3 นิสัยที่สั่นคลอนสถานะทางการเงิน

 

3 นิสัยที่สั่นคลอนสถานะทางการเงิน  

หลายคนคงเคยดูละครที่แม่ของพระเอกซึ่งเคยเป็นถึงคุณหญิงมีฐานะร่ำรวย และมีหน้ามีตาในสังคม แต่พอสามีเสีย ชีวิตก็ตกต่ำ จากที่เคยร่ำรวยมีชื่อเสียงก็เริ่มต้องขายสมบัติเก่า เพื่อมาใช้หนี้สิน จนถึงขั้นนำบ้านไปค้ำประกันและโดนยึด พอประสบปัญหาด้านการเงินหนักเข้า ครอบครัวก็แตกแยก บีบลูกๆ ให้แต่งงานกับคนรวยเพื่อหวังสมบัติของคนอื่นมาประคองฐานะและหน้าตาในสังคม เรื่องแบบนี้ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากให้เกิดกับครอบครัวของตนเอง แต่ก็ยังมีคนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่ามีนิสัยที่สั่นคลอนความมั่นคงทางการเงินของตนเองและครอบครัวอยู่ บทความนี้ เราจะมาดูกันว่านิสัยเหล่านั้นคืออะไร และจะสามารถป้องกันการล่มจมจากนิสัยนั้นได้อย่างไร

 

1. ก่อร่างสร้างหนี้ ใช้เงินอนาคต ปัจจุบันสื่อสารการตลาดเข้าถึงกลุ่มคนได้มากขึ้น นอกจากการโฆษณาทางโทรทัศน์แล้ว ยังมีการตลาดทาง Internet ที่สื่อเข้าถึงตัวบุคคลได้ง่าย ทำให้คนในสังคมเกิดความอยากจะเป็นเจ้าของสินค้าตามกระแสนิยม เช่น โทรศัพท์มือถือราคาแพง Tablet รุ่นใหม่เอามาใช้เล่นเกมส์ อุปกรณ์อิเล็คโทรนิกส์อันทันสมัยต่างๆ แม้กระทั่งแพคเกจทัวร์ต่างประเทศที่เห็นกันมากขึ้น รวมถึงคูปองจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อจะได้ทานอาหารนอกบ้านในร้านสุดหรู ก็มีให้เห็นเต็มไปหมด ส่งผลให้คนใช้เงินไปกับสิ่งเหล่านี้มากกว่าเงินที่หามาได้ในแต่ละเดือน จึงนิยมนำเงินอนาคตมาใช้ล่วงหน้าไปก่อน แต่มักจะลืมคิดไปว่าเงินที่ยืมอนาคตมาใช้นั้น จะต้องจ่ายคืนไปพร้อมกับดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหลายเท่านัก และเมื่อมีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระในแต่ละเดือนรวมอยู่เป็นค่าใช้จ่ายประจำเดือน แต่ก็อยากจะใช้ชีวิตเหมือนเดิม เช่น เดิมหาได้ 100 ใช้ 120 จึงไปกู้มา 20 พอเดือนถัดไป ใช้ 120 รวมหนี้ที่ต้องชำระอีก 5 เป็น 125 ต้องไปกู้มาเพิ่มอีก ผ่านไป 1 ปี หนี้อาจท่วมเป็นค่าใช้จ่ายเดือนละ 200 ก็เป็นได้ พอหนักเข้าก็เต็มวงเงิน ไม่มีใครให้กู้แล้ว แถมยังถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องมายึดทรัพย์สินที่มีอยู่ ทำให้ต้องเดือดร้อนและใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบาก

 

ด้วยเหตุนี้แล้ว เราจึงไม่ควรเห็นแก่ความสนุกเฉพาะหน้า ไม่ควรยอมเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคและบริโภค หนี้ที่ดี ควรเป็นหนี้เพื่อการลงทุนเท่านั้น เช่น หนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากในระยะยาว บ้านจะมีราคาสูงขึ้นจากราคาที่ดินปรับตัวขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและความต้องการครอบครองที่ดินในตลาด หรือลงทุนในธุรกิจที่ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้วว่าคุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่จะต้องเสีย ทั้งนี้ต้องไม่เป็นหนี้เกินตัว คำว่าเกินตัวนั้นโดยทั่วไปยินยอมให้ยอดผ่อนชำระหนี้ทั้งหมดไม่เกิน 40% ของรายได้ ซึ่งจะเหลือเงินอีกไม่น้อยกว่า 60% ไปเก็บออมและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 

 

2. หน้าใหญ่ไร้เงินออม หลายคนอาจไม่ถึงขั้นเป็นหนี้พอกพูน แต่ก็มีโอกาสเกิดปัญหากับสถานะการเงินได้ถ้ามีพฤติกรรมใช้เงินเดือนชนเดือน ซึ่งอาจมาจากการซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น เช่น ซื้อเครื่องประดับทำให้ตัวเองดูดีเกินฐานะ หรือผ่อนสินค้าที่เกินความพอดี ทำให้ไม่มีเงินเหลือเก็บออมเป็นเงินสำรอง หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา เช่น คนในครอบครัวเจ็บป่วย รถเสียต้องซ่อม บ้านต้องซ่อมจากน้ำท่วม หรือแม้กระทั่งตกงาน กว่าจะหางานใหม่ได้ก็อาจใช้เวลาหลายเดือน แล้วไม่มีเงินออมหรือญาติพี่น้องให้หยิบยืม ที่พึ่งแหล่งสุดท้ายจึงมักจะเป็นบัตรกดเงินสด หรือบัตรเครดิต จะดีกว่าไหมถ้าหากเราสร้างที่พึ่งยามเกิดเหตุฉุกเฉินทางการเงิน เป็นเงินสำรองสักหนึ่งก้อน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝัน

 

การจะสร้างเงินสำรองขึ้นมานั้น จะต้องเริ่มจากการเก็บออมออกจากรายได้ การตั้งใจจะใช้เงินที่เหลือมาเก็บออมทำได้ยากกว่าการเก็บออมในวันที่รับเงิน เหลือจากการออมเท่าไหร่ค่อยใช้จ่าย โดยที่การเก็บออมนั้น อย่างน้อยควรจะเก็บให้ได้ 1/10 ของรายได้ แต่ถ้าสามารถเก็บได้ถึง 1/3 จากรายได้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะสามารถสร้างกองเงินสำรองขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว และยังสามารถนำเงินออมส่วนเกินไปลงทุนสร้างสินทรัพย์ที่ให้กระแสเงินสดมาเป็นรายได้เสริมอีกด้วย เงินสำรองที่เหมาะสมของแต่ละคนจะมีปริมาณไม่เท่ากัน ผู้ที่งานมั่นคง ไม่ค่อยมีภาระทางบ้าน และทรัพย์สินที่ต้องคอยดูแลมากนัก ก็แนะนำให้มีเงินสำรอง 3 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีภาระเยอะ หรือมีรายได้ที่ไม่แน่นอน แนะนำให้มีเงินสำรอง 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน เงินสำรองนี้เมื่อมีการใช้ไป จะต้องออมเงินมาเติมให้กลับสู่สถานะปกติด้วย

 

3. ซื้อของไม่ดูความคุ้มค่า บางครั้งคนเราอาจเข้าใจผิดว่าการประหยัดด้วยการซื้อของที่มีราคาถูกมากๆ จะทำให้เราเหลือเงินเก็บได้มากกว่าการซื้อของแพง ซึ่งไม่จริงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรองเท้าที่มีราคาถูกมากๆ อาจทำให้ใส่ได้ไม่สบาย ใช้ได้ไม่นานก็ต้องซื้อคู่ใหม่มาเปลี่ยน ทำให้แม้ว่าจะเสียเงินในแต่ละครั้งไม่มาก แต่ก็ต้องเสียเงินซื้ออยู่บ่อยๆ สู้หาซื้อรองเท้าคู่ที่ใส่ได้สบาย วัสดุทนทานสามารถใช้ได้เป็นเวลานาน แล้วมีราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพใส่จะดีกว่า อีกกรณีหนึ่งจะกล่าวถึงเรื่องอาหารการกิน บางท่านเป็นคนประหยัดมากๆ อาจเพราะต้องการเก็บเงินออมให้ได้มากที่สุด ทุกๆ วันกินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมื้อละไม่ถึง 10 บาท กินติดๆ กันเป็นเดือนๆ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และล้มป่วยลง เงินที่ออมได้กลับต้องนำไปจ่ายเป็นค่าหมอรักษาจนหมด อีกทั้งยังอาจต้องกู้เงินฉุกเฉินมาจ่ายค่ายารักษาเพิ่มอีก ทำให้แทนที่จะมีเงินออมกลับต้องเป็นหนี้ไปอีก การซื้อของที่มีคุณภาพ หรือทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ในราคาที่เหมาะสมนั้น จะช่วยให้เราเดินสายกลาง ไม่ประหยัดจนต้องเดือดร้อนในภายหลัง และไม่ฟุ่มเฟือยจนไม่มีเงินออม 

 

ถ้าเราสามารถแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีต่อฐานะทางการเงินดังที่กล่าวมาได้ ถึงแม้ว่าตอนเริ่มต้นเราอาจไม่มีฐานะที่ร่ำรวย แต่เมื่อผ่านการเก็บหอมรอมริบไปได้สม่ำเสมออย่างมีวินัยแล้ว เราก็มีโอกาสสร้างความมั่นคง และมั่งคั่งได้ไม่แพ้ผู้ที่เกิดมามีฐานะร่ำรวย หัวใจของเศรษฐีอยู่ที่การใช้เงินให้น้อยกว่าฐานะของตัวเอง จะได้มีเงินเหลือเก็บออม และนำเงินออมนั้นไปต่อยอดลงทุนเพิ่มความมั่งคั่ง 

 

 

 

ขอขอบคุณ คุณ วรินทร์ สุรพลชัย , AFPT

ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล ธนาคารกสิกรไทย

 

 

 




Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:24:54 น. 0 comments
Counter : 460 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com