Omne initium est difficile : Every beginning is difficult.

เลี้ยงอะไร

ดูปัจจัยเรื่องตัวคนไปแล้ว ก็มาดูปัจจัยเรื่องตัวไม้กันบ้างครับ โดยจะแบ่งเป็นตาม Section ต่างๆ

1) Brachypetalum
พวกฟอร์มกลมของบ้านเรา ได้แก่ ฝาหอย, เหลืองปราจีน (รวมทั้งเหลืองอุดร, เหลืองกาญจน์, เหลืองสิงขร), ขาวสตูล, เหลืองตรัง/พังงา/ชุมพร และช่องอ่างทอง ตลอดจน wenshanense ของประเทศจีน

- เลี้ยงง่าย ออกดอกได้สบายในอากาศร้อนของพื้นราบ แข็งแรง แต่บทจะเน่าก็เน่าง่าย

- เหมาะกับมือใหม่


2) Parvisepalum
พวกฟอร์มกลมของจีนและเวียดนาม ได้แก่ armeniacum, delenatii, emersonii, hangianum, malipoense, micranthum, vietnamense

- ถ้าเป็นไม้ฟาร์มเลี้ยงง่ายกว่าไม้ป่ามาก

- emersonii, hangianum โตช้า ฟื้นตัวช้า

- ลูกผสมในกลุ่มนี้แม้จะเป็นลูกผสมกันเองในกลุ่ม เช่น (micranthum x vietnamense), (armeniacum x malipoense), (emersonii x malipoense), (malipoense x vietnamense) กลับเลี้ยงง่ายกว่าพันธุ์แท้มาก แข็งแรง ออกดอกจากหน่อที่แตกในกรุงเทพได้สบายๆ โดยไม่ต้องมีอีแวป (ในเงื่อนไขที่ว่า ต้นสมบูรณ์, ระบบรากสมบูรณ์เต็มที่, สภาพปลูกเลี้ยงไม่ extreme เกินกว่าเหตุ)


3) Paphiopedilum
เช่น อินทนนท์, เหลืองเลย, กระบี่, ดอยตุง, ดอยตุงกาญจน์ (vejvarutianum), spicerianum, fairrieanum, helenae, barbigerum เป็นต้น

- ถ้าเป็นพวกที่ขึ้นกับพื้นดินหรือหน้าผาหิน โดยรวมๆ รองเท้านารีในกลุ่มนี้ถือว่าเลี้ยงง่าย แข็งแรง เลี้ยงในอากาศร้อนของกรุงเทพได้สบายๆ แม้ไม่มีอีแวป อาจเป็นเพราะถิ่นกำเนิดในธรรมชาติ ค่อนข้าง extreme ทำให้ปรับตัวทนทานกับสภาพอากาศได้ดี

- ตัวที่ยกเว้นคือ อินทนนท์ (villosum) และ อินทนนท์ใบกว้าง (the authentic gratrixianum) เพราะต้องการความชื้นในอากาศสูง และอากาศเย็น ประกอบกับใบที่ค่อนบางไม่หนาแข็งเหมือนชนิดอื่น ทำให้คายน้ำง่าย และการแตกรากใหม่ไม่ค่อยดีนักในอากาศร้อน ทำให้โทรมตายในที่สุด

- ต้นที่ออกดอกในกรุงเทพได้สบาย ออกจากหน่อใหม่ที่แตกในกรุงเทพ ได้แก่ กระบี่, ดอยตุง, ตุงกาญจน์ ,spicer, fairrieanum (แตกต่างกันไปตามผู้เลี้ยงแต่ละคน)


4) Coryopedilum
พวกหูยาวที่ขึ้นกับพื้นหรือผาหินปูน เช่น rothschildianum, sanderianum, stonei, gigantifolium, supardii, glanduliferum

- ถ้าเป็นไม้ฟาร์ม ไม้ขวด โดยทั่วไปถือว่าเลี้ยงง่าย ข้อเสียคือ โตช้า, ต้นใหญ่โตกินที่ (ยกเว้น adductum)


5) Pardalopetalumพวกหูยาวที่ขึ้นบนต้นไม้ ได้แก่ เมืองกาญจน์, lowii, haynaldianum

- ถ้าเป็นไม้ฟาร์ม ไม้ขวด จัดว่าเลี้ยงง่าย และจะงามยิ่งขึ้นหากความชื้นในอากาศสูง


6) Barbatum
กลุ่มคางกบ

- ดูเหมือนเลี้ยงง่าย แต่ก็เป็นไม้ปราบเซียนของคนที่บ้านไม่มีโรงเรือน หรืออากาศแห้ง เพราะส่วนใหญ่ขึ้นตามพื้นป่าซึ่งความชื้นสูงตลอดปี อ่อนแอต่อเพลี้ยแป้งและไรแดง

- ถ้าอากาศชื้นไม่พอ ดอกฝ่อเรียบ


7) Cocholpetalum
พวกต่อดอก เช่น primulinum, glaucophyllum, liemianum

- โดยทั่วไปถือว่าเลี้ยงง่าย ยกเว้น victoria-mariae ที่ขึ้นสูงกว่าชนิดอื่นๆ (2000 ม.) ทำให้ไม่เหมาะกับอากาศร้อนและแห้งเท่าไรนัก

- โปรดระวังความสับสนของรองเท้านารีในกลุ่มนี้ ไม้ที่ขายในนาม primulinum แต่ต้นใหญ่โต ใบกว้างและค่อนข้างบาง ช่อดอกยาวมาก ดอกใหญ่ มันไม่ใช่ primulinum แท้


ลูกผสมข้ามกลุ่มโดยทั่วไปถือว่าเลี้ยงง่าย และปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า สามารถออกดอกในพื้นราบได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโรงอีแวป (แต่ถ้ามีอีแวป หรือสภาพโรงเรือนที่เหมาะสม ก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้วครับ)

รองเท้านารีทุกชนิด สิ่งสำคัญที่สุดคือความสมบูรณ์ของระบบราก ถ้าระบบรากไม่สมบูรณ์ ใส่ปุ๋ยหรืออัดฮอร์โมนยังไง ต้นก็มีแต่ทรงกับทรุด
รองเท้าที่ใบใหม่มีขนาดเล็กลงกว่าใบเก่าอย่างเห็นได้ชัด ใบใหม่สีซีดจางหรือเปลี่ยนเป็นเหลือง (ชัดเจนมากในกลุ่มคางกบ) ใบบางนิ่มลง ใบเก่าซีดเหลืองและอัตราการทิ้งใบสูงกว่าอัตราการแตกใบใหม่ทดแทน ไม้แตกหน่อใหม่เล็กๆ ยุ่บยั่บไปหมดแต่หน่อไม่โต ทั้งหมดนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าระบบรากเสีย โปรดเปลี่ยนเครื่องปลูกใหม่ และจัดการเรื่องการรดน้ำใหม่ให้เหมาะสม (เดิมอาจแฉะไป ขยันเกินเหตุ)
ความชื้นในอากาศสูงคือปัจจัยภายนอกที่สำคัญ อุณหภูมิหน้าร้อนในพื้นราบอาจจะร้อน แต่ถ้าลมพัดถ่ายเทดี ความชื้นในอากาศสูงก็ยังบรรเทาปัญหาไปได้เยอะครับ




 

Create Date : 17 มีนาคม 2551   
Last Update : 17 มีนาคม 2551 17:17:57 น.   
Counter : 973 Pageviews.  

เลี้ยงยังไง

ทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรตายตัว 100% การที่ผู้อื่นเดินไปถึงจุดหมายได้สำเร็จ ไม่ได้หมายความว่าหากเราเดินตามเส้นทางเขาแล้ว จะเป็นทางที่ปลอดภัยหรือปิดประตูความล้มเหลวได้สนิท (100% fail-proof) หากสักแต่ว่าเดินตามรอยเท้าคนอื่นโดยไม่รู้ศักยภาพตัวเอง ไม่รู้เส้นทางที่เหมาะกับทักษะ กำลังกาย กำลังใจ ไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมเสบียงกรังอะไรและปริมาณเท่าใดจึงจะไม่เป็นภาระ สุดท้ายเราอาจไปได้แค่ครึ่งทางถึงได้รู้ว่าประตูแห่งความล้มเหลวเปิดรออยู่ข้างหน้าโดยไม่อาจเลี่ยงหรือย้อนกลับได้เลย

การปลูกกล้วยไม้ก็ไม่ต่างกัน ไม่มีเครื่องปลูกสูตรไหน ตำราไหน วิธีไหนที่เป็นสูตรสำเร็จตายตัว สามารถนำไปใช้ได้กับทุกที่และทุกคน มีแต่เพียงแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่เราต้องนำไปคิดต่อว่าจะทำอย่างไรถึงจะเหมาะกับตัวเราและสภาพแวดล้อมของบ้านเรา


ตัวเรา

1) เป็นคนเบื่อง่ายไหม ละเอียดหรือหยาบ
ถ้าเบื่อง่าย ทำอะไรลวกๆ หยาบๆ สักแต่ว่าทำให้เสร็จๆ ไป ทำเพราะแฟชั่น อย่าเลี้ยงกล้วยไม้ เลี้ยงต้นไม้ หรือเลี้ยงสัตว์เลยครับ ไปหางานอดิเรกที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดีกว่า แต่ถ้ามีอาการขี้เกียจ หรือเบื่อบ้างเป็นครั้งคราวก็เป็นปกติวิสัยของคนทั่วไป

2) ขยันรดน้ำบ่อยแค่ไหน

- เวลาว่างเยอะ หรือเป็นโรคกลัวต้นไม้แห้งตาย ยังไง้ยังไงก็ต้องรดทุกวัน ฝนตกแค่ไหนก็ยังอดใจไม่รดน้ำไม่ได้

- ขี้เกียจ ภาระการงานเยอะ ไม่ค่อยมีเวลา สามสี่วันรดที อาทิตย์นึงรดครั้งก็ยังมี
โอกาสที่ต้นไม้ตายเพราะรดน้ำมากเกินไปมีมากกว่าแห้งเกินไปครับ (แฉะตายเร็ว แห้งตายช้ากว่า)

3) มีระเบียบวินัยแค่ไหน

ขยันเปลี่ยนเครื่องปลูกเมื่อครบกำหนดเวลาไหม หรือช่างมันก่อน
- เครื่องปลูกที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ผุเร็ว ปีสองปีก็ต้องเปลี่ยนแล้ว ถ้ายังยื้อไปเรื่อยๆ สุดท้ายกล้วยไม้รากเสีย ทรุด และโทรมตาย

- เครื่องปลูกที่เป็นอนินทรีย์วัตถุ อยู่ได้นาน ไม่ผุ ปลูกจนลืมไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ (ไม้งามหรือไม่งามนั่นอีกเรื่อง)

4) คนปลูกปรับตัวเข้าหาไม้ หรือให้ต้นไม้ปรับตัวเข้าหาคนปลูก

- ถ้ากรณีแรก ไม่ว่าจะเลี้ยงไม้ที่ดูแลยากหรือง่ายคงไม่มีปัญหา (แต่รอดไม่รอดอีกเรื่อง)

- ถ้ากรณีหลัง ถ้าไม่อยากเสียหายมากหรือหมดกำลังใจไปก่อน ก็คงต้องเลือกไม้ที่เลี้ยงง่ายๆ ทั้งหลาย


สถานที่, อุปกรณ์

1) ปลูกในกระถางดินเผาหรือพลาสติก

- ดินเผา แห้งเร็ว อากาศถ่ายเทดี น้ำหนักมาก

- พลาสติก แห้งช้า อากาศถ่ายเทได้น้อย น้ำหนักเบา

2) มีโรงเรือนเป็นเรื่องเป็นราวไหม(เรือนอีแวปหรือเรือนกล้วยไม้ปกติก็ได้ครับ)

- มี (จะ assume ต่อว่า ในเมื่อมีโรงเรือน เพราะฉะนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้น/อากาศแห้งเกินไป)

- ไม่มี อาศัยวางตามข้างบ้าน ดาดฟ้า หรือที่ว่างรอบๆ บ้านตามยถากรรม ความชื้นเลยไม่ค่อยสม่ำเสมอ หรือมีแนวโน้มแห้งเกินไป

3) ชั้นวางแข็งแรงไหม

- ชั้นวางแข็งแรงมั่นคง บรรจงทำโดยเฉพาะ รับน้ำหนักสบาย กระถางหนักแค่ไหนก็ไม่ห่วง

- มีโต๊ะเก่า ตู้เก่า ก็เอามาทำชั้นวางแก้ขัดไปก่อน รับน้ำหนักได้ไม่มาก รดน้ำบ่อยไม่ได้ เดี๋ยวจะพังครืนไปเสียก่อน


เครื่องปลูก

1) สแฟกนัมมอส
นิวซีแลนด์ดีสุด, ชิลีปานกลาง, ของจีนหรือลาวเหมาะสำหรับใช้แก้ขัดชั่วคราว เลี่ยงได้ก็เลี่ยง

อุ้มน้ำนาน ไม่ต้องรดน้ำบ่อย ถึงจะปล่อยจนแห้งผาก ก็ยังกลับมาดูดน้ำได้ (แต่ไม่ควรและต้นไม้จะตายเสียก่อน) ไม่เกิน 3 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ราคาแพง เหมาะกับคนขี้เกียจรดน้ำ จะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก ขึ้นกับว่าอัดสแฟกนัมแน่นแค่ไหน

- ถ้าอัดแน่นมาก ไม่มีอากาศ รากมักเน่าง่าย และรากจะไม่ค่อยแทงลงข้างล่างจะเดินอยู่แค่ผิวหน้ากระถาง แต่มอสจะอยู่ได้นานขึ้น ผุช้าลง แต่ถ้าปล่อยให้แห้งผากเมื่อไหร่ จะกลับมาดูดน้ำได้ยาก (น้ำไม่ซึม)

- ถ้าอัดแน่นปานกลาง อุ้มน้ำกำลังดี ผุเร็วกกว่าแบบแรก แต่รากก็โตดีกว่า รากเดินลงก้นกระถาง

- ถ้างกจัด อัดหลวมเกินไป จะอุ้มน้ำดีเกินกว่าเหตุ รองเท้าจะเน่าตายเสียก่อน และมอสผุเร็วสุด

จะรู้ได้ไงว่าแค่ไหนคือแน่นมาก ปานกลาง หรือหลวม ประสบการณ์และเวลาเท่านั้นถึงจะบอกได้ครับ

2) กาบมะพร้าวสับ
ราคาถูก เรียกรากใหม่ได้ดีมาก (ส่วนตัวคิดว่าเรียกรากดีกว่าสแฟกนัม เพราะมีช่องว่างระหว่างกาบมะพร้าวแต่ละชิ้น ทำให้อากาศถ่ายเทดีกว่า) แต่ผุเร็วกว่าสแฟกนัมมาก ถ้าไม่ค่อยชอบรดน้ำ อาจไม่เหมาะเท่าไหร่ (โดยเฉพาะหน้าหนาว แห้งเร็ว)

3) พีทมอส + เพอร์ไลท์
ราคาแพง อุ้มน้ำโอเค แต่ห้ามให้พีทมอสแห้งผากเด็ดขาด มิฉะนั้นจะเสียคุณสมบัติอุ้มน้ำไปเลย (กลับมาก็ไม่ดีเท่าเดิม) รากก็เดินดีใช้ได้ แต่ไม่เกิน 3 ปีก็ควรเปลี่ยนใหม่ ควรใช้ผสมกัน อัตราส่วน 1:1 หรือ 2:1 โดยประมาณ ไม่ควรใช้เพอร์ไลท์ที่ละเอียดเป็นผง

4) ไฮโดรตอน(เม็ดดินเผา - ใช้สำหรับปลูกพืชแบบ Hydroponic)
ราคาแพง น้ำหนักเบา ไม่ผุ แต่นานๆ เข้าก็สะสมคราบเกลือแร่ ถ้าไม่ได้ปลูกแบบ Semi-hydro มันจะแห้งผาก รากใหม่จะไม่เดิน

5) หินภูเขาไฟ
ราคาถูกกว่าไฮโดรตอน น้ำหนักมาก นานๆ เข้าก็สะสมคราบเกลือแร่ ตัวมันเองถึงมีรูพรุนอุ้มน้ำได้ แต่ก็ไม่นาน ถ้าไม่ได้ปลูกแบบ Semi-hydro แป๊บเดียวก็แห้ง

6) เศษอิฐ, ขี้ตากระถาง, เศษกระถาง, หินเกร็ด
น้ำหนักมาก อุ้มน้ำแล้วแต่สภาพ หาได้ใกล้มือ ราคาไม่แพง


ปัจจัยเรื่องตัวเรา + สถานที่ / อุปกรณ์ จะเป็นตัวกำหนดว่าควรจะใช้วัสดุอะไรในการปลูก

ในความเห็นส่วนตัว อินทรีย์วัตถุไม่ควรเอามาผสมกับอนินทรีย์วัตถุ วัสดุหยาบไม่ควรผสมกับวัสดุละเอียด (นับเฉพาะวัสดุที่ใช้เป็นเครื่องปลูก ไม่รวมพวกเศษอิฐ, เศษกระถางที่ใช้รองก้นกระถาง) เพราะจะทำให้เครื่องปลูกไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไป วัสดุละเอียดจะค่อยไหลไปรวมกันอยู่ที่ก้นกระถาง ขณะที่วัสดุหยาบที่ชิ้นใหญ่กว่าจะยังคงอยู่ที่ผิวหน้ากระถาง เครื่องปลูกแบ่งชั้นเป็นแซนวิช เครื่องปลูกที่ผิวด้านบนจะดูแห้งไวมาก ทำให้ผู้ปลูกอดใจไม่ไหวต้องรดน้ำเรื่อยๆ ขณะที่เครื่องปลูกชั้นล่างที่ละเอียดกว่าอมน้ำตลอดจนกลายเป็นเลน สุดท้ายรากก็เน่า และทำให้รากเดินขดอยู่แต่ผิวหน้ากระถาง

รองเท้านารีหรือกล้วยไม้ต่างๆ จะออกรากใหม่ได้ดี และรากเดินดี เมื่อเครื่องปลูกมีความชื้นเหมาะสม ไม่แห้งไป หรือแฉะไป และถ้าความชื้นในอากาศโดยรอบสูง ก็จะเอื้อให้ออกรากใหม่ได้ดีกว่าอากาศร้อนและแห้งผาก การรดแต่ฮอร์โมนเร่งรากเพียงอย่างเดียว แต่ความชื้นของเครื่องปลูกและของอากาศไม่เหมาะสม ก็อาจไม่ช่วยเรื่องการแตกรากใหม่หรือถึงแตกรากได้แต่ก็กุดสั้นอยู่แค่นั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวทางและข้อสังเกตส่วนตัวครับ ไม่ใช่วิธีสำเร็จรูป




 

Create Date : 17 มีนาคม 2551   
Last Update : 17 มีนาคม 2551 15:59:26 น.   
Counter : 1082 Pageviews.  


Magnificum
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Magnificum's blog to your web]