พวกดื้อรั้นจะให้จิตเป็นวิญญาณขันธ์ให้ได้
จากบล็อก บล็อกนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมา เพื่อโต้แย้งพระเพียงองค์เดียว

ซึ่งผมเขียนตอบเรื่องจิตว่า จิตมีดวงเดียว จิตไม่เกิดดับ ที่เกิดดับคืออาการของจิต

ในพระบาลีก็กล่าวไว้ออกจะชัดเจนว่า "เอก จรํ" จิตมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไป
และครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ส่วนใหญ่ล้วนสอนตรงกันว่า
จิตมีดวงเดียว แต่ละคนนั้นมีจิตเพียงดวงเดียว ของใครของมัน
และเป็นที่บันทึกลงของกรรมดีกรรมชั่วครับ

ส่วนที่เราเห็นนั้น ล้วนเป็นอาการของจิต
ที่แสดงออกมาตามอารมณ์ต่างๆที่จิตเข้าไปยึดไม่เหมือนกัน

จึงทำให้เข้าใจผิดได้ง่ายว่าเป็นจิตคนละดวงกัน
แท้จริงแล้วเป็นอาการของจิตที่แสดงอาการออกมาแตกต่างกันไปเท่านั้นเอง


ทำให้นักศึกษาฝ่ายอภิธรรมหลายท่านเข้ามาโต้แย้ง
ทั้งๆที่เราท่านทุกคนทราบกันดีอยู่แล้ว แต่นักศึกษาฝ่ายอภิธรรมหายอมรับไม่
ว่าคัมภีร์พระอภิธรรม มีมาในชั้นหลัง ไม่ใช่พระพุทธวจนะ
การจะเทียบเคียงคำสอนนั้น ให้ถือพระพุทธวจนะชั้นต้นเป็นหลัก
คือ พระสูตร พระวินัย, พระอภิธรรม,พระอรรถกถาจารย์,อัตตโนมัติอาจารย์ ตามลำดับ


แม้สมเด็จพระสังฆราชท่านก็มีกล่าวถึงในหนังสือ ความเข้าใจเรื่องพระอภิธรรม
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ความตอนหนึ่งว่า

๓. คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
อภิธรรมคัมภีร์นี้ ถ้าจะเรียนกันโดยลำดับให้ครบถ้วนก็จะต้องใช้เวลานาน
เพราะมีข้อความที่สลับซับซ้อนพิสดารมาก
ฉะนั้น ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปอยู่ในขนาดพันปี ได้มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อท่าน อนุรุทธะ
ได้ประมวลเนื้อความของอภิธรรมทั้ง ๗ คัมภีร์นี้ มาแต่งไว้โดยย่นย่อ เรียกว่า คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ
แปลว่า สงเคราะห์ คือ สรุปความแห่งอภิธรรม ยกหัวข้อเป็นสี่คือ
๑. จิต
๒. เจตสิก แปลว่าธรรมะที่มีในใจ
๓. รูป
๔. นิพพาน

ท่านแต่งเป็นคาถาสลับร้อยแก้วแบ่งออกเป็น ๙ ปริเฉท คือ ๙ ตอน เป็นหนังสือเล่มเล็กๆไม่โตมาก
คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะนี้เป็นที่นิยมกันมาก เมื่อเรียนตามคัมภีร์นี้แล้วไปจับดูอภิธรรม ๗ คัมภีร์
ก็จะเข้าใจได้โดยง่ายโดยตลอด เป็นการเรียนลัด.

พิจารณาดูตามหัวข้อที่ท่านว่าไว้เป็นสี่นี้ตามความเข้าใจ
จิตนี้เป็นตัวยืน โดยปรกติจิตก็มีดวงเดียว จิตจะเป็นต่างๆก็เพราะมีเจตสิก
แปลว่าธรรมะที่มีในใจ มีเจตสิกเป็นอย่างไรจิตก็เป็นอย่างนั้น เจตสิกจึงเป็นสิ่งที่มีผสมอยู่ในจิต
เทียบเหมือนดั่งว่าน้ำกับสีที่ผสมอยู่ในน้ำ
น้ำโดยปรกติก็เป็นอย่างเดียว แต่เมื่อใส่สีลงไปน้ำจึงเป็นน้ำสีนั้น น้ำสีนี้ ฉะนั้น

ในอภิธรรมที่แจกจิตไว้ถึง ๘๙ ดวง ก็ด้วยอำนาจของเจตสิกนี้เอง
ยกเจตสิกออกแล้ว จิตก็เป็นอันเดียวเท่านั้น


^
^

พระนิพนธ์ของพระสังฆราชท่าน ความของท่านก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า

จิตนี้เป็นตัวยืน โดยปรกติจิตก็มีดวงเดียว จิตจะเป็นต่างๆก็เพราะมีเจตสิก
ในอภิธรรมที่แจกจิตไว้ถึง ๘๙ ดวง ก็ด้วยอำนาจของเจตสิกนี้เอง
ยกเจตสิกออกแล้ว จิตก็เป็นอันเดียวเท่านั้น


ซึ่งตรงกับพระพุทธวจนะที่ว่า "เอก จรํ" จิตมีดวงเดียว ท่องเที่ยวไป


และตรงกับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
ซึ่งทุกท่านล้วนสอนตรงกันว่า
จิตมีดวงเดียว แต่ละคนนั้นมีจิตเพียงดวงเดียว ของใครของมัน
และจิตเป็นที่บันทึกลงของกรรมดีกรรมชั่ว จิตไม่เกิดดับ ที่เกิดดับคืออาการของจิต



แม้ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็มีกล่าวไว้ว่า
จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

ความว่า ก็รู้ว่าจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ
ก็แสดงชัดเจนว่า จิตต้องรู้ตลอดสายของการปฏิบัติ เมื่อราคะเกิดขึ้นที่จิต และราคะดับไปจากจิต
แสดงว่าจิตไม่เกิดดับ สิ่งที่เกิดดับคือราคะ ไม่ใช่จิต



@ ท่านแน่ใจนะว่ายังหวังดี ได้เข้าไปแสดงคคหโต้แย้งไว้
ซึ่งผมก็ได้แจกแจงแสดงให้ท่านได้เข้าใจไว้มากมายเช่นกันว่า
จิตไม่เกิดดับ จิตมีดวงเดียว จิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ จิตไม่ใช่กองทุกข์

แต่ท่านก็ยังดื้อรั้นจะให้จิตเป็นวิญญาณขันธ์ให้ได้ จะให้จิตเป็นกองทุกข์ให้ได้
พยายามยกพระสูตรมาจากที่ต่างๆ โดย copy paste post
อันเป็นนิสัยที่พวกอ่านพระไตรปิฎกไม่เป็นชอบทำ ชอบฟลัดกระทู้
ทำให้กระทู้เลอะเทอะ โดยที่ตัวเองไม่สามารถแสดงคคหของตนเองได้ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อะไร

และบางครั้งก็ยังไปยก คคห ของท่านอื่นๆ ซึ่งท่านไม่รู้เรื่องด้วย ไม่สามารถเข้ามาโต้แย้งได้
ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ประเภทเดียวกัน อ่านพระไตรปิฎกไม่เป็น
อ่านแบบเด็กนักเรียน วิจัยเฉพาะที่เห็นตรงหน้า โดยไม่เชื่อมโยงกับพระสูตรที่มีมาก่อนหน้า

เพราะธรรมะพระพุทธองค์ต้องเชื่อมโยงกันหมด และลงเป็นเนื้อเดียวกัน
ถ้ามีข้อขัดแย้ง ให้เอาพระสูตรเป็นที่ตั้ง ท่านอรรถกถาจารย์ถือเป็นรอง
ท่านอรรถกถาจารย์อาจเขียนวินิจฉัยไว้ แต่การพิจารณาต้องเอาข้อความในพระสูตรเป็นหลัก

ดังนั้น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ศึกษาธรรม โดยเฉพาะผู้ยังใหม่อยู่
ผมจึงใคร่ขอทุกท่านนะครับ ผมยินดีถกกับทุกท่าน ทุกคำถามต้องมีคำตอบ
เพียงแต่บางครั้งท่านเขียนมามากจนเปรอะไปหมด ผมอาจตอบไม่ทัน อาจตอบช้าไปบ้าง

และขอความกรุณาอย่ายกถ้อยคำของท่านอื่นๆที่ไม่ใช่คคหของท่านมา
เพราะท่านเหล่านั้นไม่สามารถมาโต้แย้งกับผมได้
และถ้าผมโต้แย้งท่านเหล่านั้นไป ก็ออกจะไม่ยุติธรรม เพราะท่านที่ยกมาก็ไม่อาจโต้แย้งแทนได้

แต่ถ้าเป็นถ้อยคำของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ก็ขอให้ยกมาเฉพาะส่วนที่สำคัญ
ตรงประเด็นที่เรากำลังถกกัน แล้วทำลิงค์ไปต้นทางก็ได้ครับ

จะยกพระไตรปิฎกมา ก็โดยย่อ แล้วทำลิงค์ไป
แล้วแสดง คคห ของท่านในส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ต้องยกมาแปะทั้งสูตรครับ
อย่างอัสสุตวตาสูตร พวกดื้อรั้นจะให้จิตเป็นวิญญาณขันธ์ให้ได้
ทำนิสัยเป็นแพทเดียวกันเลยคือชอบยกสูตรนี้มาหากิน
หากินกันเป็นแค่สูตรเดียว ก็ตามเคย เพราะไม่เคยเข้าใจความนัยในพระสูตร
อ่านแบบเด็กนักเรียน วิจัยเฉพาะที่เห็นตรงหน้า


@ ในอัสสุตวตาสูตร ทรงกล่าวถึงวานรเที่ยวไปในป่าใหญ่
วานรเปรียบเหมือนจิต วานรเกี่ยวกิ่งไม้ เหมือนจิตจับอารมณ์
จิตมีดวงเดียว เหมือนวานรตัวเดียว
จิตเปลี่ยนไปจับอารมณ์ใหม่ตลอด เหมือนวานรเหนี่ยวกิ่งใหม่ตลอด
ถ้าจิตมีหลายดวง แสดงว่าวานรก็ต้องมีหลายตัว
ถ้าจิตเกิดดับอย่างที่ท่านๆเข้าใจกัน งั้นวานรก็ต้องตกตายเกลื่อนป่าน่ะสิ


@ ในมหาปุณณมสูตรที่ยกมาแสดงก็เช่นกัน
ยกมาทำไมครับ ในเมื่อคุณอ่านไม่เข้าใจ ผมอ่านมาหลายรอบหลายเที่ยว
และอรรถาธิบายไว้หลายรอบหลายเที่ยวเช่นกัน


พระสูตรนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่า รูปที่ตรัสถึงคือ รูปร่างกายมนุษย์
ไม่ใช่รูปชนิดอื่นๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ...ฯลฯ...

รูปชนิดอื่นๆ เกิดจากมหาภูตรูป ๔ เท่านั้น ไม่มีจิตครอง จึงรู้อะไรไม่ได้
จึงไม่เกิดผัสสะ ทำให้ไม่เกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หรือก็คือ ไม่เกิดขันธ์ ๕ นั่นเอง เพราะเป็นรูปที่ไม่มีจิตครอง

ส่วนรูปร่างกายมนุษย์ เกิดจากธาตุ ๖ คือ มหาภูตรูป ๔ +ธาตุรู้(วิญญาณธาตุหรือจิต)
แต่ทรงละไว้ในฐานที่เข้าใจ ณ พระสูตรนี้
เพราะได้ตรัสให้ทราบแล้วในธาตุวิภังคสูตร

รูปร่างกายมนุษย์มีธาตุรู้(วิญญาณธาตุ)หรือจิตครองนั่นเอง จึงรู้อะไรได้
จึงเกิดผัสสะ ทำให้เกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามมาครบขันธ์ ๕ นั่นเอง

ส่วนที่ยกมาเรื่องสักกายทิฐินั้น
ยกมาแต่ปุถุชน ทำไมไม่ยกฝั่งตรงข้ามที่ตรัสถึงพระอริยสาวกมาด้วยครับ
ผมจะแสดงให้ดูเป็นวิทยาทาน

ปุถุชน มีสักกายทิฏฐิ เพราะ
เห็นขันธ์ ๕ เป็นอัตตา
เห็นอัตตามีขันธ์ ๕
เห็นขันธ์ ๕ ในอัตตา
เห็นอัตตาในขันธ์ ๕

พระอริยสาวก ไม่มีสักกายทิฏฐิ เพราะ
ไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นอัตตา(ตน)
ไม่เห็นอัตตามีขันธ์ ๕
ไม่เห็นขันธ์ ๕ ในอัตตา
ไม่เห็นอัตตาในขันธ์ ๕

อะไรของปุถุชนและพระอริยสาวกที่เห็นครับ ถ้าไม่ใช่จิตเห็น
เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน กับไม่เห็นขันธ์ ๕ เป็นตน
ไม่ได้บอกว่าไม่มีตนนะครับ



อ่านมหาปุณณมสูตรเต็มๆที่นี่ครับ

ในพระสูตรกล่าวถึงพระที่เป็นโมฆบุรุษ มีความคิดว่า
จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา
กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร


พระที่เป็นโมฆบุรุษ มีความคิดเห็นผิดว่าอะไรๆก็เป็นอนัตตา(ไม่ใช่ตน)หมด
เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาทำกรรมอะไรขึ้นมาก็ไม่ต้องรับกรรมสิ
ในเมื่ออะไรๆก็ไม่ใช่ตน เมื่อทำกรรมไปแล้วจะถูกตน(รับกรรม)ได้อย่างไร
จึงได้ถูกโจทก์ว่าเป็นโมฆบุรุษ ด้วยเหตุเช่นนี้


และในพระสูตรเอง ก็กล่าวไว้ชัดเจนแล้วว่า
พระอริยสาวกนั้น
ไม่เห็นขันธ์ ๕(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) "เป็น" ตน
ไม่เห็น ตน "มี" ขันธ์๕
ไม่เห็นขันธ์ ๕ "ใน" ตน
ไม่เห็น ตน "ใน" ขันธ์ ๕


@ ผู้ใดกระทำกรรมใดไว้ กรรมย่อมตามผู้นั้นไป ดุจรอยเท้าโคที่ลากเกวียน ฉะนั้น
กรรมถูกบันทึกลงที่จิต และจิตไม่ใช่วิญญาณขันธ์ จิตไม่เกิดดับ

ถ้าเข้าใจผิดว่าจิตเป็นวิญญาณขันธ์ ก็จะเข้าข่ายเดียวกับพระที่เป็นโมฆบุรุษ
กรรมที่อนัตตาทำ จักถูกตนได้อย่างไร
ความคิดเช่นนี้ ย่อมเป็นเชื้อร้ายที่คุกคามพระศาสนา
ทำให้คนเราคิดกระทำกรรมชั่วโดยไม่เกรงกลัว
เพราะในเมื่ออะไรๆก็ไม่ใช่ตน เมื่อทำกรรมไปแล้วจะถูกตน(รับกรรม)ได้อย่างไร



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 26 มกราคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:47:52 น.
Counter : 1067 Pageviews.

รู้หยุดอยู่ที่รู้ คือรู้หยุดอยู่ที่จิตตั้งมั่นชอบ ไม่ใช่รู้หยุดอยู่ที่วิญญาณขันธ์รู้
ตอนตอบกระทู้ธรรมะ มีคนยกข้อธรรมนี้ขึ้นมา
เนื่องจากตอนนั้นภาระเยอะ ไม่มีเวลาตอบ ลองมาดูกัน


รู้ให้หยุด ณ วิญญาณขันธ์รู้
ไม่ใช่รู้ตอนเป็นสังขารขันธ์
แต่รู้ หยุด ณ วิญญาณขันธ์รู้
ก็ยังไม่พอ ยังต้องสาวให้ถึง จิต

รู้ให้ถึง จิต แล้วก็ยังไม่พอ
ยังต้องรู้ ในจังหวะที่ไม่รู้
มันถึงจะรู้ทุกข์ในจิต


รู้ให้หยุด ณ วิญญาณขันธ์รู้
ถ้าเป็นวิญญาณขันธ์ แสดงว่ารู้และยึดอารมณ์ ปรุงแต่งไปตามอารมณ์เรียบร้อยแล้ว

ไม่ใช่รู้ตอนเป็นสังขารขันธ์
พอรู้อารมณ์ปุ๊บ เกิดวิญญาณ เวทนา สัญญา สังขาร ตามมาปั๊บ
มันไม่ทันตั้งแต่แรกแล้ว จิตปรุงอารมณ์ตั้งแต่วิญญาณขันธ์แล้ว


แต่รู้ หยุด ณ วิญญาณขันธ์รู้
ก็ยังไม่พอ ยังต้องสาวให้ถึง จิต

อย่างที่บอกแต่แรก ถ้าเป็นวิญญาณขันธ์เนี่ย ปรุงอารมณ์เรียบร้อยแล้ว
กระบวนการขันธ์ ๕ เกิดต่อเนื่องกันไปแล้ว ไม่ทันแล้ว...
ต้องรู้อยู่ที่รู้ ก่อนจิตจะไปปรุงเป็นวิญญาณขันธ์


รู้ให้ถึง จิต แล้วก็ยังไม่พอ
ยังต้องรู้ ในจังหวะที่ไม่รู้
มันถึงจะรู้ทุกข์ในจิต

ถ้าจิตรู้อยู่ที่รู้ได้ มันจะรู้ชัดเจนเลยว่า
ตอนที่จิตไปรู้อยู่ที่เรื่อง นั่นแหละจิตเป็นทุกข์
แต่พอจิตมารู้อยู่ที่รู้ นั่นแหละจิตไม่ทุกข์


ขออธิบายขยายความดังนี้

วิญญาณขันธ์ เป็นอาการของจิต
เกิดจากจิตรู้และรับอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อจิตรับรู้อารมณ์นั้นๆแล้ว ก็ปรุงแต่งต่อไป เกิด เวทนา สัญญา สังขาร ตามมาอย่างรวดเร็ว

คงต้องเข้าใจความหมายของคำว่า อารมณ์ กันก่อน
อารมณ์ คือ รูป คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้
แจกแจงได้เป็น รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์

จิตรับรู้อารมณ์เหล่านี้ โดยอาศัยร่างกายซึ่งมีอายตนะภายใน ๖ คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นคู่เรียงตามลำดับ
เป็นรูปารมณ์(อารมณ์คือ รูป), สัททารมณ์(อารมณ์คือเสียง)
คันทารมณ์(อารมณ์คือกลิ่น), รสารมณ์(อารมณ์คือรส)
โผฏฐัพพารมณ์(อารมณ์คือกายสัมผัส), ธัมมารมณ์(อารมณ์คือความนึกคิดในใจ)

ตัวอย่าง
เมื่อ ตา กระทบ รูป
จิตรับรู้อารมณ์(รูปารมณ์)ทางตา เรียก วิญญาณทางตา (จักษุวิญญาณ)
จิตเกิดความชอบใจ-ไม่ชอบใจ-เฉยๆ ต่อรูปารมณ์นั้นๆ เรียกว่า เวทนา
จิตจดจำรูปารมณ์นั้นๆไว้ เรียกว่า สัญญา (รูปสัญญา)
จิตนึกคิดถึงรูปารมณ์นั้นๆ คิดดี-คิดชั่ว-คิดไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว เรียกว่า สังขาร

ครบขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ


ในวันหนึ่งๆ อารมณ์ หรือ รูป หรือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ เข้าสู่จิตตลอดเวลา
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิตตลอดเวลา

พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง
เพื่อให้รู้อยู่ที่รู้ ไม่ใช่รู้อยู่ที่อารมณ์หรือเรื่องต่างๆทั้งภายนอกและภายในใจ

โดยเริ่มต้นจากอานาปานสติบรรพะแรก
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติ

นั่นคือ ปฏิบัติสัมมาสมาธิ ควบคู่ไปกับสัมมาวายามะ และสัมมาสติ
จนจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ จิตอยู่โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์
จิตอยู่ส่วนจิต อารมณ์อยู่ส่วนอารมณ์
อารมณ์เหล่านั้นก็คงเป็นแค่ รูป เสียง กลิ่น รส กายสัมผัส ธัมมารมณ์
แต่ไม่ใช่อารมณ์ของจิตอีกต่อไป เพราะจิตไม่ได้ปรุงแต่งไปตามอารมณ์แล้ว
ไม่เกิดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามมา

นี้คือ รู้สักว่ารู้ เห็นสักว่าเห็น ได้ยินสักว่าได้ยิน
รู้แล้วหยุดด้วยปัญญา (จิตรู้แต่ไม่รับ ไม่ยึด ไม่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์)
ไม่ใช่ รู้ให้หยุด ณ วิญญาณขันธ์ รู้ (จิตรู้แล้วรับ แล้วปรุงแต่งไปตามอารมณ์แล้ว)

จาก...สหายธรรม

************************

ครับ ขอขอบคุณ ท่านสหายธรรม ที่ส่งบทความมาให้ได้ร่วมกันศึกษาครับ

มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ใน นกุลปิตาสูตร ว่า

ปุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป
จิตก็ปรวนแปรตามไปด้วย


ส่วนพระอริยสาวกนั้น เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป
จิตก็หาปรวนแปรไปตามไม่


จากพระพุทธพจน์ที่นำมาแสดงให้อ่านนั้น ก็ชัดเจนในตัวโดยไม่ต้องชี้แจงอะไรเพิ่มเติมอีกเลย

จิตเป็นสภาพธรรมที่ชอบออกไปรู้รับอารมณ์แล้วยึดอารมณ์นั้นๆมาเป็นของๆตน

โดยเฉพาะปุถุชนผู้มิได้สดับจากพระอริยสาวกนั้น
ย่อมเข้าใจผิดว่าขันธ์๕เป็นตน ตนเป็นขันธ์
เมื่อจิตยึดขันธ์๕อย่างเหนียวแน่น มาหยุดรู้อยู่ที่ ณ.วิญญาณขันธ์นั้น
ก็แสดงว่าจิตได้เข้ายึดอารมณ์นั้นเข้าให้เสียแล้ว
พร้อมที่จะปรุงเป็น เวทนา สัญญา สังขารต่อไป


ส่วนพระอริยสาวกนั้น
ท่านได้ฝึกฝนอบรมสัมมาสมาธิอย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่
จนจิตของท่านสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ ที่เข้ามากระทบทางอายตนะทั้ง๖
จิตเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ว่าอารมณ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่อารมณ์
เมื่อเป็นเช่นนี้ พอรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณปรวนแปรไป
จิตของท่านหาปรวนแปรไปไม่



เรารู้ได้จากพระพุทธพจน์ ที่พระองค์ทรงสอนในหัวใจพุทธศาสนาไว้ว่า
ให้ชำระจิตบริสุทธิ์หมดจดได้นั้น เป็นวิธีเดียว(สัมมาสมาธิ) เท่านั้น
ที่จะสาวไปหาจิตที่เป็นตัวเหตุแห่งทุกข์(สมุทัย)ของสัตว์โลกทั้งหลาย
เพื่อขจัดมลทินสิ่งสกปรกทั้งหลายที่หมักหมมอยู่ที่จิตของตน ของใครของมันอยู่แล้ว

เมื่อชำระโดยวิธีปฏิบัติสัมมาสมาธิได้สำเร็จ จิตย่อมรู้อยู่ที่รู้ ไม่ไปรู้อยู่ที่เรื่อง
เนื่องจากการไปรู้อยู่ที่เรื่องนั้น รังแต่จะเป็นเครื่องหม้กหมมให้จิตสกปรกเศร้าหมอง
ไปตามเรื่องต่างๆเหล่านั้นครับ.....



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 18 กันยายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:43:33 น.
Counter : 441 Pageviews.

ดูจิตติดวิญญาณขันธ์ เพราะเข้าใจผิดว่าจิตคือวิญญาณ
ในปัจจุบันนี้ มีการสอนเรื่องดูจิตที่ผิดแบบแผน ผิดขั้นตอนการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยให้ดูจิตที่คิด (จิตสังขาร) ไปเรื่อยๆ ไม่ให้แทรกแซงความคิดนั้น ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์จิตที่คิดไป (จิตสังขาร) เรื่อยๆ และปล่อยให้สติมันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่กลับมีคนที่หลงเชื่อเข้าไปได้ว่า "เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง"

เมื่อพิจารณากันให้ดีๆแล้ว พอจะเห็นและเข้าใจได้ว่า เป็นเพราะจิตที่คิดไปนั้น คือ จิตสังขาร (วิญญาณขันธ์) ที่แจ้งในอารมณ์นั้นๆ คือการปล่อยให้จิตที่คิดไหลไปนั้น คิดไปเองจนเหนื่อยหน่าย เมื่อรู้สึกเหนื่อยหน่าย ความรู้สึก คือ ถิรสัญญาที่คอยเตือนให้ระลึกขึ้นมาว่าจะคิดไปทำไม เมื่อหยุดจิตที่คิดไหลไปไม่เป็น ก็ได้แต่เปลี่ยนอารมณ์ความคิดนั้นเสีย คือพยายามทำจิตให้มีความรู้สึกเฉยๆ เท่ากับดูอารมณ์ความคิดเฉยๆนั้นไปแทน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่าจิตถูกอบรมให้จดจำอารมณ์ความคิด ว่าคิดไปทำไม และพยายามมาดูอารมณ์ความคิดเฉยๆแทน แต่แท้จริงแล้ว อารมณ์ความคิดเฉยๆ เกิดจากความรู้สึกที่จิตคิดจนเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์นั้นแล้ว เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆเข้า จิตรับรู้ (วิญญาณขันธ์) จนคุ้นชินต่ออารมณ์นั้นๆ เป็นสัญญาอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่การวางเฉย (อุเบกขาธรรม) ที่เกิดจากการที่จิตสามารถปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้จริงๆ

เมื่อจิตรับรู้จนคุ้นชินต่อสัญญาอารมณ์เหล่านั้น ทำให้เกิดถิรสัญญาจดจำอารมณ์ที่คุ้นชินนั้นได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากจดจำอารมณ์เหล่านั้นได้ จนเป็นถิรสัญญา จิตก็รู้สึกตัวได้เร็วขึ้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ที่ให้จิตปล่อยวางสัญญาอารมณ์นั้น

อารมณ์เหนื่อยหน่ายที่เข้าใจไปเองว่าเป็นการวางเฉยต่ออารมณ์ได้นั้น ยังเป็นเฉยโง่ แท้จริงแล้วไม่ใช่อุเบกขาธรรมเลย เป็นเพียงจิตที่คิดถึงความรู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์มาขั้นเท่านั้น

เมื่อมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้น ก็เริ่มต้นกันใหม่อีก จนคุ้นชินต่ออารมณ์ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งนานวันไป อารมณ์เก่าจืดจางไป อารมณ์ที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นมาแทน ก็เริ่มต้นคุ้นชินกับอารมณ์ใหม่ๆอยู่ร่ำไป หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนเป็นวัฏฏะวน ไม่รู้จักวิธีปล่อยวางอารมณ์ที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธวจนะที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วได้สักที

สืบเนื่องจากมีความเข้าใจผิดๆไปตามตำราว่า จิตกับวิญญาณนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อวิญญาณดับไป จิตย่อมต้องดับไปด้วย เพราะเข่าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกันเรื่องเดียวกัน และเชื่อแบบผิดๆว่า มีจิตต้องมีอารมณ์ เป็นเหตุใกล้ทำให้เกิด "สติอัตโนมัติ" ขึ้นเอง

แต่ความเป็นจริงนั้น เป็นเพียง "ถิรสัญญา" ที่เกิดมีขึ้น มาจากที่ตนเอง เคยตั้งจิตเจตนาว่าจะจดจำอารมณ์เหล่านั้นไว้ ตั้งแต่ตอนต้นที่เริ่มฝึกหัดใหม่ๆ จนเป็นความเคยชินหรือคุ้นชินต่ออารมณ์เหล่านั้น

เมื่อมีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นมา ก็จะมีถิรสัญญารู้สึกขึ้นมา รับรู้ทันทีว่ามีอารมณ์นั้นๆ ซึ่งเป็นการที่จิตเคยฝึกให้รับรู้ (วิญญาณ) อารมณ์นั้นๆ ทุกครั้งจนคุ้นชิน จึงมีถิรสัญญาในอารมณ์นั้นๆ เกิดขึ้นมาได้ แต่เข้าใจผิดไปเองว่าเป็น "สติ" ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐานสูตรแน่นอน

เพราะความเข้าใจผิดไปเองว่า จิตกับวิญญาณเป็นสิ่งเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงอย่างมาก ในพุทธศาสนาเลยทีเดียว

มีพุทธวจนะในพระสูตรใน “มหาปุณณมสูตร” ความว่า

ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า
จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตน)
กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ)

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น
ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่
พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้
เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา
กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร



สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

เมื่อจิตคือวิญญาณแล้ว กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไปไม่มีที่จะบันทึกลงตรงไหน เนื่องจากอุปทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตนเพราะเป็นอนัตตา เกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา กรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำไปก็ไม่อาจให้ผลต่อตนได้ เพราะไม่ใช่ตน (อนัตตา) ในเมื่อไม่มีที่ๆให้กรรมดี กรรมชั่วที่ทำไปนั้นบันทึกลงได้

จึงได้พูดโดยสะเพร่าด้วยความเข้าใจผิดไปเองว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตน)
แล้วกรรมที่อนัตตาไม่ใช่ตนทำ จักถูกตนได้อย่างไรใช่หรือไม่?
เพราะเป็นความเข้าใจผิดของภิกษุรูปนั้นเองว่า จิตคือวิญญาณ
เมื่อวิญญาณเป็นอนัตตาธรรม ไม่ใช่ตน
แล้วกรรมที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ทำ ก็ไม่อาจถูกตนได้สิ...นี่คือโมฆบุรุษ



ในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนานั้น ทรงสอนให้
๑.ละความชั่ว
๒.ทำความดี
๓.ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

และพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ล้วนตรัสไว้ว่า
"อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การทำจิตให้มีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"



การชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น มีทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

โดยเริ่มลงมือจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพื่อให้จิตได้รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างมาก เพื่อให้รู้จักสภาวะธรรมของจิต

ตอนเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆนั้น ความที่จิตคุ้นเคยกับการแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์ และจิตจะยึดสิ่งที่ออกไปรู้อยู่ท่าเดียวว่า เป็นของๆตน (ติดในอารมณ์) ต้องอาศัยความเพียรสร้างสติเพื่อน้อมนำจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปยึดอารมณ์กลับมาสู่ฐาน

"ฐาน" ในที่นี้คือ กรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งของสติที่กำหนดไว้อันปราศจากกาม เป็นที่ๆควรแก่การงานทางจิต

เมื่อจิตคุ้นเคยกับฐานที่ตั้งของสติ จนกลายเป็นฐานเดิมที่จิตคุ้นเคยแล้วนั้น จะเป็นกรรมฐานของสติ ที่เห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดเจนจากกายสังขาร จิตก็จะคล่องแคล่วและชำนาญ รวดเร็วในการน้อมนำจิตเข้าสู่อัปปานาสมาธิ

จนกระทั่งจิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อขันธ์ ๕ จิตย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เมื่อจิตเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จิตย่อมเกิดญาณหยั่งรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า จิตไม่ใช่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และวิญญาณก็ไม่ใช่จิตเช่นกัน


ซึ่งสอดคล้องกับพระพุทธวจนะใน “มหาปุณณมสูตร” ที่กล่าวไว้ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน
เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ก็ตาม
ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา (ที่พึ่ง) ของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย "อริยสาวก"ผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล ฯ"



จิตของภิกษุแต่ละองค์ที่หลุดพ้นนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทั้งสิ้น จิตที่หลุดพ้นของแต่ละองค์ เป็นจิตของตนไม่ใช่ขององค์อื่นใช่หรือไม่? ย่อมเป็นจิตที่หลุดพ้นแล้ว จากโลกียวิสัยที่เป็นไปในเรื่องของโลก

ไม่มีในพระพุทธวจนะตรงส่วนไหน ที่บอกเลยว่าวิญญาณหลุดพ้นแล้ว และก็ไม่เคยปรากฏว่ามีพระพุทธวจนะที่ทรงตรัสว่า "วิญญาณวิมุตติหลุดพ้น"

เนื่องจากจิตรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเนื่องจากมีญาณรู้แล้วว่า อุปทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่เรา(จิต) ไม่เป็นเรา(จิต) ไม่ใช่ของเรา(จิต)

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 14 กรกฎาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:43:50 น.
Counter : 668 Pageviews.


ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์