ดูจิตติดวิญญาณขันธ์ เพราะเข้าใจผิดว่าจิตคือวิญญาณ
ในปัจจุบันนี้ มีการสอนเรื่องดูจิตที่ผิดแบบแผน ผิดขั้นตอนการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยให้ดูจิตที่คิด (จิตสังขาร) ไปเรื่อยๆ ไม่ให้แทรกแซงความคิดนั้น ปล่อยให้ไหลไปตามอารมณ์จิตที่คิดไป (จิตสังขาร) เรื่อยๆ และปล่อยให้สติมันเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่กลับมีคนที่หลงเชื่อเข้าไปได้ว่า "เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง"

เมื่อพิจารณากันให้ดีๆแล้ว พอจะเห็นและเข้าใจได้ว่า เป็นเพราะจิตที่คิดไปนั้น คือ จิตสังขาร (วิญญาณขันธ์) ที่แจ้งในอารมณ์นั้นๆ คือการปล่อยให้จิตที่คิดไหลไปนั้น คิดไปเองจนเหนื่อยหน่าย เมื่อรู้สึกเหนื่อยหน่าย ความรู้สึก คือ ถิรสัญญาที่คอยเตือนให้ระลึกขึ้นมาว่าจะคิดไปทำไม เมื่อหยุดจิตที่คิดไหลไปไม่เป็น ก็ได้แต่เปลี่ยนอารมณ์ความคิดนั้นเสีย คือพยายามทำจิตให้มีความรู้สึกเฉยๆ เท่ากับดูอารมณ์ความคิดเฉยๆนั้นไปแทน

เมื่อเป็นเช่นนี้ เท่ากับว่าจิตถูกอบรมให้จดจำอารมณ์ความคิด ว่าคิดไปทำไม และพยายามมาดูอารมณ์ความคิดเฉยๆแทน แต่แท้จริงแล้ว อารมณ์ความคิดเฉยๆ เกิดจากความรู้สึกที่จิตคิดจนเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์นั้นแล้ว เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆเข้า จิตรับรู้ (วิญญาณขันธ์) จนคุ้นชินต่ออารมณ์นั้นๆ เป็นสัญญาอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่การวางเฉย (อุเบกขาธรรม) ที่เกิดจากการที่จิตสามารถปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้จริงๆ

เมื่อจิตรับรู้จนคุ้นชินต่อสัญญาอารมณ์เหล่านั้น ทำให้เกิดถิรสัญญาจดจำอารมณ์ที่คุ้นชินนั้นได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากจดจำอารมณ์เหล่านั้นได้ จนเป็นถิรสัญญา จิตก็รู้สึกตัวได้เร็วขึ้น ไม่ใช่สติปัฏฐาน ที่ให้จิตปล่อยวางสัญญาอารมณ์นั้น

อารมณ์เหนื่อยหน่ายที่เข้าใจไปเองว่าเป็นการวางเฉยต่ออารมณ์ได้นั้น ยังเป็นเฉยโง่ แท้จริงแล้วไม่ใช่อุเบกขาธรรมเลย เป็นเพียงจิตที่คิดถึงความรู้สึกเหนื่อยหน่ายต่ออารมณ์มาขั้นเท่านั้น

เมื่อมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้น ก็เริ่มต้นกันใหม่อีก จนคุ้นชินต่ออารมณ์ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป จนกระทั่งนานวันไป อารมณ์เก่าจืดจางไป อารมณ์ที่ใหม่กว่าเกิดขึ้นมาแทน ก็เริ่มต้นคุ้นชินกับอารมณ์ใหม่ๆอยู่ร่ำไป หมุนเวียนเปลี่ยนไปจนเป็นวัฏฏะวน ไม่รู้จักวิธีปล่อยวางอารมณ์ที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธวจนะที่ทรงตรัสไว้ดีแล้วได้สักที

สืบเนื่องจากมีความเข้าใจผิดๆไปตามตำราว่า จิตกับวิญญาณนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อวิญญาณดับไป จิตย่อมต้องดับไปด้วย เพราะเข่าใจผิดว่าเป็นสิ่งเดียวกันเรื่องเดียวกัน และเชื่อแบบผิดๆว่า มีจิตต้องมีอารมณ์ เป็นเหตุใกล้ทำให้เกิด "สติอัตโนมัติ" ขึ้นเอง

แต่ความเป็นจริงนั้น เป็นเพียง "ถิรสัญญา" ที่เกิดมีขึ้น มาจากที่ตนเอง เคยตั้งจิตเจตนาว่าจะจดจำอารมณ์เหล่านั้นไว้ ตั้งแต่ตอนต้นที่เริ่มฝึกหัดใหม่ๆ จนเป็นความเคยชินหรือคุ้นชินต่ออารมณ์เหล่านั้น

เมื่อมีอารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นมา ก็จะมีถิรสัญญารู้สึกขึ้นมา รับรู้ทันทีว่ามีอารมณ์นั้นๆ ซึ่งเป็นการที่จิตเคยฝึกให้รับรู้ (วิญญาณ) อารมณ์นั้นๆ ทุกครั้งจนคุ้นชิน จึงมีถิรสัญญาในอารมณ์นั้นๆ เกิดขึ้นมาได้ แต่เข้าใจผิดไปเองว่าเป็น "สติ" ซึ่งไม่ใช่สติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐานสูตรแน่นอน

เพราะความเข้าใจผิดไปเองว่า จิตกับวิญญาณเป็นสิ่งเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้เลย ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรงอย่างมาก ในพุทธศาสนาเลยทีเดียว

มีพุทธวจนะในพระสูตรใน “มหาปุณณมสูตร” ความว่า

ลำดับนั้นแล มีภิกษุรูปหนึ่ง เกิดความปริวิตกแห่งใจขึ้นอย่างนี้ว่า
จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้ เป็นอันว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตน)
กรรมที่อนัตตา (ไม่ใช่ตน) ทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร (เพราะไม่ใช่ตนทำ)

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบความปริวิตกแห่งใจของภิกษุรูปนั้น
ด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ ไม่รู้แล้วตกอยู่ในอวิชชา ใจมีตัณหาเป็นใหญ่
พึงสำคัญคำสั่งสอนของศาสดาอย่างสะเพร่า ด้วยความปริวิตกว่า

จำเริญละ เท่าที่ว่ามานี้
เป็นอันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา
กรรมที่อนัตตาทำแล้ว จักถูกตนได้อย่างไร



สาเหตุสำคัญที่ทำให้โมฆบุรุษคิดไปเช่นนั้น เพราะความเข้าใจผิดของตนเองว่า จิตคือวิญญาณ นั่นเอง

เมื่อจิตคือวิญญาณแล้ว กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไปไม่มีที่จะบันทึกลงตรงไหน เนื่องจากอุปทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่ตนเพราะเป็นอนัตตา เกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา กรรมดี กรรมชั่วที่ตนได้กระทำไปก็ไม่อาจให้ผลต่อตนได้ เพราะไม่ใช่ตน (อนัตตา) ในเมื่อไม่มีที่ๆให้กรรมดี กรรมชั่วที่ทำไปนั้นบันทึกลงได้

จึงได้พูดโดยสะเพร่าด้วยความเข้าใจผิดไปเองว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา (คือไม่ใช่ตน)
แล้วกรรมที่อนัตตาไม่ใช่ตนทำ จักถูกตนได้อย่างไรใช่หรือไม่?
เพราะเป็นความเข้าใจผิดของภิกษุรูปนั้นเองว่า จิตคือวิญญาณ
เมื่อวิญญาณเป็นอนัตตาธรรม ไม่ใช่ตน
แล้วกรรมที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) ทำ ก็ไม่อาจถูกตนได้สิ...นี่คือโมฆบุรุษ



ในโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหัวใจพุทธศาสนานั้น ทรงสอนให้
๑.ละความชั่ว
๒.ทำความดี
๓.ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

และพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ล้วนตรัสไว้ว่า
"อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ
การทำจิตให้มีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"



การชำระจิตให้บริสุทธิ์นั้น มีทางเดียวเท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เป็นทางที่จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

โดยเริ่มลงมือจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) เพื่อให้จิตได้รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) ซึ่งต้องอาศัยความพากเพียรพยายามอย่างมาก เพื่อให้รู้จักสภาวะธรรมของจิต

ตอนเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆนั้น ความที่จิตคุ้นเคยกับการแส่ส่ายออกไปรู้รับอารมณ์ และจิตจะยึดสิ่งที่ออกไปรู้อยู่ท่าเดียวว่า เป็นของๆตน (ติดในอารมณ์) ต้องอาศัยความเพียรสร้างสติเพื่อน้อมนำจิตที่ชอบแส่ส่ายออกไปยึดอารมณ์กลับมาสู่ฐาน

"ฐาน" ในที่นี้คือ กรรมฐาน หรือฐานที่ตั้งของสติที่กำหนดไว้อันปราศจากกาม เป็นที่ๆควรแก่การงานทางจิต

เมื่อจิตคุ้นเคยกับฐานที่ตั้งของสติ จนกลายเป็นฐานเดิมที่จิตคุ้นเคยแล้วนั้น จะเป็นกรรมฐานของสติ ที่เห็นพระไตรลักษณ์ได้ชัดเจนจากกายสังขาร จิตก็จะคล่องแคล่วและชำนาญ รวดเร็วในการน้อมนำจิตเข้าสู่อัปปานาสมาธิ

จนกระทั่งจิตสงบมีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่อขันธ์ ๕ จิตย่อมเบื่อหน่ายคลายกำหนัด เมื่อจิตเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จิตย่อมเกิดญาณหยั่งรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า จิตไม่ใช่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และวิญญาณก็ไม่ใช่จิตเช่นกัน


ซึ่งสอดคล้องกับพระพุทธวจนะใน “มหาปุณณมสูตร” ที่กล่าวไว้ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล
พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน
เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม
หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม
อยู่ในที่ไกล หรือในที่ใกล้ก็ตาม
ทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตา (ที่พึ่ง) ของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย "อริยสาวก"ผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น

เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

และเมื่อพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่
ภิกษุประมาณ ๖๐ รูป ได้มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่นแล ฯ"



จิตของภิกษุแต่ละองค์ที่หลุดพ้นนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทั้งสิ้น จิตที่หลุดพ้นของแต่ละองค์ เป็นจิตของตนไม่ใช่ขององค์อื่นใช่หรือไม่? ย่อมเป็นจิตที่หลุดพ้นแล้ว จากโลกียวิสัยที่เป็นไปในเรื่องของโลก

ไม่มีในพระพุทธวจนะตรงส่วนไหน ที่บอกเลยว่าวิญญาณหลุดพ้นแล้ว และก็ไม่เคยปรากฏว่ามีพระพุทธวจนะที่ทรงตรัสว่า "วิญญาณวิมุตติหลุดพ้น"

เนื่องจากจิตรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเนื่องจากมีญาณรู้แล้วว่า อุปทานขันธ์ ๕ นั้น ไม่ใช่เรา(จิต) ไม่เป็นเรา(จิต) ไม่ใช่ของเรา(จิต)

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 14 กรกฎาคม 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:43:50 น.
Counter : 560 Pageviews.

7 comments
  
1.คำว่า จิต ที่ท่านเขียนในบทความต่าง ๆ หมายถึงสิ่งใด
ผมอ่านไปหลาบ ๆ บท ค่อนข้างสับสนมาก
ที่ผมคาดเดา ท่านคงหมายถึง .ธาตุรู้. ใช่หรือไม่
ซึ่งไม่ใช่วิญญาณในขันธ์ 5 ไม่ใช่ สังขารในขันธ์ 5
ถ้าผมเข้าใจผิด รบกวนกรุณาช่วยให้ความกระจ่าง

2 ผมเสนอแนะให้เอารูป ดอกบัว ด้านซ้ายมือออก เพราะมันทำให้การอ่านหัวข้อเรื่องทางซ้ายมือไม่สดวกเลบ
แล้วแต่ท่านจะพิจารณา

ขอบคุณครับ
โดย: นมสิการ วันที่: 15 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:35:17 น.
  
ท่านนมสิการครับ ที่ผมสื่อนั้นต้องการให้เห็นว่าจิตเป็นธาตุรู้ ใช่ครับ
คำว่าธาตุรู้ต้องยืนตัวรู้ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดหรือดับไปก็ต้องรู้ครับ

แต่เพราะอวิชชาครอบงำจึงทำให้รู้ผิดจากความเป็นจริงไป
โดยยึดเอาขันธ์๕มาเป็นตัวตนของตน

โดยเฉพาะวิญญาณนั้น เมื่อไปรู้อะไรเป็นต้องยึดหรือรับรู้ว่าเป็นของๆตนอยู่เสมอ
โดยรู้แจ้งในทันทีต่ออารมณ์ที่รัก ชอบ ชัง เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

ต้องขอขอบคุณครับที่เสนอแนะ


ธรรมภูต


โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 16 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:04:46 น.
  
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายครับ
ผมเข้าใจแล้ว
อย่างไร ถ้ามีเวลา เข้าไปอ่านใน blog ผมบ้างนะครับ
เป็นเรื่องธรรมปฏิบัติจากประสบการณฺของผมเอง
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=namasikarn
โดย: นมสิการ วันที่: 16 กรกฎาคม 2552 เวลา:20:16:34 น.
  
จิตเป็นธาตุรู้..แต่รู้สภาวะที่ไม่รู้ก็ได้นะครับ
เมื่อใดที่คิดว่าไม่รู้..แต่จริงๆธาตุรู้..รู้แล้ว
โดย: palmgang IP: 119.42.70.128 วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:13:41:57 น.
  
ใช่ครับ จิตเป็นธาตุรู้
อะไรเกิดขึ้นที่จิต จิตก็รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นที่จิต
อะไรดับไปจากจิต จิตก็รู้ว่าอะไรดับไปจากจิต
อะไรที่ไม่รู้ จิตก็รู้ว่าตนไม่รู้

เพราะจิตเป็นธาตุรู้ จึงต้องยืนตัวรู้อยู่ตลอด
เมื่อจิตเป็นผู้รู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้

ฉะนั้นจิตผู้รู้ต้องมีมาอยู่ก่อน
สิ่งที่ถูกจิตรู้จึงจะเกิดขึ้นในภายหลังได้ครับ

เมื่อจิตคิดว่าไม่รู้ จิตก็ไปอยู่กับเรื่องที่ไม่รู้
จิตก็รู้ว่าตนไม่รู้เรื่องนั้นๆ จริงๆจิตเป็นธาตุรู้ จิตรู้แล้วว่าตนไม่รู้ครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 3 สิงหาคม 2552 เวลา:19:39:21 น.
  
จิตทุกดวง จัดอยู่ในวิญญาณขันธ์

วิญญาณขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งในขันธ์ห้า
โดย: ปกติอยู่ที่ลานธรรมเสวนา IP: 118.173.125.171 วันที่: 5 ธันวาคม 2552 เวลา:21:17:21 น.
  
จิตทุกดวง จัดอยู่ในวิญญาณขันธ์

วิญญาณขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งในขันธ์ห้า

โดย: ปกติอยู่ที่ลานธรรมเสวนา IP: 118.173.125.171 วันที่: 5 ธันวาคม 2552 เวลา:21:17:21 น.
................................
ท่านปกติอยู่ที่ลานธรรมเสวนา
ในเมื่ออยู่ที่นั่นดีแล้ว ก็ดีแล้วนะ

จิตที่หลุดพ้นจากอาสวะกิเลส จะจัดอยู่ในวิญญาณขันธ์ได้ยังไง
จิตเป็นวิสังขาร สิ้นการปรุงแต่ง เพราะสิ้นตัณหาแล้ว

วิญญาณขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งในขันธ์ ๕ นั้นไม่ผิด
แต่จิต เป็นวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์

จิตคือธาตุรู้ ทรงความรู้ทุกกาลสมัย เพียงแต่รู้ผิดหรือรู้ถูกเท่านั้น

จิตไม่เกิดดับ ไม่มีรู้บ้างไม่รู้บ้าง จิตรู้ตลอด เพียงแต่
จิตรู้ผิด เพราะอวิชชาครอบงำ ไม่ได้ปฏิบัติตามเสด็จ
จิตรู้ถูก เพราะหลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา
ปฏิบัติอริยมรรค ๘ ตามเสด็จ
จนจิตหลุดพ้นจากการถือมั่นในขันธ์ ๕ (ซึ่งรวมวิญญาณขันธ์ด้วย)

ทุกพระพุทธพจน์ที่มีมา จะตรัสในตอนท้ายว่า
จิตหลุดพ้นจากการถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่มีที่ไหนที่ทรงตรัสไว้เลยว่า วิญญาณหลุดพ้นจากการถือมั่นในวิญญาณ

เพราะจิต ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ นั่นเอง

ธรรมภูต


โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 23 มกราคม 2553 เวลา:8:49:45 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์