ทุกข์ที่เกิดซ้ำ เพราะใจมันพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข.. Don't worry.. Be happy..
Group Blog
 
All Blogs
 
ชินคันเซน รถด่วนทะลุอนาคต

อาทิตย์นี้เป็นช่วงเอาของเก่ามาเล่าใหม่

เคยเขียนกระทู้แนะนำรถไฟญี่ปุ่นไว้หลายตอน ในห้อง Blue Planet
ตอนนี้กระทู้ทั้งหลายตกไปอยู่ในคลังกระทู้เก่าหมดแล้ว

และเนื่องจากเป็นกระทู้ ที่จะมีการปาด แซว และถามกันตลอดเวลา เคยจะอ่านไม่ค่อยประติดประต่อเท่าไหร่

วันนี้ได้โอกาสอู้ เลยรวบรวมเอามาฉายหนังซ้ำกันอีกรอบ
แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบคนที่เคยอ่านกระทู้นี้มาแล้ว
จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลลงไปหลายเรื่อง เช่น หน้าตาห้องโดยสาร อุปกรณ์อำนวยความสะดวก


เพราะอยากเก็บความทรงจำดี ๆ ที่ผมรัก ไว้ให้เป็นหมวดหมู่ ในเว็ปของตัวเองบ้าง



รักรถไฟ(ญี่ปุ่น) เลยอยากเข้าใจเค้าให้มากที่สุด..... ก็เท่านั้นเอง

======================================



(รูปนี้โหลดมาจาก //www.japanrailpass.net/eng/en010.html )

คำว่า Shinkansen ไม่ได้แปลว่ารถไฟหัวกระสุน

แต่แปลว่า ทางรถไฟสายใหม่
(Shin แปลว่า ใหม่ ส่วน Sen แปลว่าเส้นทาง)

ใน ญี่ปุ่น คำนี้ใช้เรียกรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเป็นชั้นสูงที่สุดของรถไฟญี่ปุ่น ที่เรียกเป็นทางการว่า Super Express กันจนติดปาก เหมือนบ้านเราเรียกผงซักฟอกว่า แฟ้บ หรือ เรียกผ้าอนามัยว่า โกเต็ก ประมาณนั้น

แล้วด้วยความที่ หน้าตาชินคันเซนรุ่นแรก มันกลมมนเหมือนหัวกระสุนปืน และวิ่งเร็วสุดสุด (ในสมัยนั้น)
ชินคันเซ็นเลยมีชื่อเล่นว่า Bullet Train
แล้วบ้านเราก็แปลตรงตัวไปเลยว่า รถไฟหัวกระสุน

คน ญี่ปุ่นเริ่มคิดสร้างชินคันเซนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ยุคที่เมืองไทยอันพาลกำลังครองเมือง ตอนนั้นที่ญี่ปุ่นรถไฟกำลังจะครองใจคนทั้งประเทศ

เค้าฝันอยากจะมี Dream Super Express ที่สามารถวิ่งจาก โตเกียว ถึง โอซาก้า ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร ได้ภายใน 3 ชั่วโมง

โอ้ว! ยามาโมโต้.... มันขี้โม้มาก

สมัยเมื่อ 50 ปีก่อน ใครมาพูดเรื่องนี้คงขำก๊าก และอุทานแบบนี้กันไปทั้งบาง

สมัยนั้นรถไฟญี่ปุ่นใช้ความเร็วไม่ต่างจากรถไฟไทย ที่วิ่งจากกรุงเทพถึงลำปางในเวลาสิบกว่าชั่วโมง (ตอนนี้ก็ยังวิ่งเท่านี้อยู่)

ดูแผนที่ญี่ปุ่นประกอบไปด้วยนะ จะได้นึกภาพออก

โตเกียวอยู่ในเขตคันโต ตรงกลางประเทศ
ส่วนโอซาก้าอยู่ในเขตคินคิ (หรือคันไซ) อยู่ถัดมาทางใต้ของเกาะฮอนชู
ห่างกันประมาณ 500 กม.




ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ตั้งใจทำอะไรแล้ว ต้อง(บ้าคลั่ง)ทำจนสำเร็จ

2 ปีต่อมาหลังจากคิดฝันโครงการใหญ่
พ.ศ. 2502 ก็เริ่มลงมือสร้างทางรถไฟจากโตเกียว ไป โอซาก้า ทันที
และ เริ่มวิจัยพัฒนา กับ สร้างรถทดสอบ (Class 1000) ทดลองวิ่งไปพร้อม ๆ กัน

เรียกเส้นทางรถไฟชินคันเซนสายแรกนี้ว่า Tokaido Shinkansen (โทะไคโด ชินคันเซน) ได้ชื่อมาจาก ชื่อถนนโบราณระหว่างเมืองเกียวโต กับเอโดะ (หรือโตเกียวในปัจจุบัน)

เปิดตัววิ่งรถเที่ยวแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2507 ด้วย 000 Series (ศูนย์สามตัว) วิ่งระหว่างโตเกียว กับ โอซาก้า

มีรถวิ่งเข้าวิ่งออก ณ ปีที่เปิดตัว วันละ 60 เที่ยว!!

ปัจจุบันสายโทะไคโด มีชินคันเซนวิ่งเข้า-ออก 200 กว่าเที่ยวต่อวัน เกือบทุก 7 นาทีจะมีรถออกขบวนนึง


สมัยนั้นแบ่งขบวนรถเป็น 2 แบบ คือ

1. Hikari (ฮิคาริ แปลว่า แสง) วิ่ง Tokyo-Osaka ในเวลา 4 ชั่วโมง จอดแต่สถานีหลัก

2. Kodama (โคดามะ แปลว่า เสียงสะท้อน) ถึงโอซาก้าในเวลา 5 ชั่วโมง เพราะจอดดะทุกสถานี เป็นชินคันเซนหวานเย็น

ส่วนขบวนที่ชื่อ Nozomi (โนโซมิ) กว่าจะเกิดก็ต้องรอไปจนถึงปี 2535 นู่น


รูปนี้เป็น 000 Series ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2509 ไม่ได้บอกว่าถ่ายที่ไหน
วิวคุ้น ๆ เหมือนจะเป็นเกียวโต




รุ่นแรก ชื่อรหัส 000 Series

เริ่มผลิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 ผลิตกันต่อเนื่องยาวนานมาถึง 22 ปี หยุดผลิตไปเมื่อปี 2529

หน้าตาอ้วนกลมน่ารัก และคลาสสิคซ่ะ...
ตรง หัวรถเห็นว่าลอกแบบมาจากเครื่องบินรุ่น DC-8 ที่ใช้บินส่งคนสมัยนั้น เพราะคนออกแบบคงอยากสื่อให้เห็นว่า การเดินทางด้วยชินคันเซ็นสะดวกรวดเร็วเหมือนนั่งเครื่องบิน

ความเร็วสูงสุดทำได้ถึง 220 กม./ชม. แต่วิ่งจริงเฉลี่ยจะไม่ถึง 200 เพราะเทคโนโลยียังไม่ดี ทำเสียงดังหนวกหูชาวบ้าน

รถแรงต้องฐานล้อกว้าง ๆ ด้วยความเร็วขนาดนี้เลยทำให้ต้องสร้างรางของใหม่หมด ให้เป็นมาตรฐาน European Standard Gauge ที่ 1.435 เมตร

ซึ่งรางรถไฟของ JR แบบปกติ จะเป็น Caps Gauge กว้าง 1.067 เมตร เลยเอารถไฟความเร็วสูงกว่า 200 กม./ชม. มาวิ่งไม่ได้

ส่วนรถไฟไทยรางเป็นแบบประหยัดต้นทุน เป็น Meter Gauge กว้าง 1 เมตร เพื่อให้เข้ากับรางรถไฟเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


000 Series แบบมาตรฐาน 1 ขบวนจะมีตู้โดยสารประมาณ 12 หรือ 16 ตู้ แล้วแต่รุ่น




ตอนนี้ 000 Series ที่ยังเหลืออยู่นอกพิพิธภัณฑ์ ถูกเอามาปรับปรุง และลดชั้นลงมาเป็นรถด่วน (Limited Express) วิ่งอยู่ที่ Fukuoka

โดยตัดตู้ออก เหลือ 6 ตู้ต่อขบวน ใช้วิ่งระยะทางสั้น ๆ แค่ 8.5 กม. ใช้เวลาวิ่ง 10 นาที จากสถานี Hakata ไปสถานี Minami-hakata

ใช้ชื่อสายว่า Hakata Minami line บริหารโดย JR West
กลายเป็นสายอนุรักษ์ให้นั่งชื่นชมบรรยากาศเก่า ๆ ไปซ่ะงั้น

ถ้าใครอยากนั่ง 000 Series หมดโอกาสซ่ะแล้ว
เพราะเดือนพฤศจิกายน ปี 2551 JR West ได้ยกเลิกการใช้งาน 000 Series ทั้งหมด หลังจากคุณปู่ 000 Series ถูกปลุกชีพปั๊มหัวใจอยู่ให้บริการมายาวนานกว่า 40 ปี

สมควรแก่เวลาต้องเชิญแกไปนั่งดูหลาน ๆ ในพิพิธภัณฑ์ได้แล้ว

หลังจากนี้คนที่อยากย้อนอดีตใช้บริการนั่ง ฮาคาตะ มินามิไลน์ จะได้นั่ง 100 Series รุ่นปัดฝุ่น แทน


ทาง JR West จะจัดงานซาโยนาระ 000 Series กันที่ Hakata อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 51 นี่เอง




ขบวนที่ถูกปลอดระวาง ก็จะทยอยนำไปทาสีเดิม (น้ำเงิน-ขาว) แล้วส่งให้มิวเซี่ยมทั่วโลก เปลี่ยนของขวัญบ้าง ต่างตอบแทนบ้าง ขายให้ก็มีบ้าง

ขบวนนี้กำลังลำเลียงลงเรือ ส่งไปพิพิธภัณฑ์เมือง York ประเทศอังกฤษ




สีขบวนรถตอนที่ยังอยู่ภายในการดูแลของ JR West ก่อนปลดระวาง
เป็นลายดำเขียว





ภายใน 000 Series จะแคบกว่าชินคันเซนรุ่นอื่น ๆ ชั้นปกติ (Ordinary Car) จะมีเบาะแค่ 4 แถว และพื้นปูด้วยกระเบื้องยางสังเคราะห์ ไม่ได้ปูพรม



หลังจากประสบความสำเร็จด้วยดีกับทางรถไฟสาย Tokaido
(ตามรูปหมายเลข 1 สีแดง)

เดือนมีนาคม ปี 2510 ทาง Japanese National Railways (JNR) หรือ การรถไฟญี่ปุ่น สมัยยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ก็เริ่มก่อสร้าง ต่อขยายรางชินคันเซนจากโอซาก้า ลงใต้ไปเป็นช่วง ๆ ไปถึง Okayama, Hiroshima จนสุดทางที่ Fukuoka เมื่อปี 2518

สร้างนานหน่อย เพราะต้องทำ Shin-Kanmon Tunnel อุโมงค์ลอดใต้ทะเลยาว 18.7 กม. ระหว่างเกาะฮอนชูกับคิวชู ก่อน

JNR ตั้งชื่อทางรถไฟสายใหม่นี้ว่า Sanyo Shinkansen (ซันโย ชินคันเซน) ตามรูปเส้นทางหมายเลข 2 สีน้ำเงิน

ขบวนรถที่วิ่งเส้นทางใหม่นี้ ยังใช้ชื่อว่า ฮิคาริ กับ โคดามะ เหมือนกับสายโทะไคโด
เพียงแต่โคดามะของสายโทะไคโด จะวิ่งจากโตเกียวไปสุดสายที่โอซาก้า แยกจากโคดามะของซันโย ที่เริ่มวิ่งจากโอซาก้าลงไปถึงฟุคุโอกะ

ชื่อเหมือนกันแต่ต่างคนต่างวิ่งในเส้นทางของตัวเอง




รุ่นต่อไป ต้องรออะไรหลายอย่าง จนถึงปี 2527 หลังจากผลิต 000 Series ออกมากว่า 20 ปี JNR ถึงจะเปิดตัว 100 Series ขึ้นมาแทน

100 Series ใช้วิ่งในเส้นทาง โทะไคโด และ ซันโย เป็นขบวนฮิคาริ
ส่วน 000 Series ก็ให้เป็น โคดามะ อย่างเดียว คันไหนเก่ามาก ก็ก็ปลดระวาง

รูปทรงหัวรถ 100 Series ลดความอ้วนกลม และเหลามุมให้เป็นทรงรี กลมกลืนกับตัวรถ ลดแรงต้านอากาศ

ไฟหน้าจากทรงกลม ก็เปลี่ยนเป็นทรงรีให้เข้ากับหน้ารถ คนญี่ปุ่นเค้าบอกว่า ดูแล้วเหมือนจมูกฉลาม

รุ่นนี้ช่วงล่างดีขึ้น และมอเตอร์ไฟฟ้าแรงกว่าเดิม จนทำความเร็วสูงสุดในการทดสอบได้ถึง 270 กม./ชม. ไม่มีเสียงดังรบกวนชาวบ้านแล้ว

แต่วิ่งจริงสูงสุดจะให้ไม่เกิน 220 กม./ชม. เพราะเทคโนโลยีระบบเบรคและการทรงตัวยังดีไม่พอให้เอาไปบรรทุกผู้โดยสารไปวิ่งเร็วเท่านั้น

1 ขบวนจะมีตู้โดยสาร 16 ตู้ แต่ความกว้างของตู้โดยสารยังไม่มาก 1 แถวยังมีที่นั่งได้ 2+2 เหมือน 000 Series

ผลิตมาค่อนข้างยาวนาน จนถึงปี 2534 ก็เลิก
ไปเริ่มผลิต 300 Series แทน




ตอนนี้ 100 Series เหลือวิ่งเป็นชินคันเซนหวานเย็น ขบวน Kodama ในเส้นทาง Sanyo Shinkansen และตัดเหลือ 6 ตู้ต่อขบวน

พอวิ่งถึง Hakata ก็เปลี่ยนชื่อขบวนเป็น LEX (Limited Express) ชื่อขบวน Hakata Minami line วิ่งระยะทางสั้น ๆ ไปเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงชินคันเซนที่สถานีฮาคาตะมินามิ


รูปนี้เป็น 100 Series ที่เอามาปรับปรุงเป็นขบวน โคดามะ จอดรับผู้โดยสารที่เมืองฮิโรชิม่า




100 Series ผมเคยลองไปนั่งมาแล้วจากสถานีฮาคาตะ ไป ฮาคาตะมินามิ
ถึงจะเก่าแต่ก็นิ่ง และวิ่งฉิว อาจมีเสียงดังลอดเข้ามาในห้องโดยสารนิดหน่อย และช่วงล่างไม่นุ่มเท่ารุ่นใหม่ แต่ก็ถือว่ายังเยี่ยม กับรถที่อายุ 20-30 ปีขนาดนี้

ภายในเบาะเป็นสีน้ำตาล ตกแต่งเรียบ ๆ บรรยากาศเหมือนกับนั่งรถบัสปรับอากาศ แบบ ป.1 ทั่วไป




ขอข้าม 200 Series ไปก่อนนะครับ

เพราะ รุ่นนี้ผลิตขึ้นมาพร้อม ๆ กับ 100 Series แต่ใช้วิ่งขึ้นเขาฝ่าหิมะ ในเส้นทาง Tohoku กับ Joetsu Shinkansen ซึ่งรถจะมีคุณสมบัติที่ อึด ทน และแรง มากกว่ารุ่นปกติ

อยากเล่าให้จบทีละเส้นทาง จะได้ไม่งง

ก่อนจะเล่าถึง 300 Series ขอปูพื้น เล่าเหตุการณ์สำคัญอย่างนึงก่อน
จะได้ไม่มึนเวลาพูดถึง ตัวย่อ JNR , JR East หรือ JR West


อย่างที่บอกไปแล้ว รถไฟญี่ปุ่นตอนแรกเป็นรัฐวิสาหกิจ ชื่อว่า Japan National Railways หรือ JNR

ต่อมารถไฟชักเยอะ ระบบชักซับซ้อน
แถมรถไฟเอกชนเจ้าอื่นๆ ก็พัฒนาไล่บี้มาติด ๆ
ทางรัฐบาลเลยให้แปรรูปเป็นเอกชนซ่ะ เพื่อความคล่องตัวและรวดเร็วในการบริหารและพัฒนาการเดินรถ

เดือนเมษายน ปี 2530 JNR เลยถูกแปรรูปเป็นเอกชน ตั้งเป็น JR Group มี 9 บริษัทย่อย คือ

1. Hokkaido Railway Company หรือ JR Hokkaido (สีเขียวอ่อน) รับผิดชอบเขตเกาะฮอคไคโดทั้งหมด สำนักงานอยู่ที่ ซัปโปโร่

2. East Japan Railway Company หรือ JR East (สีเขียวแก่) รับผิดชอบงตอนบนของเกาะฮอนชู สำนักงานอยู่ที่โตเกียว

3. Central Japan Railway Company หรือ JR Central (สีส้ม) รับผิดชอบเขตภาคกลาง (Chubu) ของเกาะฮอนชู อยู่ที่นาโงย่า

4. West Japan Railway Company หรือ JR West (สีน้ำเงิน) รับผิดชอบตอนล่างของเกาะฮอนชูทั้งหมด สำนักงานอยู่ที่โอซาก้า

5. Shikoku Railway Company หรือ JR Shikoku (สีฟ้า) รับผิดชอบเขตเกาะชิโคะคุทั้งหมด สำนักงานไม่แน่ใจว่าอยู่ที่ไหน เพราะ website เป็นภาษาญี่ปุ่น อ่านม่ะออก

6. Kyushu Railway Company หรือ JR Kyushu (สีแดง) รับผิดชอบเขตเกาะคิวชูทั้งหมด สำนักงานอยู่ที่ฟุคุโอคะ

7. Railway Technical Research Institute หรือ RTRI รับผิดชอบการวิจัยและพัฒนารถไฟทุกประเภทของ JR

8. JR Freight Railway Company หรือ JR Freight ดูแลรถ และการขนส่งสินค้าทางรางทั้งหมดทั่วประเทศ

9. Railway Information Systems Company ดูแลระบบข้อมูลการจองตั๋วรถ และการเดินรถทั้งหมดทั่วประเทศ

พอแบ่งเป็นบริษัทย่อย ๆ ก็ต้องมีการแบ่งสมบัติกัน

Tokai Shinkansen ให้ JR Central ดูแล
ส่วน Sanyo Shinkansen ก็ให้ JR West ดูแล




พอ JNR แปลรูปเป็นเอกชนแล้ว
การพัฒนาชินคันเซนก็เริ่มว่องและถี่ราวกับโด๊ปยา

ปี 2532 JR Central กับ JR West ก็ร่วมกันพัฒนาและสร้าง 300 Series ออกมาให้บริการ ในสาย โทะไคโด และ ซันโย

เปิดตัวเมื่อ 8 มีนา 2533 ประกาศตัวอย่างกึกก้องว่า นี่คือ Super Hikari (ตอนนั้น Nozomi ยังไม่เกิด)

ความเร็วสูงสุดตอนทดสอบ ทำไปได้ถึง 300 กม./ชม. เท่าชื่อรุ่น
แต่วิ่งจริงสูงสุดไม่เกิน 270 กม./ชม. เฉลี่ยอยู่ที่ 225 กม./ชม.
เร็วพอที่จะทำให้วิ่งจากโตเกียวถึงโอซาก้าได้ในเวลา 3 ชั่วโมงนิด ๆ จากรุ่นแรก ๆ ที่ต้องนั่งกันก้นด้านถึง 4 ชั่วโมง

หน้าตาดูหล่อและทันสมัย หน้าสั้นกระทัดรัดรูป ไม่ยาวยื่นจนคนขับชะโงกมองไม่เห็นหน้ารถ

ดูไปคล้ายหน้านินจาใส่ชุดสีขาวคาดหน้ากากสีเทาเหมือนกันเนอะ

1 ขบวนแบบมาตรฐาน จะมี 16 ตู้ ยกเว้นจะเอาไปดัดแปลงตัดต่อให้สั้นลงเพื่อวิ่งระยะใกล้

มอเตอร์แรงขึ้น
ตัว รถเบาขึ้น เพราะเปลี่ยนตัวถังจากเหล็ก เป็น อลูมินัมอัลลอยด์
พร้อมระบบช่วงล่างสมัยใหม่ และเบรค ที่นิ่มและสนิทกว่าเดิมหลายขุม เห็นเค้าบอกว่าเป็น AC Regenerative Break System

Spec ของ 300 Series ดูตามนี้นะครับ //en.wikipedia.org/wiki/Shinkansen_300_Series



ภายในของ 300 Series




เดือนมีนา 2535 JR Central กับ JR West ก็ประกาศชื่อขบวนรถใหม่ แทน Super Hikari ที่ฟังแล้วดูไม่เป็นญี่ปุ่นเท่าไหร่

ชื่อขบวนใหม่ คือ Nozomi (แปลว่า ความหวัง)
จึงเกิดมาตั้งแต่ตอนนั้น

Nozomi เป็นชื่อขบวนรถซุปเปอร์ด่วน ที่จะวิ่งรวดเดียวจาก โตเกียว ไปถึง ฟุคุโอคะ ควบสองเส้นทางจาก โทะไคโด ถึง ซันโย ไม่ต้องแวะเปลี่ยนรถที่โอซาก้าอีก (เฉพาะช่วงเวลาเร่วด่วนอาจมีขบวนเสริมวิ่งระยะสั้น)

ส่วน ฮิคาริ กับ โคดามะ ยังคงแบ่งวิ่งช่วงใครช่วงมัน Tokaido / Sanyo ไม่ปนกัน (แต่อาจมีแถมนิดหน่อย) มาจนถึงเดี๋ยวนี้

ดัง นั้นถ้าใครใช้ JR Rail Pass แล้วจะนั่งชินคันเซนจากโตเกียว ไป ฟุคุโอคะ ต้องแวะเปลี่ยนรถที่ สถานีชินโอซาก้าก่อนนะจ๊ะ เพราะ JR Rail Pass ใช้นั่งรถ โนโซมิ ม่ะได้


รถที่ทันสมัยต้องวิ่งในระดับที่ดีที่สุด
300 Series ยุคแรกทั้งหมด เลยเอามาวิ่งเป็น Nozomi

แต่รุ่นนี้หยุดผลิตไปแล้วเมื่อปี 2541 ตอนนี้ 300 Seeris เลยถูกลดชั้นลงมาวิ่งเป็น Kodama กับ Hikari จนเกือบหมดแล้ว
เหลือวิ่งเป็น Nozomi เฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนที่รถไม่พอเท่านั้น


ชินคันเซ็น 1 คัน เพื่อความปลอดภัย เค้าจะใช้งานแค่ประมาณ 15-20 ปี เท่านั้น

เลยต้องมีการผลิตรุ่นใหม่ออกมาเรื่อย ๆ




เมื่อแยกเป็นบริษัทย่อย แต่ละบริษัทก็อยากจะสร้างผลงานเป็นของตัวเอง

JR West เลยไปซุ่มผลิต 500 Series ขึ้นมาเมื่อปี 2538
กะจะเอามาใช้เป็นรถ Nozomi ประจำสายซันโย

หน้าตาล้ำสมัยสุดสุด เหมือนไม่ไช่รถไฟ ไปเหมือนหนอนอวกาศ

ไม่ได้สวยแต่รูป แต่ปราดเปรียวเซี้ยวสุดขีดที่ความเร็วสุงสุดตอนทดสอบร่วม 320 กม./ชม.
เอามาวิ่งจริง ถ้าเป็นสายโทะไคโด รางมันเก่า จะวิ่งได้แค่ไม่เกิน 270 กม./ชม.
แต่พอเอาไปวิ่งบนสายซันโย รางสร้างทีหลัง ระหว่างฮิโรชิม่า กับ ฟุคุโอคะ พุ่งไปได้ถึง 300 กม./ชม.

แต่ แค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ลดเวลาวิ่งจากโตเกียว ถึง ฮาคาตะ (ฟุคุโอคะ) จาก 5.40 ชั่วโมง ที่เคยทำได้โดย 300 Series ลงเหลือแค่ 4.49 ชั่วโมงกับเจ้าหนอนอวกาศตัวนี้

เป็นความเร็วสูงที่สุดของชินคันเซน ที่ให้บริการเชิงพาณิชย์อยู่ในญี่ปุ่นตอนนี้


ความที่จมูกมันยาว เลยทำให้ความยาวของรถตู้แรก งอกออกมาเป็น 27 เมตร ยาวกว่าชินคันเซนรุ่นอื่น ที่โดยเฉลี่ยวจะยาวแค่ 25 เมตร

พนักงานขับรถรุ่นนี้เลยต้องไปฝึกจอดรถกันใหม่หมด!




500 Series อาจจะหานั่งยากซักหน่อยนะครับ
เพราะผลิตออกมาแค่ 9 ขบวน (ขบวนละ 16 ตู้) เนื่องจากต้นทุนการสร้างแพงนรกมาก

ขบวนละ 5 พันล้านเยน!!! คิดเป็นเงินไทยก็จิ๊บ... คร่อก ที่ หนึ่งพันหกร้อยกว่าล้านบาท++++ (อ้าก!)

ด้วยเพราะมันเป็นรถทันสมัย และ สมรรถนะสูงส่งเกินยุคมาก

เดินสายการผลิตแค่ 4 ปี ก็เลยเลิกเมื่อ พ.ศ. 2541 พร้อมกับการเลิกผลิต 300 Series

มาทีหลัง แต่ม้วยไปพร้อมกัน สงสัยคนออกแบบจะไม่ได้ดูฮวงจุ้ยก่อนทำ


ถ้าใครมีโอกาสไปนั่งชินคันเซนสายซันโย อาจมีโอกาสได้สัมผัสกับ 500 Series เพราะมีการลดชั้น 500 Sereis จากการเป็น โนโซมิ เหลือแค่โคดามะ โดยตัดตู้ออกจาก 16 ตู้ เหลือครึ่งเดียว 8 ตู้


เป็นหนอนน้อยที่คอยรับส่งผู้คน ระหว่าง ชินโอซาก้า กับ ฮาคาตะ




ชินคันเซนทุกรุ่นที่เริ่มผลิตตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา จะมีการทำ Logo หรือ ตราสัญลักษณ์ประจำรถแต่ละรุ่น ติดไว้ที่ด้านข้างซ่ะใหญ่โตเห็นเด่นชัดแต่ไกล

เป็นอิมเมจประจำรุ่นเอาไว้ทำการตลาด.. ว่างั้น

เรื่องใช้สัญลักษณ์ หรือ ตัวมาสคอต ญี่ปุ่นเค้าถนัดนัก


ของ 500 Series เป็นยุคแรกที่เริ่มคิดทำโลโก้ข้างรถ
คน ออกแบบเลยยังเกร็งๆ อยู่ จะทำให้เฟี้ยวๆ แนวๆ ชะโจ กับ ชิโจ คงจะเบิดกระโหลกเอา (ญี่ปุ่นเวลาลูกน้องทำงานไม่ถูกใจ เอาจะตบหัวกันเลยนะ)

เลยออกมาเรียบ ๆ แข็ง ๆ ไม่มีลูกเล่นอะไรมาก

ช่างขัดกับภาพลักษณ์อันทันสมัยของตัวรถเหลือเกิน!




ภายใน 500 Series การตกแต่งคล้ายกับ 300 Series แต่เพดานสูงกว่า ให้ความโปร่งโล่งกว่า และเปลี่ยนสีพรมที่พื้นให้ห้องโดยสารดูสว่างมากขึ้น ส่วนสีเบาะัยังม้วง.. ม่วง เหมือนเดิม





จากความแพงโครตของ 500 Series
ทำให้ JR West ต้องหันกลับมาจับมือกับ JR Central อีกครั้ง เพื่อพัฒนาชินคันเซ็นรุ่นต่อไป เอาไว้ใช้เป็นขบวนโนโซมิแทน 300 Series

ได้ออกมาเป็น 700 Series เปิดสายการผลิตในปี 2540

ต้นทุนถูกกว่า 500 Series อยู่ที่ 4 พันล้านเยน เท่านั้น..... !!!
(โทรสั่งตอนนี้แถม 000 Series ให้ทำแปลงสะระแหน่ด้วย)

700 Series สมรรถนะ จะต่ำกว่า 500 Series
ความ เร็วจะพอ ๆ กับ 300 Series แต่ปรับปรุงเรื่องความนุ่มนวลในการขับขี่ และการยึดเกาะรางเวลาเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ทำให้นั่งแล้วนุ่มเหมือนขี่เมฆสีทองของโงกุนนั่นเชียว

ระบบเก็บเสียงในห้องโดยสารทำได้ดีถึงดีมาก เงียบกริบ ไม่มีเสียงลมข้างนอกเล็ดลอดเข้ามาได้ เหลือแต่เสียงลมจากโรงสีของคนในรถ

หน้ารถจะออกแบบให้ยื่นออกเหมือน 500 Series แต่ตีโป่งให้ป้อม ๆ บาน ๆ ดูยังไงก็เหมือนเป็ด


ผมเลยเรียก เจ้าปากเป็ด




ใครมีโอกาสไปนั่งชินคันเซนสายโทะไคโดตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นไป จะได้สัมผัสกับ 700 Series แน่นอน

เพราะผลิตออกมาแล้วมากถึง 91 ขบวน
ก่อนนี้จะใช้เฉพาะขบวน โนโซมิ แต่ตอนนี้ถูกทยอยปรับชั้นลงมาเป็นฮิคาริเกือบทั้งหมดแล้ว

เพราะมีรุ่นใหม่กว่าออกมาวิ่งเป็น โนโซมิ แทนแล้ว
700 Series เลยพึ่งหยุดผลิตไปเมื่อปี 2548 นี่เอง

ต่อไป ฮิคาริ ทั้งหมด ก็จะใช้ 700 Series
ส่วน โคดามะ ก็จะใช้ 300 Series ตกทอดกันไปเรื่อย ๆ


ส่วนรุ่นใหม่ N700 Series ที่จะมาใช้เป็น โนโซมิ แทน เด๋วจะเล่าใหัฟัง






โลโก้ของ 700 Series เริ่มมีสีสันและลูกเล่นแล้ว
แต่ Hard Sales เหลือเกิน

ให้อารมณ์แล้วเหมือนดูโฆษณาโทนาฟเลย




ห้องโดยสารของ 700 Series นะ เปลี่ยนวัสดุและสีเบาะใหม่
ดูสดใสกว่า 300 Series เยอะ





ถึงแม้ว่า 700 Series จะเป็นความร่วมมือกันระหว่าง JR West กับ JR Central แต่ภาพที่ออกมาก็ยังดูเหมือนเป็นรถของ JR Central อยู่ดี

ทาง JR West ยังไม่หายแล้วใจ จากกรณี 500 Series รุ่นแพงโครตเศรษฐี
และด้วยความที่รถชั้นฮิคาริ ที่ใช้วิ่งสายซันโย ซึ่งใช้ 100 กับ 300 Series มีไม่พอใช้ ก็เลยสั่งทำ 700 Series รุ่นไมเนอร์เชนจ์มาใช้งาน

เพื่อไม่ให้ล่มจม เลยสั่งทำแค่ 8-12 ตู้ต่อขบวน
จากปกติชินคันเซนจะมี 16 ตู้ต่อขบวน

ทาสีดำที่รอบกระจกหน้า
เหมือนเป็ดหัวดำปากขาว
ตัวรถเป็นสีออกเทาๆ ไม่ขาวมุกเหมือนกับ 700 Series รุ่นปกติ
ด้านข้างทาสีดำคาดเหลือง แล้วตกแต่งภายในใหม่

ตั้งชื่อว่า Hikari Rail Star




ด้านข้าง มีโลโก้คำว่า Rail Star พร้อมดาวหางสีเหลือง คาดอยู่ข้างตัวรถ

อันนี้ผมชอบแฮะ
ค่อยดูเข้าทีมีสไตล์หน่อย




จะให้ดูกันชัด ๆ ว่า ระยะห่างระหว่างเบาะในรถไฟชินคันเซนรุ่นใหม่ ๆ ตั้งแต่ 300 Series ขึ้นไป มันกว้างขนาดไหน

มีระยะห่างระหว่างเบาะเหลือเฟือสำหรับคนขายาว ที่ 1.04 เมตร

ระยะห่างระหว่างเบาะขนาดนี้ ขนาดฝรั่งตัวโต ๆ สูงเกิน 175 เซ็นแถมลงพุงด้วย ยังนั่งสบาย แถมเอนเบาะแล้วไม่รบกวนคนข้างหลังด้วย





ชินคันเซนตัวใหม่ล่าสุดของสาย โทะไคโด และ ซันโยชินคันเซน มาแว๊วววววววว

ด้วยความร่วมมือจาก JR Central และ JR West เหมือนเดิม
แยกกันพัฒนาเดี๋ยวจะพากันเจ๊งอีก

เริ่มเปิดสายการผลิตเมื่อ พ.ศ. 2548
ณ ตอนนี้ผลิตรถและส่งมอบไปได้แล้วประมาณ 40 กว่าขบวน จากยอดสั่งจองทั้งหมด 97 ขบวนที่จะต้องส่งมอบให้เสร็จภายในปี 2554

JR Central กับ JR West มีแผนกะเอาไปใช้เป็นขบวนโนโซมิ วิ่งระหว่าง โตเกียว กับ ฟุคุโอคะ แทน 700 Series ทั้งหมด ให้ได้ภายในปี 2552 เป็นต้นไป ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนไปแล้วประมาณ 50%


ผลิตและคิดออกมาได้เร็ว เพราะรุ่นนี้พัฒนาต่อยอดจาก 700 Series เลยได้ชื่อว่า New หรือ N700 Series

ความเร็วสูงสุดเท่ากับ 500 Series แต่ปรับปรุงระบบการควบคุม ช่วงล่างและกำลังมอเตอร์ใหม่หมด

ตัวรถจะสวย เริ่ด เชิดหน้าขึ้นอีก 1 องศา เพื่อให้รับกับระบบซับแรงสั่นสะเทือนแบบถุงลม สามารถเข้าโค้งด้วยความเร็วสูงได้แบบชิวชิว..

ระบบ การควบคุมรถมีความแม่นยำมากขึ้น จนสามารถลดเวลาวิ่งจาก โตเกียว ถึง ฟุคุโอคะ ได้อีก 13 นาทีจาก 700 Series รุ่นเดิม ทำเวลาได้เท่ากับ 500 Series รุ่นสุดแพงที่เลิกผลิตไปแล้ว

วิ่งจาก โตเกียว ถึง โอซาก้า ใช้เวลาแค่ 2 ชั่วโมง 25 นาที!

หน้าตาก็ยังเป็นพี่น้องตระกูลเป็ดเหมือนกับ 700 Series อยู่ดี...


เป็น New Duck ครับ




ดูด้านข้างจะคล้ายกับ 700 Series มั่กๆ
จนหลายคนสับสน (ผมก็ด้วย)




พอมองเห็นโลโก้ข้างตัวรถ แล้วถึงจะรู้ว่าไม่ใช่ 700 Series รุ่นเก่า

รุ่นนี้ออกแบบได้เข้าทีดีแล้ว เส้นสายทันสมัยตามตัวรถ
แถมมีลูกเล่น เอารูปรถไฟเข้าไปวิ่งในตัวอักษร N700 ด้วย




วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าคันไหนเป็น 700 หรือ N700 ให้ดูจาก

1. ไฟหน้า 700 Series ไฟหน้าจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ใต้กระจกหน้า ตรงกลางตัวรถ ส่วน N700 จะย้อนยุค กลับไปใช้ไฟรูปวงกลม ติดอยู่ที่ปลายปากเป็ด ที่หัวขบวนรถ

2. กระจกห้องคนขับ ของ 700 แนวกระจกจะยาวแต่แคบกว่า N700

3. หน้ารถ 700 จะกลมป่องเป็นเป็ดการ์ตูน ส่วน N700 จะเหลาให้ตรงแก้มเว้าเหมือนหัวลูกศร ลดแรงเสียดทานอากาศ


หน้าตาดูเป็นเป็ดนักบู๊มากขึ้น


N700 Series คนที่ใช้ JR Rail Pass คงจะไม่มีโอกาสได้ลองนั่งกันง่าย ๆ
เพราะกว่ารถจะเก่าจนเริ่มลดชั้นจาก โนโซมิ เป็น ฮิคาริ ได้ ก็อาจต้องร้องเพลงรอไปจนหลังปี 2554 นู่นแหละมั้ง





ห้องโดยสารของ N700 ในชั้น 1 (Green Car) หรูมาก เหมือนนั่ง Business Class บนเครื่องบินเลย เบาะปรับไฟฟ้าเสียด้วย
ไม่แน่ใจว่ามีระบบหนวดด้วยรึเปล่า เห็นมีปุ่มเยอะมาก

วันหลังถ้าได้ลองนั่ง จะเอามาเหลาให้อ่านกันใหม่




ส่วนห้องโดยสารชั้นปกติ ก็ยังดูเรียบเรียบ เหมือนตัว 700 Series เดิม
เพียงแต่เปลี่ยนสีเบาะให้เข้มขึ้น และใช้วัสดุทำเบาะที่เป็นใยสังเคราะห์พิเศษ นั่งโปร่งโล่งสบาย ไม่อับ ระบายอากาศได้ดี

(คุณสมบัติเหมือนพวกผ้าอนามัยเรยยยฮิ 555)




ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป เที่ยววิ่งชินคันเซนโนโซมิ N700
จะเปลี่ยนเป็นเที่ยววิ่งปลอดบุหรี่....

ถ้าจะสูบบุหรี่ ก็ต้องมารมควันตัวเองในห้องกระจกห้องนี้ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ตู้ใน 1 ขบวนเท่านั้น




ของ(เมา)แถม..




ข้ามไปคิวชู เกาะใหญ่ทางใต้ของญี่ปุ่น

ดู 800 Series กัน

เป็นของ JR Kyushu
เป็นชินคันเซนรุ่นแรก และรุ่นเดียวของเกาะ ในเส้นทาง Kyushu Shinkansen


เริ่มผลิตเมื่อปี 2546 ออกมาแค่ 6 ขบวน (ขบวนละ 6 ตู้) แค่ 3 ปีก็หยุดผลิต เพราะพอกับการใช้งาน(ตอนนี้)แล้ว




Kyushu Shinkansen เป็นสายสั้น ๆ แค่ 137.6 กิโลเมตร
จากสถานี Shin-Yatsushiro (ชินยาทซึชิโระ) จังหวัด Kumamoto (คุมะโมโตะ) ถึง สถานี Kagoshima-Chuo (คาโงะชิมะชูโอะ) จังหวัด Kagoshima (คาโงะชิมะ)

เปิดเดินรถเมื่อเดือนมีนา ปี 2547

จริง ๆ แล้วเส้นทางนี้มีแผนจะต่อเชื่อมกับชินคันเซนสายซันโย จาก จังหวัดฟุคุโอคะ จนถึง จังหวัดคาโงชิม่า

แต่ ตอนนี้เปิดใช้งานแค่ช่วงเดียว จากเมืองยาสึชิโระ จังหวัดคุมาโมโต้ มาสุดทางที่ จังหวัดคาโงชิม่า (เมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่อง หมูดำคุโรบูตะ ที่อร่อยขั้นเทพ)

เส้นทางส่วนที่เหลือจาก สถานีฮาคาตะ มาที่ สถานีชินยาสึชิโระ กำลังก่อสร้างอยู่ คาดว่าจะเสร็จในปี 2554

โดยใช้ชื่อว่าเส้นทางสาย Sakura

ว้าวววววววววววววว




ผมพึ่งไปคิวชูกลับมา พบว่า
เส้นทางชินคันเซนสายซากุระ สร้างเป็นสะพานลอยฟ้าไปเกือบเส้นทั้งเส้นทางแล้ว

กำลังอยู่ในระหว่างการทำอุโมงค์ระหว่างภูเขา

น่าจะเสร็จทันตามกำหนดแน่นอน เรื่องทำงานให้ทันตามกำหนดเวลา ญี่ปุ่นไม่ค่อยจะพลาดอยู่แล้ว




800 Series มีชื่อขบวนว่า Tsubame (ซึบาเมะ) ที่แปลว่า นกนางแอ่น

แต่หน้าตาดูไปผมว่าคล้ายเป็ดมากกว่านกนางแอ่นนะ
ไฟหน้าทำเป็นรูปวงรีแนวตั้ง เหมือนจมูกเป็ด หัวก็มน ๆ แบน ๆ เหมือนปากเป็ด

คงเพราะพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ใช้ในรถ 800 Series ถอดมาจาก 700 Series ปากเป็ด ที่ผลิตในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน

ความเร็วสุงสุดที่ทดสอบไว้ ทำได้ถึง 285 กม./ชม. แต่วิ่งจริงแค่ 260 กม./ชม. ก็พอแล้ว ใช้เวลาวิ่งทั้งสายแค่ 35 นาทีเอง

เร็วมากจะบินถลาตกทะเลเอา





โลโก้ประจำขบวนซึบาเมะ มี 2 ส่วน

ส่วนแรกทางซ้ายมือ เป็นตัวอักษรญี่ปุ่นสีดำตัวโต ที่ออกแบบ Font ได้เก๋มั่ก ๆ

ชอบ...

ส่วนที่สองทางขวามือ เป็นโลโก้รูปวงกลม มีนกนางแอ่น 2 ตัวบินวนรอบคำว่าซึบาเมะ


ขาวหมวย เอ๊ย! ขาวสะอาด เรียบง่าย แต่ดูดีมีสกุลที่ซู๊ด...




ยิ่งเข้าไปดูการตกแต่งภายในห้องโดยสาร
ก็แทบจะอยากอาร์ตแตกกระจาย....

มันช่าง OTOP ซ่ะนี่กระไร
เห็นแล้วอยากลงนั่งคุกเข่าจิบชาเชียวแกล้มโมจิไปด้วยจังเลย

เป็น เบาะผ้าขนาดใหญ่ แบบ 2+2 ที่นั่งต่อแถว กว้างและนุ่มเหลือเฟือ ไม่ว่าคุณจะเพรียวบางร่างเล็ก หรือ Big Buttock แค่ไหน ก็นั่งได้สบายตรู๊ด




ระหว่างที่เส้นทางชินคันเซ็น จาก สถานีฮาคาตะ (ฟุคุโอคะ) กับ สถานีชินยาซึชิโระ ยังสร้างไม่เสร็จ JR Kyushu ได้จัดรถไฟ Limited Express ไว้คอยบริการรับส่งผู้โดยสาร เชื่อมระหว่างทั้ง 2 สถานีไปก่อน

เรียกชื่อว่าขบวน Relay Tsubame

ใช้เวลาวิ่งนานหน่อย ประมาณชั่วโมงครึ่ง
เพราะเป็นรถไฟแบบปกติ ที่จะวิ่งด้วยความเร็วเฉลี่ยไม่เกิน 140 กม./ชม.




หน้าตา LEX Relay Tsubame ดุดันสะใจคนรักความบึกมาก

ดำสนิททั้งคัน ให้มันล้อกับสีขาวมุกของ Tsubame ซ่ะงั้น
ช่างขี้เล่นกันเหลือเกินนะ คนออกแบบรถไฟญี่ปุ่นเนี๊ยะ

และสงสัยคนออกแบบถ้าจะเป็นแฟนพันธุ์แท้สตาร์วอร์
เพราะมองเผิน ๆ หน้ารถเหมือนกับหน้ากาก Darth Vader ไม่มีผิด


แต่ มาคิดดูอีกที หน้ากากของ Darth Vader เค้าได้แรงบันดาลใจมาจากหมวกของชุดเกาะนักรบซามูไรนี่หว่า..... ใครเลียนแบบใครกันแน่เนี๊ยะ....





โลโก้ของ Relay Tsubame จะออกแนว Retro ดูมะกันยุคซิกตี้จ๋า....

แค่เรื่องการออกแบบโลโก้รถไฟ
ก็ทำเอาผมบ้าได้เป็นเรื่องเป็นราวแล้ว




ข้างใน LEX Relay Tsubame ตกแต่งด้วยโทนสีม่วงดำ
หน้าต่างกว้าง เบาะใหญ่ นั่งเหยียดแข้งเหยียดขาสบาย

ระยะห่างระหว่างเบาะเหลือเฟือตามมาตรฐานญี่ปุ่นที่ 1 เมตร กะอีก 4 เซ็นฯ




จบไปแล้ว 3 เส้นทาง
ขอสรุปกันอีกที เด๋วบางคนท่าทางจะตาลอยด้วยความงงกันไปใหญ่

เล่าไปแล้ว 3 สาย...
1. Tokaido Shinkansen จาก โตเกียว ไป (ชิน)โอซาก้า
2. Sanyo Shinkansen จาก (ชิน)โอซาก้า ไป ฟุคุโอคะ
3. Kyushu Shinkansen จาก ฟุคุโอคะ ไป คาโงชิม่า

สายโทะไคโด (552 กม.) กับ ซันโย (623 กม.) มีรถอยู่ 3 ประเภท คือ

Nozomi เร็วสุด จอดน้อยที่สุด เฉพาะสถานีสำคัญ วิ่งจาก โตเกียว รวดเดียวไม่ต้องต่อรถ ยาวถึง ฟุคุโอคะ ใช้ N700 Series กับ 700 Series ปนกัน (เป็นรถชินคันเซนชนิดเดียว ที่ใช้ JR Rail Pass ไม่ได้นะครับ)


Hikari เร็วปานกลาง จอดบ้างตามสถานีที่สมควร แบ่งวิ่งเป็น 2 ส่วน
-ฮิคาริ ของ JR Central วิ่งจากโตเกียว ไป (ชิน)โอซาก้า
ใช้ 700 Series ปนกับ 300 Series อีกนิดหน่อย
-ฮิคาริ ของ JR West วิ่งจาก (ชิน)โอซาก้า ไป ฟุคุโอคะ
ใช้ 700 Series รุ่น Hikari Rail Star ปนกับ 500 Series


Kodama รถหวานเย็น ช้าที่สุดในบรรดาชินคันเซนสายนี้ทั้งหมด เพราะจอดแวะทุกสถานี แบ่งวิ่งเป็น 2 ส่วนเหมือนฮิคาริ
-โคดามะ ของ JR Central วิ่งจากโตเกียว ไป (ชิน)โอซาก้า
ใช้ 300 Series
-โคดามะ ของ JR West วิ่งจาก (ชิน)โอซาก้า ไป ฟุคุโอคะ
ใช้ 500 Series รุ่นตัดเหลือ 8 ตู้ ปนกับ 100 Series รุ่นปัดฝุ่น


ส่วนสายคิวชู (137 กม.) บนเกาะคิวชู ตอนนี้เปิดใช้แค่ช่วงสั้นร้อยกว่ากิโลเมตร มีรถประเภทเดียว คือ Tsubame เป็นรุ่น 800 Series




ส่วนชินคันเซนสายตะวันออกเฉียงเหลือ ที่เหลือ
ขอยกยอดไปเล่าสัปดาห์หน้านะ

ยังเหลืออีกหลายรุ่นเหลือ

เอารูปมาให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วสัปดาห์หน้าจะมา Up Blog ให้อ่านกันใหม่ครับ


จากรูปจากซ้ายไปขวา E3 Series , 400 Series , 200 Series โฉมเก่า , 200 Series โฉมขัดใหม่ , E2 Series , E4 Series Max และสุดท้าย E1 Series Max โฉมเก่าก่อนเปลี่ยนสี




.


Create Date : 25 เมษายน 2552
Last Update : 2 พฤษภาคม 2552 16:15:44 น. 11 comments
Counter : 6439 Pageviews.

 
เปนประเทศที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาดีนะคะ
ถ้านักการเมืองบ้านเราเป็นแบบนี้กันสักครึ่งนึงป่านนี้ก้อคงจะมีรถไฟฟ้าไปรอบกรุงเทพแล้วมั๊งคะ
อิอิ ไม่เอาดีก่าไม่พูดเรื่องเครียดๆ


โดย: funkylady วันที่: 25 เมษายน 2552 เวลา:23:33:47 น.  

 
อ่านเพลินไปเลยค่ะ
ตอนที่ไปเห็นโบรชัวร์ว่ามีรถไฟลายอันปังแมนด้วยค่ะ
ตอนที่ไปไม่ค่อยได้สังเกตรถไฟอย่างละเอียดเท่าไหร่
เพราะพอถึงชานชาลา ก็เดินดุ่มๆ เล็งๆ ว่าขึ้นถูกมั้ย
แล้วต้องนั่งตู้ไหน แล้วก็ขึ้นไปเลย
ไม่ได้สัมผัสภายนอกมากนักกลัวตกรถไฟ

แต่ได้เบียดกับคนญี่ปุ่นบนรถไฟ กระดิกตัวแทบไม่ได้เลยค่ะ แอ๊ก!


โดย: oanotai วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:10:40:42 น.  

 
หวัดดีค่ะ เห็นคุณหนุ่มอัพบล๊อกเลยรีบเข้ามาดู

เพราะคุณหนุ่มนี่แหละมาจุดประกายความอยากจนต้องไปเยือนคิวชูมาจนได้

ขอบคุณนะคะ


โดย: Alone with out lonely IP: 124.120.58.65 วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:15:04:15 น.  

 


ละเอียดดีมากเยี่ยมยอดเลยครับแล้วจะติดตามชมตอนต่อไปนะครับ


โดย: =Zakk= วันที่: 27 เมษายน 2552 เวลา:15:59:36 น.  

 
ใครหนอจะกล้าเบื่อคุณหนุ่มได้ลงคอ อิอิ


โดย: pinkyrose วันที่: 11 พฤษภาคม 2552 เวลา:22:52:17 น.  

 
เก่งมากๆ เลย อ่านเพลินเลยค่ะ ว่าจะ Save ไป Print ก้ไม่สำเร็จซักที


โดย: soyu ณ TKT (SOYU_K ) วันที่: 24 สิงหาคม 2552 เวลา:20:01:37 น.  

 
อ่านไปก็ขำไป ชอบประโยคนี้มากๆ

'คน ญี่ปุ่นเริ่มคิดสร้างชินคันเซนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 ยุคที่เมืองไทยอันพาลกำลังครองเมือง ตอนนั้นที่ญี่ปุ่นรถไฟกำลังจะครองใจคนทั้งประเทศ'


โดย: soyu ณ TKT (SOYU_K ) วันที่: 24 สิงหาคม 2552 เวลา:20:13:09 น.  

 
กำลังจะไปเดือน พค'10 มึนกับรถไฟ เลยหาอ่านตั้งแต่ใน Blueplanet สมัย โบ โบ เลย สนุกและมีประโยชน์มากๆๆๆ Thank you super very much


โดย: PBK IP: 125.25.81.20 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:14:45:31 น.  

 
เมือไรประเทศไทยจะมีมังนะ เหอๆ


โดย: NewZa IP: 58.9.231.244 วันที่: 7 เมษายน 2553 เวลา:18:54:37 น.  

 
ว่าเหมือนกัน


โดย: ฟุก 2 IP: 113.53.63.65 วันที่: 24 มีนาคม 2554 เวลา:21:24:09 น.  

 
จะมีสักที่ ให้หรู หรู


โดย: ฟุก 2 IP: 113.53.63.65 วันที่: 24 มีนาคม 2554 เวลา:21:27:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

NumAromDee
Location :
นนทบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




แค่หนุ่มใหญ่(โรค)จิตอ่อนไหว
ไปตามสายลม เสียงเพลง
ที่ผันแปรได้ตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย

ใครที่คิดว่าผมมีสาระ และวิชาการ อาจผิดหวังได้

แต่ถ้าอยากได้ความเรื่อยเปื่อย เจื้อยแจ้ว และหวังดี ที่เซเว่นใกล้บ้านคุณไม่มีขายให้

ก็เข้ามาสนทนาธรรมกันได้เร้ยยยย


ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาเยี่ยมชม Blog ของผมน๊า....


ใครที่เขียนอีเมล์ หลังไมค์ หรือ ส่งจดหมายน้อยมาทักทายหรือถามเรื่องญี่ปุ่น ถ้าผมตอบช้า ไม่ได้หมายความว่าหยิ่งหรือไม่สนใจ

แต่..

ข้อความและจดหมายมันเข้ามาเยอะมากเลยคร้าบบบบ ผมมีเวลาตอบที่จำกัดเสียด้วย อาจจะช้าหรือโดนดองกันไปหลายท่าน ขออภัยด้วยเน้อออออออ
Friends' blogs
[Add NumAromDee's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.