Group Blog
 
All Blogs
 
เลี้ยงกล้วยไม้ไม่ใช้สารเคมี.................ทำได้จริงหรือไม่

เลี้ยงกล้วยไม้ไม่ใช้สารเคมี.................ทำได้จริงหรือไม่

ในระยะที่ผ่านมากระแสเรื่องชีวภาพมาแรงมาก แรงไปทั่ว ทำให้หลายๆคนที่เลี้ยงกล้วยไม้แล้วกลัวหรือรังเกียจสารเคมี หันมาใช้พวกนี้แทน แต่เนื่องจากกล้วยไม้เป็นพืชที่ต่างจากพืชทั่วๆไปที่ปลูกอยู่ในดิน ดังนั้นการนำสารชีวภาพมาใช้กับกล้วยไม้ จึงมีคำถามว่า “ทำได้จริงหรือไม่”

ทีนี้มาดูกันครับ ว่าสารเคมีที่เราใช้หลักๆในการเลี้ยงกล้วยไม้มีอะไรบ้าง

1 ปุ๋ยเคมี อยู่ในรูปแบบปุ๋ยเกร็ดละลายน้ำ เป็นปุ๋ยที่มีธาตุหลักที่พืชต้องการ คือ N P K มีสูตรต่างๆมากมาย ให้ได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม และยังจะมีพวกคีเลด หรือพวกธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริมต่างๆอีก

2 สารป้องกันกำจัดเชื้อรา กลุ่มนี้จะมีมากมายหลายชนิด อย่างน้อยๆที่ต้องมีไว้ใช้ก็ 3 ตัวแล้ว เอาไว้ป้องกันเชื้อราต่างๆ เช่น เน่าดำ แอนแทรกโนส ราเม็ดผักกาด ซึ่งการใช้สารพวกนี้ต้องให้เป็นประจำอย่างน้อยๆเดือนละครั้งก็ยังดี

3 สารป้องกันกำจัดแมลง กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อันตรายมากที่สุด สารบางตัวแรงมาก คนได้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็สามารถตายได้ เรามีไว้เพื่อป้องกัน กำจัดพวกแมลงต่างๆ มด เพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ไรแดง สารพวกนี้เราต้องให้อย่างน้อยๆเดือนละครั้ง

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือเรื่องจำเป็นที่จะต้องทำ การให้ปุ๋ย การป้องกันกำจัด แมลง การป้องกันกำจัดเชื้อราศัตรูกล้วยไม้
แล้วถ้าเราไม่ต้องการใช้สารเคมีล่ะ เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง จะหาอะไรมาทดแทนได้บ้าง


ในท้องตลาด ลองไปเดินดูได้ครับ จะมีสารชีวภาพมากมาย ไม่ว่าเป็นพวกน้ำหมัก สาร EM สารชีวภาพกำจัดแมลง สมุนไพรกำจัดแมลง สารชีวภาพป้องกันเชื้อรา มีขายกันอยู่มากมาย แล้วทราบไหมครับว่าที่ขายๆกันอยู่นั้นคืออะไร มีที่มาอย่างไร มันสามารถให้ธาตุอาหารจริงหรือไม่ สามารถป้อนกันเชื้อรา หรือแมลงได้จริงหรือ ซึ่งถ้าไปดูกันให้ดีๆแล้ว สรรพคุณต่างๆนั้น เป็นเหมือนคำบอกเล่า เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน บอกเล่าต่อๆกันมา
ผมเชื่อว่าของพวกนั้นสามารถใช้ได้จริง แต่อย่าลืมนะครับว่า กล้วยไม้ของเรานั้นมันต่างจากพืชอื่นๆทั่วไป


แล้วทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะ จะเอาอะไรมาใช้ดี
เรามาหาสิ่งที่จะมาทดแทนสารเคมีกันครับ ผมจะแยกให้ดูตามสิ่งที่เราต้องการคือ
1 ปุ๋ย
2 ป้องกันกำจัดเชื้อรา
3 ป้องกันกำจัดแมลง


1 ปุ๋ย หรือธาตุอาหาร สิ่งที่จะมาทดแทนสารเคมีหรือปุ๋ยเคมีได้ก็คือปุ๋ยที่หมักออกมาเป็นน้ำ และจะต้องมีธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการของพืช ปุ๋ยน้ำหมักที่น่านำมาใช้คือปุ๋ยที่หมักจากปลาหรือหอย ซึ่ง ประกอบด้วยธาตุอาหารหลัก ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยธาตุอาหารรองได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน และธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส
นอกจากนี้ปุ๋ยปลายังประกอบด้วยโปรตีนและกรดอะมิโน ซึ่งเกิดจากกระบวนการย่อยสลายของโปรตีนในตัวปลา ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการบ่งชี้ชัดว่ากรดอะมิโนสามารถจับตัวกับธาตุอาหารปุ๋ยทำให้ ปุ๋ยสามารถดูดซึมเข้าสู่ต้นพืชได้เร็วขึ้น

วิธีทำปุ๋ยปลานั้น เราสามารถทำเองได้ง่ายๆ โดยการนำปลาหรือเศษปลา ผลไม้สุก กากน้ำตาล สารเร่งหรือหัวเชื้อ EM เอามาหมักรวมกันไว้ เมื่อได้ที่ก็เอามากรอง นำน้ำหมักที่ได้ไปผสมน้ำฉีดกล้วยไม้

ข้อดีของปุ๋ยปลาคือ มีธาตุอาหารครบถ้วน ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้และสัตว์เลี้ยง
ข้อเสียการใช้ปุ๋ยปลานั้นมีเล็กน้อย
- มีกลิ่น หอมหรือเหม็นนั้นขึ้นอยู่กับผู้ใช้และการหมัก ถ้าใส่ผลไม้สุกลงไปด้วย กลิ่นก็จะไม่เหม็น แต่ถ้าใช้ปลาอย่างเดียวกลิ่นจะแรงมาก
- เครื่องปลูกพังเร็วกว่าปกติ เนื่องจากในปุ๋ยปลาจะมีจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ มันจะไปย่อยสลายกาบมะพร้าวให้ผุพังเร็ว เมื่อกาบมะพร้าวผุ ระบบรากก็จะเสียหาย ทางแก้ก็คือคอยเปลี่ยนเครื่องปลูกก่อนที่มันจะผุพัง กับเปลี่ยนเครื่องปลูกเป็นของแข็ง แต่ถ้าเลี้ยงไม้รากอากาศก็จะหมดปัญหาเรื่องนี้ไป


2 การป้องกันกำจัดเชื้อรา โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ จัดเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่สามารถใช้ควบคุมโรคพืช ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคพืชในดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น โรคโคนเน่า โรคเน่าระดับดิน โรคเน่าดำ โรคราเม็ดผักกาด โรคแอนแทรคโนส
การใช้เชื้อราตัวนี้ ต้องมีการเลี้ยงเชื้อเสียก่อน แล้วจึงนำมาละลายน้ำให้สปอร์หลุดมาปนกับน้ำ แล้วกรองเอาแต่น้ำไปฉีดกล้วยไม้ โดยในสภาพโรงเรือนปกตินั้นจะมีความชื้นพอเพียงที่เชื้อราตัวนี้จะดำรงชีวิตอยู่ได้ตลอดไป (ถ้าไม่ถูกสารเคมี)
เชื้อราตัวนี้จะเป็นเชื้อราที่ไปกินหรือทำลายเชื้อราต้นเหตุของโรคต่างๆ และตัวของมันก็ไม่เป็นอันตรายกับกล้วยไม้ด้วย

การเลี้ยงขยายเชื้อเราสามารถทำได้เองโดยง่ายๆ โดยนำหัวเชื้อบริสุทธิ์ มาเลี้ยงในข้าวสวยหรือปลายข้าวที่หุงเป็นตากบ หรือสุกๆดิบๆ เลี้ยงไว้ประมาณ 7 วัน ข้าวนั้นจะมีเชื้อราสีเขียวๆเกิดขึ้น เราก็สามารถนำไปละลายน้ำใช้ได้เลย และสามารถทำเก็บไว้ได้นาน 1 เดือน โดยเก็บไว้ในตู้เย็น

ข้อดีของเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าคือ สามารถขยายเชื้อได้ง่าย ปลอดภัยต่อผู้ใช้ เมื่อเชื้อไปอยู่ในสภาพที่เหมาะเชื้อไม่หมดฤทธิ์ สามารถอาศัยอยู่ในเครื่องปลูกลึกๆได้ ป้องกันกำจัดโรคได้หลากหลายกว่าสารเคมี
ข้อเสียของเชื้อราตัวนี้ก็คือ แพ้สารเคมี และยังจะทำให้เครื่องปลูกผุพังเร็วกว่าปกติเช่นกัน เนื่องจากเชื้อตัวนี้จะชอบอยู่กับอินทรีย์วัตถุ

3 การป้องกันกำจัดแมลงต่างๆโดยใช้เชื้อรา ในส่วนของแมลงนี้จะต้องใช้เชื้อราหลายตัว

เชื้อราบิวเวอเรีย เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่จัดเป็นพวก "เชื้อราทำลายแมลง" สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยไฟ ไรแดง เพลี้ยแป้ง หนอนศัตรูพืช เชื้อรามีคุณสมบัติเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ คือ สามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ทำลายแมลงโดยผลิตเอสไซม์ที่เป็นพิษต่อศัตรูพืช และเป็นเชื้อราที่อาศัยและกินเศษซากที่ผุพัง

เชื้อราเขียวเมตาไรเซี่ยม เชื้อราเขียว เป็นเชื้อราที่ทำลายด้วง ปลวก โดยเชื้อราจะแทงเข้าทางผนังลำตัวโดยผ่านเข้าผนังบาง ๆ เยื่อรอยต่อระหว่างปล้องหนอน เส้นใยเชื้อราเขียวจะแทงผ่านขั้นต่าง ๆ ของตัวแมลงเข้าขยายปริมาณในเลือด แมลงที่ถูกทำลายโดยเชื้อราเขียว จะเคลื่อนไหวช้า เบื่ออาหาร ซากของแมลงจะถูกปกคลุมด้วยสปอร์สีเขียว ตัวเข็งเหมือนมัมมี่

การเลี้ยงขยายเชื้อก็ทำได้โดยการนำเชื้อไปเลี้ยงในเมล็ดธัญพืช เช่นข้าวฟ้าง ข้าวโพด เมื่อเชื้อราเจริญเต็มที่ก็นำมาละลายในน้ำให้สปอร์ผสมกับน้ำแล้วนำน้ำนั้นไปฉีดพ่นโดยจะต้องพ่นให้ถูกตัวแมลงหรืออยู่ในช่วงที่แมลงเข้าทำลายจะดีที่สุด

ข้อดีคือปลอดภัยต่อผู้ใช้ ป้องกันกำจัดแมลงได้หลายชนิด
ข้อเสีย ต้องใช้ที่ๆมีความชื้นพอเพียง ไม่ถูกความร้อน และแพ้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นทางเลือกของผู้ที่ไม่ต้องการใช้สารเคมีในการเลี้ยงกล้วยไม้ และเป็นวิธีที่ได้ผลจริง ผู้ที่ต้องการใช้จะต้องเรียนรู้ คิด ศึกษาให้จริงและต้องทำความเข้าใจ ทำใจไว้ด้วยว่า สารชีวภาพที่บอกมานั้น จะต้องใช้เวลาและอดทน มีความยุ่งยากในการใช้ มีข้อจำกัดบางอย่าง และที่สำคัญ ไม่สามารถให้ผลได้เท่ากับสารเคมีครับ


ที่มาของข้อมูลต่างๆในการสรุปหาวิธีการเลี้ยงกล้วยไม้โดยไม่ใช้สารเคมี
- จากการเรียนในวิทยาลัยเกษตร
- จากการคุย สอบถาม เกษตรอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
- จากนักวิชาการของสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดชลบุรีและจังหวัดปราจีนบุรี
- จากนักวิชาการของศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดชลบุรี
- จากสมาชิกเรือนกล้วยไม้หลายๆท่าน
- และจากที่อื่นๆอีกหลายๆที่ครับ



Create Date : 15 พฤษภาคม 2552
Last Update : 15 พฤษภาคม 2552 19:20:59 น. 4 comments
Counter : 1303 Pageviews.

 
ขอบคุณคุณปุ้มค่ะ
เราเลี้ยงกล้วยไม้นิดหน่อย เพื่่อดูเล่น แต่มายอมแพ้ใช้ปุ๋ยเคมีเมื่อไม่นานนี้เอง เพราะดูแล้วกล้วยไม้ไม่งาม
ตอนนี้มีทางเลือกใหม่แล้ว ดีใจค่ะที่มาสอน
สวนบ้านเราจะได้มีสารเคมีน้อยลงอีก..


โดย: ทะเลหญ้า IP: 124.121.101.86 วันที่: 15 พฤษภาคม 2552 เวลา:21:50:21 น.  

 
มาที่2...555..ขอบคุณครับ..


โดย: na_nin วันที่: 15 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:15:45 น.  

 
อืมมมมค่ะ ขอบคุณมากค่ะ


โดย: mutcha_nu วันที่: 16 พฤษภาคม 2552 เวลา:10:00:33 น.  

 
ใช้ปลาอะไรหรอ?


โดย: KunnunaT IP: 125.24.62.133 วันที่: 16 พฤษภาคม 2552 เวลา:10:14:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ปุ้ม ครับ
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add ปุ้ม ครับ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.