วันเวลาที่ผ่านไปของแต่ละชีวิต ที่ลิขิตด้วยตนเอง

การมัดศพ

๔.การมัดศพ

เมื่อได้จัดการแต่งตัวศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นศพผู้ดีเขาทำถุงขาวสวมศรีษะ สวมมือทั้ง ๒ ข้าง แล้วให้ถือกรวยดอกไม่ธูปเทียน และสวมเท้า แล้วใช้ด้ายดิบเส้นขนาดนิ้วก้อยทำเป็นบ่วงสวมคอเป็นบ่วงแรก บ่วงที่ ๒ รัดรวบหัวแม่มือและข้อมือทั้ง ๒ ข้างให้ติดกัน บ่วงที่ ๓ รัดรวบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้ง ๒ ข้างให้ติดกัน เรียกว่า ตราสัง หรือดอยใน

การที่ทำบ่วงสวมคอ ผูกมือและเท้าเป็น ๓ บ่วงด้วยกันนั้น มีความหมายผูกเป็นคาถาว่า "ปุตโต คีเว ธะนัง ปาเท ภะริยา หัตเถ" และที่ผูกเป็นโคลง ๔ สุภาพก็มีดังนี้

มีบุตรบ่วงหนึ่งเกี้ยว พันคอ
ทรัพย์ผูกบาทาคลอ หน่วงไว้
ภรรยาเยี่ยงบ่วงหนอ รังรัด มือนา
สามบ่วงใครพ้นได้ จึ่งพ้นสงสาร

เมื่อเสร็จแล้วห่อด้วยผ้าขาวยาว ๒ ทบ ชายผ้าทั้ง ๒ ข้างอยู่ทางศรีษะสำหรับขมวดเป็นก้นหอย แล้วมัดด้วยด้ายดิบขนาดนิ้วมือ มัดขึ้นมาเป็นเปลาะๆเพื่อกันไม่ให้เบ่งขยายตัวได้ในเวลาขึ้น มารัดกับชายผ้าที่ขมวดเป็นก้นหอยบนศรีษะให้แน่น แล้วเหลือชายเส้นด้ายที่มัดนั้นปล่อยไว้พอควรที่จะเป็นสายยาวออกมานอกโลงได้ แล้วยกศพที่มัดแล้วนั้นวางลงในโลงซึ่งทำไว้เรียบร้อยแล้วให้นอนตะแคงเพื่อว่าเวลาศพเบ่งพองขึ้นจะได้ไม่ดันโลงทั้ง ๒ ข้างให้แตกหรือแยกออก ทำให้น้ำเหลืองรั่วไหลออกมาได้








 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 9 ธันวาคม 2550 15:36:34 น.
Counter : 1222 Pageviews.  

การแต่งตัว

๓.การแต่งตัว

ศพของผู้ตาย เมื่อได้ทำความสะอาดดีแล้ว ก่อนจะมัด เขาได้จัดการดังนี้คือ
ก.นุ่งผ้าและสวมเสื้อ ใช้ผ้าขาวนุ่ง ชั้นแรกเอาชายพกไปไว้ข้างหลังแล้วเอาเสื้อขาวที่ตัดไว้แล้วสวมให้ทางที่มีดุมไว้ข้างหลังเหมือนกัน แล้วเย็บเนาเป็นตะเข็บแต่แขนมาหาเอวทั้ง ๒ ข้าง ที่ทำดังนี้ได้ความว่าแต่งตัวให้ผีแล้วใช้เสื้อและผ้านุ่งอีกสำรับหนึ่ง สวมและนุ่งให้แต่ทางดุมและชายพกเอาไว้ข้างหน้าแล้วใช้ผ้าแพรห่มหรือสะพายให้หมายความว่าแต่งตัวให้ไปเกิด การนุ่งผ้าให้แก่ศพซึ่งมีการนุ่งข้างหลังแล้วนุ่งข้างหน้านี้ บางตำรับอธิบายว่าที่ทำเเช่นนั้นเพื่อให้พิจารณาให้แจ้งว่าสัตว์ที่เกิดมา ย่อมเกิดด้วยทิฐิและตายด้วยทิฐิ มีอวิชาปิดหลังปิดหน้า มีตัณหาเกี่ยวประสานกันดังเรียวไม่ไผ่ดังนี้

เสื้อและผ้านุ่งนี้ บางทีก็ใช้เสื้อผ้าที่ใช้ตามธรรมดาไม่ใช้ผ้าขาว แต่ปัจจุบันนี้ มักมีการอาบน้ำและทำความสะอาดแล้ว แต่งตัวนุ่งผ้าสวมเสื้ออย่างปรกติที่เคยใช้แต่ชั้นเดียวแล้ววางนอนไว้บนเตียง ทอดมือขวาไว้ให้ผู้ที่มาอาบน้ำศพรดน้ำที่มือศพด้วยน้ำหอมพอเป็นพิธีเท่านั้น

ข.เงินใส่ปาก เขาใช้เงินพดด้วงหรือเงินเหรียญจำนวนบาทหนึ่งห่อผ้าขาวผูกเชือกไว้หางราวเกรียกหนึ่งหย่อนลงไปในปาก การเอาเงินใส่ไว้ในปากศพนี้ปรากฎตามคำกล่าวที่ได้อ่านพบในหนังสือบ้าง มีผู้กล่าวให้ฟังบ้างเมื่อรวบรวมกันเข้าแล้วยังได้ข้อความแตกต่างกันอยู่เป็น ๓ ทางดังนี้ คือ

(๑)ทางหนึ่งอธิบายว่า การที่เอาเงินใส่ไว้ในปากศพนั้นเพื่อให้เป็นทางพิจานณาว่า คนเกิดมาแล้วย่อมลุ่มหลงอยู่ด้วยทรัพย์สมบัติเที่ยวทะเยอทะยานขวนขวายหาด้วยทางสุจริตแล้วไม่พอแก่ความต้องการ ยังพยายามแสวงหาในทางทุจริตอีก เมื่อได้มาแล้วอดออมถนอมไว้ไม่ใช้จ่ายในทางที่ควร ทรัพย์เช่นนี้เรียกว่าทรัพย์ภายนอก เมื่อตายไปแล้วแม้แต่เขาเอาใส่ปากให้ก็นำเอาไปไม่ได้ย่อมเป็นเหยื่อของผู้อื่นทั้งสิ้น ทางที่ถูก ควรประกอบการหาทรัพย์แต่ในทางที่ชอบ เมื่อได้มาแล้วก็ควรบริจาคทานตามควร เพื่อทำทรัพย์ภายนอกที่หามาได้นั้นให้เป็นทรัพย์ภายใน ได้แก่อริยทรัพย์ อริยทรัพย์นี้เป็นสิ่งประเสริฐ จะเป็นฉายาตามติดตัวไปภายหน้าได้

(๒)ทางหนึ่งอ้างถึงการถือประเพณี โดยมีนิยายเป็นมูลเหตุว่า เดิมทีมีสามีกับภรรยาคู่หนึ่งอยู่ด้วยกันมาจนแก่ มีทองคำติดตัวอยู่บาทหนึ่ง ผัวสั่งเมียๆสั่งผัวว่า "ถ้าใครตายก่อนให้เอาทองคำบาทหนึ่งนี้ใสปากไปให้" กาลต่อมาสามีตายลงก่อน ภรรยาจึงเอาทองคำใส่ปากให้สามีแล้วก็นำเอาศพไปเผา ไฟไหม้ทองคำนั้นขาดไป ยังคงเหลือเพียง ๓ สลึง ครั้งนั้นพระมหากษัตริย์มีความโลภเจตนาจะขอทองคำเรือนละบาทหนึ่ง หญิงม่ายผู้นั้นจึงไปเก็บทองคำในกองฟอนยังคงเหลืออยู่เพียง ๓ สลึง มาถวายพระมหากษัตริย์ๆ ไม่ทรงรับจะเอาให้เต็มบาท หญิงม่ายเจ้าของทองคำจึงทูลว่า แต่ก่อนทองคำนี้เต็มบาทใส่ปากให้แก่สามีเมื่อตายครั้นเอาไปเผาไฟไหม้ ทองคำจึงเหลืออยู่แต่เท่านี้ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งแก่สัตว์ผู้ยาก พระมหากษัตริย์ได้ทรงฟังก็เกิดธรรมส้งเวชในพระทัย จึงประกาศเลิก ไม่ให้เอาทองคำแก่ราษฏร อาศัยเหตุนี้ต่อมาผู้ที่ไม่มีทองคำถึงบาทได้ใช้เงินใส่ปากศพแทน จึงเป็นประเพณีกระทำสืบๆกันมา

(๓)อีกทางหนึ่งกล่าวกันว่า ใส่ไว้เพื่อให้เป็นค่าจ้างแก่สัปเหร่อที่จะนำไปเผา เพราะในครั้งกระโน้นราคาเงินบาทหนึ่งให้เป็นค่าจ้างอย่างงามแล้วกับยังได้ผ้าผ่อนในการปกคลุมศพและของเล็กๆน้อยๆ ในการเผาศพเป็นพิเศษอีกด้วย นอกจากนี้ผ้าผ่อนที่สกปรกเปรอะเปื้อน ทิ้งคลุกฝุ่นอยู่โดยไม่มีใครใยดีแล้ว คือผ้าบังสุกุล พระภิกษุในครั้งนั้นพิจารณาเอามาซักฟอกและย้อมน้ำฝาดเพื่อให้หมดกลิ่น แล้วเอามาบริโภคนุ่งห่มต่อไป
การที่ต้องเอาเงินใส่ไว้ในปากศพ และไม่เอาไว้ในที่อื่นนั้นเพราะสะดวกแก่การค้นหา ถ้าจะไว้ที่อื่น ย่อมจะหมกปนกับเครื่องซับน้ำเหลืองศพหายได้ หรือถ้าเจ้าภาพจะสัญญาให้ค่าจ้างภายหลัง โดยไม่ใส่เงินไว้ในปากก่อน น่ากลัวสัปเหร่อจะไม่ยอมในเวลามัดศพ เพราะเกรงเจ้าภาพจะเกิดการบิดพริ้วภายหลัง โดยสมัยนั้น เงินเป็นของมีค่ามาก บางคนกว่าจะหามาได้ถึงบาทหนึ่งเป็นการยาก จึงจำเป็นต้องมีใส่ปากศพไว้เสียให้เสร็จทีเดียว

ค.หมากใส่ปากศพ สำหรับผู้ที่กินหมาก เมื่อใส่เงินบาทลงไปแล้ว ถ้าผู้ตายยังมีฟันอยู่พอเคี้ยวได้ ก็ใส่หมากเจียนคำหนึ่งกับพลูจีบหนึ่ง หักใส่ลงไปด้วยกัน ถ้าคนตายเป็นคนแก่มีฟันไม่บริบูรณ์ ก็ใช้หมากคำใส่ปากให้ ทั้งนี้คงได้ความแต่เพียงว่า ผู้ตายเคยชอบก็ใส่ปากไปให้พอเป็นธรรมเนียม

ง.ขี้ผึ้งปิดหน้าศพ ขี้ผึ้งที่ใช้นี้ขี้ผึ้งแข็ง บางศพก็ปิดเฉพาะแต่ที่ตากับปาก คือทำขี้ผึ้งเป็นแผ่นแบนๆ ดังรูปแว่นตาสำหรับปิดตาทั้ง ๒ ข้างแผ่นหนึ่ง กับอีกแผ่นหนึ่งสำหรับปิดที่ปากศพ บางแห่งก็ปิดเต็มหน้า คือทำขี้ผึ้งเป็นแผ่นแบนโตเท่ากับใบหน้าปิดไว้ดังหน้ากาก ที่ทำดังนี้บางแห่งก็มีปิดทองคำเปลวด้วย ผู้ที่มีทรัพย์บางแห่งไม่ใช้ขี้ผึ้ง เขาใช้ทองคำแผ่เป็นแผ่นทำเป็นหน้ากากปิดหน้าศพ การที่ใช้ขี้ผึ้งหรือทองคำปิดหน้าศพนี้ ได้ความว่าปิดเพื่อป้องกันความอุจาดเพราะบางศพลืมตาค้างปิดไม่ลงบ้าง บางศพอ้าปากบ้าง

จ.กรวยดอกไม้ธูปเทียน ดอกไม้ธูปเทียน มีธูปดอก ๑ เทียนดอก ๑ กับดอกไม้ช่อ ๑ หรือบางทีก็ใช้ดอกบัวดอก ๑ ใล่ในกรวยใบตอง ให้ศพพนมมือถือ ได้ความว่า ให้ถือไป เพื่อจะได้ไหว้พระจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์





 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2550 13:37:59 น.
Counter : 1081 Pageviews.  

การอาบน้ำศพ

๒.การอาบน้ำศพ

การตายมี ๒ อย่าง คือผู้ที่ตายอย่างไม่บริสุทธิ์ เช่น ผูกคอตาย, ตกต้นไม้ตาย, ฯลฯ เหล่านี้เรียกกันว่าตายโหง ศพของผู้ตายด้วยเหตุชนิดนี้ เขาไม่มีการอาบน้ำ ไม่ตราสัง และต้องฝังหรือก่ออิฐถือปูนไว้ตามวัดหรือถ้าวัดใดมีโรงเก็บศพ บางทีเชาก็ฝากเก็บไว้ และกลั้นใจเอาดินวางลงบนหลังโลงนั้น ๓ ก้อน เป็นพิธีสมมติพอเป็นสังเชปแทนการฝังนั้นอย่างหนึ่ง และอีกออย่างหนึ่ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคตายตามปรกติ มีการอาบน้ำศพกัน

การอาบน้ำศพนี้ มีกล่าวด้วยตวามมุ่งหมายมากอย่างด้วยกัน เช่น ทางพราหมณ์นิยมกันว่า อาบน้ำเพื่อล้างบาปให้แก่ผู้ตาย ด้วยพราหมณ์ทั้งหลายนับถือว่า น้ำในแม่น้ำอจิรวดีเป็นของล้างบาปได้ เขานิยมกันไปตักเอามาล้างบาปให้แก่ผู้ป่วยหนักใกล้จะตายหรือเมื่อตายแล้ว ฝ่ายทางแขกนิยมกันว่า การอาบน้ำทาแป้งให้แก่ศพผู้ตายอย่างหมดจดแล้ว เมื่อผู้ตายไปเกิดชาติไรรูปร่างจะได้สวยหมดจดงดงาม เพราะฉะนั้นการอาบน้ำศพผู้ตายเขาได้จัดการขัดสี, รีดท้องและสิ่งโสโครกที่ใดที่ควรจะชำระให้หมดจดได้ จึงได้ทำกันอย่างหมดจดทีเดียว ฝ่ายชาวเราซึ่งเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาก็ต้องการอาบน้ำและชำระศพให้สะอาดเหมือนกัน เช่น อายน้ำแล้วลงขมิ้นชันสดตำชัดสี และฟอกด้วยส้มมะกรูดมะนาวเมื่อสะอาดดีแล้ว จึงอาบน้ำหอมทากระแจะและเครื่องปรุงอื่นๆ ตามที่ควรจะหาได้ แล้วหวีผม ส่วนหวีที่หวีนั้น เมื่อหวีเสร็จแล้ว หักออกเป็น ๒ ท่อนขว้างทิ้งเลย และการอาบน้ำนี้ ถ้าผู้ตายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ หรือเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งคุณธรรม ผู้ที่มาอาบน้ำศพก็ตั้งใจมาสนองคุณด้วยความกตัญญู และมาขอขมาโทษให้สำเร็จประโยชน์พ้นจากเวรกรรม ส่วนบุตรและหลานหรือผู้ที่นับถือผู้ตายว่าเป็นที่บูชายิ่ง ก็เอาผ้าเช็ดหน้าใหม่ๆหรือฉีกผ้าขาวเป็น ๔ เหลี่ยมขนาดพอสมควร พิมพ์รูปหน้าและรอยเท้าของผู้ตายในเวลาที่ลงขมิ้นนั้น ไว้ทำเป็นผ้าประเจียดต่อไป





 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2550 11:51:28 น.
Counter : 1209 Pageviews.  

การบอกทาง

๑.การบอกทาง

เมื่อผู้ป่วยหนักถึงกับเข้ามรณญาณแล้ว แต่โสตประสาทและจักษุประสาทยังไม่ดับ หรือมีอาการทุรนทุรายมาก เขาจัดดอกไม้ธูปเทียนบรรจุในกรวยใบตอง ให้ผู้ป่วยหนักพนมมือถือ บางทีก็นิมนต์พระพระสงฆ์หรือตั้งพระพุทธรูปไว้ใกล้ๆอีกด้วย แล้วบอกแก่ผู้ป่วยหนักให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ทั้งนี้ มีเรื่องราวกล่าวกันมาว่า ครั้งก่อนยังมีนายพรานผู้หนึ่งเป็นผู้ชำนาญในการล่าสัตว์ ครั้นป่วยหนักลงใกล้จะตายหลับตาลงไปเห็นแต่สัตว์ต่างๆ ด้วยอกุศลวิบาก จึงบอกแก่ภิกษุซึ่งเป็นบุตรชายของตนและทำการพยาบาลอยู่ ณ ที่นั้นให้ช่วย พระภิกษุรูปนั้นรู้ว่าโยมมีกรรมมาก จึงจัดดอกไม้ธูปเทียนใส่ในมือให้ แล้วบอกโยมว่า "โยมจงเล็งแลดูดอกไม้ธูปเทียนนี้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย" นายพรานผู้ป่วยหนักก็แลดูดอกไม้ธูปเทียนตามคำแนะนำ จึงบังเกิดความเลื่อมใส มีใจเป็นกุศล ครั้นสิ้นชีพวายชนม์ ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ เพราะเหตุนี้ ชนชั้นหลังจึงกระทำกันต่อๆมา หวังให้ผู้ป่วยหนักบูชาพระรัตนตรัยเป็นเครื่องระลึก และเมื่อจะมัดศพยังให้ศพถือกรวยดอกไม้ธูปเทียนอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้พยาบาลยังมีบอกว่า "พระอรหังๆๆๆ" ให้ผู้ป่วยหนักได้ยิน เพื่อจะได้ภาวนาและระลึกถึงพุทธานุสติเป็นอารมฌ์ สำหรับให้ข่มทุกขเวทนาและละความห่วงใยในเบญจขันธ์ จะได้ดำเนินไปในทางสุคติ
เมื่อผู้ป่วยหนักหมดลมหายใจลงแล้ว ถือกันว่าจิตหยั่งลงสู่ภวังค์ ต้องทำความสงบเงียบให้มากที่สุดที่จะเงียบได้เพราะเกรงดวงจิตจะไม่แน่วแน่ และเขาใช้เทียนขี้ผึ้งหนักบาทหนึ่งจุดตามไว้จนหมดเล่มแล้ว จึงจะถือว่าเป็นอันมรณกรรม






 

Create Date : 11 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2550 0:57:50 น.
Counter : 1208 Pageviews.  

ประเพณีจัดงานศพ

บทนำ

มนุษย์เราเกิดมาทุกคนรู้แต่วันเกิด แต่ว้นตายไม่มีใครที่จะรู้ได้ เราได้ฉลองวันเกิดกันอย่างสนุกสนาน แต่วันตายไม่มีใครได้ฉลองเลย ทั้งๆที่ทุกคนต้องตายกันทั้งนั้น

ตามวิถีของชีวิต ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสัจจังของทุกชีวิต และเมื่อมีการตายเกิดขึ้น ก็มีการจัดการเกี่ยวกับงานศพ ตามประเพณี และความเชื่อของแต่ละชนชาติ แตกต่างกันไป

อย่างประเพณีงานศพของไทยเรา ท่านเคยสงสัยไหมว่า ทำไมต้องมีการมัดตราสัง ก่อนจะเผาศพทำไมต้องเวียนรอบเมรุก่อน 3 รอบ และอื่นๆ แต่ข้อเขียนทั้งหมดที่จะเขียนต่อไปนี้ เป็นการจัดงานศพตามประเพณีโบราณ ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสม ของยุคสมัย บางสิ่งบางอย่างอาจจะหายไป หรือเพิ่มขึ้นมาบ้าง

ข้อความทั้งหมดนี้ได้คัดลอกมาจากหนังสือ "พุทธศาสตร์ ๒๕๐๙" ของ ชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ และประเพณี สโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์




 

Create Date : 11 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2550 16:37:56 น.
Counter : 15693 Pageviews.  

1  2  

ลมตะเภา
Location :
ชลบุรี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กับทุกท่านทุกเพศทุกวัย






Google



website analytics and web stats guide
powered by website analytics guide.

Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ลมตะเภา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.