Group Blog
 
All Blogs
 

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๖ ชัมพุกาชีวก

เรียบเรียงจาก หนังสือทางแห่งความดี เล่ม ๑ โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าพระนามกัสสป กุฏุมพีคนหนึ่งสร้างที่อยู่ถวายพระเถระรูปหนึ่ง แล้วบำรุงด้วยปัจจัย ๔ พระเถระรูปนั้น ฉันอาหารในเรือนกุฏุมพี (ผู้มีอันจะกิน) เป็นเนืองนิตย์

เช้าวันหนึ่ง ภิกษุขีณาสพ (ผู้สิ้นกิเลสแล้ว) รูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตมาถึงเรือนกุฏุมพีนั้น เขาเห็นพระขีณาสพ มีอิริยาบถน่าเลื่อมใส จึงนิมนต์เข้าไปในเรือน เลี้ยงดูด้วยอาการอันประณีตด้วยความเคารพ ถวายผ้าสาฏกผืนใหญ่ พลางกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ ท่านพึงย้อมผ้าสาฎกผืนนี้นุ่งเถิด” และกล่าวต่อไปว่า “ผมของท่านยาวแล้ว ข้าพเจ้าจะนำช่างมาปลงผมของท่าน ข้าพเจ้าจักจัดเตียงและตั่งเพื่อท่าน”

พระเถระผู้ฉันเป็นประจำ เห็นอาการแล้วก็เกิดจิตริษยาขึ้น คิดว่า กุฏุมพีทำสักการะแก่ภิกษุที่เพิ่งพบเพียงครู่เดียวถึงเพียงนี้ ไม่เคยทำกับตนผู้สนิทสนมเลย

ภิกษุขีณาสพไปสู่วิหารพร้อมกับพระเถระเจ้าของถิ่น ย้อมผ้าสาฎกแล้วนุ่ง กุฏุมพีพาช่างมาปลงผม ให้คนจัดเตียงตั่งถวาย แล้วนิมนต์พระเถระทั้งสองรูปเพื่อฉันในเรือนของตนในวันรุ่งขึ้น

ภิกษุเจ้าของถิ่นเดือดร้อนด้วยแรงริษยา เวลาเย็นเข้าไปหา พระขีณาสพด่าว่าด้วยอาการ ๔ อย่างว่า

“ดูก่อนอาคันตุกะ การที่ท่านจะพึงเคี้ยวกินอุจจาระ ยังประเสริฐกว่าการบริโภคอาหารในเรือนของกุฏุมพี ท่านให้ถอนผมด้วยแปรงตาลดีกว่าปลงผมด้วยช่างกลบกที่กุฏุมพีนำมา การเปลือยกายของท่านประเสริฐกว่าการนุ่งห่มผ้าสาฎกที่กุฏุมพีถวาย การนอนเหนือแผ่นดินของท่านประเสริฐกว่าการนอนบนเตียงที่กุฏุมพีนำมา”

พระขีณาสพฟังแล้วก็เข้าใจความรู้สึกของเจ้าถิ่นคิดว่า “คนพาลนี่อย่าต้องวอดวายเพราะเราเลย” ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ มิได้คำนึงถึงการนิมนต์ของกุฏุมพี ฝ่ายภิกษุเจ้าของถิ่นตื่นแต่เช้าทำสิ่งที่ควรทำ เช่น กวาดลานวัด เป็นต้น แล้วเคาะระฆังด้วยหลังเล็บด้วยเกรงพระขีณาสพ จะตื่นด้วยเสียงระฆัง แล้วเข้าสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต

กุฏุมพีเมื่อไม่เห็นพระขีณาสพจึงถามพระเถระว่า ทำไมไม่มาด้วย ภิกษุของถิ่นกล่าวว่า

“อย่าได้พูดถึงเขาเลย เมื่อวานนี้พอท่านกลับเท่านั้น เขาก็เข้านอน จนป่านนี้ยังไม่ตื่นตอนเช้าเมื่ออาตมา กวาดวิหาร กรอกน้ำฉันใส่หม้อ ตีระฆังด้วยเสียงอันดัง เขายังไม่รู้สึก ยังนอนหลับอยู่”

กุฏุมพีพิจารณาคำของพระเถระและท่าทางที่พูดแล้วไม่เชื่อว่าเป็นจริงดังนั้น เพราะผู้มีอิริยาบถเช่นนั้น ย่อมไม่นอนมากอย่างพระภิกษุนั้นกล่าวอย่างแน่นอน ภิกษุนี้คงจะไม่ยินดีในสักการะที่เราทำแล้วแก่พระขีณาสพ

เขาล้างบาตรของพระเถระ บรรจุอาหารประณีตเต็ม ฝากไปถวายพระขีณาสพ และเลี้ยงภิกษุนั้นให้อิ่มหนำในเรือนตนด้วยความเคารพ

ภิกษุเจ้าถิ่นคิดว่า “ถ้าพระอาคันตุกะได้ฉันอาหารอันประณีตปานนี้ เธอจะติดรสอาหารแล้วไม่ยอมไปที่อื่น” ดังนี้แล้วทิ้งบิณฑบาตนั้นเสียระหว่างทาง ไปสู่ที่อยู่ของพระขีณาสพ แต่ไม่เห็นท่าน (เพราะท่านไปเสียแล้วแต่เช้ามืด)

สมณธรรมอันภิกษุนั้นทำมาเป็นเวลานานถึง ๒ หมื่นปี ก็ไม่อาจช่วยได้ เพราะการเบียดเบียนพระอรหันต์นั้น เมื่อสิ้นชีพแล้วไปเกิดในนรกอเวจี เสวยทุกข์เป็นอันมากสิ้นพุทธันดรหนึ่ง (คือ ช่วงระหว่างพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งถึงอีกองค์หนึ่ง) มาถึงพุทธกาลนี้ เขาเกิดในตระกูลมั่งคั่งในเมืองราชคฤห์

เด็กนั้น ตั้งแต่พอเดินได้ ไม่ต้องการนอนบนที่นอน ไม่ต้องการบริโภคอาหาร กินแต่อุจจาระตนเอง มารดาบิดาเข้าใจว่า ลูกประพฤติเช่นนั้น เพราะยังเด็กอยู่

แม้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาก็ไม่ละความประพฤตินั้น คือไม่นุ่งผ้า ชอบเปลือยกาย ชอบนอนบนพื้นดิน กินอุจจาระของตนเอง

มารดาบิดาคิดว่าลูกคนนี้จะทำให้ตระกูลเสื่อม เขาไม่ควรครองเรือน ควรบวชในสำนักของอาชีวกทั้งหลาย แล้วนำไปฝากให้บวชในสำนักของอาชีวก (นักบวชลัทธิหนึ่ง)

เมื่อบวชแล้ว เขาถอนผมด้วยแปลงตาล เมื่อมารดา เชิญอาชีวกทั้งหลายไปบริโภคอาหารที่เรือนตน เขาก็ไม่ไป พออาชีวกทั้งหลายไปแล้ว เขารีบไปเปิดประตูส้วมปั้นอุจจาระบริโภค มีคนนำอาหารมาจากบ้านของเขา เขาก็ไม่กิน เมื่อพวกเขาอาชีวกทั้งหลายกลับมา ถามเขาว่าได้อาหารที่ใด เขาบอกว่าได้ที่นี่เอง

วันต่อมา ๆ ก็เหมือนกัน จนคนสงสัยว่าได้อาหารจากที่ไหนอย่างไร วันหนึ่งจึงแอบตามดู เมื่อทราบเรื่องแล้วก็พากันคิดว่า “กรรมนี้หนักหนอ หาสาวกของพระสมณโคดมรู้ ความเสื่อมจะบังเกิดแก่พวกเรา” จึงขับไล่ชัมพุกะออกจากสำนัก

ชัมพุกาไปอาศัยอยู่ที่หินดาดแห่งหนึ่ง สำหรับประชาชนมาถ่ายอุจจาระ กินอุจจาระที่ประชาชนถ่ายไว้ เวลาปกติเอามือข้างหนึ่งเหนี่ยวก้อนหิน ยกเท้าหนึ่งพาดบนเข่า ยืนเงยหน้าอ้าปากอยู่

มหาชนคนโง่เข้าไปไหว้แล้วถามถึงอาการที่เห็นนั้น เขาตอบว่า

“เรามีตบะสูง ตบะกล้า หากเราเหยียบแผ่นดินด้วยเท้าทั้งสองข้าง แผ่นดินจะไหว จะยกข้างหนึ่งเสีย ส่วนที่อ้าปากนั้น เพราะเรามีลมเป็นอาหาร เราอยู่อย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน ไม่นั่งไม่นอน”

คนโง่ได้ฟังก็เลื่อมใส เล่าลือกันไปทั่วแคว้นอังคะและมคธ มหาชนเอาสักการะมาเป็นอันมาก อาชีวกจึงเอาปลายหญ้าคาวางบนอาหารแล้วแตะปลายลิ้น ส่งคืนเจ้าของ กล่าวว่า “เอาคืนไปเถิด เท่านี้พอแล้วสำหรับความสุข ความเจริญของท่านทั้งหลาย”

เขาประพฤติเช่นนี้ ล่วงไป ๕๕ ปี

เช้าวันหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นอุปนิสัยของชัมพุกาชีวก เวลาบ่ายจึงเสด็จไปยังที่อยู่ของเขา ขออาศัยอยู่ด้วย แต่เขาบอกว่าไม่มีที่ พระศาสดาตรัสว่า

“ชัมพุกะ ธรรมดาบรรพชิตย่อมมาสู่สำนักของบรรพชิตด้วยกัน พวกสัตว์ย่อมไปสู่สำนักของสัตว์ ท่านจงให้ที่อยู่แก่เราเถิด”

“ก็ท่านเป็นบรรพชิตหรือ” ชัมพุกะทูลถาม

“ใช่แล้ว ชัมพุกะ เราเป็นบรรพชิต”

“ถ้าท่านเป็นบรรพชิต เต้าน้ำของท่านอยูที่ไหน ทัพพีสำหรับโบกควันของท่านอยู่ที่ไหน ด้ายสำหรับบูชายัญอยู่ที่ไหน”

พระศาสดาตอบว่า “น้ำเต้าเป็นต้น ของเรามีอยู่ แต่เราเก็บไว้ภายในด้วยเห็นว่าถือไปไหนแต่ละอย่างรุงรังลำบาก”

ชัมพุกะโกรธ ถามพระศาสดาว่า

“ท่านเป็นบรรพชิตอย่างไร น้ำเต้าก็ไม่ถือ อะไร ๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ก็ไม่มี จะเชื่อได้อย่างไร ว่าเป็นบรรพชิตจริง”

พระศาสดาตรัสว่า “ชัมพุกะ ช่างเถิด อย่าโกรธเราเลย ขอจงบอกที่อยู่แก่เราเถิด”

“สมณะ ที่อยู่ในที่นี้ไม่มี”

“ที่เงื้อมนั้น ใครอยู่ชัมพุกะ”

“ไม่มีใครอยู่”

“ถ้าอย่างนั้น เราขอเงื้อมนั้น”

“ตามใจท่าน” ชัมพุกะพูดปัดความรำคาญ

พระศาสดาไปประทับที่เงื้อมนั้น ตกกลางคืนมีเทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้ากันมากมีแสงสว่างอยู่ตลอดคืน ด้วยอานุภาพของเทวดาเหล่านั้น ชัมพุกาชีวกก็ได้เห็นแสงสว่างนั้น

รุ่งขึ้นชัมพุกะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลถามว่าเหตุใดเมื่อคืนจึงมีแสงสว่างในที่ประทับตลอดราตรี

“พวกเทพพากันมา ชัมพุกะ” พระศาสดาตรัสตอบ

“เทพเหล่านั้นเป็นเทพเหล่าไหนบ้าง” ชัมพุกะทูลถาม

“มีท้าวมหาราชทั้ง ๔ ,ท้าวสักกะ และท้าวมหาพรหม เป็นต้น”

“เทพเหล่านั้นมาทำอะไร”

“มาเพื่อบำรุงเรา”

“ท่านเป็นผู้ยอดเยี่ยมกว่า ท้าวสักกะ เป็นต้นหรือ”

“แน่นอน ชัมพุกะ เรายอดเยี่ยมกว่าเทพทั้งปวง ท้าวสักกะนั้นเมื่อเราป่วยก็มาปฏิบัติบำรุงเราเหมือนสามเณรน้อย แม้ท้าวมหาพรหมก็มาสู่ที่บำรุงเรา เราเป็นพรหมยิ่งกว่าพรหม”

ชัมพุกะกล่าวว่า

“มหาสมณะ ท่านเป็นผู้อัศจรรย์แท้ ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่มา ๕๕ ปีแล้ว ไม่เคยมีเทพใด ๆ มาปฏิบัติบำรุงเราแม้แต่องค์เดียว ข้าพเจ้ามีลมเป็นภักษาอยู่ด้วยอิริยาบถยืนอย่างเดียวไม่นั่งไม่นอน สิ้นเวลานานปานนี้ เทวดามิได้เลื่อมใสเลย ไม่เคยบำรุง”

“ชัมพุกะ ท่านนั้นหลอกลวงมหาชนผู้โง่เขลามานานแล้ว ยังลอกลวงเราอีกหรือ แม้ในกาลก่อนท่านเคยมีทิฐิชั่ว จึงต้องมาอยู่ในสภาพอย่างนี้ คือต้องกินอุจจาระ นอนบนแผ่นดิน เปลือยกาย ถอนผมด้วยแปรงตาล เพราะทิฐิชั่วในปางก่อน มาบัดนี้ท่านถือทิฐิอันชั่วอยู่อีก”

“มหาสมณะ ข้าพเจ้าได้ทำกรรมอะไรไว้”

พระศาสดาตรัสเล่ากรรมที่เขาทำไว้ในอดีต สมัยเป็นภิกษุเจ้าถิ่น เบียดเบียนพระขีณาสพ ความสังเวชเกิดขึ้นกับชัมพุกะเป็นอันมาก หิริโอตตัปปะปะก็เกิดขึ้น ลุกขึ้นนั่งโย่งประนมมือ พระศาสดายื่นผ้าสาฎกสำหรับอาบน้ำใช้อาบน้ำให้ไป เขานุ่งผ้านั้น ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่งอยู่

พระผู้มีพระภาคตรัสอนุปุพพิกถา และธรรมเทศนาอื่น ๆ โดยอเนกปริยาย เมื่อจบเทศนา เขาได้บรรลุอรหัตผลนั้นด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ทูลขอบรรพชากรรมในปางก่อนสิ้นแล้วเพราะอนุภาพแห่งอรหัตผลนั้น สมณธรรมอันเธอได้ทำมา ๒ หมื่นปียังมีผลอยู่ ไม่มีสิ่งใดทำลายได้ สิ่งนั้นเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้เธอสำเร็จอรหันต์โดยพลัน พระศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสมบทแก่เธอ

วันนั้น ชาวอังคะและมคธมาถวายสักการะอย่างเคย ได้เห็นพระตถาคตและชัมพุกะซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้ว สงสัยว่า “ใครหนอเป็นใหญ่ หากพระสมณโคดมเป็นใหญ่ ชัมพุกะก็น่าจะไปสู่สำนักพระสมณโคดม นี่สมณโคดมมาสู่สำนักของชัมพุกะ ชัมพุกะต้องเป็นใหญ่กว่าสมณโคดมเป็นแน่แท้”

พระศาสดาทราบความคิดของมหาชนแล้ว รับสั่งให้ชัมพุกะแก้ข้อสงสัย ชัมพุกะจึงประกาศให้คนทั้งหลายทราบว่าพระศาสดาเป็นครูของตน ตนเป็นสาวก

มหาชนทราบความแล้วเปล่งอุทานออกมาว่า

“โอ้ พระพุทธเจ้ามีพระคุณเป็นอัศจรรย์จริง ๆ”

พระพุทธเจ้าประสงค์จะประกาศธรรมอันถูกต้องแก่มหาชนจึงตรัสว่า

“ท่านทั้งหลาย ชัมพุกะวางสักการะที่ท่านนำมาแล้วไว้ที่ปลายลิ้นด้วยปลายหญ้าคา เพราะเข้าใจว่าตนประพฤติบำเพ็ญตบะ การกระทำเช่นนั้นของเธอแม้ ๑๐๐ ปี ก็สู้กุศลเจตนาอย่างที่เธอมีอยู่ในบัดนี้ไม่ได้ เธอไม่มีเจตนาบริโภคด้วยความหลอกลวงอีกต่อไป”





 

Create Date : 24 มีนาคม 2548    
Last Update : 24 มีนาคม 2548 12:21:11 น.
Counter : 334 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๕ พระอานนท์

จากหนังสือ พุทธชัยมงคลคาถา โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



พุทธชัยมงคลข้อที่ ๓ คือ กล่าวถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่เกี่ยวกับช้างนาฬาคิรี ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูร่วมกับพระเทวทัตปล่อยมา เพื่อจะทำร้ายพระองค์ ในขณะที่เสด็จบิณฑบาต ณ เมืองราชคฤห์ นี่ก็เป็นครั้งที่ ๓ ที่พระเทวทัต พยายามปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า

ครั้งแรกก็ได้ส่งคนแม่นธนูไป เพื่อจะให้ยิงพระพุทธเจ้า ก็ส่งคนแม่นธนูไปหลายชุดเหมือนกัน มีแผนว่าส่งไป ๔ คน ต่อมาก็ส่งไป ๘ คนเพื่อให้ฆ่า ๔ คน ต้องการฆ่าปิดปาก แล้วก็ส่งไป ๑๖ คนเพื่อให้ฆ่า ๘ คน ทำนองนั้น แต่ว่าคนแม่นธนูทุกชุด ที่พระเทวทัตส่งไป ก็ปรากฏว่าไปเลื่อมใสพระพุทธเจ้าหมด ไม่สามารถทำร้ายพระพุทธเจ้าได้

ครั้งต่อมา พระเทวทัตก็ลงมือเอง กลิ้งหินลงมาจากยอดภูเขาคิชกูฏ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นภูเขาคิชกูฏ กลิ้งหินก้อนใหญ่เพื่อให้ทับพระพุทธเจ้า โชคดีหรือเป็นพุทธบารมีที่หินไปค้างอยู่ ไม่กลิ้งลงไป แต่ว่าสะเก็ดหินได้ไปกระทบพระบาทของพระพุทธเจ้าจนพระโลหิตห้อ คือตามธรรมดาของพระพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถทำพระโลหิตให้ออกจากพระกายได้ โดยความตั้งใจที่จะทำร้าย ก็ไม่สำเร็จสมใจของพระเทวทัต

พระเทวทัตก็มาคิดต่อไปว่าทำอย่างไรจึงจะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ ในที่สุดก็มาคิดได้ว่า มีช้างดุร้ายอยู่เชือกหนึ่ง คือช้างนาฬาคิรี ของพระเจ้าอชาตศัตรู ก็ไปชักชวนให้พระเจ้าอชาตศัตรูยอมปล่อยช้างนาฬาคิรี เพื่อมาประหารพระพุทธเจ้า

ตามธรรมดาเขาจะมอมเหล้าช้างนาฬาคิรี ๘ หม้อ วันนั้นพระเทวทัตได้ขอร้องควาญช้างในฐานะที่เป็นผู้สนิทกับพระราชาว่าให้มอมเหล้าช้างนาฬาคิรีอีกเท่าหนึ่ง คือเป็น ๑๖ หม้อ

พอเช้า ช้างนาฬาคิรีก็ถูกปล่อยออกมา เพื่อจะไปทำร้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จออกบิณฑบาตพร้อมด้วยพระอานนท์และภิกษุสงฆ์

แต่ที่จริงข่าวนี้ ก็ได้รั่วไหลไปก่อนแล้ว เรื่องที่พระเทวทัตสมคบกับพระเจ้าอชาตศัตรู เพื่อจะปล่อยช้างนาฬาคิรีในวันรุ่งขึ้น ใครๆ ก็พากันเป็นห่วงพระพุทธเจ้า และห้ามว่าพรุ่งนี้อย่าได้เสด็จออกไปบิณฑบาต แต่พระพุทธเจ้าก็นิ่งเฉยเสีย พอเช้าก็เสด็จออกไปบิณฑบาตตามปกติก็ได้เวลาปล่อยช้างพอดี ช้างก็วิ่งมาจะทำร้ายพระพุทธเจ้า

ปรากฏตามตำราว่ามีคนมาดูกันมาก ที่ตกใจก็มี ที่อยากเห็นอยากรู้ปีนขึ้นไปบนต้นไม้ บนบ้านก็มี ก็เป็นสงครามระหว่างช้างศึกที่ดุร้ายกับพระพุทธเจ้า

พระอานนท์ออกขวางหน้าไว้ ขอร้องให้พระพุทธเจ้าอยู่ข้างหลัง ท่านจะรับหน้าเอง ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาพระพุทธเจ้าเอาไว้ พระพุทธเจ้าท่านห้ามถึง ๓ ครั้งว่า อานนท์อย่าทำอย่างนั้นเลย นี่เป็นหน้าที่ของตถาคตที่จะต้องปราบช้างด้วยเมตตา พระอานนท์ก็ไม่ยอม ในตำราบอกว่า พระพุทธเจ้าบันดาลด้วยฤทธิ์ให้พระอานนท์มาอยู่ข้างหลังพระองค์ เมื่อช้างวิ่งมาถึง พระพุทธเจ้าก็แผ่พระเมตตาไป ช้างนาฬาคิรีทั้งๆ ที่เมาอยู่อย่างนั้น ก็กระทบถึงกระแสพระเมตตาของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีพลังมากเหลือเกิน ไม่อาจทำร้ายพระพุทธเจ้าได้ กลับหมอบลง

พระพุทธเจ้าก็ทรงให้โอวาทสั่งสอนช้าง เป็นทำนองว่า เกิดมาเป็นเดรัจฉานก็เพราะบาปกรรมที่เคยทำมา ชาตินี้อย่าได้ทำบาปกรรมอะไรอีกเลย ช้างก็เชื่อง ไม่ดุร้ายอีกต่อไป ตั้งแต่นั้นมาก็กลายเป็นช้างที่มีศีล

ปรากฏว่าวันนั้น ประชาชนก็ตื่นเต้นกันมาก ทั้งเมืองราชคฤห์โจษขานกันตลอดทั้งเมืองทั้งวัน พระพุทธเจ้าทรงดำริว่าวันนี้เราได้ทำอภินิหารมากแล้ว ในการปราบช้างนาฬาคิรี อย่าได้ออกไปบิณฑบาตอีกเลย ก็เลยเสด็จกลับไปเวฬุวัน ปรากฏว่ามีประชาชนได้ไปประชุมกันที่ เวฬุวันเป็นจำนวนมาก ไปถวายข้าวปลาอาหารแก่พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์

ความพยายามของพระเทวทัตก็ไม่สำเร็จอย่างเคย ความร้ายของพระเทวทัตไม่สำเร็จ สู้ความดีของพระพุทธเจ้าไม่ได้

เย็นวันนั้นเอง ภิกษุทั้งหลายก็ประชุมกันในธรรมสภา สนทนากันถึงเรื่องที่เกิดขึ้นตอนเช้า แล้วก็พรรณนาถึงคุณของพระอานนท์ว่า พระอานนท์นั้นเป็นมหามิตรของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ยอมเสียสละชีวิตเพื่อพระองค์ มีความกล้าหาญ เอาชีวิตเข้าแลกกับผู้มีพระภาคเจ้า

เย็นวันนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่ธรรมสภา ทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า อานนท์ได้สละชีวิตเพื่อเราไม่ใช่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน ในสมัยที่เป็นกำเนิดของเดรัจฉาน อานนท์ก็เคยสละชีวิตเพื่อเราแล้วเหมือนกัน เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงแสดงเรื่องในอดีต พระพุทธเจ้าก็ทรงเล่าเรื่องในอดีต ที่พระองค์และพระอานนท์ได้เป็นมิตรและได้ช่วยเหลือกันอย่างไร เรื่องเป็นอย่างนี้

ในอดีตกาลไม่ไกลจากนครสาคละ แคว้นมหิสกะ มีสระบัวหลวง สวยงามกว้างใหญ่น่ารื่นรมย์ เป็นที่อาศัยหากินของนกเป็นอันมาก พรานนกคนหนึ่งมาดักบ่วงได้อยู่เสมอ นำไปกินและขายด้วย

หงส์ฝูงหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำ ณ ภูเขาคิชกูฏ หัวหน้าฝูงคือพญาหงส์ชื่อธตรฐ มีหงส์ที่สนิทชื่อสุมุข เป็นกัลยาณมิตร คราวหนึ่งนกหงส์ ๒-๓ ตัว ไปหากินที่สระบัวหลวงชื่อมานุษยะ รู้สึกพอใจจึงมาเล่าให้พญาหงส์ฟังว่าเป็นสระที่มีอาหารมาก แต่เป็นถิ่นของมนุษย์ พวกเขาอยากไปหากินที่สระนั้นอีก

พญาหงส์ห้ามว่าถิ่นมนุษย์มีอันตรายมากสำหรับนกไม่ควรจะไป แต่บริวารก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พญาหงส์จึงอนุโลมตามและบอกว่าจะไปด้วย คราวนั้นมีหงส์บริวารตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก พอร่อนลงเท่านั้น พญาหงส์ก็ติดบ่วงของพรานรัดเท้าไว้แน่น คิดว่าจะทำให้บ่วงขาดจึงดึงเท้าอย่างแรง ครั้งแรกหนังถลอก ครั้งที่ ๒ เนื้อขาด ครั้งที่ ๓ เอ็นขาด ถึงครั้งที่ ๔ บ่วงกินลึกลงไปถึงกระดูก เลือดไหลมากเจ็บปวดแสนสาหัส

พญาหงส์คิดว่าถ้าจะร้องขึ้นว่าติดบ่วง บริวารซึ่งกำลังกินอาหารเพลินอยู่ ก็จะตกใจกินอาหารไม่ทันอิ่ม เมื่อกินอาหารไม่อิ่ม บินกลับไปไม่มีกำลังพอ ก็จะตกทะเลตายกันหมด จึงเฉยอยู่ รอให้บริวารกินอาหารจนอิ่ม ตนเองยอมทนทุกข์ทรมานด้วยบ่วงนั้น

เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควร เห็นว่าพวกหงส์กินกันหมดแล้วกำลังเล่นเพลินกันอยู่ จึงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดังว่าติดบ่วงๆ พอได้ยินดังนั้น หงส์บริวารทั้งหลายก็ตกใจ คุมกันเป็นพวกๆ แล้วบินหนีไปยังภูเขาคิชกูฏ

หงส์สุมุขก็บินไปกับบริวารเหมือนกัน เพราะได้ยินแต่คำว่าติดบ่วง ไม่รู้แน่ว่าเป็นใคร เมื่อบินไปสักครู่หนึ่ง ก็นึกเฉลียวใจว่าพญาหงส์อาจจะติดบ่วงก็ได้ จึงบินด้วยกำลังทั้งหมดสำรวจหงส์ทุกฝูง เมื่อไม่เห็นพญาหงส์ก็คิดว่าอันตรายคงเกิดขึ้นแก่พญาหงส์ จึงรีบบินกลับไปยังสระมานุษยะ เห็นพญาหงส์กำลังติดบ่วง จึงปลอบใจว่า อย่ากลัวเลย จะสละชีวิตแทน จะอยู่เป็นเพื่อนตาย พญาหงส์กล่าวว่า ฝูงหงส์บินหนีกันไปหมดแล้ว ขอท่านจงเอาตัวรอดเถิด ไม่มีประโยชน์อะไรในการอยู่ที่นี่ เมื่อข้าพเจ้าติดบ่วงอยู่เช่นนี้ ความเป็นสหายจะมีประโยชน์อะไรเล่า

สุมุขก็กล่าวตอบว่า ข้าพเจ้าจะอยู่หรือจะไปก็ต้องตายอยู่ดี จะหนีความตายหาได้ไม่ เมื่อท่านมีสุข ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ เมื่อท่านมีทุกข์ ข้าพเจ้าจะจากไปเสียอย่างไร การตายพร้อมกับท่านประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยไม่มีท่าน เมื่อท่านมีทุกข์อยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจะไปเสีย ดูไม่เป็นธรรมเลย

พญาหงส์กล่าวว่า คติของผู้ติดบ่วงเช่นข้าพเจ้าจะมีอะไรนอกจากต้องเข้าโรงครัว ท่านเป็นผู้มีความคิด จะเข้าใจคติเช่นนี้ได้อย่างไร ท่านเห็นประโยชน์อะไรในการยอมตายกับข้าพเจ้า ท่านมายอมสละชีวิตในเรื่องที่ไม่ได้เห็นคุณอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนคนตาบอดทำกิจการในที่มืด จะให้สำเร็จประโยชน์อย่างไร ท่านมิได้เล็งให้เห็นประโยชน์อันรุ่งเรืองเลย

พญาหงส์พูดดีเหลือเกิน กระทั่งคนก็ยังพูดไม่ได้ สุมุขยังกล่าวดีขึ้นไปอีก กล่าวตอบว่า ทำไมท่านจึงไม่รู้แจ้งซึ่งความหมายแห่งธรรม ธรรมที่บุคคลเคารพแล้ว ย่อมแสดงประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเพ่งถึงธรรมและประโยชน์ที่จะได้จากธรรม มิใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ คำนึงถึงความภักดีในท่าน จึงมิได้เสียดายชีวิต ธรรมดามิตรเมื่อระลึกถึงธรรมอยู่ ก็ไม่ควรทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้จะต้องเสียชีวิตก็ตาม นี่คือธรรมของสัตบุรุษ

พญาหงส์กล่าวว่า ท่านประพฤติธรรมดีแล้ว ความภักดีในตัวข้าพเจ้าท่านก็แสดงออกชัดเจนแล้ว ข้าพเจ้าขอร้องให้ท่านไปเสียจากที่นี่ ขอให้ทำตามความต้องการของข้าพเจ้า ขอช่วยไปดูแลฝูงหงส์บริวารของข้าพเจ้าด้วย

เมื่อหงส์ทั้งสองกำลังเจรจากันอยู่อย่างนี้ นายพรานก็มาถึงสงสัยว่าหงส์ตัวหนึ่งติดบ่วงอยู่ แต่อีกตัวหนึ่งมิได้ติดบ่วง ทำไมจึงยืนอยู่ใกล้ๆ มิได้บินหนีไป จึงไต่ถามสุมุขตอบให้ทราบว่าพญาหงส์เป็นนายของตน ไม่อาจละทิ้งท่านไปได้ เขาจึงถามพญาหงส์ว่า เป็นถึงพญาหงส์ เหตุไฉนจึงมาติดบ่วง ทั้งที่บริวารก็มิได้ติด หัวหน้าผู้ฉลาดควรรู้ถึงอันตรายนี้ เป็นธรรมดาของผู้เป็นใหญ่ สุมุขได้ตอบแทนพญาหงส์ว่า เมื่อความเสื่อมมาถึงเข้าในกาลใด กาลนั้นสัตว์ไม่เข้าใกล้บ่วงก็ไม่รู้สึก เมื่อถึงคราวจะสิ้นชีวิตก็เช่นเดียวกัน

ที่จริงชาดกนี่ เค้าเรื่องก็น่าสนใจอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือคำสนทนาของนกหรือของสัตว์หรือบุคคลในชาดกนั้นเอง เป็นคำพูดที่น่าสนใจ เป็นสุภาษิต บางคราวแร้งก็ไปติดบ่วง ก็มีผู้ถามว่าตาของนกแร้งนี่มองเห็นได้ไกลถึง ๑๐๐ โยชน์ ซากศพอยู่ที่ไหนก็มองเห็นมองเห็นได้ไกล แต่ทำไมบ่วงอยู่ใกล้ๆ ถึงมองไม่เห็น พญาแร้งก็ตอบทำนองเดียวกันนี่ ว่าเมื่อความวิบัติจะมาถึง ก็ทำให้ไม่เห็นบ่วง

เพื่อจะขอชีวิตของพญาหงส์ สุมุขกล่าวถ้อยคำอ่อนหวานให้นายพรานเห็นใจ ขอให้ปล่อยเขาทั้งสองไป เพื่อพบญาติและบริวาร เป็นทำนองว่า ถ้าฆ่าเขาทั้งสอง ก็ได้อาหารเพียงมื้อสองมื้อ หรือถ้าจะนำไปขาย ก็คงได้เงินเพียงเล็กน้อยไปเลี้ยงชีพ แต่ถ้าปล่อยเขาไปพรานก็จะได้บุญไม่น้อยทีเดียว

พรานนั้นตามปกตินิยมสรรเสริญในน้ำใจภักดี และเสียสละของสุมุขอยู่แล้ว ที่ยอมสละชีวิตเป็นมิตรพลี จึงมีจิตใจอ่อนโยน ต้องการจะปล่อยหงส์ทั้งสองไป แต่เพื่อทดลองใจของสุมุขมากขึ้นจึงกล่าวว่า ท่านเองมิได้ติดบ่วง และเราก็มิได้ปรารถนาจะฆ่าท่านท่านจงรีบไปเสียเถิด ขอให้ท่านอยู่เป็นสุขตลอดกาลนาน

สุมุขตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ประสงค์มีชีวิตอยู่โดยไม่มีพญาหงส์ ถ้าท่านพอใจเพียงชีวิตเดียว ก็ขอให้ปล่อยพญาหงส์เถิด ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นท่านจะปล่อยหรือจะกินเสียก็ได้ ข้าพเจ้าทั้งสองมีรูปกายเท่ากัน ถึงจะเอาข้าพเจ้าไปแทน ลาภของท่านก็มิได้พร่อง ขอได้โปรดเปลี่ยนตัวข้าพเจ้ากับพญาหงส์เถิด ถ้าท่านไม่แน่ใจ ก็ขอให้เอาบ่วงผูกมัดข้าพเจ้าไว้แล้วปล่อยพญาหงส์ไป

พรานมีจิตใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น ต้องการจะยกพญาหงส์ให้เป็นรางวัลแก่สุมุข จึงได้กล่าวว่า ขอให้ใครๆ ทราบเถิดว่า พญาหงส์พ้นจากบ่วงและพ้นจากความตายก็เพราะท่าน บรรดามิตรทั้งหลาย มิตรอย่างท่านหาได้ยากในโลก หรืออาจไม่มีในโลก ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเห็นใจท่าน เคารพในน้ำใจของท่าน ขอท่านทั้งสองจงบินไปเถิด ไปสู่หมู่ญาติและบริวาร

สุมุขทราบว่านายพรานมีกิจคือการดักบ่วง ก็เพื่อได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ก็ควรจะตอบแทนน้ำใจของนายพรานที่ปล่อยตนทั้งสอง จึงขอร้องให้พรานนำตนและพญาหงส์ไปเฝ้าพระราชา พระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ทรงเลื่อมใสในหงส์และพรานที่ประพฤติธรรมต่อกัน ทรงพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก แก่พรานเพียงพอแก่การเลี้ยงชีพไปตลอดชีวิต

ท่านผู้อ่านจะสังเกตพบในชาดกนี้ และเรื่องราวของพระพุทธเจ้าว่า การคบบัณฑิตและนักปราชญ์ มีประโยชน์มากอย่างนี้ การมีคนดีเป็นมิตรสหาย เมื่อมีทุกข์ก็เป็นที่พึ่งได้ ไม่ยอมละทิ้งในยามวิบัติ และยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อมิตรที่ดี กัลยาณมิตรผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมในมิตร หาได้ยากในโลก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้แล้วก็ควรประคับประคองมิตร ควรรักษามิตรด้วยดี

คุณประโยชน์ของการมีกัลยาณมิตร เช่นเรื่องที่พระอานนท์ได้พระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร ต่ออีกสักเรื่องพอเป็นตัวอย่าง ซึ่งมีมากมายเหลือเกินเกี่ยวกับพระอานนท์กับ พระพุทธเจ้า ซึ่งเกื้อกูลกันมาตลอดสังสารวัฏ เรื่องที่จะเล่าต่อไปเป็นเรื่องราชสีห์ติดหล่ม ปรารภเรื่องพระอานนท์เหมือนกันว่า พระอานนท์เถระได้รับอาราธนาให้ไปสอนธรรมในพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล สอนแก่มเหสีพระราชเทวี และสนม

วันหนึ่งพระราชาถวายผ้าราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะแก่พระอานนท์ จำนวน ๑,๐๐๐ ผืน ต่อมาพระราชาได้พระราชทานผ้าเนื้อดีแก่พระราชเทวี ๕๐๐ พระองค์ องค์ละผืน รวม ๕๐๐ ผืน พระราชเทวีเหล่านั้นฟังธรรมของพระอานนท์แล้วเลื่อมใส ได้ถวายผ้าเหล่านั้นแก่พระเถระจนหมด เมื่อไปเฝ้าพระราชาในเวลาเสวยพระกระยาหาร ก็สวมฉลองพระองค์เก่าๆ ไป พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ตรัสถามว่า ได้ให้ผ้าใหม่เนื้อดีไปแล้ว ไฉนจึงไม่ใช้สอย นุ่งผ้าเก่าๆ มาที่เฝ้า

พระราชเทวีทูลว่า ได้ถวายผ้าเหล่านั้นแก่พระอานนท์หมดแล้ว พระอานนท์รับไว้ทั้งหมดหรือ ทั้งหมดเลยพระเจ้าขา

พระราชาทรงพิโรธว่าพระศาสดาทรงบัญญัติให้สมณศากยบุตรใช้ผ้าเพียง ๓ ผืน ไฉนพระอานนท์จึงรับผ้าไว้มากมายเพียงนั้น จะตั้งร้านค้าผ้าหรืออย่างไร เสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้วเสด็จไปหาพระอานนท์เถระ ตรัสถามเรื่องอื่นก่อนว่า พระคุณเจ้า สตรีที่ตำหนักยังเรียนธรรมอยู่หรือ ขอถวายพระพรยังเรียนอยู่ เรียนธรรมอย่างเดียว หรือถวายผ้าด้วย ถวายผ้าด้วยมหาบพิตร วันนี้ถวายมา ๕๐๐ ผืน ล้วนผ้าราคาแพงผืนละ ๑,๐๐๐ กหาปณะทั้งนั้น ท่านรับไว้ทั้งหมดหรือ รับไว้ทั้งหมดมหาบพิตร ก็พระสุคตเจ้าทรงบัญญัติให้สาวกใช้ผ้าเพียง ๓ ผืนเท่านั้นมิใช่หรือ ถูกแล้วมหาบพิตร แต่มิได้ทรงห้ามการรับ พระอานนท์เถระได้ทูลตอบพระราชา ฉะนั้นอาตมภาพรับไว้เพื่อภิกษุอื่นที่จีวรเก่าด้วย

พระราชาตรัสถามต่อไปว่า ภิกษุเหล่านั้นเอาจีวรเก่าไปทำอะไร เอาไปทำผ้าปูนั่ง มหาบพิตร ผ้าปูนั่งเก่าเอาไปทำอะไร ทำผ้าเช็ดเท้า มหาบพิตร, ผ้าเช็ดเท้าเก่าทำอะไร เอามีดสับผ้าเช็ดเท้าเก่าแล้วเคล้ากับดินเหนียวฉาบทาเสนาสนะ มหาบพิตร

พระราชาก็ตรัสต่อไปว่า ของที่ถวายพระคุณเจ้ามิได้สูญเปล่าเลยหรือ ไม่สูญเปล่าเลย มหาบพิตร ของที่ถวายด้วยศรัทธา ภิกษุจะทำให้เสียหายมิได้ ต้องทำให้เป็นประโยชน์ถึงที่สุด

พระราชาชื่นชมโสมนัส ให้คนนำผ้าอีก ๕๐๐ ผืนมาถวายอีก ผ้า ๕๐๐ ผืนชุดก่อน พระเถระได้แจกให้แก่พระเถระทั้งหลายที่จีวรเก่าแล้ว ส่วนผ้า ๕๐๐ ผืนชุดหลัง ท่านได้ให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งทั้งหมด

พระอานนท์มีสัทธิวิหาริก คือศิษย์อุปัชฌาย์ ศิษย์ที่ท่านบวชให้เองอยู่ประมาณ ๕๐๐ รูป แต่มีภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เป็นผู้มีอุปการะมากแก่ท่าน เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้ให้จีวร ๕๐๐ ผืนแก่ภิกษุหนุ่มเพียงรูปเดียว

ที่ว่ามีอุปการะมากแก่ท่านนั้นก็คือ เป็นผู้กวาดบริเวณกุฏิ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ให้ท่าน ถวายไม้สีฟัน น้ำล้างปาก น้ำล้างหน้า และน้ำสรง ดูแลเว็จกุฎี คือห้องน้ำห้องส้วม เรือนไฟและเสนาสนะ นวดมือนวดเท้า และทำอุปการกิจอื่นๆสุดแล้วแต่จะมีมา พระเถระก็คิดถึงอุปการคุณของภิกษุนั้น จึงได้มอบจีวรให้ทั้ง ๕๐๐ ผืน ท่านก็คงทราบเพราะท่านรู้จักลูกศิษย์ของท่านดี ภิกษุรูปนั้นเป็นผู้มีนิสัยดี ก็ได้แจกจ่ายจีวรนั้นแก่เพื่อนร่วมอุปัชฌาย์จนหมดสิ้น

ภิกษุเหล่านั้นเย็บย้อมจีวรของตนแล้วก็ห่มไปเฝ้าพระศาสดา ทูลถามว่า การให้เพราะเห็นแก่หน้ามีอยู่แก่บุคคลชั้นโสดาบันหรือพระเจ้าข้า พระศาสดาตรัสตอบว่า ไม่มีดอกภิกษุ มีอะไรเป็นเหตุแห่งคำถามนี้หรือ

ภิกษุกราบทูลว่า มีพระเจ้าข้า คืออุปัชฌาย์ของพวกข้าพระองค์ได้ผ้ามา ๕๐๐ ผืนไปให้แก่ภิกษุหนุ่มรูปเดียวจนหมด อย่างนี้ไม่เรียกว่าให้เพราะเห็นแก่หน้าหรือ พระศาสดาตรัสตอบว่า ดูก่อนภิกษุ อานนท์ทำเพราะเห็นแก่อุปการะของภิกษุหนุ่มรูปนั้น เห็นเธอเป็นผู้มีอุปการะมาก ต้องการยกย่องให้ปรากฏแก่ศิษย์ทั้งหลาย นี่เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งของครูหรืออาจารย์ ดูก่อนภิกษุ แม้บัณฑิตในครั้งโบราณ แม้เป็นสัตว์เดรัจฉานก็รู้อุปการะของผู้อื่นและทำตอบแทน

พระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ก็นำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟัง ดังนี้

ในอดีตกาล ราชสีห์ตัวหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำบนภูเขา วันหนึ่งยืนมองลงไปที่เชิงเขา ณ เชิงเขานั้นมีสระใหญ่สระหนึ่ง มีหญ้าเขียวสดอ่อนไสวขึ้นตามเชิงเลนขอบสระ สัตว์เล็กๆ เช่น กระต่ายและแมวป่า สุนัขจิ้งจอกต่างก็เที่ยวเล็มหญ้าอยู่ตามเชิงเลนของสระ เนื้อตัวหนึ่งเที่ยวเล็มหญ้าอยู่ สีหเห็นเนื้อนั้นแล้ว ต้องการจับเนื้อเป็นอาหาร จึงกระโดดจากภูเขาวิ่งอย่างเร็ว เนื้อวิ่งสุดกำลังของตนเหมือนกัน สีหไม่อาจยั้งกำลังได้จึงตกลงไปติดที่เชิงเลนขึ้นไม่ได้ เท้าทั้ง ๔ ฝังลงไปเหมือนเสา ยืนอดอาหารอยู่ถึง ๗ วัน

สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งหากินเพลินอยู่ มาเห็นสีหตกใจกลัวทำท่าจะวิ่งหนี สีหร้องบอกว่าอย่าหนีเลย เราติดหล่มขึ้นไม่ได้หลายวันแล้ว ช่วยชีวิตเราทีเถอะ สุนัขจิ้งจอกเข้าไปใกล้สีหพลางกล่าวว่า เรากลัวว่าเมื่อช่วยท่านได้แล้ว ท่านจะจับเรากินเป็นอาหารเสีย

ราชสีห์ยืนยันว่า อย่ากลัวเลย เรารับรองว่าจะไม่กินท่าน แต่เราจะสนองคุณท่าน จงช่วยเราถอนขึ้นจากหล่มเถิด

สุนัขจิ้งจอกรับคำมั่นสัญญาแล้ว คุ้ยเลนรอบๆเท้าของราชสีห์ออก ขุดลำรางให้น้ำไหลเข้ามา ทำให้เลนเหลว สุนัขจิ้งจอกมุดตัวเข้าไประหว่างท้องสีห เอาศีรษะดันท้อง แล้วก็ร้องดังๆว่า นายพยายามเข้าเถิด สีหออกแรงตะกายขึ้นจากเลนได้วิ่งไปยืนพักเหนื่อยอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ลงสระล้างโคลนอาบน้ำระงับความกระวนกระวายแล้ว จับกระบือตัวหนึ่งได้แล้ว เอาเขี้ยวแหวะฉีกล้วงเนื้อมาวางไว้ข้างหน้าของสุนัข ให้สุนัขจิ้งจอกกินก่อน ส่วนตนกินทีหลัง

สุนัขจิ้งจอกคาบเอาเนื้อชิ้นหนึ่งวางไว้ เมื่อสีหว่าเนื้อนั้นเพื่อใคร สุนัขจิ้งจอกบอกว่า เพื่อนางสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์ก็ว่าจงเอาไปเถิด เพราะตนก็จะเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อนางสิงห์เหมือนกัน สัตว์ทั้งสองกินเนื้อจนอิ่มหนำสำราญ แล้วเอาเนื้อไปฝากนางสุนัขจิ้งจอกและนางสิงห์ ไปที่อยู่ของนางสุนัขจิ้งจอกก่อน ชวนครอบครัวสุนัขจิ้งจอกไปอยู่กับตนที่ถ้ำบนภูเขา รับว่าจะเลี้ยงดูให้มีความสุข

สัตว์สองตระกูลสองครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์ นางสิงห์กับนางสุนัขจิ้งจอก และลูกๆ ก็กลมเกลียวกันอย่างดี

จำเนียรกาลล่วงมา นางสิงห์คิดว่า ไฉนหนอราชสีห์สามีเราจึงรักนางสุนัขจิ้งจอกและลูกๆ ของมันนักหนา อาจจะเคยลักลอบได้เสียเป็นเมียผัวกับนางสุนัขจิ้งจอกก็ได้ จึงเสน่หามันมากนัก อย่ากระนั้นเลย เราจะหาอุบายให้นางสุนัขจิ้งจอกไปจากที่นี่
คิดอย่างนี้แล้ว เมื่อสุนัขจิ้งจอกและสีหสามีตนออกไปหากิน จึงกลั่นแกล้งขู่เข็ญนางสุนัขจิ้งจอกนานาประการ อาทิ ว่าทำไมอยู่ที่นี่นานนัก ไม่ไปที่อื่นบ้าง ส่วนลูกนางสิงห์ก็ขู่เข็ญลูกนางสุนัขจิ้งจอกบ้างเหมือนกัน

เมื่อสุนัขจิ้งจอกกลับมา นางสุนัขจิ้งจอกก็เล่าเรื่องต่างๆ ให้สามีฟัง และตั้งข้อสงสัยว่าไม่ทราบว่าที่นางสิงห์ทำนั้น ทำไปโดยพลการ หรือทำไปตามคำสั่งของสีห

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปหาสีห พูดว่า

“นาย ข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่านนานนักแล้ว ผู้อยู่ร่วมกันนานเกินไป ทำให้ความรักจืดจางลงได้ ผู้ใดไม่พอใจให้คนอื่นอยู่ในสำนักของตน ก็จะขับไล่เสียว่า จงไปเสียทีเถิด จะเหน็บแนมเอาประโยชน์อะไรกัน” ดังนั้นแล้ว ก็เล่าพฤติการณ์ของนางสิงห์ให้ราชสีห์ฟังทุกประการ พร้อมกับถามว่า พญาเนื้อผู้มีกำลัง อยากจะให้ใครไปก็ย่อมจะไล่ได้ นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลังทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีเขี้ยวโง้ง โปรดทราบเถิดว่าบัดนี้ภัยเกิดจากที่พึ่งเสียแล้ว

สีหราชฟังเช่นนี้แล้ว ถามนางสิงห์ว่า เป็นความจริงหรือที่ขู่เข็ญนางสุนัขจิ้งจอก นางสิงห์รับว่าเป็นความจริง ราชสีห์จึงว่านางไม่รู้หรือ เมื่อเราไปหากินครั้งโน้น เราไม่กลับมาถึง ๗ วันเพราะเหตุไร นางสิงห์ตอบว่าไม่ทราบ สีหราชจึงเล่าเรื่องที่ตนติดหล่มให้นางสิงห์ฟัง และว่าสุนัขจิ้งจอกนี้เป็นสหายผู้ช่วยชีวิตเรา มิตรที่สามารถดำรงมิตรธรรมไว้ได้ ชื่อว่าอ่อนกำลังย่อมไม่มี ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าได้ดูหมิ่นมิตรของเราและครอบครัวของเขาอีก

และย้ำว่ามิตรเขามีกำลังน้อย แต่เขาดำรงอยู่ในมิตรธรรมคือเป็นมิตรแท้ เป็นกัลยาณมิตร ก็นับว่าเป็นทั้งญาติ ทั้งพี่น้อง เป็นทั้งมิตรสหาย อย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกผู้ที่ได้ช่วยชีวิตของเราไว้

นี่ก็เป็นความกตัญญูกตเวทีของสีหราชหรือพญาราชสีห์ นางสิงห์รู้ว่าตนเข้าใจผิดไป จึงขอขมา ตั้งแต่นั้นมาสัตว์ทั้ง ๒ ตระกูลก็กลมเกลียวรักใคร่กันดังเดิม

เมื่อพ่อแม่สิ้นชีวิตแล้ว ลูกของสัตว์ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันมาถึง ๗ ชั่วอายุ

นี่ก็เป็นเรื่องที่เป็นตัวอย่างให้กับมนุษย์ ความจริงเรื่องมันก็เกิดในสังคมมนุษย์นั่นแหละ แต่ท่านก็นำเรื่องของสัตว์ชนิดต่างๆ มาเป็นตัวอย่าง





 

Create Date : 22 มีนาคม 2548    
Last Update : 22 มีนาคม 2548 20:46:47 น.
Counter : 333 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๔ พระนางสามาวดี


เรียบเรียงจากหนังสือ ทางแห่งความดี เล่ม ๑ โดยอาจารย์วศิน อินทสระ



มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฏก ดังนี้ว่า...

พระนางสามาวดี เดิมชื่อสามา เป็นลูกสาวเศรษฐีชื่อภัททวดีในภัททวดีนคร เป็นเพื่อนกับโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี ท่านเรียกว่าเป็น “อทิฏฐบุพพสหาย” แปลว่าเพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน กล่าวคือเศรษฐีทั้งสองต่างได้ยินเกียรติคุณของกันและกันจากพวกพ่อค้าที่เดินทางไปมาค้าขายระหว่างเมืองทั้งสอง แล้วต้องการคบกันไว้เป็นมิตร ต่างก็ส่งบรรณาการโดยฝากพ่อค้าไป

คราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคขึ้นในเมืองภัททวดี ทำลายชีวิตคนมาก เขามีเคล็ดอย่างหนึ่งคือ ถ้าจะหนีอหิวาต์ ต้องพังฝาเรือนหนี ออกทางประตูไม่ได้

ภัททวดีเศรษฐี ภรรยาและลูกสาวก็หนีอหิวาต์ไปเมืองโกสัมพี ไปหาโฆสกเศรษฐี ในระหว่างทางเสบียงหมด ต้องอดทนเดินต่อไปจนถึงประตูเมืองโกสัมพี ทั้งสามต้องอิดโรยด้วยความหิวและลมแดดอย่างน่าสงสาร เมื่อมาถึงศาลาพักหน้าเมือง เศรษฐีกล่าวขึ้นว่า

“สภาพของเราในเวลานี้ แม้บิดามารดาก็ไม่ต้องการเห็น เราควรบำรุงร่างกายให้ดีพอสมควรเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปหาเศรษฐีสหายของเรา ฉันทราบมาว่าโฆสกะ สหายเราสละทรัพย์วันละพันให้ทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้า คนยากจน เป็นต้น เราควรให้สามาไปขออาหารมาเลี้ยงดูกัน บำรุงร่างกายให้กระปรี้กระเปร่า สักหน่อยหนึ่งแล้วค่อยไปหาสหาย”

วันรุ่งขึ้นสามาถือภาชนะ เดินปะปนไปกับคนขอทาน คนกำพร้าอนาถา มีความละอายมาก แต่ก็ต้องตัดความละอายนั้นลง เธอเดินก้มหน้าตามคนทั้งหลายไป เมื่อถึงวาระของเธอ ผู้แจกทานชื่อ มิตตกุฎุมพี ถามขึ้นว่า

“เธอรับกี่ส่วน”

“๓ ส่วนค่ะ”เธอตอบ

มิตตกุฎุมพีก็มอบให้ ๓ ส่วน เธอได้นำอาหารมาให้พ่อแม่ฝ่ายแม่ก็อ้อนวอนให้พ่อกินก่อน แต่เศรษฐีกินมากเกินไป คืนนั้นอาหารไม่ย่อย รุ่งเช้าก็ตาย

วันนั้น สามาไปขออาหารมา ๒ ส่วน คนแจกทานก็ให้ เธอให้แม่กินก่อน แม่ของเธอกินแล้วอาหารไม่ย่อยอีก จึงตายลงวันนั้น

วันรุ่งขึ้น สามาร้องไห้คร่ำครวญไป ขออาหารจากมิตตกุฎุมพี

“ต้องการเท่าไหร่”

“หนึ่งส่วนเจ้าค่ะ”เธอตอบ

มิตตกุฎุมพีจำได้ จึงด่าว่า “จงฉิบหายเสียเถิดหญิงถ่อยเจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของเจ้าวันนี้เองหรือ วันก่อนขอ ๓ ส่วน เมื่อวาน ๒ ส่วน วันนี้ขอส่วนเดียว”

นางสามาผู้มีกำเนิดและเติบโต มาในตระกูลดีมั่งคั่งได้ฟังดังนั้น ก็เจ็บแสบเหมือนมีอาวุธมาเสียบอก ถามย้ำออกไปว่า “ท่านว่าอะไรนะนาย”

มิตตกุฎุมพีก็ย้ำเหมือนกันว่า

“วันก่อนเจ้ารับเอาไป ๓ ส่วน เมื่อวานรับ ๒ ส่วน วันนี้รับส่วนเดียว ฉันถามเจ้าว่าเจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของตัววันนี้เองหรือ”

“นายท่านโปรดอย่าเข้าใจว่าฉันรับไปเพื่อตัวคนเดียว ฉันรับไป ๓ ส่วนวันก่อน เพราะเรามีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ พ่อ แม่ และฉัน วันก่อนนี้ พ่อฉันทานอาหารแล้วตาย เมื่อวานนี้แม่ทานอาหารแล้วตาย วันนี้จึงเหลือฉันเพียงคนเดียว ฉันจึงขอเพียงส่วนเดียว”

“พ่อแม่ของเจ้าเป็นใคร มาจากไหน เมื่อพ่อแม่ตายหมดแล้วเจ้าจะอยู่กับใคร” มิตตกุฎุมพีถามอย่างสงสารและเห็นใจ

สามาเล่าเรื่องให้ฟัง มิตตุกุฎุมพีฟังแล้วเศร้าใจ เอามือลูบศีรษะสามา จุมพิตที่ศีรษะด้วยเมตตาอย่างลูกแล้วกล่าวว่า

“อย่าคิดอะไรมากเลยสามา เจ้าเป็นลูกสาวของภัททวดีเศรษฐีก็เหมือนเป็นลูกสาวเรา ตั้งแต่วันนี้ไปจงเป็นลูกสาวเรา”

แล้วพาไปเรือน เลี้ยงอย่างลูกสาว และให้เป็นลูกหญิงคนโต สามาก็มีความสุขขึ้น

ตามปรกติโรงทานจะมีเสียงอื้ออึง เพราะคนแย่งกัน วันหนึ่งสามาจึงบอกกับพ่อว่า ให้ล้อมโรงทานเข้า มีประตู ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเข้าด้านหนึ่งออก ให้เข้าและออกเป็นแถวเรียงหนึ่ง เมื่อทำดังนี้แล้วเสียงอื้ออึงก็หมดไป

ฝ่ายโฆสกะเศรษฐีเจ้าของโรงทาน เคยได้ยินเสียงเซ็งแซ่ก็ยินดีว่าเป็นเสียงในโรงทานของตน เมื่อไม่ได้ยิน ๒-๓ วันก็ประหลาดใจ เมื่อพบมิตตกุฎุมพีก็ถามรู้เรื่องทั้งปวงแล้วจึงรับสามาไว้ในฐานะลูกสาวของตน มอบหญิงจำนวนร้อยให้เป็นบริวาร

ชื่อของสามา ได้มีคำต่อท้ายว่า “วดี” เป็นสามาวดี เพราะเธอให้ล้อมรั้วที่โรงทาน (วดี แปลว่ารั้ว)

วันหนึ่ง เธอไปอาบน้ำที่ท่าน้ำกับบริวาร ในงานนักขัตฤกษ์ บังเอิญต้องเดินผ่านทางพระลานหลวง พระเจ้าอุเทนประทับที่หน้าต่างเห็นสามาวดีแล้วก็ชอบ ถามราชบุรุษว่าเป็นใคร เมื่อทราบว่าเป็นธิดาของโฆสกเศรษฐีจึงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า “ขอให้เศรษฐีมอบธิดา ชื่อสามาวดีให้ฉัน”

แต่เศรษฐีไม่ยอมให้ เพราะกลัวลูกสาวไปลำบากในวังหากพลาดพลั้งอาจลงโทษถึงประหารหรือโบยตี

พระราชาอุเทนส่งพระราชสาส์นไปถึง ๒ ครั้ง แต่เศรษฐีก็ปฏิเสธ พระราชาทรงกริ้ว รับสั่งให้จับเศรษฐีและภรรยาออกนอกเรือน ให้ตีตราปิดบ้านใครเข้าไม่ได้

สามาวดีกลับจากอาบน้ำเข้าบ้านไม่ได้

“อะไรกันคะพ่อ”

“พระราชาต้องการเจ้า แต่พ่อไม่ให้ จึงรับสั่งให้ปิดบ้าน”

สามาอึ้งอยู่ครู่หนึ่ง เห็นว่าการฝืนพระราชโองการมีแต่โทษจึงบอกพ่อว่า

“เมื่อพระราชาทรงพระประสงค์ ต้องถวาย พ่อ”

“หากเจ้าไม่ขัดข้อง พ่อก็ไม่ขัดข้องเหมือนกัน”

เป็นอันว่าพระเจ้าอุเทนได้สามาวดีเป็นพระมเหสีตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี แต่นั้นมาก็เป็นพระนางสามาวดี

พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีหลายพระองค์ เช่น พระนางวาสุลทัตตา พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งอุชเชนีนคร

พระนางมาคันทิยา สาวงามแห่งมาคันทิยคาม เป็นต้น พระนางแรกไม่มีบทบาทอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระนางสามาวดี ส่วนพระนางมาคันทิยามีส่วนเกี่ยวข้องมาก จึงต้องขอเล่าเรื่องของพระนางไว้ ณ ที่นี้ด้วย

พระนางมาคันทิยาเป็นลูกสาวพราหมณ์ชื่อ มาคันทิยา ในแคว้นกุรุ (นิวเคลฮีปัจจุบัน) เป็นสาวสวยมาก มีคนมาขอกันมากล้วนแต่ตระกูลใหญ่ๆทั้งนั้น แต่พ่อไม่ให้บอกว่าคนเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์มาคันทิยะและภรรยา ว่าหากพระองค์เสด็จไปโปรดก็จะสามารถสำเร็จอนาคามิผลได้ จึงเสด็จไปสู่ที่บูชาไฟของพราหมณ์

พราหมณ์ได้เห็นพระตถาคต ผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณะทุกประการแล้วคิดว่า “คนอื่นจะเลิศกว่านี้ไม่มี บุรุษนี้สมควรแก่ธิดาของเรา เราจะให้เขาครองเรือนอยู่ด้วยกัน”

เขากล่าวกับพระศาสดาว่า

“สมณะ ข้าพเจ้ามีบุตรีอยู่คนหนึ่ง สวยมาก ข้าพเจ้ามองไม่เห็นใครเหมาะสมเท่าท่าน ข้าพเจ้าขอยกเธอให้แก่ท่าน ขอท่านจงยืนคอยอยู่ตรงนี้สักประเดี๋ยวหนึ่ง”

พระศาสดามิได้ตรัสอะไร

พราหมณ์เข้าไปในบ้าน บอกภรรยาแต่งตัวลูกสาวให้ดี แล้วนำออกไป เพราะได้พบบุรุษที่สมควรแก่นางแล้ว

ข่าวเรื่องนี้แพร่ไปอย่างรวดเร็ว มีคนมาดูกันมาก เพราะสงสัยว่าชายผู้นั้นจะมีลักษณะประการใด

พระศาสดาได้เหยียบรอย พระบาทไว้แล้วเสด็จเลี่ยงไปประทับที่อื่น ท่านกล่าวว่ารอยพระบาทที่พระศาสดาทรงอธิษฐานแล้วเหยียบไว้นั้น ทรงประสงค์ให้บุคคลใดเห็นบุคคลนั้นเท่านั้น จึงจะเห็นรอยพระบาทนั้นจะไม่ลบ เพราะช้างเหยียบ ฝนตกหนัก หรือลมพัดแรง

พราหมณ์และภรรยา ลูกสาว เที่ยวตามหาพระศาสดาแต่ไม่เห็นนางพราหมณ์ได้เห็นรอยพระบาทก่อน นางตรวจดูลักษณะพระบาทแล้วกล่าวว่า “นี้ มิใช่รอยเท้าของผู้ข้องในกามารมณ์”

“คนเจ้าราคะ รอยเท้าเว้ากลาง คนเจ้าโทสะรอยเท้าหนักส้น คนเจ้าโมหะ หนักทางปลายนิ้วเท้า รอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส”

พราหมณ์บอกว่า นางอวดดีอวดรู้ไม่เข้าเรื่อง ให้นิ่งเสีย แล้วก็เที่ยวเดินหาพระศาสดาจนพบ

พระศาสดาตรัสเล่าชีวประวัติของพระองค์ให้พราหมณ์ฟังตั้งแต่ต้นว่า ทรงมีความสุขมาอย่างไร จนเสด็จออกผนวช ถูกนางตัณหา ราคา อรดี ยั่วยวน แต่หาทรงพึงพระทัยในนางเหล่านั้นไม่ แล้วตรัสย้ำว่า

“พราหมณ์เอย เรามิได้พอใจในเมถุน (การเสพกาม) เพราะได้เห็นนางตัณหา ราคา อรดี ผู้สวยเลิศ ก็ไฉนเล่าเราจักพอใจในธิดาของท่านเต็มไปด้วยมูตรและกรีส(อุจจาระ ปัสสาวะ) เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า”

พระศาสดาทรงแสดงธรรมอีกหลายเรื่อง จนพราหมณ์และพราหมณีได้บรรลุอนาคามิผล ฝ่ายนางมาคันทิยาผูกอาฆาตในพระศาสดาว่า

“สมณะนี้ปากร้ายนัก เมื่อไม่ต้องการเราก็ควรจะบอกเพียงว่าไม่ต้องการ หรือตอบเลี่ยงอย่างใดอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมารยามอันดีของสุภาพบุรุษ แต่นี่กลับดูหมิ่นเราว่าเต็มไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะเอาเถอะ เมื่อใด เราได้ภัสดาอันพรั่งพร้อมด้วยชาติตระกูล ประเทศ โภคะ ยศ และวัยแล้ว เราจักแก้แค้นพระสมณโคดมนี้ให้ได้”

มีปัญหาถามกันอยู่เสมอว่า พระศาสดาตรัสคำเช่นนี้ทำไม พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่า เมื่อตรัสออกไปแล้วนางมาคันทิยาจักผูกอาฆาตในพระองค์ พระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า พระศาสดาทรงทราบดี แต่ทรงมุ่งมรรคผลแก่พราหมณ์และพราหมณี ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงคำนึงว่าตรัสออกไปแล้ว ใครจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ทรงมุ่งประโยชน์เป็นที่ตั้ง ใครจะอาฆาตก็เป็นเรื่องของใครคนนั้น พระวาจาที่พระองค์ตรัสนั้นต้องจริงและเป็นประโยชน์

ฝ่ายพราหมณ์และพราหมณีสำเร็จพระอนาคามิผลแล้วพามาคันทิยาไปฝากกับจูฬมาคันทิยา ผู้เป็นอา แล้วออกบวชไม่นานนักก็ได้สำเร็จอรหัตตผล

ฝ่ายจูฬมาคันทิยา คิดว่าหลานของตนไม่สมควรแก่คนต่ำ จึงนำไปสู่โกสัมพี ถวายแก่พระเจ้าอุเทน ทรงรับไว้และแต่งตั้งในตำแหน่งอัครมเหสีมีบริวาร ๕๐๐

ขณะที่พระนางมาคันทิยา ทรงเป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าอุเทนอยู่นั้น พระพุทธเจ้าก็เสด็จมากรุงโกสัมพี พระนางก็จ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ทูลเสด็จให้ไปเมืองอื่น แต่พระศาสดามิได้ทรงหวั่นไหว ตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าไปไหนมีคนด่าแล้วหนีก็ต้องหนีกันเรื่อยไป ทรงยืนยันว่า

“เราจักอดทนต่อถ้อยคำล่วงเกินของผู้อื่น ดังช้างศึกในสงครามอดทนต่อลูกศร ซึ่งมาจากทิศทั้ง๔ เพราะคนส่วนมากเป็นคนชั่ว บุคคลย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม สัตว์ที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น คนที่ฝึกให้อดทนต่อคำล่วงเกินของคนอื่นได้ จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด”

พระศาสดาตรัสว่า เรื่องทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้จะสงบลงภายในวันที่ ๗ ฉะนั้นอย่าได้วิตก

ฝ่ายพระนางมาคันทิยาทราบว่า การจ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้านั้น ไม่สามารถให้องค์เสด็จออกจากเมืองโกสัมพีได้จึงคิดว่า พระนางสามาวดีเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหากกำจัดพระนางสามาวดี พระพุทธเจ้าขาดผู้อุปถัมภ์บำรุงก็จะเสด็จออกจากโกสัมพีไปเอง

พระนางหาเรื่องใส่ความพระนางสามาวดีว่าคิดนอกพระทัยพระเจ้าอุเทน เอาพระทัยไปฝักใฝ่กับพระพุทธเจ้าจึงให้อามาคันทิยะเอาไก่เป็น ๘ ตัวและไก่ตาย ๘ ตัว มาถวายพระราชา ขณะที่พระราชาประทับ ณ ห้องเสวยน้ำจัณฑ์

“มีผู้นำไก่มาถวาย พระเจ้าข้า” มหาดเล็กทูล

“ใคร” พระราชาตรัสถาม

“ปุโรหิตมาคันทิยา พระเจ้าข้า”

“เท่าไหร่”

“ ๘ ตัว พระเจ้าข้า”

“เออดี แกงแกล้มเหล้า ให้ใครแกงดี”

“พระนางสามาวดี เพคะ” พระนางมาคันทิยาทูล พระนางสามาวดีและบริวารว่างงาน เที่ยวเตร่อยู่ทุกวัน”

พระราชารับสั่งให้มหาดเล็กนำไก่ ไปให้พระนางสามาวดีแกง พระนางมาคันทิยาให้รางวัลมหาดเล็ก กระซิบให้นำไก่เป็น ๘ ตัวไป

พระนางสามาวดีทูลกลับมาว่า พระนางแกงถวายไม่ได้ เพราะไม่ทรงทำปาณาติบาต

พระนางมาคันทิยา ทูลพระเจ้าอุเทนว่า “ขอพระองค์ทรงลองใหม่ คือรับสั่งว่าให้แกงไปถวายพระสมณโคดม คราวนี้พระองค์จักทรงทราบว่า หญิงเหล่านั้น ทำปาณาติบาตหรือไม่ทำ”

พระราชารับสั่งอย่างนั้น

พระนางมาคันทิยากระซิบให้นำไก่ตาย ๘ ตัวไป พระนางสามาวดีทอดพระเนตรเห็นไก่ตายแล้ว และพระราชามีรับสั่งให้แกงถวายพระพุทธเจ้า ก็ทรงโสมนัสตรัสว่า “นี้เป็นหน้าที่ของเรา” มหาดเล็กนำข้อความนั้นมาทูลแด่พระราชา

พระนางมาคันทิยาได้โอกาสจึงทูลว่า “ทรงเห็นไหม หญิงเหล่านั้นเป็นอย่างไร เมื่อรับสั่งให้แกงไก่ถวายพระองค์ไม่ทรงกระทำ ไม่ทรงกระทำ แต่พอรับสั่งว่าให้แกงถวายพระสมณโคดมก็รีบทำทีเดียว” พระเจ้าอุเทน ทรงเฉยเสีย

ตามปกติ พระราชาจะประทับที่ประสาทของพระนางทั้ง ๓ คือพระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยาแห่งละ๗ วัน พระนางมาคันทิยา ทราบว่าอีก ๒ วัน พระราชาจักเสด็จไปประสาทของพระนางสามาวดี จึงส่งข่าวให้อาว่าให้นำงูตัวหนึ่งมาให้ และให้ถอนเขี้ยวออกให้หมดเสียก่อน พระนางได้งูมาแล้วเอาใส่ไว้ช่องรางพิณ แล้วเอาดอกไม้อุดเสีย งูนอนในรางพิณนั้น ๒-๓ วัน

ในวันที่พระราชาเสด็จสู่ปราสาทของพระนางสามาวดี พระนางมาคันทิยาทูลว่า “มหาราช หม่อมฉันสุบินร้าย พระองค์ไม่ควรเสด็จไปที่นั่น”แต่พระราชาไม่ทรงเชื่อ พระนางทูลถึง ๓ ครั้ง พระราชาทรงยืนยัน พระนางก็ขอตามเสด็จด้วย พระเจ้าอุเทนรับสั่งให้กลับก็ไม่ยอมกลับ อ้างว่าไม่ทราบจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้น ตามเสด็จมาก็เพราะทรงเป็นห่วง

พระราชาเสด็จไปไหนก็ทรงนำพิณคู่พระทัยไปด้วย ทรงวางไว้เบื้องบนพระเศียรแล้วบรรทม พระนางมาคันทิยาเสด็จกลับไปกลับมาอยู่ในห้องบรรทม เมื่อได้โอกาสก็นำดอกไม้ในรางพิณออก งูซึ่งอดอาหารมา ๒-๓ วัน ก็เลื้อยออกมาแผ่พังพานอยู่บนแท่นบรรทม พระนางมาคันทิยาจึงร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า “งู พระเจ้าข้า”

แล้วพระนางก็ด่าพระราชาและพระนางสามาวดีเสียมากมายเป็นต้นว่า”พระราชาองค์นี้โง่นัก ไม่มีวาสนา ไม่ฟังคำพูดของเรา อีกหญิงเหล่านี้ก็เป็นคนไม่มีสิริ หัวดื้อพวกมันไม่ได้รับเลี้ยงดูหรืออย่างไร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคตแล้ว พวกมันจะอยู่กันสบายหรืออย่างไร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระชนม์อยู่ มันอยู่กันลำบากนักหรือ วันนี้เราเองก็ฝันร้าย พยายามอ้อนวอนว่าอย่าเสด็จประสาทของอีหญิงถ่อยคนนี้ แต่พระราชาโง่เขลาก็หาฟังไม่”

พระราชาทรงพิโรธมาก เพราะหลายครั้งหลายคราวมาแล้ว แต่ไม่ประจักษ์ชัดเหมือนคราวนี้ ทรงโก่งธนูจะยิงพระนางสามาวดีและหญิงบริวาร

พระนางสามาวดีบอกกับบริวารของตนว่า “ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มีอีกแล้ว ขอพวกเราจงแผ่เมตตาไปยังพระราชา พระเทวี และในตนให้มีจิตสม่ำเสมอ อย่าได้โกรธใครเลย”

ธนูของพระเจ้าอุเทนนั้นร้ายแรงนัก ว่าสามารถทำลายแม้หินแท่งทึบได้ ทรงปล่อยลูกศรอาบยาพิษออกไปยังพระนางสามาวดี แต่ด้วยอำนาจแห่งเมตตา ลูกศรได้กลับมายังพระองค์ มีอาการเหมือนจะเจาะหทัยของพระองค์ แล้วตกลง

พระราชาคิดว่าลูกศรไม่มีจิตยังรู้คุณของพระนางสามาวดี เราเป็นผู้มีจิตไฉนจึงไม่รู้คุณของพระนาง จึงทิ้งคันธนู นั่งลงไหว้พระนางสามาวดี ขอให้เป็นที่พึ่ง

แต่พระนางทูลว่า ขออย่าได้ทรงถือพระนางเป็นที่พึ่งเลย พระนางถือผู้ใดเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์จงถือผู้นั้นเป็นที่พึ่งด้วย ผู้นั้นคือพระพุทธเจ้า

พระราชาเลื่อมใส ทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์มาเสวยที่วังและขอให้พระนางสามาวดีรับพร พระนางจึงขอพรว่า ขอให้นิมนต์พระศาสดามาเสวยในวังเสมอๆพระราชาจึงทูลอาราธนาพระศาสดา แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าไม่ควรเสวยที่เดียวเป็นประจำ เพราะประชาชนย่อมต้องการให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบ้านเรือนของเขาบ้าง ทรงมอบหมายหน้าที่ให้พระอานนท์มาแทน พระอานนท์ก็พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ไปสู่ราชสกุลเป็นเนืองนิตย์ พระนางสามาวดีและบริวารจึงได้ถวายทานและฟังธรรมเสมอ

ส่วนพระนางมาคันทิยา มีความคั่งแค้นเพิ่มพูน พระนางขอร้องให้อามาคันทิยะไปเผาปราสาทของพระนางสามาวดี ขณะนั้นพระเจ้าอุเทน เสด็จทรงกีฬา

พระนางสามาวดี เห็นนายมาคันทิยะเอาผ้าชุบน้ำมันแล้วพันเสาปราสาท จึงเสด็จมาถามว่าทำอะไรกัน เขาตอบว่าพระราชารับสั่งให้ทำ เพื่อให้ปราสาทมั่นคง ขอพระนางเสด็จเข้าประทับในห้องเสียเถิด

เมื่อพระนางสามาวดีและบริวารเสด็จเข้าห้องแล้ว เขาก็ลั่นประตูภายนอกหมด แล้วจุไฟเผาปราสาท พระนางสามาวดีทรงทราบว่าจะถูกเผาทั้งเป็น จึงบอกบริวารว่า

“เมื่อพวกเราท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ เคยถูกไฟเผามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แม้พุทธญาณก็กำหนดได้ยาก ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด”

หญิงเหล่านั้น ขณะที่ตำหนักถูกไฟไหม้อยู่ ก็กำหนดเวทนากรรมฐาน บางพวกได้บรรลุโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี

ครั้งนั้นภิกษุเป็นอันมาก กลับจากบิณฑบาต ฉันอาหารแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญในบุรีของพระเจ้าอุเทนถูกไฟไหม้ หญิง ๕๐๐ มี พระนางสามาวดีเป็นประมุขได้ตายแล้ว สัมปรายภพของอุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไร”

พระศาสดาตรัสว่า “อุบาสิกาเหล่านั้นเป็นโสดาบันก็มี เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี อุบาสิกาเหล่านั้นตายอย่างไม่ไร้ผล”

พระพุทธองค์ทรงเปล่งอุทานว่า

“โลกมีความหลงเป็นเครื่องผูกพัน จึงปรากฏให้เห็นเสมือนมีรูปควรแก่ความยึดมั่นถือมั่น คนพาลมีอุปธิคือกิเลสเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดแวดล้อม จึงมองเห็นสิ่งต่างๆว่าเที่ยง แต่ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นแจ้ง”

พระศาสดาทรงแสดงธรรมต่อไปว่า “สัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารที่ไม่ประมาท ทำบุญกรรมอยู่เป็นนิตย์ก็มี ที่ประมาททำบาปกรรมอยู่เนือง ๆ ก็มี เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง”

พระราชาทรงทราบข่าวเรื่องพระตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้รีบเสด็จมา แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว ทรงเสียพระทัยทรงระลึกถึงความดีของพระนาง ทรงพิจารณาเหตุผล แล้วแน่พระทัยว่าการครั้งนี้ต้องเป็นการกระทำของพระนางมาคันทิยา แต่หากจะถามตรง ๆ พระนางคงไม่รับ จำต้องออกอุบายถาม จึงตรัสกับอำมาตย์ที่แวดล้อมอยู่ว่า

“เมื่อก่อนนี้เรานั่งนอนหาเป็นสุขไม่ คอยระแวงแต่พระนางสามาวดี เพราะเธอคอยหาช่องทำลายเรา บัดนี้พระนางสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นความสุขของเราจริงหนอ ผู้ทำกรรมนี้คงจักมีความรักในเราอย่างหนักแน่น ใครหนอทำกรรมนี้”

ขณะนั้นพระนางมาคันทิยาเฝ้าอยู่ เห็นเป็นโอกาสจึงทูลว่า

“ข้าแต่พระองค์ คนอื่นใครเล่าจักจงรักภักดีเท่าหม่อมฉัน กรรมอันนี้ หม่อมฉันทำแล้ว โดยสั่งให้อาทำ”

พระราชาทำทีพอพระทัย รับสั่งว่าจะให้พรแก่พระนางและหมู่ญาติ ขอให้พาญาติมาเข้าเฝ้า เมื่อญาติมากัน พระราชาก็ให้การต้อนรับพระราชทานของเป็นอันมาก คราวนั้นคนที่ไม่ใช่ญาติ ก็ให้สินจ้างแก่ญาติ ให้รับตนเข้าเป็นญาติด้วย พากันมามากมาย

พระราชให้จับคนเหล่านั้นมัดไว้ ให้ขุดหลุมลึกประมาณสะดือ ที่ลานหลวง ให้ญาติทั้งหลายยืนในหลุม เอาดินร่วนกลบ เกลี่ยฟางไว้ปากหลุมแล้วจุดไฟเผา พอไฟไหม้หนังแล้วให้เอารถเหล็กไถเป็นท่อนเล็กท่อนน้อย

ส่วนพระนางมาคันทิยา รับสั่งให้เอาลงหลุมฝังเหมือนญาติ แต่ให้เชือดเฉือนเนื้อทอดในกะทะแล้วบังคับให้เสวย สิ้นพระชนม์ด้วยอาการน่าสังเวชยิ่ง

วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า พระนางสามาวดีและบริวารสิ้นพระชนม์ด้วยลักษณาการไม่สมควร เพราะพระนางเป็นผู้ศรัทธา มีศีลเห็นปานนั้น ไม่ควรสิ้นพระชมน์อย่างนั้นเลย

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า พระนางสามาวดีสิ้นพระชนม์ไม่สมควรแก่กรรมในบัดนี้ แต่สมควรแก่กรรมในอดีต ตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประมุข บำรุงพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ๘ องค์ อยู่ในวังพระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสี วันหนึ่งเมื่อฉันเสร็จแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ ไปป่าหิมพานต์ อีกองค์หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในกอหญ้าริมแม่น้ำ

พระราชาพาหญิงเหล่านั้นไปเล่นน้ำในแม่น้ำ หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำอยู่แทบทั้งวัน เมื่อขึ้นจากน้ำก็รู้สึกหนาว ต้องการก่อไฟผิง มองไปเห็นกอหญ้าจึงจุดไฟล้อมกอหญ้าผิงอยู่ พอหญ้ายุบแลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จึงร้องขึ้นว่า

“พวกเราแย่แล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้าถูกไฟคลอก พระราชาทรงทราบจักลงโทษพวกเราอย่างหนัก พวกเราจะเผาท่านให้ไหม้ให้หมด”

ดังนี้แล้ว ช่วยกันหาฟืนมาสุมเผา เมื่อคิดว่าท่านถูกไหม้หมด จึงชวนกันหลีกไป

พอวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ลุกไปอย่างสบาย เพราะธรรมดามีอยู่ว่า ขณะที่ท่านอยู่ในสมาบัตินั้น จะเอาฟืนสัก ๖๐๐๐ เล่ม เกวียนมาเผา ก็ไม่สามารถให้สรีระของท่านอุ่นได้

หญิงเหล่านั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถูกไฟคลอกตาย มานับร้อยชาติแล้ว เพราะเศษกรรมที่เหลือ

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันเกี่ยวกับเรื่องพระนางสามาวดี และพระนางมาคันทิยาว่า หญิงสองพวกนี้ใครชื่อว่าเป็นอยู่ ใครชื่อว่าตายแล้ว

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า “ผู้ประมาทชื่อว่าผู้ตาย ส่วนผู้ไม่ประมาทแม้ตายแล้วก็ชื่อว่าไม่ตาย ส่วนพระนางสามาวดีเป็นผู้ไม่ตาย”




 

Create Date : 14 มีนาคม 2548    
Last Update : 14 มีนาคม 2548 13:43:46 น.
Counter : 475 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๓ อสทิสทาน


จากหนังสือ ทางแห่งความดี เล่ม 3 ของอาจารย์วศิน อินทสระ



สมัยหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่เชตวนาราม เมืองสาวัตถี พระเจ้า ปเสนทิโกศลทูลอาราธนาพระศาสดา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ แล้วถวายอาคันตุกทานอย่างประณีต ทรงประกาศให้ชาวนครมาดูทานของพระองค์

วันรุ่งขึ้น ชาวนครทูลอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ไปเสวย และฉันอาหารของพวกตน แล้วทูลให้พระราชาเสด็จไปทอดพระเนตรทานของตน

พระราชาทอดพระเนตรเห็นทานอันมโหฬารของชาวนครแล้ว ทรงถวายทานอีก ทำให้ยิ่งกว่าที่ชาวนครทำ ชาวเมืองก็ไม่ยอมแพ้ รวมกำลังกันถวายทานให้ยิ่งกว่าที่ พระราชาถวาย

รวมความว่าทำบุญแข่งกัน

ในที่สุดพระราชาสู้ไม่ได้ เพราะประชาชนมีมากด้วยกัน จึงบรรทมเป็นทุกข์อยู่ พลางทรงดำริว่า ทำอย่างไรจึงจะถวายทานให้ชนะชาวนครได้ พระนางมัลลิกา อัครมเหสีเสด็จเข้าไปเฝ้า ทรงทราบถึงความโทมนัสของพระราชาแล้วทูลอาสาจะจัดทานถวายเอง และจะให้ชนะชาวนครให้ได้

พระนางขอให้พระราชารับสั่งให้คนจัดดังต่อไปนี้

ให้ทำมณฑปสำหรับภิกษุ 500 รูปภายในวงเวียนมณฑปนั้น ทำด้วยไม้สาละและไม้ขานาง ภิกษุที่เกินจำนวน 500 นั่งนอกวงเวียน ให้ทำเศวตฉัตร 500 คัน จัดหาช้าง 500 เชือก สำหรับถือเศวตฉัตรกั้นภิกษุ 500 รูปเหล่านั้น ขอให้ทำเรือทองคำ 8 ลำ หรือ 10 ลำไว้กลางมณฑป ให้เจ้าหญิงองค์หนึ่ง ๆ นั่งบดของหอมอยู่ระหว่างภิกษุทุก ๆ 2 รูป (คือเจ้าหญิงองค์หนึ่งต่อภิกษุ 2 รูป) และเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ๆ ยืนพัดภิกษุ 2 รูป เจ้าหญิงนอกนี้ มีหน้าที่นำของหอมที่บดแล้วมาใส่ในเรือ

ให้จัดเจ้าหญิงเป็นพวก ๆ บางพวกถือกำดอกบัวเขียวไปเคล้าของหอมที่ใส่ไว้ในเรือทองคำแล้วนำไปถวายภิกษุ ให้ภิกษุรับเอาไออบ

เรื่องที่จัดเจ้าหญิงให้มาร่วมในการถวายทานนี้ก็ด้วยทรงดำริว่า ชาวนครไม่มี เจ้าหญิงเป็นเครื่องประกอบในทาน เป็นอันได้ชนะชาวนครไปได้เรื่องหนึ่ง เศวตฉัตรของชาวนครก็ไม่มี ช้างจำนวนมากเช่นนั้นก็ไม่มี

พระราชารับสั่งให้ทำตามที่พระนางมัลลิกาทรงแนะนำ

ปัญหามาติดอยู่ที่เรื่องช้างคือช้างไม่พอ ความจริงพระราชามีช้างเป็นจำนวนพัน แต่ช้างที่เชื่องพอจะนำมาถือเศวตฉัตรได้มีเพียง 499 เชือก ขาดไปเชือกหนึ่ง นอกจาก 499 เชือกแล้วเป็นช้างดุร้ายทั้งนั้น

พระราชาทรงปรึกษาพระนางมัลลิกาเกี่ยวกับเรื่องนี้ พระนางมัลลิกาถวายความเห็นว่า ขอให้เอาช้างเชือกที่ดุร้ายนั้นไปถือเศวตฉัตรให้พระคุณเจ้าองคุลิมาล

พระราชารับสั่งให้ราชบุรุษทำเช่นนั้น เมื่อช้างที่ดุร้ายเข้าใกล้พระองคุลิมาล มันสอดหางเข้าไปในระหว่างขาของมัน ปรบหูทั้งสองยืนหลับตานิ่งอยู่

มหาชนต่างมองดูช้างดุที่ยืนหลับตาอยู่ใกล้พระเถระและชมว่า พระคุณเจ้า องคุลิมาลมีอานุภาพถึงปานนี้

พระราชาทรงอังคาส (เลี้ยง) ภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขด้วยอาหารอันประณีต และด้วยพระหฤทัยอันอิ่มเอิบ ถวายบังคมพระศาสดาแล้วทูลว่า “สิ่งทั้งปวงในโรงทานนี้ ทั้งที่เป็นกัปปิยภัณฑ์ (สิ่งที่สมควรแก่สมณะ) และอกัปปิยะภัณฑ์ (สิ่งที่ไม่สมควรแก่สมณะ) หม่อมฉันขอถวายพระองค์ทั้งสิ้น”

ในทานนี้ พระราชาทรงสละทรัพย์ 14 โกฏิหมดในวันเดียว ของ 4 อย่างคือ เศวตฉัตร 1 บัลลังก์สำหรับนั่ง 1 เชิงบาตร 1 ตั่งสำหรับเช็ดเท้า 1 ที่พระราชาถวายพระศาสดานั้นเป็นของสูงค่าจนไม่อาจคำนวณได้

ทานดังกล่าวมานี้ ไม่มีใครสามารถทำได้อีก (ในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าองค์เดียว) เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกทานอย่างนี้ว่า อสทิสทาน คือทานที่ไม่มีใครทำได้เหมือน

ท่านกล่าวว่า อทิสทานนี้มีแก่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่พระองค์ละครั้งเท่านั้น สตรีย่อมเป็นผู้จัดแจงทานนี้เพื่อพระศาสดาและภิกษุสงฆ์

เมื่อพระราชาทรงบำเพ็ญอสิทิสทานอยู่นี้ มหาอำมาตย์คนหนึ่งชื่อ กาฬะ รู้สึกเสียดายพระราชทรัพย์เหลือประมาณ เขาคิดว่า “นี้เป็นไปเพื่อความเสื่อมแห่ง ราชตระกูล ทรัพย์ถึง 14 โกฏิ หมดในวันเดียว ภิกษุทั้งหลายบริโภคอาหารที่พระราชาถวายด้วยศรัทธาแล้วก็นอนหลับ มิได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ ราชตระกูลฉิบหายเสียแล้ว”

ส่วนอำมาตย์อีกคนหนึ่งชื่อ ชุณหะ คิดว่า “อา! ทานของพระราชายิ่งใหญ่ น่าเลื่อมใสจริง ทานอย่างนี้ผู้ที่ไม่เป็นราชาไม่อาจทำได้ พระราชาย่อมต้องทรงแบ่งส่วนบุญให้แก่สัตว์ทั้งหลาย เราขออนุโมทนาบุญนั้น”

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จ พระราชาทรงรับบาตร เพื่อให้พระพุทธองค์ทรงอนุโมทนา พระศาสดาทรงดำริว่า

“ทานของพระราชาครั้งนี้เป็นประดุจห้วงน้ำใหญ่ มหาชนมีจิตเลื่อมใสหรือไม่หนอ ทรงทราบวารจิต คือความคิดของอำมาตย์ทั้งสองแล้วทรงทราบว่า ถ้าจะทรงทำการอนุโมทนาให้สมควรแก่ทานของพระราชาในครั้งนี้ ศีรษะของกาฬอำมาตย์จะต้องแตกเป็น 7 เสี่ยง ส่วนชุณหอำมาตย์จักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล”

ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์นั้น จึงตรัสพระคาถาเพียง 4 บาทเท่านั้น อนุโมทนาทานของพระราชาแล้ว เสด็จลุกจากอาสนะเสด็จไปสู่วัดเชตวัน

ภิกษุทั้งหลายถามพระองคุลิมาลว่า “ไม่กลัวหรือที่ช้างดุร้ายอย่างนั้นยืนถือเศวตฉัตรให้”

พระองคุลิมาลตอบว่าไม่กลัว ภิกษุทั้งหลายจึงไปกราบทูลพระศาสดาว่า พระองคุลิมาลพยากรณ์อรหัตผล อวดตนว่าเป็นอรหันต์ ไม่กลัวช้างดุร้ายเห็นปานนั้น พระศาสดาตรัสรับรองว่า พระองคุลิมาลไม่กลัวจริง

ส่วนพระราชาปเสนทิ ทรงน้อยพระทัยว่า ได้ถวายทานอันมโหฬารปานนั้น แต่พระศาสดาทรงอนุโมทนาเพียง 4 บาท พระคาถาเท่านั้น น่าจะมีอะไรที่ไม่สมควรในทานอยู่บ้าง พระศาสดาคงจะทรงขุ่นเคืองพระทัยเป็นแน่แท้

พระราชารีบเสด็จไปสู่วิหารเชตวัน ทูลถามพระศาสดาในเรื่องนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า พระราชาได้ทรงกระทำชอบทุกอย่าง ทานนั้นได้นามว่า “อสทิสทาน” แต่ที่ทรงอนุโมทนาน้อย ก็เพราะหวังอนุเคราะห์กาฬอำมาตย์ ตรัสเล่าความคิดของอำมาตย์ทั้งสองให้พระราชาทรงทราบ

พระราชาทรงกริ้วกาฬอำมาตย์ตรัสว่า “เราให้ทานมากจริง แต่เราให้ของ ๆ เรา มิได้เบียดเบียนอะไรท่านเลย ไฉนท่านจึงเดือดร้อนปานนั้น”

ดังนี้แล้วทรงเนรเทศกาฬอำมาตย์ออกจากแคว้น ตรัสเรียกชุณหอำมาตย์เข้าเฝ้า ตรัสถามว่า จริงหรือที่มีความคิดอนุโมทนาทานที่พระองค์ทรงกระทำแล้ว เมื่อ ชุณหอำมาตย์ทูลรับว่าจริง ทรงชอบใจและเลื่อมใส จึงทรงมอบราชสมบัติให้เขาครอง 7 วัน และให้ถวายทานได้ตามประสงค์ โดยทำนองที่พระองค์เคยทรงถวายมาแล้ว

พระราชาเสด็จไปสู่สำนักพระศาสดาอีกทูลว่า “พระองค์ทรงดูการกระทำของคนพาลเถิด เขาเหยียดหยามทานที่ข้าพระองค์ถวายแล้วถึงปานนี้ (ทรงหมายถึงกาฬอำมาตย์)

พระศาสดาตรัสว่า

“คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ คนพาลไม่สรรเสริญทาน ส่วนนักปราชญ์อนุโมทนาทานอยู่ จึงเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า เพราะการอนุโมทนานั้น”




 

Create Date : 13 มีนาคม 2548    
Last Update : 13 มีนาคม 2548 14:35:04 น.
Counter : 473 Pageviews.  

นิทานเรือนธรรม - เรื่องที่ ๒ อนาถปิณฑิกเศรษฐี


เรียบเรียงจากหนังสือ อานนท์ พุทธอนุชา ของอาจารย์วศิน อินทสระ



ครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงเหยียบพระมงคลบาทลงสู่สาวัตถีนั้น เป็นเพราะการอาราธนาของท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี ซึ่งเวลานั้นยังไม่ได้นามนี้ แต่เป็นนามเดิมของท่านเองคือสุทัตตะ เรื่องเป็นดังนี้

สมัยหนึ่ง เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่สีตวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้น สุทัตตะยังไม่รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์ เพื่อเยี่ยมเยียนสหายและเพื่อกิจการค้า

เมื่อไปถึง สหายต้อนรับพอสมควรแล้วก็ขอตัวไปสั่งงานคนทั้งหลายให้ทำโน่นทำนี่ จนไม่มีเวลามาคุยด้วยเหมือนอย่างเคย ทำให้สุทัตตะประหลาดใจ จึงถามถึงสาเหตุ ก็ได้รับคำตอบจากสหายว่า กำลังยุ่งกับการเตรียมงาน เพราะว่าพรุ่งนี้ได้อาราธนา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันอาหารที่นี่ สุทัตตะถามว่า

“สหาย ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่”

สหายก็รับคำและกล่าวสรรเสริญคุณแห่งพระพุทธเจ้ามากมาย ทำให้สุทัตตะ ตื่นเต้นมากและกล่าวว่า ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์พรุ่งนี้เป็นจำนวนเท่าใด ขอออกให้ทั้งหมด แต่เศรษฐีกรุงราชคฤห์ไม่ยอม บอกว่า

“อย่าว่าแต่ค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานนักหนาแล้ว ข้าพเจ้าไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด”

สุทัตตะ เป็นผู้ที่อันกุศลแต่อดีตมาเตือนแล้ว พอได้ยินคำว่า พุทโธ ก็ปิติซาบซ่าน ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ในเวลานั้นเป็นเวลาค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเฝ้าพระศาสดา ไม่อาจหลับลงได้อย่างปกติ เขาลุกขึ้นถึง 3 ครั้งด้วยคิดว่าสว่างแล้ว ในที่สุดก็เช้า สุทัตตะเดินไปประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด ต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนายจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากเมืองแล้วทางที่จะไปสู่ป่าสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว สุทัตตะก็ยังมุ่งหน้าไป

เวลานั้นพระพุทธเจ้าตื่นบรรทมแล้ว ทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของสุทัตตะว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมอยู่บริเวณที่ประทับ เมื่อสุทัตตะเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“เข้ามาเถิด สุทัตตะ ตถาคตอยู่นี่”

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกชื่อเขาถูกโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทำให้สุทัตตะปลื้มใจเป็นล้นพ้น เขาซบหน้าลงแทบบาท แล้วกราบทูลว่า

“ข้าแต่พระศากยมุนี เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้ว ที่ได้มาเฝ้าพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมือง เพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ เมื่อคืนนี้ราตรีช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกิน ที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า พุทโธ พุทโธ”

“ดูก่อนสุทัตตะ ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้ว รู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้ พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น ดูก่อน สุทัตตะ สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อย ๆ และการเกิดบ่อย ๆ นั้นตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวดทรมานและตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้ว จะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว”

“ดูก่อนสุทัตตะ เมื่อรากยังมั่นคง แม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว ก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกันเมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ”

“สุทัตตะเอย น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้ เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณนา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีเล่า ถ้านำมากองรวมๆกันมิให้กระจัดกระจายคงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลยแม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูก นั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น”

“ดูก่อน สุทัตตะ ไม่ว่าภพไหนๆ ล้วนแต่มีลักษณะเหมือนกองเพลิงทั้งนั้น สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในกองเพลิงคือทุกข์ เหมือนเต่าอันเขาโยนลงไปแล้วในกองไฟใหญ่ ฉะนั้น”


พระศาสดาทรงเทศนาอริยสัจแต่โดยย่อแก่สุทัตตะ จนเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาบัน มีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัยแล้ว ทรงย้ำในตอนสุดท้ายว่า

“ดูก่อนสุทัตตะ การได้อัตตภาพมาเป็นมนุษย์เป็นของยาก การดำรงชีพอยู่แห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นของยาก การได้ฟังธรรมของสัตบุรุษเป็นของยาก และการอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายก็เป็นของยาก ดูก่อนสุทัตตะ เพราะเหตุนั้นการแสดงธรรมของสัตบุรุษก็ตาม การเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็ตาม ล้วนเป็นเหตุนำความสุขความสงบมาสู่โลก”

สุทัตตะได้เป็นโสดาบันแล้ว ด้วยการฟังธรรมเทศนาเพียงครั้งเดียว เขาทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จสู่กรุงสาวัตถี เมื่อพระองค์ทรงรับแล้ว เขาจึงมุ่งหน้ากลับนครตนล่วงหน้าไปก่อน ตามรายทางให้คนสร้างที่พักไว้เป็นแห่ง ๆ และป่าวประกาศให้ประชาชนสร้างที่พัก เพื่อพระสงฆ์สาวก ตามเส้นทางที่พระศาสดาจะเสด็จไป

เมื่อถึงสาวัตถีแล้ว เขาก็มองหาสถานที่จะสร้างอารามถวาย เห็นที่อยู่แห่งหนึ่งเป็นสวนของเจ้าชายในราชตระกูล ทรงนามว่า “เชตะ” เขาได้เข้าเฝ้าและขอซื้อ แต่ทรงโก่งราคาแพงเหลือหลาย ถึงกับว่าถ้าจะซื้อให้ได้ก็ต้องให้ราคาเท่ากับเอาทองไปปูลงให้เต็มสวนนั้น ทั้งนี้เพราะเข้าพระทัยว่า ถ้าแพงเศรษฐีคงจะไม่ซื้อ แต่เศรษฐียอมตกลงซื้อ

เมื่อตกลงแล้ว ก็วัดเนื้อที่ชำระเงินเป็นตอนๆ ไป เหลือเนื้อที่อยู่อีกนิดหน่อย ซึ่งเศรษฐีกำหนดว่าจะทำซุ้มประตูตรงนั้น พอดีเงินหมด เศรษฐีกำลังจะยืมเพื่อนสนิทที่ไว้ใจกันมา เจ้าชายเชตะทรงเห็นใจและสงสารเศรษฐี จึงยกที่ตรงนั้นให้ เมื่อสร้างอารามเสร็จ ถึงเวลาทำซุ้มประตู เศรษฐีดำริว่าเจ้าชายเชตะมีคนเคารพนับถือมาก ถ้ามีชื่อ เจ้าชายอยู่ด้วย จะเป็นประโยชน์มาก จึงให้ยกป้ายขึ้นว่า “เชตวัน” แต่คนทั้งหลายมักจะต่อท้ายว่า “อารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี”

เชตวันนี้เป็นอารามที่สวยงามที่สุดและใหม่ที่สุด นอกจากเศรษฐีจะถวายอาราม ยังบำรุงสงฆ์ด้วยปัจจัยอื่น ๆ เช่น จีวร อาหาร และยารักษาโรค

ท่านจะไปเฝ้าพระศาสดาทั้งเช้าและเย็น และไม่เคยไปมือเปล่าเลย ต้องมีอาหารหรือน้ำปานะติดมือไปด้วยเสมอ เมื่อไปเฝ้าก็ไม่เคยทูลถามปัญหาพระศาสดาเลย เพราะท่านคิดว่า พระผู้มี พระภาคเจ้า เคยเป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ และบัดนี้ก็เป็นพระพุทธเจ้าสุขุมาล ถ้าจะถามปัญหาพระองค์ก็จะทรงดำริว่า เศรษฐีเป็นผู้มีอุปการะมากต่อเรา แล้วจะทรงแก้ปัญหาด้วยความตั้งพระทัย จะทำให้พระองค์ทรงลำบาก

พระพุทธเจ้าทรงทราบอัยธยาศัยอันนี้ของเศรษฐี แล้วทรงดำริว่า เศรษฐีนี้เกรงใจเราในฐานะที่ไม่ควรจะเกรง เราบำเพ็ญบารมีมาเป็นเวลายาวนานเพียงนี้ ก็เพื่อจุดประสงค์จะขนสัตว์ในสังสารสาครขึ้นสู่ที่อันเกษม คือพระนิพพาน ทรงดำริเช่นนี้ก็แสดงธรรมแก่เศรษฐีทุกครั้งที่เขาไปเฝ้า




 

Create Date : 08 มีนาคม 2548    
Last Update : 8 มีนาคม 2548 18:56:29 น.
Counter : 513 Pageviews.  

1  2  3  

ลูกป้ามล
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลูกป้ามล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.