การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรสังเกตุ คำเตือนบนฉลากก่อนดื่มทุกครั้ง
Group Blog
 
All Blogs
 
The Richest Man in Babylon นิยายปรัมปราแห่งเมืองบาบิโลน

คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย นภาพร ลิมป์ปิยากร ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3834 (3034)

คนส่วนใหญ่มีความต้องการที่เหมือนๆ กันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ อยากรวย เพราะมักคิดว่าการมีเงินมากๆ จะเปิดโอกาสให้ได้ในสิ่งที่อยากได้ จึงมีหนังสือมากมายพิมพ์ออกมาขาย โดยที่ผู้เขียนหวังจะให้ผู้อ่านใช้เป็นคู่มือในการเรียนรู้ เพื่อสร้างความร่ำรวย รวมทั้งเรื่อง The Richest Man in Babylon ของ George S. Clason ผู้ก่อตั้งบริษัททำแผนที่เคลสัน หนังสือเล่มเล็กๆ นี้พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 ซึ่งนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 100 ปีแล้ว และมีความพิเศษกว่าเล่มอื่นๆ เพราะเป็นหนังสืออ่านประกอบสำหรับวิชาวางแผนทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ณ วันนี้มียอดจำหน่ายแล้ว กว่า 2 ล้านเล่ม

คงเป็นที่ทราบกันแล้วว่าบาบิโลนเป็นเมืองโบราณที่ร่ำรวยจากน้ำมือมนุษย์ล้วนๆ เพราะตั้งอยู่ในหุบเขาอันแห้งแล้ง บนลุ่มแม่น้ำยูเฟรติส หรือในอิรักปัจจุบัน นอกจากจะไม่มีแม้แต่ก้อนหินที่ใช้ในการก่อสร้างแล้ว ยังไม่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายอีกด้วย อย่างไรก็ตามความจำเป็นก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่นั่นคือ การสร้างระบบชลประทาน เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำมาใช้ในการเพาะปลูก การสร้างเขื่อน และคลองเป็นประดิษฐกรรมทางวิศวกรรมชิ้นแรกๆ ของโลก

นอกจากความก้าวหน้าทางวิศวกรรมแล้ว บาบิโลนยังเป็นแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินอีกด้วย เช่น สัญญาทางการค้า การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และโฉนดที่ดิน เชื่อกันว่าบาบิโลนมีพ่อค้าที่มั่งคั่ง และนักการเงินที่ชาญฉลาด จึงเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุดในยุคโบราณ การที่ผู้เขียนใช้เมืองนี้เป็นฉากอาจเพื่อบอกเป็นนัยว่า การวางแผนแ ละการจัดการทางการเงินนั้นไม่มีกาลเวลา

นั่นคือไม่มีทันสมัยหรือล้าสมัย อะไรที่เคยเป็นสัจธรรมในอดีตเมื่อ 8,000 ปีก่อนก็ยังคงเป็นสัจธรรมที่นำมาปฏิบัติได้ในปัจจุบัน

หนังสือเรื่องนี้มีเอกลักษณ์ที่ผู้เขียนใช้นิทานเป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวทางการเงิน โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 11 บท ครอบคลุมประเด็นหลัก 7 ประเด็นซึ่งเรียงกันตามการนำเสนอในหนังสือ คือ บทเรียนแรกของการเรียนรู้ วิธีการสร้างความร่ำรวย วิธีการแก้ไขความยากจน การเตรียมตัวเพื่อรับความโชคดี กฎทองห้าข้อ กฎการลงทุน และการวางแผนสู่ความสำเร็จ

ผู้เขียนเปิดประเด็นเกี่ยวกับบทเรียนแรกของการเรียนรู้โดยการแนะนำตัวละคร 2 ตัวซึ่งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็ก คือ โคบี นักดนตรี และบันเซอร์ ผู้มีอาชีพทำรถม้า วันหนึ่งทั้งสองปรับทุกข์ให้กันฟังว่า ไม่ว่าจะขยันทำมาหากินเท่าใด ก็ยังไม่สามารถพ้นจากสภาพความยากจนข้นแค้นได้ ไม่ทราบว่าจะมีหนทางใดจึงจะพ้นจากสภาพนี้ เมื่อ โคบีนึกขึ้นมาได้ว่าเขารู้จักกับอักราซึ่งชาวเมืองบาบิโลนยกย่องให้เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุด เขาจึงชักชวนบันเซอร์ ไปพบกับอักราด้วยกัน การปรึกษาและตกลงกันไปพบอักรา ทำให้เขาทั้งสองเรียนรู้บทเรียนแรก ของการเรียนรู้นั่นคือ เราไม่เสียอะไรเลยจากการขอคำแนะนำจากคนฉลาด และสาเหตุที่เราไม่รู้สิ่งต่างๆ เพราะเราไม่เคยคิดจะแสวงหาความรู้

ประเด็นเกี่ยวกับวิธีสร้างความร่ำรวยมาจากตอนที่โคบีและบันเซอร์พบกับอักรา หลังจากฟังแขกทั้งสองกล่าวเยินยอว่า เขาโชคดีที่ร่ำรวย อักราตอบว่าโชคไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความร่ำรวยของเขา และเขาไม่เชื่อว่าโชคจะทำให้ใครร่ำรวยได้ ที่เพื่อนทั้งสองไม่ร่ำรวยนั้นเป็นเพราะไม่รู้กฎที่ทำให้ร่ำรวยต่างหาก เขาจึงเล่าเรื่องของตนให้คนทั้งสองฟังว่า เมื่อเขาเป็นเด็กเขาสังเกตเห็นว่าคนที่จะมีความสุขได้นั้นสิ่งแรกที่ต้องมีคือความร่ำรวย เพราะความร่ำรวย นำมาซึ่งอิสรภาพที่จะทำ และมีในทุกสิ่งได้ตามใจปรารถนา ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงตั้งเป้าหมายว่าจะต้องรวยให้ได้ อยู่มาวันหนึ่งเขาต้องทำงานชิ้นหนึ่ง ให้กับเศรษฐีผู้ร่ำรวยที่สุดในบาบิโลนในขณะนั้น เขาจึงขอให้เศรษฐีสัญญาว่า หากเขาทำงานเสร็จทันเวลาเศรษฐีจะสอนหนทางสร้างความรวยให้ เศรษฐีตกลง ฉะนั้นเมื่อเขาทำงานเสร็จเศรษฐีจึงบอกกฎข้อที่ 1 ว่า ต้องจ่ายหรือให้รางวัลแก่ตัวเองด้วยการกัน 1 ใน 10 ของรายได้ไว้ก่อนที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้กับคนอื่น เศรษฐียังบอกอีกว่า ความร่ำรวยก็เหมือนต้นไม้ซึ่งงอกออกจากเมล็ด ยิ่งเราเริ่มหว่านเมล็ดเร็วเท่าไรต้นไม้ก็จะยิ่งโตเร็วขึ้นเท่านั้น

หลังจากนั้น 1 ปีเศรษฐีกลับมาสอบถามอักราถึงความก้าวหน้า เขาเล่าให้เศรษฐีฟังว่า ได้เริ่มต้นทำตามคำแนะนำ ด้วยการเก็บเงิน 1 ใน 10 จากรายได้จนทำให้มีเงินสะสมอยู่ก้อนหนึ่ง เมื่อช่างอิฐซึ่งกำลังจะเดินทางไปต่างเมืองให้คำแนะนำว่า เขาควรซื้อเพชรพลอยมาขายเพื่อหากำไร เขาจึงฝากเงินสะสมทั้งหมดนั้นให้ช่างอิฐไปซื้ออัญมณี เมื่อเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะแล้วพูดว่า คำแนะนำเป็นของได้เปล่าแต่เราต้องรู้จักเลือกใช้เฉพาะคำแนะนำที่มีค่าเท่านั้น ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยว่าอักราต้องสูญเงินที่สะสมทั้งปีไปหมด เพราะช่างอิฐไม่มีความรู้ในการดูเพชรพลอยจึงถูกหลอก อีก 1 ปีต่อมา เศรษฐีกลับมาหาอักราเพื่อสอบถามถึงความก้าวหน้าอีก เขาเล่าให้เศรษฐีฟังว่าได้เริ่มต้นเก็บเงินใหม่ แล้วนำเงินที่สะสมได้ไปให้คนทำโล่ยืมจึงได้ดอกเบี้ยจากคนทำโล่ทุกเดือน เมื่อเศรษฐีถามว่า แล้วเขาทำอย่างไรกับดอกเบี้ยที่ได้มา เขาตอบว่าได้ใช้ดอกเบี้ยไปกับการจับจ่ายใช้สอย และซื้อเสื้อผ้าให้ภรรยาจนหมด เศรษฐีจึงหัวเราะและถามว่า

หากเขาทำเช่นนั้นกับลูกหลานที่ขอเงิน แล้วจะหวังให้มันทำงานให้ต่อไปได้อย่างไร หลังจากนั้นเศรษฐีจึงบอกว่า เราจะต้องนำดอกผลจากการลงทุนไปลงทุนต่อ ไม่ใช่นำไปใช้จ่าย

ประเด็นเกี่ยวกับวิธีแก้ความยากจน มาจากตอนที่มหาเศรษฐีอักราถูกกษัตริย์แห่งบาบิโลน เรียกให้ไปสอนประชาชนส่วนหนึ่งของพระองค์ ในสถานที่ซึ่งมีชื่อว่า หอแห่งการเรียนรู้ถึงวิธีสร้างความร่ำรวย เพื่อให้คนเหล่านนั้นสร้างความร่ำรวยด้วยตัวเองแล้วนำความรู้ที่ได้รับไปสอนคนอื่นต่อ

เมื่ออักราเริ่มสอนกฎเกี่ยวกับการเก็บ 10% ของรายได้ไว้ให้ตัวเองก็มีคนแย้งว่า จะทำได้อย่างไรเพราะรายได้ในขณะนั้น ก็ยังไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำวันเลย อักราจึงกล่าวว่า สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันมักไม่เกินรายได้ ฉะนั้นจงใช้จ่ายแต่เฉพาะเพื่อสิ่งที่จำเป็นจริงๆ มิใช่ใช้จ่ายเพราะอยากได้ เนื่องจากคนเรามีความอยากไม่สิ้นสุด ฉะนั้นเราต้องหาทางจำกัดความอยากของเรา ด้วยการทำงบประมาณการใช้จ่ายอย่างละเอียด เพราะมันจะทำให้เราเห็นจุดรั่วไหล และควบคุมค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น

เขาบอกผู้มาเรียนว่า คนที่ร่ำรวยนั้นร่ำรวยไม่ใช่เพราะมีเงินมากในกระเป๋าอย่างเดียว หากยังเพราะมีเงินไหลเข้ากระเป๋าอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกำลังทำงานอยู่หรือไม่ก็ตามด้วย พวกเขาทำเช่นนั้นได้ด้วยการใช้เงินให้ทำงานนั่นคือ ด้วยการลงทุนที่เหมาะสม

การลงทุนที่เหมาะสม ได้แก่ การเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงและไม่ยากที่จะเรียกคืน การลงทุนเช่นนั้น จะป้องกันมิให้เกิดการสูญเงินทุน หากไม่แน่ใจว่าจะลงทุนอย่างไร อาจไปขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ แต่โดยธรรมชาติแล้วการลงทุนที่ยิ่งเสี่ยงมากก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมาก

หลังจากนั้นอักราจึงแนะนำผู้มาเรียนว่า การลงทุนในที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุนที่ได้ผลกำไรแน่นอน เพราะนอกจากตัวเราจะอิ่มใจจากการได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินแล้ว อสังหาริมทรัพย์นับวันจะยิ่งมีค่าทวีคูณ

ยิ่งกว่านั้นการมีบ้านเป็นของตัวเองจะทำให้ภรรยาขยันทำงานบ้านมากขึ้น และลูกๆ มีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะมีที่วิ่งเล่นเป็นของตัวเอง ทางลงทุนต่อไปที่ควรจะได้รับการพิจารณา ได้แก่ การปล่อยเงินกู้ จากนั้นอักราจึงบอกกฎข้อสำคัญยิ่งนั่นคือ เราต้องพยายามเพิ่มพูนความรู้ความสามารถอยู่เสมอ เพื่อที่เราจะได้เป็นคนที่ฉลาด และมีความสามารถมากกว่าผู้อื่น เมื่อเราเป็นคนแถวหน้าสุดในสายอาชีพของเราแล้ว เราจะสามารถหาผลประโยชน์ได้มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของคนทั่วไปเสมอ


Create Date : 14 พฤศจิกายน 2549
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2549 8:32:10 น. 1 comments
Counter : 423 Pageviews.

 
เป็นเรื่องดี ๆ ที่นำมาให้อ่านกัน


โดย: ** IP: 202.57.137.157 วันที่: 15 พฤศจิกายน 2549 เวลา:8:47:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Messenger
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 61 คน [?]




Head, Investment Consultants Citigold Citibank N.A. (Thailand)
free hit counter
click here
free hit counter
Friends' blogs
[Add Mr.Messenger's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.