การดูจิตโดยขาดพื้นฐานที่ถูกต้อง(ปัจจุบันธรรม) ก็คือ การตามดูอาการของจิตดีๆนี่เอง
ได้มีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดูจิตในปัจจุบัน
ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาแต่เก่าก่อน
โดยมีการแยกจริตนิสัยของผู้ปฏิบัติเป็น ตัณหาจริต และ ทิฏฐิจริต

แบบพระป่าที่ไร้การศึกษาต้องเจริญสมถะ หรือ ที่เรียกว่าสมาธินำปัญญา
แล้วบัญญัติขึ้นเองว่า เป็นพวกตัณหาจริต เป็นแบบสมถะยานิก

ส่วนคนยุคปัจจุบัน ที่เป็นพระ ที่มีการศึกษา ต้องเจริญวิปัสสนา
หรือที่เรียกว่า ปัญญานำสมาธิ
แล้วบัญญัติขึ้นเองว่า เป็นพวกทิฏฐิจริต เป็นแบบวิปัสสนายานิก


โดยไม่มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ตรงไหนที่รองรับอย่างชัดเจนเลย

ขอตอบว่า...ไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบันนั้น
ธรรมะของพระบรมครูจอมศาสดา ย่อมไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ทรงตรัสไว้ว่า
"ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ (มรรค ๘) อยู่
ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์"


ไม่มีตรงไหนในพระสูตรเลย ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
"ต้องวิปัสสนายานิก เท่านั้น" หรือ "สมถะยานิก เป็นเพียงหินทับหญ้า" ไม่มีนะครับ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสชัดเจนว่า "ภิกษุทั้งหลาย"
โดยไม่ได้การแบ่งแยก ยกเว้น ให้กับภิกษุกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษเลย

ทุกวันนี้ได้มีการแบ่งแยกกันเองอย่างชัดเจน เป็นสมถะยานิกกับวิปัสสนายานิก
อันเกิดจากความเกียจคร้านในการทำงานทางจิต
ด้วยวิธีการฝึกฝนอบรมสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์
และมีพลังที่เกิดจากการปฏิบัติในการปล่อยวางอารมณ์
เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่เชื่อตามๆกันมา
หรือไม่เคยลงมือปฏิบัติจนรู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง

ทั้งสมถะและวิป้สสนานั้น เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไปทุกครั้งเสมอ
ในระหว่างการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา แยกออกจากกันไม่ได้โดยเด็ดขาด
เพราะเป็นงานทางจิต ต่างก็เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย หนุนเนื่องซึ่งกันและกัน


สมถะและวิปัสสนา คำว่า “และ” มีความหมายต่างกับคำว่า “หรือ”

ความหมายของคำว่า “และ” ก็บอกให้รู้ได้อย่างชัดเจนในตัวอยู่แล้ว
ตัวอย่างเช่น การจะไปเปิด บ/ช หรือ ถอนเงินใน บ/ช ที่ระบุไว้ว่า
นาย ก. และ นาย ข. (ไม่ใช่ นาย ก. หรือ นาย ข.) นั้น
ต้องมีลายเซ็นของทั้งนาย ก. และนาย ข. จึงจะครบถ้วนสมบูรณ์ในธุระกรรมนั้น
ถ้าระบุไว้ว่า “หรือ” ...นาย ก.หรือ นาย ข. ใครคนใดคนหนึ่งก็ทำกิจให้สำเร็จได้

ดังที่มีมาในปิฎก จะมีการกล่าวถึงสมถะและวิปัสสนา ดังนี้

"ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้
ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น
เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่ ฯลฯ

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ ฯลฯ

อีกประการหนึ่ง
ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป
เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป
มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่
ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ "


ด้วยเหตุผลง่ายๆ ผู้ปฏิบัติจะมีจิตใจสงบลงได้อย่างไร?
ถ้าไม่ใช้การพิจารณาด้วยปัญญาไตร่ตรองในการปล่อยวางปัญหา(อารมณ์)ออกไป
ปล่อยวางได้ จิตจึงจะสงบตั้งมั่นลงได้เพราะเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่

ในทางกลับกัน ผู้ปฏิบัติจะใช้ปัญญาพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างไร?
ถ้าจิตใจตนเองขณะนั้น ไม่มีสติสงบนิ่งตั้งมั่นและมีกำลังมากพอ
จิตจึงมีปัญญาปล่อยวางอารมณ์ได้เพราะวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่

ดังนั้น จึงเป็นการชี้ชัดให้เห็นว่า ทั้งสมถะและวิปัสสนาจำเป็นต้องเกิดควบคู่กันไป
ทุกครั้งเสมอ ในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา

แต่ผู้ที่กำลังศึกษาการดูจิตอยู่ในปัจจุบันส่วนหนึ่ง มักแบ่งแยกกันเอาเอง
โดยมีการกล่าวอ้างว่า

ผู้มีตัณหาจริตคือ รักสุข รักสบาย รักความสงบ รักสันโดษ ไม่ค่อยคิดมาก
เหมาะที่จะเจริญสมถะยานิก จนมีจิตผู้รู้ ได้ด้วยหมวดกายและเวทนาในสติปัฏฐานเท่านั้น…

ส่วนผู้มีทิฏฐิจริต คือเป็นคนช่างคิดนึกปรุงแต่ง ชอบวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียง
หรือเจ้าอุดมการณ์ ชอบอะไรที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น
บุคคลลักษณะนี้จึงเหมาะที่จะใช้เจริญวิปัสสนาปัญญา
ด้วยการดูจิตในหมวดจิตตานุปัสสนาและธัมมานุปัสสนาเท่านั้น


เป็นการแบ่งแยกกันเองตามความชอบใจ
มีใครบ้างที่เป็นปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ที่ไม่มีทั้งทิฐิจริตและตัณหาจริตในตัวบ้างแล้ว
นอกจากพระอริยะชั้นพระอรหันต์เท่านั้น

พระพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทุกบรรพะจะลงท้ายว่า
"เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก"


ไม่ว่าจะใครก็ตามคิดมากหรือคิดน้อย ถ้าหยุดคิดไม่เป็น
ย่อมเกิดทุกข์ขึ้นที่จิตทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าจริตไหน หรือใครว่าไม่จริง ?

ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส ที่มีทิฐิจริตหรือตัณหาจริตต่างกันตรงไหน ?
ในเมื่อทั้งสองจริตนั้น ก็ยังมีจิตใจที่ดิ้นรน กวัดแกว่ง แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์กิเลสต่างๆ
เพราะความยึดมั่นถือมั่น รูป-นาม ขันธ์ ๕ ทั้งนั้น จิตไม่สงบตั้งมั่นเหมือนกันหมด
ไม่ว่าจะเป็นผู้มีทิฏฐิจริตหรือตัณหาจริต ไม่ว่าจริตไหนๆก็ตาม
ก็ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามสร้างสติให้เกิดขึ้นที่จิต
เมื่อจิตมีกำลังสติ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ ย่อมไม่ถูกอารมณ์ครอบงำจิตของตน

การเริ่มต้นสร้างสตินั้น ต้องเริ่มต้นที่หมวดกายในมหาสติปัฏฐานเท่านั้น
เนื่องจากมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
ต่อการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาในทางพระพุทธศาสนา
เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญในการที่จะพิจารณาหมวดเวทนา จิต และธรรม ต่อไปได้ชัดเจน

ถ้าเป็นเรื่องไม่สำคัญอะไรเลยในการปฏิบัติ "กายคตาสติ" หรือที่เรียกว่า "อานาปานสติ" แล้ว
คงไม่มีพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวเน้นย้ำไว้กับท่านพระอานนท์ ดังนี้

"ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูลผู้อนุเคราะห์
อาศัยความอนุเคราะห์ พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ”


ถ้าเราพิจารณาด้วยจิตใจที่รักเหตุผลที่ตริตรองตามได้แล้ว
ย่อมพบเห็นว่าในพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

เป็นการเกื้อกูลอนุเคราะห์ แก่สาวกทั้งหลาย (ภิกษุทั้งหลาย-ไม่มียกเว้น)
โดยให้สาวกหาที่ๆสงบสงัด แล้วลงมือเพ่งฌาน (ปฏิบัติฌานในสัมมาสมาธิ
ตามรู้ตามเห็น คือการใช้จิตดูอาการของจิตไม่ให้หลงใหลไปกับความคิด)

แถมพระองค์ท่านทรงเน้นย้ำให้ชัดลงไปอีกว่า
“อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอฯ”

การที่เริ่มต้นจาก "กายคตาสติ" หรือ "อานาปานสติ" ก่อนนั้น
เป็นการพิจารณากายในกายเป็นภายในให้สำเร็จก่อน คือรู้จักสภาพธรรมอันเอก ณ.ภายใน
ทำให้เรารู้จักว่าจิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิตในขณะปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง
ต้องแยกจิตให้เป็นอิสระจากกายให้เป็นเสียก่อน
คือการรู้จักกาย ณ.ภายในที่ถูกต้องหรือนามกายนั่นเอง

หลวงปู่ดูลย์ มีกล่าวไว้ว่า
“เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า
ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนดเดิมอีกหรือไม่ พยายามใช้สติสังเกตดูที่จิต
ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิต ได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน
เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิด มันออกไปจากจิตนี่เอง”


ขณะที่ปฏิบัติหมวดกายในกายอยู่นั้น ขณะนั้นย่อมกระเทือนถึงฐานเวทนาในเวทนา
ย่อมกระเทือนถึงฐานจิตในจิต ย่อมกระเทือนถึงฐานธรรมในธรรมอยู่แล้วเช่นกัน

เมื่อรู้จักกายสังขาร (ลมหายใจ) หรืออานาปานสติที่มาปรุงแต่งจิตได้ดีแล้ว
ย่อมรู้จักปัจจุบันธรรม (ที่ตั้งของสติ) ที่ถูกต้องเป็นกลางจริงๆไม่เอนเอียง
ไปซ้าย ไปขวา ไปหน้า ไปหลัง ไปข้างบน ลงข้างล่าง ย่อมทำให้สติปัฏฐาน ๔ สมบูรณ์

มีพุทธพจน์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า
“อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ,
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ,
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น
ทำให้บ่อยๆแล้ว ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์,
สติปัฏฐานสี่นี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์,
โพชฌงค์เจ็ดนี้ ถ้าทำให้เกิดขึ้น ทำให้บ่อยๆแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์ ”



ส่วนในปัจจุบันนี้ ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ที่ชอบความมักง่าย สบายๆ ลัดสั้น
มีข้ออ้างสารพัดสารพัน ในการที่จะไม่ต้องลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนากัน
เพราะไม่เห็นความสำคัญของการปฏิบัติสัมมาสมาธิ
โดยกล่าวหาว่า เป็นเพียงแค่สมถะยานิกบ้างหละ ไม่ถูกกับจริตของตนบ้างหละ
ไม่เกิดปัญญาบ้างหละ พร้อมกล่าวหาว่า ทำให้เกิดความเนิ่นช้าบ้างหละ ...ฯลฯ ...

ดังกล่าวมานั้น เป็นเพียงการคิดเองเออเองของตนทั้งสิ้น
มีพระพุทธพจน์ กล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐาน ๔ ว่า

“หนทางนี้เป็นที่ไปอันเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์
เพื่อล่วงความโศกและปริเทวะ เพื่อความดับสูญแห่งทุกข์และโทมนัส
เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”


เมื่อย้อนกลับมาดูทางอันเอก คือ อริยมรรค ๘ (ทางเดินของจิตเพื่อสู่ความเป็นอริยะ)
ไม่มีตรงไหนในอริยมรรค ๘ ที่กล่าวว่า จงยังสัมมาวิปัสสนา ให้เกิดขึ้น
ของแบบนี้จะคิดเองเออเองขึ้นมาทำให้เสียหาย โดยขาดพระพุทธพจน์รองรับ
ทำให้พระพุทธศาสนาขาดความน่าเชื่อถือ เพราะความคิดที่ตกผลึกของตนเอง

ในอริยมรรค ๘ นั้นบอกไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่า ต้องลงมือปฏิบัติสัมมาสมาธิ
คือ สมาธิชอบ ทำไมถึงต้อง สมาธิชอบ ด้วยหละ?

ที่ต้องเป็นสัมมาสมาธิ (สมาธิชอบ) นั้น ก็เพราะเป็นสมาธิที่ประกอบ (กำกับ)
ไปด้วยสัมมาสติ (ตั้งมั่นชอบที่ฐานที่ตั้งของสติ)
และ สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) จึงครบองค์แห่งสมาธิ


เฉพาะสัมมาวายามะ นั้นก็เป็นวิปัสสนาตลอดเวลาในขณะที่ลงมือปฏิบัติอยู่แล้ว
เพราะอะไร?
-เพียรเพ่ง (ตามรู้อยู่ตามเห็นอยู่) ไม่ให้อกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิด (ป้องกัน)
-เพียรเพ่ง (ตามรู้อยู่ตามเห็นอยู่) อกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป (ขจัดหรือสลัดออกไป)
-เพียรเพ่ง (ตามรู้อยู่ตามเห็นอยู่) ยังกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น (ลงมือปฏิบัติสมาธิภาวนากรรมฐาน)
-เพียรเพ่ง (ตามรู้อยู่ตามเห็นอยู่) ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญยิ่งๆขึ้น
เป็นการประคองจิตจนชำนาญคล่องแคล่วคุ้นชิน
ในการทำจิตของตนให้มีกำลังสติสงบตั้งมั่นได้อย่างรวดเร็ว

ตราบใดที่คนเรายังไม่รู้จักและเข้าไม่ถึงปัจจุบันธรรมที่ถูกต้องแท้จริงแล้ว
ย่อมต้องหลงไปกับอารมณ์ความนึกคิดปรุงแต่งด้วยกิเลส ที่รัก โลภ โกรธ หลง
ซึ่งเป็นเพียงจิตสังขาร (อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์)

ฉะนั้น การดูจิตที่สอนกันอยู่ในขณะนี้ และว่าเป็นจิตตานุปัสสนานั้น
ยังไม่ใช่จิตตานุปัสสนาที่ถูกต้อง เป็นเพียงการตามรู้ตามเห็นอาการของจิต
ที่เนื่องด้วยอารมณ์ ได้อย่างรวดเร็วขึ้นเท่านั้น จิตไม่สามารถสลัดหรือปล่อยวาง
อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้เลย ขาดสัมมาวายามะ
ได้แต่รู้จักอาการของจิตที่เนื่องอารมณ์ จากอาการหนึ่งเปลี่ยนไปสู่อีกอาการหนึ่งเท่านั้น


การพูดว่าวางเฉยของนักศึกษาดูจิตในปัจจุบันนั้น
เป็นเพียงความเฉยโง่ ที่เกิดจากความคุ้นชิน คุ้นเคยกับอารมณ์เหล่านั้น
หรือที่เรียกตามภาษาปฏิบัติธรรมว่า จิตกระด้างคุ้นชินต่ออารมณ์เท่านั้น
ยังจัดว่าเป็นอาการหนึ่งของจิตที่พยายามวางเฉยจากความคิด จนจิตคุ้นชินต่ออารมณ์ (เฉยโง่)

ต่างกับการวางเฉย (อุเบกขา) ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยสิ้นเชิง
ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นเป็นการวางเฉย (อุเบกขา) ที่เกิดจากการสลัดออก
หรือขจัดกิเลสออกไป เป็นการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆเหล่านั้นออกไปจากจิต
เนื่องจากจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อกระทบต่ออารมณ์
จิตก็ตั้งอยู่ในปัจจุบันธรรมที่แท้จริง ไม่ส่งออกไปหาอารมณ์ทั้งหลายเลย
ไม่ใช่เกิดจากจิตที่คิดไปว่าเป็นกลาง จากการคิดเองเออเอง
ของนักดูจิตติดความคิดดังเช่นในปัจจุบันนี้

เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 20 มิถุนายน 2552
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:50:00 น.
Counter : 671 Pageviews.

14 comments
  
การที่ดูจิตโดยไม่ได้ทำสมาธิก่อนนั้น
ใม่ใช่ว่าสมาธิไม่ได้เกิด
เพียงแค่จิตระลึกได้ถึงสภาวะธรรมปัจจุบันได้แล้ว
ก็มีคณิกสมาธิเกิดขึ้นแล้ว
โดย: กระเรียนขาวขยับปีก IP: 125.27.140.225 วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:19:54:50 น.
  
ท่านกระเรียนขาวขยับปีก
ท่านรู้จักจิตที่ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวหรือยังครับ
ถ้าท่านยังไม่รู้จัก ท่านก็อย่าเพิ่งพูดถึงเรื่องปัจจุบันธรรม

ล้วนเป็นสิ่งที่คิดเองเออเองทั้งนั้นว่า
ขณะนี้เป็นปัจจุบันแล้วนะ ขณะนี้เป็นขณิกสมาธิแล้วนะ

ท่านลองบอกสิครับว่าปัจจุบันธรรมนั้นหนะอยู่ตรงไหน
ถ้าท่านบอกไม่ได้ ก็อย่าเพิ่งไปดูจิตติดความคิดอยู่เลยครับ

คำว่าขณิกสมาธินั้นเป็นคำที่เกิดขึ้นในภายหลังเท่านั้น
ในพระสูตรไม่มีหรอกครับ เป็นความหมายถึงความตั้งใจเท่านั้น

ความตั้งใจนั้นยังห่างจากความมีจิตตั้งมั่นอีกมากครับ
ใช้แทนกันแทบไม่ได้เลยครับ

ธรรมภูต




โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:20:29:41 น.
  
โดย: CrackyDong วันที่: 20 มิถุนายน 2552 เวลา:22:20:08 น.
  
/Quote/ได้มีผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการดูจิตในปัจจุบัน
ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน

มีการแยกจริตนิสัยผู้ปฏิบัติเป็นตัณหาจริต ทิฏฐิจริต

แบบพระป่าต้องเจริญสมาธินำปัญญา
แล้วบัญญัติเองว่า เป็นตัณหาจริต เป็นแบบสมถะยานิก

ส่วนคนยุคปัจจุบันต้องเจริญปัญญานำสมาธิ
แล้วบัญญัติเองว่า เป็นทิฏฐิจริต เป็นแบบวิปัสสนายานิก

โดยไม่มีพุทธพจน์รองรับ.../Quote/



/Quote/ดังที่มีมาในพระสูตร จะกล่าวถึงสมถะและวิปัสสนา ว่า....

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้

ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น
เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่
มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่
ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง

ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่
มรรคย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้น
เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่
ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ /Quote/


----------------------------------------------------------
ท่านที่คุณอ้างถึงว่า ใช้ปัญญานำสมาธินั้น กับ พระคัมภีร์ที่คุณอ้างถึงว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ก็ตรงกันนี่ครับ ไม่เห็นจะขัดแย้งตรงไหน สมถะคือสมาธิ วิปัสสนาคือปัญญา คุณก็พูดเอง ผมไม่เห็นว่ามันจะต่างตรงไหนเลย ที่คุณยกมานั้น แม่นยำซะอีก ตรงกันซะอีก
-----------------------------------------------------------




/Quote/ฉะนั้นการดูจิตที่พูดว่าเป็นจิตตานุปัสสนานั้น ความหาใช่ไม่
เป็นเพียงการตามรู้อาการของจิตได้เร็วขึ้นเท่านั้น
แต่ปล่อยวางอาการของจิตไม่เป็น
ได้แต่รู้อาการของจิตจากอาการหนึ่งสู่อีกอาการหนึ่ง/Quote/


---------------------------------------------------------
ถ้าเช่นนั้นลองหาวิธีการเจริญจิตตานุปัสสนาในพระคัมภีร์มาอ้างอิงหน่อยซิครับ ว่าต้องทำอย่างไร
----------------------------------------------------------


/Quote/เมื่อย้อนกลับมาดูทางอันเอก คือ อริยมรรค ๘ (ทางเดินของจิตเพื่อสู่ความเป็นอริยะ)

มีตรงไหนในอริยมรรค๘ ที่กล่าวว่า จงยัง สัมมาวิปัสสนา บ้าง/Quote/


--------------------------------------------------------
ส่วนหนึ่งของสัมมาทิฏฐิไงครับ รู้ตามความเป็นจริง...
--------------------------------------------------------
โดย: ที่พยายามนำจขบออกจากหายนะ IP: 125.26.242.2 วันที่: 1 กรกฎาคม 2552 เวลา:17:54:48 น.
  
อ้างอิงข้อความโดย คุณหายนะฯ
ท่านที่คุณอ้างถึงว่า ใช้ปัญญานำสมาธินั้น กับ พระคัมภีร์ที่คุณอ้างถึงว่า เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น ก็ตรงกันนี่ครับ ไม่เห็นจะขัดแย้งตรงไหน สมถะคือสมาธิ วิปัสสนาคือปัญญา คุณก็พูดเอง ผมไม่เห็นว่ามันจะต่างตรงไหนเลย ที่คุณยกมานั้น แม่นยำซะอีก ตรงกันซะอีก

ท่านหายนะฯครับ
ผมไม่แปลกใจเลยว่า ท่านเห็นเหมือนกันได้ยังไง

คงไม่แตกต่างไปจากต้นตำรับที่สอนตามๆกันว่า
ไม่มีอะไรขัดกับพุทธพจน์และครูบาอาจารย์เลย ทั้งๆที่ขัดกันโดยสิ้นเชิง
ยังลื่นเหลือล้นกระล่อนเหลือหลายอีกว่าเหมือนกัน

เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น
เป็นการเริ่มนั่งสัมมาสมาธิโดยใช้อานาปานสติ(วิป้สสนา)เป็นเบื้องต้น

ของที่แยกออกจากกันไม่ได้
แต่พยายามกันจังที่จะแยกวิปัสสนาออกจากสมถะให้ได้

ท่านหายนะฯครับ แตกต่างกันนะครับ
จากผู้ที่สอนว่าสมถะยานิกไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ ให้วิป้สสนาเลย

มึตรงไหนในพระพุทธพจน์กล่าวไว้ครับ แบบนี้เรียกว่าคิดล้มล้างพระพุทธพจน์น่าจะได้

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 2 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:48:44 น.
  
อ้างอิงข้อความโดย คุณหายนะฯ
ถ้าเช่นนั้นลองหาวิธีการเจริญจิตตานุปัสสนาในพระคัมภีร์มาอ้างอิงหน่อยซิครับ ว่าต้องทำอย่างไร

ไม่ต้องไปหาที่ไหนหรอกครับท่านหายนะฯ

ผู้ที่เคยฝึกฝนอบรมปฏิบัติสมาธิภาวนา ย่อมรู้ดีครับว่า
การปฏิบัติโดยสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการแยกจิตออกจากอารมณ์ต่างๆได้

เมื่อแยกเป็น ย่อมมีสัมมาทิฐิรู้เห็นความเป็นจริงว่า
จิตที่สงบนิ่งตั้งมั่นนั้น แตกต่างจาก จิตที่ติดคิดโดยสิ้นเชิง

เป็นการเริ่มต้นเจริญจิตตานุปัสสนาที่ถูกต้องตรงต่อพระพุทธพจน์ครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 2 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:53:48 น.
  
ท่านหายนะฯครับ ถ้าไม่รู้ไม่พูด คงไม่มีใครว่าครับ

ไปหาอ่านในมหาจัตตารีสกสูตรดูก่อน ค่อยมาเข้าข้างก็ยังทันครับ
พระองค์ทรงตรัสว่า สัมมาสมาธิเป็นใหญ่นำ มีมรรคอีก๗องค์ห้อมล้อม

ผมถึงได้บอกยังไงหละครับว่า ถ้าวิปัสสนาสำคัญมากๆยิ่งกว่ามรรคองค์อื่นแล้ว
พระองค์ต้องทรงบัญญัติลงในอริยมรรคแล้ว

แต่นี่เล่นยกเมฆกันเองว่าสำคัญยิ่งกว่าสัมมาสมาธิเสียอีก
ผมถึงเรียกว่าพวกคิดล้มล้างพุทธพจน์

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 2 กรกฎาคม 2552 เวลา:8:56:21 น.
  
จิตไม่สามารถแยกจากอารมณ์ได้
จิตฟุ้งซ่านคือจิตที่เกิดขึ้นพร้อมอารมณ์ฟุ้งซ่าน
จิตสงบคือจิตที่เกิดขึ้นพร้อมอารมณ์สงบ

โดย: palmgang IP: 119.42.70.128 วันที่: 26 กรกฎาคม 2552 เวลา:14:35:07 น.
  
ท่านpalmgangครับ ถ้าจิตแยกจากอารมณ์ไม่ได้แล้ว
จะอบรมชำระจิตไปเพื่ออะไร???

ที่ว่าจิตสงบนั้น หมายถึงสงบจากอารมณ์ ดีก็ไม่เอา ชั่วก็ไม่เอา
ความดีเกิดขึ้นที่จิตก็รู้ ความดีดับไปจากจิตก็รู้
ความชั่วเกิดขึ้นที่จิตก็รู้ ความชั่วดับไปจากจิตก็รู้
ราคะเกิดขึ้นที่จิตก็รู้ ราคะดับไปจากจิตก็รู้ ฯลฯ

ถ้าจิตปราศจากอารมณ์ไม่ได้แล้ว
จะชำระจิตให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสไปเพื่ออะไร???

ของแบบนี้คิดเองเออเองไม่ได้หรอกครับ
ต้องลงมือปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ว่า

จิตสามารถแยกออกจากอารมณ์ได้จริง
จิตส่วนจิต อารมณ์ส่วนอารมณ์ครับ

ธรรมภูต



โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 2 สิงหาคม 2552 เวลา:19:49:17 น.
  
"วิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง"

เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่ครับ

(ผมไม่เห็นด้วย เพราะวิปัสสนาต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์แยกแยะหาเหตุและผล อย่างไรก็ต้องคิด และต้องคิดอย่างหนักด้วย ... โอปนยิโก)
โดย: สงสัยเหลือเกิน IP: 124.120.154.250 วันที่: 22 สิงหาคม 2552 เวลา:21:46:45 น.
  
"วิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณา" ไม่ตรงเท่าไร เพราะพระครูอาจารย์ท่านบอกไว้ว่า

"สมาธิเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด"
"ทำความสงบมากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน"

พวกวิปัสสนาคิดมากเห็นแต่บัญญัติ ของจริงไม่ใช่บัญญัติ เป็นปรมัตถ์ ดูที่นี่ของจริง ไม่ใช่ความคิด
โดย: กลับกัน IP: 117.47.32.39 วันที่: 30 สิงหาคม 2552 เวลา:9:14:21 น.
  
ยืนยันเหมือนกันว่าต้องคิด

ลองไปทำดู ถ้าไม่อบรมจิต แล้วมันจะฉลาดได้อย่างไร
โดย: พุทโธ IP: 124.122.164.93 วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:11:51:10 น.
  
"วิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง"

เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้หรือไม่ครับ

(ผมไม่เห็นด้วย เพราะวิปัสสนาต้องใช้ปัญญาวิเคราะห์แยกแยะหาเหตุและผล อย่างไรก็ต้องคิด และต้องคิดอย่างหนักด้วย ... โอปนยิโก)

โดย สงสัยเหลือเกิน

********************
ท่านสงสัยเหลือเกินครับ

ท่านครับ ผมขอใช้คำว่าพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริงนะครับ
เพราะสมถะและวิปัสสนานั้นไม่มีใครสามารถแยกออกมาได้
ทั้งสองสิ่งต้องทำงานร่วมกัน
เมื่อพิจารณารู้เห็นตามความเป็นจริงจิตก็จะตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เมื่อกระทบอารมณ์ ปัญญาพิจารณารู้ ดึงจิตกลับมาสู่ฐานที่ตั้ง(กรรมฐาน)ครับ

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:21:09:51 น.
  
"วิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณา" ไม่ตรงเท่าไร เพราะพระครูอาจารย์ท่านบอกไว้ว่า

"สมาธิเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด"
"ทำความสงบมากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน"

พวกวิปัสสนาคิดมากเห็นแต่บัญญัติ ของจริงไม่ใช่บัญญัติ เป็นปรมัตถ์ ดูที่นี่ของจริง ไม่ใช่ความคิด

โดย: กลับกัน IP: 117.47.32.39 วันที่: 30 สิงหาคม 2552 เวลา:9:14:21 น.

********************

ท่านกลับกันครับ

ท่านช่วยถามครูบาอาจารย์ท่านด้วยนะครับว่า "ถ้าสมาธิเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ"
เป็นไปได้ยังไงในเมื่อสมาธิคือความที่จิตสงบตั้งมั่น
ถ้าไม่ตั้งใจจะตั้งมั่นได้หรือ

ส่วนปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องหยุดคิดเป็น ไม่ใช่หมดความคิดครับ?
อาการเมื่อหมดความคิดเป็นสภาวะจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแล้วครับ

ทำความสงบได้ยิ่งมากและรวดเร็ว ความฟุ้งซ่านย่อมหายไป
ความสงบเป็นปฏิปักษ์ต่อความคิดฟุ้งซ่าน

เพราะมัวแต่ดูจิตที่ติดคิด
ทำให้ไม่รู้จักจิตที่สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิ....

ธรรมภูต
โดย: ในความฝันของใครสักคน วันที่: 31 สิงหาคม 2552 เวลา:21:24:19 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์