Group Blog
 
All Blogs
 

รายงานการทดสอบการใช้สารสกัดไคโต ซานร่วมกับปุ๋ย

จากการที่ลงเรียนวิชาการฝึกปฎิบัติเสริมทักษะการผลิต พืช วิชานี้มีงานให้นักศึกษาได้ทำรายงานการทดลองครับ โดยให้ทดลองเปรียบเทียบปัจจัยอะไรก็ได้ในการปลูกพืช


ผมเลือกการใช้ ไคโตซาน


ทำไมถึงเลือกตัวนี้
เพราะผมใช้สารตัวนี้ผสมกับปุ๋ยให้ กล้วยไม้มาเป็นเวลานานแล้ว เห็นว่าผลที่ได้นั้นมันดูดี แต่เนื่องจากไม่เคยรู้เลยว่าผลนั้นดีจริงๆหรือไม่ เป็นอุปทานหรือเปล่า เนื่องจากไม่สามารถหาอะไรมาวัดหรือเปรียบเทียบได้
จึงได้ใช้โอกาสนี้ ทดลองหาผลเปรียบเทียบซะเลย


Chitosan ไคโตซาน คือ สารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนปลาหมึก และผนังเซลของเห็ด ราบางชนิด ไคติน-ไคโตซาน จัดเป็นโคโพลิเมอร์ที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติ มีปริมาณของไคตินมากเป็นอันดับสองรองจากเซลลูโลส ไคติน-ไคโตซาน มีสมบัติพื้นฐานที่เข้ากับธรรมชาติได้ดี ย่อยสลายง่าย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งไคติน-ไคโตซาน มีหมู่อะมิโนที่แสดงสมบัติพิเศษหลายประการที่ต่างจากเซลลูโลส เช่น การละลายได้ในกรดอินทรีย์เจือจาง การจับกับอิออนของโลหะได้ดี และการมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ปัจจุบันมีการนำสารไคติน-ไคโตซาน มาประยุกต์ใช้จริงทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม ทางการแพทย์และเภสัชกรรม
ในภาคการเกษตรเริ่มมีการใช้ไคโตซานกันมากขึ้น จึงอยากมีการทดสอบว่า เมื่อนำไคโตซานมาใช้ร่วมกับปุ๋ย ในการปลูกผักจะทำให้ผลผลิตที่ได้ดีขึ้นหรือไม่

วัตถุประสงค์

1 เพื่อทดสอบเปรียบเทียบระหว่างการใช้ไคโตซานผสมกับปุ๋ย กับ การใช้ปุ๋ยเพียงอย่างเดียว
2 เพื่อหาตัวช่วยในการผลิตพืชผักให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น
3 เพื่อหาทางลดการใช้ปุ๋ยเคมี

อุปกรณ์

1 กระถางขนาด 6 นิ้ว 2 ใบ
2 เครื่องปลูกประกอบด้วย กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว ปุ๋ยคอก
3 เมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้ง
4 ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0
5 สารสกัดไคโตซาน
6 กระป๋องฉีดปุ๋ยเคมี

วิธีการ

1 ผสมเครื่องปลูกใส่ในกระถางขนาด 6 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม
2 หยอดเมล็ดพันธุ์ผักกวางตุ้ง กระถางละ 3 เมล็ด
3 แยกเป็นกระถาง A และ B
4 วางกระถางทั้ง 2 ใบ บริเวณที่ได้รับแสงแดด
5 ให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตราส่วน 1/2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร ในกระถาง A
6 ให้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ในอัตราส่วน 1/2 ช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร ผสมกับไคโตซาน ในอัตราส่วน 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ในกระถาง B
7 ให้ปุ๋ยโดยการฉีดพ่นให้ทางใบ
8 จดบันทึกการปลูกและการให้ปุ๋ย

ผลการทดลอง

ผลจากการให้ปุ๋ยผสมไคโตซานเปรียบเทียบกับต้นที่ให้ปุ๋ยอย่างเดียว พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แยกได้ดังนี้
1 สีของใบ ต้นที่ให้ไคโตซาน ใบจะเขียวเข้มกว่าต้นที่ให้แต่ปุ๋ยเพียงอย่างเดียว
2 ความหนาของใบ ต้นที่ให้ไคโตซาน จากการสัมผัสพบว่าใบจะมีความหน้ามากกว่า
3 ขนาดลำต้น ของต้นที่ให้ไคโตซาน จะหนาอวบกว่าต้นที่ให้ปุ๋ยอย่างเดียว
4 ขนาดของใบ วัดความแตกต่างได้ดังนี้

4.1 โคนก้านใบ – ปลายใบ
ต้น A = 8 เซ็นติเมตร
ต้น B = 9 เซ็นติเมตร

4.2 โคนใบ – ปลายใบ
ต้น A = 4 เซ็นติเมตร
ต้น B = 5.5 เซ็นติเมตร

4.3 ความกว้างใบ
ต้น A = 2.7 เซ็นติเมตร
ต้น B = 4 เซ็นติเมตร






 

Create Date : 04 เมษายน 2553    
Last Update : 29 สิงหาคม 2553 16:23:44 น.
Counter : 1991 Pageviews.  

จดหมายจาก "ไซเตส"

ได้รับ e-mail มา 1 ฉบับครับ จากพี่มานิตย์ ใจฉกรรจ์ แห่งไซเตส
เป็นเรื่องราวลึกๆเกี่ยวกับรองเท้านารีขาวพังงา ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรจะนำมาบักทึกเอาไว้ จึงขอยกมาทั้งฉบับ มาไว้ที่นี่



เนื้อความจดหมายมีดังนี้


ปุ้ม

หลัง จากที่ผมกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น แล้วมีโอกาสได้ลงใต้ไปสำรวจเอื้องปากนกแก้วและรองเท้านารีขาวพังงา ในสภาพธรรมชาติ ณ จังหวัดพังงา โดยพาน้องน้องๆ ไซเตสไปปีนเขานางหงษ์มา เหนื่อยน่าดูแต่ก็สนุกมากๆ เพราะต้องการทราบข้อเท็จจริงว่ากล้วยไม้ถูกทำลาย ไปมากน้อยขนาดไหน

ผล สำรวจพบว่าเอื้องปากนกแก้ว พบประปรายแต่เหลือไม่กี่ต้น พบเฉพาะบนเรือนยอดไม้มังตานและต้นสอม ช่วงล่างๆ ของต้นไม้ไม่เหลือแล้ว ถูกล่าเก็บไปหมด รองเท้านารีขาวพังงาก็เช่นกัน สำรวจบนยอดเขานางหงษ์ แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่เคยพบว่ามีรองเท้านารีขาวพังงาเป็นร้อยๆ ต้นในอดีต ปัจจุบันพบเหลือเพียง 11 ต้นเท่านั้น นอกนั้นถูกล่าเก็บไปหมด

และ การไปสำรวจครั้งนี้ ได้พบว่ามีชาวบ้านซึ่งเป็นคนพบรองเท้านารีขาวพังงาเป็นคนแรกๆ ของโลกแต่ถูกคนอื่นแอบอ้างว่าเป็นคนค้นพบคนแรก และเอาไปตั้งชื่อ ทั้งที่ ไม่เคยปีนเขาขึ้นไปสำรวจเลย ผมจึงอยากให้พวกเราได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงในโอกาสต่อไป กำลังรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง

ผม จึงส่งคำถามกล้วยไม้มาให้อีก 1 คำถามเผื่อปุ้มจะเอาลองถามดู ไม่รู้ว่าจะยากไปหรือเปล่า เพราะต้องการให้พวกเราได้ตระหนักถึงบุคคลที่สมควรจะเป็นบุคคลสำคัญที่พบเป็น คนแรก ไม่อยากให้คนอื่นชุบมือเปิบ โดยที่ไม่ได้ให้เกียรติคนอื่นซึ่งเป็นพบคนแรก

คำ ถาม

ใคร เป็นผู้ค้นพบรองเท้านารีขาวพังงา เป็นคนแรกของโลก?

คำ ตอบคือ

นาย คมไพร นิลรัตน์ (Mr. Komprai Nilrat) อาชีพ หาสมุนไพรป่าขาย

ชาว บ้านตำบน นบปลิง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา

และ น่าจะตั้งชื่อเป็น Paphiopedilum nilratii เสียมากกว่า

มานิตย์




 

Create Date : 05 มีนาคม 2553    
Last Update : 11 มีนาคม 2553 21:06:02 น.
Counter : 514 Pageviews.  

การปลูกรองเท้านารีลงกระถาง

รองเท้านารีที่เราออกขวดแล้วได้ระยะหนึ่ง เราก็จะย้ายลงกระถาง
มีขั้นตอนดังนี้



กระถางใช้ขนาด 2-3 นิ้ว จะเป็นกระถางดินเผาหรือพลาสติกก็ได้




ถ้าเป็นกระถางดินเผาก็จะเย็นกว่า




หักโฟมเป็นชิ้นเล็กๆใส่ลงไป 1 ใน 3 ของกระถาง




ใส่เครื่องปลูกลงไปก่อน 1 ชั้น




ใส่พีทมอสลงบนเครื่องปลูก




วางต้นบนพีทมอส




ใส่เครื่องปลูกลงไปรอบๆ จัดต้นให้อยูตรงกลาง




เขียนป้ายชื่อเสียบไว้ให้เรียบร้อย



หลังจากนั้นก็รดน้ำชุ่มๆ แล้ววางไว้ตรงที่มีแสงอ่อนๆ มีลมพัดผ่าน ในช่วงแรกไม่ควรให้โดนแดดและฝนตรงๆ




 

Create Date : 16 ธันวาคม 2552    
Last Update : 4 กันยายน 2553 9:38:12 น.
Counter : 2434 Pageviews.  

วิธีการเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์มา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma spp.) เป็นเชื้อราชั้นสูงที่เจริญได้ดีในดิน เศษซากพืช ซากของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ จัดเป็นเชื้อราปฏิปักษ์ที่สามารถใช้ควบคุมโรคพืช ซึ่งเกิดจากเชื้อราสาเหตุโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในกล้วยไม้นั้น เชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถใช้กำจัดเชื้อราต้นเหตุของโรคกล้วยไม้ได้หลายตัว เช่น เน่าดำ เน่าเข้าใส้ รากเน่า โคนเน่า แอนแทรกโนส ราเม็ดผักกาด

ปกติแล้วการใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรานั้น มีข้อจำกัดหลายอย่างคือ เวลาฝนตกติดต่อกันหลายวันจะไม่สามารถใช้ยาได้ และถ้ากล้วยไม้ยังเปียกอยู่ ยาก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ แต่กับเชื้อราไตรโคเดอร์มานั้น สามารถนำมาใช้ได้ ไม่กลัวฝน และยังดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพโรงเรือนด้วย

การจะนำเชื้อราตัวนี้มาใช้นั้นจะต้องทำการเลี้ยงขยายเชื้อเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ได้ครับ

ขั้นตอนและวิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด

ในการผลิตเชื้อรานั้น วัสดุอาหารและหัวเชื้อเป็นปัจจัยที่สำคัญ ผลการวิจัยพบว่าปลายข้าวเป็นวัสดุอาหารที่ดีที่สุด หาซื้อง่ายและราคาถูก ส่วนหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา ทางโครงการได้พัฒนาให้อยู่ในรูปผงแห้ง ซึ่งสะดวกในการใช้และเก็บรักษา

หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์ : คือเชื้อราไตรโคเดอร์มาสายพันธุ์ CB-Pin-01 ที่ดีที่สุดจากการคัดเลือกเก็บในวัสดุอินทรีย์ที่ปราศจากจุลินทรีย์ปนเปื้อนทุกชนิด สามารถเก็บรักษาได้เป็นระยะเวลานานและสะดวกต่อการนำไปใช้เพื่อขยายหรือเพิ่มปริมาณเชื้อ

วิธีเก็บรักษาหัวเชื้อ : เก็บไว้ในตู้เย็น ( ประมาณ 8-10 องศาเซลเซียส ) สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานประมาณ 1 ปี ถ้าเก็บที่อุณหภูมิในห้องปกติ สามารถเก็บไว้ได้นาน 6 เดือน

มาดูขั้นตอนการเลี้ยงกันครับ


วัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงขยายเชื้อ
1 หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์
2 ปลายข้าว 2 ส่วน
3 น้ำ 1 ส่วน
4 ถุงร้อน
5 ยางรัดปากถุง





นำปลายข้าวใส่ถ้วย ใส่น้ำพอท่วม




นำเข้าไมโครเวฟ ตั้งเวลาประมาณ 5 นาที หรือนำไปหุงด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า




ข้าวที่ได้จะเป็นลักษณะสุกๆดิบๆหรือที่เรียกว่าหุงแบบตากบ




ตักข้าวใส่ถุงขณะที่ข้าวยังร้อนๆอยู่ แล้วพับปากถุง วางไว้รอให้ข้าวอุ่นๆ




พอข้าวอุ่นๆก็โรยหัวเชื้อบริสุทธิ์ลงไปนิดหน่อย




มัดปากถุงให้แน่น ขยำข้าวให้หัวเชื้อกระจายให้ทั่วถุง




ใช้ไม้จิ้มฟันหรือเข็ม จิ้มบริเวณปากถุงให้ทั่ว เพื่อไว้เป็นที่ระบายอากาศ




เสร็จแล้วนำไปวางไว้บริเวณที่มีแสงสว่างส่องถึง และระวังมดด้วย




ทุกๆวันควรมากดถุงไล่อากาศออกและดึงถุงให้อากาศใหม่เข้าไปบ้าง




ผ่านไป 3 วันจะเห็นเส้นใยเชื้อราสีขาวๆเจริญบนเมล็ดข้าว



ให้ขยำข้าวในถุงเพื่อให้เชื้อรากระจายให้ทั่วๆอีกครั้ง




จากนั้นก็นำไปวางไว้ในที่มีแสงส่องเหมือนเดิม




วันที่ 4 จะเห็นเชื้อราเจริญเต็มถุง



ดูใกล้ๆ




วันที่ 5-6 เชื้อราเจริญเต็มที่ เกิดเป็นสปอร์สีเขียวเกาะอยู่บนข้าว




วันที่ 7 เชื้อราเจริญเต็มที่ พร้อมที่จะนำไปใช้งานแล้ว



ดูกันใกล้ๆ




ขยำข้าวในถุงให้เป็นเม็ดร่วนๆ




เทออกใส่ภาชนะไว้




ใส่น้ำลงไปในข้าว




คนให้สปอร์เชื้อราที่เกาะอยู่หลุดออกมาผสมอยู่ในน้ำ




ใช้ผ้าขาวบาง หรือกระชอนช้อนปลา กรองเอาแต่น้ำใส่ขวดไว้ พร้อมที่จะนำไปใช้งานแล้ว




อัตราส่วนเชื้อราที่เลี้ยงแล้ว 1 กิโล ผสมน้ำได้ 200 ลิตร
1 ขวดที่ได้ผมกรองได้จะผสมน้ำประมาณ 6-10 ลิตรนะครับ ควรผสมสารจับใบลงไปด้วย
เมล็ดข้าวที่ล้างแล้วสามารถนำไปผสมในเครื่องปลูกได้ด้วยนะครับ หรือจะเอาไปผสมกับปุ๋ยหมักหรือจะโรยตามกระถางต้นไม้อื่นๆก็ได้



การใช้เชื้อราตัวนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน
- ราที่เลี้ยงขยายเชื้อครบ 7 วันแล้ว สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 1 เดือน
- ราที่กรองเอาน้ำใส่ขวดไว้นั้นถ้ายังไม่ได้ใช้ ควรเก็บไว้ในตู้เย็นไม่เกิน 7 วัน
- งดใช้สารเคมีอื่นๆเป็นเวลาอย่างน้อยๆ 7 วันหลังฉีดเชื้อรา
- ไม่ควรใช้เวลาที่อากาศร้อนๆ
- เชื้อราตัวนี้จะทำให้เครื่องปลูกผุพังเร็วกว่าปกติ
- ควรมีการใช้ซ้ำในระยะ 7 วัน
- ต้องงดยากันเชื้อราโดยเด็ดขาย โดยเฉพาะ สารเคมีในกลุ่มเบนซิมิดาโซล (benzimidazole) ได้แก่ เบนโนมิล (benomyl) และคาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีชนิดดูดซึม


เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกำจัดเชื้อราที่ดีทางหนึ่งเลยครับ



















 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 4 กันยายน 2553 10:13:20 น.
Counter : 6073 Pageviews.  

สอนวิธี................ทำสาว

ทำสาว........กล้วยไม้ครับ

หลายๆท่านไม่มีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนกระถาง เปลี่ยนเครื่องปลูก หรือทำสาวกล้วยไม้แล้ว
แต่ก็จะมีบางท่านที่ยังไม่เคยทำ ไม่รู้จะทำยังไง กลัวไม้ตาย ไม้ช้ำ

กล้วยไม้เมื่อเลี้ยงไปนานๆ เครื่องปลูกก็จะมีการผุพัง รากแก่ ต้นแก่ ตกกระถาง กอใหญ่แน่น
สะสมโรค ออกดอกยาก มีวัชพืชขึ้นปกคลุมมากมาย
ดังนั้นก็จะต้องมีการทำสาวให้กล้วยไม้ด้วย เพื่อที่จะได้รากใหม่ เครื่องปลูกใหม่ ตัดแต่งต้นเก่าๆทิ้ง ไม้ก็จะออกดอกได้ง่ายขึ้น และสามารถเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ให้มากขึ้นด้วย


สภาพต้นเป็นแบบนี้ เครื่องปลูกเริ่มผุ หน่อเริ่มเกินกระถาง




มีมอสขึ้นคลุมเครื่องปลูกเต็มไปหมด ดูดีๆไม้จะมี 2 หน้า




ด้านขวา หน่อใหม่โตแล้ว แต่ยังไม่เต็มที่ รากเดินแล้ว




ด้านซ้าย หน่อเจริญเต็มที่ ให้ดอกไปแล้ว และก็ใกล้จะแทงหน่อใหม่




มาเริ่มงัดไม้ออกจากกระถางเลย ผมจะใช้วิธีเอากรรไกรงัดตุ้มมะพร้าวออกมา กรรไกรแบบปลายแหลมจะดีมาก ใช้งานได้ดีกว่าปากกว้างๆ งัดไปให้ออกมา ไม่ต้องไปห่วงรากมัน ระวังหน่อก็แล้วกัน อย่าให้หักให้ช้ำ




เมื่อเอาออกมาแล้วก็ตัดเอากาบมะพร้าวหรือรื้อเอาเครื่องปลูกออก รากก็ตัดๆทิ้งไปเลย




จัดการผ่าตามที่เล็งๆไว้ คือไม้ 2 หน้า ก็แบ่งออกเป็น 2 ชุด ใช้กรรไกรตัดลงไปเลย ไม่ต้องกลัว
ถ้าไม้มีหลายๆหน้า กอแน่นๆ จะต้องใจเย็นๆค่อยๆดู ไล่หน่อไปเรื่อยๆ
เวลาแบ่งก็ให้มีอย่างน้อยๆ 2 ลำ แต่ได้ได้สัก 3 ลำก็ดี และก็ดูด้วยว่าชุดที่เราผ่านั้น มีตาหน่อบ้างหรือเปล่า




ตัดแต่งรากซะให้เรียบร้อย กาบมะพร้าวก็เอาออกให้หมด พวกมอสก็เอาออกไปให้เกลี้ยง
จากนั้นก็เอาปูนแดงทาตรงแผลที่เราตัด




เครื่องปลูกใหม่ เตรียมทิ้งไว้ได้เลย กาบมะพร้าวแช่น้ำไว้นานๆ เปลี่ยนน้ำทิ้งบ่อยๆ ทุบไว้ให้เรียบร้อย
ชุดนี้ทำไว้ได้สักเดือนกว่าๆแล้ว จะใช้ก็หยิบใช้ได้เลย




กระถางก็ใส่ลวดไว้ให้เรียบร้อย ไม่ต้องมาร้อยลวดทีหลัง มันลำบาก




ตอนนี้ก็มาจัดการปลูกกันเลย แบบแรกที่จะทำให้ดูคือ "หนีบ"
ก็คือเอากาบมะพร้าวมาหนีบต้นนั่นเอง ให้หน่ออยู่บนเครื่องปลูกนะ อย่าให้จมลงไปในเครื่องปลูก




แล้วก็เอาลงไปอัดใส่กระถาง เอาลวดอ่อนยึดต้นให้เรียบร้อย อย่าให้โยกคลอนได้ รากใหม่จะได้เดินได้เร็วๆ
สังเกตุดูว่า ตำแหน่งที่วางหน่อคือจะให้ลำหลัง (หน่อเก่าๆ) ชิดขอบด้านใดด้านหนึ่ง
แล้วให้ลำหน้า (หน่อใหม่) หันไปทางด้านที่มีเนื้อที่ว่างเหลืออยู่
เวลาไม้แทงหน่อใหม่ออกมาจะได้มีเนื้อที่ว่างๆได้เจริญเติบโต
ควรวางให้ดูแนวตะขอด้วย เพราะเวลาแขวนจะต้องให้ด้านลำหน้าหันไปหาแสง




มีอีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้อยู่ คือ "ปักหมุด" แบบนี้เราก็เอากาบมะพร้าวอัดลงไปในกระถางก่อนได้เลย




ตัดลวดยาวสัก 3 นิ้ว งอแบบในรูป




จับต้นวางบนกาบมะพร้าว แล้วใช้ลวดปักคร่อมลงไป กดลวดให้แน่น ตำแหน่งที่วางต้นก็เหมือนแบบ




ยึดต้นกับลวดแขวนไว้ให้แน่น จะได้ไม่โยกหลุด รากใหม่จะแทงได้เร็วขึ้น




เขียนป้ายชื่อให้เรียบร้อย นำไม้ไปแขวนที่ร่มๆก่อน ให้น้ำชุ่มๆ ให้ปุ๋ย ยาไปตามปกติ พอผ่านไปสักอาทิตย์ ก็เพิ่มแสงให้มากขึ้น
แบบนี้ใช้เวลาราวๆ 6-8 เดือน ไม้จะสมบูรณ์เต็มที่และก็ออกดอกให้เราได้เชยชมอีกครั้งครับ




2 วิธีนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆเท่านั้นนะครับ ยังมีวิธีปลูกไม้อีกมากมายหลายวิธี
ลองทำดูกันได้ ไม่ต้องกลัว ไม่ลองไม่รู้ครับ




 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 4 กันยายน 2553 9:28:19 น.
Counter : 5717 Pageviews.  

1  2  3  4  

ปุ้ม ครับ
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add ปุ้ม ครับ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.