม 2551 17:00:49 น.
Counter : 5769 Pageviews.  

พระพิฆเนศ 32 ปาง

พระพิฆเนศวร์ 32 ปาง

คำว่า "คเณศวร์" เป็นคำภาษาสันสกฤต 2 คำรวมกัน คือ 'คณะ'+ 'อิศ'

คณะ = ฝูงชน, กลุ่มชน
อิศ = ผู้ปกครอง, ผู้เป็นใหญ่

จึงมีความหมายเหมือนกับคำว่า คณปติ

ในฐานะคณปติ (Ganapati) พระองค์ทรงเป็นผู้นำของเหล่าเทวดานางฟ้า ปกครองควบคุมโดยไม่ใช่การบังคับหรือความเข้มแข็งแต่ด้วยการใช้สติปัญญาและกลยุทธ พระองค์ทรงไม่รีบร้อนหากแต่ระมัดระวัง อดทนรอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เราเดินตามแนวทางของพระองค์

ในฐานะพิฆเนศวร (Vighneshvara) (ว แผลงเป็น พ ได้ในภาษาไทย) ทรงเป็นใหญ่ในอุปสรรคทั้งปวง ทรงบันดาลอุปสรรคและความยากลำบากแก่เราในยามที่ยังไม่ถึงเวลาเดินหน้า และทลายอุปสรรคนั้นในยามที่เราควรได้รับความสำเร็จ พระองค์คือผู้ที่เราควรวิงวอนยามที่ต้องการทำงานใดหรือวางแผนเปลี่ยนแปลงชีวิต

ในฐานะเอกทันต์ (Ekadanta) ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วรรณกรรม เป็นผู้เขียนมหากาพย์มหาภารตะ ทรงให้บทเรียนแก่เราว่าความรู้และธรรมะเป็นสิ่งสำคัญสุดของชีวิต ควรค่าแก่การบูชา

ในฐานะสิทธิธาตุ (Siddhidata) ทรงเป็นผู้ให้ความสำเร็จที่มาพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ในชีวิต พระองค์ทรงนำธาตุทั้ง 5 เข้ามารวมกันและกำหนดพลังพื้นฐานที่คอยดูแลและจัดระเบียบจักรวาล

คัมภีร์ Mudgala Purana กล่าวถึงปางทั้ง 8 ของพระพิฆเนศวร์ ที่คอยควบคุมด้านที่อ่อนแอของมนุษย์

1 เอกทันต์ - ผู้เป็นใหญ่เหนือโมท (Moda - นึกถึงคำว่าปราโมทย์ก็ได้) - ความโอหัง

2 Dhumravarna (ผู้มีกายสีควันไฟ) - ผู้เอาชนะอภิมานะ (Abhimana) หรือความหยิ่งยโส

3 Vakratunda (ผู้มีงวงโค้ง) - ผู้กำจัดความอิจฉาริษยา (Matsarya)

4 Mahodara (มโหทร - ผู้มีท้องใหญ่) - ผู้เป็นใหญ่เหนือโมหะ - ความหลงใหล

5 Gajanana (คชนานา - ผู้มีใบหน้าเป็นช้าง) ผู้เอาชนะความโลภ

6 Lambodara (ผู้มีพุงพลุ้ย - ลัมโพทร) ผู้เอาชนะความโกรธ

7 Vikata (วิกรรตะ - ผู้มีร่างกายพิการ) ผู้เอาชนะกาม (ความปรารถนาในกาม)

8 Vighnaraja (ผู้เป็นใหญ่แห่งอุปสรรค) ผู้อยู่เหนือมามตะ (ผู้ยึดอัตตาตัวเองเป็นสำคัญ)





ศักติของพระพิฆเนศวร์
ในอินเดียเหนือบอกว่ามีศักติ 2 องค์
1 พุทธิ (ปัญญา / ความเฉียบแหลม)
2 สิทธิ (ความสำเร็จ / สมปรารถนา)

แต่ "ทางอินเดียใต้บอกว่าพระองค์ทรงครองพรหมจรรย์ ไม่มีชายา"

จริงๆ แล้วไม่มีเทพองค์ใดที่มีภรรยา (Wife) อย่าไปคิดว่าศักติคือเทพอีกองค์หนึ่งแยกต่างหาก หากแต่ศักติคือคุณสมบัติหนึ่งขององค์เทพนั้นๆ อย่านำมหาเทพซึ่งอยู่บนโลกที่ 3 (ศิวโลก) มาเปรียบกับมนุษย์ที่อยู่บนโลกที่ 1
มหาเทพไม่ได้แบ่งเพศเป็นหญิงหรือชายเช่นเรา พระองค์ทรงบริสุทธิ์ จึงไม่ควรเรียกพุทธิและสิทธิว่าเป็นชายาของพระพิฆเนศวร์ หากแต่ควรจะเรียกว่าเป็นศักติของพระองค์ ศักติทั้งสองคือพรที่ผู้บูชาพระองค์จะได้รับ


พระพิฆเนศวร์ 32 ปาง
คัมภีร์ Mudgala Purana ยังกล่าวถึงปางอีก 32 ปาง นอกเหนือจาก 8 ปางข้างบน



1 Bala Ganapati (บาลคณปติ) พระพิฆเนศวร์ยามเด็ก พักตร์ดูเด็ก กายสีทอง หัตถ์ถือกล้วย มะม่วง อ้อย ขนุน ผลไม้ทั้ง 3 แทนความอุดมสมบูรณ์ของโลก งวงชูถ้วยขนมของโปรด (โมทกะ)



2 Taruna Ganapati (ดรุณาคณปติ) พระพิฆเนศวร์ยามหนุ่ม พักตร์ดูหนุ่ม มี 8 กร หัตถ์ถือบ่วงบาศก์, ขอสับช้าง, ขนมโมทกะ, มะขวิด (Wood apple), ชมพู่, งาข้างที่หักไป , รวงข้าว, อ้อย กายสีแดงแสดงถึงความสดใสของวัยเยาว์



3 Bhakti Ganapati (ภักติคณปติ) ทรงเป็นที่รักของเหล่าสาวกผู้บูชาพระองค์ หัตถ์ถือมะม่วง มะพร้าว กล้วย ถ้วยขนม payasa สีกายสว่างดุจจันทร์เพ็ญกลางฤดูเก็บเกี่ยว ประดับด้วยมาลัยดอกไม้



4 Vira Ganapati (วีรคณปติ) "นักรบผู้กล้าหาญ" อยู่ในท่าประทับยืนเป็นผู้นำ มี 16 กร ถืออาวุธต่างๆ ได้แก่ ขอสับช้าง, จักร, คันธนู, ลูกธนู, ดาบ, โล่, หอก, ตะบอง, ขวานศึก, ตรีศูล, ฯลฯ



5 Shakti Ganapati (ศักติคณปติ) ผู้ทรงด้วยศักดิ์ (พลังอำนาจ) ประทับนั่งมี 4 กร มีศักตินั่งอยู่บนเข่าข้างหนึ่ง กายสีแดงอมส้ม (สีแสด) ศักติคณปติทรงคอยคุ้มครองบ้านเรือน ในมือถือพวงมาลัย บ่วงบาศก์ ขอสับช้าง ส่วนอีกมือหนึ่งทำท่า "อภัยมุทรา" - ปางประทานพร



6 Dvija Ganapati (ทวิชาคณปติ - ผู้เกิด 2 ครั้ง) มี 4 หน้า ผิวกายสีดวงจันทร์ ในมือถือขอสับช้าง, บ่วงบาศก์, คัมภีร์ Ola, ไม้เท้า, หม้อน้ำ, ลูกประคำ, พระองค์ทรงเตือนให้เราตระหนักถึงความมานะพยายาม.



7 Siddhi Ganapati (สิทธิคณปติ) มีกายสีเหลืองทอง เป็นตัวแทนของความสำเร็จ การเป็นนายตนเอง (Self-mastery) ประทับนั่งในอิริยาบถสบายๆ มือถือช่อดอกไม้, ขวาน, มะม่วง, อ้อย งวงชูขนมงาหวาน



8 Ucchhishta Ganapati (ผู้เป็นใหญ่ในการประทานพร ผู้ธำรงรักษณวัฒนธรรม/สิ่งดีงาม) กายสีน้ำเงิน มี 6 กร มีศักตินั่งอยู่บนเข่าข้างหนึ่ง มือถือพิณ (วีณา), ทับทิม, ดอกบัวสีน้ำเงิน, ลูกประคำ และรวงข้าว



9 Vighna Ganapati (ผู้เป็นใหญ่เหนืออุปสรรค / ความขัดข้อง) กายสีทองสุก ประดับด้วยอัญมณี มี 8 กร ถือขอสับช้าง, บ่วงบาศก์ งาข้างที่หัก และขนมโมทกะ หอยสังข์และจักร ช่อดอกไม้ อ้อย บุปผศร และขวาน



10 Kshipra Ganapati (กษิประคณปติ) กายสีแดง รูปโฉมงดงาม ทรงเป็นผู้ประทานพรอย่างทันใจ ในมือถืองาข้างที่หักไป, บ่วงบาศก์, ขอสับช้าง, กิ่งกัลปพฤกษ์ (kalpavriksha) ซึ่งแทนถึงการสมปรารถนา งวงชูถ้วยบรรจุอัญมณี



11 Heramba Ganapati (เหรัมภาคณปติ) มี 5 พักตร์ 10 กร กายสีขาว ประทับบนหลังราชสีห์ 2 มือทรงแสดงท่าคุ้มครองและประทานพร เนื่องจากทรงเป็นผู้ปกปักคุ้มครองผู้ป่วย มือที่เหลือถือบ่วงบาศก์, ลูกประคำ, ขวาน, ค้อน, งาขางที่หัก, พวงมาลัย ผลไม้ และขนมโมทกะ



12 Lakshmi Ganapati (ลักษณมีคณปติ) กายสีขาวบริสุทธิ์ เป็นผู้ประทานความสำเร็จ มีศักติทั้ง 2 องค์นั่งอยู่เข่า (พุทธิและสิทธิ) หมายถึงปัญญาความเฉียบแหลมและความสำเร็จ องค์คณปติประทับอยู่ในท่า 'varada mudra' (น่าจะตรงกับท่า วรมุทรา) ในมือถือนกแก้วสีเขียว ทับทิม ดาบ ขอสับช้าง บ่วงบาศก์ กิ่งกัลปพฤกษ์ และหม้อน้ำ



13 Maha Ganapati มหาคณปติ (คณปติผู้ยิ่งใหญ่) กายสีแดง มี 3 เนตร มีศักตินั่งอยู่บนเข่าองค์หนึ่ง ในมือถืองาข้างที่หัก ทับทิม ดอกบัวสีน้ำเงิน คันธนูทำจากอ้อย จักร บ่วงบาศก์ ดอกบัวหลวง รวงข้าว ตะบอง (คฑา) และหม้อใส่อัญมณี



14 Vijaya Ganapati (วิชัยคณปติ) ผู้ประทานชัยชนะความสำเร็จ กายสีแดง มี 4 กร ประทับนั่งบนหนู (มุสิก.) มือถืองาข้างที่หัก, ขอสับช้าง บ่วงบาศก์ มะม่วงสุก (ผลไม้โปรด)



15 Nritya Ganapati (นฤตยาคณปติ) ผู้ร่ายรำอย่างมีความสุข มี 4 กร กายสีทอง นิ้วสวมแหวน มือถืองาข้างที่หัก ขอสับช้าง บ่วงบาศก์ และขนมโมทกะ ประทับอยู่ใต้ต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งหมายถึงความสุขอย่างที่สุด



16 Urdhva Ganapati ผู้มีจิตใจสูง/ได้รับการขัดเกลา ประทับนั่ง โดยมีศักติองค์หนึ่งนั่งอยู่บนเข่าข้างซ้าย ผิวกายสีทอง มี 6 กร มือถือรวงข้าว ดอกบัวหลวง คันธนูทำจากอ้อย ลูกศร งาข้างที่หัก บัวสีน้ำเงิน



17 Ekakshara Ganapati (เอกอักษราคณปติ) (เอกอักษร - อักษรตัวเดียว) มี 4 กร ผิวกายและเครื่องทรงสีแดง 3 เนตร ทรงจันทร์เสี้ยวเป็นมงกุฏ นั่งขัดสมาธิอยู่บนหลังหนู พระหัตถ์หนึ่งทำท่าประทานพร ส่วนที่เหลือถือทับทิม บ่วงบาศก์ และขอสับช้าง



18 Varada Ganapati (ผู้ประทานพรด้วยดวงตาที่สามแห่งปัญญา) มี 4 กร มือถือหม้อน้ำผึ้ง บ่วงบาศก์ ขอสับช้าง งวงชูหม้อใส่อัญมณี มีศักตินั่งอยู่ข้างองค์ ทรงจันทร์เสี้ยวเป็นมงกุฎ



19. Tryakshara Ganapati (ตรีอักษราคณปติ - 3 ตัวอักษร หรือโอม - อะ อุ มะ) ผิวกายสีทอง มี 4 กร พระกรรณ (หู) หลุบต่ำ มีจามรประดับหู มือถือขอสับช้าง บ่วงบาศก์ งาข้างที่หัก มะม่วง งวงชูขนมโมทกะ



20 Kshipra Prasada Ganapati (กษิประปราสาทคณปติ) ผู้ให้รางวัลตอบแทนอย่างรวดเร็ว นั่งอยู่บนบัลลังก์หญ้าคา (กุษา) มี 6 กร พุงพลุ้ยใหญ่หมายถึงจักรวาลทุกสิ่งทุกอย่าง มือถือขอสับช้าง บ่วงบาศก์ งาข้างที่หัก ดอกบัวหลวง ทับทิม กิ่งกัลปพฤกษ์



21 Haridra Ganapati (หริทรคณปติ) ผิวกายสีทอง ทรงเครื่องสีเหลืองสด ประทับนั่งบนบังลังก์ 4 กร มือถืองาข้างที่หัก ขนมโมกทะ บ่วงบาศก์สำหรับมัดเหล่าสาวกให้เข้ามาใกล้พระองค์ และขอสับช้างเพื่อบังคับให้สาวกก้าวไปข้างหน้า



22 Ekadanta Ganapati (เอกทันตคณปติ) กายสีน้ำเงิน พุงใหญ่ 4 กร ทรงถือขวานสำหรับตัดความโง๋เขลา ลูกประคำ ขนมหวานทำจากนม และงาขวาที่หักไบ



23 Srishti Ganapati ผู้เป็นใหญ่แห่งความสุข มี 4 กร กายสีแดง มือถือขอสับช้าง บ่วงบาศก์ มะม่วงสุก งาข้างที่หักซึ่งหมายถึงการอุทิศตนโดยปราศจากความเห็นแก่ตัว



24 Uddanda Ganapati ผู้บันดาลซึ่งธรรม มี 10 กร มือถือหม้ออัญมณี บัวสีน้ำเงิน อ้อย คฑา บัวหลวง รวงข้าว ทับทิม บ่วงบาศก์ มาลัย และงาข้างที่หัก



25 Rinamochana Ganapati ผู้ปลดปล่อยมนุษย์จากบาปและความผิด ผิวกายสีขาว ทรงภูษาผ้าไหมสีแดง มี 4 กร มือถือบ่วงบาศก์ ขอสับช้าง งาข้างที่หัก และชมพู่ผลไม้โปรด



26 Dhundhi Ganapati (ธันธิคณปติ) ผู้เป็นที่รักเป็นที่ต้องการ มี 4 กร มือถือสร้อยประคำ งาข้างที่หัก ขวาน หม้ออัญมณีซึ่งเป็นตัวแทนของการรู้ตัว ทรงปกป้องผู้อุทิศตัวให้กับพระองค์



27 Dvimukha Ganapati (ทวิมุขคณปติ) 2 พักตร์ ผิวกายสีเขียวอมน้ำเงิน 4 กร ทรงภูษาผ้าไหมสีแดง ทรงมงกุฏ มือถือบ่วงบาศก์ ขอสับช้าง งาที่หัก หม้ออัญมณี



28 Trimukha Ganapati (ตรีมุขคณปติ) 3 พักตร์ 6 กร กายสีแดง ประทับนั่งบนดอกบัวสีทอง 4 มือถือประคำ ขอสับช้าง บ่วงบาศก์ หม้อน้ำอมฤต อีก 2 มือทำท่าปกป้องด้วยมือขวา มือซ้ายทำท่าประทานพร



29 Sinha Ganapati (สิงหคณปติ) 8 กร กายสีขาว ประทับนั่งบนราชสีห์ มือหนึ่งถือราชสีห์อีกตัวไว้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเข้มแข็งและการปราศจากความกลัว มือที่เหลือถือกิ่งกัลปพฤกษ์ พิณ ดอกบัวหลวง พวงมาลัยดอกไม้ และหม้ออัญมณี



30 Yoga Ganapati (โยคคณปติ) 4 กร ผิวกายสีอาทิตย์อุทัย (อาทิตย์ขึ้น) ทรงเครื่องสีฟ้า ประทับนั่ง โดยรัดเข่าด้วยสายรัดสำหรับทำสมาธิ มือถือไม้เท้าโยคทัณฑ์ อ้อย บ่วงบาศก์ ลูกประคำ



31 Durga Ganapati (ทุรคาคณปติ) ผู้ไม่สามารถเอาชนะได้ (ผู้ชนะตลอดกาล) ทรงถือธงชัยโบกสบัดอยู่เหนือความมืด ผิวกายสีทองเข้ม 8 กร ทรงเครื่องสีแดง มือถือคันธนูและลูกศร บ่วงบาศก์และขอสับช้าง สร้อยประคำ งาที่หัก และชมพู่



32 Sankatahara Ganapati ผู้ปัดเป่าความเศร้าโศก ผิวกายสีดวงอาทิตย์ ทรงเครื่องสีน้ำเงิน ประทับนั่งบนดอกบัวสีแดง มี 4 กร มือถือถ้วยขนม Pasaya (ขนมมันสำปะหลัง) บ่วงบาศก์ และขอสับช้าง 2 มือทำท่าวรมุทรา มีศักติองค์หนึ่งนั่งอยู่เข่า


ในศาสนาฮินดู เมื่อเกิดเรื่องไม่ดี โชคร้าย มีเคราะห์ ให้ขอพรจากพระพิฆเนศวร์ก่อนเทพองค์อื่นเสมอ


ข้อมูลจาก จาก //www.shreeganesh.com/loving_ganesh/books/lg/lg_ch-06.html




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2551    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2551 14:30:33 น.
Counter : 9688 Pageviews.  

ประวัติพระพิฆเนศ

พระพิฆเนศ เทพผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง

พระพิฆเนศ หรือ พระคเนศ นามเดิม คือ คณปติ
บุตรแห่งพระนางปารวตี(พระแม่อุมา)และพระศิวะ



พระพิฆเนศวร (Ganesh, ภาษาสันสกฤต गणेश) หรือ พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆเณศ หรือ พระวิฆเณศวร หรือ พระพิฆเณศ หรือ พระคเณศ หรือ คณปติเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความรู้ เป็นผู้มีปัญญาเป็นเลิศ ปราดเปรื่องในศิลปวิทยาทุกแขนง เป็นหัวหน้านำคณะข้ามความขัดข้อง (ผู้เป็นใหญ่เหนือความขัดข้อง)
(ข้อมูล wikipedia)



กำเนิดพระพิฆเนศ

การกำเนิดมีกล่าวแตกต่างกันแต่ละคัมภีร์ ผมขออนุญาตนำเสนอคัมภีร์นี้ครับ

พระนางปารวตี (พระแม่อุมา) หลังเสกสมรสกับพระศิวะทรงอยากได้พระราชบุตร พระนางปารวตีมรงสร้างพระโอรสจากไคลของพระนางมาปั้นเป็นบุรุษรูปงาม (ได้รับคำแนะนำจากนางสนองพระโอษฐ์ คือ วิชยา กับ ชายา) เพื่อเฝ้าทวารบาล ดูแลห้องบรรทม ทรงให้พระนามว่า
“คเนศ” ขณะนั้นพระศิวะได้กลับจากการถือศีลสมาธิ จะเข้าห้องบรรทมของพระนางปารวตี แต่คเนศขัดขวางและต่อสู้กัน เพราะต่างมิทรงทราบว่าเป็นพระบิดาและพระราชบุตร พระศิวะพิโรธจึงทรงตัดพระเศียรด้วยตรีศูล
เมื่อพระนางปารวตีได้ยินเสียงต่อสู้จึงออกมาพบ พระกุมาร(คเนศ)สิ้นลง ทรงกรรแสงและพิโรธ จึงกลายร่างนับพันๆ องค์ เกิดเป็นศักติขึ้น ที่สามารถทำลายล้างโลก

บัดนั้นทั้ง 3 โลก คือพระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม ยอมนอบน้อม และสัญญาจะหาเศียรแทน พระศิวะจึงทรงให้พระวิษณุเสด็จไปหาเศียรทางทิศเหนือ พระวิษณุทรงพบเศียรช้างนอนสิ้นอยู่ จึงตัดเศียรช้างมาต่อ
พระนางปารวตีทรงดีพระทัย

พระศิวะจึงทรงให้พรและตั้งพระนามว่า “คณปติ” แปลว่า ผู้ได้เป็นหัวหน้าบริวารพระศิวะเป็นผู้ขจัดอุปสรรคทั้งปวง และควรได้รับการบูชาก่อนเทวะองค์อื่นๆ


เทวรูปกลางน้ำ
..


เทวาลัยสวย ๆ



คาถาบูชาทั่วไป โอม ศรี คเนศายะ นะ มะ ฮะ

คาถาบูชาประจำวัน

สำหรับผู้เกิดวันอาทิตย์
โอม ศรี มหาวีระ คะ ณะ ปะ ติ เย นะ มะ ฮะ


สำหรับผู้เกิดวันจันทร์
คาถาบูชาคือ โอม ศรี ทวิ-มุข คะ ณะ ปะ ติ เย นะ มะ ฮะ



สำหรับผู้เกิดวันอังคาร
คาถาบูชาคือ โอม ศรี ตรี-มุข-ติ คะ ณะ ปะ ติ เย นะ มะ ฮะ



สำหรับผู้เกิดวันพุธ
คาถาบูชาคือ โอม ศรี ทวิ-จา คะ ณะ ปะ ติ เย ยะ นะ ฮะ



สำหรับผู้เกิดวันราหู(วันพุธกลางคืน)
คาถาบูชาคือ โอม ศรี เอก-ซารา-คณปติ เย ยะ นะ มะ ฮะ



สำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดี
คาถาบูชาคือ โอม ศรี มหา เฮ-รัม-ภะ คะ ณะ ปะ ติ เย นะ มะ ฮะ



สำหรับผู้เกิดวันศุกร์
คาถาบูชาคือ โอม ศรี เอก-ทัน-ตะ คะ ณะ ปะ ติ เย ยะ นะ มะ ฮะ




สำหรับผู้เกิดวันเสาร์
คาถาบูชาคือ โอม ศรี สิทธิ-คะ ณะ ปิ ติ เย ยะ มะ ฮะ






 

Create Date : 17 มิถุนายน 2551    
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 20:37:23 น.
Counter : 11955 Pageviews.  


booz-zaa
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add booz-zaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.